ชีวิตนี้ มีความหมาย (2)

อีก 2 วัน จะเป็นวันขึ้นปีใหม่(“ตรุษจีน”)ของชาวจีน คนจีนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและพากันตื่นเต้นกับวันตรุษจีนนี้มิใช่น้อย หลายคนอยากได้ของขวัญที่เรียกว่า “อั่งเปา” หรือ “เงินขวัญถุง” ซึ่งในปีหนึ่งๆ มีประเพณีแจก “อั่งเปา” ก็เพียงวันปีใหม่จีนนี้ วันเดียว บางคนรอให้ถึงวันตรุษจีน เพียงเพื่อต้องการพบหน้าพ่อแม่พี่น้องที่ห่างหายกันไปนานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้สึกว่า วันตรุษจีนมีความหมาย เขาเหล่านั้น คือ ชาวจีนไต้หวันที่ติดคุกอยู่เมืองไทยที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมในวันนี้นั่นเอง
วันนี้ข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าไปในคุกอีกครั้ง หลังจากเคยสัมผัสมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน กงสุลไต้หวัน ได้ทำหนังสือเรียนเชิญทีมงานแพทย์เดิม คือ ข้าพเจ้าและเจ้าหน้าที่พยาบาล “คุณณัฐชนก รุ่งกิจจิตรไพศาล” ให้ไปตรวจนักโทษไต้หวันที่คุกทั้ง 4 แห่งในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจสำหรับเขาเหล่านั้น ข้าพเจ้าและคุณณัฐชนกต่างยินดีให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะข้าพเจ้า ถือว่า เป็นโอกาสอันหาได้ยากที่จะได้ ทบทวนเรื่องราวต่างๆภายในดินแดนอาถรรพ์นี้ และเก็บตกเรื่องราวอื่นๆที่เคยมองข้าม เพื่อนำไปบอกเล่าเป็นเครื่องเตือนใจผู้ไม่รู้ ให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท อย่าให้หลงก้าวพลาดไปในทางผิด ไม่ว่าจะทิศทางใด
8 นาฬิกาของเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 คุณชาญ เจ้าหน้าที่กงสุลไต้หวันที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนักโทษ กำลังเดินไปมาบริเวณด้านหน้าตึกอาคารสูติ-นรีเวชกรรม รพ.ตำรวจ ข้าพเจ้าซึ่งเพิ่งเดินกลับจากการรับประทานอาหารเช้า ได้เข้าไปกล่าวทักทายและขอตัวไปทำธุระ ภายในสำนักงานฯ พอกลับออกมาพร้อมกับสูทในชุดสีขาวของแพทย์ ก็พบคุณณัฐชนกเดินมาถึงพอดี
คณะของพวกเรา เดินทางโดยรถตู้มาถึงคุกบางขวางเป็นสถานที่แรกเมื่อเวลาประมาณ 9 นาฬิกา แม้ค่อนข้างจะเช้า แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำได้นำนักโทษไต้หวันจากแดนต่างๆ จำนวน 18 นายมารออยู่ก่อนแล้ว
ดังที่ทราบ เรือนจำบางขวาง เป็นสถานที่จำคุกนักโทษอุกฉกรรจ์ ที่มีโทษจองจำไม่ต่ำกว่า 30 ปี ใครที่เผลอ พลัดหลงเข้าไปติด จะมีโอกาสรอดชีวิตออกมาน้อยมาก นอกจากมีอายุยืนยาวนับร้อยปี สาเหตุประการหนึ่ง ก็คือ อาจติดเชื้อโรคร้าย จำพวก วัณโรค เอดส์ จากนักโทษด้วยกันเอง ซึ่งบั่นทอนวันเวลาให้สั้นลง นักโทษไต้หวันที่มารับการตรวจทุกคน อยู่ในสภาพเป็นอิสระไร้โซ่ตรวน ความจริงน่าจะดีใจที่มีคนมาเยี่ยม แต่กลับมีท่าทางเฉยเมย เขาคงชาชินกับชีวิตที่ไร้อิสระเช่นนี้มานาน ผู้คุมบอกให้ทำอะไร ก็ทำตามแบบแกนๆ
นักโทษทุกคนมีคดีติดตัวเหมือนกัน คือ ค้าเฮโรอินตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งโทษส่วนใหญ่คือ จำคุกตลอดชีวิต นี่คือ กฎแห่งกรรม ใครจะปฏิเสธว่า ไม่จริงบ้าง มีนักโทษไต้หวันบางคนบ่นในระหว่างตรวจรับการรักษาว่า “น่าจะยิงเป้าให้ตายพ้นๆ อยู่อย่างนี้ น่าเบื่อจริงๆ จนบางทีรู้สึกว่า ชีวิตมีค่าน้อยกว่าแมลงตัวหนึ่ง”
“อ้าว เวลามีพระราชทานอภัยโทษ พวกคุณไม่ได้รับโอกาสกับเขาบ้างหรือ?” คุณณัฐชนกซัก
“คดีผงขาว ไม่มีการเสนอเพื่อขอพระราชทานลดหย่อนผ่อนโทษ” นักโทษรายหนึ่งที่อยู่ข้างๆตอบ
“ทำไมหรือ” ข้าพเจ้าถาม เจ้าหน้าที่เรือนจำซึ่งนำพวกเรามา ได้ให้คำอธิบายว่า “เวลาพิจารณาลดหย่อนโทษคดีค้าเฮโรอีน ต้องมีการพิจารณาหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจ ศาล ข้าราชการ การเมือง ที่สำคัญคือ ฝ่าย ป.ป.ส. (หน่วยงานปราบปรามยาเสพติด) หลายฝ่ายเห็นว่า นักโทษเหล่านี้ไม่ควรได้รับการให้อภัย เพราะกว่าจะนำตัวมาได้ ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการจับกุม เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีผู้อิทธิพลหนุนหลัง หากออกไปได้ กลัวจะก่อความยุ่งยากไม่รู้จบ”
เมื่อได้รับคำอธิบายดังนี้ ข้าพเจ้าและคณะต่างพอใจ แม้จะเห็นว่า นักโทษทุกคนคงไม่มีพิษสงแล้วก็ตาม
สถานพยาบาลที่ตรวจ ยังคงเป็นสถานที่แห่งเดิม ต่างกันกับครั้งก่อนคือ มีหมอคนใหม่มาประจำ ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำให้รู้จักหมอใหม่คนนี้ ทำให้รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้ารีบชักชวนคุณหมอท่านนี้เข้าไปในห้องส่วนตัวเพื่อสอบถามถึงความเป็นมาและทัศนคติหลังจากอยู่ที่นี่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
คุณหมอท่านนี้มีชื่อว่า “มาณพ” อายุ 25 ปี คุณหมอได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า “เรียนจบแพทย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ด้วยใจที่อยากจะอยู่กรุงเทพฯ จึงสมัครเข้ามาที่นี่ แน่นอน ผมได้รับเลือกในทันที แต่หากมีโอกาสเข้ามาเห็นสภาพข้างในอย่างนี้แม้สักครั้งเดียว ผมคงไม่เลือกมาอยู่”
ข้าพเจ้าถามขัดจังหวะขึ้นว่า “เพราะเหตุใด ในเมื่อ สถานที่ภายในนี้ค่อนข้างสบาย งานก็น้อย”
หมอมาณพตอบว่า “งานจำเจ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ และไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม นับวันความรู้ที่มี จะค่อยๆหดหาย หากไม่ออกไปเรียนต่อ มีหวังกลายเป็น หมอตี๋ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมได้สมัครไปศึกษาต่อ 2 ครั้งและได้รับอนุมัติด้วย ครั้งแรก สมัครไปเรียนเป็นแพทย์ หู คอ จมูก แต่คิดว่าจบมา คงมีคนไข้รักษาน้อย จึงบอกยกเลิกไป ครั้งที่สอง สมัครไปเรียน ระบาดวิทยา ที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้รับคัดเลือกเช่นกัน ซึ่งผมกำลังจะไปเรียนในอีก 2 เดือนข้างหน้า พี่คิดว่า เป็นยังไง”
ข้าพเจ้าตอบว่า “เห็นด้วยอย่างยิ่ง อยู่ในสถานที่แบบนี้ ไม่มีอะไรเหมาะเท่าเรียนระบาดวิทยา เพราะระบาดวิทยา มุ่งเน้นศึกษาเรื่องกระบวนการวิจัยอย่างมีระบบแบบแผนเป็นขั้นเป็นตอน นักโทษเหล่านี้ ยังไง ก็ไม่หนีหายไปจากการติดตามผล ไม่ว่าระยะเวลาศึกษา จะนานเท่าใด”
หมอมาณพ เล่าว่า “พี่ๆที่กระทรวงสาธารณสุข อยากจะเข้ามาทำการวิจัยในคุกตั้งนานแล้ว แต่ไม่มีโอกาส พอผมไปสมัคร ทุกคนจึงดีใจที่มีตัวเชื่อมและรีบเขียนโครงการวิจัยต้นแบบไว้ 4-5 โครงการ พอผมเข้าไปเรียน ก็จะขอติดตามร่วมกับผมกลับมาดำเนินการวิจัยที่นี่ได้ในทันที”
ข้าพเจ้ากล่าวสนับสนุนว่า “โครงการวิจัยหนึ่งที่ผมเห็นว่า น่าทำ คือ งานวิจัยเรื่องเอดส์ในนักโทษ นักโทษเอดส์ในคุกมีมากมายหลายร้อยหลายพันราย ทุกคนเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วเพราะขาดยาและเวชภัณฑ์รักษา หากมีการศึกษาวิจัย ก็ย่อมมียาใหม่ๆมาให้กับพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งทุกคนคงยินดีและขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง บางทีวัคซีนหรือยารักษาเอดส์ที่สมบูรณ์แบบอาจคิดค้นสำเร็จในคุกแห่งนี้ก็เป็นได้” ข้าพเจ้าทิ้งท้ายไว้อย่างนั้นและขอตัวไปตรวจนักโทษชายที่รออยู่
นักโทษไต้หวันทั้ง 18 คน ส่วนใหญ่ข้าพเจ้ายังจำใบหน้าได้ เพราะทุกคนเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก สังเกตจากภายนอก ทุกคนดูค่อนข้างจะแข็งแรง แต่พอลงนั่งคุยกัน ก็พบว่ามีปัญหาพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางด้านจิตใจ ส่วนปัญหาทางสุขภาพที่พบบ่อย มักเป็นโรคหวัด โรคนอนไม่หลับและโรคเคล็ดขัดยอก ข้าพเจ้าจึงจัดยาแก้ไข้หวัด ยานอนหลับและ ยาถูนวดให้แต่ละคนจำนวนมากหน่อย เพราะภายในคุก คงเป็นการยากที่จะหายาเหล่านี้มาใช้ เนื่องจากต้องมีขั้นตอนในการขออนุญาตมากมาย
ข้าพเจ้าใช้เวลาซักถามอาการและตรวจรักษาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงอำลาสถานที่แห่งนี้ออกมา ก่อนเดินทางออกจากคุก ข้าพเจ้าแวะไปคุยกับหมอมาณพและขอที่อยู่รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์เพื่อใช้ติดต่อ เผื่อว่า วันหนึ่งข้างหน้า อาจต้องพึ่งพาและร่วมงานกันในสถานที่แห่งนี้เพื่อทำงานวิจัยสักชิ้น
ก่อนออกจากคุกบางขวาง เจ้าหน้าที่เรือนจำได้ทำการนับจำนวนคณะของพวกเราอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าถามว่า “นับทำไม ในเมื่อ พวกเรามีเพียงแค่ 5 คน”
เจ้าหน้าที่ผู้นั้นอธิบายว่า “เป็นกฎครับ เนื่องจากเคยมีนักโทษปลอมปนกับคณะผู้เยี่ยมออกมา บางครั้งถึงขั้นปลอมเป็นผู้คุมด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีใครหนีรอดออกจากคุกไปได้สักรายเดียว เนื่องจากพบพิรุธเสียก่อน”
ข้าพเจ้าถามด้วยความสนใจว่า “นักโทษเหล่านี้ เอาชุดผู้คุมมาจากไหน เพราะชุดอื่นๆอาจมีการหยิบยื่นให้เวลาเยี่ยมได้ แต่ชุดผู้คุมเป็นชุดข้าราชการที่อยู่ติดตัวเรา ”
“บางที ผู้คุมฝากให้นักโทษซักบ้าง หรือบางที ลืมแขวนไว้เวลาไปอาบน้ำ นักโทษเหล่านี้จึงหยิบขโมยมา” นี่เป็นคำอธิบายที่ให้ความกระจ่างแก่พวกเราทุกคน
หลังออกจากคุกบางขวาง คณะพวกเราได้โดยสารรถตู้มุ่งหน้าไปยังเรือนจำอีก 3 แห่งที่เหลือ อันได้แก่ ทัณฑสถานหญิง, เรือนจำคลองเปรมหรือคุกลาดยาว และเรือนจำกรุงเทพพิเศษ ที่บริเวณด้านหน้าเรือนจำทั้งสาม ซึ่งตั่งอยู่เรียงรายใกล้เคียงกัน มีร้านอาหารมีชื่อแห่งหนึ่ง พวกเราหยุดพักรับประทานอาหารที่นั่น เพราะเวลาใกล้เที่ยงแล้ว
ตอนบ่ายโมง ข้าพเจ้าเข้าไปตรวจในทัณฑสถานหญิง แต่ต้องเสียเวลารอถึง45นาที เกี่ยวกับการตรวจสอบเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ ที่นี่มีนักโทษหญิงเพียง 2 คน และสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีเช่นเดียวกับนักโทษชาย ในระหว่างที่ตรวจนักโทษ ข้าพเจ้าและคุณณัฐชนกได้ถามถึงพยาบาลสาวโชคร้ายคนที่เราพบเมื่อคราวก่อน ซึ่งติดคุกเนื่องจากหลงเชื่อคำชวนให้นั่งรถกลับบ้านกับเพื่อนสจ๊วตและแพทย์อีก 2 ท่านที่ทำงานด้วยกัน รถที่เธอนั่งถูกตรวจค้นและพบเฮโรอีนในกระโปรงรถ เธอจึงต้องรับกรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ ที่ข้าพเจ้าอยากพบ ก็เพื่อสอบถามถึงอนาคตข้างหน้าของเธอว่า จะเป็นอย่างไรต่อไปเท่านั้นเอง
“คุณฉัตรหรือคะ” นั่นคือชื่อเล่นของพยาบาลคนดังกล่าว “เดี๋ยวจะให้คนไปตามมาให้พบนะคะ” เสียงเจ้าหน้าที่เรือนจำหญิงพูดเป็นเชิงตอบ พอพยาบาลที่ชื่อ “ฉัตร” เข้ามา ข้าพเจ้าสังเกตว่า หน้าตาของเธอยังสดใสอยู่ จึงถามถึงเรื่องราวฎีกาที่เธอเคยยื่นไปเมื่อ 2 ปีก่อน ว่าก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว
“ฎีกาที่ยื่นไปไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด ดิฉันจึงต้องรับโทษตามกำหนดโทษเดิม คือ 12 ปี ตอนนี้อยู่มาได้ 8 ปีแล้ว เหลืออีก 5 ปี คงต้องทำใจยอมรับชะตากรรม อย่างไรก็ตาม ดิฉันทำงานเป็นพยาบาลดูแลสถานพยาบาลแห่งนี้ ก็เหมือนกับทำงานในโรงพยาบาลเช่นกัน พี่ๆที่นี่ก็ดีกับหนูมาก เพียงแต่….” เธอหยุดพูดเพียงแค่นี้และเล่าเรื่องราวในอดีตว่า “ความจริง ตอนที่นั่งในรถ เหลือระยะทางอีก 3-4 ป้ายรถเมล์ หมอที่นั่งข้างหลังคนหนึ่งบอกให้ดิฉันลงก่อนแล้ว แต่ดิฉันไม่รู้เรื่อง เลยขอนั่งต่อไป จนกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่น่าเศร้า หมอ 2 คนที่ถูกจับ ทนายแนะนำให้ยอมรับสารภาพ จึงได้รับลดหย่อนโทษเหลือเพียงติดคุก 8 ปี ดิฉันไม่ยอมรับสารภาพผิด ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาลดหย่อนโทษ และถูกติดคุก 12 ปี นี่คืออะไรกัน”
ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้พิพากษา จึงตัดสินอะไรไม่ได้จากคำพูดของเธอ แต่ถ้า นั่นคือ ความจริง ย่อมหมายถึงว่า โชคชะตาเล่นตลกกับเธอ
ข้าพเจ้าอวยพรให้เธอโชคดีและจากเธอมา โดยมีความรู้สึกว่า โลกนี้ไม่มีสิ่งใดแน่ ทำความดีมากๆอาจช่วยให้ไม่พานพบกับโชคร้ายดังเรื่องราวข้างต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สอนว่า อย่าเที่ยวไปนั่งรถคนอื่นโดยไม่จำเป็น มิฉะนั้นอาจได้รับชะตากรรมในทำนองเดียวกัน
สำหรับคุกลาดยาวนั้น มีนักโทษไต้หวันทั้งหมดเพียง 16 คนเท่านั้น พวกเราเข้าประจำการทำงานยังโรงพยาบาลเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง โดยสามารถรองรับการผ่าตัดใหญ่ได้หลายอย่าง อาทิเช่น ตัดต่อลำไส้ ต่อกระดูกที่หัก ผ่าตัดต้อกระจกหรือผ่าตัดคลอดบุตร เป็นต้น
ก่อนตรวจนักโทษไต้หวัน ข้าพเจ้าได้ถามถึงผู้อำนวยการซึ่งเคยพบเมื่อครั้งก่อน “นายแพทย์จอห์น เลอวิทย์วรพงศ์ “ ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ใจดี มีเมตตาและเสียสละ ข้าพเจ้ามีโอกาสทักทายและพูดคุยกับท่านเพียง 5 นาที ก็ขอตัวไปตรวจนักโทษ กะว่าตอนลากลับ จะเข้าไปคุยกับท่านอีกครั้ง เพราะมีความในใจหลายอย่างอยากถาม
ขณะที่ตรวจนักโทษอยู่นั้น ได้ความรู้อย่างหนึ่งว่า “ตำรวจไทย มีฝีมือในการตรวจจับเฮโรอินอย่างมาก นักโทษหลายคนเคยรอดพ้นการถูกจับกุมจากประเทศจีนถึง 3 ปี แต่เพิ่งเข้ามาเมืองไทยครั้งแรก ก็ถูกจับได้”
ใครที่คิดจะค้าเฮโรอีน ขอให้ดูนักโทษไต้หวันเหล่านี้เป็นตัวอย่าง นอกจากทำลายผู้อื่น ยังทำลายอนาคตของตัวเอง ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจว่า เวลาค้าเฮโรอีน ทำไมพวกเขาถึงไม่คิดใคร่ครวญให้ดี หรือคิดว่าบาปบุญไม่มีจริง สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อถืออย่างมากเลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
พอตรวจสุขภาพนักโทษเสร็จ ข้าพเจ้ารีบเข้าไปคุยกับท่านผู้อำนวยการที่ห้องทำงานทันที
“ได้ข่าวว่า ที่นี่มี แดน สำหรับคนไข้โรคเอดส์ ใช่ไหมครับ” ข้าพเจ้าถาม
“ใช่ แดนนี้ มีคนไข้เป็นโรคเอดส์ประมาณ 200 คน” ท่านตอบ
“พวกนี้มีอาการโรคเอดส์เต็มขั้นใช่ไหมครับ” ข้าพเจ้าถาม
“ไม่ใช่หรอก คนไข้ที่มีอาการโรคเอดส์เต็มขั้น จะอยู่รักษาภายในโรงพยาบาลมากกว่า แดนเอดส์ เป็นแต่เพียงสถานที่แยกคนไข้เอดส์ออกจากนักโทษอื่นๆ ให้เป็นสัดส่วนเท่านั้น จริงๆแล้ว มีคนไข้เอดส์อยู่มากมายกว่านี้หลายเท่าตัว แต่แทรกปนอยู่กับนักโทษปกติตามแดนต่างๆ สาเหตุที่เขาเหล่านั้นไม่ยอมมาอยู่แดนเอดส์ ก็เพราะกลัวญาติรู้และจะไม่มาเยี่ยมอีก” นายแพทย์จอห์นเล่าต่อ
“ได้ข่าวว่า นักโทษที่มีเลือดเอดส์บวก ป่วยเป็น วัณโรค แทรกซ้อนขึ้นมาจำนวนมากใช่ไหมครับ?” ข้าพเจ้าถาม
“ปกติ วัณโรค เป็นโรคที่แพร่กระจายในคุกค่อนข้างเร็ว เพราะนักโทษนอนรวมกัน ยิ่งนักโทษที่เป็นเอดส์ด้วย ยิ่งติดต่อง่ายขึ้น ทำให้นักโทษเอดส์ที่เป็นวัณโรคแทรกซ้อนมีจำนวนมาก นักโทษเหล่านี้เปรียบเสมือนกับ นักโทษที่รออยู่ที่หลักประหาร ต้องตายแน่นอน เรายังไม่เคยพบมีใครรอดชีวิตเลย” นายแพทย์จอห์นเล่า
“ที่นี่มีการทำวิจัยคนไข้โรคเอดส์ไหมครับ” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้
“มีเหมือนกัน แต่เป็นงานวิจัยง่ายๆ นี่ก็ได้ทุนมา 3 แสนบาท เพื่อให้เราติดตามนักโทษเอดส์เป็นเวลา 5 ปี ว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนเป็นวัณโรคหรือไม่ มากน้อยจำนวนเท่าใด สมัยก่อน วัณโรคเป็นโรคที่พบภายในคุกมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้เราควบคุมได้แล้ว โดยนักโทษที่เข้ามาใหม่ทุกคนจะได้รับการเอกซเรย์ปอด ถ้าเป็นวัณโรคก็จะได้รับการรักษาทันที อย่างไรก็ตาม เดี๋ยวนี้เอดส์เป็นโรคที่พบอันดับหนึ่งแทนและมีอัตราตายสูง เฉลี่ยวันละ 1 คน” นายแพทย์จอห์นตอบ
ก่อนลาท่านผู้อำนวยการเรือนจำคลองเปรม ข้าพเจ้าได้ขออนุญาตล่วงหน้าว่า วันหนึ่งอาจจะกลับมาร่วมกับท่านทำวิจัยคนไข้เอดส์ที่นี่ ซึ่งท่านได้กล่าวแสดงความยินดีต้อนรับด้วยความเต็มใจ
จากนั้น คณะพวกเราได้เดินทางต่อมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พอมาถึงก็พบปัญหาคือ หมดเวลาเยี่ยม เนื่องจากนักโทษทุกคนถูกนำกลับแดนจองจำของตนเองแล้ว อีกประการหนึ่ง หนังสือที่กรมราชทัณฑ์อนุมัตินั้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่เรือนจำข้างนอกหาไม่พบ
คุณชาญ พยายามอธิบายถึงความล่าช้าว่า ที่ทัณฑสถานหญิง พวกเราก็พบปัญหาเรื่องหนังสืออนุมัติเช่นกัน เสียเวลากว่า 45 นาทีตรวจสอบ ปรากฏว่าหนังสืออนุมัติดังกล่าวอยู่ภายในคุกเรียบร้อยแล้ว
เจ้าหน้าที่เรือนจำฯ จึงโทรศัพท์เข้าไปถามผู้คุมข้างในถึงเรื่องดังกล่าว ก็พบว่าหนังสืออนุมัติอยู่ข้างใน แต่….นักโทษไต้หวันที่มารอตรวจถึง 2 ชั่วโมง ได้กลับแดน ไปแล้ว
ข้าพเจ้าได้แสดงตัวว่า เป็นแพทย์ที่มาจากโรงพยาบาลตำรวจซึ่งเป็นหน่วยราชการเดียวกัน น่าจะผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษ อีกประการหนึ่ง พรุ่งนี้ มีกำหนดการผ่าตัดในตอนบ่าย ทำให้ไม่สามารถจัดเวลามาที่นี่ได้
เจ้าหน้าที่เรือนจำฯ ใจดีเหลือหลาย ช่วยโทรศัพท์ขออนุญาติผู้ใหญ่หลายฝ่าย จนในที่สุด พวกเราสามารถเข้าไปตรวจนักโทษทั้ง 4 คนได้
นักโทษไต้หวันทั้ง 4 มีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับนักโทษคนอื่นที่ได้ตรวจมาก่อนหน้านี้ แต่มีอยู่รายหนึ่งติดวัณโรคอยู่ที่นี่ โชคดีที่รักษาหายแล้ว มิฉะนั้น อาจถ่ายทอดมายังพวกเราด้วย เนื่องจากพวกเราบางคนกำลังเป็นไข้หวัดอยู่
ข้าพเจ้าสังเกตว่า นักโทษไต้หวันในเมืองไทย ไม่มีใครได้รับการอบรมฝึกวิชาชีพในระหว่างที่ถูกคุมขัง ทุกคนพากันบ่นว่า เวลาที่อยู่ในคุกนั้น ผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไร้ความหมาย วันหนึ่งถึงมีโอกาสพ้นโทษออกจากคุกมา ก็ไม่สามารถประกอบวิชาชีพอื่นเป็น เนื่องจากไม่เคยได้รับโอกาสในที่คุมขัง
ไม่น่าเชื่อ ที่ผู้คนที่มีชีวิตเป็นอิสระเช่นเราๆจำนวนมากมาย พบกับความล้มเหลว และไม่สามารถหาโอกาสได้เช่นเดียวกับนักโทษในคุก เพราะอะไร คนที่ให้คำตอบได้ คงเป็นตัวเราเองเท่านั้น
สถานที่คุมขังนักโทษนั้น มองด้านหนึ่ง ก็เพื่อลงโทษคนชั่วที่กระทำผิด หากมองอีกด้านหนึ่ง ดินแดนอาถรรพ์แห่งนี้ เหมาะเป็นที่ศึกษา “ความเป็นไปของชีวิต” และวิจัย “โรคร้าย” ต่างๆ ข้าพเจ้าเชื่อว่า นักโทษทุกคน จะให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ เพราะนั่นเท่ากับ ได้ทำบุญและใช้เวลาอย่างมีความหมาย บางทีโรคร้ายในตัวอาจรักษาหายในระหว่างดำเนินการวิจัยด้วย เผลอๆ ความสำเร็จจากการคิดค้นยาที่ยิ่งใหญ่อาจเกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ ถึงแม้ ผู้คนจะไม่แซ่ซ้อง แต่ต้องเป็นหนี้บุญคุณพวกเขาอย่างแน่นอน บุญกุศลอาจส่งผลให้พวกเขารอดปลอดภัย ได้ออกมาใช้ชีวิตอิสระอีกครั้ง อย่างมีความสุข
ตรุษจีนปีนี้อาจไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา แต่ปีต่อๆไป ไม่แน่ นี่คือความผันแปรในโลก
$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$
พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *