คุณหมอมือใหม่

ข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาทำงานแบบเต็มเวลาที่โรงพยาบาลตำรวจไม่กี่วันมานี้หลังจากเข้ารับการฝึกอบรม บตส. (บริหารตำรวจระดับสูง) ช่วงนี้มีความรู้สึกบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า คือ ‘ทุกครั้งที่ลงมือผ่าตัดใหญ่ มือไม้ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยเข้าที่ คือ ออกจะเกร็งๆและกลัวๆ ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่’ ความจริง! ข้าพเจ้าเข้ารับการฝึกอบรมเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น ไม่น่าจะมีผลอะไรเลยสำหรับคนที่มีประสบการณ์ด้านการผ่าตัดมานานกว่า 20 ปี…อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าถือว่า นี่คือ บททดสอบอย่างหนึ่งของชีวิตการเป็นแพทย์ ที่จะต้องนำมาพิจารณาวิเคราะห์

วันอังคารที่ผ่านา ข้าพเจ้าได้ทำการผ่าตัดทำหมันแห้งให้กับเด็กหญิงรายหนึ่ง ด้วยว่า ‘เธอมีปัญญาอ่อน อย่างไรก็ตาม เธอยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี’ คนไข้อายุ 14 ปี ถ้าจะว่าไปแล้ว คนไข้น่าจะได้รับการเจาะท้องทำหมัน (Laparoscopic tubal sterilization) เพราะทำได้ง่ายกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องบริเวณหัวเหน่า (Suprapubic mini lap) ข้าพเจ้าใช้เวลาในการผ่าตัดครั้งนี้อยู่นานพอสมควร เนื่องจากผนังหน้าท้องของเธอ มีความหนาค่อนข้างมาก การผ่าตัดเข้าสู่ช่องท้องจึงยุ่งยากและเสียเวลา…..

ในช่วงที่ข้าพเจ้าเข้าอบรม บตส. นี้ มีคุณหมอสูติที่จบใหม่ 2 ท่าน มาทำงานที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อทดแทนคุณหมอที่ลาออกไป จริงๆแล้ว คุณหมอทั้งสองท่านจบผู้เชี่ยวชาญทางสูติ-นรีเวชมานานประมาณ 2-3 ปี แต่ได้ไปทำงาน ณ สถานพยาบาลที่ตนไม่ชอบมาก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ถือว่า คุณหมอทั้งสองยังเป็นคุณหมอมือใหม่..

วันแรกที่ข้าพเจ้ามาทำงานโรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าได้พบกับคุณหมอผู้หญิงท่านหนึ่ง จึงได้สอบถามเธอว่า ‘ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในเวลาอันใกล้นี้ มีคนไข้ที่น่าสนใจไหม?’ คุณหมอตอบว่า ‘มีคนไข้อยู่รายหนึ่ง เป็นกรณีรกเกาะต่ำ (Placenta previa) คนไข้ตั้งครรภ์ประมาณ 32 -34 สัปดาห์ ตกเลือดมาเป็นครั้งแรก (First Episode) แต่..หนูเห็นท่าไม่ค่อยดี ก็เลยผ่าตัดคลอดให้ ผลก็ออกมาดีทั้งแม่และลูก’

ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกสะกิดใจ และบอกกับคุณหมอว่า ‘กรณีพบเจอคนท้องที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ พี่อยากให้เธอปรึกษากับแพทย์ผู้อาวุโสด้วย เพราะการปรึกษาคุณหมอที่มีประสบการณ์นั้น ถือว่า เป็นการรักษาอย่างรอบคอบและดีที่สุด เพราะหากเกิดเหตุอันไม่คาดฝัน ในทางกฏหมาย จะถือว่า คุณหมอได้กระทำการรักษาคนไข้อย่างสุดความสามารถแล้ว’ คุณหมอตอบว่า ‘ถ้าหนูต้องออกจากราชการ ก็คงจะสบาย ไม่ต้องทำอะไร ให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยง หรือไปทำอย่างอื่นที่เราชอบ’

คุณหมอหารู้ไม่ว่า ‘ค่าเสียหายที่ญาติคนไข้เรียกร้องนั้น บางที ก็มากมายจนทำให้สูติแพทย์ต้องปวดหัวไปตลอดชีวิต บางราย อาจเป็นตัวเลขที่มากกว่าร้อยล้าน ทีเดียว’ ปัจจุบัน การกระทำใดๆที่มีภาวะแทรกซ้อนต่อคนไข้ อาจส่งผลร้ายต่อตัวคุณหมออย่างมาก ถึงแม้การรักษานั้นจะถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็ตาม เพราะญาติพี่น้องของคนไข้ จะฟ้องร้องเอาเรื่องแบบถล่มทลาย ปีที่ผ่านมา ก็มีคนท้องในลักษณะคล้ายกันกับคนไข้ที่คุณหมอเล่ามา แต่ผลออกมาไม่ค่อยดี คุณหมอผู้นั้นถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินถึง มากกว่า 500 ล้านบาท… ปัจจุบัน จึงมีหมอไปสมัครเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเป็นสูติ-นรีแพทย์น้อยมาก ก็ด้วยเหตุผลดังกล่าว จนโรงเรียนแพทย์หลายแห่งต้องหารือ รับมือกับภาวะขาดแคลนแพทย์ประจำบ้านทางสูติ-นรีเวช

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้า เพิ่งอยู่เวรรับผิดชอบห้องคลอดวันแรกหลังกลับจากการฝึกอบรม บตส…. ภายในห้องคลอด มีคนท้องอยู่เพียง 2 ราย รายแรก คนไข้ตั้งครรภ์ครบกำหนด แต่ปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตร ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ทำอะไร ปล่อยให้เธอทำกิจกรรมต่างๆเหมือนอยู่บ้าน

ส่วนอีกรายเป็นชาวเขมร ชื่อ จันทร์ ตั้งครรภ์ที่ 3 อายุ 32 ปี บุตรทั้งสองคนคลอดเอง แต่ละคน มีน้ำหนักแรกคลอดประมาณ 2 กิโลกรัมเศษ ตอนเช้าราว 10 นาฬิกา ขณะอยู่ห้องคลอด พยาบาลได้รายงานว่า ‘ปากมดลูกของเธอเปิดกว้าง 4 เซนติเมตร ความบาง 100% และแจ้งว่า คุณจันทร์ นั้นมีความสูง 144 เซนติเมตร ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้อันหนึ่งของการผ่าตัดคลอด (Short stature)’ ถึงแม้จะได้ ข้อมูลดังกล่าว ข้าพเจ้าก็ยังอยากให้คุณจันทร์ ลองคลอดตามธรรมชาติ เพราะเธอเคยคลอดได้เองมาถึง 2 ท้องแล้ว ท้องนี้ เธอจึงน่าจะคลอดเองได้

เวลาประมาณ 14 นาฬิกา พยาบาลห้องคลอด รายงานเพิ่มเติมว่า ‘ปากมดลูกของคุณจันทร์ เปิดกว้าง 8 – 9 เซนติเมตร’ นั่นแสดงว่า คนไข้ใกล้คลอดเต็มที และการพัฒนาของปากมดลูกก็เป็นไปเหมือนคนท้องครรภ์หลังปกติ แต่..หลังจากนั้น ประมาณ ครึ่งชั่วโมง พยาบาลห้องคลอด ก็โทรศัพท์มาบอกว่า ‘หมอ! หมอ! หัวใจเด็กเต้นไม่ค่อยดี มีอัตราการเต้น 60 ครั้งต่อนาที เท่านั้นในบางครั้ง’ ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็ไม่สบายใจ แต่ก็ได้ถามกลับไปว่า ‘ปากมดลูกเปิดหมดแล้ว ใช่ไหม?’ พยาบาลผู้นั้น ตอบว่า ‘ใช่แล้ว!’ ซึ่งเมื่อปากมดลูกเปิดหมดในคนท้องทุกราย หัวเด็กก็จะกดกับช่องทางคลอด (Head compression) ผลคือ หัวใจเด้กจะเต้นช้าลง แต่ก็จะกลับไปเต้นจังหวะปกติในเวลาอีกไม่นานนัก

ข้าพเจ้าถามต่อว่า ‘น้ำคร่ำมีสีอะไร?’ พยาบาลตอบว่า ‘สีน้ำคร่ำปกติธรรมดา ไม่มีขี้เทา (Meconium)’ ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจไปได้เปราะหนึ่ง เพราะนั่นแสดงว่า ‘ทารกไม่น่าจะขาดก๊าซออกซิเจน (hypoxia)’ เวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที หัวหน้าพยาบาลห้องคลอด โทรศัพท์มารายงานอีก และเน้นว่า ‘คนไข้น่าจะคลอดเองไม่ได้ คนไข้เบ่งจนหมดแรงแล้ว แม้จะใช้ยาเร่งช่วย ก็ตาม’ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้ส่งคุณจันทร์ เข้าห้องผ่าตัด และทำการผ่าตัดคลอดให้เมื่อเวลา 15:40 นาฬิกา การผ่าตัดแม้ไม่ยุ่งยาก แต่คุณจันทร์ มีปากมดลูกที่เปิดหมด ทำให้ข้าพเจ้าต้องระมัดระวังในการเย็บปิดแผลบนตัวมดลูก โดยเฉพาะบริเวณมุมแผล การผ่าตัดผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เพราะอาศัยประสบการณ์เก่าๆช่วย ลูกนางจันทร์ เป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 3,290 กรัม มีข้อสังเกต คือ ทารกน้ำหนักแรกคลอดไม่มากเลย แต่สำหรับผู้หญิงตัวเล็ก (short stature) ก็ยังถือว่า เป็นภาระหนักในการคลอดเอง คนไข้รายนี้หากคลอดได้ คุณแม่ก็คงบอบช้ำร่างกายพอสมควร

ย้อนกลับไปที่กรณีคนไข้รายของคุณหมอผู้หญิงคนดังกล่าว คุณหมอดูแลคนไข้ ชื่อ คุณวลัยพร อายุ 30 ปี ท้องที่ 3 เธอมีบุตรมาแล้ว 2 คน บุตรคนแรก อาศัยอยู่กับสามีคนแรก อายุ 6 ขวบ ต่อมา คุณวลัยพรแต่งงานใหม่ เธอตั้งครรภ์นอกมดลูกเมื่อ 4 ปีก่อน และได้รับการผ่าตัดเอาปีกมดลูกด้านขวาออกไป 1 ข้าง คุณวลัยพรมีบุตรกับสามีใหม่ 1 คน ตอนนี้อายุ 3 ขวบ และก็มาตั้งครรภ์นี้ โดยที่ไม่เคยฝากครรภ์เลย

ตอนที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมคุณวลัยพรหลังผ่าตัดคลอด 6 วัน ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ทำไมคุณถึงไม่ฝากครรภ์ละ?’ คุณวลัยพรตอบว่า ‘คือ หนูไม่มีเงินสามีหนูถูกเฒ่าแก่โกงเงินค่าแรงไป 2 ครั้ง หนู จึงไม่ได้มาฝากครรภ์ ครั้งนี้ เพิ่งได้เงินค่าแรงมา และก็เผอิญ ตอนเช้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หนูตกเลือดออกจากช่องคลอดอย่างมาก ออกเป็นเลือดก้อนใหญ่เลย หนูจึงรีบมาโรงพยาบาล’

ข้าพเจ้าฟังแล้ว ให้รู้สึกสะท้อนใจว่า ‘ชีวิตคนไทย ช่างน่าสงสารเหลือเกิน’ ’ คุณวลัยพรเล่าต่อว่า ‘วันอาทิตย์ตอนเช้าประมาณ 9 โมง จู่ๆ ก็มีเลือดออกจากช่องคลอด ออกมามากทีเดียว มีทั้งเลือดทีไหลเป็นทางและก้อนเลือดก้อนใหญ่ เลือดทำท่าจะไหลไม่หยุด หนูจึงรีบมาโรงพยาบาล ’ ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘คุณหมอบอกหรือเปล่าว่า จะผ่าตัดคลอดให้’ คุณวลัยพรตอบว่า ‘บอก..หมอยังบอกอีกว่า อาจจะต้องตัดมดลูกด้วย หากเลือดไหลไม่หยุด หนูก็ยอม’

ข้าพเจ้าเปิดดูแฟ้มประวัติคนไข้ ก็พบว่า ‘ตอนนั้น คุณวลัยพรมีความเข้มข้นของเลือดเพียง 16% (ค่าปกติ 35- 45 %) ซึ่งนับว่า ต่ำมากๆ นอกจากนั้น มดลูกของคุณวลัยพรยังมีการแข็งตัว ทุกๆ 7 นาทีอีกด้วย’ นี่คือ วินาทีวิกฤต ที่คุณหมอผู้หญิงจะต้องตัดสินใจ.. หากเป็นข้าพเจ้า ก็คงตัดสิ้นใจเหมือนกันกับคุณหมอ คือ ‘ผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน และให้เลือดไปพร้อมๆกันระหว่างผ่าตัด’ สำหรับคนไข้รายนี้ อาจจะโชคดี ที่ทุกสิ่งทุกอย่างลงเอยด้วยดี แต่…หากไม่เป็นเช่นนั้น คุณวลัยพรอาจต้องถูกตัดมดลูกด้วยเหตุผลที่เลือดไหลจากมดลูกไม่หยุด เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน แต่คุณหมอผู้ผ่าตัดกลับถูกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอย่างมากมายหลายร้อยล้านจากการตัดมดลูกและเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด จนทำให้มารดามีสภาพกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ปัจจุบัน คดีความน่าจะยังไม่สิ้นสุด

ข้าพเจ้ามานั่งวิเคราะห์เปรียบเทียบการรักษาของคุณหมอผู้หญิงกับตัวข้าพเจ้าเอง ก็พบว่า คุณหมอมือใหม่เหล่านี้ ไม่ได้มีข้อบกพร่องอะไรมากนัก เพราะคุณหมอมีการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลาในภาคปฏิบัติ..ยังมีคุณหมออีกประเภทหนึ่งต่างหาก ซึ่งเป็นคุณหมอผู้มากไปด้วยประสบการณ์ แต่เมื่อก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารระดับสูง ต่างก็กลับละเลย และหยุดฝึกฝนด้านการรักษาผ่าตัดคนไข้ เป็นเหตุให้ขาดทักษะทางด้านนี้ในเชิงปฏิบัติไป ดูข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง เพียงแค่ 3 เดือนที่ไม่ค่อยได้หยิบจับเครื่องมือแพทย์ ข้าพเจ้ายังผ่าตัดด้วยความรู้สึกที่ไม่ค่อยมั่นใจนัก แล้วถ้าเราไม่ได้ผ่าตัดนานเป็นปีๆ ฝีมือจะเป็นเช่นไร

บัดนี้ สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ไม่มีคุณหมอมือใหม่หรอก มีแต่คุณหมอผู้ฝึกตนอยู่เป็นเนืองนิจ กับคุณหมอที่ขาดทักษะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ’ แต่พระองค์ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น พระองค์ยังคงเน้นย้ำให้เห็นถึงการฝึกตนว่า ‘เพราะฝึกตนดีแล้ว และมนุษย์ยังสามารถฝึกตนได้ดังที่ตนปราถนาอีกด้วย’ หากคุณหมอทั้งหลายไม่ยอมออกตรวจผู้ป่วยนอก หรือผ่าตัด ซึ่งเป็นทักษะที่พัฒนาสะสมมากว่า 20 ปี (หยุดฝึกฝนด้านการรักษา/ผ่าตัด) โดยเอาเวลาทั้งหมดไปบริหารองค์กร… เชื่อเถอะว่า ไม่เกิน 3 ปี คุณหมอผู้นั้น แทบจะผ่าตัดใหญ่ไม่ได้เลย และอาจกลายเป็นเพียงคนธรรมดา ที่มีความรู้ทางการแพทย์ เพียงแค่ คุยโม้ เท่านั้น………….

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พงต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *