คลอดยาก
ตอน ทารกอยู่ในท่าขวาง
เคยมีสามีคนไข้รายหนึ่งพูดกับข้าพเจ้าว่า “ การคลอดโดยวิธีธรรมชาตินั้น มีมานานเป็นแสนๆปี ทำไม คนท้องจำนวนมากมายจึงไม่เลือกคลอดแบบวิธีธรรมชาติ ซึ่งน่าจะปลอดภัยและเหมาะสมกับคนมากที่สุด ” ข้าพเจ้าหยุดคิดนิดหนึ่ง แล้วตอบกลับไปว่า “ จริงๆ ก็เป็นเช่นที่คุณพูดนั่นแหละ แต่ไม่ใช่ทุกกรณี การที่คนเราจำเป็นต้องคลอดโดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่วิธีธรรมชาตินั้น เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องช่วงที่กำลังจะคลอด เช่น ทารกอยู่ในท่าขวาง เป็นต้น ”
การคลอดทารกท่าขวางเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ตามวิธีธรรมชาติ นอกจากทำไม่ได้แล้ว หากชักช้า ทารกในครรภ์อาจตายได้จากการที่สายสะดือถูกกดทับ
เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา มีคนไข้รายหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าได้ทำการผ่าตัดคลอดให้ เรื่องราวของเธอน่าตกใจไม่ใช่น้อย คนไข้สตรีรายนี้ ชื่อ คุณสุรินทรา อายุ 25 ปี ตั้งครรภ์แรก เธอเป็นคนภาคใต้ อาศัยอยู่แถวจังหวัดสุราษฎร์ธานี พี่สาวของคุณสุรินทราเป็นเพื่อนสนิทของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงให้การเอาใจใส่เป็นพิเศษ
คุณสุรินทรามาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่ออายุครรภ์ค่อนข้างมาก คือ 7 เดือนหรือ 28 สัปดาห์ เดิมเคยฝากครรภ์ที่ต่างจังหวัดระยะหนึ่ง และเพิ่งย้ายตามสามีเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้ตรวจร่างกายและตรวจอัลตราซาวนด์ พบว่า ความสูงของมดลูกเท่ากับ 30 เซนติเมตรเมื่อวัดจากหัวเหน่า ทารกมีขนาดพอๆกับอายุครรภ์จาการวัดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่างใบหูของทารกทั้งสองข้าง ลูกสุรินทราเป็นเพศชาย แข็งแรงดี ส่วนรกเกาะอยู่ทางด้านบนของมดลูก น้ำคร่ำมีปริมาณและลักษณะทั่วไปปกติดี
จากนั้น ข้าพเจ้าได้นัดคุณสุรินทรามาตรวจครรภ์ทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งไม่พบว่า มีปัญหาอะไร น้ำหนักตัวคุณสุรินทราเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ ตอนอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ เธอมีมดลูกแข็งตัวบ้าง เป็นบางครั้ง หลังจากได้รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ ปัญหาดังกล่าวก็หมดไป
ขณะที่อายุครรภ์ได้ประมาณ 38 สัปดาห์ วันหนึ่งเวลาตอน 5 ทุ่มเศษ คุณสุรินทรามีน้ำเดินออกมาทางช่องคลอด จึงเดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจ และถึงที่นั่นประมาณ 12 นาฬิกา พี่สาวของเธอได้ติดต่อมาหาข้าพเจ้าที่บ้านในระหว่างเดินทาง ข้าพเจ้าจึงขับรถติดตามไป
ระหว่างที่ข้าพเจ้าเดินทางมาที่โรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์เข้าไปสอบถามพยาบาลห้องคลอดว่า “ คุณสุรินทราเป็นอย่างไรบ้าง ”
พยาบาลห้องคลอดตอบว่า “ หมอ…..เด็กไม่ใช่ท่าหัวนะ น้ำคร่ำที่ออกมาก็มีสีเขียวข้นด้วย ( Meconium ) ” การที่น้ำคร่ำมีสีเขียวปน แสดงว่า เด็กถ่ายขี้เทาออกมา เนื่องจากขาดออกซิเจน อันมีผลให้หูรูดของก้นคลายตัว อุจจาระเด็กจึงไหลออกมาและปะปนในน้ำคร่ำ หากน้ำคร่ำมีสีเขียวข้นมาก ย่อมหมายถึงว่า ทารกขาดออกซิเจนมานานและอยู่ภาวะอันตรายอย่างยิ่ง
“ อย่างนั้น ก็ช่วยติดต่อทางห้องผ่าตัดว่า ผมจะเข้าไปทำผ่าตัดคลอดเดี๋ยวนี้เลยนะ อีกประมาณ 10 – 15 นาที ผมคงเดินทางไปถึง ” ข้าพเจ้าสั่งการพร้อมกับขอให้ทางฝ่ายพยาบาลห้องคลอดส่งคนไข้ไปที่ห้องผ่าตัดทันที
ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าลงมีดและผ่าตัดผ่านชั้นต่างๆของผนังหน้าท้องคุณสุรินทราอย่างรวดเร็ว เนื่องจากว่า เป็นกรณีที่ทารกอยู่ในภาวะอันตราย การที่เด็กไม่อยู่ในท่าหัว ย่อมทำให้หัวเด็กไม่ลงมาสู่อุ้งเชิงกราน และส่วนนำไม่ปิดทางออกของน้ำคร่ำ ซึ่งจะทำให้น้ำคร่ำไหลออกจากโพรงมดลูกตลอดเวลา ไม่นานนัก น้ำคร่ำก็จะหมด อันมีผลให้สายสะดือถูกกดทับและเด็กเสียชีวิตทันที
เมื่อผ่าตัดเปิดมดลูกส่วนล่างเข้าไป ปรากฏว่า ลูกคุณสุรินทรานอนขดตัวอยู่ในท่าขวาง โดยมีส่วนนำเป็นแผ่นหลัง หรือกล่าวง่ายๆ คือ ส่วนหลังของเด็กอยู่ใกล้บริเวณปากมดลูกและช่องคลอดมากที่สุด ( Dorso – Inferior ) นั่นเอง กรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากในการใช้มือล้วงเข้าไปจับขาเด็ก ซึ่งเป็นเทคนิคในการทำคลอดทารก เนื่องจากส่วนของเด็กจะขวางมือของสูติแพทย์
ยามผ่าตัดทำคลอดปกติ เวลาลงมีดบนตัวมดลูกนั้น สูติแพทย์ทุกคนจะลงมีดบริเวณมดลูกส่วนล่างในลักษณะเป็นแนวขวาง ( Horizontal ) ส่วนกรณีที่ตรวจพบทารกอยู่ในท่าขวางและทราบล่วงหน้าว่า ทารกเอาแผ่นหลังเป็นส่วนนำ ( Dorso – Inferior) การลงมีดบนตัวมดลูกอาจเปลี่ยนเป็นแนวตรง ( Low vertical ) เพื่อสะดวกในการล้วงมือเข้าไปจับขาเด็กและทำคลอดแบบท่าก้น
“ แย่แล้ว……ผมจับขาเด็กไม่ได้ ” ข้าพเจ้าอุทานอย่างไม่รู้ตัว ข้าพเจ้าพยายามล้วงมือเข้าไปในโพรงมดลูกและควานหาขาลูกคุณสุรินทรา 2 ครั้ง 2 ครา เมื่อทำไม่สำเร็จ ก็ต้องเปลี่ยนวิธี
“ ส่งกรรไกรให้หน่อย ผมจะเปิดแผลตรงกลางเป็นรูป inverted T ” ข้าพเจ้าพูดสั่งการกับพยาบาลผู้ช่วย หลังจากนั้น จึงผ่าตัดเปิดแผลในลักษณะ ตัว T หัวกลับ คือ ใช้กรรไกรตัดบริเวณกลางรอยแผลผ่าตัดด้านบนของมดลูกเมื่อลงมีดตอนแรก พอเปิดขยายแผลเป็นแนวยาวตรงเป็นมุมฉากขึ้นไปได้ระดับหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ใช้มือขวาล้วงเข้าไปในโพรงมดลูกจับขาลูกคุณสุรินทา พอจับขาได้ข้างหนึ่ง ข้าพเจ้าค่อยๆดึงออกมาอย่างช้าๆจนเห็นตะโพกและต้นขาอีกข้างหนึ่ง จึงทำคลอดขาข้างที่สอง หลังจากนั้น การทำคลอดลำตัวและส่วนหัวของเด็ก ก็เป็นไปอย่างง่ายดาย สิ่งสำคัญที่ข้าพเจ้าต้องเตือนใจตัวเองอยู่เสมอ คือ ใจเย็นๆ ค่อยๆดึงขาข้างที่จับได้ก่อนและทำคลอดส่วนขาข้างนั้นอย่างช้าๆ มิฉะนั้น ขาเด็กจะหัก ถ้าเป็นไปได้ ข้าพเจ้าจะล้วงมือเข้าไปควานหาจับขาเด็กไว้ทั้งสองข้างตั้งแต่อยู่ในโพรงมดลูก แล้วค่อยๆดึงออกมา การทำคลอดส่วนที่เหลือจะง่ายกว่าวิธีจับขาข้างเดียวเสียอีก
ลูกคุณสุรินทราคลอดออกมาเมื่อเวลา 00:39 นาฬิกา เป็นทารกเพศชาย แข็งแรงดี มีน้ำหนัก 2800 กรัม และคะแนนความสามารถแรกคลอด 7 , 8 , 10 คุณสุรินทรานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 4 วันก็กลับบ้านพร้อมบุตร โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ
ข้าพเจ้ามีโอกาสทำคลอดท่ารกท่าขวางหลายครั้ง ทำให้มีประสบการณ์มาก แต่แม้มีประสบการณ์ ข้าพเจ้าก็หวั่นใจทุกครั้งที่ผ่าตัดทำคลอดท่ารกท่าขวาง เพราะเด็กแรกคลอด ตัวบอบบาง การจับการดึงส่วนแขนขาต้องกระทำด้วยความระมัดมะวังอย่างมาก ดังที่เคยมีข่าว ปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “ ต้นขา ( Femur ) ของทารกหัก จากการทำคลอดท่าก้น” ซึ่งการรักษาต้องใช้เวลานานพอสมควร
สำหรับกรณีของลูกคุณสุรินทรา พอผ่าตัดเปิดมดลูกส่วนล่าง แขนลูกคุณสุรินทราก็โผล่ออกมาก่อน ข้าพเจ้าค่อยๆจับแขนเด็กงอตามแบบธรรมชาติ ยัดใส่กลับเข้าไป พอล้วงมือเข้าไปในโพรงมดลูกและควานหาขาเด็ก ก็ไปจับเอาแขนเด็กอีกข้างหนึ่งออกมา ข้าพเจ้าค่อยๆจับยัดเข้าไปใหม่ จากนั้นจึงตัดสินใจเปิดขยายแผลผ่าตัดเป็นรูปตัว T หัวกลับ ซึ่งจำเป็นต้องเปิดแผลให้กว้างพอสมควร ข้าพเจ้าถึงล้วงมือเข้าไปจับขาของลูกคุณสุรินทราและทำคลอดได้ในที่สุด นั่นคือความยากลำบากของการทำคลอดทารกท่าขวาง
หลังคลอด ข้าพเจ้าได้เข้าไปอธิบายถึงการคลอดให้คุณสุรินทราและสามี รวมทั้งพี่สาวของเธอด้วย โดยพูดถึงความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น สำหรับแผลผ่าตัดรูปตัว “ T กลับหัว ” บนตัวมดลูก ข้าพเจ้าได้ตรวจดูภายหลังทำคลอดรกและมดลูกหดตัวแล้ว คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา หากตั้งครรภ์ที่สอง อย่างไรก็ตาม คุณสุรินทราควรเว้นระยะการมีลูกออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้มดลูกกลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณพร้อมอีกครั้ง
อนึ่ง เรื่องร้ายๆมักจะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว กรณีทารกท่าขวางที่เกิดกับคุณสุรินทราซึ่งเป็นน้องสาวของเพื่อนสนิท นับเป็นตัวอย่างที่ดี หากข้าพเจ้าเดินทางไปถึงโรงพยาบาลช้ากว่านี้สัก ชั่วโมง ลูกคุณสุรินทราอาจอยู่ในสภาพที่แย่มากหรือเสียชีวิต เพราะน้ำคร่ำไหลออกจากโพรงมดลูกเกือบหมดแล้ว ข้าพเจ้าจึงเป็นคนที่โชคดีคนหนึ่ง ประกอบกับได้สั่งสมประการณ์มานานหลายปี จึงทำให้สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แม้จะตื่นเต้นระทึกใจอย่างมากก็ตาม ใครที่มีจินตนาการดี คงนึกวาดภาพได้ว่า การจับ การดึงรั้ง การล้วงมือเข้าไปคลำหาขาของทารกน้อยที่ลำตัวพับซ่อนอยู่ในที่แคบๆ ย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างมากมาย ตอนนั้นลูกคุณสุรินทราแสดงอาการขาดออกซิเจนด้วยการถ่ายขี้เทาออกมาจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คงเป็นด้วยข้าพเจ้าเคยทำบุญมามาก ทุกสิ่งทุกอย่างจึงลงเอยด้วยดี ถึงบัดนี้ ข้าพเจ้ายังขนลุกซู่อยู่เลยเมื่อนึกถึงการทำคลอดครั้งนี้
การเผชิญหน้ากับทารกท่าขวางในครรภ์ ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือพบโดยบังเอิญ สูติแพทย์มีโอกาสพบทารกท่าขวางได้บ่อยๆเวลาทำคลอดทารกตัวที่ 2 ของครรภ์แฝด ไม่ว่า การคลอดนั้นจะเป็นการคลอดโดยวิธีธรรมชาติหรือผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง ดังนั้น จึงต้องเตรียมพร้อมเสมอเมื่อเจอครรภ์แฝด สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ทันทีที่คลอดทารกตัวแรกออกไป ข้าพเจ้าจะคลำหาและจับขาข้างใดข้างหนึ่งของทารกตัวที่ 2 บนถุงน้ำคร่ำในขณะที่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก จากนั้น ถึงจะเจาะถุงน้ำคร่ำและทำคลอดทารกตัวที่ 2 ออกมาอย่างไม่ยากเย็นนัก
เรื่องราวของทารกท่าขวางเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจและไม่ประมาท สูติแพทย์อาจพลาดในการวินิจฉัยเบื้องต้น แต่นั่น…ยังไม่สำคัญเท่ากระบวนการผ่าตัดและทำคลอด ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความนุ่มนวลในการจับดึงขาทารกน้อย
ความจำเป็นในการช่วยเหลือดูแลผู้คน เช่น หมอ , นักผจญเพลิง/อุทกภัย ล้วนแล้วแต่จะต้องอาศัยเมตตาจิต มิตรไมตรี โชคและประสบการณ์ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าโชคดี ผลลัพธ์ก็เป็นที่ชื่นชม แต่ถ้าโชคร้าย ผู้ที่เราช่วยเหลือ เกิดทุพลภาพปางตายหรือเสียชีวิต นั่นก็อาจเปลี่ยนผู้ใจบุญเป็นปีศาจร้าย ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว….ไม่มีใครอยากให้เป็นไปในทางที่ไม่ดี
บางที เราน่าจะขอบคุณท้องฟ้า หรือพระเจ้า ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยจนถึงทุกวันนี้ การกระทำความดีต่อเพื่อนมนุษย์บ้าง ก็น่าจะดี และไม่ควรถือเป็นบุญคุณด้วย เพราะบ่อยครั้งที่มีคนช่วยเหลือเรา พอเราหันกลับไปเพื่อจะขอบคุณ เขาก็ไม่อยู่……เสียแล้ว
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&