ภาวะท่อนำไข่โป่งพองเป็นถุงน้ำ ( Hydrosalpinx )

สตรีมีบุตรยากจำนวนมาก มีสาเหตุจากภาวะท่อนำไข่อุดตัน ( Obstructed Follopian tubes ) ภาวะท่อนำไข่อุดตันส่วนปลาย มักมีผลทำให้ท่อนำไข่ส่วนอื่นๆโป่งขยาย ( Hydrosalpinx)
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดภาวะมีบุตรยาก จึงอยากให้ได้เรียนรู้ขบวนการปฏิสนธิภายในท่อนำไข่คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
ท่อนำไข่ ( Follopian tubes ) นั้นมีความสำคัญอย่างมากในการปฏิสนธิ เพราะเป็นสถานที่แรกเริ่มที่มีการปฏิสนธิและเกิดเป็น ตัวอ่อน หลังจากนั้น ตัวอ่อน จะใช้เวลาเดินทางเข้าสู่โพรงมดลูกและฝังตัว ประมาณ 5-7 วัน หากส่วนปลายของท่อนำไข่อุดตัน ( Fimbrial Ends Obstruction ) อันเนื่องมาจากการติดเชื้อหรือมีพังผืดมาหุ้ม ของเหลวที่สร้าง ( Tubal Fluid ) ขึ้นมาภายในท่อนำไข่ จะสะสมและดันให้ผนังท่อนำไข่โป่งพองจนกลายเป็นถุงน้ำ ( Hydrosalpinx ) ซึ่งมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์อย่างมาก่ด
ภาวะท่อนำไข่โป่งพองเป็นถุงน้ำ ( Hydrosalpinx ) พบได้บ่อยในคนไข้สตรีที่มารักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี “ เด็กหลอดแก้ว ” ประมาณร้อยละ 10-30 ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยทราบล่วงหน้าได้ ด้วยการทำอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดเพียงร้อยละ 13 แต่จะวินิจฉัยได้มากขึ้น เป็นร้อยละ 30 ด้วยการฉีดสีเข้าโพรงมดลูก
การรักษาภาวะมีบุตรยากในผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ ทำได้วิธีเดียว คือ การหยอดตัวอ่อนผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะมีอัตราการฝังตัวและการตั้งครรภ์ แตกต่างกันตามอายุของตัวอ่อน โดย หากหยอดตัวอ่อนระยะวันที่ 3 หรือระยะ 6-8 เซลล์ จะมีอัตราการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 20- 30 แต่หยอดตัวอ่อนระยะวันที่ 5 หรือระยะฝังตัว ( Blastocyst ) จะมีอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 50 ซึ่งกรณีที่ตัดท่อนำไข่ทิ้ง จะมีอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่ากรณีที่ไม่ได้ตัดท่อนำไข่ทิ้ง ถึง 50% ดังนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทางการแพทย์ จึงแนะนำให้ทำการตัด ท่อนำไข่ทิ้งเสียก่อนที่จะหยอดตัวอ่อน
ทำไม การรักษาจำเป็นต้องตัดท่อนำไข่ทิ้งก่อนการหยอดตัวอ่อน?
ทั้งนี้เพราะภาวะท่อนำไข่โป่งพอง ( Hydrosalpinx ) มีผลเสียต่อตัวอ่อนในกระบวนการทำ “ เด็กหลอดแก้ว ” ด้วยกลไกดังต่อไปนี้
• ปัจจัยจากตัวท่อนำไข่ที่โป่งพอง
การไหลย้อนของน้ำภายในท่อนำไข่โป่งพอง ( Hydrosalpinges fluid ย่อเป็น HF ) ที่เข้าสู่โพรงมดลูก ก่อให้เกิดการพัดพา และยับยั้งตัวอ่อน ( Flushing effect ) จากการฝังตัว
• เยื่อบุโพรงมดลูกมีการยอมรับการฝังตัวของตัวอ่อนลดลง
การหลั่งของสารจากท่อนำไข่โป่งพองที่เข้าสู่ภายในโพรงมดลูก เช่น cytokines, prostagrandins และอื่นๆ มีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกยอมรับการฝังตัวของตัวอ่อนน้อยลง
• ผลจากพิษของน้ำในท่อนำไข่โป่งพอง ต่อ ตัวอ่อน ( Embryotoxic effect of HF )
มีการวิจัยมากมาย พบว่า น้ำจากท่อนำไข่โป่งพองมีสารที่เป็นพิษ ( Embryotoxic and lipophilic factors ) ต่อการเจริญของตัวอ่อน Schadeve และคณะ ได้ทดลองเลี้ยงตัวอ่อนของหนูในของเหลวซึ่งมีสัดส่วนของน้ำจากท่อนำไข่โป่งพอง 0 , 0.3 , 0.6 , 0.9 % ผล คือ อัตราการแบ่งตัวของตัวอ่อนถึงระยะฝังตัว ( Blastulation rate ) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีบางรายงานที่ผลการทดลองออกมาขัดแย้งกับการทดลองข้างต้น

อะไร คือ วิธีการรักษาภาวะท่อนำไข่โป่งพองดีที่สุด ?
ปัจจุบันมีกรรมวิธีการรักษาภาวะนี้ 3 วิธี คือ
1. ใช้ยา ( Drug therapy )
2. เจาะเอาน้ำภายในท่อนำไข่ทิ้ง ( Mechanical drainage of HF )
3. ผ่าตัด ( Surgical approach : Salpingectomy or salpingoplasty )

การใช้ยาเพื่อการรักษา
จากการศึกษาของ Sharara และคณะ พบว่า ภูมิต้านทาน IgG ที่มีต่อเชื้อ คลาไมเดีย ทราโคมาติส ( Chlamydia trachomatis )ในเลือดของกลุ่มสตรีที่มีท่อนำไข่โป่งพอง มีค่าสูงมาก ( 74.6% ) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มสตรีมีบุตรยากที่ไม่มีภาวะนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อให้สตรีทุกคนที่มีภาวะท่อนำไข่โป่งพอง ได้รับการรักษาด้วยยา Doxycycline ผลปรากฏว่า อัตราการตั้งครรภ์และการฝังตัวไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง แต่นี่เป็นเพียงงานวิจัยเดียวที่ตีพิมพ์ออกเผยแพร่

การเจาะดูดเอาน้ำในท่อนำไข่ที่โป่งพองออก ( Drainage of the hydrosalpinges )
การเจาะดูดเอาน้ำในท่อนำไข่ที่โป่งพองออก ก่อนการทำ “ เด็กหลอดแก้ว ” จะทำให้รังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นดีขึ้นและได้จำนวนตัวอ่อนมากขึ้น Ng และคณะ พบว่า น้ำที่เจาะดูดได้จากท่อนำไข่ที่โป่งพองนั้น นอกจากจะมีผลต่อตัวอ่อนแล้ว ยังมีผลต่อตัวอสุจิในแง่การเคลื่อนไหวและการมีชีวิตอีกด้วย ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าวมีประโยชน์ในแง่การเลือกวิธีรักษาในสตรีที่มีภาวะนี้ อย่างไรก็ตาม กรรมวิธีนี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงไม่ใช่วิธีการดีที่สุดในการรักษา

การตัดท่อนำไข่ทิ้ง ( Salpingectomy before IVF )
จากงานวิจัยจำนวนมาก ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การตัดท่อนำไข่ก่อนการรักษาด้วยวิธีทำ “ เด็กหลอดแก้ว ” สามารถช่วยขจัดข้อด้อยเกี่ยวกับอัตราตั้งครรภ์ ฝังตัวและการแท้ง แต่นั่นเป็นการศึกษาย้อนหลังทั้งหมด ปัจจุบัน งานศึกษาย้อนหลังที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งทำโดย Bredkjaer และคณะ ( พ.ศ. 2542 ) ได้สรุปไว้ว่า การตัดท่อนำไข่ออกทั้ง 2 ข้างอันเนื่องมาจากภาวะนี้ จะช่วยเพิ่มอัตราการฝังตัวและการตั้งครรภ์ Lass และคณะ ( พ.ศ. 2541) ได้แสดงให้เห็นว่า การตัดท่อนำไข่ทิ้งเพียงข้างเดียว จะมีผลให้จำนวนไข่ข้างนั้นลดลง แต่อัตราการตั้งครรภ์และฝังตัวไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม

ภาวะท่อนำไข่โป่งพองเป็นถุงน้ำ ( Hydrosalpinx ) พบได้บ่อยๆ ในคนไข้มีบุตรยาก ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องลำบากในการวินิจฉัยและรักษาอีกต่อไป ยิ่งมีการผ่าตัดด้วยการเจาะท้องส่องกล้อง ( Laparoscopic Surgery ) ยิ่งเกิดความสะดวกสบายสำหรับคนไข้เพราะเจ็บตัวน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม การแพทย์สมัยใหม่จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและไม่กลัวสำหรับคนทั่วไป เพียงแต่ว่า การรักษาภาวะมีบุตรยาก เสียเงินมากไปหน่อยเท่านั้น……….
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *