จังหวะชีวิต ลิขิตแห่งกรรม

เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่ข้าพเจ้าเองก็บอกเหตุผลไม่ได้.. จากประสบการณ์ ข้าพเจ้าพบบ่อยๆว่า ‘มีคนไข้มากมายที่ตกอยู่ในสถานการณ์โรคร้ายแรงลักษณะแบบเดียวกัน แต่ผลที่ปรากฏออกมากลับแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน คนหนึ่งรอดชีวิตอย่างปลอดภัย ส่วนอีกคนกลับแทบสิ้นชีพหรือพิการร่างกาย บางที.. นี่อาจเป็นเพราะ บุพกรรมที่ทำไว้ในอดีตชาติ
สัปดาห์ก่อน ได้เกิดเรื่องเลวร้ายรุนแรงขึ้นเรื่องหนึ่งที่แผนกสูติ คนท้องรายหนึ่ง อายุ 35 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 มานอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ หรือที่คนนิยมเรียกว่า ‘ครรภ์พิษ’ (Severe Preeclampsia) ขณะอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ คุณหมอเวรได้ให้นอนพักรักษาตัวที่หอผู้ป่วยชั้น 4 ทันทีที่วินิจฉัยได้ ถัดจากนั้นมาอีก 3 วัน ปรากฏว่า คนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นอย่างรุนแรง โดยความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นเป็น 230/130 มิลลิเมตรปรอท หลังจากกลับมาจากห้องน้ำ คนไข้ทรุดลงนอนซม หน้าซีดและไม่สามารถลุกขึ้นนั่งได้อีก สูติแพทย์เวรได้ตัดสินใจทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุด โดยการผ่าตัดคลอด (Cesarean section) เพื่อลดความรุนแรงของโรค..แม้ว่า คณะแพทย์จำนวนหนึ่งทั้งของแผนกสูติและศัลยกรรมจะช่วยกันผ่าตัดคนไข้อย่างเต็มที่ ก็ไม่สามารถยื้อยุดชีวิตจากมือมัจจุราชได้ คนไข้เสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นานนักที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. ศัลยกรรม ด้วยเรื่องเลือดไหลออกไม่หยุด [Disseminated intravascular coagulation (DIC)]
จากรายงานของคณะแพทย์ผู้ทำการรักษา ทันทีที่สูติแพทย์เวรผ่าตัดเปิดเข้าสู่ช่องท้องคนไข้ ก็พบเลือดจำนวนมากภายในช่องท้องนอกตัวมดลูก คุณหมอได้ทำการผ่าตัดคลอดทารกน้อยทันที จากนั้น ทีมศัลยแพทย์ก็เข้าทำการผ่าตัดต่อทันที ผลปรากฏว่า อวัยวะส่วนตับมีรอยปริแตกหลายแห่ง และเลือดไหลออกจากตำแหน่งเหล่านั้นตลอดเวลา จนเกิดการใช้ปัจจัยช่วยแข็งตัวในกระแสเลือดจนหมด ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘เลือดไม่แข็งตัวทั่วร่างกาย’ [Disseminated intravascular coagulation (DIC)]
ส่วนเมื่อวาน ก็มีคนท้องรายหนึ่ง อายุ 30 ปี มาที่โรงพยาบาล ด้วยเรื่องมีเลือดออกจากช่องคลอดจำนวนมาก (Painless bleeding) ขณะอายุครรภ์ 31 สัปดาห์ ซึ่งเธอได้รับการวินิจฉัยก่อนหน้านี้ว่า เป็น ‘รกเกาะต่ำ (Placenta previa)’ คนไข้มีเลือดออกจากช่องคลอดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 (3rd episode) ข้าพเจ้าจึงรีบทำเรื่องให้เธอนอนพักโรงพยาบาล และให้พยาบาลรีบแจ้งกับแพทย์เจ้าของไข้ทันที ปัจจุบัน เธอยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ในอนาคตอันใกล้…คนไข้ย่อมจะต้องตกเลือดซ้ำอีกอย่างแน่นอน.. และการตกเลือดคราวหน้า(4th episode) เลือดอาจไหลออกไม่หยุด จนกว่าคนไข้จะเข้ารับการผ่าตัดคลอด…….นี่คือ รูปแบบการดำเนินโรคของภาวะรกเกาะต่ำในคนท้อง
เรื่องราวของรกเกาะต่ำนั้น ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างฝ่ายสูติแพทย์กับฝ่ายคนไข้อย่างมากมาย ไม่ว่า จะเป็นเรื่องภาวะแทรกซ้อนจากการตกเลือด หรือการสูญเสียชีวิตของมารดา/ทารก
วันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรโรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้ารู้สึกเงียบเหงามาก เพราะภายในห้องคลอด ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย 2 โมง ไม่มีคนไข้เลยสักคนเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจมากว่า ‘วันนี้คงไม่มีงานทำแน่นอน’ แต่..ทันใดนั้น ก็มีเสียงโทรศํพท์ดังขึ้น สูติแพทย์ท่านหนึ่ง โทรศัพท์มาแจ้งข้าพเจ้าว่า ‘ได้ให้คนท้องรายหนึ่งเข้านอนพักโรงพยาบาลด้วยเรื่องรกเกาะต่ำ เนื่องด้วย ทารกมีการเต้นของหัวใจผิดปกติเป็นบางครั้งจากการตรวจสภาพทารก (NST= Non stress test) แต่ไม่น่าจะร้ายแรง (Abnormal fetal heart rate monitoring) อย่างไรก็ตาม อาจมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างนอนโรงพยาบาลและนำไปสู่การผ่าตัดฉุกเฉิน จึงขอส่งเวร (แจ้งเรื่องสำคัญ)ไว้’ ไม่รอช้า ข้าพเจ้ารีบเดินไปที่ห้องคลอด เพื่อหาตัวคนไข้ดังกล่าว แต่พยาบาลห้องคลอดบอกว่า ‘ยังไม่มีคนไข้สักราย’
ข้าพเจ้ารีบขึ้นไปดูคนไข้ที่ผู้ป่วยชั้น 5 ก็พบคุณกนกพร อายุ 37 ปี ตั้งครรภ์นี้เป็นครรภ์ที่ 4 แต่มีบุตรอยู่ที่บ้าน 2 คน และแท้งบุตรในครรภ์ที่ 2.. จริงๆแล้วในครรภ์ที่ผ่านมา เธอได้รับการทำหมันไปแล้ว ไม่ทราบเพราะอะไร คุณกนกพรเกิดตั้งครรภ์ขึ้นและมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ คุณกนกพรมาฝากครรภ์ทุกวันจันทร์ตามนัดทุกครั้ง ในครั้งแรกนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนตรวจอัลตราซาวนด์ให้เธอเอง ตอนนั้น เธอเพิ่งตั้งครรภ์ได้เพียง 9 สัปดาห์ พออายุครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ ทางฝ่ายการพยาบาลได้แนะนำให้เธอเข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ แต่เธอปฏิเสธ อย่างไรก้ตาม คุณกนกพรได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะๆ..ตอนอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำอัลอัลตราซาวนด์ได้ตรวจดูให้กับเธอ แล้วพบว่า เธอมีภาวะ ‘รกเกาะต่ำชนิดปกคลุมปากมดลูกสนิท(Placenta previa totalis)’
พออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ คุณกนกพรมีปัญหาเรื่องลูกดิ้นน้อย เธอจึงเข้ารับการตรวจสภาพเด็ก (Non-stress test) และอัลตราซาวนด์ที่โรงพยาบาล ผลการตรวจอัลตราซาวนด์ ปรากฏว่า เธอยังมีภาวะ ‘รกเกาะต่ำ’ เหมือนเดิม
ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 ข้าพเจ้าได้เห็นคนไข้นอนสบายๆบนเตียง แต่ไม่มีเครื่องมือตรวจสภาพเด็ก เพื่อฟังการเต้นของหัวใจทารก ข้าพเจ้าสอบถามจากพยาบาลประจำหอผุ้ป่วย ได้คำตอบว่า ‘ต้องหยิบยืมจากห้องคลอดเป็นบางครั้ง บางคราว แล้วต้องส่งคืนหลังทำเสร็จ’
ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจอย่างหนึ่ง คือ ‘ทำไมคนไข้รายนี้จึงไม่เคยมีเลือดออกจากช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์เลย ทั้งๆที่มีรกเกาะต่ำชนิดคลุมปากมดลูกทุกทิศ’ ซึ่งปกติ ภาวะรกเกาะต่ำในคนท้องนั้น ย่อมจะต้องมีเลือดออกจากช่องคลอดเป็นระยะๆ (Painless bleeding) เลือดออกจากช่องคลอดครั้งแรกมักไม่มีปัญหาอะไร ปริมาณเลือดออกครั้งหนึ่งจะมีจำนวนตั้งแต่ เล็กน้อย จนถึงกว่า 500 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ซึ่งจำนวนเลือดที่ออกจะมากขึ้นเรื่อยๆทุกครั้งที่มีเลือดออก เช่น ในครั้งแรก (1st episode) มีเลือดออกมา 100 มิลลิลิตร (ซี.ซี.)… ครั้งที่ 2 ก็อาจออกมากประมาณ 300 มิลลิลิตร (ซี.ซี.)… ครั้งต่อมา ก็อาจออกมากถึง 500 มิลลิลิตร (ซี.ซี.)… ตั้งแต่ ครั้ง ที่ 4 เป็นต้นไป เลือดอาจไหลออกจากช่องคลอดไม่หยุด จนกว่าจะผ่าตัดคลอดและหยุดเลือดในห้องผ่าตัด
ข้าพเจ้าขอให้เจ้าหน้าที่พยาบาลส่งตัวคุณกนกพรลงไปที่ห้องคลอดและเข้ารับการตรวจสภาพเด็ก (Non – stress test) ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะเดินลงไปถึงห้องคลอด พยาบาลห้องคลอด ก็โทรศัพท์ติดต่อข้าพเจ้าเป็นการด่วนและบอกว่า “หัวใจของลูกคุณกนกพรเต้นช้ามาก แค่ 70 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น (หัวใจทารกเต้นต่ำกว่า 100 ครั้ง ต่อนาที ถือว่า ทารกอยู่ในสภาพขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง)” ข้าพเจ้าจึงรีบสั่งการให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน
ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้พูดกับพยาบาลและนักศึกษาแพทย์ว่า “คนไข้รายนี้ ไม่น่ามีปัญหาอะไรหรอก เนื่องจากไม่เคยมีเลือดออกจากช่องคลอดเลย.. จริงๆแล้ว เราควรตรวจดูอัลตราซาวนด์คนไข้ก่อนเพื่อมองหาตำแหน่งของรกว่า ‘มันเกาะอยู่ยังไงและส่วนไหนของมดลูก เพราะหากรกเกาะทางด้านล่าง ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการผ่าตัด แต่หากรกเกาะทางด้านหน้าหรือด้านบน ตอนที่เรากรีดมีดทะลุมดลูกที่ส่วนล่างมดลูกในแนวขวาง เพื่อหาทางเข้าสู่ตัวทารก เราจะเจอรกขวาง ทำให้ต้องใช้มือเซาะแยกรกออกจากมดลูก เพื่อหาส่วนของถุงน้ำคร่ำ จากนั้น ก็ต้องเจาะถุงน้ำคร่ำเข้าไปล้วงเอาเด็กออกมา ซึ่งตอนนั้นคนไข้คงสูญเสียเลือดอย่างมาก หากผมคว้านหาเด็กไม่เจอ และทำคลอดช้า เด็กมีโอกาสเสียชีวิต”
พอปฏิบัติจริง ข้าพเจ้าลงมือกรีดมีดบนผนังหน้าท้องตามแนวของแผลเดิม (Low midline incision) เป็นแผลตรงจากสะดือไปที่หัวเหน่า แต่พอกรีดมีดทะลุมดลูก ก็เจอรกขวางหน้าอยู่เต็มๆ ข้าพเจ้ารีบเซาะรกแยกจากมดลูกไปทางหัวเหน่าคนไข้ ทันใดนั้น ข้าพเจ้าก็ร้องอุทานโดยไม่ตัวออกมาว่า “ตายแล้ว!! หาถุงน้ำคร่ำไม่เจอ ” ข้าพเจ้ารีบเปลี่ยนทิศทางการเซาะรกไปทางขวา ข้าพเจ้าร้องเสียงหลงอีกครั้ง “แย่แล้ว!!!!! หาถุงน้ำคร่ำไม่เจอ” คราวนี้ ข้าพเจ้าย้อนเปลี่ยนทิศทางไปทางซ้าย ข้าพเจ้าใช้มือเซาะรกออกจากมดลูกไปซักพัก ก็เจอส่วนของถุงน้ำคร่ำ พื้นที่ของถุงน้ำคร่ำมีบริเวณกว้างพอสมควร คะเนว่า คงใช้มือล้วงดึงตัวเด็กออกมาได้
ข้าพเจ้ารีบใช้เครื่องมือเจาะทะลุถุงน้ำคร่ำและใช้มือขวาล้วงเข้าไปเพื่อดึงเด็กออกมา ไม่ทันไร… ข้าพเจ้าก็อุทานอออกมาอีก ว่า “โอย!! แย่แน่!! เด็กอยู่ในท่าเอาส่วนหลังหันลงล่าง (Dorso-posterior) ส่งกรรไกรมา ผมจะทำ Inverted T” ข้าพเจ้าพูดศัพท์เทคนิคทางการแพทย์ออกมา ซึ่งรู้กันในหมู่แพทย์พยาบาลห้องผ่าตัด จากนั้น ก็รีบใช้กรรไกรตัดขอบแผลมดลูกส่วนบนตรงกึ่งกลางเป็นแนวยาวขึ้นไปสู่ยอดมดลูก ลักษณะเหมือนตัว T หัวกลับ ข้าพเจ้าใช้กรรไกรตัดตามรูปแบบดังกล่าวครั้งที่หนึ่ง แล้วใช้มือล้วงเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อจับขาเด็กให้ได้ ข้าพเจ้าร้องสั่งการต่อ “ จับขาเด็กไม่ได้ ช่วยส่งกรรไกรมาอีก” ข้าพเจ้าใช้กรรไกรตัดตามแผลเดิมให้ยาวขึ้นไปอีก แล้วใช้มือล้วงเข้าไป..ข้าพเจ้าร้องอุทานอีกว่า “แย่แล้ว!! ยังจับขาเด็กไม่ได้ เร็ว!!! กรรไกร” ข้าพเจ้าพูดสั้นๆ พยาบาลห้องผ่าตัดรีบส่งกรรไกรให้อีกครั้ง ข้าพเจ้าใช้กรรไกรตัดตามแผลเดิมให้ยาวขึ้นไปอีก คราวนี้ ข้าพเจ้าใช้มือขวาล้วงเข้าไป..ผ่านสีข้างเด็ก และจับขาเด็กข้างหนึ่ง ค่อยๆดึงลงมา รีบทำคลอดตัวเด็ก พอจะทำคลอดส่วนหัว หัวเด็กกลับติดส่วนรกที่ขวางทางออก ข้าพเจ้ารีบสั่งการอีก “กรรไกร!!” ข้าพเจ้าใช้กรรไกรตัดรอยแผลเดิม เพื่อขยายช่องทางออกเพิ่มอีก และทำคลอดส่วนหัวของทารกน้อย
พอทำคลอดเด็กออกมาได้ ข้าพเจ้ารีบใช้ลูกยางแดงดูดของเหลวออกจากปากและจมูกเด็ก 2 – 3 ครั้ง คะเนว่า ช่องทางหายใจน่าจะโล่ง จึงส่งให้กับหมอเด็ก พร้อมกับบอกว่า ‘เด็กค่อนข้างป้อแป้ ช่วยหน่อย…ช่วยหน่อย..เร็วๆๆ’ คุณหมอเด็กและทีมงานต่างรีบช่วยเหลือเด็กกันอย่างวุ่นวาย โดยปั้มก๊าซออกซิเจนทางปากจมูกเด็ก เช็ดตัว ห่อตัว กระตุ้นเด็กด้วยการตบเบาๆ เขย่าและนวดตามร่างกายลูกคุณกนกพร ข้าพเจ้าเผลอใจ พยายามชะเงอเข้าไปดูทารกน้อยว่า เป็นยังไงบ้าง?? สักพักหนึ่ง ไม่นานนัก ทารกน้อยก็ร้อง และขยับแขนขา นั่นแสดงว่า หนูน้อยปลอดภัยแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกโล่งใจ และถอนหายใจเสียงดัง รีบเย็บแผลและทำการผ่าตัดต่อจนเสร็จ สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ข้าพเจ้าอยากจะเล่า ก็คือ การเย็บมดลูกในส่วนที่รกเกาะ (Placental site) เพื่อหยุดเลือดที่อาจไหลไม่หยุด จนนำไปสู่การตัดมดลูก ข้าพเจ้าได้เทคนิคนี้จากอาจารย์แพทย์ตอนที่ศึกษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช
พอสิ้นสุดการผ่าตัด ข้าพเจ้าได้บอกกับพยาบาลและนักศึกษาแพทย์ผู้ช่วยผ่าตัดว่า “ถ้าไม่มีประสบการณ์ เด็กคงโชคร้าย ส่วนผมก็คงแย่ อาจถูกฟ้องได้” วันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคุณกนกพรและลูกของเธอที่ห้องทารกเสี่ยง (High risk room) คุณกนกพรไม่มีปัญหาการตกเลือดหลังคลอด ส่วนลูกเธอก็หายใจได้ดี ขยับแขนขาอย่างร่าเริง คุณกนกพรอยู่โรงพยาบาล 5 วันก็กลับบ้านพร้อมกับลูก
ภาวะรกเกาะต่ำนี้ มักก่อเรื่องราวเลวร้ายที่น่ากลัวบ่อยๆ เหตุการณ์ครั้งนี้ บางที อาจด้วยกรรมดีในอดีตชาติของข้าพเจ้า ทำให้เป็นจังหวะพอดีที่ได้เดินขึ้นไปดูคนไข้ ณ หอผู้ป่วยและส่งคนไข้ลงมาที่ห้องคลอด ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าทราบสภาพความเป็นไปของทารกน้อย… บางที อาจด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน ทำให้การผ่าตัดที่ทำท่าจะผิดพลาด กลับพลิกผันแก้ไข้ได้อย่างหวุดหวิด รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่อาจารย์แพทย์เคยถ่ายทอดได้อย่างเหมาะสม
นี่แหละ!!! จังหวะชีวิต ที่พอเหมาะพอดี ด้วยกุศลกรรมในอดีต….
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *