มีชายคนหนึ่ง เขียนบรรยายเรื่องราวความงามของภรรยาไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างน่าอ่านว่า “สมัยก่อน เมื่อภรยายังสาว เธอมีใบหน้างดงาม รูปร่างดี ชอบแต่งกายประดับประดาด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์หรูหรา จนบางทียังเผลอคิดไปว่า เธอคือนางฟ้า มาถึงตอนนี้เมื่อมีลูก ภรรยามีรูปร่างเปลี่ยนไป ใบหน้ามักมีคราบน้ำมันเปรอะเปื้อนยามเข้าครัว สำหรับเสื้อผ้า หลายครั้งหลายคราที่มองดูแล้ว อยู่ในสภาพไม่เรียบร้อย ท่วงท่ากิริยา บางทีเธอก็อยู่ในท่าคุกเข่าคลานและให้ลูกนั่งบนข้างหลัง โดยมีเสียงหัวเราะของลูกระคนไปกับเสียงหยอกล้อของเธอ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ตอนนี้ ภรรยาของเขางามกว่าเมื่อครั้งกระโน้นอย่างเทียบกันไม่ได้เลย” ข้าพเจ้าอ่านแล้ว ทำให้นึกถึงคนไข้รายหนึ่ง
วันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรโรงพยาบาลตำรวจ และมีเหตุให้ต้องผ่าตัดคนไข้ท้องรายหนึ่งอย่างฉุกเฉิน ก่อนที่พยาบาลดมยาจะใส่ท่อช่วยหายใจให้กับคนไข้รายนั้น เธอได้สำรวจปากของคนไข้ ปรากฏว่า ฟันของคนไข้เหลือน้อยเต็มที ฟันบนแถวหน้าทั้งบนและล่างมีเหลือเพียงไม่กี่ซี่ โดยฟันหน้าที่อยู่ตรงกลางหายไป 2 ซี่ คุณพยาบาลดมยาถึงกับอุทานว่า “คนไข้คุณหมอสุดยอดจริงๆ ฟันฟางโยกคลอนมาก ฟันเกือบจะหลุดหมดปากแล้ว เวลาเปิดปากและใส่เครื่องมือเข้าไปเพื่อถ่างปาก มีหวัง..ต้องมีฟันซี่ใดซี่หนึ่งหลุดจากเหงือก สุขภาพฟันก็แย่มาก เฮ่อ! ทำไมถึงปล่อยให้เป็นอย่างนี้?” การที่พยาบาลดมยาบ่น ก็เพราะเธอได้พบกับความไม่งามตา น่าดูของคนไข้ ซึ่งจริงๆแล้ว คนเราก็เป็นเช่นนั้น คงต้องมีสักวันหนึ่งที่มีการเสื่อมของสังขาร…..เพราะไม่มีใครอยู่เป็นหนุ่มเป็นสาวได้ตลอดกาล
คนไข้รายนี้ ชื่อ คุณหนึ่งนุช เธออายุ 30 ปี ตั้งครรภ์นี้เป็นครรภ์ที่ 3 2 ครรภ์แรกคลอดเองตามธรรมชาติ ทารกแรกเกิดหนัก 3400 กรัมทั้งสองคน ลูกคนสุดท้องอายุ 2 ขวบ เธอเริ่มฝากครรภ์ที่โรงงพยาบาลตำรวจตอนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ พออายุครรภ์ได้ 27 สัปดาห์ ก็พบว่า ขนาดมดลูกใหญ่กว่าอายุครรภ์ เมื่อตรวจดูด้วยเครื่องตรวจอัลตราซาวนด์ ปรากฏว่า ทารกมีขนาดเท่ากับ 33 สัปดาห์ ผิดจากอายุครรภ์ที่แจ้งไว้ 5 สัปดาห์ ซึ่งในทางการแพทย์กรณีที่อายุครรภ์มีความแตกต่างกันมากเช่นนี้ ย่อมเชื่อถือจากการวัดด้วยเครื่องตรวจอัลตราซาวนด์มากกว่า
คุณหนึ่งนุช มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ ในขณะที่มีอายุครรภ์ประมาณ 38 สัปดาห์(คำนวณจากการตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์) มดลูกมีการหดรัดตัวทุก 2 นาที 30 วินาที ส่วนหัวของทารกเข้าสู่อุ้งเชิงกรานแล้ว(Engagement) ตอนนั้น คุณหนึ่งนุชถูกส่งไปเข้าเครื่องตรวจสภาพเด็ก (Non-stress test) เนื่องจากน้ำหนักลดไป 1.7 กิโลกรัมใน 1 สัปดาห์ ระหว่างที่นอนพักรับการตรวจสภาพเด็กอยู่นั้น ปรากฏว่า อัตราการเต้นของหัวใจเด็กมีการลดลงอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกว่า ตกวูบ (Variable deceleration) หลายจังหวะ สูติแพทย์ที่หน่วยฝากครรภ์ เห็นผิดสังเกต จึงส่งคนไข้ขึ้นมาที่ห้องคลอด เพื่อตรวจให้แน่ใจว่า ความผิดปกติของการเต้นของหัวใจเด็กเกิดจากอะไร
ที่ห้องเตรียมคนไข้ เมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกา พยาบาลห้องคลอดคนหนึ่งตรวจภายในคุณหนึ่งนุช แล้วรีบวิ่งมาบอกกับข้าพเจ้าว่า “ปากมดลูกของคนไข้เปิด 3 เซนติเมตร และพบอะไรหยุ่นๆ คล้ายสายสะดือที่บริเวณปากมดลูก หมอช่วยไปตรวจหน่อยสิ” ข้าพเจ้าค่อยๆเดินไปดูคนไข้และทำการตรวจภายในโดยไม่ได้คิดว่า จะมีอะไรผิดปกติ แต่…ก็ต้องตกใจและร้องตะโกนโวยวายขึ้นว่า “เตรียมผ่าตัดด่วน!! เร็วเข้า!! มีสายสะดือย้อยนำอยู่หน้าหัวเด็ก(Forelying cord) รีบด่วนเลยนะ!! เดี๋ยว ถ้าถุงน้ำคร่ำแตก สายสะดือจะถูกกดทับ เด็กก็จะตายทันที!! ”
คราวนี้ พยาบาลห้องคลอดทุกคน รวมทั้งพยาบาลห้องผ่าตัด ก็กุลีกุจอรีบเตรียมคนไข้ พยาบาลบางคนโทรแจ้งหมอเด็กให้รับทราบ ตอนนั้น ข้าพเจ้าวิ่งไปที่ห้องผ่าตัดซึ่งอยู่ติดกันกับห้องคลอด พร้อมร้องสั่งการว่า “ผมจะผ่าตัดเดี๋ยวนี้เลยนะ มีกรณีสายสะดือย้อยที่ห้องคลอด” พยาบาลที่นั่นเข้าใจความหมายนี้เป็นอย่างดี แต่เผอิญ..ห้องผ่าตัดไม่ว่างสักห้อง พยาบาลห้องผ่าตัดคนหนึ่งสติดี ร้องถามข้าพเจ้าว่า “ถุงน้ำคร่ำแตกหรือยัง? เพราะกำลังเร่งหมอที่ผ่าตัดอยู่ ห้องแรก หมอฝึกหัดกำลังเย็บปิดหน้าท้องอยู่ คงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร อีกห้องหนึ่ง คุณหมอทัศนีย์กำลังขูดมดลูก คิดว่า ประมาณ 5 นาทีคงจะเสร็จ หนูคิดว่า เอาคนไข้เข้าห้องที่ 2 จะดีกว่า ”
ข้าพเจ้ารีบเดินย้อนกลับไปที่ห้องเตรียมคลอดอีกครั้ง และร้องบอกให้พยาบาลช่วยติดเครื่องตรวจสุขภาพเด็กเพื่อฟัง และบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจเด็กที่ท้องของคุณหนึ่งนุชระหว่างรอเข้าห้องผ่าตัด เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า เสียงหัวใจเด็กบางครั้งมีอัตราการเต้นลดลงอย่างน่าตกใจ พยาบาลทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลคนไข้ ไม่ว่า จะเป็นการแนะนำให้คุณหนึ่งนุชนอนตะแคงซ้าย การให้ก๊าซออกซิเจนที่จมูก การเพิ่มน้ำเกลือเข้าไปในเส้นเลือด และการเฝ้าสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจเด็กอย่างใกล้ชิด สักครู่หนึ่ง พยาบาลห้องผ่าตัดก็เดินมาแจ้งให้รีบขนย้ายคนไข้ไปเข้าห้องผ่าตัดที่ 2
คุณหนึ่งนุชได้รับการขนถ่าย และเคลื่อนย้ายตัวจากเตียงเข็นไปยังเตียงผ่าตัดอย่างรวดเร็ว ไม่รอช้า! ข้าพเจ้ารีบล้างมือและแต่งตัวชุดผ่าตัดเข้าไปรอประจำที่เพื่อเตรียมผ่าตัด พอพยาบาลดมยาคนหนึ่งกำลังจะใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดมยา เธอก็อุทานออกมาว่า “ตายแล้ว!! ไม่รู้ว่า จะใส่ท่อช่วยหายใจได้หรือเปล่า หนูกลัวจะทำฟันของคนไข้หลุดร่วงเข้าไปในคอ เพราะฟันเกือบหมดปากมีการโยกคลอน” ดังที่เล่าไปแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม ในที่สุด พยาบาลดมยาคนนั้นก็ประสบความสำเร็จในการใส่ท่อช่วยหายใจ โดยไม่ได้ทำให้ฟันคนไข้หักสักซี่หนึ่ง ข้าพเจ้าไม่ได้สนใจอะไรทั้งนั้น รีบลงมีด กรีดผ่านชั้นต่างๆของผนังหน้าท้องและมดลูกส่วนล่างของคุณหนึ่งนุช จนถึงถุงน้ำคร่ำ จากนั้น ข้าพเจ้าเจาะถุงน้ำคร่ำ เอามือชอนหัวและทำคลอดเด็กออกมา ปรากฏว่า ลูกคุณหนึ่งนุชอยู่ในสภาวะขาดก๊าซออกซิเจนพอสมควร เพราะเด็กถ่ายขี้เทาออกมาจำนวนมาก (Thick meconium)
ข้าพเจ้ายังไม่ได้ล้วงรกออกจากมดลูกในทันที เพราะต้องการดูให้รู้แน่ว่า อะไรเป็นเหตุให้สายสะดือย้อยลงไปเป็นส่วนนำอยู่ข้างหน้าหัวเด็ก ข้าพเจ้าค่อยๆสาวมือไล่ตามสายสะดือลงไปเพื่อหาตำแหน่งที่เกาะบนตัวรก ก็พบว่า สายสะดือของลูกคุณหนึ่งนุชไม่ได้เกาะที่ตัวรกตามที่ควรจะเป็น แต่ไปเกาะบนถุงน้ำคร่ำบริเวณใกล้ๆกับปากมดลูก( Placenta valamentosa) ซึ่งเป็นผลให้สายสะดือส่วนหนึ่งไปกองอยู่แถวบริเวณปากมดลูก อันเป็นเหตุให้หัวเด็กกดทับในบางโอกาส เป็นผลให้เด็กขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือด จนหูรูดทวารหนักคลายตัวและถ่ายขี้เทาออกมา (Thick meconium)
ลูกของคุณหนึ่งนุชคลอดเมื่อเวลา 10 นาฬิกา 30 นาที เป็นทารกเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 3380 กรัม คะแนนศักยภาพแรกเกิดเท่ากับ 10 , 10 (เต็ม) แต่เนื่องจากทารกมีการกลืนเอาขี้เทาเข้าไปในท้องจำนวนหนึ่ง ซึ่งกุมารแพทย์ไม่แน่ว่า ทารกสำลักเอาขี้เทาเข้าไปในปอดหรือไม่ กุมารแพทย์จึงต้องให้ลูกของคุณหนึ่งนุชนอนเพื่อสังเกตอาการในห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด ซึ่งคุณหนึ่งนุชและลูกก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านหลังจากนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน
การวินิจฉัยภาวะสายสะดือย้อยของทารกในครรภ์ขณะที่ถุงน้ำคร่ำยังไม่มีการแตกนั้น(Forelying cord) ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ตรวจภายในคนแรกเป็นสำคัญ ถ้าคนผู้นั้นไม่รู้ว่า ส่วนคลำได้ที่มีลักษณะหยุ่นๆขดไปขดมา เป็น สายสะดือที่อยู่ด้านหลังถุงน้ำคร่ำและเผลอทำให้ถุงน้ำคร่ำแตก ทารกจะตายทันทีจากการที่สายสะดือถูกกดทับ(Prolapsed cord) ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณพยาบาลคนที่สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้แม้จะยังไม่ค่อยมั่นใจก็ตาม เพราะถือว่า เธอมีส่วนสำคัญในการช่วยชีวิตทารกน้อยรายนี้ไว้
ส่วนข้าพเจ้าเองนั้น ยังติดใจคำพูดของพยาบาลดมยาที่ว่า “ฟันฟางของคนไข้ไม่ค่อยจะมี ส่วนฟันที่เหลืออยู่ ก็โยกคลอนเกือบหมดทั้งปาก” ข้าพเจ้าสังเกตว่า คุณหนึ่งนุชนั้นหน้าตาดูแปลกๆ เพราะฟันบนข้างหน้าหายไป 2 ซี่ รวมทั้งฟันอื่นๆอีกหลายซี่ พลางคิดว่า สังขารคนเราจะต้องร่วงโรยลงทุกวัน วันหนึ่ง ตัวเราและภรรยาก็คงมีผิวหนังเหี่ยวย่น ฟันหัก ผมบาง กลายเป็นคนชรา ที่ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง ความสวยงามในสมัยเมื่อยังหนุ่มยังสาวไม่อาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป คิดแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ ใครเข้าใจความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์ ก็สามารถยิ้มได้ด้วยดวงใจที่เบิกบาน ดั่งบทกลอน“ ความงาม”ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมาเล่นๆ เพื่อแก้เหงา
ความงาม ล้ำเลอค่า ติดตัวมา ตั้งแต่เกิด
พร้อมจิต ที่ประเสริฐ บริสุทธิ์ ดุจผ้าขาว
เติบใหญ่ เหมือนผ้าไหม ทอถักใย เป็นผืนยาว
สีสัน ดูเพริดพราว เปรียบหญิงสาว คราวดรุณ
ที่สวย ด้วยคนทอ ตั้งตารอ ใจหมกมุ่น
มุ่งมั่น ฝันเป็นทุน ครวญคิดครุ่น ไม่วางวาย
พ่อแม่ คือผู้ถัก ด้วยความรัก ไม่ห่างหาย
คุณครู ไม่ดูดาย เปลี่ยนฝันร้าย กลายเป็นดี
เพื่อนเพื่อน หลายจำพวก เช่นมดปลวก ก็มากมี
ชักชวน ให้อัปรีย์ ชี้ทางชั่ว มั่วอบาย
บางคน คล้ายตัวหม่อน คอยสั่งสอน ก่อนจะสาย
ฟอกจิต ชำระกาย สานสายใย ได้ไหมงาม
ผู้คน ที่รอบข้าง มีบางอย่าง น่าเกรงขาม
ชักจูง ให้ก้าวข้าม คุณความดี ที่ควรทำ
ความงาม ธรรมชาติ ไม่ประหลาด อย่างลึกล้ำ
สรรพสิ่ง ควรจดจำ กำหนดไว้ ในใจเรา
อันความงาม อัปลักษณ์ ซึ้งประจักษ์ เพราะความเขลา
ยึดติด ด้วยรูปเงา ที่ปรุงแต่ง แฝงกันมา
ดังนั้น จงปลงจิต ฝึกนึกคิด ไม่อิจฉา
ทุกสิ่ง ล้วนมีค่า งามโสภา น่าภิรมย์.
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน