เด็กปากแข็ง

หลายวันก่อน ข้าพเจ้าต้องตื่นตกใจกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเรื่องหนึ่ง ซึ่งจู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไม่ทันตั้งตัว แต่…ท่านเชื่อหรือไม่ว่า บุญวาสนาและปาฏิหาริย์มีจริง คนไข้และลูกแฝดของเธอทั้งสองคนรอดชีวิต ข้าพเจ้าเองก็ได้อนิสงค์จากบุญนั้นด้วย

คนไข้รายนี้ ชื่อ คุณพอเดย์ เป็นชาวกะเหรี่ยง สัญชาติไทย อายุ 21 ปี ตั้งครรภ์แรก เป็นครรภ์แฝดสอง วันแรกประจำเดือนครั้งสุดท้ายของเธอ คือ 5 เมษายน 2552 และมีกำหนดคลอดวันที่ 10 มกราคม 2553 ช่วงแรกๆ คุณพอเดย์ ฝากครรภ์ที่คลินิกใกล้บ้าน เขตพระโขนง เธอเคยได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ 1 ครั้ง พบเป็นแฝดสอง ตอนนั้น อายุครรภ์เทียบจากส่วนต่างๆของร่างกายทารก เท่ากับ 28 สัปดาห์ทั้งสองคน คุณหมอที่คลินิกแนะนำให้เธอมาฝากต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากกลัวอันตรายที่จะเกิดตามมาในเวลาอีกไม่นานนัก

จริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น!! คุณพอเดย์ มาโรงพยาบาลตำรวจตอนอายุครรภ์ 31 สัปดาห์ และนัดมาตรวจครรภ์ทุกสัปดาห์ ข้าพเจ้ายังได้สั่งยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก (Bricanyl) ให้ตอนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ และนัดให้ไปเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์อย่างละเอียดกับสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งผลการตรวจพบว่า ทารกทั้งสองมีขนาดพอๆกัน และเท่ากับอายุครรภ์

เมื่อคุณพอเดย์ ตั้งครรภ์ได้ ประมาณ 34 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ให้เธอเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องด้วยเธอมีมดลูกแข็งตัวเป็นระยะๆ (Premature labor) ข้าพเจ้าวางแผนจะให้ยาชื่อ Magnesium sulfate ผ่านทางเส้นเลือดดำ เพื่อยับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก เนื่องด้วยยาอีกตัวหนึ่ง ( Bricanyl) ทำให้เธอใจสั่นมาก ยังโชคดี! ที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้ยา เพราะพยาบาลคนหนึ่งพูดคัดค้านว่า ‘มดลูกของคุณพอเดย์ พอเธอได้นอนพักรักษาตัวระยะหนึ่ง ก็ไม่ค่อยหดรัดตัว นานๆจะมีการแข็งตัวสักครั้งหนึ่ง’ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ จึงไม่ควรให้ ข้าพเจ้ายินยอมทำตามที่พยาบาลคนนั้นเสนอ แต่พอตกเวรบ่าย คุณหมอสูติแพทย์เวรอีกท่าน ไม่ฟังคำทักท้วง สั่งการให้ยา Magnesium sulfate ทางเส้นเลือดดำ เวลาผ่านไปประมาณ 4-5 ชั่วโมง คุณพอเดย์ได้แสดงอาการรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวกและอาเจียนอยู่บ่อยครั้ง แม้พยาบาลจะรายงานให้แพทย์เวรทราบ ท่านก็ยังขอเวลาพิสูจน์ว่า ‘คนไข้เข้าข่ายได้รับยาในขนาดที่เป็นพิษ (Toxicity) หรือไม่’ พอถึงตอนเช้าวันรุ่งขึ้น คุณพอเดย์หายใจแทบไม่ออกและแสดงอาการกระสับกระส่ายมาก หัวหน้าพยาบาลห้องคลอดจึงตัดสินใจหยุดยาเอง แล้วรายงานให้สูติแพทย์เวรทราบภายหลัง จากนั้นมา คุณพอเดย์ก็ดีขึ้นตามลำดับ เธอนอนพักโรงพยาบาล 5 วัน ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรรักษาการห้องคลอด.. ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ก็ไม่พบมีปัญหาอะไรให้หนักใจ พอตกเย็น พยาบาลได้โทรศัพท์รายงานว่า ‘มีคนไข้อยู่ห้องรอคลอด 2 ราย’ ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้ใช้วิธีเร่งคลอดทั้งสองรายเลย เพราะปากมดลูกเปิดมากพอสมควร ตอนค่ำ ประมาณ 2 ทุ่ม ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปถามถึงความคืบหน้า ปรากฏว่า คนไข้รายหนึ่งคลอดไปแล้ว ยังเหลืออีกรายหนึ่งปากมดลูกเปิดหมด และกำลังเบ่งคลอด ข้าพเจ้าได้แวะผ่านไปดู และขอนั่งรอในห้องคลอด จนกว่าคนไข้รายนั้นจะคลอด อานิสงค์ของบุญจากจิตที่เป็นกุศล!! ทำให้มีคนไข้ท่าก้น (breech presentation) รายหนึ่งเข้ามาห้องคลอดราว 2 ทุ่มครึ่ง หากข้าพเจ้ากลับบ้านไปซะก่อน ก็ต้องขับรถกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อผ่าตัดคลอด สำคัญยิงกว่านั้น คือ ขณะที่กำลังส่งคนไข้ท่าก้นไปยังห้องผ่าตัด คุณพอเดย์ได้มาปรากฏกายที่หน้าห้องคลอดตอนเวลาประมาณ 3 ทุ่ม

พอข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดคนไข้ท่าก้นเสร็จ ก็รีบกำหนดให้มีการผ่าตัดคลอดกับคุณพอเดย์ติดต่อกันไป โดยข้อบ่งชี้ คือ สงสัยเธอเป็น ‘ไข้หวัด 2009’ พร้อมอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ (สำหรับครรภ์แฝด ทารกอายุครรภ์เท่านี้ ถือว่า มีสภาวะเติบโตพอที่จะสามารถอยู่รอดได้ในโลกภายนอก) เนื่องจากสังเกตว่า คุณพอเดย์มีไข้สูงลอย ถึง 40 องศาเซลเซียส หากไม่ทำการผ่าตัดคลอดตอนนั้น วันรุ่งขึ้น คุณพอเดย์อาจเสียชวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 พร้อมกับ บุตรทั้งสอง ซึ่งคงไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนไข้ และญาติ อันอาจนำความยุ่งยากมาสู่ รวมทั้งการฟ้องร้องทางกฎหมาย

ก่อนผ่าตัด วิสัญญีแพทย์เวรได้ขอเปลี่ยนวิธีการฉีดยาสลบเข้าไขสันหลังของคุณพอเดย์ เป็นการดมยาสลบโดยใส่ท่อช่วยหายใจผ่านทางหลอดลม (Endotubation) เนื่องจากเห็นผลเลือดของเธอว่า เกล็ดเลือดต่ำมากเหลือเพียงแค่ 63,000 หน่วยต่อมิลลิลิตร (ค่าปกติ ประมาณ 2 – 4 แสนหน่วยต่อมิลลิลิตร) เท่านั้น ข้าพเจ้าก็เห็นด้วย

ตอน 4 ทุ่มเศษ ข้าพเจ้ารีบผ่าตัดคลอดให้คุณพอเดย์ ข้าพเจ้าใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ก็ลงมีดผ่านผนังมดลูกถึงถุงน้ำคร่ำ แต่ก็ต้องตกใจที่เห็นสีของน้ำคร่ำข้างใต้ถุงน้ำคร่ำเป็นสีเขียวคล้ำ (Thick meconium) ข้าพเจ้ารีบทำคลอดทารกตัวแรกก่อน โดยใช้คีมคีบ (Forceps) ที่หัวเด็กก่อนถุงน้ำคร่ำแตก จากนั้น ก็เจาะถุงน้ำคร่ำ และดึงหัวทารกคลอดอย่างรวดเร็ว ทารกตัวแรกคลอดเมื่อเวลา 22 นาฬิกา 27 นาที แรกคลอด ลูกคุณพอเดย์มีตัวอ่อนปวกเปียก ไม่ร้อง ข้าพเจ้าได้ล้วงนิ้วมือเข้าไปในปากเด็ก เพื่ออ้าปากออก จากนั้น ก็ดูดน้ำคร่ำออกด้วยลูกยางแดง ข้าพเจ้าดูดลูกยางแดงสักพัก ก็รู้สึกถึงแรงกดจากปากเด็ก ข้าพเจ้าเผลอพูดออกมาว่า “เด็กคนนี้ปากแข็ง น่าจะรอด” เพราะนั่น แสดงถึงสัญชาตญาณของเด็กที่จะแข็งขืนกับโชคชะตา ข้าพเจ้ารีบส่งเด็กให้กับกุมารแพทย์ คุณหมอพยายามช่วยเหลือเด็กอย่างเต็มที่ ด้วยการตบ ตี และกระตุ้น รวมทั้งดูดเอาของเหลวออกจากปากให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งบีบเอาอากาศอัดเข้าไปในปอดทารกน้อย

เวลา 22 นาฬิกา 28 นาที ข้าพเจ้าทำคลอดทารกตัวที่ 2ในทำนองเดียวกัน ลูกคุณพอเดย์คนที่สองก็ไม่ต่างจากคนแรก ตัวอ่อนปวกเปียกเช่นกัน แต่ก็มีสัญญาณชีวิตที่ดี คือ หนูน้อยยังคงมี ‘ปากแข็ง’ กัดนิ้วมือข้าพเจ้าเบาๆ ข้าพเจ้ารีบส่งเด็กให้กับผู้ช่วยกุมารแพทย์อีกคน ทีมหมอเด็กต่างช่วยเหลือทารกน้อยทั้งสองอย่างขะมักเขม้น ไม่รอช้า!! ข้าพเจ้าเอง รีบเย็บแผลบนตัวมดลูกอย่างรวดเร็ว ไม่นานนัก ภารกิจการผ่าตัดคลอดคุณพอเดย์ก็เรียบร้อย ทารกน้อยทั้งสอง ส่งเสียงร้องดังขึ้น และดังขึ้น ขยับแขน ขยับขามากขึ้น หายใจดีขึ้น ตัวแดงมากขึ้น ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่ได้ช่วยชีวิตเด็กทั้งสองไว้ ข้าพเจ้าพูดกับนักศึกษาแพทย์ที่มาช่วยว่า “ขืนทิ้งไว้อีก..ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เด็กแฝดทั้งสองต้องเสียชีวิตแน่”

ข้าพเจ้าเดินสะโหลสะเหลโซเซเหมือนคนหมดแรงเข้าไปในห้องคลอด เพื่อสำรวจว่า ‘ยังมีคนท้องอื่นที่ต้องสังเกตการณ์อีกหรือไม่’ ผลปรากฏว่า ‘ไม่มี’ ใจของข้าพเจ้า อยากจะกลับบ้าน แต่ด้วยความอ่อนเพลีย จึงต้องเข้าไปนอนพักในห้องนอนเวร… สักพัก ก็เผลอหลับไป

ราว 2 นาฬิกาเศษ โทรศัพท์มือถือของข้าพเจ้า ก็ดังขึ้น นักศึกษาแพทย์เวรโทรมาปรึกษาว่า “อาจารย์!!! คุณพอเดย์ ไม่รู้เป็นอะไร ปลายมือ ปลายเท้าเขียว และหายใจลำบาก ดิ้นไปดิ้นมา ” ข้าพเจ้างัวเงียพูดตอบไปว่า “ดูให้ดี ก็แล้วกันว่า เป็นอะไร???” ยังไม่ทันจะพูดต่อ น้องนักศึกษาแพทย์ ก็พูดสวนขึ้นมาว่า “โอ้ย!!! ต้องใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว oxygen sat เหลือแค่ 17% (ค่าความเข้มข้นของก๊าซออกซเจนในเลือดทารก.. ปกติ คือ 100% ค่าที่ต่ำกว่า 80% ก็ถือว่า แย่) ” ข้าพเจ้ารีบกระโจนลุกขึ้นจากที่นอน และขึ้นลิฟท์ไปที่หอผู้ป่วยชั้น 5

ภาพที่เห็น คือ คุณพอเดย์ กำลังมีน้ำลายฟูมปาก นอนดิ้นไปมาบนเตียงอย่างทุกข์ทรมาน คล้ายกับคนว่ายน้ำไม่เป็น ที่กำลังจะจมน้ำ แล้วกระเสือกกระสนทะลึงตัวขึ้นมาจากผิวน้ำ เพื่อหายใจ และจมลงไป… เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้ให้พยาบาลหอผู้ป่วย ช่วยตามพยาบาลดมยาขึ้นมาด้วย พอพยาบาลดมยามาถึง ข้าพเจ้าก็เบาใจไปเปราะหนึ่ง เพราะพยาบาลดมยามีความเชี่ยวชาญเรื่องการใส่ท่อช่วยหายใจ

พยาบาลดมยาคนหนึ่งจับที่หัวคุณพอเดย์ พร้อมกับบอกเธอช่วงที่กำลังจะหมดสติว่า “ฟังนะ!!! พอเดย์ หมอกำลังจะช่วย.. ด้วยการใส่ท่อหายใจให้.. อย่าต้านนะ!!!! ” ขณะกำลังเตรียมอุปกรณ์อยู่นั้น พยาบาลอีกคนและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ก็ช่วยกันดูดน้ำลายและของเหลวที่ไหลทะลักออกมาจากปากคนไข้ พยาบาลคนหนึ่งบ่นขึ้นว่า “ทำไมรายนี้ มีน้ำมากจัง สงสัยน้ำจะท่วมปอด หมอ! หมอ! ลองโทรปรึกษาหมอดมยาว่าจะทำยังไง? หรือให้ยาอะไรต่อไป ”

เมื่อข้าพเจ้าโทรศัพท์ติดต่อไป คุณหมอได้ให้ความเห็นว่า ‘คนไข้น่าจะติดเชื้อไวรัสอะไรสักอย่าง ที่ทำให้หลอดเลือดและหลอดลมเล็กๆสูญเสีย Permeability (มีรูรั่วที่หลอดเลือดและหลอดลม ทำให้น้ำเหลือง (Serum) ซึมออกจากหลอดเลือดและหลอดลม)’ ข้าพเจ้ามีความเห็นคล้อยตาม..บางที คนไข้อาจจะเป็นไข้เลือดออก เพราะตอนที่เธอเข้ามา เจ้าหน้าที่พยาบาลลองทดสอบคนไข้เบื้องต้นเกี่ยวกับไวรัสไข้หวัด 2009 แล้วให้ผลลบ ( negative)

มีช่วงหนึ่ง พยาบาลดมยาคนหนึ่งได้จังหวะ ก็ใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปในหลอดลมคนไข้…คาดไม่ถึง มีของเหลวไหลพุ่งออกจากหลอดลมอย่างมากมาย พยาบาลคนนั้นถึงกับอุทาน “ตายแล้ว!!! อะไรกันนี่!! Suction เร็ว suction เร็ว!!!!!” พยาบาลอีกคนก็ใช้เครื่องช่วยดูดของเหลวจากหลอดลมคนไข้ผ่านทางท่อช่วยหายใจ (Endotrachial tube) ดูดไปสักอึดใจ ก็บีบอัดเอาอากาศเข้าไปในปอดของคุณพอเดย์ พอบีบลมเข้าปอดคนไข้สักพัก ก็ย้อนกลับมาดูดน้ำออกจากหลอดลมคุณพอเดย์ พยาบาลดมยาทั้งสองทำเช่นนี้อยู่นาน… เวลาผ่านไปเท่าไหร่ ดูเหมือนไม่มีใครรู้ เพราะทุกคนใจจด ใจจ่ออยู่ที่คุณพอเดย์ ค่าความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจน เริ่มกระเตื้องขึ้นทีละน้อย จาก 17% เป็น 37 % ในเวลาประมาณ 20 นาที… พวกเรายังคงดำเนินการช่วยเหลือต่อไป เมื่อเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง ความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนในเลือดของคนไข้ก็เพิ่มเป็น 45%…. เวลาผ่านไป 2 ชั่วโมง ความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนในเลือดของคนไข้เพิ่มเป็น 85% ตอนนี้เอง ที่พวกเราแน่ใจว่า จะสามารถส่งตัวคุณพอเดย์ไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.ได้

คุณพอเดย์ถูกนำตัวส่งไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. ศัลยกรรม เมื่อเวลาใกล้ 6 โมงเช้า ทันทีที่ไปถึง ข้าพเจ้า ก็เล่าเหตุการณ์ให้กับหัวหน้าพยาบาลห้อง ไอ.ซี.ยู. ฟัง โดยยังคิดว่า ‘คนไข้น่าจะเป็นไข้เลือดออก’ ข้าพเจ้าพูดตอนหนึ่งว่า “ผมเห็นว่า คนไข้มีเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดต่ำ จึงสั่งการให้ Fresh frozen plasma (FFP) จำนวน 10 ถุงไปก่อน พยาบาลหอผู้ป่วยให้ไปได้ 8 ถุง โดยเริ่มให้ตั้งแต่เที่ยงคืน พอตีสอง คนไข้ ก็เริ่มกระวนกระวาย น้ำลายฟูมปาก” หัวหน้าพยาบาลห้อง ไอ.ซี.ยู. เวรดึก พูดสวนกลับมาทันทีเลยว่า “อาจารย์!! หนูฟังแล้วขนลุกเลย.. FFP ให้คนไข้ตอนตกเลือด หรือขาด Volume ได้… แต่ถ้าให้เร็วๆ โดยคนไข้ไม่ตกเลือด.. FFP จะ Hold volume (ดึงน้ำกลับเข้าสู่เส้นเลือด) ทำให้หัวใจเกิด overload (ทำงานหนักเกินกำลัง) เกิดหัวใจวายได้ รายนี้ ก็อาจเป็นเช่นนั้น” ข้าพเจ้าฟังแล้ว แทบช็อค เพราะข้าพเจ้าหวังดีต่อคนไข้ เมื่อประเมินว่า ‘คนไข้เสียเลือดจากการผ่าตัดพอสมควร [ในเมื่อไม่มีเกล็ดเลือด เพราะเกล็ดเลือด จะได้รับในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้น] ก็น่าจะให้ FFP แทนได้…. จริงๆแล้ว.. FFP อาจทำให้คนไข้หัวใจวาย!!!!!!!’

ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจ จึงได้ไปปรึกษาอายุรแพทย์บางท่าน ซึ่งได้ความว่า ‘มันอาจไม่เป็นเช่นนั้น กรณีนี้ คุณพอเดย์น่าจะติดเชื้อไวรัสร่วมด้วย เมื่อผสมผสานกับ FFP ที่ให้เร็วๆ อาจทำให้คนไข้หัวใจวาย แต่ไม่ใช่ผลจาก ตัว FFP อย่างเดียว’ เมื่อฟังแล้ว ข้าพเจ้าค่อยใจชื้นขึ้น ว่า ‘ไม่ได้เป็นคนทำร้ายคนไข้ โดยตรงแต่ผู้เดียว’

คุณพอเดย์ นอนห้อง ไอ.ซี.ยู เพียง วันเดียว ก็ย้ายกลับมาที่หอผู้ป่วย อาการต่างๆดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ภายใน 24 ชั่วโมง นั่นคงเพราะเธออายุน้อย สภาพร่างกายจึงฟื้นตัวเร็ว หลังจากนั้น คุณพอเดย์ได้รับยากินเพียง Doxycycline ตัวเดียว อาการต่างๆ ก็หายเป็นปลิดทิ้งภายใน 7 วัน ข้าพเจ้าสอบถามอายุรแพทย์ที่มาดูคนไข้ว่า “คุณพอเดย์เป็นอไรกันแน่ ???” หมอบอกว่า “ทีมอายุรแพทย์สงสัย ว่าคนไข้จะติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า ‘โรคฉี่หนู Leptospirosis ’ เพราะที่หัวใจมีเยื่อหุ้มปอดอักเสบร่วมด้วย”

ไม่ว่าจะเป็นอะไร คุณพอเดย์และลูกทั้งสองก็ปลอดภัย นั่นคือ สิ่งที่มีความหมายสำหรับการเป็นหมอ….ก่อนกลับ ข้าพเจ้ายังขอเบอร์โทรศัพท์ของเธอไว้ เพื่อให้เธอและสามีเป็นไกด์นำเที่ยวภูเขาแถวบ้านเดิมของเธอ

นี่คือ เรื่องราวการตั้งครรภ์ของสาวชาวกะเหรี่ยง สัญชาติไทยคนหนึ่ง.. เธอโชคดีแล้ว ที่เกิดเป็นคนไทย ภายใต้ผืนแผ่นดินไทย………………

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *