Big Baby Lady First [เด็กตัวใหญ่ ให้นึกถึงแม่]

“วันเดือน ล่วงผ่านเลย ดุจสายลมไหว รวดเร็วจนหลายต่อหลายคนไม่ทันตั้งตัว….. เพียงชั่วเวลาไม่นาน.. ผู้คนมากมายก็กลายเป็นคนสูงวัยใกล้เกษียณ.. โลกวันนี้ ไม่เหมือนวันวาน เพราะเป็นยุคแห่งอาริยธรรมล้ำสมัย.. เกือบทุกสิ่งทุกอย่าง มีการเปลี่ยนแปลงฉับพลันทันที อย่างสลับซับซ้อน.. เสื้อผ้าที่สวมใส่ มีหลากสีหลายสไตล์ ความรู้เปลี่ยนแปลงก้าวไกลลิบ จนมองไม่เห็นถึงที่มา… แต่…จิตใจมนุษย์สิ กลับมีปัญหา…‘วุ่นวายสับสน’.. ผู้คน อยู่กันอย่างอ้างว้าง โดดเดี่ยว ภายใต้ผองชนรอบข้างที่ล้นหลาม…. คนโง่เขลาเบาปัญญา ต่างพากันหลงทาง หลงผิด คิดพลาด…คนที่มีปัญญาเท่านั้น… จึงจะเข้าใจความเป็นไปของสังคม และปรับตัวรับกับสถานการณ์..ได้..\r\n ผู้หญิงสมัยนี้ ตั้งครรภ์และคลอดยากกว่าคนสมัยก่อน ผู้หญิงส่วนหนึ่ง ซึ่งมีไม่น้อย แต่งงานช้า….นอกจากนั้น ทารกในครรภ์ยังมีน้ำหนักมากขึ้นด้วย เนื่องจากคุณแม่ยุคสมัยนี้มักบำรุงอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหวังจะให้ลูกตัวใหญ่ แข็งแรง… การที่ทารกในครรภ์มีขนาดน้ำหนักตัวมาก ย่อมส่งผลเสียต่อการคลอดตามธรรมชาติ.. หากสูติแพทย์ ประมาทเพียงเล็กน้อย ก็จะพลาดพลั้ง เกิดเรื่องเศร้าได้ \r\nช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่กี่วัน เกิดเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับทารกตัวใหญ่ (Big baby) ในครรภ์ ที่น่าสนใจ \r\nวันศุกร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรรับผิดชอบ วันนั้นเป็นวันที่วุ่นวายอีกวันหนึ่ง เนื่องจากคืนวันพฤหัส มีคนท้องครรภ์ที่สอง มาคลอดโดยการดึงด้วยเครื่องดูดที่ศีรษะ (Vacuum extraction) โดยแพทย์ประจำบ้านคนหนึ่ง.. ซึ่ง ทารกมีน้ำหนักมากถึง 4,690 กรัม… ทั้งแม่และลูกเกือบสูญเสียชีวิต.. แต่..เดชะบุญ คุณหมอแพทย์ประจำบ้านสามารถทำคลอดสำเร็จ.. ข้าพเจ้าถามถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ คุณหมอเล่าว่า “หัวเด็กมาคาที่ปากช่องคลอดนานแล้ว หัวใจของเด็กเต้นช้า…น่ากลัวมาก.. นอกจากนั้น เด็กยังถ่ายขี้เทาข้นออกมา (Thick meconium) ผมกะคร่าวๆว่า ‘เด็กมีน้ำหนักกว่า 4 กิโลกรัม’ ถ้าไม่ทำการคลอดทันทีเดี๋ยวนั้น…ผมว่า เด็กตายแน่..เพราะอาจารย์ที่ปรึกษา มาดูคนไข้ไม่ทัน.. จากการประเมินช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานของคนไข้ ผมคิดว่า เด็กน่าจะคลอดผ่านได้ ผมจึงตัดสินใจใช้เครื่องดูด (Vacuum extraction) ดึงคลอด.. เด็กติดไหล่เหมือนกัน แต่..ไม่นานนัก พยาบาลหลายคนช่วยกันดันและกดที่หน้าท้องคนไข้.. ในที่สุด คนไข้ก็คลอดได้ โดย..ทารกมีคะแนศักยภาพแรกคลอด 8 และ 10 (คะแนนเต็ม 10) ตามลำดับ ณ เวลา 1 และ 5 นาที” \r\nส่วนข้าพเจ้าเอง ก็ผ่าตัดคลอดในวันนั้นถึง 6 ราย รายที่เป็นปัญหาและสงสัยว่า ‘ลูกในครรภ์ น้ำหนักมาก.. มีอยู่ 2 ราย :- รายหนึ่ง เป็นคนท้องครรภ์แรก อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ มาด้วยเรื่องมีน้ำคร่ำน้อย ….เมื่อผ่าตัดคลอดออกมา ทารกมีน้ำหนักมากถึง 3,520 กรัม นับว่า ตัวใหญ่มากสำหรับคนไข้ครรภ์แรกที่สูงไม่ถึง 155 เซนติเมตร, รายที่สอง…ท้องที่ 4 เคยแท้งมาแล้ว 2 ท้อง.. เธอแต่งงานใหม่.. มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ แต่..ลักษณะของหน้าท้องใหญ่มากๆ ขณะที่เธอมีส่วนสูงเพียง 152 เซนติเมตร ผนังหน้าท้องของเธอสูงชิดติดกับยอดอกเลย.. คะเนว่า เด็กน่าจะหนักกว่า 4,000 กรัม.. อย่างไรก็ตาม…ข้าพเจ้าวินิจฉัยผิดพลาด.. เพราะ ในมดลูกน้ำคร่ำมีมากเหลือเกิน (Polyhydramnios) ส่วนทารก มีน้ำหนักเพียง 3,290 กรัม เท่านั้น..\r\nเช้าวันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวร และได้ไปดูคนไข้ที่ห้องคลอด พบคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณนิรนุช ครรภ์ที่ 3… ครรภ์ก่อนหน้านี้ ลูกคนแรกของเธอ มีน้ำหนักแรกคลอด 3,000 กรัม ลูกคนที่ 2 มีน้ำหนักแรกคลอด 3,500 กรัม ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ลูกคนนี้ กับลูกคนก่อนๆ เปรียบเทียบกันแล้ว เป็นยังไงบ้าง’ เธอตอบว่า ‘ลูกคนนี้ ใหญ่กว่ามาก’ และยังบอกอีกว่า ‘อยากจะขอผ่าตัดคลอด และทำหมันไปพร้อมๆกันเลย’ ข้าพเจ้าตรวจหน้าท้องของเธอ คะเนน้ำหนักทารกลูกของเธอว่า น่าจะอยู่ในราว 3,500 – 3,800 กรัม ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจที่จะผ่าตัดคลอดให้…. คาดไม่ถึง เพียงช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง… ปากมดลูกของคุณนิรนุชก็เปิดหมด… พยาบาลห้องคลอดถามข้าพเจ้าว่า ‘คุณหมอยังจะผ่าตัดคลอดให้เธออีกไหม??’ เมื่อข้าพเจ้าไปเยี่ยมคุณนิรนุช ก็จำเป็นต้องตัดสินใจ ให้เธอลองคลอดเองดูก่อน เพราะค่อนข้างฉุกเฉิน คุณนิรนุชอาจจะไปคลอดในห้องผ่าตัดได้.. โดย..ข้าพเจ้าตัดสินใจจะให้ใช้เครื่องดูดหนังศีรษะช่วย (Vaccuum) คลอดให้กับคนไข้รายนี้..\r\nที่ห้องคลอด.. คุณนิรนุชกำลังนอนเบ่งอยู่บนเตียงคลอดอย่างสุดแรง ในท่าขึ้นขาหยั่ง (Lithotmy) ข้าพเจ้าบอกให้แพทย์ประจำบ้าน (Resident) เป็นผู้ทำคลอด โดยเริ่มจากการประกอบอุปกรณ์เครื่องดูด (Vaccuum) และสอดใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด เมื่อประกบถ้วยดูดเข้ากับศีรษะเด็กพอดีแล้ว แพทย์ประจำบ้านก็ทำการลดความดันอากาศ (Negative Pressure) โดยใช้เวลาประมาณ 2 นาที.. จากนั้น แพทย์ประจำบ้านก็ออกแรงดึงถ้วยที่ดูดศีรษะเด็ก เพื่อทำคลอดส่วนหัวของลูกคุณนิรนุช……. ข้าพเจ้าได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่พยาบาล, นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน ให้ทราบโดยทั่วกันว่า ‘หากดึงคลอด.. แล้ว หัวเด็กไม่ตามเครื่องดูดลงมา หรือถ้วยดูดศีรษะเด็กหลุดแม้เพียงครั้งเดียว (Slip) เราก็จะนำตัวคนไข้ไปผ่าตัดคลอดทันที โดยไม่ลองดูดเป็นครั้งที่สอง’\r\nไม่น่าเชื่อเลยว่า การดึงด้วยเครื่องดูดเพียงครั้งเดียวของแพทย์ประจำบ้านครั้งนั้น…จะทำให้ศีรษะทารกน้อย ไหลตามลงมาทางคลอดอย่างง่ายดาย.. สักพักหนึ่ง หัวเด็กก็มาโผล่ออกมาที่ปากช่องคลอดของคุณนิรนุช…… ข้าพเจ้าใช้กรรไกรตัดช่องคลอดเป็นแผลทางด้านข้าง เพื่อให้ช่องทางคลอดกว้างขึ้น ..ไม่นานนัก….ศีรษะเด็กก็คลอด \r\n ข้าพเจ้ายืนดูอยู่ใกล้ๆคุณนิรนุช…และใส่ถุงมือเตรียมพร้อมจะทำคลอดตลอดเวลา เมื่อเห็นศีรษะทารกน้อยโผล่พ้นออกมา มีขนาดค่อนข้างใหญ่.. ข้าพเจ้า ก็ไม่รอช้า รีบลงมือทำคลอดให้กับทารกน้อยทันที โดยไม่ได้รอให้ผู้ช่วยใช้ลูกยางแดงดูดเสมหะและของเหลวจากคอเด็กก่อน ข้าพเจ้าทำคลอดด้วยความยากลำบากมาก โดยทำคลอดไหล่หน้าก่อน เพราะคิดว่าน่าจะคลอดได้ พอดึงศีรษะทารกน้อยลงมาอย่างแรงสุดเหนี่ยว.. ไหล่ก็ลื่นหลุดลงมาจากหัวเหน่า ตอนนั้น ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ต้องคลอดตัวเด็กได้แน่.. ข้าพเจ้าจึงดึงตัวเด็กต่อลงมา และทำคลอดไหล่หลัง พอคลอดทารกน้อยสำเร็จ ข้าพเจ้า ก็ถอนหายใจ พลางพูดเล่าให้แพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ฟังว่า ‘เมื่อกี้นี้.. ทำไม พี่ถึงทำคลอดเด็ก โดยไม่รอพวกเธอดูดเสมหะ น้ำลายออกจากปากและจมูกเด็กก่อน ’ นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน ส่ายหน้าไม่รู้ ข้าพเจ้าจึงเฉลยให้ฟังว่า ‘พี่เห็นหัวของเด็กค่อนข้างใหญ่ มันโผล่และผลุบเข้าไป เหมือนหัวเต่าที่หด.. อันนี้ เรียกว่า Turtle’s sign บ่งบอกว่า ทารกตัวใหญ่ ไหล่กว้าง…จึงมีโอกาสติดไหล่สูงมาก (Shoulder dystocia) หากพวกเราเห็นลักษณะเช่นนี้หลังคลอดศีรษะเด็ก (Turtle’s sign) อีก.. ขอให้ทำคลอดส่วนลำตัวต่อเนื่องไปเลย โดยไม่ต้องรอดูดน้ำคร่ำออกจากปากและจมูกเด็ก… พอคลอดสำเร็จเรียบร้อยทั้งตัวแล้ว จึงค่อยมาดูดน้ำคร่ำออกจากจมูกเด็ก ’\r\nลูกคุณนิรนุช คลอดเมื่อเวลา 8 นาฬิกา 39 นาที เป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 3,760 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 9 และ 10 (จากคะแนนเต็ม 10) ณ เวลา 1 และ 5 นาที ตามลำดับ นับว่า ปลอดภัยทั้งแม่และลูก สมดั่งใจที่ทุกคนปรารถนา \r\nที่กล่าวมาข้างต้น ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ‘ทารกตัวใหญ่ (Large fetus) ในครรภ์นั้น’ ไม่มีคำนิยามที่แน่นอน แต่..สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ประสบการณ์สอนให้รู้ว่า “Big Baby คือ ทารกที่มีน้ำหนักจากการประมาณ…มากกว่า 3,500 กรัมขึ้นไปในท้องแรก และมากกว่า 4000 กรัม ในท้องหลัง ซึ่งเด็กเหล่านี้มีโอกาสได้รับอันตรายได้ทุกเวลาจากการคลอดติดไหล่ (Shoulder dystocia).. ส่วนคุณแม่ ก็มักเกิดการตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง (Postpatum Hemorrhage) จากการที่ช่องคลอดฉีกขาดมาก และมดลูกไม่แข็งตัว (Uterine atony)..” การที่ทารกน้ำหนักมาก สามารถคลอดเองได้โดยไม่เสียชีวิต หรือพิการร่างกายสักหนึ่งราย.. ไม่ได้หมายความว่า ..จะเป็นเช่นนั้นได้ทุกราย… ดังนั้น สิ่งที่คุณหมอควรกระทำ ก็คือ การไม่ปล่อยให้คนไข้เหล่านี้คลอดเองทางช่องคลอด และ..รีบให้คนไข้เข้ารับการ ‘ผ่าตัดคลอด (Cesarean section)’ ทันที… \r\nทุ่งอ้อ ในป่านั้น ล้อลมพริ้วไสว งามตายิ่งนัก ยามที่เราได้ยล เวลาเดินเล่นในท้องทุ่ง.. ความสุขเล็กๆน้อยๆของครอบครัว ก็เป็นเช่นนี้.. หากต้องการให้ลูกของเราเกิดมาแข็งแรง ก็ต้องนึกไว้เสมอว่า ‘เด็กตัวใหญ่.. ให้นึกถึงแม่… คลอดเอง… ต้องแย่แน่..เพราะตกเลือด หรือติดไหล่ ’ \r\nพ.ต.อ. นพ .เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\n \r\n\r\n”,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *