ท่อไตบาดเจ็บจากความร้อน (Ureteric injuries by thermal burn)

สียงเพลงไพเราะที่บรรเลงอย่างแผวเบาในห้องทำงาน ทำให้ใจของข้าพเจ้าสงบเย็นลง วันนี้..มีบางเวลา ที่สมองของข้าพเจ้ามึนซึม จนคิดอะไรไม่ออก พอได้ลุกออกไปเดินเล่นบ้าง ทำงานช่วยเหลือคนอื่นเล็กๆน้อยๆบ้าง ก็รู้สึกแช่มชื่นขึ้น พลันรู้สึกว่า วันนี้ เราได้สร้างบุญกุศลบ้างแล้ว ส่งผลให้จิตใจเบิกบาน และมีความคิดที่จะเขียนงานต่อไป

เรื่องราวของท่อไตบาดเจ็บจากความร้อนนี้ (Thermal Burn) เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกว่า สร้างความหดหู่ใจให้กับตัวเองไม่น้อย… ยังโชคดีที่มีประสบการณ์ ทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว คนไข้พ้นจากทุกข์ทรมาน ไม่ทันข้ามวัน และปลอดภัยในระยะยาว

กรณีท่อไตได้รับบาดเจ็บ (Ureteric Injuries) หลังผ่าตัด (After surgery) นั้น แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ บาดเจ็บทันที (immediate effect) จากการผ่าตัด คนไข้เหล่านี้ จะร้องเจ็บปวดอย่างรุนแรง ทุรนทุราย ในวันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด อีกกรณีหนึ่ง คือ บาดเจ็บจากความร้อนของเครื่องจี้ (Thermal Burn) ที่มีประสิทธิภาพสูง… คนไข้เหล่านี้มักจะมาพบแพทย์หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด บางรายเกิดขึ้นหลังผ่าตัดนานถึง 7 – 8 สัปดาห์ (Delayed effect)

คุณสุนันทา อายุ 48 ปี มาโรงพยาบาลตำรวจเมื่อ 4 เดือนก่อนด้วยเรื่องคลำก้อนได้ที่หน้าท้อง มา 2 – 3 เดือน ก่อนมาโรงพยาบาล ข้าพเจ้าตรวจร่างกายและภายใน คิดว่า เธอน่าจะเป็น เนื้องอกมดลูกธรรมดา (Myoma uteri) จึงแนะนำให้เธอเข้ารับการผ่าตัด โดยมีข้อแม้ว่า ต้องใช้เวลาเตรียมตัวคุณสุนันทา นานประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ก้อนเนื้องอกยุบตัวลงบางส่วน วิธีการ คือ ให้เธอได้รับการฉีดยาเดือนละ 1 เข็ม เป็นเวลา 3 เดือน ยาฉีดที่ว่านี้ ชื่อ Enantone (3.75 mg) คุณสุนันทาฉีดยาได้ประมาณ 1 เดือน ก็รู้สึกว่า ก้อนที่ท้องเล็กลง ตอ่มา เผอิญเธอติดธุระ จึงไม่ได้มาติดต่อข้าพเจ้าอีก เวลาผ่านไป 2 เดือนเศษ พอมาตรวจซ้ำอีกครั้ง ปรากฏว่า เนื้องอกมดลูกกลับโตขึ้นมาอีกครั้ง ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้เธอฉีดอีกครั้ง ติดต่อกัน 3 เดือน คราวนี้ คนไข้ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ปลายเดือนมกราคม 2554 ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกให้คุณสุนันทาผ่านทางกล้อง (Total Laparoscopic Hysterectomy) โดยมีผู้ช่วยที่มีความชำนาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องโดยเฉพาะ การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น ข้าพเจ้ายังจำได้ดี ถึงบรรยากาศการผ่าตัดในวันนั้น

ข้าพเจ้ากรีดเปิดแผลที่สะดือคุณสุนันทา เป็นรูกว้าง ประมาณ 10 มิลลิเมตรเพื่อสอดใส่กล้องส่องภายในช่องท้อง ขณะเดียวกัน ก็ใช้เป็นทางสำหรับใส่เครื่องมือ ที่ชื่อ Morcellator เพื่อปั่นและดูดเอาชิ้นเนื้อออกด้วย จากนั้น ก็เจาะทางด้านข้าง เพื่อใช้สอดใส่เครื่องมือ ขนาดเล็ก ที่มีลักษณะเหมือนตะเกียบหรือคีมด้ามยาว เพื่อใช้หนีบ จับและตัดเนื้อเยื่อ ข้าพเจ้าเจาะทางด้านซ้ายของหน้าท้อง 2 รู ห่างกันประมาณ 8 เซนติเมตร และอีก 1 รูทางด้านขวาของหน้าท้องคนไข้

เนื้องอกมดลูก ก้อนนี้ ค่อนข้างใหญ่ น่าจะเทียบได้กับขนาดมดลูกของอายุครรภ์ 14 – 16 สัปดาห์ ข้าพเจ้าเริ่มต้นด้วยการตัดเอ็นยึดมดลูก ที่ชื่อ Infundibulopelvic ligaments ทั้ง 2 ข้างก่อน การผ่าตัดไม่ยุ่งยากนัก เพราะมีเครื่องมือ ช่วยจี้ปิดรูเปิดเส้นเลือดอย่างดี ยี่ฮ่อ EBBE จากนั้น ก็ตัด Round Ligaments ทั้งสองข้าง

ตอนนี้ ก็ถึงช่วงเวลาที่ต้องผ่าตัดเปิดเข้าสู่ช่องคลอดทางด้านหน้า (Anterior Colpotomy) ข้าพเจ้าผ่าตัดแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เพราะมีเครื่องมืออุปกรณ์กระดกมดลูก ที่สามารถกันลมออกทางช่องคลอด เมื่อมีรอยรั่ว ทะลุจากภายในช่องท้อง

จากการวิเคราะห์ภายหลังที่คุณสุนันทาเกิดภาวะท่อไตบาดเจ็บด้วยความร้อน เหตุการณ์น่าจะเกิดจากขั้นตอนนี้ (Thermal Burn) เนื่องจากมดลูกส่วนล่าง (Lower segment) ที่ชิดติดกับช่องคลอดนั้น บริเวณด้านข้างมีเส้นเลือดใหญ่มาผ่านเข้า (Uterine Arteries) ทั้งสองข้าง ซึ่งข้างใตเส้นเลือดนี้ (Uterine Arteries) มีหลอดไต (Ureter) วกลอดขึ้นมาจากด้านล่าง และเข้าที่กระเพาะปัสสาวะด้านข้าง เยื้องมาทางด้านบน คุณหมอทั้งหลายมักจะเรียกกันเล่นๆว่า ‘สะพานเหนือสายน้ำ’ โดยเส้นเลือดใหญ่ (Uterine Arteries) เปรียบได้กับ สะพาน ส่วน หลอดไต (Ureter) เปรียบได้กับ สายน้ำ….

ตรงนี้เอง หากหมอผู้ผ่าตัดจี้เส้นเลือดใหญ่ (Uterine Arteries) อย่างไม่ระมัดระวัง การแสไฟฟ้า ก็จะแผ่ความร้อนไปกระทบที่ผิวของหลอดไต ซึ่งข้าพเจ้า ก็ไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า จะเกิดตรงบริเวณจุดนี้ จากการพิจารณาอย่างรอบคอบ ข้าพเจ้าคิดว่า บริเวณจุดอื่นนั้น การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะการจี้เส้นเลือดใหญ่ทางด้านข้าง (Uterine Arteries) ก็จี้ด้วยความระมัดระวัง ไม่จี้ในลักษณะชี้ลง (Down) แต่จะจี้ในแนวขวาง (Horizontal) ณ ตำแหน่งที่สูง พ้นจากแนวของหลอดไต ข้าพเจ้าจึงมั่นใจว่า ไม่ใช่ผลจจาการจี้เส้นเลือดใหญ่ทางด้านข้างอย่างแน่นอน

คุณสุนันทาโทรศัพท์หาข้าพเจ้าตอนเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งห่างจากวันผ่าตัด 9 วัน เธอบอกว่า ‘ตอนนี้ คุณหมอที่โรงพยาบาล…… (ขอสงวนนาม) ให้นอนพักที่นี่ และจะเอกซเรย์ CT scan ท่านยังบอกว่า คงต้องผ่าตัดใหญ่ แต่น่าจะติดต่อคุณหมอที่ทำผ่าตัดก่อน เผื่อว่า จะมีวิธีแก้ไขที่ดีกว่านี้’ ข้าพเจ้ารีบบอกให้คุณสุนันทาเดินทางมาที่โรงพยาบาลตำรวจทันที ขณะเดียวกัน ก็โทรศัพท์ติดต่อพยาบาลห้องฉุกเฉินและสูติแพทย์เวรช่วยดูแลคนไข้ให้ด้วย หากมีปัญหาอะไร ก็โทรศัพท์ติดต่อผมได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะดึกดื่นค่อนคืนขนาดไหน.. ในใจตอนนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า คนไข้น่าจะเป็น ‘ท้องผูก ไม่ถ่ายอุจจาระมา 3 วัน’ ตามคำบอกเล่าทางโทรศัพท์ แต่ก็ยังกังวลเหมือนกันว่า อาจเกิดเหตุร้ายขึ้น.

คุณสุนันทาเดินทางมาถึงโรงพยาบาลตำรวจ ประมาณ 3 ทุ่ม สูติแพทย์เวรได้ไปดูคุณสุนันทาด้วยตัวเอง โดยสอบถามเรื่องขับถ่าย ซึ่งคนไข้บอกว่า ‘ได้ทานยาระบาย และถ่ายแล้ว’ ดังนั้น คุณหมอจึงไม่ได้ให้ยาอะไรเลย เพียงแต่เฝ้าสังเกตการณ์เท่านั้น คืนนั้น ทั้งคืน ไม่มีเสียงโทรศัพท์ตามข้าพเจ้า ทำให้ไม่ได้เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า คนไข้มีปัญหา??

พอรุ่งเช้า ช่วงเวลาราว 5 นาฬิกา คุณสุนันทามีอาการปวดท้องน้อยทะลุไปทางหลังด้านซ้ายค่อนข้างมาก พยาบาลหอผู้ป่วยชั้น 11 ตึกมงคลกาญจนา ได้โทรศัพท์ติดต่อข้าพเจ้าว่า ‘คนไข้ปวดท้องน้อย ปวดเอวและหลังทางด้านซ้ายอย่างรุนแรง โดยให้คะแนนเต็ม 10 เลย’ ข้าพเจ้าฟังแล้ว คาดการณ์ทันทีว่า คนไข้น่าจะเป็นหลอดไตได้รับบาดเจ็บจากความร้อน (Thermal burn) ข้าพเจ้าสั่งการฉีดยาแก้ปวด (Dynastat) อย่างดีให้กับคนไข้ โดยมีระยะเวลาออกฤทธ์ นานถึง 12 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ก็รีบติดด่อศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ (Urologist) และนัดให้คนไข้เข้ารับการตรวจการทำงานของไต (IVP = Intravenous pyelogram) เป็นกรณีฉุกเฉิน ที่แผนกเอกซเรย์ เพื่อดูว่า ไตมีปัญหาหรือเปล่า?? ท่อไตรั่วหรือไม่?? หากรั่ว รั่ว ณ ตำแหน่งไหน?? วิธีการ คือ ฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำ แล้วสีนั้น ก็จะถูกขับออกมาทางกรวยไต ทำให้เรามองเห็นกรวยไต และหลอดไตทั้งสองข้าง

วันนั้น คุณหมอนิรมล ป็นคนรับผิดชอบการปรึกษาพอดี ข้าพเจ้าสนิทกับคุณหมอ เพราะเคยเข้าฝึกอบรม บ.ต.ส. ด้วยกัน คุณหมอนิรมลอนุญาตให้ส่งคนไข้ไปฉีกสีดการทำงานของไตในตอนนั้นทันที (IVP = Intravenous pyelogram) ซึ่งคนไข้เหล่านี้ จะต้องได้รับการสวนถ่ายอุจจาระก่อน เพื่อไม่ให้อุจจาระเบียดบังความผิดปกติของท่อหลอดไต

เวลาผ่านไป 15 นาที แรก ผลปรากฏว่า ท่อไตด้านขวามีสีไหลออกมา แต่ทางด้านซ้าย ไม่มี จากการสังเกต พบว่า ไตและท่อไตด้านขวา มีการบวม (Hydronephrosis and Hydroureter)

เวลาผ่านไป 30 นาที ยังคงเหมือนเดิม คือ ท่อไตด้านขวามีสีไหลออกมา แต่ทางด้านซ้าย ไม่มี

เวลาผ่านไป 45 นาที ท่อไตด้านขวามีสีไหลออกมา ไดทางด้านซ้าย เริ่มมองเห็น และมีสีปรากฏออกมาน้อยๆ

ตอนนั้น ข้าพเจ้าใจร้อนรน คิดว่า คงต้องแก้ขรีบด่วน จึงหยิบฟิล์มไปพบศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ คุณหมอสุเทพ ดูแล้ว บอกว่า ‘ ทำ CT scan เลย ดีกว่า รอไป ก็ได้ประโยชน์น้อย’ ข้าพเจ้าเดินกลับไปหาอาจารย์เอกซเรย์ เพื่อขอความคิดเห็น คุณหมอนิรมลบอกว่า ‘ รอถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง จะดีกว่า แล้วค่อยส่งคนไข้ไปทำ CT scan’ สักพัก คุณหมอนิรมลเดินมาบอกข้าพเจ้าว่า ‘ ดีใจด้วยพี่ ข้างซ้าย มีสีออกมา ท่อไตบวม ซึ่งคิดว่า ยังไม่น่าจะเป็นอะไรมาก รักษาใส่ Double J ไม่นาน ไตน่าจะกลับมาดีเหมืมอนเดิม ’ ข้าพเจ้าดีใจอย่างบอกไม่ถูก

คุณสุนันทาถูกส่งไปทำ CT scan ประมาณ 11 นาฬิกา พอผลปรากฏออกมา ข้าพเจ้าก็รีบสอบถามผลจากคุณหมอนิรมล คุณหมอบอกว่า ‘หลอดไตของคนไข้ บวมทั้ง 2 ข้าง หลอดไตทางด้านขวาดูดีทีเดียว ไม่น่าจะมีรูรั่ว หลอดไตด้านซ้ายบวมมากกว่าด้านขวา และมองไม่เห็นตำแหน่งที่รั่ว แต่..ดูคล้ายๆจะมีสีเล็ดลอดออกมาเล็กน้อย ตรงหลอดไตบริเวณ ใกล้ๆกระเพาะปัสาวะ หนูก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่’

ข้าพเจ้ารีบนำผลการตรวจ CT scan ไปให้ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ คุณหมอสุเทพดูแล้ว บอกว่า ‘น่าจะมี รูรั่ว ที่หลอดไตข้างซ้าย อย่างไรก็ตาม คงต้องใส่สาย Double J ที่หลอดไตทั้งสองข้าง และผมจะสอดใส่ให้เลยตอนบ่ายนี้’ เนื่องด้วยคุณสุนันทา ไม่ได้ทานอาหารมาตั้งแต่เมื่อคืน และได้รับการสวนถ่ายอุจจาระถึง 2 ครั้ง เพื่อทำการฉีดสีดูการทำงานของไต (IVP = Intravenous pyelogram) เธอจึงถือว่า ได้รับการเตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดอื่นๆด้วย

ที่ห้องผ่าตัดแผนกศัลยกรรม คุณหมอสุเทพ ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ พร้อมด้วยแพทย์ประจำบ้านอีก 2 คน ต่างก็ขะมักเขม้นในการใส่สาย Double J เข้าไปที่หลอดไตทั้งสองข้างของคุณสุนันทา การสอดใส่เป็นไปค่อนข้างลำบากสักหน่อย แต่..ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ข้าพเจ้าเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องผ่าตัดด้วย สักพักหนึ่ง ก็ต้องออกมา เพราะคุณหมอทุกท่านที่เข้าไปในห้องผ่าตัดนั้น ต้องใส่เสื้อตะกั่ว เพื่อป้องกันรังสีเอกซเรย์ ที่จำเป็นต้องใช้ในการฉายภาพระหว่างผ่าตัด

วันรุ่งขึ้น คุณสุนันทาแทบไม่มีอาการปวดท้องน้อยและส่วนเอวด้านหลังเลย เรียกว่า ‘หายปวด เหมือน เทวดามาโปรด’ ข้าพเจ้าเห็นสีหน้า ท่าทางของเธอแล้ว รู้สึกดีใจมาก ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องราวต่างๆให้คุณสุนันทา และ ญาตฟัง พร้อมทั้งอธิบายว่า เธอจะต้องมาติดตามผลการรักษาบ่อยหน่อยในช่วงเดือนแรก ต่อไป ก็จะมาไม่บ่อย คือ มาตามนัดทุกๆ 3 เดือน สำหรับสายที่สวนผ่านหลอดไตทั้งสองข้าง (สาย Double J) จะต้องมีการเปลี่ยนทุกๆ 3 – 6 เดือน แล้วแต่ ความเหมาะสม เชื่อว่า ไตและหลอดไต น่าจะกลับมาทำงานเป็นปกติ ภายใน 1 เดือน แต่รูรั่ว อาจต้องใช้เวลาในการสมานแผลจนสนิทประมาณ 1 ปี….คราวใด เมื่อมาติดต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ ขอให้โทรศัพท์แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย ข้าพเจ้ายินดีอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

เรื่องราวของท่อไตได้รับบาดเจ็บจากความร้อนนี้ ยังคงจะมีให้เห็นอีก ในการผ่าตัดผ่านกล้องที่ยังใช้เครื่องจี้ที่ดีมีประสิทธิภาพมากๆดังเช่นที่เล่ามา ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดผ่านกล้องให้กับคนไข้เนื้องอกมดลูกเหล่านี้ต่อมาอีกหลายราย โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้เครื่องมือที่ทันสมัยอันนี้ ณ ตำแหน่งเส้นเลือดใหญ่ ไขว้ข้าม หลอดไต บริเวณด้านหน้าใกล้ๆกระเพาะปัสสาวะ ปรากฏว่า ได้ผลดีมาก ไม่มีเรื่องให้เดือดร้อนรำคาญใจข้าพเจ้าอีก ….

เสียงเพลงบรรเลงที่ไพเราะจับใจนี้ ช่วยให้ข้าพเจ้ามีสมาธิยิ่ง ข้าพเจ้าสามารถเขียนเรื่องราวของคนไข้รายนี้ได้จนจบบริบูรณ์ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ข้าพเจ้าไม่อยากพบกับฝันร้าย เช่นเหตุการณ์ที่เล่ามาอีก จึงได้ไปฝึกฝนผ่าตัดกับนรีแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดผ่านกล้องในหลายๆสำนัก และศึกษางานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้ง ไม่ยอมประมาทกับการผ่าตัดผ่านกล้องครั้งต่อๆไป

เสียงเพลงบรรเลง ที่ไพเราะ ยังคงบรรเลงซ้ำๆหลายครั้ง หลายหน ตามชุดของเพลงในแผ่น วนเวียนไป ก็วนเวียนมา ข้าพเจ้าไม่รู้เบื่อกับ เพลงบรรเลงเหล่านี้เลย เพราะผู้ประพันธ์ได้สร้างสรรขึ้นมาจากก้นบึ้งแห่งหัวใจ งานผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ก็เช่นกัน หากกระทำด้วยความประณีตบรรจง ผลงาน ย่อมต้องออกมาดี….

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *