คนท้องกับห้องน้ำ

             เดือนที่ผ่านมา ตอนประมาณ 3 นาฬิกาเศษ แม่ยายของข้าพเจ้า(อายุ 85 ปี)ล้มลงในห้องน้ำชั้นบน ซึ่งอยู่นอกห้องนอนของเธอ เธอต้องนั่งบนพื้นริมประตูห้องน้ำอยู่นาน ในท่ากางขาเหยียดยาวทั้งสองข้าง พยายามที่จะเรียกภรรยาข้าพเจ้าที่อยู่ห้องถัดไปให้ลุกตื่น แต่น้ำเสียงของเธอเบามากจนยากที่จะได้ยิน โชคดี ที่วันนั้น ข้าพเจ้าลุกขึ้นมาตอนดึกแล้วนอนไม่หลับ จึงลงไปดูโทรทัศน์ที่ชั้นล่าง พอเวลาประมาณ 3 นาฬิกาเศษ ข้าพเจ้าเริ่มง่วงนอน เมื่อเดินขึ้นบันไดเพื่อกลับไปยังห้องนอน ยังไม่ทันถึงชั้นบน ข้าพเจ้าก็เห็นร่างของแม่ยายกองอยู่กับพื้น เธอร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด ข้าพเจ้าทราบทันทีเลยว่า ‘เธอต้องมีกระดูกต้นขาหัก’ ซึ่งต่อมาก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเช่นนั้นจริง แม่ยายมีกระดูกต้นขาซ้ายหัก 3 ท่อนบริเวณใกล้หัวเข่า ปัจจุบัน เธอได้รับการผ่าตัดเอาเหล็กดามไว้เรียบร้อยแล้ว และนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

            เรื่องนี้ทำให้ ข้าพเจ้าคิดถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีท้องโย้อุ้ยอ้าย ซึ่งมีส่วนคล้ายกับคนแก่ ในแง่การถ่วงดุลย์ของร่างกาย คนท้องมีโอกาสหกล้มได้ง่ายในห้องน้ำ เพราะมักจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำบ่อย เนื่องจากช่วง 3 เดือนแรก และ 3 เดือนสุดท้าย กระเพาะปัสสาวะจะถูกดันจากมดลูกที่โตขึ้น และส่วนหัวของทารกที่มุดลงไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน นอกจากนั้น ในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ไม่ว่า จะคลอดด้วยวิธีการใด คนไข้ก็จะอยู่ในสภาพที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เวลาไปเข้าห้องน้ำ ก็อาจเป็นลมล้มลงได้

          เมื่อช่วงที่ข้าพเจ้าเพิ่งเข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลตำรวจใหม่ๆ ก็มีคดีฟ้องร้องโรงพยาบาลอยู่คดีหนึ่ง เป็นคดีที่คนไข้หลังคลอดรายหนึ่งล้มลงในห้องน้ำช่วงยามดึก ศีรษะฟาดถูกโถส้วม นอนสลบอยู่บนพื้น พอพยาบาลหอผู้ป่วยมาพบเข้า คนไข้ก็อยู่ในสภาพที่แย่มากแล้ว ไม่นานนัก คนไข้รายนั้นก็เสียชีวิต นี่คือ เรื่องราวอุบัติเหตุการล้มลงของคนไข้หลังคลอดที่ข้าพเจ้าไม่อาจลืมได้

            การหกล้มของคนท้องในห้องน้ำ ทั้งในช่วงระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ พื้นห้องน้ำอาจจะลื่นเพราะลักษณะของพื้นห้องน้ำเอง หรือเปียกน้ำชนิดต่างๆ เช่น น้ำสบู่ ยาสีฟัน สบู่เหลว ผงซักฟอก รวมทั้งปัสสาวะของคนท้องที่เล็ดออกมา ดังนั้น คนท้องจึงไม่ควรประมาทเรื่องการเข้าห้องน้ำและควรหาทางป้องกันไว้ด้วย

            เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คุณชาริณี ซึ่งป่วยเป็นโรค เอส.แอล.อี. ในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดไปแล้วเมื่อ 2 -3 เดือนก่อน ได้มาเข้ารับการตรวจรักษาต่อเนื่องจากอายุรแพทย์ เธอขับรถมาคนเดียว และเป็นลมล้มลงที่ห้องน้ำของโรงพยาบาล ศีรษะส่วนหน้าผากฟาดกับพื้น ทำให้บวมนูนออกมาอย่างมาก ผู้พบเห็นได้นำเธอส่งที่แผนกอายุรกรรม เธอได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจทันที ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากญาติเธอ ให้ช่วยไปดูคุณชาริณีหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่นาน ภาพของคุณชาริณีที่เห็น คือ เธอถูกมัดมือเท้าและคาบท่อช่วยหายใจ อยู่บนเตียง คุณชาริณีนอนดิ้นไปมาอยู่บนเตียงอย่างทุรนทุรายคล้ายกับปลาช่อนที่ถูกทุบหัว นอกจากนั้น เธอยังไม่แสดงอาการตอบรับใดๆเวลามีใครเรียก หรือสัมผัส คุณพ่อคุณแม่ของคุณชาริณีถามข้าพเจ้าด้วยความเป็นห่วงว่า “ชาริณีเป็นอะไรมากไหม? หมอคิดว่า ชาริณีเป็นอะไร?” ข้าพเจ้าไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่ใจคิดว่า ‘คุณชาริณีน่าจะมีเลือดออกในสมอง และคงต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน ’

ข้าพเจ้ารีบเดินเข้าไปถามนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดที่อยู่แถวนั้นว่า “ ตอนนี้ ได้ทำอะไรลงไปแล้วบ้าง” นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดตอบว่า “อาจารย์ให้ส่งCT scan ” ข้าพเจ้ารออยู่เป็นนาน ก็ต้องกลับไปที่แผนกสูตินรีเวช เนื่องจากมีคนไข้มาตรวจ เวลาผ่านไปนานพอสมควร ญาติที่มาเยี่ยม ก็โทรศัพท์มาขอร้องข้าพเจ้าว่า “ยังไม่มีใครมารับคนไข้ไปทำ CT scan เลย ” ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์ไปเร่งเจ้าหน้าที่ห้องตรวจคอมพิวเตอร์ทางสมอง ให้รีบมารับผู้ป่วย เพราะมิฉะนั้น พยาธิสภาพที่สมองอาจเลวร้ายลงจนยากที่จะแก้ไข หลังจากนั้น ไม่นาน คุณชาริณีก็ได้รับการตรวจ CT scan ซึ่งผลการตรวจ ปรากฏว่า “ไม่มีเลือดออกในสมอง แต่อาจจะมีเส้นเลือดอุดตันในสมอง” อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย คุณชาริณีได้ถูกส่งไปรับการดูแลรักษาที่ ห้อง ไอ.ซี.ยู. แผนกศัลยกรรม

             ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์ไปถามที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.เด็ก เรื่องลูกของคุณชาริณี ปรากฏว่า “ตอนนี้ อายุได้เกือบ 3 เดือนแล้ว น้ำหนักยังไม่ถึง 1 กิโลเลย ช่วงนี้ เด็กไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่คงยังต้องสังเกตอาการต่อไป” พยาบาลห้อง ไอ.ซี.ยู.เด็กบรรยายสภาพอาการของบุตรคุณชาริณี

            คงจำได้ว่า ตอนที่คลอดใหม่ๆ ลูกคุณชาริณีหนักเพียง 684 กรัมเท่านั้น ช่วงแรกน้ำหนักลดลงเรื่อยๆ จนถึง 580 กรัม จากนั้น ก็ค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ตอนคุณชาริณีล้มลงหัวฟาดพื้นในครั้งนี้ ลูกของเธอก็มีปัญหาไม่สบายไปด้วยพร้อมๆกัน นี่แหละ!!!!! ที่มีคนบอกว่า “คนในครอบครัวเดียวกัน มักมีกรรมในอดีตชาติคล้ายกัน คนบางคนไปทำกรรมขึ้นมาใหม่ เช่น คดโกงชาวบ้านหรือฆ่าคนตาย ลูกของตนก็มีอันต้องเสียชีวิตหรือประสบสิ่งเลวร้ายด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากลูกมักมีบุญค้ำจุนน้อยกว่า ต่อเมื่อใดที่ตัวเองหมดบุญ ก็ต้องรับผลกรรมที่ตนก่อไว้เช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

            หลังจาก นอนรักษาตัวที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. 2 วัน คุณชาริณีก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ จนสามารถเอาท่อช่วยหายใจและสายสวนปัสสาวะออกได้ ที่น่าแปลก คือ คุณชาริณีพูดเก่ง และขี้เล่นมากขึ้น จากเดิมที่เธอเป็นคนเงียบขรึมและไม่ค่อยสุงสิงกับใคร…………คาดว่า อีกไม่นาน คงได้รับอนุญาติให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ส่วนลูกคุณชาริณีก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับเช่นกัน

อุบัติเหตุที่คนท้องส่วนใหญ่ล้มลงในห้องน้ำมักไม่ค่อยรุนแรง แต่..อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอุบัติเหตุหากมีส่วนท้องถูกกระแทก ซึ่ง..ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดและเจ็บครรภ์ร่วมด้วย ถือว่า เป็นการบาดเจ็บของตัวมดลูกที่รุนแรง ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของการล้มลงของคนท้องจนหน้าท้องถูกกระแทก คือ การแข็งตัวของมดลูก (Premature uterine contraction) และ การหลุดลอกตัวของรก (Abruptio placenta) ซึ่ง…ในกรณีที่ทารกในครรภ์ที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากหลุดลอกตัวของรกนี่เอง

การป้องกันภัยจากการล้มลงในห้องน้ำของคนท้อง ทำได้ง่ายๆดังนี้

1. ทำพื้นห้องน้ำให้แห้งอยู่เสมอ หรือจัดหาแผ่นกันลื่นมาปูลาดพื้นบริเวณที่ใช้บ่อย

2. ติดตั้งแกนเหล็กที่จับติดกับฝาผนังห้องน้ำตามความเหมาะสม เช่น ใกล้โถส้วม บริเวณอ่างอาบน้ำ แม้กระทั่งฝาผนังด้านที่โล่ง

3. พื้นห้องน้ำส่วนที่ต้องลงเท้าตอนก้าวย่างออกจากอ่างอาบน้ำ ควรมีแผ่นผ้าคอยซับน้ำวางไว้

4. มีรองเท้ากันลื่นวางไว้หน้าห้องน้ำ เพื่อเอาไว้สวมตอนเข้าห้องน้ำ

5. ติดตั้งเครื่องกดส่งสัญญาณอันตรายในห้องน้ำ หรือ Intercom

6. ลูกบิดประตูควรมีตัวlockแบบที่สามารถเปิดเข้าไปจากทางด้านนอกได้ง่าย

            คนท้องกับห้องน้ำเป็นของคู่กัน แม้จะไม่ค่อยมีข่าวคราวบ่อยๆเกี่ยวกับเรื่องราวการแท้งบุตรจากการล้มลงในห้องน้ำ แต่ก็ไม่ควรวางใจกับการใช้ห้องน้ำของคนท้อง การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาแก้ไข คนท้องไม่ควรตกเป็นเหยื่อของความประมาท โดยเฉพาะจากความผิดพลาดของการลื่นหกล้มในห้องน้ำ หากคนท้องบางคนต้องขาหักหรือเลือดคั่งในสมองด้วยเรื่องทำนองนี้ คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจไม่น้อย

            ข้าพเจ้าชื่นชมกับการตั้งครรภ์ของคนท้องทุกคน เพราะเป็นวิธีการที่ดีในการถือกำเนิดของมนุษย์ อันเป็นอัตภาพดีที่สุดในการบำเพ็ญกุศลกรรม จนอาจบรรลุถึงขั้นนิพพานได้ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคงยังกังวลใจอยู่ ตราบใดที่คนท้องต้องเข้าออกห้องน้ำวันละหลายๆครั้ง หากเป็นไปได้ ข้าพเจ้าอยากให้ทารกทุกคนนอนในครรภ์อย่างสุขสบาย ไม่ใช่อยู่ในกายของคนท้องที่พิการขาหัก

                                        &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *