ภาวะกระดูกหัวเหน่าแยก ( pubic symphysis separation )

วันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นวันเกิดของข้าพเจ้า ถึงแม้จะเป็นวันเกิด แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ตื่นเต้นหรือดีใจ ตรงกันข้าม กลับต้องตกใจและหดหู่ใจอย่างบอกไม่ถูก เนื่องจากตอนเช้าตรู่ ในขณะที่กำลังผ่าตัดคลอดบุตรให้กับคนไข้สตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดรายหนึ่ง ก็ได้รับทราบข่าวอันชวนสลดใจ ถึงการจากไปอย่างกระทันหันของอาจารย์สตรี ซึ่งสนิทสนมกับข้าพเจ้า…..
สำหรับกรณีของคุณสุภาณี ซึ่งเป็นคนไข้สตรีที่ข้าพเจ้าทำการผ่าตัดคลอดให้นั้น เธอเป็นคนไข้ที่น่าสนใจมาก เนื่องจาก เธอมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์อย่างหนึ่งที่นานๆจะพบสักครั้ง แต่ก็มีความสำคัญและอันตราย ภาวะแทรกซ้อนที่ว่านั้น คือ กระดูกหัวเหน่าแยกตัว ( pubic bone separation ) เดิมที คุณสุภาณีเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดกันบางประการระหว่างคนไข้กับคุณหมอ คุณสุภาณีจึงเกิดความน้อยใจและขอย้ายโรงพยาบาล เพื่อมาให้ข้าพเจ้าดูแลแทนสูติแพทย์ท่านเดิม
คุณสุภาณี อายุ 26 ปี เคยมีประวัติเป็นลมชัก เมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ เธอได้ไปรักษาภาวะมีบุตรยากกับคุณหมอท่านหนึ่ง เนื่องจากเธอมีอาการปวดประจำเดือนบ่อยๆและได้รับการตรวจพบว่าเป็นถุงน้ำรังไข่ที่เรียกว่า Chocholate cyst การรักษาได้ผลเป็นอย่างดีจนตั้งครรภ์สำเร็จหลังจากรักษาได้เพียงครึ่งปี การตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นครรภ์แรก จึงสร้างความหนักใจให้กับคุณสุภาณีไม่ใช่น้อย เธอเริ่มฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์
พออายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ คุณสุภาณีเริ่มมีอาการเจ็บตรงหัวเหน่า คุณหมอที่รับฝากครรภ์ อธิบายว่า น่าจะเป็นจากสาเหตุอะไรได้บ้าง อย่างไรก็ตาม คุณหมอคิดว่า ไม่น่าจะเป็นอะไรมาก คำอธิบายของคุณหมอไม่ได้ผล คนไข้ยังคงสับสนและกังวลเกี่ยวกับภาวะนี้ ยิ่งนานวัน อาการปวดหัวเหน่า ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนั้น ยังสร้างความหนักใจให้กับทุกคนในครอบครัวของคุณสุภาณี
ในเดือนสิงหาคม ขณะตั้งครรภ์ได้ 21 สัปดาห์ อาการปวดหัวเหน่า ได้สร้างความทุกข์ทรมานอย่างที่สุดให้กับคุณสุภาณี คุณหมอที่รับฝากครรภ์ได้ให้คุณสุภาณีเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ เป็นธรรมดาอยู่เอง….. ที่นักศึกษาแพทย์ต่างก็เข้ามาสอบถามประวัติตามหน้าที่ นอกจากนั้น ยังมีการตั้งประเด็นคุยกันระหว่างนักศึกษาว่า จะทำอย่างไรต่อไป คุณสุภาณีเริ่มไม่สบายใจกับความรู้ใหม่ๆที่บรรดานักศึกษาแพทย์ถกเถียง วิเคราะห์และวิจารณ์ ซึ่งสุดท้าย ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า จะให้การรักษาอย่างไร เพราะคุณหมอเจ้าของไข้ ยังไม่ได้สั่งการรักษาลงมา
คุณสุภาณีเล่าว่า “ ตอนนั้น หนูไม่กล้ากินยาแก้ปวด เพราะ กลัวลูกจะได้รับอันตรายจากยา แต่..หนูปวดหัวเหน่ามากจนทนแทบไม่ไหว มีใครบ้าง?จะช่วยหนูได้ หนูคิด คิด หนูได้โทรศัพท์ไปหาคุณหมอเจ้าของไข้ ปรากฏว่า คุณหมอยุ่งอยู่กับงานจนลืมที่จะมาเยี่ยม หนูจึงขออนุญาตออกจากโรงพยาบาลในตอนนั้นเลย ”
เมื่อคุณสุภาณีมาพบกับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้ายังจำได้ดีถึงสีหน้าที่เคร่งเครียดของเธอและสามี คุณสุภาณีต้องอยู่นั่งบนรถเข็นตลอดเวลา เมื่อเข้ามาในห้องตรวจ ข้าพเจ้าได้ตรวจดูที่บริเวณหัวเหน่าของคุณสุภาณี ก็พบว่า มีอาการบวม, แดง, ร้อนและปวดเมื่อถูกสัมผัส อันเป็นอาการแสดงของภาวะกระดูกหัวเหน่าแยกตัว ตรงข้อต่อของกระดูกเชิงกรานทางด้านหน้า ( pubic bone ) บริเวณกึ่งกลาง เหนือกระเพาะปัสสาวะ ( mons pubis ) อาการปวดจากการที่กระดูกหัวเหน่าแยก ( pubic symphysis separation ) มักกระจายไปทั่วทั้งบริเวณหัวเหน่าและหน้าขาทั้งสองข้าง จนทำให้เดินไม่ไหว บางครั้งยังมีผลทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติอีกด้วย คุณสุภาณีมีอาการครบทุกอย่างตามที่กล่าวมาข้างต้น ยกเว้นเรื่องกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ
หลังจากอธิบายถึง ภาวะแทรกซ้อนและการพยากรณ์ของภาวะนี้ให้คุณสุภาณีและสามีทราบแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอให้เธอนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ปกติ ภาวะกระดูกหัวเหน่าแยก (pubic bone separation ) นี้ มีอุบัติการณ์ 1 ต่อ 300 ถึง 30,000 คนที่ตั้งครรภ์ สาเหตุอาจเกิดจากการที่ข้อต่อต่างๆของกระดูกเชิงกรานขยายตัวเพื่อรองรับการตั้งครรภ์ นอกจากนั้น ยังอาจเกี่ยวข้องกับภาวะข้อต่อหลวม , ทารกตัวใหญ่ หรือ การตั้งครรภ์หลายๆครั้ง สำหรับการรักษาก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่ให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและให้ยาแก้ปวดตามความรุนแรงของอาการ ซึ่งส่วนใหญ่ตอนที่คนไข้เหล่านี้มาพบแพทย์ อาการปวดมักจะรุนแรงมากจนไม่สามารถขยับตัวได้ จึงต้องให้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนฉีดเข้ากล้ามทุก 4 – 6 ชั่วโมง นอกจากนั้น บางที อาจจำเป็นต้องให้คนไข้ใช้ผ้าพันรอบหัวเหน่า ( pelvic binding ) และอุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหว ( ambulation devices ) การรักษาที่กล่าวมานี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ก็ทำให้อาการต่างๆหายไปอย่างสมบูรณ์
สำหรับกรณีของคุณสุภาณี เธอนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพียง 3-4 วัน อาการปวดหัวเหน่าก็ทุเลาลง อย่างไรก็ตาม คุณสุภาณียังคงเดินไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องมีคนคอยพยุงเวลาทำกิจธุระส่วนตัวอีกเป็นเวลานานหลายสัปดาห์
ทุกครั้งที่มีอาการผิดปกติรบกวน ไม่ว่า จะมากน้อยแค่ไหน คุณสุภาณีจะแสดงสีหน้าท่าทางวิตกกังวลและกลัวการคลอดก่อนกำหนดอย่างมาก คุณสุภาณีได้มานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก 2 – 3 ครั้งด้วยเรื่องเป็นลม ( Fainting ) และเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี จนอายุครรภ์ใกล้ครบกำหนด
ในวันเกิดของข้าพเจ้าที่ผ่านมา ราว 3 นาฬิกา คุณสุภาณีมีอาการเจ็บครรภ์มาโรงพยาบาล ขณะนี้ เธอมีอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ให้การรักษาแบบประคับประคองกับเธอ เพื่อรอที่จะผ่าตัดคลอดในตอนเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่มีบุคลากรทางการแพทย์พร้อมมูล
ทำไม ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจผ่าตัดคลอดเอาเด็กออกทางหน้าท้องให้กับคุณสุภาณี?
ก็เพราะ คนไข้กลัวการคลอดเองทางช่องคลอดอย่างมาก นอกจากนั้น จากรายงานของนิตยสารทางการแพทย์ของต่างประเทศ พบว่า ยังมีกรณีที่กระดูกหัวเหน่าแยกตัวหรือแตกเกิดขึ้นในสตรีช่วงกำลังเบ่งคลอดและหลังคลอดใหม่ๆ ซึ่งมีอาการเจ็บปวดรุนแรงมาก จนอาจส่งผลต่อความอยู่รอดของทารกด้วย
การผ่าตัดในวันนั้น เป็นไปอย่างเรียบร้อยและปลอดภัย ทารกน้อยคลอดเมื่อเวลา 8 นาฬิกา 19 นาที เป็นทารกเพศหญิง มีน้ำหนักแรกคลอด 3010 กรัม แข็งแรงสมบูรณ์ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจกับคนไข้และครอบครัว ความกังวลใจต่างๆของคุณสุภาณี ได้มลายหายสิ้นแล้ว
บัดนี้ ข้าพเจ้ามีเพื่อนร่วมวันเกิดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ทุกๆปี หนูน้อยลูกคุณสุภาณี คงมีความสุขและฉลองวันเกิดเหมือนกับข้าพเจ้า
วันเกิดของข้าพเจ้าปีนี้ ไม่เหมือนปีก่อนๆ ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจเลย เนื่องจากอาจารย์สตรีซึ่งสอนข้าพเจ้าที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้จากไปอย่างกระทันหัน ด้วยภาวะแทรกซ้อนปอดอักเสบและติดเชื้อทั่วร่างกายหลังจากป่วยเป็นมะเร็งรังไข่มาได้ระยะหนึ่ง……. ประเทศไทยได้สูญเสียทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าไปอีกคนหนึ่งแล้ว
ในวันคล้ายวันเกิดของคนเราทุกคน ย่อมมีการเกิด-การตาย ดีใจ-เสียใจ หัวเราะ และร้องไห้ เป็นไปพร้อมๆกันเสมอ คนที่มีชีวิตอยู่ ก็ต้องทำความดีต่อไป เพื่อความเป็นสิริมงคลสำหรับตนเอง บางที…………ท่านอาจจะมีความคิด เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในโลกนี้ เหมือนกับข้าพเจ้าก็ได้ ดั่งบทกลอน “ เคล็ดลับของชีวิต ” ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นมา เพื่อเตือนตัวเอง

เคล็ดลับ ของชีวิต คือ ไม่คิดอะไรมาก
ไม่อยู่ อย่างยุ่งยาก ไม่นึกอยาก เป็นอาจิณ
ไม่โลภ โมโทสัน ไม่หุนหัน อย่างบ้าบิ่น
ไม่โกง ผืนแผ่นดิน ไม่ลืมสิ้น ถิ่นเคยเนา
ไม่หลง ความไม่รู้ ไม่ลบหลู่ ครูผู้เฒ่า
ไม่หลอก ตัวของเรา ไม่จับเจ่า เฝ้าแต่รอ
ไม่เกลียด การงานหนัก ไม่จมปลัก รักเคยก่อ
ไม่เป็น คนสอพลอ ไม่ทดท้อ ต่อความจริง
“โลกนี้ มีใดแน่ เปลี่ยนปรวนแปร ไปทุกสิ่ง”
หวั่นไหว ไม่หยุดนิ่ง ดุจน้ำกลิ้ง บนใบบอน
“ชีวิต เป็นอย่างนั้น” มันแสนสั้น ดั่งคำสอน
โลดแล่น เหมือนละคร ทุกบทตอน ต้องเข้าใจ
อนิจจัง ความไม่เที่ยง ใครก็เลี่ยง ไปไม่ได้
ก่อนสิ้น ขอฝากไว้ ความสดใส ในผลงาน
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *