เรื่องเศร้าเล่าซ้ำ

“\r\nเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ เพิ่งเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าไม่นาน มันเป็นเรื่องหนักใจ ที่ข้าพเจ้าไม่อยากเล่าให้ใครรู้… แต่….ก็เป็นสิ่งที่คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดทางนรีเวชควรรู้ เพื่อให้เข้าใจถึง ความเป็นไปของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองยามหลับไหลบนเตียงผ่าตัด….ซึ่ง…หากเกิดขึ้นกับตัวคนไข้เองแล้ว เขาควรจะปฏิบัติตนอย่างไร..หรือจะยอมรับในชะตากรรมนั้น….\r\nแน่นอน! คุณหมอทุกท่าน ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นกับคนไข้ของตน อย่างไรก็ตาม…ข้าพเจ้าอยากจะบอกว่า คุณหมอเกือบทุกท่านเคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายเกี่ยวกับความผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้น…เพียงแต่ว่า คุณหมอบางท่านสามารถเรียนรู้และแก้ไขได้อย่างถูกต้อง..แต่..ก็ยังมีคุณหมออีกหลายท่านล้มหายตายจากไปจากอาชีพที่ตนรัก ด้วยเพราะ ความผิดพลาดคราวนั้น ซึ่ง คนไข้ยอมรับไม่ได้\r\nคุณวาสนา อายุ 47 ปี แต่งงานแล้ว..ไม่มีบุตร เธอมาหาข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม)…ด้วยเรื่องคลำพบก้อนที่ท้องน้อยมาเป็นเวลา 2 – 3 เดือน คุณวาสนากลัวการผ่าตัดทางหน้าท้องอย่างมาก เพราะเธอเคย ‘ใส้ติ่งแตก’ และได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน ความเจ็บปวดจากการผ่าตัดในครั้งนั้น ช่างแสนสาหัสจนเข็ดขยาดกับการผ่าตัด (Open Laparotomy) แบบเปิดหน้าท้องเสียหลือเกิน… คุณวาสนาทราบว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (gynecologic Laparoscopist).. เธอจึงมาหาข้าพเจ้า ตอนนั้น เธอมีประวัติเลือดออกมากระหว่างมีระดู (Menorrhagia) จนเกิดภาวะโลหิตจางด้วย จึงเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมดลูกทิ้ง \r\nพอข้าพเจ้าตรวจร่างกายและภายในให้กับคุณวาสนา ก็ต้องตกใจที่พบก้อนเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) มีขนาดใหญ่มาก กล่าวคือ ‘ก้อนใหญ่คลำได้ถึงระดับสะดือ’ จากการคาดคะเน คิดว่า น้ำหนักของก้อนเนื้องอกน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม..ในทางการแพทย์ ถือว่า มันมีขนาดใหญ่มากเกินไป (Huge myoma) ไม่ควรผ่าตัดผ่านกล้อง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน จำพวกบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้คุณวาสนาฉีดยา (Enantone 11.25 gm) เพื่อให้ก้อนเนื้องอกยุบตัวลง ประมาณ 40 – 60%….หลังฉีดยา 3 เดือน แล้วค่อยมาประเมินดูอีกที หากก้อนเนื้องอกหดยุบตัวลงมาก ก็น่าจะผ่าตัดผ่านกล้องได้ คนไข้ไม่ดื้อดึงและทำตามคำแนะนำนั้น.. การติดตามผล จำเป็นต้องรอถึง 3 เดือนหลังฉีดยา จึงจะทราบผลว่า เนื้องงอกมดลูกยุบตัวลงมากน้อยแค่ไหน????\r\n 2 เดือนต่อมา…คุณวาสนา ได้เข้ารับการตรวจติดตามจากข้าพเจ้า ผลปรากฏว่า ก้อนเนื้องอกมดลูกลดขนาดลงเพียงเล็กน้อย ….ไม่มากตามที่คาดการณ์ ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้เธอรอไปก่อน… หรือไม่เช่นนั้น ก็ควรเข้ารับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Laparotomy) ปรากฏว่า คุณวาสนาขอเข้ารับการผ่าตัดช่วงนั้นเลย..ไม่ขอรอต่อไป \r\nที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้ากรีดมีดลงตรงกลางหน้าท้องส่วนล่าง (Low midline incision) ตามแนวแผลเก่าที่คนไข้เคยผ่าตัดมาแล้ว จำได้ว่า พอเปิดท้องเข้าไป ก็พบมีพังผืดของเยื่อบุลำไส้มายึดติดเกาะกระจุกหนึ่ง ที่ผนังหน้าท้องด้านใน (Inferior surface of abdominal wall) ใกล้บริเวณสะดือ แต่…เฉียงไปทางซ้ายเล็กน้อย ซึ่ง..คนไข้จะได้รับอันตรายมาก หากได้รับการเจาะท้องส่องกล้องผ่านตำแหน่งนั้น เพราะอาจถูกเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนพังผืดนั้นได้ ข้าพเจ้าจึงนับว่า เป็นผู้โชคดีคนหนึ่ง เนื่องจากเลือกที่จะผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องสำหรับคนไข้รายนี้ ด้วยเพราะพิจารณาว่า เธอมีปัญหาใหญ่ๆ 2 ประการ คือ 1. เนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่มากเกินไป 2. คนไข้เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน และพังผืดทางด้านข้างขวาของช่องท้องอาจจะหนาแน่น….บางที การเจาะท้องส่องกล้องเข้าไปตรงสะดือ ก็อาจจะเจาะไปโดนเส้นเลือดในก้อนพังผืด ที่มายึดเกาะข้างใต้ผนังหน้าท้อง นอกจากนั้น ยังอาจมองไม่เห็นทางด้านขวาของเนื้องอกมดลูกด้วย เพราะเนื้องอกใหญ่และพังผืดหนา ซึ่ง…..หากข้าพเจ้ายังคงดื้อดึงดันทุรัง ผ่าตัดด้วยกล้องต่อไป ก็มีโอกาสทำให้ลำไส้ใหญ่ทะลุ… \r\nการผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องของคุณวาสนา เพื่อเอาเนื้องอกมดลูกออก เป็นไปด้วยความง่ายดาย ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง คนไข้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 4 วัน ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็ลืมคุณวาสนาไปเลย จนกระทั่งถึงวันที่เธอมาตรวจตามนัดหลังผ่าตัดไปถึง 3 สัปดาห์ \r\n“ไม่รู้เป็นยังไงคะหมอ!!! เหมือนมีน้ำอะไรไม่รู้ออกมาทางช่องคลอดตลอดเวลา” คุณวาสนาเริ่มต้นคำพูดแรกเมื่อพบหน้า ข้าพเจ้าตกใจนิดๆกับคำพูดนี้.. คิดว่า ‘เธอน่าจะเป็น V-V fistula (ย่อมาจาก Vesico – vaginal fistula [รูรั่วระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับช่องคลอด]) ’ แต่ก็พยายามสอบถามถึงลักษณะการไหลออกมาของน้ำในช่องคลอดว่า ‘มันออกมาทางช่องคลอดมากหรือไม่?’ คุณวาสนาตอบว่า ‘2 – 3 วันก่อน มีน้ำไหลออกมาเพียงเล็กน้อย.. เมื่อวาน เริ่มออกมากขึ้น วันนี้มีน้ำไหลออกมาตลอดเวลาจนต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่นุ่งไว้’ ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจกับสิ่งที่คนไข้อธิบายความ แต่..ก็แข็งใจพูดต่อว่า ‘เออ!! เดี๋ยว ผมคงต้องตรวจภายในดูเสียก่อน จึงจะทราบ…’\r\nพอตรวจภายในให้กับคุณวาสนาเท่านั้น ข้าพเจ้า ก็แน่ใจว่า ‘เธอเป็น V-V fistula’ เพราะมีน้ำใสๆอยู่ในช่องคลอดจำนวนมาก ข้าพเจ้ารีบส่งคนไข้ไปเข้ารับการตรวจกับศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ (Uro-surgeon) คุณหมอได้นัดส่องกล้องเข้าไปทางท่อปัสสาวะ (Cystoscope) เพื่อสำรวจกระเพาะปัสสาวะในวันรุ่งขึ้น \r\nถัดจากนั้นมา 2 วัน คุณวาสนาได้มาพบข้าพเจ้าพร้อมกับรอยยิ้มว่า ‘ศัลยแพทย์ได้ส่องกล้องเข้าไปดูในกระเพาะปัสสาวะแล้ว ไม่พบรูรั่ว ดิฉันดีใจมากเลย’ ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็ดีใจเหมือนกัน พลางคิดในใจว่า ‘เราคงวินิจฉัยผิด’ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอตรวจภายในคนไข้อีกครั้ง เมื่อตรวจภายในให้กับคุณวาสนา ก็พบ น้ำในช่องคลอดอีกเช่นเดิม คราวนี้ข้าพเจ้าแน่ใจเลยว่า ‘การวินิจฉัย ไม่น่าจะผิด’ ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์พูดคุยกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องทางเดินปัสสาวะทันที คุณหมอแนะนำให้ทำการฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำให้กับคนไข้ (IVP = intravenous Pyelogram ) ซึ่งสีจะไปขับออกทางไต… วิธีนี้ จะช่วยบอกว่า ‘มีรูรั่วเกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ (V-V fistula) ลงมาในช่องคลอดหรือไม่? หรือ มีการรั่วจากหลอดไต เข้าไปในช่องคลอด (Uretero – vaginal fistula) โดยตรง’ \r\nข้าพเจ้าเริ่มปรึกษาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะวันพุธ คุณวาสนามาพบข้าพเจ้าในวันศุกร์ และคิดว่า ไม่เป็นอะไร?? แต่ ข้าพเจ้าแน่ใจว่า ‘คนไข้มีรูรั่วจากกระเพาะปัสสาวะ หรือหลอดไต เข้ามาในช่องคลอด (V-V fistula or U-V fistula) อย่างแน่นอน เพราะปริมาณน้ำในช่องคลอดมีจำนวนค่อนข้างมาก และไหลออกมาจากช่องคลอดอยู่เรื่อยๆ’ \r\nวันเสาร์ ข้าพเจ้าเดินทางไปที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเรียนปริญญาเอกด้านวิจัย (Clinical epidemiology)……ระหว่างเรียน ในช่วงเช้า คุณวาสนาได้โทรศัพท์มาบอกว่า ‘เธอมีอาการดีขึ้นมาก ไม่มีน้ำไหลออกทางช่องคลอดแล้ว’ ….ข้าพเจ้าเองก็ดีใจ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ข้าพเจ้าได้บอกกับคนไข้ว่า ‘วันจันทร์ ผมได้นัดให้คุณวาสนาไปฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อดูการไหลของน้ำปัสสาวะที่สร้างจากไตว่า มีการรั่วหรือไม่? คุณวาสนาคงต้องเข้าไปรับการตรวจวินิจฉัยตามปกติ’ \r\nวันจันทร์ คุณวาสนาได้ไปเข้ารับการฉีดสีตรวจดูการทำงานของไต ตอนเช้า ณ แผนกเอกซเรย์ และเข้ามาฟังผลที่แผนกศัลยกรรมในตอนเย็น วันนั้น ข้าพเจ้าได้รับรายงานจากศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ (Uro-surgeon) ว่า ‘รูรั่วที่เชื่อมต่อจากหลอดไตข้างขวาลงสู่ช่องคลอดนั้น (U-V fistula) กำลังจะปิดตัว เพราะสีรั่วออกมาน้อยมาก แต่…ขณะเดียวกัน หลอดไตเริ่มขยายตัว (mild Hydroureter and Hydronephrosis) และไตด้านขวาเริ่มทำงานในการขับปัสสาวะช้าลง’\r\nคณะกรรมการความเสี่ยงของโรงพยาบาลขอเรียกประชุม โดยมีข้าพเจ้าและศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ (Uro-surgeon) ร่วมด้วย ในการประชุมครั้งนี้ สรุปว่า ‘ควรดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อให้คนไข้พึงพอใจ และไม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายใดๆ’ ตอนเย็นวันจันทร์ ข้าพเจ้าและศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะได้พูดชักจูงให้คุณวาสนา เข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง \r\nคุณวาสนา ขณะที่พูดคุยกับศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ (Uro-surgeon) เธอมีท่าทางเหนื่อยหน่ายกับชีวิตมาก เธอไม่อยากเข้ารับการผ่าตัดใดๆทั้งสิ้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เธอได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ เป็นเวลา 1 วัน [ก่อนที่จะส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ (Cystoscope) แล้วไม่พบรูรั่วในกระเพาะปัสสาวะ] เธอรู้สึกทุกข์ใจอย่างยิ่ง คุณวาสนาบอกว่า ‘คุณหมอจะทำยังไง ก็ได้ ขอให้หายเถอะ’ ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะบอกกับคนไข้ว่า ‘เบื้องต้น จะส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะก่อน และสอดใส่ สาย Double J [เป็นแกนคั่นกลางในหลอดไต] ผ่านรูรั่ว ขึ้นไปสิ้นสุดที่กรวยไต (Renal Pelvis) เพื่อถ่ายเทปัสสาวะลงสู่กระเพาะปัสสาวะโดยตรง ซึ่งรูรั่วจะปิดตัวเองได้ ภายในเวลา 2 – 3 เดือน หากทำไม่สำเร็จ ก็จะผ่าเปิดหน้าท้อง เข้าไปตัดต่อท่อไต และฝังเข้าไปที่ยอดของกระเพาะปัสสาวะ (Implantation) ’\r\nวันอังคาร ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะได้นำคนไข้เข้าห้องผ่าตัด และลองใส่สาย Double J ก่อน แต่ใส่ ไม่สำเร็จ คุณหมอจึงปรับเปลี่ยนเป็นผ่าตัดเปิดช่องท้อง เข้าไปตัดต่อหลอดไต และฝังที่กระเพาะปัสสาวะ (Implantation) ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคนไข้ในวันถัดมา คุณวาสนารู้สึกตัวดี ไม่ปวดแผลผ่าตัด แต่รำคาญสายสวนปัสสาวะที่ต้องคาไว้เป็นเวลา 10 วัน ซึ่ง…เมื่อถอดสายสวนแล้ว และจากการตรวจติดตามผลในอีก 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด คุณวาสนาไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น ชีวิตที่สมบูรณ์ของเธอได้กลับคืนมาอีกครั้ง \r\nเรื่องราวภาวะแทรกซ้อนของคนไข้ในการผ่าตัดนั้น ถือเป็นสิ่งมีค่าในทางการแพทย์ที่มักเกิดซ้ำๆ คุณหมอในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มักจะนำมาเล่าขานวิเคราะห์ เจาะลึก หาสาเหตุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นในการผ่าตัดครั้งต่อไป สำหรับกรณีของคนไข้รายนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า น่าจะเกิดจากพังผืดของการผ่าตัดครั้งก่อน ส่งผลให้ดึงรั้งหลอดไตด้านขวา เข้ามาใกล้เนื้องอกมดลูกส่วนล่าง (Lower segment of uterus) การผ่าตัดครั้งต่อมา จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดพลาดพลั้งไปกระทบถูกหลอดไตนั้นได้ แม้ว่า…มันจะเป็นเรื่องเศร้าของคนไข้และคุณหมอผู้ผ่าตัด แต่..สิ่งเหล่านี้ ยังคงเกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีกในสถานพยาบาลต่างๆในโลกนี้ …\r\nไม่มีคุณหมอท่านใด อยากให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นกับคนไข้ของตน แต่..คุณหมอผ่าตัดทุกคนต้องเคยผ่านเรื่องราวเลวร้ายเช่นนี้มาก่อนอย่างแน่นอน….. ไม่มากก็น้อย…. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอให้เรื่องราวข้างต้น จงเป็นวิทยาทานแก่คนไข้และคุณหมอท่านอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้าต่อไป \r\n฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿\r\nพ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน\r\n\r\n\r\n\r\n. \r\n \r\n\r\n”,

Big Baby Lady First [เด็กตัวใหญ่ ให้นึกถึงแม่]

“วันเดือน ล่วงผ่านเลย ดุจสายลมไหว รวดเร็วจนหลายต่อหลายคนไม่ทันตั้งตัว….. เพียงชั่วเวลาไม่นาน.. ผู้คนมากมายก็กลายเป็นคนสูงวัยใกล้เกษียณ.. โลกวันนี้ ไม่เหมือนวันวาน เพราะเป็นยุคแห่งอาริยธรรมล้ำสมัย.. เกือบทุกสิ่งทุกอย่าง มีการเปลี่ยนแปลงฉับพลันทันที อย่างสลับซับซ้อน.. เสื้อผ้าที่สวมใส่ มีหลากสีหลายสไตล์ ความรู้เปลี่ยนแปลงก้าวไกลลิบ จนมองไม่เห็นถึงที่มา… แต่…จิตใจมนุษย์สิ กลับมีปัญหา…‘วุ่นวายสับสน’.. ผู้คน อยู่กันอย่างอ้างว้าง โดดเดี่ยว ภายใต้ผองชนรอบข้างที่ล้นหลาม…. คนโง่เขลาเบาปัญญา ต่างพากันหลงทาง หลงผิด คิดพลาด…คนที่มีปัญญาเท่านั้น… จึงจะเข้าใจความเป็นไปของสังคม และปรับตัวรับกับสถานการณ์..ได้..\r\n ผู้หญิงสมัยนี้ ตั้งครรภ์และคลอดยากกว่าคนสมัยก่อน ผู้หญิงส่วนหนึ่ง ซึ่งมีไม่น้อย แต่งงานช้า….นอกจากนั้น ทารกในครรภ์ยังมีน้ำหนักมากขึ้นด้วย เนื่องจากคุณแม่ยุคสมัยนี้มักบำรุงอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหวังจะให้ลูกตัวใหญ่ แข็งแรง… การที่ทารกในครรภ์มีขนาดน้ำหนักตัวมาก ย่อมส่งผลเสียต่อการคลอดตามธรรมชาติ.. หากสูติแพทย์ ประมาทเพียงเล็กน้อย ก็จะพลาดพลั้ง เกิดเรื่องเศร้าได้ \r\nช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่กี่วัน เกิดเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับทารกตัวใหญ่ (Big baby) ในครรภ์ ที่น่าสนใจ \r\nวันศุกร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรรับผิดชอบ วันนั้นเป็นวันที่วุ่นวายอีกวันหนึ่ง เนื่องจากคืนวันพฤหัส มีคนท้องครรภ์ที่สอง มาคลอดโดยการดึงด้วยเครื่องดูดที่ศีรษะ (Vacuum extraction) โดยแพทย์ประจำบ้านคนหนึ่ง.. ซึ่ง ทารกมีน้ำหนักมากถึง 4,690 กรัม… ทั้งแม่และลูกเกือบสูญเสียชีวิต.. แต่..เดชะบุญ คุณหมอแพทย์ประจำบ้านสามารถทำคลอดสำเร็จ.. ข้าพเจ้าถามถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ คุณหมอเล่าว่า “หัวเด็กมาคาที่ปากช่องคลอดนานแล้ว หัวใจของเด็กเต้นช้า…น่ากลัวมาก.. นอกจากนั้น เด็กยังถ่ายขี้เทาข้นออกมา (Thick meconium) ผมกะคร่าวๆว่า ‘เด็กมีน้ำหนักกว่า 4 กิโลกรัม’ ถ้าไม่ทำการคลอดทันทีเดี๋ยวนั้น…ผมว่า เด็กตายแน่..เพราะอาจารย์ที่ปรึกษา มาดูคนไข้ไม่ทัน.. จากการประเมินช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานของคนไข้ ผมคิดว่า เด็กน่าจะคลอดผ่านได้ ผมจึงตัดสินใจใช้เครื่องดูด (Vacuum extraction) ดึงคลอด.. เด็กติดไหล่เหมือนกัน แต่..ไม่นานนัก พยาบาลหลายคนช่วยกันดันและกดที่หน้าท้องคนไข้.. ในที่สุด คนไข้ก็คลอดได้ โดย..ทารกมีคะแนศักยภาพแรกคลอด 8 และ 10 (คะแนนเต็ม 10) ตามลำดับ ณ เวลา 1 และ 5 นาที” \r\nส่วนข้าพเจ้าเอง ก็ผ่าตัดคลอดในวันนั้นถึง 6 ราย รายที่เป็นปัญหาและสงสัยว่า ‘ลูกในครรภ์ น้ำหนักมาก.. มีอยู่ 2 ราย :- รายหนึ่ง เป็นคนท้องครรภ์แรก อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ มาด้วยเรื่องมีน้ำคร่ำน้อย ….เมื่อผ่าตัดคลอดออกมา ทารกมีน้ำหนักมากถึง 3,520 กรัม นับว่า ตัวใหญ่มากสำหรับคนไข้ครรภ์แรกที่สูงไม่ถึง 155 เซนติเมตร, รายที่สอง…ท้องที่ 4 เคยแท้งมาแล้ว 2 ท้อง.. เธอแต่งงานใหม่.. มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ แต่..ลักษณะของหน้าท้องใหญ่มากๆ ขณะที่เธอมีส่วนสูงเพียง 152 เซนติเมตร ผนังหน้าท้องของเธอสูงชิดติดกับยอดอกเลย.. คะเนว่า เด็กน่าจะหนักกว่า 4,000 กรัม.. อย่างไรก็ตาม…ข้าพเจ้าวินิจฉัยผิดพลาด.. เพราะ ในมดลูกน้ำคร่ำมีมากเหลือเกิน (Polyhydramnios) ส่วนทารก มีน้ำหนักเพียง 3,290 กรัม เท่านั้น..\r\nเช้าวันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวร และได้ไปดูคนไข้ที่ห้องคลอด พบคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณนิรนุช ครรภ์ที่ 3… ครรภ์ก่อนหน้านี้ ลูกคนแรกของเธอ มีน้ำหนักแรกคลอด 3,000 กรัม ลูกคนที่ 2 มีน้ำหนักแรกคลอด 3,500 กรัม ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ลูกคนนี้ กับลูกคนก่อนๆ เปรียบเทียบกันแล้ว เป็นยังไงบ้าง’ เธอตอบว่า ‘ลูกคนนี้ ใหญ่กว่ามาก’ และยังบอกอีกว่า ‘อยากจะขอผ่าตัดคลอด และทำหมันไปพร้อมๆกันเลย’ ข้าพเจ้าตรวจหน้าท้องของเธอ คะเนน้ำหนักทารกลูกของเธอว่า น่าจะอยู่ในราว 3,500 – 3,800 กรัม ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจที่จะผ่าตัดคลอดให้…. คาดไม่ถึง เพียงช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง… ปากมดลูกของคุณนิรนุชก็เปิดหมด… พยาบาลห้องคลอดถามข้าพเจ้าว่า ‘คุณหมอยังจะผ่าตัดคลอดให้เธออีกไหม??’ เมื่อข้าพเจ้าไปเยี่ยมคุณนิรนุช ก็จำเป็นต้องตัดสินใจ ให้เธอลองคลอดเองดูก่อน เพราะค่อนข้างฉุกเฉิน คุณนิรนุชอาจจะไปคลอดในห้องผ่าตัดได้.. โดย..ข้าพเจ้าตัดสินใจจะให้ใช้เครื่องดูดหนังศีรษะช่วย (Vaccuum) คลอดให้กับคนไข้รายนี้..\r\nที่ห้องคลอด.. คุณนิรนุชกำลังนอนเบ่งอยู่บนเตียงคลอดอย่างสุดแรง ในท่าขึ้นขาหยั่ง (Lithotmy) ข้าพเจ้าบอกให้แพทย์ประจำบ้าน (Resident) เป็นผู้ทำคลอด โดยเริ่มจากการประกอบอุปกรณ์เครื่องดูด (Vaccuum) และสอดใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด เมื่อประกบถ้วยดูดเข้ากับศีรษะเด็กพอดีแล้ว แพทย์ประจำบ้านก็ทำการลดความดันอากาศ (Negative Pressure) โดยใช้เวลาประมาณ 2 นาที.. จากนั้น แพทย์ประจำบ้านก็ออกแรงดึงถ้วยที่ดูดศีรษะเด็ก เพื่อทำคลอดส่วนหัวของลูกคุณนิรนุช……. ข้าพเจ้าได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่พยาบาล, นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน ให้ทราบโดยทั่วกันว่า ‘หากดึงคลอด.. แล้ว หัวเด็กไม่ตามเครื่องดูดลงมา หรือถ้วยดูดศีรษะเด็กหลุดแม้เพียงครั้งเดียว (Slip) เราก็จะนำตัวคนไข้ไปผ่าตัดคลอดทันที โดยไม่ลองดูดเป็นครั้งที่สอง’\r\nไม่น่าเชื่อเลยว่า การดึงด้วยเครื่องดูดเพียงครั้งเดียวของแพทย์ประจำบ้านครั้งนั้น…จะทำให้ศีรษะทารกน้อย ไหลตามลงมาทางคลอดอย่างง่ายดาย.. สักพักหนึ่ง หัวเด็กก็มาโผล่ออกมาที่ปากช่องคลอดของคุณนิรนุช…… ข้าพเจ้าใช้กรรไกรตัดช่องคลอดเป็นแผลทางด้านข้าง เพื่อให้ช่องทางคลอดกว้างขึ้น ..ไม่นานนัก….ศีรษะเด็กก็คลอด \r\n ข้าพเจ้ายืนดูอยู่ใกล้ๆคุณนิรนุช…และใส่ถุงมือเตรียมพร้อมจะทำคลอดตลอดเวลา เมื่อเห็นศีรษะทารกน้อยโผล่พ้นออกมา มีขนาดค่อนข้างใหญ่.. ข้าพเจ้า ก็ไม่รอช้า รีบลงมือทำคลอดให้กับทารกน้อยทันที โดยไม่ได้รอให้ผู้ช่วยใช้ลูกยางแดงดูดเสมหะและของเหลวจากคอเด็กก่อน ข้าพเจ้าทำคลอดด้วยความยากลำบากมาก โดยทำคลอดไหล่หน้าก่อน เพราะคิดว่าน่าจะคลอดได้ พอดึงศีรษะทารกน้อยลงมาอย่างแรงสุดเหนี่ยว.. ไหล่ก็ลื่นหลุดลงมาจากหัวเหน่า ตอนนั้น ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ต้องคลอดตัวเด็กได้แน่.. ข้าพเจ้าจึงดึงตัวเด็กต่อลงมา และทำคลอดไหล่หลัง พอคลอดทารกน้อยสำเร็จ ข้าพเจ้า ก็ถอนหายใจ พลางพูดเล่าให้แพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ฟังว่า ‘เมื่อกี้นี้.. ทำไม พี่ถึงทำคลอดเด็ก โดยไม่รอพวกเธอดูดเสมหะ น้ำลายออกจากปากและจมูกเด็กก่อน ’ นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน ส่ายหน้าไม่รู้ ข้าพเจ้าจึงเฉลยให้ฟังว่า ‘พี่เห็นหัวของเด็กค่อนข้างใหญ่ มันโผล่และผลุบเข้าไป เหมือนหัวเต่าที่หด.. อันนี้ เรียกว่า Turtle’s sign บ่งบอกว่า ทารกตัวใหญ่ ไหล่กว้าง…จึงมีโอกาสติดไหล่สูงมาก (Shoulder dystocia) หากพวกเราเห็นลักษณะเช่นนี้หลังคลอดศีรษะเด็ก (Turtle’s sign) อีก.. ขอให้ทำคลอดส่วนลำตัวต่อเนื่องไปเลย โดยไม่ต้องรอดูดน้ำคร่ำออกจากปากและจมูกเด็ก… พอคลอดสำเร็จเรียบร้อยทั้งตัวแล้ว จึงค่อยมาดูดน้ำคร่ำออกจากจมูกเด็ก ’\r\nลูกคุณนิรนุช คลอดเมื่อเวลา 8 นาฬิกา 39 นาที เป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 3,760 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 9 และ 10 (จากคะแนนเต็ม 10) ณ เวลา 1 และ 5 นาที ตามลำดับ นับว่า ปลอดภัยทั้งแม่และลูก สมดั่งใจที่ทุกคนปรารถนา \r\nที่กล่าวมาข้างต้น ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ‘ทารกตัวใหญ่ (Large fetus) ในครรภ์นั้น’ ไม่มีคำนิยามที่แน่นอน แต่..สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ประสบการณ์สอนให้รู้ว่า “Big Baby คือ ทารกที่มีน้ำหนักจากการประมาณ…มากกว่า 3,500 กรัมขึ้นไปในท้องแรก และมากกว่า 4000 กรัม ในท้องหลัง ซึ่งเด็กเหล่านี้มีโอกาสได้รับอันตรายได้ทุกเวลาจากการคลอดติดไหล่ (Shoulder dystocia).. ส่วนคุณแม่ ก็มักเกิดการตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง (Postpatum Hemorrhage) จากการที่ช่องคลอดฉีกขาดมาก และมดลูกไม่แข็งตัว (Uterine atony)..” การที่ทารกน้ำหนักมาก สามารถคลอดเองได้โดยไม่เสียชีวิต หรือพิการร่างกายสักหนึ่งราย.. ไม่ได้หมายความว่า ..จะเป็นเช่นนั้นได้ทุกราย… ดังนั้น สิ่งที่คุณหมอควรกระทำ ก็คือ การไม่ปล่อยให้คนไข้เหล่านี้คลอดเองทางช่องคลอด และ..รีบให้คนไข้เข้ารับการ ‘ผ่าตัดคลอด (Cesarean section)’ ทันที… \r\nทุ่งอ้อ ในป่านั้น ล้อลมพริ้วไสว งามตายิ่งนัก ยามที่เราได้ยล เวลาเดินเล่นในท้องทุ่ง.. ความสุขเล็กๆน้อยๆของครอบครัว ก็เป็นเช่นนี้.. หากต้องการให้ลูกของเราเกิดมาแข็งแรง ก็ต้องนึกไว้เสมอว่า ‘เด็กตัวใหญ่.. ให้นึกถึงแม่… คลอดเอง… ต้องแย่แน่..เพราะตกเลือด หรือติดไหล่ ’ \r\nพ.ต.อ. นพ .เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\n \r\n\r\n”,

ฉันเลือกที่จะ “ไม่ลืม”

“ฉันเลือกที่จะ “ไม่ลืม”\r\nบัดนี้ ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากลุ่มงานแผนกสูติ-นรีเวชกรรมของโรงพยาบาลตำรวจแล้ว เวลาในการดูแลคนไข้ของข้าพเจ้า จึงหดหายไปมาก ข้าพเจ้าใช้เวลาส่วนใหญ่ประชุม เพื่อรับทราบนโยบายมาปฏิบัติ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะมีใจสนุกสนานกับการบริหาร แต่..สัญชาติญาณของการเป็น ‘แพทย์’ ทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจลืมกลิ่นไอของการรักษาผ่าตัดคนไข้ไปได้ ข้าพเจ้าไม่อยากจะกลายเป็น ‘แพทย์ แต่เพียงในนาม’ เหมือนกับสูตินรีแพทย์ผู้บริหารหลายๆท่าน \r\nในอดีต เคยมีสูติแพทย์ท่านหนึ่งสอนข้าพเจ้าว่า ‘คนเราสามารถ ‘เลือก’ ที่จะจดจำ และ “ไม่ลืม” ความรู้ที่สำคัญบางอย่างได้…ยามฉุกเฉิน จึงสามารถหยิบฉวยเอามาใช้ได้ดังประสงค์’ ดังเช่น กรณีความรู้ในการผ่าตัดทางสูตินรีเวชกรรม..ที่ข้าพเจ้าสะสมประสบการณ์มานานกว่า 20 ปี ข้าพเจ้าเคยถามตัวเองว่า ‘จำเป็นด้วยหรือ ที่ข้าพเจ้าจะต้องทอดทิ้งความรู้เหล่านั้น เพียงเพราะว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้บริหาร..’ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงยังคงทำการรักษาผ่าตัดคนไข้อย่างสม่ำเสมอ เหมือนเดิม.. \r\nสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนั้นเป็นวันอังคาร ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่เวรประจำการใดๆ แต่..สูติแพทย์เวรได้โทรศัพท์มาบอกว่า ‘ลูกของเธอ ไม่ค่อยสบาย เธอจะเข้ามาถึงโรงพยาบาล.. สายๆหน่อย.. เผอิญ..ตอนนั้น มีคนไข้ท้อง 2 รายที่กำลังรอการผ่าตัดอยู่ จึงอยากจะรบกวนให้ข้าพเจ้าช่วยผ่าตัดคลอด ..โดยไม่ต้องรอเธอ’ ข้าพเจ้ากล่าวตอบรับด้วยความยินดีและขอให้เธออยู่ดูแลลูกต่อไป จนกว่าอาการของลูกจะดีขึ้น แล้วจึงค่อยเดินทางเข้ามาทำงาน..\r\nระหว่างเดินสำรวจตรวจตราคนไข้ในห้องคลอด ข้าพเจ้าพบคนท้องรายหนึ่ง ชื่อ คุณนิตยา อายุ 25 ปี ตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณนิตยามีภาวะรกเกาะต่ำด้วย เธอเจ็บครรภ์มาโรงพยาบาล และได้รับการยับยั้งการตั้งครรภ์ไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการคลอดก่อนกำหนด แต่..ตอนนั้น ข้าพเจ้าสังเกตว่า มดลูกของเธอดื้อ….และมีการแข็งตัวถี่ขึ้นเรื่อยๆ… \r\nตอนบ่าย ประมาณ 4 โมงเย็น ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะกลับบ้าน เผอิญ! ข้าพเจ้าเดินผ่านห้องคลอด พยาบาลห้องคลอดได้เดินมาหาพร้อมกับรายงานว่า ‘คุณนิตยากำลังตกเลือดออกมาจากช่องคลอดค่อนข้างมาก’ หลังจากประเมินคนไข้แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า ‘ไม่ควรจะยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกของเธอต่อไป’ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกให้พยาบาลนำคนไข้เข้ารับการผ่าตัดคลอดอย่างฉุกเฉิน \r\nที่ห้องผ่าตัด.. คุณหมอสูติแพทย์เวรขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ผ่าตัดหลัก โดยมีเธอเป็นผู้ช่วย เนื่องจากกลัวว่า เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา อาทิ ต้องตัดมดลูก เธออาจแก้ไขไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่รอช้า รีบลงมือผ่าตัดคุณนิตยาทันที.. ไม่นานนัก ข้าพเจ้าก็สามารถผ่าตัดเข้าถึงถุงน้ำคร่ำ ข้าพเจ้าใช้อุ้งมือจับหัวของทารกน้อยไว้ก่อน เพื่อกันไม่ให้ศีรษะเด็กขยับหนี แต่…..พอเจาะถุงน้ำคร่ำเท่านั้น ลูกคุณนิตยา ซึ่งตัวเล็กมาก กลับหลุดจากมือข้าพเจ้าไป.. ลอยตัวขึ้นข้างบนมดลูกและวางตัวอยู่ในท่าขวาง ขณะเดียวกัน น้ำคร่ำ ก็ไหลออกมาอย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้าพยายามควานหาเท้าของลูกคุณนิตยา เพื่อทำคลอดในท่าก้น แต่…ก็ทำไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าเสียเวลาอยู่นานในการควานหาเท้าของทารกน้อย..เมื่อกระทำไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจ ใช้กรรไกรตัดกล้ามเนื้อมดลูกตรงกลางแผลมดลูกที่กรีดไว้แล้ว ในลักษณะ Inverted T หรือ ตัว T หัวกลับ…..ข้าพเจ้าตัดกล้ามเนื้อมดลูกขึ้นไปทางยอดมดลูกเป็นแนวยาวมากพอสมควร จากนั้น ก็ดึงเท้าทำคลอดทารกน้อยออกมา สำหรับการเย็บแผลนั้น ข้าพเจ้าต้องกระทำอย่างประณีต โดยเย็บส่วนที่เป็นตัวTแกนแนวดิ่งเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาเย็บส่วนของตัวTแกนแนวนอน จากนั้น ก็เย็บเยื่อบุช่องท้องคลุมอีกที….นี่คือ ตัวอย่างการเย็บแผลรูปตัว T หัวกลับบนตัวมดลูกคนท้อง ซึ่ง…ข้าพเจ้าไม่เคยคิดฝันเลยว่า มันจะเป็นปัญหาใหญ่ให้ข้าพเจ้า ตอนพบเจอคนท้องที่ถูกผ่าคลอดด้วยลักษณะนี้ ในเวลาต่อมา \r\nเมื่อวาน เป็นวันที่สยองขวัญสำหรับข้าพเจ้าวันหนึ่ง เพราะข้าพเจ้าพบกับเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวอย่างมาก ตอนเช้าของวันอาทิตย์ ซึ่ง…..เป็นวันหยุดทั่วไปของชาวบ้าน…มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณฟ้าลั่น อายุ 38 ปี ตั้งครรภ์ครบกำหนด เข้ามาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดคลอดที่นั่น โดยกำหนดฤกษ์ไว้ ที่เวลา 9 : 30 นาฬิกา….พอตื่นขึ้น ข้าพเจ้าก็รีบเดินทางไปยังโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่ง เพื่อออกตรวจแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่ง..มีกำหนดการออกตรวจเริ่มจาก 9:00 น. และสิ้นสุดตอนเที่ยงวัน..การที่ข้าพเจ้าเดินทางไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งที่ 2 แต่เช้า ก็เพราะจะได้ขอลากลับไปผ่าตัดคลอดให้กับคุณ ฟ้าลั่น ที่โรงพยาบาลลเอกชนแห่งแรกได้ตามฤกษ์ \r\nคาดไม่ถึง..ว่า เมื่อถึงเวลาจริงๆ ข้าพเจ้าไม่สามารถออกเดินทางจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งที่สอง.. กลับมาถึงห้องผ่าตัด รพ. แห่งแรกได้ทันตามกำหนด ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงเมื่อเวลา 9:40 น. เมื่อมาถึง ข้าพเจ้าได้ลงมือทำการผ่าตัดคลอดให้กับคนไข้ทันที \r\nที่ห้องผ่าตัด… คุณฟ้าลั่นกำลังนอนอยู่บนเตียงผ่าตัดแบบสบายๆ ข้าพเจ้ารีบล้างมือ แต่งตัวด้วยชุดปราศจากเชื้อ แล้วเข้าไปประจำที่อย่างรีบเร่ง..พลางกล่าวทักทายกับวิสัญญีแพทย์ และคุณฟ้าลั่น แบบเป็นกันเอง จากนั้น ก็ลงมีดกรีดแนวขวางตามขอบกางเกงใน (Pfannenstiel’s incision) บนหน้าท้องบริเวณเหนือหัวเหน่าของคุณฟ้าลั่น โดย..ตัดเนื้อแผลเป็นอันเดิม (Incision scar) ทิ้งไปด้วย..ขณะที่กำลังผ่าตัด ปากข้าพเจ้าก็พร่ำพูดกับคนไข้และพยาบาลผู้ช่วยอย่างสนุกสนาน พอลงมีดเลาะไปถึงชั้นของกล้ามเนื้อ (Rectus muscle) บริเวณใต้ต่อสะดือ และทะลุเข้าสู่ช่องท้องของคุณฟ้าลั่น ข้าพเจ้า ก็แหวกกล้ามเนื้อ (Rectus muscle) แยกให้เห็นตัวมดลูกอย่างชัดเจน \r\nทันใดนั้น! ข้าพเจ้า ก็ตกใจสุดขีด ถึงกับอ้าปากค้าง ทันทีที่เห็นถุงน้ำคร่ำ มันโผล่ยื่นแทรกตัวออกมาระหว่างช่องว่างของกล้ามเนื้อมดลูก ที่แยกตัวออกทางด้านบนชิดผนังหน้าท้อง บริเวณกลางตัวมดลูก ข้าพเจ้าทราบได้ทันทีเลยว่า ‘เนื้อมดลูกมันกำลังจะแตกและแยกออกตามแนวผ่าตัดเดิมที่เคยทำไว้’ เมื่อสังเกตดู จะเห็นว่าถุงน้ำคร่ำแผ่เป็นบริเวณกว้างราวหนึ่งฝ่ามือ บนตัวมดลูก ข้าพเจ้าไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไม กล้ามเนื้อตรงนี้ มันถึงแยกแตกออก??? อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ารีบแหวกกล้ามเนื้อมดลูกส่วนที่ฉีกแยกนั้นให้กว้างมากขึ้น ในลักษณะเดียวกับการแหวกกล้ามเนื้อมดลูกสำหรับการผ่าตัดคลอดปกติ… จากนั้น ก็เจาะถุงน้ำคร่ำให้แตก\r\nข้าพเจ้ารีบทำคลอดทารกน้อยอย่างรวดเร็วและนิ่มนวล เพราะกลัวว่า รกของคนไข้จะลอกตัวเสียก่อน อันจะส่งผลให้ทารกเกิดการขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือด (Hypoxia).. อย่างไรก็ตาม ลูกคุณฟ้าลั่น ได้ส่งเสียงร้องดังลั่นหลังคลอดทันที บ่งบอกถึงว่า แข็งแรงดี หนูน้อยเป็นทารกเพศชาย คลอดเมื่อเวลา 9:50 น. ซึ่งยังอยู่ในฤกษ์งามยามดีที่คนไข้เลือกไว้ ทารกน้อยมีน้ำหนักแรกคลอด 4,100 กรัม มีคะแนนศักยภาพแรกเกิด เท่ากับ 9 และ 10 ณ นาทีที่ 1 และ 5 (คะแนนเต็ม 10) ตามลำดับ\r\nข้าพเจ้าชะโงกหน้าผ่านแผงผ้าสะอาดกันเปื้อนที่คลุมส่วนหัวของคนไข้ไป แล้วพูดกับคุณฟ้าลั่นว่า ‘ลูกคุณแข็งแรงดีนะครับ’ จากนั้น ก็รีบสำรวจตรวจดูมดลูกของคุณฟ้าลั่น ที่หดรัดตัวลงมา ว่า ‘มีลักษณะเป็นยังไงบ้าง? ’ คิดไม่ถึงเลยว่า ข้าพเจ้าจะพบรอยแตกแยกประหลาดบนตัวมดลูกเป็นร่อง 3 แพร่ง กล่าวคือ ตัวมดลูกทางด้านบนมีรอยแผลแยกเป็น 3 ทาง ในลักษณะตัว T หัวกลับ (Inverted T)\r\nใช่แล้ว!! ร่อยรอยเหล่านี้ คือ ผลพวงจากการผ่าตัดครั้งก่อนของคุณฟ้าลั่น หมายความว่า ‘การผ่าตัดคลอดคราวก่อนนั้น น่าจะมีปัญหา..เด็กอาจจะตัวใหญ่ คุณหมอผู้ทำ ไม่สามารถผ่าตัดคลอด เอาเด็กออกไม่ได้ เลยต้องใช้วิธีผ่าในลักษณะ Inverted T ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ข้าพเจ้าใช้ผ่าตัดคลอดคุณนิตยา นั่นเอง วิธีผ่าตัดแบบตัว T หัวกลับนี้ เป็นวิธีเดียวที่สูติแพทย์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาเวลาทำคลอดทารกในโพรงมดลูก ไม่สำเร็จ…ดังนั้น ในคนท้องที่เคยผ่าตัดมาแล้ว จำนวนมากมาย อาจมีรอยแผลเช่นนี้บนตัวมดลูก ซึ่ง…แน่นอน!!….ผลที่ตามมา คือ บาดแผลที่รอการแตกบนตัวมดลูก หากระยะเวลาการตั้งครรภ์นานเกินกว่า 38 สัปดาห์ เพราะปกติแล้ว เราจะผ่าตัดคลอดให้กับคนท้องที่เคยผ่าตัดคลอด ไม่เกิน 38 สัปดาห์ ซึ่ง ณ เวลานั้น มดลูกคนไข้มักจะยังไม่มีปัญหา สำหรับคุณฟ้าลั่นนั้น เธอตั้งครรภ์ครบ 39 สัปดาห์ ณ วันที่เธอเลือกที่จะผ่าคลอด… \r\nสำหรับการเย็บแผลบนตัวมดลูกของคุณฟ้าลั่นนั้น จะแตกต่างจากของคุณนิตยาพอสมควร เพราะส่วนที่แยกของกล้ามเนื้อมดลูกกรณีของคุณฟ้าลั่นนั้น มันคอดกิ่ว(บาง) ตรงรอยแยกตลอดทั้งแนว 3 ทิศทางเลย แต่..กรณีของคุณนิตยา จะมีความหนาของกล้ามเนื้อตรงรอยแยกมากกว่า เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกเพิ่งถูกตัดให้ขาดออกจากกัน \r\nสำหรับวิธีการเย็บรอยแผลแตกแยก 3 ทางบนตัวมดลูกของคุณฟ้าลั่นนั้น ข้าพเจ้าเลือกใช้เอ็น Polysoft เนื่องจากเอ็นชนิดนี้มีการละลายตัวช้า ( 90 วัน) กว่า catgut ( 30 วัน) ซึ่งใช้เย็บแผลบนตัวมดลูกของคุณนิตยา ข้าพเจ้าเย็บแผลบนตัวมดลูกในแนวตั้งของขา T ก่อน โดยเย็บถึง 3 ชั้นจากยอดมดลูกลงมาจนถึงขอบแผลในแนวนอน (ของตัว T) จากนั้น ก็เย็บแผลของมดลูกส่วนล่างตามแนวนอน (Horizontal incision wound) ข้าพเจ้าเย็บแผลแบบเงื่อนหมายเลขแปด (Figure of eight) ที่มุมขอบแผลทั้งสองข้าง ส่วนตรงกลางแผล ข้าพเจ้าก็เย็บแบบ Continuous lock และเย็บเสริมอีกชั้นหนึ่งด้วย เพื่อให้แน่นหนา…คุณฟ้าลั่นนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 4 วันเท่ากับคนท้องหลังผ่าคลอดทั่วไป โดยไม่ทราบว่า เธอและลูก เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์รุนแรงมาเมื่อ 2 -3 วันก่อนแค่นั้น เพราะหากข้าพเจ้าเดินทางไปถึงห้องผ่าตัดช้าไปสัก 1 -2 ชั่วโมง มดลูกของคุณฟ้าลั่นคงแตกแยก ทารกน้อยอาจเสียชีวิตในทันที….ข้าพเจ้าเอง ก็คงจะมีความผิดติดตัวไปด้วย แบบไม่ต้องสงสัย ถึงแม้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ตาม…\r\nปัจจุบัน ข้าพเจ้ายังคงผ่าตัดคนไข้ทางสูตินรีเวชเป็นประจำ โดยรักษามาตรฐานไว้ได้เหมือนเดิม แม้ระหว่างผ่าตัด จะมีปัญหาอะไร ข้าพเจ้าก็สามารถแก้ไข้ได้ โดยไม่ตื่นเต้นตกใจแบบคนที่ร้างเวที.. เพราะอะไรหรือ.. ก็เพราะ ข้าพเจ้ายังคงผ่าตัดคนไข้อยู่บ่อยๆ ทุกสัปดาห์ ในคนไข้ทางสูตินรีเวชทุกประเภท รวมทั้งยังผ่าตัดผ่านกล้อง อีก ซึ่งต้องใช้ทักษะขั้นสูงด้วย…\r\nพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ’ แต่…พระองค์ท่าน ไม่ได้กล่าวลอยๆ แบบด้วนๆ เช่นนั้น ท่านกล่าวเป็นเหตุเป็นผลว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะฝึกได้ และมนุษย์สามารถฝึกได้ ไปจนถึงขั้นสำเร็จดังที่ใจปรารถนาด้วย’ \r\nเมื่อข้าพเจ้าได้ฝึกและสามารถทำได้ ซึ่ง..การผ่าตัดรักษาที่ยาก.. ดังที่กล่าวมา ….ข้าพเจ้าย่อมอยากจะทนุถนอมความสามารถอันนี้เอาไว้ ….คุณหมอหลายท่านอาจมีชีวิตอยู่อย่างสบายตัว จากความร่ำรวยด้วยเงินทองหรือยศศักดิ์… …เลยทอดทิ้งทักษะดีๆเหล่านั้น..ข้าพเจ้าคิดว่า…โปรดอย่าทำเช่นนั้นเลย…เพราะอย่างน้อย… ก็ได้ทำบุญช่วยเหลือชีวิตคนไข้ผู้ทุกข์ยาก…อย่างไม่อาย..ต่อฟ้าดิน…\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน \r\n \r\n”,

ชีวิตนี้มีความหมาย (5)

“ไม่กี่วันที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เข้าไปเยือนในคุกหรือเรือนจำอีกแล้ว คราวนี้ เราไปเยี่ยมคุกบางขวาง..ที่จังหวัดนนทบุรี..วันนั้นเป็นวันคริสมาส …แต่..ไม่มีใครในคุกตื่นเต้นหรือให้ความสนใจใดๆ.. ทุกๆวัน คือความหวังของคนคุก ที่คิดว่า สักวันหนึ่ง พวกเขาจะได้ออกไปสู่โลกภายนอก …ส่วนเราทั้งสามคน กลับสวนทางคนเหล่านี้ พวกเราอยากจะเข้าไปในคุก… เพื่อทำหน้าที่ดังที่เคยทำมาตลอดเกือบ 20 ปี นับแต่ครั้งแรกที่ข้าพเจ้ารับปากเจ้าหน้าที่สถานฑูตไต้หวันว่า ‘จะช่วยดูแลนักโทษไต้หวันในคุกทุกแห่งในประเทศไทย’\r\nตอนเช้าวันนั้น ข้าพเจ้าตื่นสายไปหน่อย…ประมาณ 7 โมงเช้า เพราะกลางคืนราว 3 นาฬิกา ข้าพเจ้าได้ลุกขึ้นมาผ่าตัดคนไข้ท้องนอกมดลูกรายหนึ่ง ณ โรงพยาบาลเอกชนที่ข้าพเจ้าอยู่เวร (ขอสงวนนาม)…พอตื่นขึ้น ข้าพเจ้า ก็รีบกุลีกุจอไปที่ห้องอาหารของโรงพยาบาล เพื่อซื้อกับข้าวทำบุญตักบาตร แล้วก็ดื่มกาแฟเย็น (สด) เพราะข้าพเจ้าเป็นโรค Caffeine addict มิฉะนั้นแล้ว วันทั้งวันของวันนั้น ข้าพเจ้าคงจะปวดหัวจนทนไม่ไหว …จากนั้น ข้าพเจ้า ก็นั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปที่สถานีรถไฟBTS ‘อุดมสุข’ เพื่อโดยสารรถไฟลอยฟ้าไปยังโรงพยาบาลตำรวจ..ข้าพเจ้าเดินทางถึง รพ.ตำรวจเมื่อเวลา ประมาณ 8:30 น. \r\n 9 นาฬิกาของวันที่ 25 ธันวาคม 2555..พวกเรา ซึ่งประกอบด้วย ข้าพเจ้า, คุณริน, คุณชาญและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถานฑูตไต้หวันอีกท่านหนึ่ง …พวกเรานั่งรถตู้ เดินทางโดยขึ้นทางด่วนย่านพระราม 4 และแวะลงที่ย่านงามวงศ์วาน จากนั้น ก็มุ่งหน้าสู่ดินแดนแห่งนรกบนดิน…นามว่า ‘คุกบางขวาง’ พวกเราเดินทางถึงที่ทัณฑสถานแห่งนั้นเมื่อเวลา 9:30 น. คุณหมอมาณพ กำลังรอพวกเราที่ห้องตรวจบริเวณส่วนราชการหน้าคุกบางขวาง หลังจากทักทายกันสักครู่ เจ้าหน้าที่ชายคนหนึ่ง ชื่อนายศักรินทร์ ก็เดินนำ..พาพวกเราผ่านด่านของเจ้าหน้าที่ตรวจการ เข้าสู่ภายในแดนนรก \r\nพวกเราทุกคนต้องฝากของใช้ส่วนตัวเสียก่อน อาทิ กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ ไว้ในตู้เหล็กภายนอกคุก….ตามกฎรักษาความปลอดภัย…. เมื่อก้าวพ้นด่านชั้นแรกของกำแพงฑัณทสถานแห่งนี้ ข้าพเจ้าสังเกตเห็นชาวบ้านจำนวนมาก ประมาณ 40 – 50 คน กำลังยืนบ้าง นั่งบ้าง ออกันอยู่หน้าห้องเยี่ยมทางด้านขวา พนมมือรับศีล รับพรจากนักโทษท่านหนึ่ง ซึ่งในอดีต เป็นพระชื่อดัง…ข้าพเจ้าถามเจ้าหน้าที่ผู้พาพวกเราเข้าไปว่า ‘ปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากจะยังคงศรัทธากับพระนักโทษรูปนั้นอีกหรือ??’ ก็ได้รับคำตอบว่า ‘ใช่.. ทุกๆอาทิตย์ยังมีผู้คนที่ศรัทธา พากันหลั่งไหลมาฟังเทศน์อย่างเนืองแน่นทุกวันพฤหัส..’ …..นี่..ก็เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งบนโลกมนุษย์ …\r\nจากนั้น พวกเราทั้งสี่คน ก็เดินเข้าไปในคุกบางขวางชั้นในโดยผ่านด่านตรวจชั้นที่สองอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ศักรินทร์นำทาง พาพวกเราไปที่ห้องตรวจสุขภาพ หรือ ห้อง’โซล่า’ ที่มีขนาดประมาณ 16 ตารางเมตร (4×4 m^2) ซึ่งมีแผงใช้พลังงานแสงอาทิตย์ติดอยู่บนหลังคา ข้าพเจ้านั่งอยู่กับโต๊ะส่วนในสุด คอยทำหน้าที่ตรวจสุขภาพนักโทษไต้หวัน หลังจากที่นักโทษเหล่านั้นพูดคุยขอความช่วยเหลือเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ของสถานฑูตไต้หวันทั้งสองแล้ว.. \r\nการเข้ามาในคุกบางขวางของข้าพเจ้าคราวนี้ ไม่เหมือนกับครั้งเก่าก่อน ทั้งสถานที่ตรวจ และวิธีการเรียกตัวนักโทษ สมัยก่อน…ข้าพเจ้าตรวจนักโทษไต้หวันที่สถานพยาบาลหลังใหญ่ของคุกบางขวาง แต่คราวนี้ ข้าพเจ้าต้องตรวจนักโทษที่ห้องตรวจสุขภาพ ‘โซล่า’ หลังเล็กๆ.. สำหรับนักโทษไต้หวันที่เจ้าหน้าที่เรียกมานั้น มีทั้งหมด 43 คน.. ครั้งก่อนๆ เจ้าหน้าที่เรือนจำจะเรียกมาทีเดียวทั้งหมด แต่..เที่ยวนี้ เจ้าหน้าที่ฯเรียกมาทีละแดน..แดนละ 5 – 6 คน\r\nจริงๆแล้ว.. ตามที่ข้าพเจ้าเคยเล่า.. ข้าพเจ้าแทบจะไม่ได้ตรวจร่างกายของนักโทษเหล่านี้เลย เพราะทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง นักโทษไต้หวันแต่ละคนพยายามออกกำลังกายเป็นประจำ และระวังสุขภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สภาพที่แออัดคับแคบภายในคุก ย่อมก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่นักโทษทุกคนได้ง่าย นักโทษไต้หวันที่มาเข้ารับการตรวจภาคเช้า เป็นนักโทษจากแคน 3, 5 และ 6 มีนักโทษราว 20 คน ตอนใกล้ๆเที่ยง ก็มีนักโทษจากแดน 4 มาสมทบอีก.. รวมๆแล้ว ภาคเช้า ข้าพเจ้าตรวจนักโทษไต้หวันไปราว 30 คน \r\nไม่ใช่เรื่องแปลกเลย!!! นักโทษไต้หวันแต่ละคน จะเตรียมโพยชื่อยาที่ข้าพเจ้าเคยสั่งจ่ายเมื่อปีก่อนๆ ซึ่งใช้แล้วได้ผลดี..มา…พร้อมกับข้อปัญหาสุขภาพใหม่ๆ อาทิ ..ฟันผุ ..แผลพุพองตามง่ามมือง่ามเท้า..เป็นต้น ข้าพเจ้า ก็จะสั่งจ่ายยาตามที่ร้องขอและเพิ่มยาตัวใหม่ให้ไป แต่..บางคนกำลังเป็นโรค เช่น ตากุ้งยิง หรือหวัด พวกเขาก็จะขอให้ข้าพเจ้าสั่งจ่ายยาของที่ห้องตรวจสุขภาพแห่งนั้นทันทีเลย..ซึ่ง..พยาบาลของที่นั่น ก็อำนวยความสะดวกจ่ายยาให้ตามต้องการ…ชนิดละ 10 – 20 เม็ด.. พอถึงเที่ยงวัน พวกเราทุกคน ก็ต้องออกมาข้างนอกคุกก่อน เพื่อรับประทานอาหาร วันนั้น คุณหมอมาณพ รับอาสาเป็นไกดิ์พาพวกเราไปรับประทานอาหารอร่อยๆแถบย่านนั้น โดยให้พวกเราเป็นผู้เลือก พวกเราเลือกที่จะไปทานก๊วยเตี๋ยวเป็ดรสเด็ด จากนั้น ก็ไปกินไอ้ติมริมทาง ซึ่ง..รสชาดอร่อยมาก จนรัฐมนตรีหลายท่านเคยแวะมารับประทานตอนเยี่ยมคุก…\r\nภาคบ่าย..พวกเรากลับเข้ามาในคุกบางขวางอีกครั้ง และเข้าประจำการตรวจเหมือนเดิม นักโทษไต้หวันที่ถูกเกณฑ์มาคราวหลังนี้ มักมาจากแดนที่อยู่ห่างไกลจากห้องตรวจ..นักโทษแดนสุดท้ายที่เข้ามารับตรวจ คือ นักโทษแดน 10 หรือแดนประหาร มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 คน …เท่าที่สอบถาม ทุกคนเป็นนักโทษเด็ดขาดแล้ว เกือบทุกคนได้รับพระราชทานอภัยโทษ ไม่ต้องเข้ารับการประหาร แต่ต้องติดคุกราวๆ 40 ปี นักโทษส่วนใหญ่ติดคุกกันมาแล้ว 7 – 8 ปี ดังนั้น จึงยังเหลือเวลาจองจำอีก 30 กว่าปี อย่างไรก็ตาม..เท่าที่มองดู นักโทษพวกนี้ ยังมีสีหน้า ที่สดใสอยู่…แม้ภายในจิตใจจริงๆ จะทุกข์ตรอมอย่างแสนสาหัส ทุกคนยังมีความหวังว่า..สักวันหนึ่ง พวกเขาจะได้ออกจากคุก และได้สูดอากาศสดชื่น แบบที่พวกเราสูดหายใจกันทุกวัน…แค่นี้แหละ.คือ ความหวังเดียวที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้น มีกำลังใจ ที่จะมีชีวิตอยู่ในเรือนจำ \r\nระหว่างนี้…พวกเราจะรับรู้สึกถึงได้กับบรรยากาศอึดอัดของเจ้าหน้าที่และนักโทษจากกฏข้อบังคับใหม่ๆของคุกบางขวางว่า ‘มีกฏข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกี่ยวกับการลักลอบขน ยาเสพติดเข้าออก หรือติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์เรื่องซื้อขายยาเสพติดกับบุคคลภายนอก’ เนื่องจากผู้อำนวยการคุกบางขวางคนใหม่ เคยเป็นที่ปรึกษาของทัณฑสถานหลายแห่งมาก่อน จึงทราบถึง กลวิธีที่กลุ่มนักโทษและญาตใช้ในการนำเอายาเสพติดเข้ามาในคุก รวมทั้งวิธีการจัดจำหน่ายอีกด้วย ผลของการนำกฏข้อบังคับเหล่านี้มาใช้ ก็คือ นักโทษบางคนที่มีอาการของโรคฉุกเฉินรุนแรง อาจเสียชีวิตก่อนที่จะถูกนำส่งออกสู่ภายนอกไปยังโรงพยาบาลศูนย์..ในอดีต..เคยมีนักโทษไต้หวันคนหนึ่ง จู่ๆ ก็เป็นเกิดภาวะเบาหวานกำเริบเฉียบพลัน ผลเลือดมีน้ำตาลขึ้นสูงมาก.. คนไข้ทำท่าจะไม่รอดอยู่เหมือนกัน แต่… คุณหมอมาณพก็ได้ช่วยเหลือชีวิตเอาไว้ได้อย่างทันท่วงที ด้วยการลัดขั้นตอนการนำตัวผู้ต้องหาออกนอกทัณฑสถาน…หากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงนี้ เชื่อว่า นักโทษคนนี้ คงเสียชีวิตไปแล้ว เพราะกฏระเบียบการเข้าออกคุกของนักโทษตอนนี้ เข้มงวดมาก\r\nวันที่ 27 ธันวาคม 2555 เป็นอีกวันหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าออกเดินทางไปตรวจนักโทษไต้หวันในคุก….คราวนี้ พวกเราเดินทางไปตรวจนักโทษที่คุกคลองเปรม… ที่จริงแล้ว สถานที่ที่พวกเราไป ไม่ใช่คุก…แต่เป็นโรงพยาบาล ชื่อว่า โรงพยาบาลทัณฑสถานคลองเปรมประชา…โรงพยาบาลแห่งนี้ มีสภาพเป็นโรงพยาบาลจริงๆ…มีขนาดใหญ่ระดับปานกลาง คือ มีเตียงรองรับคนไข้ถึง 500 เตียง ขนาดเล็กกว่าโรงพยาบาลตำรวจนิดเดียว มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่มากมายเกือบครบทุกสาขา นักโทษไต้หวันที่ข้าพเจ้าไปตรวจนั้น มีทั้งสิ้น 33 คน นับว่า มากโขทีเดียว…\r\nพอไปถึง..เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์หญิงคนหนึ่ง ก็บรรยายเกี่ยวกับโรงพยาบาลคร่าวๆให้พวกเราฟัง ระหว่างนั้น นักโทษไต้หวันยังมารอตรวจจำนวนไม่มากนัก เธอจึงรับอาสาพาพวกเราไปดูห้องฟอกไตของโรงพยาบาล ซึ่ง…..คุณหมออายุรกรรม ผู้เชี่ยวชาญโรคไตของโรงพยาบาลตำรวจได้มาดำเนินการให้ในช่วงแรก..ภายในห้องนั่น มีเตียงฟอกไตอยู่ทั้งหมด 5 เตียง.. เครื่องมือที่ใช้ในการฟอกไต จัดว่า อยู่ในระดับโรงพยาบาลศูนย์ทีเดียว การฟอกไตใช้วิธีฟอกผ่านทางเลือดเท่านั้น ซึ่ง….มีความทันสมัยเป็นที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนั้น ที่นี่ยังมีห้องพักคนไข้อายุรกรรมใหญ่อีก 2 ห้อง รวมทั้งห้อง ไอ.ซี.ยู. อย่างดีอีกด้วย ความก้าวหน้าทางการแพทย์ของทัณฑสถานแห่งนี้ นับว่า ดีมากๆ.. แต่..คุณหมอต่างๆ ที่มาทำงาน ณ สถานที่แบบนี้ จะมีความตั้งใจมากน้อยขนาดไหน คงบอกยาก เพราะทุกท่านรู้ตัวดีว่า กำลังรักษานักโทษในคุก ที่มีประวัติร้ายๆทั้งนั้น \r\nข้าพเจ้าพยายามตรวจนักโทษทุกคนอย่างตั้งใจ โดยใช้เวลาส่วนหนึ่งซักถามเรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นด้วย เก็บไว้เป็นข้อมูลเขียนเรื่องราวต่างๆในคุก ที่ข้าพเจ้าตรวจเยี่ยมมาเกือบ 20 ปี …ตอนนี้ ข้าพเจ้าได้ทราบจากคุณชาญว่า ‘ตลอดปีที่ผ่านมา ทางการไทยได้เนรเทศนักโทษไต้หวันออกไปกว่า 200 คน ซึ่ง..โทษของคนที่ถูกเนรเทศส่วนใหญ่ เป็นพวก call centre ซึ่ง..ติดคุกไม่นานมาก.. เฉลี่ยแล้ว…นักโทษพวกนี้จะติดคุกคนละประมาณ 3 ปี’ ข้าพเจ้าคิดว่า นักโทษ call centre เหล่านี้ สร้างความเสียหายให้กับคนในประเทศไทยไม่น้อย ..ทำไม พวกเขาถึงได้รับโทษฑัณท์เพียงน้อยนิด ..หากเป็นประเทศอื่น อาทิ ไต้หวัน ..จีนแผ่นดินใหญ่.. ละก็ พวกเขาเหล่านั้นอาจถูกตั้งข้อหา ‘บ่อนทำลายเศรษฐกิจชาติ’ อันนี้ จะมีผลให้พวกเขาต้องติดคุกนานหลายสิบปี หรือถูกประหารชีวิตไปเลย..\r\nพอตรวจนักโทษชุดแรกเสร็จ พวกเราก็ออกมานอกคุกคลองเปรม เพื่อรับประทานอาหาร ณ ภัตตาคาร ‘ครัวชวนชม’ ข้าวปลาอาหาร ถือว่า ใช้ได้ทีเดียว ผู้คนผ่านไปมา ได้ให้ความสนใจ แวะรับประทานไม่น้อย..พอรับประทานอาหารเสร็จ พวกเราก็รีบเดินทางไปตรวจนักโทษไต้หวันอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง\r\nI ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง มีนักโทษไต้หวันเพียง 5 คนเท่านั้น หลายคนยังไม่เป็นนักโทษเด็ดขาด หมายถึง ยังไม่ได้ตัดสินขั้นฎีกา แต่ก็ติดคุกมาแล้วคนละ 4 – 5 ปี… มีนักโทษรายหนึ่ง ที่ทางการไทย มีหลักฐานไม่เพียงพอ… นักโทษสู้คดี จนชนะในศาลชั้นต้น…ปัจจุบัน…กำลังรอคำพิพากษาจากศาลชั้นอุทธรณ์ หากชนะคดีอีก..เขาก็จะเป็นอิสระ..และเดินทางออกไปจากประเทศไทยไป…โดยไม่มีย้อนกลับมา…ข้าพเจ้าตรวจนักโทษเหล่านี้เสร็จอย่างรวดเร็ว ก่อนกลับ พวกเราได้แวะไปทักทาย.. พี่ผู้หญิง…ผู้คุมในคุกแห่งนี้…ชื่อ “ พี่เพ็ญ ” …กำลังจะเกษียรในเดือนตุลาคม ปีนี้ …ข้าพเจ้าบอกกับพี่เพ็ญว่า ‘อยากจะขอนัดสัมภาษณ์สักวันหนึ่ง’ แด่คนทั่วไป เพื่อจะได้รับรู้ถึงความเป็นไปในคุกว่า มันเป็นอย่างไร…เพราะมีเรื่องสนุกสนานหลายเรื่อง ที่พี่สาวคนนี้จะเล่าให้ฟัง…ข้าพเจ้าคิดว่า..น่าจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อผู้คนทั่วไป ที่ยังเคยกระทำผิด… \r\nคุกหรือแดนนรกบนดิน ที่ทุกคนรู้จักกันดี…แต่.จะมีสักกี่คนรู้จักความเป็นจริงภายในนั้น… การที่ข้าพเจ้าได้เข้าไปตรวจนักโทษไต้หวันนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการกระทำความดีไว้บ้าง..แต่ที่สำคัญ คือ ข้าพเจ้าอยากเข้าไปในคุก โดยไม่ต้องกระทำผิด…คุณรินที่จะเข้าไปพร้อมๆกับข้าพเจ้า บอกว่า มันเป็นการสะเดาะเคราะห์ ไปในตัว ทำให้เราไม่ต้องติดคุก ในอนาคต..\r\nท่านเชื่อในคุณความดีหรือไม่…ข้าพเจ้าเชื่ออย่างสนิทใจและเชื่อว่า กฎแห่งกรรมนั้น เป็นจริงเสมอ…ไม่ว่า เราจะเกิดมาในชาตินี้หรือไม่…ก็ตาม…..\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน.. \r\n \r\n\r\n\r\n \r\n\r\n”,

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

“ทำไม ผู้คนโลกใบนี้ จึงให้ความสำคัญกับวันขึ้นปีใหม่กันนัก…ทั้งๆที่ บางที ตามสภาพที่เห็น มันยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นเลย ในความคิดของข้าพเจ้า มองว่า ‘เศรษฐกิจของประเทศเรา ยังคงอยู่ในสภาพย่ำแย่…แม้จะดีขึ้นในภาพรวม’ ..แต่….คนยากจน จะอยู่ในสภาพยิ่งแย่ลง เพราะข้าวของพากันขึ้นราคา จนค่าครองชีพสูงลิ่ว…ผู้คนกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ กำลังจะตาย เพราะตกงาน…เนื่องจากชนชาติเพื่อนบ้าน พม่า ลาว เขมร ต่างทะยอยกันเข้ามายื้อแย่งงานของคนไทยไปทำ…ที่สำคัญ คือ ค่ารักษาพยาบาล..ของโรงพยาบาลต่างๆ นั้นแพงสุดโหด…. ชนชั้นล่าง ในตอนนี้ จึงกำลังอยู่ในสภาพตายทั้งเป็น..ทำให้บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นโจรผู้ร้าย….เพื่อความอยู่รอด…\r\nปกติ ในช่วงใกล้วันหยุดยาว (Long Holidays) ข้าพเจ้าจะไม่ผ่าตัดใดๆ เนื่องจากกลัวปัญหาภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะหาคุณหมอมาช่วยผ่าตัดแก้ไขไม่ได้ ทำให้คนไข้ต้องรอจนกว่าจะเปิดทำงานราชการ… แต่..ปีนี้ มีคนไข้อยู่ 2 รายมีความจำเป็นส่วนตัว ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นใจ ดังนั้น ในวันศุกร์สุดท้ายของปี ข้าพเจ้าจึงได้กำหนดให้มีการผ่าตัดผ่านกล้องให้กับคนไข้ทั้ง 2 ราย รายหนึ่ง เป็นโรคเนื้องอกมดลูกหลายก้อน (Multiple myeloma) ส่วนอีกราย เป็นโรคถุงน้ำรังไข่ทั้งสองข้าง (Bilateral endometrioma) \r\nคนไข้รายแรก ชื่อ คุณเมตตา อายุ 47 ปี มีบุตรแล้ว 2 คน ลูกคนสุดท้อง อายุ 17 ปี..มาโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเรื่องคลำพบก้อนที่หน้าท้องเหนือหัวเหน่า คุณเมตตาบอกว่า ‘ขณะนี้ เธอกำลังกินยาละลายลิ่มเลือด เพราะมีเส้นเลือดอุดตันที่ปอด’ แต่..ที่ต้องการมาผ่าตัดเอามดลูกทิ้ง ก็เนื่องจากทนต่อสภาพตกเลือดอย่างรุนแรงเวลามีระดูไม่ไหว.. ข้าพเจ้าตอบตกลง โดยไม่ทราบว่า จริงๆแล้ว คนไข้รายนี้ เป็นโรคร้ายอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังกันแน่ เพราะเส้นเลือดอุดตันที่ปอด ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า ‘คุณเมตตาคงเข้าใจผิดอะไรบางอย่าง’ แต่…เพื่อความไม่ประมาท ข้าพเจ้าจึงส่งคนไข้ไปเข้ารับคำปรึกษาจากอายุรแพทย์ว่า ‘คุณเมตตาสามารถเข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องได้หรือไม่?’ ผลคือ อายุรแพทย์ ขอให้ คุณเมตตาหยุดยา 1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด …ข้าพเจ้ายอมรับการตัดสินใจของอายุรแพทย์ และนัดให้ คุณเมตตาเข้ารับการผ่าตัดในศุกร์สุดท้ายปลายปี เนื่องจากคุณเมตตามาพบข้าพเจ้ในวันพุธสัปดาห์นั้นและขอเข้ารับการผ่าตัดเลย ด้วยเหตุผลบางอย่างไม่ทราบแน่ชัด ….ข้าพเจ้ายินดีทำตามประสงค์ ทั้งๆที่ไม่สบายใจ..แต่.. ก็เชื่อมั่นในคำปรึกษาของอายุรแพทย์ท่านนั้น\r\nวันพฤหัสก่อนผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ ได้โทรศัพท์เข้ามือถือของข้าพเจ้าพลางขอร้องว่า ‘อยากให้ข้าพเจ้าปรับเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Exploratory Laparotomy) แทน และจำเป็นต้องจอง ห้อง ไอ.ซี.ยู.ศัลยกรรมให้คนไข้ไว้ด้วย’ ข้าพเจ้าตอบตกลง เพราะไม่อยากเสี่ยงกับชีวิตคนไข้รายนี้หลังผ่าตัด… พอถึงตอนเช้าวันศุกร์ ข้าพเจ้าได้เดินไปที่ห้องผู้ป่วยก่อนเข้าห้องผ่าตัด และแจกแจงถึงข้อปัญหาว่า ‘คุณเมตตาอาจประสบกับผลร้ายหากผ่าตัดผ่านกล้อง เพราะปัญหาที่ปอด.. โดยผมจะขอให้วิสัญญีแพทย์… ช่วยให้ยาสลบผ่านทางไขกระดูกสันหลัง (Spinal block)’ \r\nที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าเดินเข้าไปในห้อง โดยกะว่า จะแจ้งให้คุณหมอดมยา ‘ช่วยให้ยาสลบผ่านทางไขกระดูกสันหลัง (Spinal block)’ แต่พอไปถึง วิสัญญีแพทย์ได้ใส่ท่อช่วยหายใจให้คนไข้ไปแล้ว (Intubation) …ข้าพเจ้าบอกกับพยาบาลห้องผ่าตัดว่า ‘ผมจะใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 45 นาทีเท่านั้น โดยใช้เครื่องมือพิเศษ ในการหยุดเลือด (EBBE sealing bipolar cauterization)’ \r\nข้าพเจ้ากรีดลงมีดที่ผิวหนังเหนือหัวเหน่าในแนวขวาง (Pfannenstiel’s incision) เพื่อความสวยงามให้กับคุณเมตตา เพราะประเมินว่า เนื้องอกมดลูกมีขนาดเพียง 14 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ (Pregnancy size) หรือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตรเท่านั้น… เมื่อผ่าตัดเข้าสู่ช่องท้องแล้ว ข้าพเจ้าได้เลือกตัดเส้นเอ็น ที่ชื่อ Round ligament ด้านซ้ายก่อน เพระข้าพเจ้ายืนทางซ้ายของคนไข้..จากนั้น ก็ตัดเส้นเอ็นที่ชื่อ Infundibulo-pelvic ligament ต่อเนื่องกันไป ….การผ่าตัดทางด้านขวา ก็กระทำในทำนองเดียวกัน.. การผ่าตัดเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแทบไม่ได้เย็บผูกเส้นเลือดเลย นอกจากเส้นเลือดใหญ่ๆ สัก 2 – 3 ครั้งเท่านั้น ขั้นต่อไป คือ การตัดเส้นเลือดใหญ่ ที่ชื่อ Uterine arteries ทั้งสองข้าง โดยใช้เครื่องมือพิเศษ จากนั้น ก็หันมาตัดเอ็นที่ยึดด้านหลังของมดลูกส่วนล่าง (Utero – sacral ligaments) ทั้งสองข้าง แล้วเจาะเข้าสู่ช่องคลอดทางด้านหน้า (Anterior Colpotomy) หลังจากนั้น..ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปในการตัดเอามดลูกออกทั้งหมด\r\nพอมาถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าก็ป้ายน้ำยา ที่เรียกว่า Betadine ซึ่งมีสีเหลืองเข้มเหมือนยาทิงเจอร์ ตรงบริเวณแผลเปิดช่องคลอดด้านบนและอุ้งเชิงกรานส่วนล่างสุด (Culdesac) ข้าพเจ้าค่อยๆเย็บปิดช่องคลอดทีละเข็มแบบ interrupted สไตล์ศิริราช ที่ข้าพเจ้าร่ำเรียนมา….พอผูกด้ายที่ตำแห่งส่วนตัดของเอ็นและกล้ามเนื้อต่างๆ (Stumps) เข้าหากัน ข้าพเจ้าสังเกตเห็นส่วนของน้ำยาที่เหลืออยู่บริเวณต่ำสุด มีสีแปลกๆ ข้าพเจ้านึกกลัวว่า จะมีการทะลุเข้าลำไส้ใหญ่ (Large bowel perforation) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งของการผ่าตัดมดลูก ข้าพเจ้าจึงขอให้พยาบาลห้องผ่าตัด ช่วยเปิดผ้าคลุมท้องน้อย และยกต้นขา งอเข่าทางด้านซ้ายของคุณเมตตาขึ้น ข้าพเจ้าใช้นิ้วชี้ของมือขวาล้วงก้นคนไข้ พลางกระดกปลายนิ้วมือ และดูลำไส้ใหญ่จากในช่องท้องน้อยด้านบนว่า ‘มีการทะลุ หรือไม่???’ ผลปากฏว่า ‘ไม่มีการทะลุ’ ข้าพเจ้า ดีใจมาก และเย็บปิดช่องท้อง…ด้วยความโล่งอก แต่..ก็ต้องติดตามอาการเกี่ยวกับลำไส้ในวันรุ่งขึ้นอีกที\r\nวันรุ่งขึ้น คุณเมตตาสามารถลุกเดิน และจิบน้ำได้ ..นั่นแสดงว่า คุณเมตตาไม่เกิดปัญหาใดๆเลยเกี่ยวกับลำไส้ ข้าพเจ้าเพียงแต่ตระหนกตกใจไปเองกับสีของน้ำยาที่ปะปนกับของเหลวในช่องท้อง คุณเมตตาอยู่พักโรงพยาบาลได้ 5 วัน อายุรแพทย์ก็มาสั่งการให้ยาละลายลิ่มเลือดอีก ข้าพเจ้าถือโอกาส ถอดลวดที่เย็บแผลท้องของคนไข้ (Off staple) ออกและปิดด้วย แผ่นกระดาษยึดแผล (Sterile strip) ก่อนที่จะให้ยาละลายลิ่มเลือด.. คนไข้พักต่ออีก 3 วัน ก็ขออนุญาตกลับบ้านโดยไม่มีปัญหาแต่ประการใด \r\nคนไข้อีกราย ชื่อ คุณจงรัก อายุ 32 ปี แต่งงานได้ 3 ปี ยังไม่มีบุตร เธอมาโรงพยาบาลด้วยเรื่องปวดท้องน้อยเวลามีระดู (Dysmenorrhea) ในช่วง 4 – 5 เดือนที่ผ่านมา… ปกติ คุณจงรัก รักษาอยู่กับสูติแพทย์ท่านหนึ่ง แต่..ต่อมาเธอต้องการเข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้อง จึงมาหาข้าพเจ้า และขอผ่าตัดก่อนปีใหม่ด้วย เนื่องจากเธอเพิ่งผ่านพ้นระดูไปไม่นานนัก ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในให้คุณจงรัก ก่อนหน้านี้แล้ว พบว่า เธอเป็น ถุงน้ำรังไข่ขนิด ช็อคโกแลต ซีส 2 ข้าง (Bilateral endometrioma) ที่สำคัญ คือ ด้านขวาภายในช่องคลอด ของเธอมีลักษณะขรุขระ (right lateral fornix) อันหมายถึงว่า ในช่องท้องบริเวณเดียวกันนั้น เยื่อบุมดลูก (Endometriosis) น่าจะมาเกาะจนมีพังผืดหนา …แต่..ข้าพเจ้าก็คิดในทางที่ดีไว้ก่อนว่า น่าจะผ่าตัดได้ไม่ยากนัก …\r\nที่ห้องผ่าตัด…พอเจาะเข้าสู่ช่องท้อง ก็เห็นถุงน้ำช็อคโกแลต ซีสด้านขวาและซ้ายค่อนข้างใหญ่ ข้าพเจ้าเลือกเลาะถุงน้ำข้างซ้ายก่อน เพราะถุงน้ำและท่อนำไข่ด้านซ้ายเคลื่อนไหว (Mobile)ได้ดี.. ถุงน้ำ (Endometriotic cyst) นั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร…ข้าพเจ้าเลือกที่จะเจาะถุงน้ำก่อน เพื่อระบายเอาของเหลวสีเหมือนช็อคโกแลตภายในออกมา จากนั้น ก็ดูดล้างน้ำภายในถุง เพื่อให้ของเหลวเจือจางและเหลือน้อยที่สุด แล้วก็ทำการลอก (Laparoscopic cystectomy) เอาเปลือกถุงน้ำออกมาแบบไม่ยากนัก …เนื่องจาก ก้อนถุงน้ำมีส่วนยึดติดกับอุ้งเชิงกรานน้อยมาก และเบาบาง.. เพียงสะกิด..หรือเขี่ยไปมาเล็กน้อย พังผืดก็แตกออก ทำให้ปีกมดลูกและถุงน้ำด้านซ้ายเคลื่อนไหวอิสระ.. แต่..ถุงน้ำทางด้านขวา ไม่เหมือนกัน..ถุงน้ำมันเกาะค่อนข้างแน่นกับอุ้งเชิงกราน นอกจากนั้น ท่อนำไข่ส่วนปลาย ยังม้วนตัวเข้าไปยึดเกาะกับอุ้งเชิงกรานด้วย.. ผู้ช่วยของข้าพเจ้าในรายนี้ คือ แพทย์ประจำบ้านคนหนึ่ง ตอนนี้ คุณหมอเริ่มมีประสบการณ์ช่วยผ่าตัดได้คล่องแคล่วขึ้น โดยเฉพาะการถือกล้องให้สอดคล้องกับแนวทางการผ่าตัดของข้าพเจ้า คุณหมอสามารถขยับกล้องเข้าออกภายในช่องท้อง.. ได้ค่อนข้างถูกต้อง ข้าพเจ้าไม่ต้องอธิบายมาก การผ่าตัดจึงราบรื่นอย่างเห็นได้ชัด \r\n หลังจากเจาะและลอกถุงน้ำช็อคโกแลต ซีส (Laparoscopic cystectomy) ด้านขวาแล้ว ข้าพเจ้าก็หันมาเลาะส่วนปลายของท่อนำไข่ (Right fimbrial end) ซึ่งม้วนตลบลงล่างและเกาะยึดติดกับอุ้งเชิงกรานข้างมดลูก การเลาะพังผืดตรงนี้ ก็ไม่ยากนัก ข้าพเจ้าใช้คีมปลายมนจับปลายปากแตร.. ค่อยๆดึง.. และบางส่วนก็ใช้กรรไกร เลาะเนื่องจากพังผืด ไม่หนาแน่นมาก (not dense) การเลาะเอาปลายท่อนำไข่ออก ทำได้ไม่ยาก แต่..การเลาะเอามดลูกส่วนล่างที่ยึดติดกับอุ้งเชิงกราน บริเวณใกล้เอ็นขากางเกง (Utero-sacral ligaments) กระทำค่อนข้างยาก ข้าพเจ้าได้ใช้ปลายท่อฉีดน้ำ (Suction & irrigation pipe) เขี่ยและดันพังผืดที่ยึดติดไปทางมดลูก (blunt dissection directly to uterine side) ทำให้พังผืด แยกแตกออกมามากพอสมควร \r\nสุดท้าย เมื่อข้าพเจ้าสามารถทำให้ปีกมดลูกทั้งสองข้างเป็นอิสระทั้งท่อนำไข่และเปลือกรังไข่ ข้าพเจ้าได้เย็บเปลือกรังไข่ด้านซ้ายและขวาให้กลับมามีรูปร่างเป็นก้อนรังไข่เหมือนเดิม..ไม่เกะกะ กะรุ่งกะริ่ง…….ในท้ายที่สุด ข้าพเจ้าได้ใส่แผ่นตาข่ายคล้ายกะปิ้ง (ชื่อ Interceed) ขนาด 4×6 เซนติเมตร เข้าไปวาง ณ ตำแหน่งที่ข้าพเจ้าเลาะพังผืดแยกมดลูกส่วนล่างให้ออกจากอุ้งเชิงกราน (culdesac) เพื่อกันไม่ให้เกิดพังผืดซ้ำกลับมาอีกในระยะเวลาอันสั้น แผ่นตาข่าย Interceed จะละลายตัว ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งเชื่อว่า มดลูดส่วนล่างดังกล่าว จะไม่เกิดพังผืดยึดติดกับอุ้งเชิงกรานอีก….ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล 3 วัน ก็ขออนุญาตกลับบ้าน…\r\nทั้งคุณเมตตา และคุณจงรัก เป็นคนไข้ที่ข้าพเจ้าผ่าตัดผ่านกล้องส่งท้ายปีเก่า ..คุณเมตตานั้น ผ่าตัดง่าย …แต่.. คนไข้ก็อาจเสียชีวิตกระทันหันจากภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดอุดตันที่ปอดได้ นอกจากนั้น พอเห็นของเหลวที่อุ้งเชิงกรานก่อนปิดคล้ายของเหลวในลำไส้ ข้าพเจ้า ก็ขวัญเสีย…กลัวว่า ลำไส้จะทะลุ….แม้ในที่สุด จะไม่มีปัญหาอะไร…ข้าพเจ้า ก็รู้สึกหดหู่ใจกับการตัดสินใจผ่าตัดครั้งนี้.. ส่วนคุณจงรักนั้น ข้าพเจ้าคาดล่วงหน้าว่า น่าจะผ่าตัดยาก เนื่องจากตอนตรวจภายในให้กับคนไข้ ข้าพเจ้าพบร่องรอยขรุขระ (irregularity) ภายในช่องคลอดด้านขวา (right lateral fornix) และอาการปวดระดูของคนไข้ค่อนข้างมาก จึงคิดว่า พยาธิสภาพภายในอุ้งเชิงกรานของคุณจงรักน่าจะมีมาก… ซึ่งพอผ่าตัดเข้าจริงๆ ….การผ่าตัดกลับไม่ยากอย่างที่คิด..\r\nเรื่องราวที่เล่ามานั้น ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่คาดการณ์ล่วงหน้านั้น อาจไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป ….ภาระงานทุกอย่างนั้น.. จะยาก หรือง่าย ..เมื่อลงมือกระทำแล้ว จึงจะรู้ได้อย่างแน่ชัด…..เมื่อมองย้อนกลับไปถึงการผ่าตัดข้างต้น ..ข้าพเจ้าคิดว่า ….ข้าพเจ้าน่าจะหาความสงบสุขให้กับชีวิตตัวเอง จะดีกว่า….ด้วยการอยู่เฉยๆ….นอนอยู่กับบ้าน…ดูทีวี หรือไปวัด.. สวดมนต์ข้ามปี…\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน \r\n \r\n\r\n”,

ฉุกเฉิน เกินห้ามใจ (Obstetric emergency)

ฉุกเฉิน เกินห้ามใจ (Obstetric emergency)
วันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา…….ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังตรวจร่างกายประจำปี ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ เมืองหนองคาย จู่ๆ ข้าพเจ้าก็ปวดท้องน้อยขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน..อาการปวดคราวนั้นมันรุนแรงมาก จนทำให้ข้าพเจ้าต้องนั่งตัวงอ และหยุดทำภารกิจทุกสิ่ง.. ความจริง!!…ตอนเช้าราว 7 โมง ข้าพเจ้าก็เริ่มปวดท้องน้อย แต่..ได้กินยาแก้ปวดกระเพาะปัสสาวะ (Urispas) ที่หาซื้อจากร้านขายยาข้างถนนที่กรุงเทพฯแล้ว..จากนั้น ก็พยายามอดทนตรวจนายตำรวจทั้งหลาย ที่มายืนรอเข้าคิวตั้งแต่เช้ามืด….อย่างไรก็ตาม พอข้าพเจ้าตรวจตำรวจไปได้ประมาณ 50 คน อาการปวดท้องน้อยก็กำเริบขึ้นอย่างรุนแรง นั่นแสดงว่า ยาตัวนั้นไม่ถูกกับโรค.. ข้าพเจ้าต้องขอหยุดตรวจทันที และเดินไปบอกคนขับรถ ให้พาไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดหนองคาย  
อาการปวดท้องน้อยอย่างนี้ ข้าพเจ้าเคยปวดมาก่อน และรู้ว่า มันเป็นอาการของโรค OAB (overactive bladder) หรือกระเพาะปัสสาวะไวต่อการกระตุ้นของระบบประสาท อาการปวดเช่นนี้กำเริบขึ้นมาเป็นระยะๆ ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า จะต้องรับประทานยาตัวไหน ถึงจะสยบอาการปวดที่ว่านี้ได้…อย่างไรก็ดี การปวดท้องน้อยคราวนี้ มันรุนแรงว่า ทุกครั้งที่ผ่านมา…..
เบื้องต้น เนื่องจากข้าพเจ้ากลัวความยุ่งยาก จึงได้บอกให้คนขับรถช่วย ขับวนเวียนไปหาร้านยาใหญ่ที่สุดของเมืองหนองคาย เมื่อไปถึง เจ้าของร้านถามข้าพเจ้าว่า ‘ต้องการซื้อยาอะไรครับ’ ข้าพเจ้าบอกเขาว่า‘ต้องการซื้อยา ชื่อ DIUTROPAN หรือ DETRUSITOL ก็ได้ครับ’ คนขายบอกทันทีเลยว่า ‘ไม่มี’ ดังนั้น…ข้าพเจ้าจึงบอกกับคนรถว่า ‘ไม่ต้องหาร้านยาอีก รีบขับไปที่โรงพยาบาลจังหวัดเถอะ ผมแทบจะทนไม่ไหวแล้ว’
พอไปถึง ที่โรงพยาบาลหนองคาย ข้าพเจ้ารีบเดินไปหาแผนกประชาสัมพันธ์ และบอกว่า ‘ขอโทษนะครับ…ผมเป็นหมอโรงพยาบาลตำรวจ ผมปวดท้องน้อยอย่างมาก..มีหมออะไรก็ได้ออกตรวจไหม?? ผมอยากได้ยาเกี่ยวกับโรคปวดท้องของผม’ เจ้าหน้าที่หญิงท่านนั้น จัดแจงให้คนไปทำบัตรโรงพยาบาลให้ทันที และรีบตามพยาบาลท่านหนึ่งมาช่วยอำนวยความสะดวก เหตุการณ์ครั้งนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกทราบซึ้งใจเจ้าหน้าที่ และพยาบาลทุกคนของโรงพยาบาลจังหวัดหนองคายเป็นอย่างยิ่ง..  เจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยเหลือข้าพเจ้าเป็นอย่างดี…ตอนนั้น เป็นเวลาที่ค่อนข้างเช้าราว 8 นาฬิกา ซึ่งยังไม่มีคุณหมอท่านใดออกตรวจ พวกเขาพาข้าพเจ้าไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล..ข้าพเจ้ารีบบอกชื่อยาดังกล่าวข้างต้นกับคุณพยาบาล เพื่อให้ไปสอบทานกับทางห้องยา ปรากฏว่า มีตัวยาชื่อ  DETRUSITOL เท่านั้น พอคุณหมอผู้หญิงจบใหม่ท่านหนึ่งเดินมาที่ห้องฉุกเฉิน ข้าพเจ้ารีบแนะนำตัวและขอซื้อยาดังกล่าว พอรับประทานยาเข้าไป ข้าพเจ้าได้กล่าวขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ที่นั่นและขอตัวกลับ..คนรถรีบขับพาข้าพเจ้ากลับโรงแรมที่พักทันที…ขณะเดินทางกลับ อาการปวดท้องน้อยของข้าพเจ้าไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง ข้าพเจ้าขอให้คนรถแวะร้านขายยาข้างทาง ขอซื้อยาแก้ปวดท้อง (Buscopan) และยาแก้ปวดหัวลดไข้ (Paracetamol) ..พลางรำพึงกับตัวเองว่า ’โง่จริงๆตัวเรา..ถึงแม้จะรับประทานยาเฉพาะโรคแล้ว ..แต่ยานั้นก็ต้องใช้เวลาออกฤทธิ์ในการรักษา ..ข้าพเจ้าจะหายปวดทันทีทันใดได้ยังไง..ทำไมถึงไม่ซื้อยาแก้ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ (Buscopan) ร่วมมาด้วยตอนที่อยู่โรงพยาบาลหนองคาย จะได้ลดอาการปวดท้องน้อยในคราวเดียวกัน..’ หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้กลับไปนอนพักที่โรงแรม และอดทนกับอาการปวดไปอีกระยะหนึ่งจนเผลอหลับไปประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อตื่นขึ้นมา อาการปวดท้องน้อย ทุเลาลงไปอย่างมาก …คงเหลือไว้เพียงเล็กน้อยตอนปวดปัสสาวะ นี่คือ อุทาหรณ์ของการรักษาที่ถูกกับโรค มิฉะนั้นแล้ว ข้าพเจ้าคงทำงานตรวจตำรวจตลอด 3 วันนั้นไม่ได้เลย เรื่องราวข้างต้น เป็นเรื่องที่ฉุกเฉินมากเหลือเกินจริงๆสำหรับคนๆหนึ่ง.. แต่…มีเรื่องที่ฉุกเฉินยิ่งกว่าเสียอีก ซึ่ง..เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนท้องและลูกในครรภ์..   
พอข้าพเจ้ากลับมากรุงเทพฯได้ไม่กี่วัน..ก็เกิดเรื่องเลวร้ายอันไม่คาดคิดขึ้นในคืนหนึ่ง….คืนนั้นเป็นวันศุกร์ ข้าพเจ้าอยู่เวรนอนที่โรงพยาบาลเอกชนย่านบางนา แทนสูติแพทย์สตรีที่จำเป็นต้องกลับไปดูแลลูก..คืนนั้น เวลาราว 4 ทุ่ม..คุณหมอเวรสูติฯ ได้ให้พยาบาลหอผู้ป่วยชั้น 5 โทรศัพท์หาข้าพเจ้าเป็นการด่วน คุณพยาบาลบอกว่า ‘มีคนท้องเป็นครรภ์พิษ (Severe Preeclamsia) รายหนึ่ง ความดันโลหิตสูงมากและกำลังจะชัก อยากให้อาจารย์มาดูคนไข้หน่อย ’ ข้าพเจ้าตอบกลับไปว่า ‘อ้าว!! มีคุณหมอเวรอยู่..ไม่ใช่หรือ??’ คุณหมอเวร รีบคว้าโทรศัพท์มาแล้วพูดว่า ‘หนูเบื่อจริงๆ.. เพราะเมื่อชั่วโมงที่ผ่านมา ก็มีคนท้องรายหนึ่งมา ด้วยเรื่องลูกไม่ดิ้นและท้องแข็ง ปรากฏว่า เด็กหัวใจเต้นช้ามาก หนูเอาคนไข้ไปผ่าตัดคลอด ตอนนี้เด็กอยูห้อง ไอ.ซี.ยู. …คาดว่า เด็กน่าจะเสียชีวิต ..นี่ก็เป็นกรณีครรภ์พิษ อายุครรภ์ แค่ 32 สัปดาห์ เด็กก็อาจไม่รอดเช่นกัน’
คุณศศิธร คือ คนท้องรายแรกที่ลูกหัวใจเต้นช้าและลูกของเธอต้องเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด..เธออายุ 26 ปี ตั้งครรภ์ที่ 6 เคยแท้งบุตรมาแล้วครั้งหนึ่ง … คุณศศิธรมาที่ห้องคลอดแบบฉูกเฉิน ด้วยเรื่อง ตกเลือดออกจากช่องคลอดขณะตั้งรรภ์ครบกำหนด 3 ชม.ก่อนมาโรงพยาบาล
เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ..ที่คุณศศิธร ไม่ได้ฝากครรภ์ แต่..เคยไปตรวจครรภ์ที่คลินิกใกล้บ้านเป็นบางครั้งบางคราว คุณศศิธรมาถึงห้องคลอด เมื่อเวลา 17 นาฬิกา คุณหมอเวรฟังเสียงหัวใจทารก พบว่า เต้นด้วยอัตราช้ามาก ประมาณ 70 – 80 ครั้งต่อนาที (ปกติ หัวใจทารกจะเต้นอยู่ในราว 140 ครั้งต่อนาที หากน้อยกว่า 100 ครั้งต่อนาที ถือว่า อยู่ในภาวะวิกฤต [Fetal distress]) คุณหมอจึงรีบตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อดูว่า รกของคนไข้ลอกตัวหรือไม่?? ก็มองเห็นไม่ชัดเจน คุณหมอจึงสั่งการให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินทันที (Emergency cesarean section).. ก่อนผ่าตัด คุณหมอได้ตรวจภายในให้คุณศศิธร.. พบว่า มีเลือดจำนวนหนึ่งออกมาจากปากมดลูก การวินิจฉัยเบื้องต้นในรายนี้ คือ รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta) ซึ่งหมายความว่า คนไข้มีความเสี่ยงอย่างมากต่อภาวะเลือดออกไม่หยุด (Disseminated Intravascular Coagulopathy) อันเป็นสาเหตุนำไปสู่การตัดมดลูก เพื่อหยุดเลือด.. ส่วนทารกน้อย คงไม่ต้องพูดถึง…มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 จากการเสียเลือดของตัวเองเพียงเล็กน้อย
คุณศศิธรได้รับการผ่าตัดคลอดเมื่อเวลา 17:30 นาฬิกา ทารก มีคะแนนศักยภาพแรกคลอด เพียง  1 และ 3  ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ (คะแนนเต็ม 10,10) ทารกน้อยถูกส่งเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดทันที และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
คุณชลธิชา คือ คนไข้อีกรายที่กล่าวถึง เธออายุเพียง 21 ปี ตั้งครรภ์ที่สอง ลูกคนแรก อายุ 3 ขวบ เธอคลอดเองตามธรรมชาติ น้ำหนักแรกเกิด 3000 กรัม  เธอมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ โดยไม่มีปัญหาอะไร พออายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ 5 วัน, ความดันโลหิต ก็พุ่งขึ้นสูงถึง 180/100 มิลลิลิตร พร้อมกับมีอาการปวดศีรษะ จุกท้อง แน่นลิ้นปี่ คุณหมอเวรวันพฤหัส ได้ให้คุณชลธิชานอนโรงพยาบาลเจาะเลือดและเริ่มยารักษาภาวะครรภ์พิษ [Toxemia (ชื่อเดิม ซึ่ง ปัจจุบัน ไม่ใช้แล้ว) or Severe Preeclampsia ]  โดยฉีดยา แมกนีซี่ยม ซัลเฟต (MgSO4) เพื่อป้องกันชัก, ยาลดความดันโลหิต ..และยาเพิ่มความสมบูรณ์ของปอด (Dexamethasone) ตามสูตรการรักษา (Follow by regimens) ตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี.. คนไข้นอนพักอยู่ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 ซึ่งมีการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่..สิ่งสำคัญที่ยังไม่ได้ทำ คือ การทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง..(อาทิ เร่งคลอดทางช่องคลอด หรือ ผ่าตัดคลอดเอาเด็กออก) อันเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการรักษา  
วันศุกร์ ตอนเช้า ข้าพเจ้าอยู่เวรห้องคลอด โรงพยาบาลตำรวจ ก็ไม่ได้รับรายงานเรื่องภาวะครรภ์พิษของคุณชลธิชา พอตกเย็น ข้าพเจ้าออกจากเวร ไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และอยู่เวรนอนที่นั่น..เวลาประมาณ 4 ทุ่ม ก็เกิดเรื่องราวดังกล่าวข้างต้น คือ คุณชลธิชามีอาการเหมือนๆจะชัก ซึ่ง..ต้องการการรักษาเร่งด่วน..คุณหมอเวรคงเครียด….เนื่องจากคนท้องที่เพิ่งผ่าตัดคลอดไป เป็นรกลอกตัวก่อนกำหนด…แม้คุณแม่ไม่ต้องตัดมดลูก แต่..ก็ต้องถูกส่งไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.ศัลยกรรม เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด… ส่วนกรณีคุณชลธิชาก็เป็นเหตุฉุกเฉินที่อันตรายทั้งแม่และลูกเช่นกัน..คุณชลธิชามีโอกาสเสียชีวิตจากเส้นโลหิตในสมองแตก (Stroke) ส่วนลูกก็อาจต้องเสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด (Premature baby)
คุณหมอเวรสูติฯ พูดผ่านทางโทรศัพท์บ่นว่าต่างๆนานา ข้าพเจ้าพูดตอบเธอไปว่า ’กรณีของคุณชลธิชา ไม่เห็นจะน่ากลัวอะไรเลย คุณชลธิชาตั้งครรภ์มานานถึง 32 สัปดาห์ 6 วัน และได้ steroid  มาเกือบครบ 48 ชม แล้ว เธอก็ให้อีก 12 มิลลิกรัม แล้วก็เอาคนไข้ไปผ่าตัดคลอด รับรองว่า..เด็กไม่มีปัญหาแน่ ’ คุณหมอเวรตอบกลับมาว่า ‘อย่างนั้น..อาจารย์มาผ่าตัดคลอดเอง ก็แล้วกัน ถ้าแม่หรือลูกเสียชีวิต จะได้ไม่เป็นความผิดของหนู’ ข้าพเจ้าฟังแล้ว รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง อยากจะไปผ่าตัดคลอดด้วยตัวเอง แต่ ก็ติดภารกิจที่โรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น ก็คงต้องปล่อยให้คุณหมอเวรผ่าตัดคลอดไปก่อน มีปัญหาอะไร ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบอยู่แล้วในฐานะหัวหน้างาน
ทารกน้อยคลอดเมื่อเวลา 4 ทุ่ม 28 นาที เป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2000 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 9 และ 10 (คะแนนเต็ม 10) แข็งแรงดี ไม่มีปัญหาอะไรทั้งแม่และลูกตามที่คาด
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดและครรภ์พิษ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์อย่างยิ่ง..เพราะ ล้วนแต่อันตรายอย่างรุนแรง ต่อมารดาและทารก อันตรายที่ร้ายแรงที่สุด คือ การสูญเสียชีวิต ดังนั้น การแก้ไขอย่างรวดเร็ว และถูกต้องหรือ ‘ถูกกับโรค’  ถือ เป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้น ฝันร้าย ก็จะตามมา
เมฆหมอกในใจของคนเรา อันได้แก่ ความกังวลใจในปัญหานั้นๆ มันย่อมสามารถจางหายไปได้ หากเราบรรลุถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกกับโรค หรือปล่อยวางได้ อย่างพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การแก้ปัญหาฉุกเฉินในทางสูติศาสตร์นั้น นอกจากจะต้องอาศัย‘ความรู้’แล้ว ยังต้องอาศัย‘ประสบการณ์’ อันยาวนาน และอีกสิ่งหนึ่ง ที่สำคัญ คือ ‘โชค’ ด้วย มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอย่างแน่นอน ดังเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น…
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

 

 

ขอโทษที ไม่มีคำอธิบาย

ขอโทษที ไม่มีคำอธิบาย
เรื่องราวต่างๆในโลกนี้ มีมากมาย ที่หาคำตอบและอธิบายไม่ได้ อย่างไรก็ตาม..หลายๆเรื่องสามารถอธิบายได้ แต่..ไม่มีใครอยากอธิบาย…..การเป็น ‘สูตินรีแพทย์’ นั้น หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ การอธิบายสภาวะของโรคให้คนไข้ฟัง เพื่อให้เขาเหล่านั้นทราบถึงอนาคตว่า ต่อไปจะเป็นเช่นไร…การรักษาคนไข้นั้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการทางปฏิบัติ.. บางที ก็ไม่สามารถหยุดดำเนินการกลางคันขณะผ่าตัดได้ จนกว่า เราจะรู้ว่า คนไข้เป็นอะไร (ผลการวินิจฉัย) ซึ่ง..เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ที่จะบอกคนไข้ว่า ‘จริงๆแล้ว! เขาไม่ได้เป็นโรคอะไรทั้งสิ้น…’
หลายวันมานี้ ข้าพเจ้าป้วยเป็น ‘ฝี (small abscess)’ ขึ้นที่ใบหน้าบริเวณใกล้กับปลายจอนผมด้านขวา ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่า ฝีอันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร.. แต่..จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า วันหนึ่ง..ลูกชายข้าพเจ้านึกสนุก มาดึงเอาเส้นผมสีขาวที่ขึ้นตรงบริเวณปลายจอนตำแหน่งนี้ หลังจากนั้นไม่นาน.. ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่า มีสิวเล็กๆนูนขึ้นมา.. สิวเม็ดนั้น พลัน..มันก็ทำให้ข้าพเจ้าอักเสบ ปวดขึ้นมา  ข้าพเจ้าไดใช้นิ้วมือขวา 2 นิ้ว บีบมัน เพื่อเค้นเอาหนองออก.. แต่..รู้สึกว่า ไม่มีอะอไรออกมา.. ค่ำคืนนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่า นอนไม่ค่อยจะหลับ และมีอาการปวดที่กกหูด้านขวามากขึ้นทันที..
คาดไม่ถึงว่า ตอนเช้าวันถัดมา ข้าพเจ้ารู้สึกปวดชาส่วนหน้าด้านขวามากขึ้น ข้าพเจ้ายังคงคิดว่า ‘ไม่น่าจะเป็นอะไร’ ตกเย็น ข้าพเจ้าหนาวสะท้านไปทั้งตัว ข้าพเจ้าถือว่า ตัวเองเป็นหมอ จึงสั่งยาฆ่าเชื้อรับประทานเอง ชื่อ ‘Dicloxacilline (500 mg)’  โดยรับประทาน ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 – 5 เวลา มากกว่าขนาดยาที่กำหนดไว้ในสลาก แต่…อาการของโรคกลับแย่ลง.. ทั้งมีไข้ ทั้งปวดศีรษะ.. แต่ที่หนักกว่านั้น คือ ..อาการปวดที่ใบหน้าด้านขวากลับลุกลามมากขึ้น ข้าพเจ้าคิดไปต่างๆนานา ว่า ข้าพเจ้าอาจเป็นโรคร้ายแรงของการติดเชื้อจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ คืนนั้น ข้าพเจ้านอนที่บ้าน.. ภรรยาข้าพเจ้าได้บอกกับข้าพเจ้าว่า ‘คุณน่าจะไปหาหมอนะ พรุ่งนี้รีบไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเลยนะ.. อย่าประมาทเด็ดขาด’ ข้าพเจ้านึกเถียงในใจว่า ‘เราเองก็เป็นหมอเหมือนกัน’ แต่..จินตนาการของข้าพเจ้าก็นึกย้อนไปถึงเรื่องราวของคุณหมอผู้หญิงท่านหนึ่ง ที่มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน … จนเกือบกลายเป็นโศกนาฏกรรม…..
คุณหมอผู้หญิงท่านนี้ เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้น คุณหมอทำงานอยู่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง.. จู่ๆ เธอก็มีไฝหรือก้อนสีดำออะไรไม่รู้.. ขนาดประมาณเท่า เม็ดถั่วเขียว ขึ้นที่ใบหน้าบริเวณโหนกแก้ม ศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสถาบันเดียวกัน ต่างก็ช่วยผ่าตัดเอามันออก แบบรักษาความงาม.. ชิ้นเนื้อที่ว่านั้น ถูกส่งไปอ่านพยาธิสภาพ ปรากฏว่า ผลเป็น ‘มะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง’ ซึ่งทำให้คุณหมอตกใจมาก..อย่างไรก็ตาม..ชิ้นเนื้อทางพยาธิ (สไลด์)นี้ ได้ส่งไปอ่านตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆด้วย.. ผลก็สรุปออกมาเหมือนกันว่า เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดนั้น แน่….ที่สำคัญคือ คุณหมอผู้หญิงท่านนั้น แทบช็อคกับแนวทางการรักษามะเร็งผิวหนังดังกล่าว..เพราะต้องมีการผ่าตัดเลาะใบหน้าครั้งใหญ่… แม้จะใช้วิธีการทางศัลยศาสตร์พลาสติก ก็ตาม
ก่อนถึงกำหนดวันผ่าตัด 1 สัปดาห์ มีคนแนะนำเธอว่า ‘น่าจะนำสไลด์พยาธิสภาพ ไปปรึกษาอาจารย์แพทย์เก่าท่านหนึ่ง..ซึ่งเชี่ยวชาญพยาธิอย่างหาตัวจับได้ยาก…แต่…..เกษียณไปแล้ว’ คุณหมอผ็หญิงท่านนั้น ซึ่งในตอนนี้อยู่บทบาทของคนไข้ จึงนำแผ่นกระจก (สไลด์) พยาธิสภาพไปปรึกษาอาจารย์แพทย์ท่านดังกล่าว
พออาจารย์แพทย์ท่านดูสไลด์ ท่านก็ยิ้มออกมาและบอกกับคุณหมอผู้หญิงให้สบายใจว่า ‘คุณหมอพยาธแพทย์ทุกท่านที่อ่าน แผ่นสไลด์ ท่านก่อนๆ อ่านพยาธิสภาพไม่ผิดหรอก.. แต่..หนูลองมองดูพยาธิรอบๆของส่วนที่เป็นมะเร็งสิ.. นั่นไม่ใช่ชิ้นเนื้อของผู้หญิงวัยสาว..มันเป็นของผู้หญิงแก่ อายุราว 70 – 80 ปี.. สไลด์นี้คงมีการสลับสับเปลี่ยนกับของเรา เป็นแน่..’ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘คำอธิบายที่ถูกต้อง มีค่ามากกว่าทอง’ คุณหมอผู้หญิงท่านนั้น จึงไม่ต้องเสียโฉมใบหน้าจากการผ่าตัด และยังคงมีความสุขกับครอบครัวตลอดมาจนถึงทุกวันนี้…
ข้าพเจ้าเอง ก็คิดไปต่างๆนานาดังที่เล่ามา จนเกรงไปว่า ‘สุดท้าย สิวของข้าพเจ้าจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า??’ ในที่สุด ข้าพเจ้าก็หยิบเอายา ‘Meiact’  ของภรรยาบนหัวเตียงจำนวน 2 เม็ดมา รับประทาน และนอนหลับไป.. พอตื่นขึ้น.. ข้าพเจ้า ก็พบว่า ใบหน้าของข้าพเจ้าลดน้อยความเจ็บปวดอย่างมาก และไม่ชาเหมือนก่อน.. ตอนนี้ สภาพร่างกายของข้าพเจ้าดีขึ้นมากแล้ว ข้าพเจ้าเดินไปปรึกษาศัลยแพทย์ท่านหนึ่งเมื่อเย็นที่ผ่านมา.. ท่านก็บอกว่า ‘ไม่เป็นไรแล้ว ฝีบนใบหน้าอันนี้ไม่ใช่มะเร็งหรอก’….
เมื่อวานนี้ มีคนไข้รายหนึ่งมาตรวจติดตามการรักษากับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลตำรวจ เธอเป็นผู้หญิง ชาวกัมพูชา ชื่อ คุณจักริยา ออ.. ซึ่งพวกเราเรียกเธอง่ายๆว่า คุณจริยา.. อายุ 28 ปี อาชีพกรรมกร เธอเคยมีบุตรแล้ว 1 คน (อายุ 2 ขวบ) คุณจริยา ชาวเขมรคนนี้ ได้มาที่โรงพยาบาลเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ด้วยอาการปวดท้องน้อย และมีเลือดออกจากช่องคลอด.. ลักษณะการปวดเป็นแบบปวดทั่วๆไปบริเวณท้องน้อย.. ไม่มีร้าวไปที่ใด เธอซื้อกินยาแก้ปวดกินเอง แล้วไม่ดีขึ้น.. จากการตรวจภายใน พบว่า ช่องคลอด ไม่มีเลือด, ปากมดลูกปิด มีเลือดจุกอยู่, มดลูกขนาดปกติ และคล้ายมีก้อนเลือดเล็กน้อยในโพรงมดลูก, ปีกมดลูก และรังไข่  ปกติ.. เมื่อเจาะตรวจเลือด หาค่า เบต้า เฮสซีจี (hCG)  ให้กับคุณจริยา ปรากฏว่า มีค่าสูงถึง 11,787 หน่วย (mIU/ml) [ซึ่ง..ค่าที่มากกว่า 25 ถือว่า ‘ท้อง (pregnant)’  และค่าที่มากกว่า 3,000 หน่วย หากดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดย่อมจะต้องมองเห็น ถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก (Intra-uterine gestational sac)] ข้าพเจ้าตกใจมากที่คนไข้รายนี้ เราไม่พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เธอน่าจะเป็นท้องนอกมดลูก อย่างไรก็ตาม..อาการปวดท้องน้อยของคุณจริยา ก็ไม่มากจนเหมือนกับมีการตกเลือดภายในช่องท้อง (Hemoperitonium) จนต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Explor-lap)
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้เจาะท้องส่องกล้อง กับคุณจริยา ชาวเขมร เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ … แต่..เผอิญว่า ตอนบ่ายวันนั้น ข้าพเจ้ากำลังง่วนอยู่กับการผ่าตัดส่องกล้องให้กับคนไข้รายหนึ่งและยังผ่าตัดไม่เสร็จ คุณหมอสูติอีกท่านหนึ่งได้อาสาช่วยผ่าตัดโดยเลือกวิธีผ่าตัดแผลเล็กๆ (Mini-explor..) บริเวณเหนือหัวเหน่าของคุณจริยาให้ ….ผลการผ่าตัด…เป็นที่น่าตกใจอย่างยิ่ง จนคุณหมอท่านนั้น ต้องร้องขอให้ข้าพเจ้าหยุดผ่าตัดผ่านกล้องชั่วคราว และเดินออกมา ดูมดลูกของคุณจริยาในห้องผ่าตัดอีกห้อง เพราะ มดลูกคุณจริยา มีรูปร่างปกติ แต่มี ก้อนเนื้อเป็นโหนกที่ยอดมดลูกทางด้านข้างขวา ขนาดเท่ากับผลมะนาว (Horn) ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ในทางการแพทย์ จะเรียกว่า ‘เขา (Uterine Horn) [หรือ ติ่งก้อนเนื้อ..บนยอดมดลูกด้านข้าง])’ ซึ่ง..ก่อนไปดู.. ข้าพเจ้าคิดในใจว่า คุณจริยาน่าจะมีมดลูกเป็น ‘มดลูกแฝด (Double uterus)’ อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์กลับเป็นเช่นนั้น…  ข้าพเจ้า ก็ต้องขอให้คุณหมอช่วยเย็บปิดแผลหน้าท้องเล็กๆนั้นเสีย หมายความว่า คุณจริยา ตั้งครรภ์ในตำแหน่ง ติ่งเนื้อก้อนนั้น (Uterine Horn) ..ไม่ได้ตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่แบบท้องนอกมดลูก..ที่เราเข้าใจกัน…การตัดปีกมดลูกจึงไม่ใช่วิธีการรักษาสำหรับเธอ…วิธีการรักษาจริงๆสำหรับคุณจริยา คือ ปล่อยให้การตั้งครรภ์ในติ่งเนื้อนั้นสลายตัวแท้งออกมา…
2 วันถัดมา ข้าพเจ้าได้สั่งให้เจาะเลือดหาค่า เบต้า เฮสซีจี (ค่าการตั้งครรภ์) ของคุณจริยา อีก ปรากฏว่า ได้ค่าเพียง 5,556 หน่วยเท่านั้น …ถัดมาอีก 4 วัน อาการของคุณจริยา ดีขึ้นมาก แต่..เธอยังคงมีเลือดไหลกะปิดกะปรอยจากช่องคลอด.. เมื่อติดตามเจาะเลือดหาค่าเบต้า เฮสซีจี (ค่าการตั้งครรภ์) พบว่า ลดลงเหลือ 3,082 หน่วย และลดลงอีก เหลือเท่ากับ 1,994 หน่วยในอีก 2 วันต่อจากนั้น… เมื่ออาการของเธอดีขึ้นจนปลอดภัย….คุณจริยา จึงได้รับอนุญาติให้กลับหลังจากนอนพักรักษาตัวถึง 7 วัน และได้นัดคนไข้มาตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ประมาณ 1 สัปดาห์ นั่นก็คือ เมื่อวานนี้….  ซึ่ง…ผลเลือดค่าการตั้งครรภ์ ของเธอ ก็ลดลงเหลือ เพียง 500 หน่วย เท่านั้น
ข้าพเจ้าตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับคุณจริยา พบว่า  ก้อนการตั้งครรภ์ (Gestational mass) ที่เราตรวจนั้น ภายในของก้อนนั้น.. มันกำลังมีการสลายตัว…เพราะเห็นมีพื้นที่สีดำเป็นหย่อมๆ ลักษณะเคลื่อนที่ไปมา ซึ่ง..หมายถึงเลือด (Fresh Blood) ..ไม่ใช่เนื้อ (Mass)  ความจริงแล้ว…ก้อนดังกล่าวที่เห็นนี้…คุณหมอแพทย์ประจำบ้านที่มาปรึกษาข้าพเจ้าเห็นตั้งแต่แรก..แต่…พอข้าพเจ้าเดินไปดู…คุณหมอแพทย์ประจำบ้านกลับเน้นให้ข้าพเจ้าดูเฉพาะภายในโพรงมดลูก (Uterine cavity) ของคุณจริยา…เท่านั้น..ข้าพเจ้าจึงวินิจฉัยเป็น ‘สงสัยท้องนอกมดลูก (Rule out ectopic pregnancy) ’ อันนำไปสู่การเจาะท้องส่องกล้อง เพื่อการวินิจฉัย…(Laparoscopy) และการผ่าตัดแผลเล็กๆเหนือหัวเหน่าดังที่เล่ามา..
คุณจริยา ถามข้าพเจ้าเมื่อวานนี้ เพื่อหาคำตอบว่า เธอเป็นอะไรกันแน่..ข้าพเจ้าก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน เนื่องจากเธอเป็นคนต่างชาติ…ฟังภาษาไทยได้น้อยมาก…เธอเล่าให้ฟังว่า หลายวันมานี้ มีเลือดออกจากช่องคลอดมาก 2 วัน แล้ว ก็หยุด…ตอนนี้เริ่มมีเลือดไหลออกมาอีกแล้ว จะทำยังไงดี…ข้าพเจ้าบอกเธอว่า ‘ไม่เป็นไรมากหรอก เดี๋ยวจะให้ยาหยุดเลือด และวิตามินธาตุเหล็กไปรับประทาน เพื่อเสริมสร้างเม็ดเลือด’ ข้าพเจ้านัดคุณจริยา กลับมาตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดอีกหนึ่งสัปดาห์ คิดว่า อาการเลือดออกของเธอคงจะหายไป.. ก้อนการตั้งครรภ์ดังกล่าว ก็คงจะยุบตัวลงมาก…นี่แหละ..เรื่องราวยุ่งๆของภาวะแรกซ้อนการตั้งครรภ์ช่วงแรก..ซึ่งไม่ค่อยจะได้พบเห็นบ่อยนัก……ข้าพเจ้าอยากจะเล่าอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของโรคให้กับคนไข้อย่างมากมาย..แต่..ก็อดใจไว้… พร้อมกับ..กล่าวขอโทษเธอ..ที่ไม่สามารถทำได้..เพราะถึงจะอธิบายอย่างไร…เธอก็คงฟังไม่รู้เรื่อง…
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.  นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน
 

 

เนื้องอกมดลูกชนิดยื่นจากภายในโพรง (Submucous myoma)

เนื้องอกมดลูกชนิดยื่นจากภายในโพรง (Submucous myoma)
เป็นเรื่องราวที่เหลือเชื่อจริงๆ.. ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง…ข้าพเจ้าทำงานเป็นสูติ – นรีแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าไม่เคยพบเจอเนื้องอกมดลูก ที่ยื่นจากโพรงภายใน (Submucous myoma) ใหญ่เท่านี้มาก่อนเลย.. มันใหญ่มากจนสามารถคลำได้ทางผนังหน้าท้อง.. ขนาดของเนื้องอก กะคร่าวๆ คือ ขนาดใหญ่ประมาณ 16 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ หรือพูดภาษาชาวบ้าน คือ ขนาดใหญ่ราวๆส้มโอนครชัยศรี.. ซึ่ง…ใหญ่ที่สุด เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา……
เนื้องอกมดลูกชนิดนี้ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Submucous myoma (อ่านว่า “สับมิวคัส มาโอม่า”) มันเป็นเนื้องอกมดลูกชนิดหนึ่ง (Myoma) ที่มีขั้วอยู่ภายในโพรงมดลูกบริเวณยอดหลังคา (Peduncle) ….ลักษณะเหมือนโคมไฟระย้า ที่ห้อยย้อยลงมาจากเพดาน..ขนาดของโคมไฟ คือ ขนาดของเนื้องอกมดลูก……เท่าที่ข้าพเจ้าเคยสัมผัสมา เนื้องอกชนิดนี้มักมีขนาดเล็ก…ถึงปานกลาง.. สำหรับขนาดใหญ่สุดที่เคยพบ คือ ขนาดพอๆกับไข่เป็ด.. เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 8 เซนติเมตร แต่…ในรายที่จะเล่าต่อไปนี้ มันมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 15 เซนติเมตร…
เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คุณสายสวาท มาตรวจที่ห้องตรวจนรีเวช โรงพยาบาลตำรวจ (รพ. ตร.) เธอเป็นสาวโสด อายุ 39 ปี อาชีพเป็นผู้อ่านข่าววิทยุกระจายเสียงสถานีแห่งหนึ่ง ย่านถนนสุขุมวิท ซอย 3 (ซอยนานา)…. เธอเพิ่งทำประกันสังคมที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อ 1 เดือนที่แล้วและมีโอกาสได้ใช้บริการรักษาทันที.. โดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะต้องเข้ารับการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน ณ สถานที่แห่งนี้ ..คุณสายสวาทมาโรงพยาบาลตำรวจด้วยอาการมีระดูมากผิดปกติ มานานกว่า 6 เดือน จนเธอมีความรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง หน้าซีด ใจสั่น (Hypermenorrhea and Palpetation) อยู่บ่อยๆ..
แรกเริ่มเดิมที แพทย์ประจำบ้านเป็นผู้ตรวจร่างกายให้กับเธอ และนำเรื่องราวของคนไข้มาปรึกษาข้าพเจ้า แพทย์ประจำบ้านคนนั้นบอกว่า “มีคนไข้รายหนึ่ง อายุ 39 ปี มาด้วยเรื่องมีก้อนในช่องคลอด ขนาดใหญ่เท่ากำปั้นมือ คนไข้รายนี้มีประวัติตกเลือดระดูมานานหลายเดือนจนซีดเผือด (Marked Pale)” ข้าพเจ้าบอกกับแพทย์ประจำบ้านคนนั้นว่า “คงต้องขอตรวจภายในและอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดของคนไข้ดูก่อน”
พอตรวจภายในให้กับคุณสายสวาท ข้าพเจ้าก็ต้องตกใจ เพราะว่า ก้อนเนื้องอกมดลูกมันขวางและจ่ออยู่ตรงปากช่องคลอด ลักษณะเป็นก้อนสีมันขาว น่าจะข้าได้กับ Submucous myoma  ข้าพเจ้าลองตรวจภายในดู โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางสอดล้วงเข้าไปในช่องคลอด ก็ไม่สามารถคลำหาขอบเขตส่วนลึกที่สุดของเนื้องอกได้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงใช้อัลตราซาวนด์ดูเนื้องอกผ่านทางผนังหน้าท้องเหนือหัวเหน่า ก็พบว่า เป็นเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ (Myoma Uteri) ลักษณะเหมือนเนื้องอกมดลูกชนิดไม่ร้ายแรง (Benign) ข้าพเจ้าได้ให้คุณสายสวาทนอนพักที่โรงพยาบาลตำรวจ และกำหนด จะให้เข้ารับการผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น   
ที่ห้องผ่าตัด รพ.ตร. ข้าพเจ้ากรีดมีดลงบนผนังหน้าท้องในแนวตรงกึ่งกลางลำตัว ตั้งแต่สะดือถึงหัวเหน่า (Low vertical) ตอนนั้น พยาบาลห้องผ่าตัดคนหนึ่งพูดแนะนำข้าพเจ้า โพล่งขึ้นมาเลยว่า “หมอ!!!..น่าจะใช้เครื่องมือตัวจี้ที่หยุดเลือดแบบ Seal เส้นเลือดนะ (Bipolar ของบริษัท EBBE) หนูบอกคนไข้แล้วว่า จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 2,500 บาท เป็นค่าเครื่องมือผ่าตัดพิเศษ.. คนไข้ก็ยินยอม..” ไม่รอช้า!!…ข้าพเจ้าสั่งการให้เตรียมเครื่องมือตัวจี้หยุดเลือดดังกล่าวมาใช้ในการผ่าตัดทันที เพราะช่วยลดระยะเวลาในการผ่าตัดลงอย่างมาก เนื่องจากสามารถหยุดเลือดจากบาดแผลในช่องท้องได้แบบชะงัด โดยไม่ต้องเสียเวลามาผูกมัดเส้นเลือด
ตอนแรก ที่สำรวจดูในช่องท้องของคุณสายสวาท ข้าพเจ้ามองเห็นเนื้องอกมดลูก (Myoma) มีขนาดประมาณ 16 สัปดาห์โผล่ขึ้นมาจากอุ้งเชิงกราน ตัวมดลูกมีลักษณะป้อมๆ.. คอมดลูกใหญ่และกว้าง.. แต่…ที่มีลักษณะโดดเด่นอีกอย่าง ก็คือ ถุงน้ำช็อคโกแลตซีส (Endometriotic cyst) ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร ปรากฏอยู่ทางด้านขวา ข้าพเจ้าเลือกที่จะตัดทิ้งถุงน้ำ ช็อคโกแลต ซีส (Endometriotic cyst)  เสียก่อน เพื่อทำให้เกิดพื้นที่ช่องว่างในการผ่าตัดอย่างอื่น วิธีการ คือ เจาะถุงน้ำช็อคโกแลต ซีส (Endometriotic cyst) ให้แตกและตัดขั้วของถุงน้ำทิ้ง ทั้งส่วนที่ติดกับตัวมดลูก (Ovarian ligament proper) และที่เกาะกับเอ็นด้านข้าง (Infundibulipelvic ligament) จากนั้น ก็ตัดปีกมดลูกด้านซ้าย  (left adnexa) ตรงส่วนที่ติดกับตัวมดลูก (Ovarian ligament proper)  โดยเหลือรังไข่ด้านซ้ายไว้ชั่วคราว…. หากสุดท้าย คิดว่า เก็บไว้ไม่ได้… ก็จะตัดทิ้งเช่นกัน
ข้าพเจ้าผ่าตัดเลาะด้านข้างของตัวเนื้องอกมดลูกทั้งสองด้านลงไปเรื่อยๆ จนลึกพอสมควร ขณะเดียวกัน ก็พูดสอนนักศึกษาแพทย์ที่ช่วยผ่าตัดว่า “เวลาเราผ่าตัด ถ้าต้องการให้เสร็จ…เร็วๆ เราต้องทำอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อน.. แต่…ถ้าเราเร่งรีบละก็.. สักพักหนึ่ง ต้องเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน เลือดบริเวณที่ผ่าตัดเลาะจะซึมออกมาอย่างมากและหาตำแหน่งจุดเลือดออกได้ยาก เราจะต้องเสียเวลาหยุดเลือดนานมากๆ” การผ่าตัดแบบค่อยๆทำในรายนี้ ดูแล้วเหมือนเชื่องช้า จนนักศึกษาแพทย์ผู้ช่วยอืดอัด แต่…ก็ไม่กล้าพูดอะไร.. เขาเพียงพยักหน้าทำนองเห็นด้วยเท่านั้น
สักพักหนึ่ง..เมื่อคะเนว่า ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดเลาะด้านข้างมดลูกลึกลงไปในอุ้งเชิงกรานมากพอ ข้าพเจ้าก็จะหยุดสักนิดหนึ่ง การผ่าตัดเลาะส่วนนี้ จะเป็นในลักษณะรูปแท่งกลมทรงกระบอกล้อมรอบคลุมช่องคลอด…. จากนั้น ข้าพเจ้าก็เจาะทะลุช่องคลอดจากในช่องท้อง ตรงบริเวณที่เลยปากมดลูกไปเล็กน้อย.. หลังจากนั้น ก็ใช้เครื่องมือหยุดเลือดชนิดเชื่อมเส้นเลือด (EBBE Sealing electric cauterization) ค่อยๆตัดช่องคลอดจากด้านบนในช่องท้อง..โดยรอบ….ไม่ถึงอึดใจ!! เนื้องอกมดลูก Submucous myoma อันนี้ ก็หลุดเป็นอิสระ โดยมีก้อนเนื้องอกส่วนใหญ่อัดแน่นอยู่ในช่องคลอด ข้าพเจ้าค่อยๆดึงเนื้องอกขึ้นมา ทางช่องท้อง ผ่านช่องแผลผ่าตัดที่เพิ่งทำไป… การดึงก้อนเนื้องอกค่อนข้างทุลักทุเล เพราะก้อนเนื้อส่วนใหญ่ห้อยอยู่ในช่องคลอด เมื่อเอาก้อนเนื้องอกออกมาได้ ข้าพเจ้าได้ขอให้พยาบาลชั่งน้ำหนักและถ่ายรูปเนื้องอกทันที เนื้องอกก้อนนี้ หนักถึง 614 กรัม หรือประมาณครึ่งกิโลกรัม นับว่าใหญ่มากทีเดียว สำหรับขั้วเนื้องอกที่ยอดโพรงตรงเพดาน.. ก็ใหญ่กว่านิ้วโป้ง ข้าพเจ้ารีบเย็บปิดช่องคลอดจากทางช่องท้องแบบชนิดทีละคำ (Interrupted Stitches) ด้วย..ไหม Vicryl เบอร์ 1/0 ซึ่งมีคุณสมบัติละลายตัวช้า จากนั้น ก็ทำการหยุดเลือดที่ซึมออกมาจากพื้นล่างของอุ้งเชิงกราน ที่เราเลาะไปก่อนหน้านี้.. ซึ่ง..บางส่วน ก็ต้องใช้วิธีเย็บด้วยไหมละลาย เบอร์2/0 ในลักษณะรูปแบบเงื่อนตายหมายเลขแปด (Figure of eight) จากนั้น ก็ใช้ โฟมแผ่น ไปอุดแถวอุ้งเชิงกรานส่วนลึกที่มีเลือดซึม แล้ว ก็เย็บปิดผนังหน้าท้อง ทีละชั้น..
คุณสายสวาทถูกย้ายไปที่หอผู้ป่วยชั้น 5 , ที่น่าแปลกใจ คือ เธอมาโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยภาวะซีดอย่างรุนแรง.. มีความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) เพียง 14% เท่านั้น เธอจึงได้รับเลือดก่อนและหลังผ่าตัด รวมทั้งหมด 8 ถุง โดยสามารถเพิ่มความเข้มข้นของเลือดขึ้นมาได้ ถึง 33% วันรุ่งขึ้น คุณสายสวาทยังรู้สึกเจ็บช่องท้องอยู่ โดยขอคาสายสวนปัสสาวะ (Retained Foley’s catheter) อีก หนึ่งคืน ซึ่งข้าพเจ้าก็ยินยอมตามนั้น คุณสายสวาทอยู่โรงพยาบาลต่อ อีก 3 วัน ก็ขอกลับบ้าน ข้าพเจจ้าได้เขียนใบรับรองแพทย์ให้เธอหยุดงาน 45 วัน เพื่อให้เธอได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ  นับแต่เธอกลับไป ข้าพเจ้ายังไมได้พบเห็นหน้าเธออีกเลย ข้าพเจ้าหว้งว่า คุณสายสวาทจะมีชีวิตอยู่ในภายภาคหน้าอย่างมีคุณภาพ  มีความสุขสบาย ไม่เหนื่อยง่าย หรือใจสั่น..
เรื่องราวของเนื้องอกมดลูก ที่ย้อยมาจากเพดานโพรงมดลูกนั้น น่าสนใจยิ่ง หากมันมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก เราก็สามารถผ่าตัด เนื้องอกชนิดนี้ผ่านทางช่องคลอด โดยใช้กล้องส่องผ่านปากมดลูก วิธีการนี้ มีชื่อว่า Hysteroscopic resection ซึ่ง..เป็นวิธีที่นิยมใช้เป็นส่วนใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดผนังหน้าท้องแบบคุณสายสวาท…
เสียงเพลงบรรเลงที่ฟังดูแปลกหูออกไปจากที่เคยได้ยิน ไม่ได้หมายความว่า เสียงเพลงนั้นจะไม่ไพเราะ เราอาจรู้สึกหวั่นไหว ในลักษณะฉงนไปบ้าง แต่…ไม่นานนัก… ก็จักชินกับความงามของเสียงเพลงนั้น ..สิ่งใหม่ๆ..โรคใหม่ๆ.. อาทิ ..เนื้องอกมดลูกข้างต้น ที่ข้าพเจ้าไม่เคยพานพบมาก่อน ไม่ได้หมายความว่า ความรู้และปัญญาที่เคยศึกษาสั่งสมมา.. จะแก้ปัญหาไม่ได้ ..ประสบการณ์ที่นานวัน..ย่อมจะช่วยเราให้พ้นผ่านปัญหานั้นๆไปได้เสมอ..  
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์   ผู้เขียน
 

 

 

ภาวะวิกฤติทางสูติศาสตร์ 3

ภาวะวิกฤติทางสูติศาสตร์ 3
    
ท้องฟ้าในวันสงกรานต์ปีนี้ ดูมืดครึม เปลี่ยวเหงา ไม่ร้อนแรงเหมือนปีก่อนๆ เพราะท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยหมู่เมฆ ส่วนบรรยากาศ ก็เหมือนคลุกเคล้าด้วยความเศร้าซึม..นั่น..อาจเพราะข้าพเจ้าเพิ่งพานพบกับเรื่องราวในห้องคลอดที่น่าสลดหดหู่ใจมา..ใครหนอ!!!! ที่พอจะเก่งกล้า เขียนบทกวี บรรยายความรู้สึกเช่นนี้ได้.. ข้าพเจ้าเองคงทำไม่ได้… จะทำได้ ก็เพียง…ทอดถอนใจเบาๆ เท่านั้น
โศกนาฏกรรม ที่กิดกับทารกในครรภ์ ถือเป็น ภาวะวิกฤติทางสูติศาสตร์อย่างหนึ่ง….ซึ่ง..ยากนัก ที่ใคร..จะรู้ซึ้งถึงความโศกาอาดูรของผู้เป็นบุพการี? คนท้อง..ตั้งครรภ์นานถึง 9 เดือน หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา ก็เปรียบเสมือน ชาวสวนปลูกต้นไม้ และหมั่นรดน้ำพรวนดิน ด้วยหวังเก็บเกี่ยวผลผลิต… พลัน ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ นำความหายนะมาสู่…. ใครเลย?? จะเข้าใจ ในความรู้สึกแห่งการสูญเสียนั้น
เมื่อวันจันทร์ ข้าพเจ้าเดินผ่านมาที่ห้องคลอด เพื่อทำธุระบางอย่าง ข้าพเจ้าได้สอบถามจากนักศึกษาแพทย์ที่อยู่เวรวันนั้น ว่า ‘มีคนไข้ที่มีปัญหาไหม?’  นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งตอบว่า ‘ที่ห้องคลอด มีคนไข้อยู่เพียง 4 – 5 คน นอนอยู่ ล้วนแล้วแต่มีปัญหา’ ข้าพเจ้าถามต่อว่า ‘ลองเล่ามาซิว่า มีCase (กรณีคนไข้) อะไรบ้าง?’
นักศึกษาแพทย์คนเดิมตอบว่า ‘คนท้องเตียงที่ 1 ทารกตายในครรภ์, คนท้องเตียงที่ 2 เป็นครรภ์แฝด อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ ลูกแฝดคนหนึ่งเสียไปแล้ว ลูกแฝดอีกคน ก็ทำท่าไม่ค่อยดี หัวใจเต้นช้ามาก คิดว่า คงจะเสียชีวิตตามมาในเวลาอีกไม่นาน, เตียงที่ 3 เป็นคนท้องที่มีรกเกาะต่ำ อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ตอนนี้ เรากำลังยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกอยู่ , คนไข้เตียงที่ 4 ตัวเตี้ย สูงเพียง 145 เซนติเมตร และมีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Severe preeclampsia) ส่วนห้องแยก ก็เป็นคนท้องที่มีเลือดบวกของเอดส์ หน้าท้องใหญ่มาก  คาดว่า เด็กน่าจะหนักถึง 4 กิโลกรัม’
ข้าพเจ้าฟังแล้ว รู้สึกห่อเหี่ยวใจ และสงสารสูติแพทย์เวรเสียเหลือเกิน  อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าสนใจเป็นพิเศษ ก็เฉพาะกรณีคนท้องที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์ทั้ง 2 ราย เท่านั้น
คนไข้รายแรก ชื่อ คุณนงคราญ อายุ 32 ปี ตั้งครรภ์แรก มาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ เพียง 7 สัปดาห์ และมาตรวจตตามนัดทุกครั้ง ตัวคนไข้เป็นโรคโลหิตจาง ‘ทาลาสซีเมีย’ (Thalassemia) ชนิด Homologous HbE  ส่วนสามี ผลเลือดปกติ คุณนงคราญแพ้ท้องมากตอนอายุครรภ์น้อยๆ พออายุครรภ์ ได้ 17 สัปดาห์ สูติแพทย์ผู้ตรวจ คลำพบว่า มดลูกของคุณนงคราญมีขนาดใหญ่กว่าอายุครรภ์ จึงส่งตราจอัลตราซาวนด์ ผลปรากฏว่า  ทารกในครรภ์เป็นแฝด (Twins) และนัดตรวจพิเศษกับสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอัลตราซาวนด์โดยเฉพาะ (Specialist for Maternal fetal medicine) เมื่อได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์โดยละเอียด ก็พบว่า ทารกแฝดทั้งสอง ตัวเล็กมาก และที่ใช้รกอันเดียว (Monochorionic diamnionic Placenta) ทารกคนหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีกคนอย่างเห็นได้ชัด (Discordant twins) นอกจากนั้น เส้นเลือดบนตัวรก ยังมีการไข้วสลับกันไปมา ดุจร่างแห ทำให้มีการถ่ายเทเลือดจากเด็กคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งด้วย  นี่เอง!! ที่อาจเป็นสาเหตุให้ทารกคนที่สอง เสียชีวิตถัดจากทารกคนแรกในเวลาไม่นานนัก เนื่องจากของเสีย สารพิษจากทารกคนแรกที่เสียชีวิต ถ่ายเทเข้าสู่ร่างกายของคนที่สองอย่างรวดเร็ว   คุณหมอสูติที่ตรวจอัลตราซาวนด์ให้ ได้บอกให้คุณนงคราญทำใจว่า ‘ลูกทั้งสองยังอยู่ในสภาวะที่อันตราย ไม่แน่!! อาจต้องเสียชีวิตในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น’ ถัดจากนั้นมาอีก 4 สัปดาห์ ก็เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว.. คือ ทารกค่อยๆเสียชีวิตทีละคน คุณนงคราญเจ็บครรภ์มาโรงพยาบาลตอนอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ คุณหมอที่แผนกผู้ป่วยนอกตรวจอัลตราซาวนด์ให้ ปรากฏว่า ‘ทารกตัวแรก หัวใจเต้นช้าลง ประมาณ 80 ครั้งต่อนาที ส่วนอีกตัวหนึ่ง หัวใจยังเต้นปกติ ’ ผู้ป่วยได้ถูกส่งตัวขึ้นไปนอนพักในห้องคลอด เมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกาของวันศุกร์   ตอนนั้น ทารกคนแรก หัวใจหยุดเต้นแล้ว ไม่นานหลังจากนั้น ทารกแฝดคนน้อง ก็เสียชีวิต คุณนงคราญคลอดทารกทั้งสอง ในวันจันทร์ เมื่อเวลา 22 นาฬิกา  ทารกคนแรกหนัก 430 กรัม  ทารกคนที่สอง หนัก 470  กรัม  คุณนงคราญ แม้จะรู้สึกเศร้าใจ แต่ก็ได้ทำใจไว้ระดับหนึ่งแล้ว และคิดว่า รอพักรักษาตัว สักระยะหนึ่ง ก็จะลองตั้งครรภ์ อีก
ส่วนกรณี คุณพรนภา  เธออายุ 23 ปี  ตั้งครรภ์แรกเหมือนกับ คุณนงคราญ เพียงแต่เธอตั้งครรภ์เดี่ยว  คุณพรนภาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 11 สัปดาห์ เธอมาเข้ารับการตรวจตามนัดทุกครั้ง จำนวนทั้งหมด 11 ครั้ง ด้วยความหวังว่า ลูกของเธอจะคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์, คุณพรนภามีปัญหาความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ไม่เกิน 160/90 มิลลิเมตรปรอท เธอจึงไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อควบคุมความดันโลหิต เป็นระยะๆ
ตั้งแต่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นต้นมา คุณพรนภาได้รับการตรวจพิเศษเกี่ยวกับสภาพเด็ก (Non- stress test) ทุกสัปดาห์ ก็ไม่พบว่า ทารกผิดปกติ พออายุครภ์ได้ 40 สัปดาห์เศษ คุณพรนภาได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง ผลปรากฏว่า ทารกมีรูปร่างและขนาดปกติ แต่..มีน้ำคร่ำน้อยมาก (Oligohydramnios) และรกอยู่ในสภาพเสื่อมทีเดียว (Placental grad = 3) สูติแพทย์ที่แผนกผู้ป่วยนอก จึงสั่งการให้คนไข้นอนพักที่ห้องคลอด เพื่อรอการตัดสินใจของสูติแพทย์เวร ต่อมา คนไข้ได้ถูกส่งตัวขึ้นไปนอนพักที่หอผู้ป่วยชั้น 5 เพื่อรอการชักนำ (Labor Induction) ให้คลอดในวันรุ่งขึ้น
พยาบาลที่หอผู้ป่วยชั้น 5 ได้ตรวจฟังหัวใจทารก แรกรับและตอนเย็นวันนั้น พบว่า หัวใจทารกเต้นปกติ ต่อมา คนไข้ขอย้ายไปอยู่ห้องพิเศษที่หอผู้ป่วยชั้น 4 พยาบาลที่นั่นได้ฟังการเต้นของหัวใจลูกคุณพรนภาในตอนแรกรับ ก็พบว่า หัวใจเต้นตามปกติ จากนั้น คนไข้ก็เข้านอน และอดอาหารหลังเที่ยงคืน เพื่อเข้าสู่กระบวนการชักนำในห้องคลอด ตอนเช้าของวันใหม่
ใครเลยจะรู้ ว่า เมื่อคนไข้ถูกส่งตัวมาถึงห้องคลอด เมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกา พยาบาลที่ห้องคลอด ก็ฟังเสียงหัวใจทารก ลูกคุณพรนภาไม่ได้ยินเสียแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคน พากันตกใจ และแจ้งให้สูติแพทย์เวรทราบ..ซึ่ง..เมื่อซักประวัติย้อนกลับไป ก็พบว่า ‘ลูกคุณพรนภาไม่ค่อยดิ้น ตั้งแต่เวลา ประมาณ 2 ทุ่มของคืนวาน’ คนไข้ไม่คิดว่า จะมีปัญหาอะไร?? เพราะเธอนึกว่า ‘มดลูกแข็งตัวบ่อย เธอจึงรู้สึกว่า ลูกดิ้นน้อย’ ความไม่เฉลียวใจของคุณพรนภาครั้งนี้ กลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่น่าเห็นใจยิ่ง
หลังจากนั้น คุณพรนภาก็ได้รับการเร่งคลอด โดยการผสมยาเร่งคลอด (Syntocinon) ในน้ำเกลือที่หยดเข้าทางเส้นเลือดดำ คุณพรนภาคลอดในวันจันทร์ เมื่อเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2,900 กรัม คนไข้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 วัน ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน …..เหลือทิ้งไว้ ก็แต่ความรู้สึกเงียบเหงาเศร้าใจของผู้ที่ทราบเรื่องราวดังกล่าว..
 ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) หมายถึง ภาวะที่มีน้ำคร่ำน้อยผิดปกติ ในทางการแพทย์ บางแห่ง ก็ถือว่า น้อยกว่า 400 มิลลิลิตร ซึ่ง..การวินิจฉัย กระทำได้โดยการวัดระดับน้ำคร่ำในแนวดิ่ง 4 มุม (Quadrant) ของหน้าท้อง เรียกเป็นทางการว่า ‘ดัชนีน้ำคร่ำ’ [amniotic fluid index (AFI)] แล้วได้ค่าผลรวม < 5 เซนติเมตร ภาวะนี้ มีอันตรายมาก โดยเฉพาะ ในกรณีที่น้ำคร่ำมีจำนวนน้อยมากมาก เทียบเป็น ค่าดัชนีน้ำคร่ำ ก็น้อยกว่า 1 เซนติเมตร (AFI < 1) เพราะตัวเด็กจะไปกดเบียดสายสะดือ ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงทารก จนเป็นเหตุให้ทารกต้องเสียชีวิต
การเสียชีวิตของทารกในครรภ์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ‘ป้องกันไม่ได้’ ตัวอย่างเช่น กรณีของคุณนงคราญ ซึ่งทารกมีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ‘สามารถป้องกันได้ (Preventable)’ ซึ่งหมายถึง..ว่า ทารกนั้น ไม่ได้มีความผิดปกติอะไรเลย แต่กำลังตกอยู่ในอันตราย จากสภาวะแวดล้อมบางอย่าง ที่ไม่ปลอดภัย กรณีเช่นนี้ คงน่าเสียดาย ที่ทารกจะต้องมาสูญสิ้นชีวิต ดังนั้น หากคุณแม่ท่านใด ที่ตั้งครรภ์จนครบกำหนด (อายุครรภ์เกินกว่า 38 สัปดาห์) แล้ว มีปัญหา…บางอย่าง (เช่นกรณีคุณพรนภา) ที่คุกตามต่อจิตใจของมารดา จนคิดว่า ‘ลูกของเธอ อาจเสียชีวิตได้ หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน’ เธอก็สามารถร้องขอต่อสูติแพทย์ผ่าตัดคลอดให้ได้ ทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจสิ่งใดอีก…
ความเงียบเหงา แห่งรัตติกาล ทำให้ใจข้าพเจ้าสงบนิ่ง ทุกสิ่งในโลกนี้ ดูเหมือนว่า ล้วนแล้วแต่อนิจจัง ข้าพเจ้าเอง ก็ไม่อยากจะหวังสิ่งใดมากนัก…เพียงแค่  อยากให้ทุกชีวิต ที่กำลังดิ้นรน กระเสือก กระสนอยู่ในครรภ์มารดา จงอย่าได้ มีเหตุเภทภัย ให้ต้องมาจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย ดุจเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น เพราะ…การได้กำเนิดมา และมีอัตภาพเป็นมนุษย์นั้น ถือว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น…ยากที่สุดอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้…..
 &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี   ธีรพงษ์  ผู้เขียน