รักที่หลุดลอย
หลายวันที่ผ่านมา ข้าพเจ้ายังคงไม่สามารถลืมเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับคนไข้รายหนึ่ง ซึ่งทารกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างวิกฤตได้ ถ้าวันนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้ร่วมงาน ทารกน้อยคงตายในครรภ์ก่อนข้าพเจ้าเดินทางไปถึง แม้ต่อมาหลังจากคลอดแล้ว เด็กน้อยก็ยังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง เมื่อวานข้าพเจ้าได้ติดตามไปดูเด็กน้อยที่ห้อง ไอ. ซี. ยู.ทารกแรกเกิด จึงรับรู้ว่า เด็กน้อยกำลังจะตาย………
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความกระวนกระวายใจให้ข้าพเจ้ามากจนต้องขับรถอย่างรวดเร็ว เพื่อหาทางไปยังห้องผ่าตัดให้เร็วที่สุด ท้องถนนขณะนั้น รถติดมาก แม้ข้าพเจ้าจะอาศัยทางด่วนช่วยย่นระยะเวลา แต่…การเดินทางก็ยังเชื่องช้า โชคดีที่สุดท้าย ลูกน้อยของคนไข้ได้รับการผ่าตัดคลอดออกมาทันเวลาและมีชีวิตรอดในระยะแรก อย่างไรก็ตาม โชคร้ายได้มาพรั่งพรูมาสู่หนูน้อยเป็นละลอก หนูน้อยที่คลอดออกมาแสดงอาการป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหลังจากคลอดไม่นาน จากการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือหลายๆอย่าง สรุปรวมความว่า เป็นโรคหัวใจล้มเหลวที่รักษาไม่ได้ ( Hypoplastic left heart syndrome ) และกำลังจะตาย พ่อแม่คนใดเล่าจะข่มใจทนรับความเจ็บปวดเช่นนี้ได้
วันนั้น เป็นวันอังคาร ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องเข้าเวรตั้งแต่ 8 นาฬิกา เพื่อดูแลรับผิดชอบคนไข้ห้องคลอด แต่เวลาประมาณ 7 นาฬิกา ได้มีการเรียกทางวิทยุติดตามตัวจากห้องคลอด ขอให้โทรศัพท์กลับด่วน เมื่อติดต่อกลับไป พยาบาลห้องคลอดได้พูดทางโทรศัพท์กับข้าพเจ้าว่า “ หมอนัดคนไข้มาเร่งคลอดรายหนึ่ง ซึ่งมีอายุครรภ์ 41 สัปดาห์ 5 วัน คนไข้มาถึงตอน 6 โมงครึ่ง ยังไม่ทันจะทำอะไรเลย พอฟังการเต้นของหัวใจเด็ก ก็พบว่า เต้นไม่สม่ำเสมอ ( Irregular ) อัตราการเต้นอยู่ที่ 90 ถึง 120 ครั้งต่อนาที หมอคิดว่า จะจัดการอะไรไปก่อนไหม? ”
“ เออ! รีบตามหมอเวรด่วนเลย กรณีเช่นนี้คงต้องผ่าตัดให้คลอดเดี๋ยวนี้ทันที อย่ารอช้าเป็นเด็ดขาด ” ข้าพเจ้าตอบไปทางโทรศัพท์ เพราะเห็นว่า ทารกตกอยู่ในภาวะอันตราย จากนั้นไม่นาน ข้าพเจ้าได้ออกเดินทางจากบ้าน
พอเวลา 8 นาฬิกา ข้าพเจ้าได้รับการเรียกทางวิทยุติดตามตัวจากห้องคลอดอีกครั้ง เมื่อติดต่อกลับไป ปรากฏว่า คุณหมอที่อยู่เวรขอพูดสายด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจ แต่พยายามตั้งใจฟังว่า มีเหตุการณ์อะไรที่พลิกผันหรือน่าตกใจเกิดขึ้น?
“ เออ! พี่ครับ คนไข้ที่พี่นัดมาเร่งคลอด ตอนแรกหัวใจเต้นช้ามากประมาณ 90 ครั้งต่อนาที แต่หลังจากให้ออกซิเจน นอนตะแคง และเร่งน้ำเกลือเพื่อช่วยระบบไหลเวียนของเลือดแล้ว หัวใจเด็กก็กลับมาเต้นตามปกติเหมือนเดิม พอดี คนไข้เพิ่งรับประทานอาหารมา ผมเลยยกเลิกการผ่าตัด และให้รอพี่มาดูและตัดสินใจเองก็แล้วกัน ” คุณหมอเวรพูดมาทางโทรศัพท์
“ ได้ ได้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวผมจัดการเอง ” ข้าพเจ้าพูดตอบไปทางโทรศัพท์ แม้ว่า ข้าพเจ้าจะเคารพในความรู้และการตัดสินใจของสูติแพทย์ทุกท่านอยู่แล้ว แต่กรณีคนไข้รายนี้ ในความคิดตามประสบการณ์ของข้าพเจ้า เด็กกำลังอยู่ในภาวะอันตรายอย่างวิกฤต
ข้าพเจ้ารอเวลาให้ผ่านไปสัก 2-3 นาที จึงโทรศัพท์เข้าไปสั่งการกับพยาบาลห้องคลอดให้แจ้งห้องผ่าตัดว่า ‘ ขอผ่าตัดคลอดคนไข้รายนี้อย่างเร่งด่วน ’ ใจของข้าพเจ้าตอนนั้นร้อนรุ่มเหมือนถูกไฟสุม ด้วยกลัวว่า ทารกจะตายก่อนเดินทางไปถึง เพราะ ประการแรก คนไข้ตั้งครรภ์เกินกำหนดคลอดตามปกติ ( 40 สัปดาห์ ) เกือบ 2 สัปดาห์ ซึ่งมักเกิดปัญหาน้ำคร่ำน้อยและรกเสื่อม ทารกที่อยู่ในภาวะขาดออกซิเจนเช่นนี้มีโอกาสตายได้ทุกเมื่อ ประการที่สอง การเต้นของหัวใจเด็กช้าและไม่สม่ำเสมอ แม้จะแก้ไขจนกลับมาเป็นปกติ ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงแทบจะช็อกเมื่อทราบว่า คนไข้ยังไม่ได้รับการผ่าตัดคลอดเมื่อเกือบ 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งข้าพเจ้ามาทราบทีหลังว่า ที่คุณหมอเวรไม่สามารถผ่าตัดคลอดทันที เนื่องมาจากกำลังติดผ่าตัดอยู่
เวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที ข้าพเจ้ายังคงอยู่บนท้องถนนที่สภาพการจราจรแย่มาก ในวินาทีนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าขอความช่วยเหลือจากแพทย์ท่านอื่น
“ มีคุณหมอสูติท่านอื่นอยู่แถวนั้นไหม? ” ข้าพเจ้าถามในขณะที่พยายามตั้งสติแก้ปัญหา อันเนื่องมาจากการเดินทางแม้จะขับรถมาทางด่วน
“ อาจารย์วัชรพงษ์อยู่ หมอจะคุยด้วยไหม? ” พยาบาลตอบ
“ อย่างนั้น ขอเรียนสายท่านหน่อย ” ข้าพเจ้าโล่งอกกับคำตอบนี้ จากนั้น จึงได้ขอร้องให้คุณหมอวัชรพงษ์ช่วยผ่าตัดให้ ด้วยข้อบ่งชี้ คือ เด็กในครรภ์อยู่ในภาวะอันตรายอย่างวิกฤต ( Fetal distress ) ซึ่งท่านยินดีช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
เวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์เข้าไปสอบถามพยาบาลห้องผ่าตัดว่า “ ทารกน้อยเป็นอย่างไรบ้าง? ” ซึ่งได้รับคำตอบว่า “ เด็กอยู่ในสภาพที่พ้นขีดอันตรายแล้ว ”
ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก และถามพยาบาลท่านนั้นถึงสภาพของทารกขณะที่คลอดออกมา พยาบาลตอบว่า “ ภายในมดลูกมีน้ำคร่ำน้อยมากและมีขี้เทาเหนียวข้นด้วย ( Thick meconium ) หมอเด็กต้องช่วยเหลืออยู่นานพอควร เด็กมีคะแนนภาวะแรกเกิด 4 ที่ 1 นาที และ 7 ที่ 5 นาที ( จากคะแนนเต็ม 10 ) ซึ่งเท่าที่ดู เด็กก็พอใช้ได้นะ ตอนนี้หมอเด็กกำลังรีบส่งไปที่ห้องดูแลทารกที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ( High risk room ) ”
“ อึม… เด็กคงไม่เป็นอะไรแล้ว โล่งอกไปเสียที ” ข้าพเจ้าพูดขึ้นมาลอยๆ เหมือนกับจิตได้รับกุศลบุญไปด้วยจากการช่วยเหลือชีวิตทารกน้อยโดยคุณหมอวัชรพงษ์
เมื่อเดินทางไปถึง ข้าพเจ้าได้สอบถามถึงสภาพเด็กที่คลอดออกมาจากคุณหมอวัชรพงษ์ ซึ่งท่านบอกว่า “ เด็กเกือบตายแนะ เพราะน้ำคร่ำมีน้อยมากและเด็กถ่ายขี้เทาออกมาเหนียวข้น โชคดีที่ผ่าตัดทันเวลา ช้าไปอีกสักครึ่งชั่วโมง เด็กอาจไม่รอด ”
ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ไปที่ห้องดูแลทารกที่มีความเสี่ยง ( High risk room ) สอบถามเกี่ยวกับสภาพของเด็กว่าเป็นอย่างไร พยาบาลห้องเด็กบอกว่า “ เด็กหายใจค่อนข้างไว หมอเด็กกำลังดูและหาสาเหตุอยู่ ”
ข้าพเจ้าคิดว่า “ เด็กคงไม่เป็นอะไรมาก การหายใจไวคงเกิดจากการที่เด็กเพิ่งผ่านพ้นสภาวะแวดล้อมภายในมดลูกที่อันตรายมาใหม่ๆ เมื่อเวลาล่วงเลยไปสักระยะหนึ่ง เด็กคงปรับสภาพได้เอง ” ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยได้ขึ้นไปเยี่ยมคุณแม่คนใหม่ที่หอผู้ป่วย 6 เมื่อสอบถามพยาบาลถึงคนไข้รายที่เพิ่งผ่าตัดคลอดนี้ พยาบาลบอกว่า “ คนไข้ที่อาจารย์หมอวัชรพงษ์เพิ่งผ่าตัด อยู่เตียงที่ 3 ชื่อคุณเพ็ญนภา ”
“ เออ! ลูกคุณคงไม่เป็นอะไรมากนะ ตอนแรกคิดว่า แย่เหมือนกัน เพราะตอนที่ยังไม่คลอด หัวใจเด็กเต้นช้าและผิดปกติ โชคดีที่อาจารย์หมอวัชรพงษ์อยู่แถวนั้น จึงผ่าตัดช่วยเหลือได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เด็กยังหายใจค่อนข้างไว หมอเด็กกำลังช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่ ผมยังบอกอะไรไม่ได้มาก คงต้องรอดูสักระยะหนึ่ง ” ข้าพเจ้าแจ้งกับคุณเพ็ญนภาเกี่ยวกับสภาพของลูกชายเธอขณะนั้น
“ ลูกหนู เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายคะ หนักกี่กิโล ” คุณเพ็ญนภาถาม
“ ผู้ชาย น้ำหนักแรกคลอด 2650 กรัม ” ข้าพเจ้าตอบ “ เออ! ผมอยากจะถามหน่อยนะว่า เมื่อคืน ก่อนมาโรงพยาบาล เด็กมีการดิ้นเป็นอย่างไรบ้าง ”
“ หนูก็ไม่ทันสังเกต คิดว่าดิ้นปกตินะ หนูมาถึงห้องคลอดประมาณ 6 โมงครึ่ง ยังไม่ทันจะเร่งคลอด พยาบาลก็บอกว่า หัวใจลูกหนูเต้นผิดปกติ ต้องปรึกษาหมอก่อน บางทีอาจต้องผ่าตัดคลอด ” คุณเพ็ญนภาตอบ “ พอ ประมาณ 8 โมงเช้า พยาบาลก็มาบอกว่า หนูต้องได้รับการผ่าตัดด่วน เพราะเด็กกำลังอยู่ในภาวะอันตราย ”
ข้าพเจ้าให้กำลังใจคุณเพ็ญนภาและพูดแต่ในสิ่งที่ดี โดยหวังว่า ลูกของเธอน่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติในอีกไม่นาน จากนั้น ก็พยายามถามไถ่อาการจากพยาบาลห้องดูแลทารกที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ( high risk room ) ซึ่งพยาบาลยังให้คำตอบอะไรไม่ได้ ข้าพเจ้าคิดว่า อีกสัก 2-3 วันจะโทรศัพท์ไปสอบถามดูอีกครั้ง
เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 21 ธันวาคม ข้าพเจ้ามีธุระที่ต้องไปทำที่ตึกกุมาร จึงนึกขึ้นได้และแวะขึ้นไปดูลูกคุณเพ็ญนภา ที่ห้อง ไอ.ซี. ยู. ทารกแรกเกิด เนื่องจากหลังคลอด 1 วัน อาการหอบเหนื่อยแย่ลง และเอกซเรย์พบ หัวใจโต เข้าได้กับภาวะหัวใจล้มเหลว หมอเด็กจึงให้ย้ายมาอยู่ที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด
“ สวัสดีครับ ผมมาขอดูลูกนางเพ็ญนภาหน่อย ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง? ” ข้าพเจ้าทักทายพยาบาลห้อง ไอ. ซี. ยู. ทารกแรกเกิด และขอเยี่ยมดูลูกคนไข้
“ เด็กคงไม่รอดชีวิต ตอนนี้ หมอเด็กหยุดให้การรักษาโรคหัวใจแล้ว เราจะรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น ” หัวหน้าพยาบาลของที่นั่นพูด
“ อ้าว! ทำไมละ เด็กเป็นโรคหัวใจอะไรร้ายแรงหรือครับ ” ข้าพเจ้าถาม
“ หมอไม่รู้หรือว่าเด็กเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ( congenital anomaly ) ตอนที่คลอดออกมา เด็กหายใจไว พอฟิล์มเอกซเรย์ดู ก็พบว่า หัวใจโต จึงให้ไปทำการตรวจพิเศษ ( echo cardiogram ) หมอเด็กคิดว่า หัวใจส่วนล่างซ้ายผิดปกติ เมื่อวานจึงส่งปรึกษาไปที่แผนกศัลยกรรมหัวใจเด็กที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทางโน้นวินิจฉัยเป็นโรคหัวใจด้ายซ้ายล่างผิดปกติแต่กำเนิดชนิดร้ายแรง ( Hypoplastic left heart syndrome ) ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการผ่าตัดรักษา จึงขอส่งคนไข้เด็กกลับมาที่เรา หมอเด็กที่นี่ได้อธิบายให้พ่อแม่เด็กรับทราบ ทางพ่อแม่เด็กก็เข้าใจ เพราะทางเราช่วยเหลือเต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถรักษาชีวิตเด็กไว้ได้จริงๆ ”
“ นึกไม่ถึงว่า จะมีโรคหัวใจเด็กแต่กำเนิดที่ร้ายแรงเช่นนี้ด้วย ” ข้าพเจ้าพูดกับหัวหน้าพยาบาลห้อง ไอ. ซี. ยู. ทารกแรกเกิด ก่อนที่จะขอตัวกลับ หนูน้อยลูกคุณเพ็ญนภา ได้เสียชีวิตในอีก 2 วันถัดมาอย่างสงบ ซึ่ง..ทางพ่อแม่เด็กได้ขอศพไว้เพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณี
เรื่องราวของลูกคุณเพ็ญนภาเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะหากทารกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ก่อนคลอด ก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย และอาจกลายเป็นความผิดของสูติแพทย์ที่ให้การดูแลรักษา โดยทิ้งเงื่อนงำของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดของเด็กไว้เป็นความลับต่อไป
ดังนั้น ทางหนึ่งที่ฝ่ายแพทย์จะต้องพิสูจน์เพื่อหาความจริงของสาเหตุการตายของคนไข้ที่ผิดปกติ คือ การชันสูตรพลิกศพ ทุกวันนี้ การชันสูตรพลิกศพ ยังทำกันน้อย เนื่องจากไม่ค่อยมีคดีฟ้องร้องแพทย์ที่ดูแลรักษา แต่แน่นอน ต่อไปข้างหน้า คงมีการทำกันมากขึ้น ข้าพเจ้าอยากฝากความคิดเห็นไว้ว่า ไม่มีหมอคนไหนในโลก อยากให้คนไข้ที่ดูแล เสียชีวิต โดยเหตุอันไม่สมควร
ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจอย่างมากกับการจากไปของลูกคุณเพ็ญนภา แน่นอน! ย่อมไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับความเสียใจของคุณเพ็ญนภาและสามี ซึ่ง…ในตอนแรก คล้ายๆกับว่า จะมีความหวังเกี่ยวกับชีวิตของเด็กน้อย เพราะคุณแม่ได้รับการผ่าตัดคลอดทันท่วงทีกับสภาวะวิกฤตของตัวเด็ก แต่…ในที่สุด ความหวังทั้งหมดก็ต้องหลุดลอยไป เหลือไว้เพียงความหดหู่และเหงาเศร้าของผู้เป็นบุพการี ………
.
อาจเป็นด้วยว่า เรื่องราวในชีวิต เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ถึง
สิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมมีการพลัดพราก เป็นธรรมดา
บทกวีที่ไพเราะเลิศหรู่ ดูจะไม่เหมาะกับสิ่งพื้นๆ
จริงๆแล้ว หากเรารักในสิ่งใด ต่อให้มันไร้ค่า
แต่สำหรับเรา…. มันย่อมมีค่ายิ่งกว่าบทกวีเอกของโลก..
ลูก..เป็นทั้งสิ่งล้ำค่า และเป็นที่มาแห่งบทกวีอมตะ
ทำไม พ่อแม่บางคน ถึงชอบทอดทิ้งลูกน้อยให้อยู่เพียงลำพัง…
โดยไม่ให้การศึกษา อบรม เอาใจใส่ วันหนึ่ง….เมื่อเขาจากไป….
ความเศร้าโศกเสียใจ ก็ไม่อาจนำพาพวกเขาให้กลับคืนมาได้……
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@