ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เหมือนจะล้มละลายอยู่ขณะนี้ มีใครไม่ต้องการ
ความช่วยเหลือบ้าง ยิ่งเป็นคนจนคนพิการ ยิ่งดูเหมือนจะต้องการมากขึ้น เพราะสังคมเปิดโอกาส
ให้กับเขาเหล่านั้นน้อยเหลือเกิน
ข้าพเจ้าเพิ่งเดินทางกลับจากภาคเหนือของประเทศไทย รู้สึกอิ่มใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้
ไปร่วมทำบุญบริจาคแก่คนจน คนพิการ กับมูลนิธิแสงพุทธธรรมแห่งประเทศไทย
ตอนที่เดินทางไปกับคณะผู้บริจาคชุดนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้มีความคิดอะไรอยู่ในสมองเลย
ข้าพเจ้ารู้เพียงคร่าว ๆ จากภรรยาว่า \”การเดินทางครั้งนี้ เป็นการไปเพื่อบริจาครถนั่งล้อเข็น
แก่คนพิการทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่\” เท่านั้น ส่วนหลังจากนั้น จะมีการเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
ข้าพเจ้าทำงานหนักและเหนื่อยมาหลายปี ไม่เคยหยุดพักร้อนเพื่อไปเที่ยวพักผ่อนกับ
ครอบครัวเลย ครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะพาครอบครัวไปเที่ยวเสียที อีกทั้งยังได้ทำบุญไป
พร้อม ๆ กันด้วย
คณะของพวกเรามี 9 คน นำโดย คุณจรรยา อยู่วิมลชัย (ประธานของมูลนิธิฯ)
ออกเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2541 เวลา 15
นาฬิกา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที ก็ถึงยังที่หมายและเข้าพักในโรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่ง
ตอนเช้าวันจันทร์พวกเราเดินทางโดยรถตู้ เวลา 9 นาฬิกา ใช้เวลาประมาณ 30
นาที ไปถึงสถานที่ที่จะบริจาค \”บ้านเชียงใหม่\”ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
พอไปถึง ข้าพเจ้าก็เกิดความรู้สึกสนใจขึ้นมาทันที เพราะมองเห็นรถล้อเข็น พร้อม
คนพิการ จำนวนหนึ่งนั่งรออยู่ เดิมทีทราบว่า จะมาทำบุญเช่นนี้เหมือนกัน แต่ความตั้งใจไม่ใช่เป็น
อย่างนี้ ความตั้งใจทีแรก คือ เที่ยวเป็นหลัก ทำบุญเป็นรอง
มาบัดนี้ ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกสะเทือนใจในภาพที่พบเห็นอย่างมาก สถานที่จัดทำพิธี
เป็นลานโล่ง ๆ มีหลังคาปิดทั่วบริเวณ บนลานนั้นมี \”มนุษย์ล้อ\” อยู่ประมาณ 40 คน ที่เหลือเป็น
รถนั่งล้อเข็นเปล่า ๆ วางเรียงรายอยู่ทางด้านหลังอีกประมาณ 10 คัน
ข้าพเจ้าเริ่มสอบถามจากเจ้าหน้าที่บริเวณนั้นเพื่อหาข้อมูล เผื่อว่าจะมีโอกาสกลับไป
ช่วยเหลือหรือชักชวนผู้ใจบุญอื่น ๆ ไปบริจาคเพิ่มเติมอีก
คนพิการเหล่านี้ มาจากทั่วสารทิศทางภาคเหนือ บางคนพิการเพียงแต่ขา เช่น ขา
ด้วน ขาคดงอ บางคนพิการทั้งแขนและขา บางคนเป็นคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บางคนพิการ
ตาและสมองร่วมด้วย ภาพเหล่านั้นทำให้เกิดความรู้สึกสังเวชเป็นอย่างยิ่ง
มีเด็กหญิงอยู่คนหนึ่ง พิการแขนขา และหน้าตา ส่วนลำตัวก็เล็กมากจนดูคล้ายกับ
\”มนุษย์ย่อส่วน\” พูดจาก็ไม่ได้ นั่งอยู่บนรถนั่งล้อเข็นแถวหน้า เธอไม่สามารถสื่อสารใด ๆ กับ
พวกเราได้เลย \”ทำไม ทำไม จึงมีคนที่น่าสงสารอย่างนี้อยู่ในโลก และทำไมเธอยังจะต้อง
ทนทุกข์ทรมานต่อไปอีกหนอ\” ข้าพเจ้าตั้งคำถามในใจขึ้นมาถามตัวเอง
ข้าพเจ้ากำลังตกอยู่ในภวังค์ ก็ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ร้องเตือน ๆ กันมาว่า \”ผู้ว่าฯ
มาแล้ว\” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางมาเป็นประธานรับมอบ \”รถนั่งล้อเข็น\” ด้วย
ตนเอง นับว่า ท่านเป็นบุคคลที่เห็นคุณค่าของคนพิการคนหนึ่ง
ความตอนหนึ่งที่ท่านกล่าวในสุนทรพจน์ ข้าพเจ้ายังจำได้ดี ท่านกล่าวว่า \”พวกเรา
รู้สึกขอบคุณต่อน้ำใจคนต่างชาติเหล่านี้ แต่พวกเราคนไทยควรจะละอาย…ละอายในความไม่มี
น้ำใจของพวกเรากันเอง รถนั่งล้อเข็น ตามที่สอบถามจากประธานมูลนิธิฯ ราคาเพียงคันละ
3,000 บาท นับว่าไม่แพงมาก แต่ทำไม คนไทยด้วยกันเองถึงไม่มีใครคิดถึงและยื่นมือเข้ามา
ช่วยเหลือในเรื่องนี้เลย\”
มูลนิธิแสงพุทธธรรมต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศไต้หวัน ก่อตั้งโดยพระอาจารย์ซิ่งหวิน
สำหรับในประเทศไทย มูลนิธินี้ตั้งอยู่ที่วัดฝอกวงซาน แถวย่านถนนพระราม 9 ข้าพเจ้าเคย
ติดตามภรรยามาที่วัดฝอกวงซานนี้บ่อย ๆ รู้สึกว่า น่าศรัทธาทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้ศรัทธาในเรื่อง
ศาสนา เพราะที่นี่นับถือศาสนาพุทธเหมือนกับคนไทยทั่ว ๆ ไป แต่นับถือในน้ำใจของคนจีนไต้หวัน
ผู้ใจบุญของมูลนิธิฯ นี้ จากทั่วโลก ที่พยายามเผยแผ่ทำความดี ด้วยการช่วยเหลือเจือจุนผู้ด้อย
โอกาสต่าง ๆ อย่างมากมาย
อย่างเช่นในครั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิตระกูลเฉาแห่งไทเปบริจาครถนั่งล้อ
เข็น จำนวนถึง 1,000 คัน แก่คนพิการถาวรทั่วประเทศไทย ขณะนี้ ได้บริจาคไปแล้วจำนวนหนึ่ง
แต่ยังเหลืออีกจำนวนมาก ข้อแม้มีเพียงว่า ผู้พิการร่างกายที่มาขอรับบริจาค จะต้องเป็นผู้พิการ
จริง ๆ และเป็นผู้พิการถาวรที่จำเป็นต้องใช้รถนั่งล้อเข็นตลอดชีพ จะเป็นใคร มาจากไหนไม่
สำคัญ หากโรงพยาบาลใด หน่วยราชการไหน หรือแม้แต่ตัวคนพิการเองมีความต้องการก็ขอให้
แจ้งแสดงความจำนงไปที่ มูลนิธิแสงพุทธธรรม 100/109 อาคารว่องวานิช B ชั้น 32 ถนน
พระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โทร.02-6450598 โทรสาร 6450597 ทางมูล
นิธิฯ ยังยินดีที่จะบริจาคให้อีก โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ ทั้งสิ้น
เมื่อผู้ว่าฯ เชียงใหม่ กล่าวสุนทรพจน์จบ บรรดาเจ้าหน้าที่ได้เชื้อเชิญให้พวกเราไป
ถ่ายรูป ตอนนั้นข้าพเจ้าคิดในใจว่า \”ไม่อยากเอาคนพิการเหล่านี้มาประกอบภาพ เพื่อทำให้
ตัวเราดูเด่นหรือมีคุณค่าขึ้น เราทำบุญควรทำด้วยใจบริสุทธิ์\” ขณะที่กำลังปฏิเสธไม่ขอถ่ายรูปอยู่
นั้น ภรรยาข้าพเจ้าได้เดินมากระซิบบอกว่า \”อย่าไปคิดมากเลย พวกเราต้องถ่ายรูปร่วมกับคน
พิการเหล่านี้ทุกคน เพื่อเป็นหลักฐานให้กับมูลนิธิทั้งสองว่า สิ่งของที่ทุกคนบริจาคถึงมือผู้รับจริง ๆ\”
พอทราบถึงจุดประสงค์ดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงร่วมถ่ายรูป 2-3 รูป แล้วปลีกตัวมาคุยกับคนพิการ
เหล่านั้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่นั่นด้วย
คนพิการเหล่านี้ มาจากทั่วทุกจังหวัดของภาคเหนือ 17 จังหวัด จังหวัดละ 3-4 คน
แต่ที่มากที่สุดคือ จากศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนถึง 22 คน
เท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของยอดบริจาค ข้าพเจ้าได้สอบถามเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของที่นั่น ได้ความว่า
ศูนย์ฝึกคนพิการแห่งนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 303 ม.7 ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง
จังหวัดเชียงใหม่ 50150 (โทรศัพท์ 053-471327) มีผู้พิการมาฝึกอบรมอาชีพอยู่ประมาณ 80
คน แบ่งอาชีพที่ฝึกออกเป็น 4 หมวดหมู่ คือ ศิลปะ คอมพิวเตอร์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และช่างซ่อม
อีเลคโทรนิค ผู้ใดมีร่างกายพิการอายุตั้งแต่ 17-40 ปี ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคเหนือติดต่อขอ
รับการฝึกอาชีพฟรี พร้อมอาหารและที่พัก สำหรับผู้ใจบุญใจกุศล ก็สามารถติดต่อขอบริจาคได้ตาม
ที่อยู่ข้างต้นเช่นกัน
ในการกล่าวแสดงความขอบคุณของคนพิการเหล่านี้ ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจสาวน้อย
ร่างพิการนางหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของคนพิการทั้งหมดในที่นั้น เธอกล่าวว่า \”เราชาวมนุษย์ล้อ
ขอขอบพระคุณท่านผู้ใจบุญทุกท่าน พวกเราในที่นี้เป็นผู้ที่โชคดีอย่างมาก เพราะยังมีคนพิการอีก
จำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเช่นเรา แต่เดิมมา พวกเราทุกคนจะเคลื่อนกายไปทางไหน ก็ด้วยความ
ยากลำบาก เราไม่เคยคิดว่า จะมีวันนี้ วันที่จะช่วยให้พวกเราสามารถเคลื่อนที่ไปไหน ๆ สะดวก
ขึ้น สุดท้ายนี้ ขอมอบภาพศิลปะที่ข้าพเจ้าวาดขึ้นเองให้ไว้เป็นที่ระลึก ถึงแม้เป็นสิ่งของราคาเพียง
น้อยนิด แต่เต็มไปด้วยจิตใจที่ซาบซึ้งของพวกเรา\” เธอพูดสั้น ๆ แต่ข้าพเจ้ารู้สึกสะท้านเข้าไป
ในใจ รู้สึกมีหยาดน้ำตาไหลออกมาด้วย
ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการแห่งนี้ 2-3 คน จึงทราบว่า
ทางศูนย์ฯ ยังต้องการสิ่งของและวัตถุปัจจัยอีกจำนวนมาก ในช่วงเวลานั้นข้าพเจ้ายังได้ทราบ
ว่า สตรีพิการที่กล่าวแสดงความขอบคุณดังกล่าว เป็นนักกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยด้วย
นอกจากนั้นทางศูนย์ฯ ยังขาดอุปกรณ์กีฬาบางอย่างเพื่อช่วยในการฝึกซ้อม ข้าพเจ้าได้แนะนำให้ไป
ขอรับบริจาคจากมูลนิธิฯ ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากท่านประธานมูลนิธิฯ สิ่งหนึ่ง
ที่ยังอยู่ในความรู้สึกของข้าพเจ้าในวันนั้น คือคนพิการเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีคุณค่า สังคมไม่ควร
ทอดทิ้ง
ก่อนเดินทางออกจาก \”บ้านเชียงใหม่\” คณะของพวกเราแวะเข้าไปแสดงความ
ขอบคุณเจ้าหน้าที่ของที่นั่น ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่า บ้านเชียงใหม ที่แท้คือ แหล่งพักพิงของเด็กชาย-
หญิง อายุตั้งแต่ 6-18 ปี เด็กเหล่านี้ ไม่พิการร่างกาย แต่พิการจิตใจ เนื่องจากถูกทอดทิ้ง
กำพร้า หรือมาจากครอบครัวที่มีปัญหา เด็กเหล่านี้ยังรอความเมตตา จากคนไทยใจบุญทั่วประเทศ
เช่นเดียวกัน หากท่านสนใจกรุณาติดต่อขอบริจาคสิ่งของปัจจัยได้ที่บ้านเชียงใหม่ 63/1 ถนน
โชตนา อ.แม่ริม เชียงใหม่ โทร.(053) 222596 โทรสาร (053) 222867
ข้าพเจ้าเพียงแต่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ได้ร่วมทำบุญบริจาคเพียงน้อยนิด แต่จิตใจรู้สึก
อิ่มเอิบ ข้าพเจ้าคิดว่า คงมีคนไทยใจบุญอีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้จะไปทำบุญที่ไหน \”ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพ
คนพิการหยาดฝนและบ้านเชียงใหม่\” นี่แหละเป็นทางเลือกหนึ่งที่ท่านจะได้ทำบุญอย่างสมใจ ขอให้
คนไทย \”ร่วมช่วยด้วยกัน\” ก็จะทำให้ความสุขได้รับการแบ่งปันจากเราไป แบ่งปันให้กัน จะ
สุขสันต์ทั้งผู้ให้และผู้รับ
คณะของพวกเรา ออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น ไปจังหวัดเชียงราย เพื่อไปบริจาค
\”กระเป๋านักเรียนและลูกบอลหลากหลายชนิด\” แก่โรงเรียนชาวจีนภูเขาที่นั่น ข้าพเจ้ารู้สึกมี
ความสุขมากกับการท่องเที่ยวพร้อมกับครอบครัวในครั้งนี้ ได้เที่ยวแล้วยังได้บุญอีก
คนไทย น้ำใจดี ควรน้องพี่ จับมือกัน
ร่วมแรง ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมฝ่าฟัน อุปสรรค
หาทาง เร่งช่วยเหลือ แผ่จุนเจือ ด้วยความรัก
ชีวิต นี้สั้นนัก อย่ายึกยัก จนชักช้า
คนจน คนพิการ ทุกข์ทรมาน แต่นานมา
เฝ้ารอ ความเมตตา จากศรัทธา ของคนไทย
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
พ.ต.อ.นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน