ก่อนอื่น ต้องขอประทานโทษทุกท่าน ที่เข้ามาอ่านใน Website เนื่องจากตอบปัญหาให้ไม่ทัน ปัจจุบัน ผมผ่าตัดเกือบทุกวัน กลับถึงบ้านค่อนข้างค่ำ รู้สึกเหนื่อย และเข้านอนเลย เปิดอ่านemail และตอบปัญหาใน emailก่อน ซึ่งบางที่ก็ตอบช้า อาจไม่ทันใจบางท่าน แต่จะพยายามตอบให้มากที่สุดเท่าที่จะตอบได้ เรื่องราวที่น่าสนใจทางการแพทย์มีมาก ปัญหาก็มากตามไปด้วย
หากผมมีเวลาเขียน คงเขียนเรื่องราวน่าสนใจเหล่านี้ วันละอย่างน้อย 1 เรื่อง แต่เนื่องจากความอ่อนเพลีย จึงไม่ได้เขียน วันเวลาล่วงเลย อารมณ์ ความรู้สึก ก็ห่างหาย และจำรายละเอียดไม่ได้ จึงไม่ได้เขียนมาเล่าให้ฟัง
อนึ่ง เรื่องราวเล็กๆน้อยๆ บางอย่างน่าสนใจอย่างมาก หากพิจารณาให้ดี อาจช่วยนำพาชีวิตเราให้ปลอดภัยได้ อาทิ เรื่องหนึ่งที่พบเม่อไม่นานมานี้ คือ ลูกสาวคนไต้หวันคนหนึ่ง ถูกรถคนอื่นเฉี่ยวชนที่ถนนมอเตอร์เวย์ เธอหยุดรถและลงมาดู ปรากฏว่า รถที่ตามมาด้วยความเร็วสูง เบรกไม่ทัน ชนเธอเข้สอย่างจัง จนเสียชีวิตคาที่ นี่ก็เป็นอุทาหรณ์ เรื่องการเฉี่ยวชน ณ บริเวณอันตราย จงอย่าได้หยุดรถลงมาโดยเด็ดขาด อันตราย
อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเดือนก่อน รถข้าพเจ้า จู่ๆ ก็เครื่องดับที่บ้าน startไม่ติด พยายามยังไง ก็ไม่เป็นผล โทรศัพท์ถามบริษัทเครื่องกันขโมย ก็คิดว่า ไม่ใช่ เพราะ central lock ยังทำงาน สุดท้ายที่เจอ คือ ขี้เกลือที่ติดบริเวณขั้วแบตตอรี่มากเกิน พอขัดถูเอาออก เครื่องก็ใช้การได้ หากเอาเข้าอู่ และเจอช่างที่ไม่ซื่อสัตย์ มีหวังจ่ายเงินมากมาย
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ตอนเที่ยงคืน ข้าพเจ้าขับรถออกไปรับลูก ที่sport club แห่งหนึี่่ง พอขับออกไป ได้ไม่กี่ร้อยเมตร ที่ถนนใหญ่ จู่ๆ เครื่องยนต์ ก็ดับ ไฟกระพริบ ก็ไม่ติด ข้าพเจ้าต้องลงไปเข็น หากเป็นตอนกลางวัน คงถูกรถยนต์ที่ตามมาชนแล้ว แต่นี่เป็นตอนเที่ยงคืน รถมีน้อยมาก ข้าพเจ้าจึงโชคดี ลงไปเข็นได้ และเข็นเข้าข้างทาง โชคดีอีกนั่นแหละ ที่อยู่ใกล้ร้านขายข้าวต้มโต้รุ่ง จึงทิ้งรถไว้และตัดสัญญาณกันขโมย เพราะมีเสียงร้องจากสัญาณเป็นระยะเบาๆ โชคดี ที่มีตัวล็อคเกียและที่เหยียบเบรก จึงทิ้งรถไว้ได้ ตอนเช้ามาดู ก็ยังไม่หาย และไม่ถูกทุบกระจก พอเรียกช่างมาดู ปรากฏว่า เป็นแค่ แบตตอรี่หมด เมื่อเปลี่ยนแบต ก็ใช้ได้
คนเรานั้น ต้องอาศัยโชคช่วยด้วย หากเหตุการณ์เกิดตอนกลางวัน ก็จินตนาการไม่ออกว่า จะเกิดเหตุการณ์ร้ายอะไรบ้าง
ข้าพเจ้าเล่าไว้เล่นๆ และต้องขอโทษ หากตอบช้าไปบ้าง หรือไม่ได้ตอบในบางคำถาม
ผู้เขียน: gumara
พักจิต
ผมเพิ่งไปวัดประสพสุขมา เนื่องจากจิตใจ ว้าวุ่นมาก และไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน ส่วนใหญ่ที่ไปวัด ก็ไำม่ได้ไปทำอะไรมาก แค่สวดมนต์ และนอนหลับพักผ่อนยามว่าง อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ามีความรู้สิึกที่ดีมากหลังสึกจากการบวชเนกขัมมะ ถือศีล 8
แม้ผมไม่เคร่งครัด แต่สุขภาพจิตของเราได้พัก ผมมีความรู้ว่า ดีกว่า ไปเที่ยวเสียอีก
การที่ผมมาที่วัด หลังจากห่างหายไป 2 ปี เนื่องจากลูกไปอินเดีย ภรรยาไเมืองจีน แม่ภรรยา ไปนอนโรงพยาบาลและมีคนเฝ้าจากศูนย์ฯ ไปคราวนี้ วัดเจริญไปมาก มีการสร้างโบสถ์ใหญ่เสร็จสิ้นแล้ว ใช้เป็นที่ทานอาหารเช้าและเพล ญาติโยมมากันมาก เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเจ้าอาวาสปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และเป็นกันเองกับญาติโยม ไม่มีเรื่องเสื่อมเสีย
ผู้ใดต้องการสถานที่สงบ แต่ไม่เคร่งครัดมาก ก็ไปที่นี่ได้ มีห้องหับรับรองอย่างดี ผู้ชายมีกุฏิให้ 1 ห้อง ผู้หญิง พัก 2 คนต่อห้อง มีห้องน้ำในตัว วัดนี้ตั้งอยู่ที่ตำบสทับตีเหล็ก อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
โครงการของวัดนี้มีมาก ช่วยเหลืือชาวบ้านและเด็กๆ มาากมาย นับว่า เป็นวัดที่ดี ในสายตาของข้าพเจ้า
ขอให้ทุกท่านโชคดี
ขอโทษที่ไม่ได้ตอบปัญหา
ผมต้องขขอโทษที่ไม่่ค่อยได้ตอบปัญหาผู้อ่านหลายๆท่าน เนื่องด้วยผมตอบปัยหาอยู่คนเดียว จึงทำให้ตอบปัญหาไม่ทัน โดยเฉพาะปัญหาบางอย่างที่ต้องการยาทำแท้ง วิธีการทำแท้ง อะไรทำนองนั้น ผมไม่สามารถจะแนะนำได้ เพราะนั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่ทำใน website นี้ขึ้นมา ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องซ้ำๆของการกินยาคุม การทำแท้ง ซึ่งสามารถหาอ่านได้ในส่วนต้นๆของคำถามที่มีอยู่มากมาย อ่านแล้ว ก็คงจะทราบคำตอบเอง อนึ่ง ผมคงไม่ได้ตอบคำถามแบบเขียนเรื่องราว จึงอาจไม่ชัดเจนมากในคำอธิบาย อันนี้ คงต้องลองศึกษาเอาจากในบทความในwebsite นี้ หรือจากที่อื่น
หากเป็นปัยหาด่วน หรือปัญหาสำคัญทางสูติ-นรีเวช อาทิ เนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ ขอแนะนำว่า ให้ส่งปัญหามาทางemail เพราะผมตอบให้เกือบทุกวัน ยกเว้นปัญหาที่ไม่เหมาะสม สำหรับคำติ และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น อาจทำให้บางคนไม่พอใจ ต้องขออภัยไว้ ร ที่นี้ด้วย ขอให้ทุกท่านโชคดี
ตอบปัญหาจาก คุณแม่เมืองชลบุรี
ขอโทษคุณแม่ท่านหงขอโทษคุณแม่ท่านงขอโทษคุณแม่ท่างขอโทษคุณแม่ท่่่่่่่านหนึ่ง ที่เขียนจดหมายมา และส่งมาที่mail ของผม ผมได้อ่านแล้ว กะว่าจะตอบในวันรุ่งขึ้น เผอิญ ผมไป delete ทิ้ง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เวลาผ่านมา `2-3 สัปดาห์ แล้ว คุณแม่ท่านนี้ ก็ไม่ได้ email ซ้ำเข้ามา …เท่าที่จำได้ มีคำถาม อยู่ 2 ข้อ คือ
`1 ลูกชาย มีอัณฑะ ไม่ลงมาในถุงอัณฑะ
2 ขาของลูกในส่วนข้อตะโพก อาจหลุดจากเบ้า เพราะลูกอยู่ในท่าก้นตอนคลอด
ผมขอตอบดังนี้
ข้อ 1 นั้น คงไม่ต้องกังวล เพราะ อัณฑะ อาจจะลงได้เมื่อเวลาผ่านไป ทางการแพทย์ให้เวลา 1 ปี หากมันสามารถไหลเคลื่อนตัวลงได้ ก็จะไม่เป็นหมัน
ข้อ 2 เด็กท่าก้น ที่ยืดขายาวในท่านั้นนานๆ และเด็กตัวใหญ่ ข้อตะโพกอาจจะหลุดได้ แต่คุณหมอกระดูและข้อ สามารถแก้ไข ได้ด้วยใส่เฝือกอ่อน เป็นเวลาประมาณ 3 เดือนผมหวังว่า คุณแม่จากชลบุรี จะได้รับคำตอบที่ตรงกับความจริง และสามารถไขข้อข้องใจได้บางส่วน ขอให้โชคดี
หมอเสรี
การตอบ จม email
ก่อนอื่น ต้องขอโทษที่ตอบปัญหา ล่าช้า แต่.ที่พบปัยหามาก คือ จม email ที่ส่งเข้ามานั้น เมื่อตอบกลับไป ปรากฏว่า จม ไม่ผ่าน (system fail) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก การส่งข้ามระบบ เช่น กรณีผู้ส่งมา ใช้ระบบ Hotmail Yahoo ผลคือ จม ไม่สามารถผ่านไปและตีกลับมา วิธีแก้ คือ หากใครไม่ได้รับตอบ จม เมื่อเวลาผ่านไปนานพอสมควร อยากให้ส่งมาใหม่ แต่ขอให้เปฺิด Gmail และส่งมา โดยใช้ระบบ Gmail รับรองจะได้รับคำตอบอย่างแน่นนอน ขอให้โชคดี
เพิ่งกลับจากเมืองจีน
สวัสดีครับ
ต้องขอโทษ ผู้เข้ามาถามใน Website ทุกท่าน เนื่องข้าพเจ้าเดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองกุ้ยหลิน หลายวัน จึง ไม่ได้ตอบคำถาม เพราะการใช้งานอินเตอร์เนต ที่เมืองจีน ลำบากมาก วันนี้ ข้าพเจ้าเพิ่งเดินทางกลับมา หลังจากนี้ จะพยายามนะครับ
คลอดก่อนกำหนด
คลอดก่อนกำหนด
สิ่งใดๆที่เกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องดี บางอย่างแก้ไขไม่ได้เลย บางอย่างพอแก้ไขได้ ซึ่งคงต้องพยายามศึกษาหาวิธีลดความเสียหายเผื่อไว้กรณีที่อาจจะเกิดซ้ำอีกในวันข้างหน้า สำหรับการคลอดก่อนกำหนด เราก็มีหนทางหรือวิธีแก้ไขอยู่บ้าง เพื่อปกป้องเด็กที่จะเกิดมา ให้สามารถอยู่รอดได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับวาสนาของทารกน้อยด้วย
ในประเทศจีน มีนักกีฬาหญิงยิมนาสติกคนหนึ่ง ชื่อ ชางหลิง เธอเล่นกีฬาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เธอสามารถคว้าเหรียญทองถึง 5 เหรียญในประเทศ และอีก 1 เหรียญจากกีฬาโอลิมปิก ในขณะที่มีอายุเพียง 13 ปี เธอประสบความสำเร็จเร็วเกินไปก่อนวัยอันสมควร ทำให้ต้องตระเวนแข่งขันบ่อยๆ ในที่สุด เธอก็ต้องจบชีวิตการเป็นนักกีฬาหลังจากประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ไม่นานนัก เพราะประสบอุบัติเหตุจากการตกคานยิมนาสติก จนกระดูกสันหลังเคลื่อนตรงส่วนคอและแตกหักส่วนหลัง เธอไร้ความรู้สึกบริเวณท่อนล่างของร่างกายตั้งแต่เอวลงไป แขนและมือทั้งสองข้างพอใช้การได้ แต่ก็ไม่เหมือนเดิม ชางหลิงต้องพยายามออกกำลังกายแขนบ่อยๆเพื่อให้แข็งแรงและสามารถช่วยเหลือตัวเองเท่าที่จะทำได้ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลเธอ ช่างเป็นภาพที่ชวนเวทนายิ่งนัก แม้รัฐบาลจีนจะช่วยเหลือด้านการเงินและหางานให้ทำโดยเป็นพิธีกรรายการทางโทรทัศน์เกี่ยวกับกีฬา เธอก็ยังต้องผจญกับปัญหาต่างๆในชีวิตอีกมากมาย นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จและความโชคร้ายก่อนเวลาอันสมควร
การคลอดก่อนกำหนด คือ อะไร?
การคลอดก่อนกำหนด หมายถึง การคลอดหลังอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ แต่ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ทารกที่คลอดหลังอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ มักไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อน เพราะทารกมีความสมบูรณ์ของร่างกายในหลายๆด้านโดยเฉพาะอวัยวะปอด ดังนั้น สิ่งสำคัญในการดูแลคนไข้ท้องที่เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ก็คือ เราต้องรู้อายุครรภ์ที่แน่นอน เพื่อว่า เราจะได้ไม่ตัดสินใจ คลอดเอาเด็กออกมาก่อนเวลาอันควร
มีคนไข้ท้องบางคนเจ็บครรภ์มาที่ห้องคลอดตอนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ สูติแพทย์ที่ได้รับรายงานจึงช่วยเหลือโดยการยับยั้งการแข็งตัวของมดลูก แต่…ก็มีอยู่บ่อยครั้งที่ยับยั้งไม่อยู่และปล่อยให้คลอดบุตรออกมา ปรากฏว่า เด็กปลอดภัย มีน้ำหนักแรกคลอดถึง 3 กิโลกรัม นั่นหมายถึงว่า คนไข้ได้รับการวินิจฉัยอายุครรภ์ผิดพลาด ความจริง ทารกที่มีน้ำหนักขนาดนั้น คุณแม่น่าจะตั้งครรภ์ครบกำหนด หรืออย่างน้อย 38 สัปดาห์ ดังนั้น การเริ่มต้นดูแลคนไข้เหล่านี้ ต้องเริ่มต้นที่การวินิจฉัยอายุครรภ์ที่ถูกต้อง
เมื่อวาน มีคนไข้แฝด(สอง)รายหนึ่ง ได้รับการผ่าตัดคลอดแม้จะตั้งครรภ์เพียง 30 สัปดาห์ 5 วัน สาเหตุเนื่องจากเธอเจ็บครรภ์อย่างรุนแรงและเรายับยั้งไม่อยู่ คนไข้รายนี้ ชื่อ คุณสมศรี อายุ 26 ปี ตั้งครรภ์แรก ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นครรภ์แฝดเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เนื่องจากตรวจพบว่า มดลูกมีขนาดใหญ่กว่าที่ควรจะเป็น เธอถูกส่งไปตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องและพบครรภ์แฝดดังกล่าว ก่อนมานอนโรงพยาบาลในครั้งนี้ คุณสมศรียังได้รับการตรวจครรภ์ทุก 4 สัปดาห์ต่ออีก 2 ครั้ง จนอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ แต่ก็ไม่พบปัญหาความผิดปกติใดๆ
กลางเดือนเมษายน ขณะอายุครรภ์ได้ 29 สัปดาห์ 3 วัน คุณสมศรีเจ็บครรภ์มาโรงพยาบาลตำรวจ มดลูกแข็งตัวทุก 5 นาที เธอได้รับการตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกยังไม่เปิด จึงได้รับการยับยั้งการตั้งครรภ์โดยใช้ยา Bricanyl 4 หลอดผสมน้ำเกลือ(5% D/W) 100 มิลลิลิตร หยดเข้าเส้นเลือดดำโดยปรับปริมาณยาตามการแข็งตัวของมดลูก ผลปรากฏว่า ความถี่การหดรัดตัวของมดลูกห่างออกเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีเลย จากนั้น ในวันถัดมา การรักษาได้ปรับเปลี่ยนเป็นการฉีด Bricanyl เข้าชั้นใต้ผิวหนังจำนวน ½ หลอดทุก 4 ชั่วโมง และอนุญาตให้ย้ายคนไข้ไปนอนที่หอพักผู้ป่วยชั้น 6 โดยมีการฉีดยาสเตียรอย(Dexamethasone) 6 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมงจำนวน 4 ครั้ง เพื่อเร่งการพัฒนาปอดของทารกให้สมบูรณ์เร็วขึ้น
ที่หอพักผู้ป่วยชั้น 6 ของโรงพยาบาลตำรวจ คุณสมศรีได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีข้อแม้ว่า คนไข้ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงตลอดเวลา ยกเว้น เวลาเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระในบางครั้งบางคราว ผลการรักษา คือ เราสามารถยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกได้นานถึง 5 วัน ด้วยยา Bricanyl โดยปรับเปลี่ยนขนาด, รูปแบบและระยะเวลาให้ลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุด ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปรับประทาน ในขนาด 2 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง
วันอังคารที่ผ่านมา ตอนเที่ยงคืน คุณสมศรีเกิดเจ็บครรภ์ถี่และรุนแรงขึ้น มดลูกแข็งตัวทุก 5 นาที ข้าพเจ้าจึงให้คนไข้ย้ายกลับมานอนพักที่ห้องคลอดและให้ยา Bricanyl ในรูปหยดเข้าเส้นเลือดดำตามสวนผสมเดิม ผลปรากฏว่า สามารถลดการแข็งตัวของมดลูกได้และความถี่ของการแข็งตัวห่างขึ้น จวบจนเวลาประมาณ 6 นาฬิกาตอนเช้า จู่ๆ มดลูกก็กลับแข็งตัวถี่และรุนแรงขึ้น ข้าพเจ้าจึงต้องเพิ่มขนาดของยาให้มากขึ้น ทำให้คนไข้ใจสั่นมาก หัวใจเต้นด้วยอัตราเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที คนไข้รู้สึกเหนื่อยมากและทนแทบไม่ไหว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องเปลี่ยนชนิดของยายับยั้งการแข็งตัวของมดลูกมาเป็นแมกนิเซี่ยมซัลเฟต (MgSO4) โดยผสมยากับน้ำเกลือและหยดเข้าเส้นเลือดด้วยอัตรา 1 กรัมต่อชั่วโมง คนไข้ใจสั่นน้อยลง แต่มดลูกยังคงแข็งตัวเหมือนเดิม เมื่อข้าพเจ้าเพิ่มปริมาณยาขึ้นไปอีก ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการแข็งตัวของมดลูกได้เหมือนในช่วงแรกที่นอนโรงพยาบาล
ในวันนั้น คุณสมศรีได้รับการดูแลต่อโดยสูติแพทย์ท่านอื่น ซึ่งก็ไม่สามารถหยุดยั้งการแข็งตัวของมดลูกได้เช่นกัน ตอนเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ปากมดลูกของคุณสมศรีเปิดขยายออกเป็น 3 เซนติเมตร คนไข้จึงได้รับการผ่าตัด มิฉะนั้น ก็จะคลอดเองทางช่องคลอด ซึ่งทารกแฝดทารกแฝดมีโอกาสสูงที่จะได้รับอันตรายจากการบอบช้ำ เพราะทารกตัวเล็กมากและแฝดคนหนึ่งอยู่ในท่าก้น การเลือกคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดย่อมปลอดภัยมากกว่าอย่างแน่นอน ทารกแฝดคลอดเมื่อเวลา 19 นาฬิกา 30 นาที เป็นทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 1180 และ 1020 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอดของทารกทั้งสอง อยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้[(5,9)และ(9,10) จากคะแนนเต็ม 10,10 ที่ 1และ 5 นาที] ลูกคนแรกของคุณสมศรี ที่มีน้ำหนักมากกว่า ถูกส่งไปยังห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด เนื่องจากทารกหายใจไม่ค่อยดี แต่ก็ไม่ถือว่า อยู่ในภาวะอันตราย เพียงแต่รอเวลาให้ปอดทำงานดีขึ้น เมื่อนั้น ก็จะเอาเครื่องช่วยหายใจออก ส่วนลูกแฝดอีกคนหนึ่งซึ่งหนักเพียง 1 กิโลกรัม กลับไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ถูกส่งตัวเข้าตู้อบเพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกายและอยู่ในสภาวะอากาศที่มีความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนสูง
การดูแลรักษาคนไข้ท้องที่เจ็บครรภ์ก่อนกำหนดเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อยๆ คนท้องทุกคนจึงควรรับรู้ไว้ ก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็มีคนท้องสองคนคลอดก่อนกำหนดในลักษณะคล้ายๆกัน คนแรก ชื่อคุณกาญจนาพร อีกคนหนึ่ง ชื่อ คุณจิตราสินี ทั้งสองคนอายุเท่ากัน คือ 27 ปี ท้องแรกเหมือนกัน และเจ็บครรภ์มาโรงพยาบาลตอนอายุครรภ์พอๆกัน คือ 32 สัปดาห์ แต่มีส่วนแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ซึ่งน่าสนใจมาก
กรณีคุณกาญจนาพร คนไข้เริ่มมีมดลูกแข็งตัวเป็นระยะๆมาตั้งแต่อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก Bricanyl ชนิดกินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ เธอก็เจ็บครรภ์อย่างรุนแรงและมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ข้าพเจ้าได้ให้ยา Bricanyl
ผสมในน้ำเกลือหยดเข้าเส้นเลือดเหมือนคุณสมศรี ซึ่งก็สามารถควบคุมการแข็งตัวของมดลูกได้อย่างดีเป็นเวลา 2 วัน หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนเป็นรูปแบบฉีดใต้ผิวหนังทุก 6 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถยับยั้งได้อีกต่อไป พอกลับมาใช้ Bricanyl ชนิดหยดอีก คนไข้ก็ใจสั่น จึงต้องเปลี่ยนเป็นยาแมกนิเซี่ยม ซัลเฟต(MgSO4) ผสมน้ำเกลือหยดเข้าเส้นเลือด ตอนนั้นพอจะยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกได้บ้าง แต่ไม่สามารถควบคุมได้ ในที่สุด ข้าพเจ้าจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดเอาเด็กออกมา โชคดี ที่ได้ให้ยาสเตียรอยด์ (Dexamethasone) ครบตามขนาด ทารกที่คลอดออกมา แม้จะมีน้ำหนักเพียง 2200 กรัม ก็สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ก่อนลงมือผ่าตัด พอกาญจนาพร ทราบว่า ปากมดลูกเปิดและจำเป็นต้องผ่าตัด เธอก็ร้องไห้ฟูมฟายและโทรศัพท์พูดคุยปรับทุกข์กับสามีที่อยู่ต่างประเทศ ข้าพเจ้าได้อธิบายให้เธอฟังว่า “ ลูกคุณ ถึงคลอดออกมาตอนนี้ ก็ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะ คุณมีมดลูกแข็งตัวมาค่อนข้างนาน ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียด ภาวะเครียดนี่เองที่ทำให้ปอดเด็กพัฒนาเร็วขึ้นและทำให้เขาอยู่รอดปลอดภัยเมื่อคลอดออกมา ” คำอธิบายง่ายๆนี้ ทำให้สามีของเธอไม่ตกใจและรอฟังข่าวดีด้วยใจสงบ เมื่อทารกน้อยคลอดเรียบร้อย คนไข้ก็ได้แจ้งข่าวให้สามีทราบ
สำหรับกรณีของคุณจิตราสินี เธอได้มานอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดตอนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์เช่นกัน สำหรับรายนี้มีปัญหา คือ คนไข้จำระดูครั้งสุดท้ายได้ไม่แน่นอน เมื่อตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ ทารกมีขนาดน้อยกว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น 2 สัปดาห์ ดังนั้น ตอนนั้น คุณจิตราสินีน่าจะตั้งครรภ์เพียง 30 สัปดาห์ ข้าพเจ้าพยายามยับยั้งโดยใช้ยาBricanyl ผสมกับน้ำเกลือหยดเข้าทางเส้นเลือดดำ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น แต่เมื่อเปลี่ยนวิธีการให้ยามาเป็นแบบฉีดใต้ผิวหนังทุก 4 ชั่วโมง มดลูกก็กลับแข็งตัวขึ้นมาอีก ข้าพเจ้าลองหวนกลับไปใช้วิธีเดิมอีกครั้ง ก็ไม่ได้ผล คุณจิตราสินี ใจสั่นมาก จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ยาแมกนิเซี่ยมซัลเฟต ผลปรากฏว่า คราวนี้ประสบผลสำเร็จและคนไข้สามารถกลับบ้านได้ โดยให้ยายับยั้งการแข็งตัวของมดลูก (Bricanyl) ชนิดเม็ดไปรับประทาน ข้าพเจ้าสามารถเลื่อนการคลอดของคุณจิตราสินีออกไปได้ 2 สัปดาห์ เมื่อคนไข้เจ็บครรภ์มาอีกครั้งและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดคลอดเอาเด็กออกมา ลูกของคุณจิตราสินี ก็แข็งแรงสมบูรณ์ น้ำหนักแรกคลอด 2060 กรัม
การเลื่อนการคลอดออกไปได้ ไม่ว่าจะนานสักเท่าใด มีส่วนช่วยทำให้ปอดของทารกน้อยพัฒนาดีขึ้นอย่างมาก เด็กที่เกิดตอนช่วงอายุครรภ์ 29 – 34 สัปดาห์ หากคุณแม่ได้รับการยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกและได้รับยาสเตียรอย(Dexamethasone) เด็กมีโอกาสสูงที่จะอยู่รอดปลอดภัยในโลกภายนอก หากคนท้องท่านใดมีปัญหาเรื่องการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด จำไว้ว่า อย่านิ่งนอนใจ ยิ่งชักช้า ยิ่งเกิดความเสียหาย ท่านจะต้องรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระดับศูนย์การแพทย์ให้เร็วที่สุด นั่นคือ หนทางเดียวที่จะปกป้องลูกน้อยของท่าน
ความสุขใดๆในโลกนี้ ที่จะเทียบเท่ากับความสุขง่ายๆในครอบครัวนั้น เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ความสำเร็จที่มาเร็วเกินไปอาจทำให้ผู้ชายหลายคนหลงระเริงและใฝ่หาความสุขจากการมีเมียน้อย ซึ่ง..นั่นไม่ใช่วิถีชีวิตของคนฉลาด เพราะเขาเหล่านั้นมีแต่จะก้าวพลาดและรอวันล่มจมสู่ความหายนะ……..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
การตั้งครรภ์ของสตรีตัวเตี้ย
การตั้งครรภ์ของสตรีตัวเตี้ย
หญิงไทย แม้จะมีใบหน้าท่าทางที่น่ารัก น่าคบหา แต่ทว่า มีหญิงจำนวนไม่น้อยเลย ที่รูปร่างเล็กหรือต่ำเตี้ย นี่เอง ทำให้เป็นข้อเสียเปรียบในการคลอด เพราะหญิงตัวเตี้ย มักมีอุ้งเชิงกรานที่เล็กและแคบ ดังนั้น ‘การคลอดของสตรีตัวเตี้ย’ จึงทำให้สูติแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสบายใจว่า ควรจะทำอย่างไร? เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
นิยามคำว่า‘ตัวเตี้ย’ของผู้หญิงหมายความว่าอย่างไร???? ในหลักสากลที่ถือกัน ได้ให้คำจำกัดความของสตรีตัวเตี้ยในคนท้องว่า ‘ความสูงของหญิงต่ำกว่า 155 เซนติเมตร’ Sheiner Eและคณะได้ทำการวิจัยในหัวข้อ Short stature–an independent risk factor for Cesarean delivery. (2005) [ แปลว่า “ตัวเตี้ย: ปัจจัยเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด”] พบว่า อัตราการผ่าตัดคลอดในสตรีตัวเตี้ยนั้นมากกว่าสตรีที่มีความสูงกว่า 155 เซนติเมตรอย่างชัดเจน (21.3% และ 11.9%) รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนต่างๆด้วยเช่น ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด ทารกมีภาวะแคระแกรนในครรภ์
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว สิ่งที่ชาวต่างประเทศศึกษาวิจัย เราไม่จำเป็นต้องเชื่อถือไปทั้งหมด เราต้องดูตามความเหมาะสม เพราะหญิงไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสูง และลูกของคนไทยก็มีขนาดตัวไม่ใหญ่ ซึ่ง..คำจำกัดความของ ‘ตัวเตี้ย’ในคนท้องหญิงไทยนั้น ก็ไม่เคยมีการกำหนดว่า คือ มีส่วนสูงแค่ไหน อีกทั้งไม่เคยมีใครศึกษาวิจัยเรื่อง ‘หญิงไทยตัวเตี้ย กับการคลอด’ อย่างจริงจัง จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า พบว่า หญิงไทยที่มีความสูงต่ำกว่า 145 เซนติเมตร มักมีปัญหาเรื่องการคลอดบุตร ข้าพเจ้าเองอยากให้มีการศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียด เพราะ หญิงไทยที่ตัวเตี้ยมักถูกปล่อยปละละเลยให้คลอดเองทางช่องคลอดมานานแล้ว ซึ่งหญิงไทยเหล่านี้จะได้รับการผ่าตัดคลอดให้ ก็ต่อเมื่อคลอดตามธรรมชาติไม่ได้จริงๆหลังจากลองปล่อยให้คลอดเองสักระยะหนึ่ง แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ถึงจะผ่าตัดคลอดเอาเด็กออกมาทางหน้าท้อง เด็กก็อาจมีร่างกายบอบช้ำหรือสมองได้รับการกระทบกระเทือน ก่อให้เกิดผลเสียหายในอนาคตได้ เช่น เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือโง่ไปเลย สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามักจะไม่รอให้คุณแม่ตัวเตี้ยที่ครรภ์ครบกำหนดเจ็บครรภ์ และคลอดโดยวิธีธรรมชาติเลย ยกเว้นบางกรณีที่จำเป็น นอกนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะผ่าตัดคลอดให้ทันทีที่เข้ารับหน้าที่รับผิดชอบคนท้องตัวเตี้ยในห้องคลอด ข้าพเจ้ามีตัวอย่างของคนท้องตัวเตี้ย 3 – 4 รายที่อยากจะนำมาเล่า ซึ่งคงพอจะทำให้ท่านเข้าใจได้พอสังเขป
คนไข้รายแรกที่อยากจะเล่า ชื่อ คุณธนพร อายุ 27 ปี มีส่วนสูง 143.5 เซนติเมตร ตั้งครรภ์นี้เป็นครั้งที่ 3 ครรภ์แรกคลอดเองเมื่อ 7 ปีก่อน ทารกมีน้ำหนักแรกเกิด 2800 กรัม ปัจจุบันแข็งแรงดี ต่อมาได้แต่งงานใหม่และตั้งครรภ์ที่ 2 แต่เธอได้ไปทำแท้งตอนอายุครรภ์ 2 เดือนเมื่อ 3 ปีก่อน สำหรับครรภ์นี้ เธอมาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ และฝากครรภ์มาทั้งหมด 15 ครั้ง จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 39 สัปดาห์ ก็เจ็บครรภ์มานอนโรงพยาบาลตำรวจ คุณธนพรได้เข้าสู่ห้องคลอดตอน 2 ทุ่ม ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง100% มดลูกมีการแข็งตัวทุก 5 นาที ต่อมา เวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ ปากมดลูกเปิด 9 เซนติเมตรความบาง 100% แต่ส่วนนำยังอยู่ค่อนข้างสูงขึ้นไปในอุ้งเชิงกราน (station 0) แม้ปากมดลูกจะเปิดเร็วและการแข็งตัวของมดลูกจะดี แต่ส่วนหัวของเด็กกลับไม่ค่อยลงต่ำมาที่ปากช่องคลอด ข้าพเจ้าประเมินน้ำหนักเด็กว่า น่าจะประมาณ 3300 – 3500 กรัม ซึ่งถือว่า ตัวใหญ่เมื่อเทียบกับตัวแม่ ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้แบบฉุกเฉินในข้อบ่งชี้ คือ อุ้งเชิงกรานแคบ (Cephalo-pelvic disproportion) การผ่าตัดก็ไม่ยุ่งยากอะไร ทารกคลอดเมื่อเวลาเที่ยงคืนครึ่ง เป็นทารกเพศหญิง มีน้ำหนักแรกคลอด 3290 กรัม แข็งแรงดี
คนไข้รายที่ 2 ชื่อคุณน้ำผึ้ง อายุ 21 ปี ตั้งครรภ์แรก ฝากครรภ์ทั้งหมด 6 ครั้ง จนกระทั่งมีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ก็เจ็บครรภ์มาโรงพยาบาลตำรวจตอน 6 โมงเย็น คุณน้ำผึ้งมีส่วนสูง 145 เซนติเมตร ตอนที่มาถึงห้องคลอด ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 80% มดลูกแข็งตัวทุกๆ 3 นาที เวลาตีหนึ่งครึ่ง ปากมดลูกยังคงเปิดเท่าเดิม แต่ความบางเพิ่มเป็น 100%
เวลา 3 นาฬิกาของเช้าวันนั้น ปากมดลูกเปิด 5 เซนติเมตร ความบาง 100% พอดีข้าพเจ้ามีจำเป็นต้องผ่าตัดผู้ป่วยท้องนอกมดลูกรายหนึ่งเป็นการฉุกเฉินในช่วงเวลานั้น ข้าพเจ้าจึงได้สอบถามไปยังห้องคลอดว่า มีคนไข้รายไหนบ้างที่มีปัญหาและอาจต้องผ่าตัด พยาบาลห้องคลอดบอกว่า ‘กรณีของคุณน้ำผึ้งน่าจะมีปัญหา เพราะคนไข้ตัวเตี้ย’ ตอนนั้นส่วนนำยังไม่ลงมาในช่องคลอด (Station 0) ข้าพเจ้าไม่รอช้า จึงสั่งการผ่าตัดคลอดให้กับคุณน้ำผึ้งต่อจากกรณีท้องนอกมดลูก เพราะลักษณะตัวเตี้ยเช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะถูกผ่าตัดคลอดค่อนข้างมาก ทารกที่ได้เป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 2720 กรัม แข็งแรงดี
คนไข้รายที่ 3 ชื่อ คุณสมคิด อายุ 22 ปี มีส่วนสูง 145.6 เมตร ตั้งครรภ์นี้เป็นครรภ์แรก ฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 2 เดือนและฝากครรภ์ตามนัดมาตลอดจำนวน 10 ครั้ง จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 39 สัปดาห์ ก็เจ็บครรภ์มาโรงพยาบาล คนไข้มาถึงห้องคลอดตอน 7 โมงเช้า มดลูกแข็งตัวทุก 3 นาที เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ปากมดลูกเปิด 7 เซนติเมตร ความบาง 100% เมื่อเจาะถุงน้ำคร่ำ ปรากฏว่า น้ำคร่ำมีเขียว (meconium) ข้าพเจ้าไม่อยากรอเพราะถ้าคลอดยาก คงต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะคลอด เด็กอาจมีปัญหาทางสมอง จึงได้ตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ ทารกเป็นเพศ ชาย น้ำหนักแรกคลอด 3140 กรัม แข็งแรงดี
ผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่มีลักษณะตัวเตี้ย คือ มีความสูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตร ซึ่งมีข้อเสีย คือ อุ้งเชิงกรานแคบ ทำให้มักเกิดปัญหาเวลาคลอดเองตามธรรมชาติ ซึ่งมีโอกาสได้รับการผ่าตัดคลอดกว่า 50% ด้วยข้อบ่งชี้ที่ว่า ‘ศีรษะกับอุ้งเชิงกรานไม่เป็นสัดส่วนกัน’ ส่วนที่คลอดเองตามธรรมชาติได้ ก็มักคลอดลำบาก และมีปัญหาระหว่างคลอด เช่น ส่วนหัวของทารกค้างอยู่ในช่องคลอดนานมากในช่วงที่ปากมดลูกเปิดหมด (Prolonged second stage) ซึ่งบางรายจำเป็นต้องใช้เครื่องดูด (vacuum extraction) หรือคีม (Forceps) ช่วยดึงคลอด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากกรณีข้างต้นทั้ง 3 กรณี ข้าพเจ้าขอวิเคราะห์ดังนี้ คือ
กรณีรายคุณธนพร คนไข้มีส่วนสูง 143.5 เซนติเมตร เคยคลอดบุตรเองมาก่อนโดยทารกมีน้ำหนักแรกเกิด 2800 กรัม การลองปล่อยให้คลอดเอง ก็ย่อมสามรถทำได้ แต่ต้องประเมินว่า ทารกน่าจะมีขนาดพอๆกับท้องที่แล้ว แต่รายนี้เด็กใหญ่กว่าขนาดในท้องที่แล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะคลอดเองไม่ได้
กรณีรายคุณน้ำผึ้ง คนไข้มีส่วนสูง 145 เซนติเมตร การดำเนินการคลอดยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่มีปัญหาใดๆ ข้าพเจ้าใช้วิจารณญาณส่วนตัวตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ เพราะคิดว่า เธออาจคลอดลำบากและมีปัญหาการคลอด อย่างไรก็ตาม ลูกคุณน้ำผึ้ง มีน้ำหนักเพียง 2720 กรัม เธออาจจะสามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ให้โอกาสเธอ เพราะถือเอารูปร่างและส่วนสูงของแม่เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ
กรณีรายคุณสมคิด ทารกอยู่สภาพเริ่มขาดก๊าซออกซิเจนเพราะถ่ายขี้เทาออกมาปะปนในน้ำคร่ำ แม้ปากมดลูกจะเปิดถึง 9 เซนติเมตรแล้ว แต่ระยะเวลาที่จะคลอดบุตรออกมาภายนอกยังไม่แน่นอน บางทีอาจจะเป็น1- 2 ชั่วโมง หรืออาจนานถึง 5 ชั่วโมงหากพยาบาลไม่กล้าตามข้าพเจ้าโดยรอให้ครบหลักเกณฑ์ คือ ปากมดลูกเปิดหมด แล้วทารกไม่คลอดประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ทารกอาจจะอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก สมองขาดก๊าซออกซิเจนนาน เมื่อเติบโตอาจเป็นคนที่ไม่สมประกอบ
เมื่อวาน มีการผ่าตัดคลอดบุตรให้สตรีตัวเตี้ยรายหนึ่ง ชื่อคุณรัชนี อายุ 32 ปี มีส่วนสูง 145 เซนติเมตร ตั้งครรภ์ที่ 4 สำหรับครรภ์แรก เธอคลอดเองเมื่อ 14 ปีก่อน ได้บุตรสาว ซึ่งมีน้ำหนักแรกคลอด 3000 กรัม ครรภ์ที่ 2 เมื่อ 12 ปีก่อน เธอคลอดเองเช่นกัน ได้บุตรชาย น้ำหนักแรกคลอด 3500 กรัม ครรภ์ที่ 3 คุณรัชนีแท้งบุตร เมื่อปีที่แล้ว โดยไม่ได้รับการขูดมดลูก สำหรับครรภ์นี้ คุณรัชนีตั้งครรภ์กับสามีใหม่ เธอฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 10 สัปดาห์ ฝากครรภ์ตามนัดทุกครั้ง 14 ครั้ง จนอายุครรภ์ได้ 41 สัปดาห์ ก็มีปัญหาทารกหัวใจเต้นผิดปกติระหว่างเข้ารับการทดสอบความแข็งแรงของทารกในครรภ์(non-stress test) รายนี้น่าสนใจตรงที่ คุณรัชนีคลอดบุตรเองได้ในครรภ์แรกและครรภ์ที่สอง ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดถึง 3000 และ 3500 กรัมตามลำดับ ซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ครรภ์นี้ก็สมควรได้รับการผ่าตัดคลอด เนื่องจากอายุครรภ์เกินกำหนด และหัวใจทารกเต้นผิดปกติ
สรุปแล้ว คนท้องสตรีตัวเตี้ย (มีความสูงต่ำกว่า 145 เซนติเมตร) ที่ตั้งครรภ์ครบกำหนดนั้น มีแนวโน้มที่จะเข้ารับการผ่าตัดคลอดสูงมาก แต่หากต้องการพิจารณาอย่างรอบคอบ ก็ขอให้ดูปัจจัยดังต่อไปนี้ เป็นข้อตัดสินใจผ่าตัดคลอด 1.ส่วนหัวเด็กไม่เข้าสู่อุ้งเชิงกราน โดยการใช้มือคลำหน้าท้องที่บริเวณหัวเหน่า จะพบว่า หัวเด็กลอยอยู่เหนืออุ้งเชิงกราน 2. อายุครรภ์เกินกำหนด 3. การดำเนินการคลอดไม่เป็นไปตามปกติหรือเนิ่นนานมาก 4. ทารกในครรภ์ขาดก๊าซออกซิเจนโดยดูจากการเต้นของหัวใจ หรือน้ำคร่ำเป็นสีเขียว 5. เป็นครรภ์แรกหรือเป็นเสมือนครรภ์แรก คือ ครรภ์ก่อนที่คลอดเองตามธรรมชาติห่างจากครรภ์ปัจจุบันเกินกว่า 10 ปี 6. น้ำหนักทารกในครรภ์โดยประมาณ เกินกว่า 3000 กรัม
สตรีตัวเตี้ยตั้งครรภ์ ไม่ใช่ความผิด เธอมีสิทธิทุกอย่างเหมือนกับคนท้องทั่วไป เพียงแต่เราไม่ควรยึดถือกฎเกณฑ์มากนักในการตัดสินใจผ่าตัดคลอดบุตรให้ เพราะความผิดพลาดจากการคลอดเองโดยธรรมชาติ ก็คือ ความบอบช้ำทางร่างกายและสมองของทารกน้อย คงไม่มีใครอยากมีลูกที่พิการทางร่างกายหรือสมอง แน่นอน!!! พ่อแม่ทุกคน ยอมอยากจะเล่นหัวกับลูกที่มีสมองที่แจ่มใส จิตใจที่เบิกบาน ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนท้องที่ตัวเตี้ย ก็จงอย่าเสี่ยงกับการคลอดบุตรเองตามธรรมชาติ โดยไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีพอ ……..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
การทำคลอดแบบฉุกเฉิน
การคลอดแบบฉุกเฉิน
แพทย์..ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ก็ตรงที่ต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา การตัดสินใจของแพทย์แต่ละครั้ง มีความสำคัญต่อชีวิตคนไข้และผู้คนที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ทุกท่านจะต้องสั่งสมประสบการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การตัดสินใจแต่ละครั้ง ผิดพลาดน้อยที่สุด
วันก่อน พี่สาวข้าพเจ้าโทรศัพท์มาบอกว่า ‘คุณพ่อข้าพเจ้ามีอาการช็อกจากภาวะน้ำตาลต่ำและได้รับการรักษาอยู่ที่ห้อง ไอ. ซี. ยู. ของโรงพยาบาลจังหวัดสุพรรณบุรี’ ข้าพเจ้าจึงรีบรุดออกจากที่ทำงานทันที ตอนนั้นยังเป็นเวลาหัวค่ำ พอขับรถออกเดินทางไปได้ไม่นานนัก คุณหมอสูติรุ่นพี่ของโรงพยาบาลเอกชนที่ข้าพเจ้าทำงานออกตรวจ ได้โทรศัพท์มาบอกว่า “คุณหมอมีคนไข้มาคนหนึ่ง ชื่อ คุณนวพร ครรภ์แรก อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ เป็นครรภ์พิษ มีความดันโลหิตสูงมากเลย 210/120 มิลลิเมตรปรอท ตัวบวมมาก น้ำหนักเพิ่ม 8 กิโลกรัมใน 3 สัปดาห์ เดี๋ยวพี่จะให้การรักษาเบื้องต้นไปก่อน แล้วพรุ่งนี้ คุณหมอรีบมาดูคนไข้หน่อยนะ!” ข้าพเจ้าฟังแล้วตกใจมาก และคิดว่า ‘การรอนานถึงหนึ่งวันแล้วค่อยมาดูอาการของคนไข้ครรภ์พิษ ย่อมจะช้าเนินนานจนเกินไป’ ข้าพเจ้าจึงได้โทรศัพท์กลับไปถามอาการของคุณพ่ออีกครั้ง ปรากฏว่า ‘อาการดีขึ้นมาก และพี่ชายที่เป็นอายุรแพทย์ก็เดินทางไปถึงแล้ว’ ไม่รอช้า….. ข้าพเจ้าตัดสินใจขับรถย้อนกลับไปดูคุณนวพรที่ห้องคลอดของโรงพยาบาลฯทันที เพราะคุณนวพรกำลังตกอยู่ในภาวะที่อันตรายมาก ซึ่งน่าจะต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน
ก่อนหน้านั้น ก็มีคนไข้ท้อง 2 คนที่ข้าพเจ้าตัดสินใจให้คลอดแบบฉุกเฉิน ชื่อคุณดำรงและคุณสมพิศ กรณีของคนไข้ท้องทั้งสองและของคุณนวพรล้วนมีความน่าสนใจอย่างมาก ชวนให้ข้าพเจ้าคิดไปต่างๆนานา แต่สุดท้าย ก็พอจะสรุปเป็นหัวข้อธรรมะว่า “การเกิดนั้นเป็นทุกข์”
สำหรับกรณีของคุณดำรงนั้น ถือว่า ตื่นเต้นและน่ากลัวมากทีเดียว วันนั้น เป็นวันจันทร์และเป็นวันหยุดราชการ ข้าพเจ้ามาเข้าเวรประจำการที่โรงพยาบาลตำรวจตอนเช้า แต่มีเหตุให้ต้องออกไปข้างนอก
เวลา 9 นาฬิกา 30 นาที นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดได้โทรมารายงานว่า ‘มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณดำรง อายุ 28 ปี มีปัญหา คือ หัวใจเด็กเต้นผิดปกติอย่างเลวร้าย 2 ครั้ง (Late Deceleration) คุณดำรงตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ 2 อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 75% ตอนนี้ มดลูกมีการแข็งตัวทุกๆ 3 นาที’ ข้าพเจ้าได้ขอให้นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดคนนั้นเจาะถุงน้ำคร่ำให้กับคุณดำรง เพื่อตรวจสภาพของทารก โดยดูจากสีของน้ำคร่ำ จากนั้น ข้าพเจ้าก็รีบขับรถกลับมาดูคนไข้รายนี้ทันที เพราะคิดว่า น่าจะต้องมีการตัดสินใจทำอะไรซักอย่าง เวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดคนเดิมได้โทรศัพท์มาบอกอีกครั้งว่า ‘เจาะได้น้ำคร่ำสีเขียว (moderate meconium)’ ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้ผ่าตัดฉุกเฉิน ระหว่างนั้น พยาบาลห้องคลอดได้โทรศัพท์มาบอกอีก 2 ครั้งว่า ‘เสียงหัวใจของทารกเต้นค่อนข้างช้าอย่างน่ากลัวและกินเวลาครั้งหนึ่งค่อนข้างนาน’ ข้าพเจ้ารู้เลยว่า ‘เวลาทุกวินาทีมีค่ายิ่งกว่าทอง ซึ่งเราต้องรีบเก็บเกี่ยว ก่อนที่ความหายนะจะเกิดขึ้น’ ข้าพเจ้าขับรถด้วยความเร็วสูงและสวดคาถา ‘ชินนะบัญชร’ ไปด้วย ในใจคิด ‘ขอให้ทารกในครรภ์ของคนไข้รอดชีวิต’ โชคดี ที่คราวนั้นไม่เจอกับสภาพรถติด ข้าพเจ้าจึงใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ก็สามารถมาถึงห้องผ่าตัดและเข้าทำการผ่าตัดทันที เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ลูกคุณดำรงคลอดหลังจากลงมีดเพียงแค่ 5 นาที ซึ่งเด็กออกมาในลักษณะ ตัวอ่อนปวกเปียก หายใจไม่ค่อยดี ข้าพเจ้ารีบส่งลูกคุณดำรงให้กับหมอเด็กทันที โชคดีเหลือเกิน ภายในเวลา 1 นาที ทารกก็กลับมามีสภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีคะแนนศักยภาพแรกเกิด 9 ใน 10 และคะแนนเต็ม 10 เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงว่า “การเกิดนั้นเป็นทุกข์”
สำหรับกรณีของคุณสมพิศ เป็นเรื่องของภาวะรกเกาะต่ำ คุณสมพิศอายุ 32 ปี ตั้งครรภ์แรก ฝากครรภ์ที่ศูนย์อนามัยใกล้บ้านตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ และมาฝากครรภ์ต่อที่โรงพยาบาลตำรวจตอนอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ระหว่างฝากครรภ์ ไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ จวบจนเธอตั้งครรภ์ได้ 34 สัปดาห์ เธอก็มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องมีเลือดสดๆจำนวนหนึ่งออกจากช่องคลอด ข้าพเจ้าได้ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง ก็พบว่า คุณสมพิศมีรกเกาะต่ำ(placenta previa totalis) นอกจากนั้น ยังมีมดลูกแข็งตัวร่วมด้วย ซึ่งข้าพเจ้าสามารถยับยั้งการเจ็บครรภ์ได้เป็นเวลา 7 วันด้วยการให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกผ่านทางเครื่องหยดน้ำเกลืออัตโนมัติ
ก่อนหน้าวันผ่าตัดคลอด 1 วัน ปรากฏว่า เครื่องหยดน้ำเกลืออัตโนมัติมีปัญหาหยุดทำงานเนื่องจากปลั๊กเสียบเคลื่อนจนไฟฟ้าไม่เข้า พยาบาลก็ไม่ได้สังเกต ทำให้คุณสมพิศกลับมาเจ็บครรภ์อีกเป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมง โชคดี ที่ยังสามารถยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกได้อีกครั้ง แต่พอวันถัดมา มดลูกคุณสมพิศก็กลับแข็งตัวขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะไม่รุนแรง แต่ถือว่า ไม่เหมาะที่ยับยั้งอีกต่อไป เพราะลูกคุณสมพิศมีขนาดโตพอสมควร โดยคาดคะเนน้ำหนักได้ประมาณ 2000 กรัม
การผ่าตัดคลอดครั้งนั้น แม้จะเป็นการฉุกเฉิน แต่ก็ได้มีการเตรียมการไว้ก่อน โดยให้คุณสมพิศงดน้ำ งดอาหาร ระหว่างมื้อ และได้รับยาเร่งการพัฒนาปอดทารกในครรภ์(steroid) ตอนนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า การผ่าตัดคลอดคงไม่น่าจะมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องนี้มากพอสมควร ดังนั้นจึงไม่ได้ตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำอีกครั้งเพื่อดูตำแหน่งของรกให้ชัดเจน อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนผ่าตัด ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดถนัด
พอลงมีดกรีดผ่านมดลูกส่วนล่าง(lower uterine segment) ก็ต้องพบกับความยุ่งยากทันที เพราะมีส่วนรกมาบังทางเข้า ข้าพเจ้าค่อยๆเลื่อนตำแหน่งเจาะผ่านรกโดยพยายามใช้มือคลำหาส่วนของรกที่บางที่สุด เพื่อจะทะลวงและเอาเด็กออกมาทางนั้น แต่ก็กระทำด้วยความยากลำบาก เนื่องจากรกมีการลอกตัวบางส่วน โชคดี ที่ข้าพเจ้าใช้มือเลาะส่วนของรกขึ้นไปทางด้านบนและเจอถุงน้ำคร่ำ พอเจาะถุงน้ำคร่ำได้ ปรากฏว่า รกส่วนที่เกาะพื้นมดลูกด้านล่าง(posterior)กินพื้นที่ค่อนข้างมาก ขัดขวางทางออกของทารก ประกอบกับทารกอยู่ในท่าขวางและเอาส่วนหลังขึ้น ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถทำคลอดทารกได้ ตอนนั้น ข้าพเจ้าใจเต้นระทึกอย่างรุนแรง พยายามพูดกับนักศึกษาแพทย์ผู้ช่วยว่า ‘เราต้องใจเย็นๆ ไม่เช่นนั้น แขนเด็กจะหัก’ ข้าพเจ้าค่อยๆจับมือเด็กข้างหนึ่งจับยัดเข้าไปอย่างนุ่มนวลถึง 2 ครั้ง 2 ครา เพราะมือข้างนั้นโผล่นำออกมาจากแผลผ่าตัด ทำให้ไม่สามารถจับขาเด็กได้ เนื่องจากช่องแผลผ่าตัดแคบเกินไป วิธีการแก้ไข คือ ต้องใช้กรรไกรตัดเปิดแผลเพิ่มในลักษณะ inverted T ที่บริเวณกึ่งกลางแผลเดิมจากล่างขึ้นบนจนมีพื้นที่พอ จากนั้น ข้าพเจ้าก็พยายามควานหาขาของเด็ก ข้าพเจ้าใช้เวลาอยู่นานพอสมควร พร้อมๆกันนั้น ในใจก็นึกถึงคาถา‘ชินนะบัญชร’ ข้าพเจ้าภาวนาขอให้จับขาของลูกคุณสมพิศได้ ในที่สุด..ข้าพเจ้าก็สามารถจับขาลูกคุณสมพิศได้และทำคลอดอย่างช้าๆด้วยความระมัดระวังแบบการทำคลอดท่าก้น พอเด็กคลอดออกมา ข้าพเจ้ารีบตัดสายสะดือและส่งให้หมอเด็กทันที ตอนนั้น ข้าพเจ้าสังเกตว่า ‘รกมีการลอกตัวจากมดลูกเกือบหมดแล้ว’ ช้าไปอีกนิดเดียว ลูกคุณสมพิศต้องตายแน่! … นี่แหละ..ที่ว่า “การเกิดนั้นเป็นทุกข์”
ย้อนกลับมากรณีของคุณนวพร เมื่อข้าพเจ้าพบเธอในห้องคลอดตอนประมาณ 2 ทุ่ม ข้าพเจ้าก็ต้องตกใจเพราะคุณนวพรตัวบวมมาก เธอมีสีหน้าไม่สู้ดี ด้วยรู้ว่า เธอจะต้องถูกผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉินอย่างแน่นอน ตอนนั้น คุณนวพรได้รับยาลดความดันโลหิตชนิดให้ผลเร็วไปแล้ว แต่ผลของยาย่อมอยู่ได้ไม่นาน ข้าพเจ้าได้อธิบายให้เธอและญาติๆฟังว่า การรักษาโรคนี้มี 3 ข้อ คือ 1.ลดความดันโลหิต 2. ป้องกันชัก 3. ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง สำหรับการป้องกันชัก ข้าพเจ้าได้ฉีดยาแมกนีเซี่ยมตามขนาดที่กำหนดให้เช่นกัน ส่วนการทำให้ครรภ์สิ้นสุดลง นั้นหมายถึง ‘จะต้องผ่าตัดคลอดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้’ เพื่อให้ลูกเกิดรอดและแม่ปลอดภัย จริงๆแล้ว ข้าพเจ้าไม่แน่ใจเลยว่า จะได้ผลตามที่หวัง จึงต้องมีการวางแผนสำรองไว้ ด้วยการให้ยาเร่งการพัฒนาปอดทารกและปรึกษาอายุรแพทย์ให้ช่วยมาดูแลเรื่องความดันโลหิตของคนไข้ ขณะเดียวกันก็ตามหากุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญอย่างยิ่งเรื่องทารกน้ำหนักน้อย ซึ่งเผอิญ ขณะนั้นท่านไม่ว่าง แต่จะว่างในวันถัดไปช่วงตอนเย็น ข้าพเจ้าไม่มีทางเลือก ต้องนอนเฝ้าคุณนวพรทั้งคืน เพราะหากมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตควบคุมไม่ได้ ก็จะผ่าตัดให้ทันทีโดยไม่คำนึงถึงตัวทารก ซึ่งเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้อธิบายให้คุณนวพรและสามี รวมทั้งญาติๆฟังอย่างแจ่มแจ้ง เพราะ ‘แม่ย่อมสำคัญกว่าลูกเสมอในสภาพการณ์เช่นนี้’
เวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ตอนนั้น คุณนวพรขอร้องให้เอาสายสวนปัสสาวะที่ใส่ไว้ออก เพราะมันทำความรำคาญให้อย่างมากจนไม่สามารถนอนหลับได้ ถ้าเป็นสถานพยาบาลอื่นที่เคร่งครัด คุณหมอคงไม่ยอมเพราะมันช่วยบอกถึงอันตรายของยากันชักได้ แต่ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจ ประกอบกับคนไข้อยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น คุณนวพรจึงได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้
วันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ข้าพเจ้าได้ทำการผ่าตัดคลอดให้กับคุณนวพร ซึ่งทารกที่คลอดออกมา มีน้ำหนักเพียง 1450 กรัม พอๆกับที่คาดคะเน (1500 กรัม) เป็นเพศหญิง กุมารแพทย์ได้ช่วยเหลืออย่างดี โดยไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อย่างไรก็ตาม ทารกน้อยจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอยู่อีกนานนับเดือนกว่าจะสามารถได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้
เหตุการณ์ในการตัดสินใจผ่าตัดให้คุณนวพรนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบากใจสำหรับข้าพเจ้า เพราะไม่แน่ใจว่า ผลจะออกมาเลวร้ายหรือไม่ แต่จากประสบการณ์ ก็เชื่อว่า น่าจะออกมาค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้อนาคตได้ ทารกอาจไม่รอดชีวิต หรือมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
ใ ครเลยจะเข้าใจการตัดสินใจของแพทย์ที่ให้การรักษาคนไข้ที่ตกอยู่ในสภาพที่อันตรายมากๆอย่างนี้ และแพทย์ทุกคนยังคงต้องตัดสินใจในลักษณะเช่นนี้ต่อไปทุกเมื่อเชื่อวัน
ทุกสิ่งทุกอย่างได้ผ่านไปแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไป จะพบว่า การผ่าตัดคลอดให้คุณดำรงนั้นต้องทำทันที ช้าเพียงเล็กน้อย ทารกเสียชีวิต สำหรับกรณีของคุณสมพิศ แม้จะเป็นภาวะรีบด่วน แต่เมื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ ก็สามารถรอต่อไปได้นานหลายวัน สำหรับกรณีของคุณนวพร เรารอได้เพียงระยะเวลาหนึ่งตามความจำเป็น แต่ก็ไม่นานนัก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เราต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์
ช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีจิตใจเศร้าหมองมากจากเหตุการณ์ที่เป็นกรรมเก่า พอได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรม จนความศรัทธาหยั่งรากลงลึกอย่างมั่นคงแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกมีจิตใจผ่องใสขึ้นมาก จนแปลกใจว่า ‘ทำไมข้าพเจ้าและผู้คนจำนวนมากจึงได้แต่เฝ้ามองแต่ไม่เคยเข้าวัดปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ทั้งๆที่สิ่งดีวิเศษเช่นนี้อยู่ใกล้ตัวเราเพียงแค่เอื้อม…’ ดั่งบทกลอน “มีทุกข์ พบธรรม” ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ตัณหา กาเม การเสสรวล สิ่งยั่วยวน ชวนเสน่ห์ ดูเก๋ไก๋
ให้มนุษย์ ยึดติด ชิดกับใจ อย่างหลงใหล ไม่แจ้ง ในความจริง
พระท่านว่า ความทุกข์ มีหลายหลาก ล้วนดับยาก จากเหตุ แห่งทุกสิ่ง
อวิชชา นำมาซึ่ง การพึ่งพิง อันดียิ่ง ของกองทุกข์ ขลุกกับใจ
ความเกิด ความตาย และความแก่ ความพ่ายแพ้ พลัดพราก จากคนใกล้
ความโศกเศร้า รำพัน ด้วยอาลัย ย่อมทำให้ ไม่เป็นสุข ทุกคืนวัน
ทุกข์ของเรา บ้างก็เบา บ้างก็หนัก บ้างก็รัก บ้างก็ชัง ยังเฝ้าฝัน
บ้างก็ง่าย บ้างก็ยาก สารพัน ใจสะบั้น หวั่นไหว ในอารมณ์
ทุกปัญหา ย่อมมี ทางแก้ไข อุปสรรค ปานใด ให้ขื่นขม
เปรียบขุนเขา มากมาย สุดสายลม ไม่เกินคม ปัญญา ฟ้าประทาน
อันปัญญา ไหนเล่า เท่าธรรมะ ที่พุทธะ พระองค์ ทรงเรียกขาน
ว่านั่นคือ ศาสดา ตลอดกาล นับแต่หลัง ปรินิพพาน พ้นผ่านมา
อริยสัจ ปัจจัย ให้ดับทุกข์ ชี้ทางสุข ปลุกจิต คิดค้นหา
ถึงตัวเหตุ สมุทัย ไขปัญญา นิโรธ มรรค จักพา ฝ่าผองภัย
อย่ายึดติด อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งเพียง ตั้งอยู่ ชั่วครู่ใหญ่
เมื่อมีเกิด ก็มีดับ ลับจากไป ของอันใด ไม่ดำรง คงถาวร
สติ หิริ โอตตัปปะ ถือเป็นข้อ ธรรมะ คำพระสอน
ช่วยปกป้อง คุ้มครอง จากนิวรณ์ เหมือนละคร ตอนจบ พบสิ่งดี
อนุโมทนา แล สาธุ ขอทุกคน บรรลุ ความสุขี
จิตสว่าง ห่างไกล อเวจี สำเร็จมี มรรคผล จนนิพพาน.
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์กับโรงเรียนบ้านร่วมฝัน
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์กับโรงเรียนบ้านร่วมฝัน
ข้าพเจ้าเพิ่งเดินทางกลับจากการตรวจเยี่ยมและดูแลนักโทษไต้หวันทางภาคเหนือเมื่อ 2 – 3 วันก่อน ทันทีที่ผ่านพ้นสถานที่เหล่านี้ออกมาได้ ในใจก็รู้สึกแปลกๆอย่างบอกไม่ถูก เพราะได้พบเจอสิ่งมากมายที่ยากจะอธิบาย ภายในทัณฑสถานจังหวัดเชียงราย มีอยู่แดนหนึ่ง ชื่อ “บ้านร่วมฝัน” ชื่อนั้น!!..ให้ความรู้สึกที่ดีต่อข้าพเจ้าอย่างมาก เพราะนักโทษคดียาเสพติดย่อมต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในทัณฑสถานอีกยาวนาน หากเปรียบทัณฑสถานเป็นโรงเรียน ก็เป็นโรงเรียนประจำที่ยากจะเรียนจบ นักโทษเหล่านี้คงต้องอาศัยความหวังหรือความฝันว่า สักวันหนึ่งจะได้ใช้ชีวิตที่เป็นอิสระ
‘เบาหวาน’ เป็นโรคที่ประหลาดโรคหนึ่ง หากใครได้เป็นสมาชิกของโรคนี้แล้ว ก็ยากจะรักษาหาย จำเป็นต้องอยู่กับมันจนตาย ซึ่งก็คล้ายๆกับนักโทษคดียาเสพติดของโรงเรียนบ้านร่วมฝัน (ทัณฑสถาน) นั่นเอง โชคดี!!! ที่โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A1 คนท้องยังมีโอกาสที่จะหายทันทีที่คลอดบุตร แต่หากเป็น Class A2 คนท้องผู้นั้นก็ต้องโชคร้ายดุจนักเรียนบ้านร่วมฝัน
มีคนท้องโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ 2 รายที่น่าสนใจ ซึ่งข้าพเจ้าเพิ่งผ่าตัดคลอดบุตรให้ รายแรกชื่อ คุณศิริวรรณ อายุ 34 ปี เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A1 เดิมทีนั้น… คุณศิริวรรณ เป็นคนไข้มีบุตรยาก เธอได้เข้ามารับการรักษากับข้าพเจ้าอยู่นาน 1 ปี จึงตั้งครรภ์ ปัญหาของเธอคือ ‘เยื่อบุมดลูกบาง’ ส่งผลให้การรักษาโดยการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ประสบผลสำเร็จ จนในที่สุด คุณศิริวรรณและสามีก็ตัดสินใจขอให้ทำ’เด็กหลอดแก้ว’ โชคดี!! ที่เดือนสุดท้ายนั้นเอง เยื่อบุมดลูกของคุณศิริวรรณ มีความหนาตามปกติและไข่ตกสมบูรณ์ ลูกน้อยของคุณศิริวรรณ จึงถือกำเนิดขึ้น
คุณศิริวรรณ เริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 5 สัปดาห์ น่าแปลกมากที่น้ำตาลในปัสสาวะของเธอให้ผลบวกตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 20 สัปดาห์ โดยให้ผลบวกระดับ 2+ ถึง 4+ มาตลอด พออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ข้าพเจ้าจึงให้คุณศิริวรรณเข้ารับการทดสอบ OGTT(oral glucose tolerance test) ผลปรากฏว่า มีค่าผิดปกติ 2 ค่าจาก 3 ค่าโดยไม่นับรวมค่าแรก ซึ่งเป็นค่าน้ำตาลที่เกิดจากการอดอาหารข้ามคืน (95, 180, 176, 158mg% ค่าปกติ คือ 105, 190, 165, 145mg%) แปลผลได้ว่า เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A1 เมื่อเป็นดังนี้ คุณศิริวรรณจึงเข้ารับการรักษากับอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเบาหวานไปพร้อมๆกับตรวจครรภ์ ในช่วงแรก เธอได้รับการรักษาโดยการควบคุมอาหาร แต่ต่อมา ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการฉีดยาอินสุลิน เนื่องจากการควบคุมอาหารไม่ได้ผล
ตอนอายุครรภ์ได้ 34 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับเธอ พบว่า ‘ภายในถุงน้ำคร่ำมีน้ำคร่ำน้อยผิดปกติ (Oligohydramnios) แม้ลักษณะของทารกโดยทั่วไปจะไม่พบความพิการแต่กำเนิด’ ข้าพเจ้ารู้สึกหนักใจมาก เพราะภาวะนี้อาจเกี่ยวข้องกับความพิการของทารกในครรภ์ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงส่งตัวเธอไปพบกับสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์ ผลสรุปคือ ‘ทารกปกติ และแม้ในถุงน้ำคร่ำจะมีปริมาณน้ำคร่ำน้อย แต่ยังเป็นปริมาณที่พอรับได้’ ข้าพเจ้าได้วางแผนให้คุณศิริวรรณเข้ารับการผ่าตัดคลอดช่วงอายุครรภ์ประมาณ 38 ถึง 39 สัปดาห์ เนื่องจากปอดของทารกที่แม่เป็นเบาหวานมักพัฒนาค่อนข้างช้า การให้ทารกในครรภ์อาศัยเติบโตอยู่กับแม่นานหน่อยย่อมเป็นผลดี
เผอิญวันหนึ่ง ตอนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ 1 วัน คุณศิริวรรณเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นมาอย่างรุนแรงช่วงหัวค่ำ ตอนนั้น คุณศิริวรรณเพิ่งรับประทานอาหารเข้าไปจำนวนหนึ่ง แต่เป็นปริมาณไม่มากนัก ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจให้เลื่อนการผ่าตัดคลอดออกไปเป็นเที่ยงคืน แทนที่จะเป็นแบบฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้คุณศิริวรรณเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณศิริวรรณมาถึง ปรากฏว่า เธอสงสัยว่าจะมี ‘น้ำเดิน’ ซึ่งอาจส่งผลให้ภาวะน้ำคร่ำน้อย เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์จากการที่สายสะดือถูกกดทับ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนแผนมาเป็น ‘ผ่าตัดฉุกเฉิน’ ซึ่งวิสัญญีแพทย์ก็ไม่ได้คัดค้าน การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทารกเป็นเพศชาย คลอดเมื่อเวลา 21 นาฬิกา 40 นาที มีน้ำหนักแรกคลอด 2550 กรัม แข็งแรงดี
อีกรายหนึ่ง ชื่อ คุณลักขณา อายุ 39 ปี ตั้งครรภ์ที่ 3 บุตร 2 คนแรกคลอดเองตามธรรมชาติ อายุ 17 และ10 ขวบ ตอนที่ข้าพเจ้าพบคุณลักขณา ที่ห้องฝากครรภ์ ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจเลย เนื่องจากเธอมีรูปร่างอ้วนมากและมีอาการบวมทั่วตัว(Anasarca) เธอมีน้ำหนักตัวถึง 100.9 กิโลกรัม ความดันโลหิตของเธอก็สูงถึง 160/90 มิลิเมตรปรอท ลักษณะเช่นนี้ ทำให้คุณลักขณามีโอกาสเสี่ยงต่อการชัก (Ecclampsia) ค่อนข้างมาก จากภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Severe Preecclampsia) ที่สำคัญ คือ คุณลักขณาเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A2 พอทราบแค่นั้น ข้าพเจ้าก็แทบจะเป็นลม เพราะ แค่คนท้องคนหนึ่งซึ่งมีภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์อย่างเดียว ปัญหาก็มากอยู่แล้ว นี่!!!! ยังมีโรคเบาหวานแทรกเข้ามาอีก แน่นอน!!!!..คุณลักขณาย่อมมีการพยากรณ์โรคที่เลวร้ายมาก…..
คุณลักขณาเริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ แต่เนื่องจากมีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก คือ 89.3 กิโลกรัม เธอจึงเข้ารับการทดสอบ OGTT(oral glucose tolerance test) ผลปรากฏว่า มีค่าผิดปกติทุกตัว (175, 306, 313, 236mg% ค่าปกติ คือ 105, 190, 165, 145mg%) คนท้องทีไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนแล้วมาตรวจพบเช่นนี้ โดยมีค่าน้ำตาลที่เกิดจากการอดอาหารข้ามคืน เกินกว่า 105 mg% ถือว่า เป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A2 คนไข้ต้องได้รับการรักษาโดยการฉีดอินสุลินเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น ทารกในครรภ์จะเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักตัวมาก (Macrosomia) ไม่เพียงแค่นั้น คนท้องเองยังมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Severe Preecclampsia), ครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios), ติดเชื้อง่าย, คลอดยาก (Dystocia), ตกเลือดหลังคลอด , โรคหัวใจ ส่วนทารกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะไหล่ติดเวลาคลอด (Shoulder dystocia), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ปอดมีปัญหาหลังคลอด (Respiratory distress syndrome, RDS), ภาวะ เลือดข้น (Polycytemia) , ความพิการแต่กำเนิด , ทารกตายในครรภ์และอื่นๆอีกมากมาย
สำหรับภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ของคุณลักขณา คนไข้ขอไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่มีประกันสังคม คุณลักขณาได้ฝากครรภ์เรื่อยมาพร้อมๆกับฉีดยาอินสุลินไปด้วย เธอมีความดันโลหิตสูงบ้างแต่ไม่มากนัก จนกระทั่งตอนอายุครรภ์ได้ 40 สัปดาห์ เธอได้มาเข้ารับการตรวจทดสอบภาวะเสี่ยงต่ออันตรายในครรภ์ของทารกหรือ NST (non-stress test) ในวันที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบ แม้ผลจะออกมาดี (Reactive) แต่คนไข้และลูกจะยังคงตกอยู่ในอันตรายจากภาวะความดันหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Severe Preecclampsia) เนื่องจากเธอมีอาการบวมทั่วตัว (Anasarca) คุณลักขณาอาจชักได้ทุกเวลา ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงกำหนดให้คุณลักขณาเข้ารับการผ่าตัดคลอดในวันรุ่งขึ้น
การผ่าตัดคลอดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทารกเป็นเพศหญิง มีน้ำหนักตัวแรกคลอด 3690 กรัม มีคะแนนศักยภาพแรกคลอด 9,10 (คะแนนเต็ม 10) ที่ 1 และ 5 นาที คนไข้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากอายุรแพทย์ช่วงหลังคลอด คุณลักขณากลับบ้านพร้อมกับลูกหลังจากนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 5 วัน
ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับคุณศิริวรรณละคุณลักขณาผ่านไปได้ด้วยดี นี่คือสิ่งที่เราสัมผัสได้ แต่…หากคนไข้เหล่านี้ ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี ผลที่จะตามมา ย่อมมีมากมาย โดยเฉพาะการคลอดติดไหลของทารก และการชักรวมถึงการตกเลือดหลังคลอดของตัวคนไข้เอง
คนท้องที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus) หมายถึง คนท้องไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่า เป็นเบาหวาน เธอเพิ่งมาตรวจพบตอนฝากครรภ์ โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ระดับ (Class) คือ เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A1 และ Class A2 การดูแลรักษาคนไข้เหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือของอายุรแพทย์และสูติแพทย์ไปพร้อมๆกัน มิฉะนั้น จะเกิดผลเสียหายต่อตัวคนไข้และบุตร สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการคลอดของคนท้องที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ก็คือ อายุครรภ์ตั้งแต่ 38 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น Class A1 หรือ Class A2 ภายหลังจากคลอดบุตรไปแล้ว ภาวะเบาหวานจะดีขึ้นเองทันที เนื่องจากรก (Placenta) ซึ่งสร้างฮอร์โมนต้านอินสูลิน ถูกกำจัดออกไปจากร่างกาย ส่งผลให้อินสูลินของคนไข้กลับมาทำงานเหมือนเดิม สำหรับทารกน้อย ภายหลังคลอด ก็ต้องระวังภาวะน้ำตาลต่ำในกระแสเลือด (Hypoglycemia) ด้วย
คนท้องท่านใดที่เข้าไปอยู่ในวังวนของภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เชื่อได้ว่า ในอนาคต คงต้องผจญกับปัญหาต่างๆของโรคเบาหวาน แม้ว่าจะเป็น Class A1 ก็ตามที เพราะ ร่างกายของเธอผู้นั้นผูกพันเสียแล้วกับโรคเบาหวาน ส่วนคนไข้ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ Class A2 ท่านย่อมไม่มีโอกาสกลับไปเป็นคนธรรมดาได้อีกแล้ว เพราะถือว่า ท่านเป็นสมาชิกถาวรของโรคเบาหวาน ดุจเดียวกับเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียนบ้านร่วมฝัน
ในการเดินทางไปภาคเหนือครั้งนี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปกราบรอยพระพุทธบาท 4 รอยของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 องค์ ที่วัดบนยอดเขาที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทางขึ้นบนภูเขามีลักษณะค่อนข้างสูงชันและคดเคี้ยว รถมีโอกาสตกเขาได้ทุกเมื่อ นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชมที่วัดนี้ตอนหน้าแล้ง แต่…ข้าพเจ้าและคณะรวมทั้งคนขับรถไม่ทราบว่า หนทางจะเป็นเช่นนั้น จึงกล้าหาญไต่เขาขึ้นไป เดชะบุญที่วันนั้นฝนไม่ตก ด้วยอานิสงส์แห่งศรัทธาของข้าพเจ้าที่ตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนะตรัย จึงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าปลอดภัยจากการเดินทางทั้งขาไปและขากลับ หากมีใครไม่เชื่อในคุณความดีแห่งการกระทำตามคำสอนของพระพุทธองค์แล้วไซร้ ก็คงมีสักวันหนึ่ง ที่เขาผู้นั้นจะได้เข้าไปอยู่เป็นนักเรียนประจำแห่งโรงเรียนบ้านร่วมฝัน ………