คลอดยาก ไม่มากความ

ภาพของเด็กน้อย อายุราว 4 ขวบ นอนหลับไหลบนเตียงคนไข้ในห้องเตรียมคลอด ทำให้ข้าพเจ้าต้องหันไปถามพยาบาลที่นั่นว่า ‘ทำไม ถึงมีเด็กมานอนที่นี่ด้วย??’ พยาบาลคนนั้น ชี้ให้ดูคนท้องที่นอนอยู่อีกเตียงข้างๆ พลางพูดว่า ‘มีคนไข้ชาวเขมร ท้องที่ 8 เจ็บครรภ์มาคลอด เลยพาลูกของเธอมาด้วย ตอนนี้ ปากมดลูกของคนไข้เปิด 8 เซนติเมตรแล้ว คุณหมอจะทำอะไรไหม??’ ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็พยักหน้าเชิงรับรู้ แบบไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะคิดว่า อีกสักครู่ คนไข้รายนี้ ก็คงจะคลอด….วันพุธที่ผ่านมา เวลา 16.00 น. ข้าพเจ้าอยู่เวรรับผิดชอบงานสูตินรีเวช แทนคุณหมอสูติท่านหนึ่งที่ลาคลอด เย็นวันนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่โรงพยาบาล เพราะออกไปทำธุระข้างนอก นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดหญิง ได้โทรศัพท์มาปรึกษาข้าพเจ้าเกี่ยวกับคนไข้มะเร็งรังไข่รายหนึ่ง อายุ 80 ปี คนไข้มีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่ค่อยออก เป็นคนไข้หลังผ่าตัด 7 วัน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอให้ปรึกษาอายุรแพทย์เวรมาช่วยแก้ไขฉุกเฉิน ในที่สุด คนไข้ ก็ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ และถูกส่งตัวไปยังห้อง ไอ.ซี. ยู. แผนกหัวใจ (C.C.U.) เมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงที่โรงพยาบาลตำรวจ ได้ไปเยี่ยมดูและช่วยเหลือคนไข้ตามสมควร ทั้งยังพูดคุยกับญาติถึงการพยากรณ์โรคด้วย พลางรู้สึกปลงกับชีวิตว่า ‘มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ไม่มีใคร หนีพ้นจากเงื้อมพระหัตถ์แห่งมัจจุราช’ ขณะที่กำลังคิดวุ่ยวายอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็เดินมาถึงที่ห้องคลอด ข้าพเจ้าสังเกตเห็น เด็กน้อยชาวเขมร นอนหลับอยู่บนเตียงคนไข้ กับคนท้องรายดังกล่าวในห้องเตรียมคลอด ซึ่งเป็นห้องเล็กๆส่วนหน้าของห้องคลอด คนไข้รายนี้ ชื่อนางโอน อายุ 39 ปี ตั้งครรภ์ที่ 8.. บุตร 6 คนแรกอยู่ที่ประเทศเขมร ส่วนเธอและสามีรอนแรม พร้อมลูกคนสุดท้องเข้ามาขอทานที่ประเทศไทย ตอนนี้ สามีเธอไปมีเมียน้อยอยู่ที่พัทยา และทอดทิ้งเธอให้สู้ชะตาชีวิตตัวเอง นางโอนไม่เคยฝากครรภ์ที่ไหน จำเป็นต้องอุ้มท้องโย้ เดินตะรอน ตะรอนขอทานไปทั่วในเขตกรุงเทพมหานคร…2 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล นางโอนมีอาการเจ็บครรภ์ ในขณะขอทานย่านประตูน้ำ เธอจึงแวะมาที่โรงพยาบาลตำรวจ เธอมาถึงห้องคลอด เวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง..แรกรับ พยาบาลห้องคลอดได้ตรวจภายในให้ ปรากฏว่า ปากมดลูกของเธอเปิด 6 เซนติเมตร ความบาง 75%.. มีหัวเป็นส่วนนำ ที่ระดับ 0 , ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก และมดลูกมีการแข็งตัวทุกๆ 3 นาที ข้าพเจ้าเดินทอดน่องมาถึงห้องคลอด เวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ ก็พบนางโอน นอนบิดตัวอยู่บนเตียง และมีอุปกรณ์ทำคลอด จัดวางอยู่ใกล้ๆ.. พยาบาลที่เฝ้าอยู่ รายงานว่า ‘คนไข้เขมรรายนี้มาถึงตอน 2 ทุ่มครึ่ง เวลาผ่านไป 2 ชั่วโมง ปากมดลูกของคนไข้ เปิดเพิ่มจาก 6 เซนติเมตร เป็น 8 เซนติเมตร แต่..มาถึงตอนนี้ ก็ยังเปิดเท่าเดิม หมอคิดว่า จะทำอะไรไหม??’ จริงๆแล้ว ตอนแรก ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่ใจคนไข้รายนี้เลย เพราะเธอเคยคลอดบุตรมาแล้วถึง 7 คน คราวนี้ ก็คงไม่น่าจะมีปัญหาเช่นกัน แต่..พอเข้าไปผ่ออนในห้องแพทย์เวร ข้าพเจ้า กลับฉุกคิดว่า ‘อีก 2 ชั่วโมง พยาบาล อาจต้องมาปลุกข้าพเจ้าอีก ถ้าหากคนไข้มีปัญหาคลอดไม่ได้’ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอตรวจภายในนางโอน ณ ตอนนั้นเลย เพื่อเป็นการประเมินสถานการณ์ ซึ่งปรากฏว่า ‘ปากมดลูกของคนไข้เปิดประมาณ 8 เซนติเมตร ความบาง 100% สามารถถ่างขยาย ยืดออกได้ 10 เซนติเมตร’ ยังไง ยังไง ข้าพเจ้ายังคงคิดว่า นางโอนน่าจะคลอดได้ไม่ยาก เพียงแต่ มดลูกคงจะหดรัดตัวไม่ดี นอกจากนั้น ถุงน้ำก็ยังคงอยู่ ข้าพเจ้าเริ่มดำเนินการเพื่อให้กระบวนการคลอดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเจาะถุงน้ำคร่ำ ผลปรากฏว่า น้ำคร่ำที่ไหลออกมา มีขี้เทาปนเปื้อน (Mild meconium) ซึ่งแสดงถึงภาวะขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือดของทารก ข้าพเจ้าได้สั่งการให้ยาเร่งคลอด (Syntocinon) ด้วย เพื่อทำให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น คนไข้จะได้คลอดในเวลาที่เร็วขึ้น จากนั้น ข้าพเจ้าก็เดินกลับเข้าห้องพักแพทย์ ขณะที่กำลังล้มตัวลงนอน ก็เกิดความรู้สึกกังวลว่า ‘ลูกนางโอนอาจมีปัญหาขาดก๊าซออกซิเจน (Severe Hypoxia) มากขึ้นได้ หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีก อย่ากระนั้นเลย น่าจะช่วยคลอดตอนนั้นเลย ดีกว่า..โดยการใช้เครื่องดูด (Vacuum)’ ข้าพเจ้าผลุนผลัน รีบออกจากห้องพักทันที พร้อมทั้งสั่งการกับพยาบาลห้องคลอดว่า ‘จะช่วยคลอดด้วยเครื่องดูด (Vacuum)’ เวลานั้น เผอิญมีคนท้องอีกรายหนึ่ง กำลังถูกส่งตัวมาจากห้องฉุกเฉิน พยาบาลห้องคลอด ถามข้าพเจ้าว่า ‘จะให้ย้ายคนไข้เขมรเข้าไปข้างในห้องคลอดเลยไหม! จะได้ไม่ต้องย้ายเครื่องดูด (Vacuum) ออกมาข้างนอกที่ห้องเตรียมคลอด’ ข้าพเจ้าเห็นด้วย และเริ่มดำเนินการช่วยคลอด เมื่อเวลา 00.45 น. ข้าพเจ้าขอให้ปลุกนักศึกษาแพทย์ขึ้นมาด้วย เพื่อฝึกหาประสบการณ์ในการช่วยคลอดตอนนั้น ข้าพเจ้าได้ให้นักศึกษาแพทย์ประกอบชุดอุปกรณ์เครื่องดูด มีสายท่อพล่าสติก และหัวดูด ซึ่งมีลักษณะเป็นถ้วยเหล็กกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ข้าพเจ้ารู้สึกว่า นักศึกษาแพทย์คนนี้ ประกอบอุปกรณ์ช้ามาก ข้าพเจ้าจึงลงมือประกอบเครื่องมือ และคิดจะดำเนินการดึงคลอดเองด้วย โดยไม่ให้นักศึกษาแพทย์ทำหัตถการ เหมือนดังที่ตั้งใจไว้เดิม การใส่หัวถ้วยดูดที่ศีรษะเด็กนั้น กระทำได้ยากมาก เพราะปากมดลูกองนางโอนด้านบนบวม และย้วยมาก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงใช้เครื่องมือ ลักษณะเป็นคีม คีบบริเวณปากมดลูกส่วนบน แล้วค่อยๆดันหัวถ้วยเหล็กให้แนบส่วนหัวเด็ก เมื่อบอกให้เจ้าหน้าที่พยาบาลลดความดันอากาศของเครื่องดูด ปรากฏว่า หัวถ้วยเหล็กไปดูดเอาปากมดลูกบางส่วนเข้าไปในถ้วยเหล็ก ตอนแรก ข้าพเจ้าไม่รู้ แต่..เมื่อทำการดึงศีรษะเด็กไปสักพักหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ใช้นิ้วชี้แยงเข้าไปในช่องคลอด เพื่อสำรวจโดยรอบ พอพบเหตุการณ์ดังกล่าว ก็บอกให้พยาบาลหยุดเครื่อง และถอดเอาหัวถ้วยเหล็กออก อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกๆ ที่เวลาดึงเครื่องดูด แล้วหัวเด็กไม่ค่อยขยับตามลงมาเลย ข้าพเจ้าจัดการสอดใส่หัวถ้วยเหล็กอีกครั้ง คราวนี้ ได้ตรวจสอบจนแน่ใจว่า หัวถ้วยเหล็กนั้นไม่ดูดเอาปากมดลูกเข้าไปข้างใน พอลดความดันอากาศลงจนได้ที่ตามกำหนด ข้าพเจ้า ก็ดึงลากศีรษะเด็ก ปรากฏว่า ศีรษะเด็กไม่ลงตามแรงดึง ข้าพเจ้างงมากกับการดึงครั้งนี้ พยาบาลผู้ช่วยกลัวว่า ลูกนางโอนจะเป็นเด็กหัวโต (Hydrocephalus) จึงแนะนำว่า ‘น่าจะเอาเครื่องอัลตราซาวนด์มาดูที่บริเวณหัวเหน่า’ ข้าพเจ้าเห็นด้วย จึงนำเอาอัลตราซานด์มาตรวจดูหัวทารกน้อย ปรากฏว่า มองคล้ายกับว่า ‘ทารกไร้กะโหลก (Anencephaly)’ ข้าพเจ้าเผลออุทานออกมาเบาๆว่า ‘สงสัย ลูกคนไข้ จะเป็นทารกไร้กะโหลก เราถึงดึงไม่ลง แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ปากมดลูกก็เปิดหมด เราน่าจะลองดึงดูอีกสักครั้ง เผื่อว่าจะคลอดออกมาได้ เพราะถ้าผ่าตัดคลอด แล้วได้ทารกไร้กะโหลก คนไข้ ก็เจ็บตัวฟรี โดยไม่ได้ลูก’ ข้าพเจ้าได้ลองใช้เครื่องดูดดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งพอใช้นิ้วสำรวจไปรอบๆหัวเด็กตอนใส่ถ้วยเหล็ก ก็คลำดูเหมือนหัวทารกปกติ ข้าพเจ้าอุทานออกมาอีกทีว่า ‘เออ!! หัวเด็กปกติ…ไม่ใช่ Anencephaly!’ จากนั้น ก็ใช้เครื่องดูดดึงหัวเด็กอย่างตั้งใจ ข้าพเจ้าคิดว่า ‘คราวนี้ ทารกน้อยคงคลอดได้แน่ เพราะช่องคลอดของคนไข้กว้างและหย่อนตัวดี’ แต่…ข้าพเจ้าเใจผิด เมื่อใช้เครื่องดูดดึงศีรษะเด็กแล้ว หัวเด็กไม่ตามลงมาเลย ถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าตัดสินใจยุติการช่วยคลอดทันที และสั่งการให้ผ่าตัดคลอด ให้กับนางโอน… ที่ห้องผ่าตัด พยาบาลห้องผ่าตัด พากันงงกับการตัดสินใจของข้าพเจ้า เพราะมารดาทารกตั้งครรภ์ที่ 8 และคลอดเองตามธรรมชาติถึง 7 ท้อง โดยไม่มีปัญหา.. แล้วทำไม ข้าพเจ้าถึงด่วนตัดสินใจผ่าตัดคลอด?? ข้าพเจ้าไม่ได้ตอบข้อสงสัยดังกล่าว เพราะเป็นเวลาดึกมากแล้ว การผ่าตัดคลอดนางโอนเป็นไปอย่างง่ายดาย แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะปากมดลูกของเธอบางมาก ซึ่งอาจทำเกิดการฉีกขาดแบบกดทับ (Cut through) โดยเส้นเอ็นที่เย็บ ทารกคลอดเมื่อเวลา 1 นาฬิกา 45 นาที เป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 3,910 กรัม คะแนน ศักยภาพแรกคลอด 9, 10 (คะแนนเต็ม 10) ณ เวลา 1 และ 5 นาที ตามลำดับ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมนางโอนในวันรุ่งขึ้น และพูดคุยกับเธอ คนไข้มีอารมณ์แจ่มใส พร้อมทั้งเล่าถึงชีวิตของเธอว่า ‘ทำอาชีพเป็นขอทาน ตามความจำเป็น ตอนนี้ พำนักอยู่บ้านพักของพวกชาวเขมรขอทาน ที่ย่านบ่อนไก่ เสียค่าที่พัก คืนละ 30 บาท ต่อจากนี้ ก็คงถูกส่งตัวกลับประเทศเขมร เธอคงไม่มีเวลาเร่รอนมาที่เมืองไทย ในช่วงที่กำลังดูแลลูกน้อย แต่..หลังจากลูกคนเล็กแข็งแรงดี และโตพอสมควร เธอก็คงต้องกลับมาเมืองไทยอีก….’ เมื่อมองย้อนกลับไปดูการตัดสินใจผ่าตัดคลอดครั้งนี้ จะพบว่า ข้าพเจ้าตัดสินใจคลอดได้เร็วมาก..เริ่มตั้งแต่ การตัดสินใจเจาะถุงน้ำคร่ำตอนที่พบกันครั้งแรก ซึ่งโดยปกติของสูติแพทย์เกือบทุกคน พอพบเจอคนไข้แบบนี้ในตอนดึก ก็คงจะยังรอต่อไปก่อน..อีก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย… นั่น!! อาจนำมา ซึ่งภาวะขาดก๊าซออกซิเจนอย่างรุนแรงของทารกในครรภ์…. ต่อมา คือ ตอนใช้เครื่องดูดช่วยคลอด พอข้าพเจ้าดึงศีรษะทารกไม่ตามลงมาในครั้งที่สอง ก็ตัดสินใจผ่าตัดคลอดทันที นั่นก็เป็นสิ่งดี เพราะการพยายามดื้อดึงกระทำต่อไป จะมีโอกาสล้มเหลวสูง ซึ่งจากประสบการณ์ ข้าพเจ้า คิดว่า การลองดึงเพียง 1 – 2 ครั้ง แล้วศีรษะทารกไม่ตามลงมา ก็ไม่ควรฝืนกระทำต่อ …ในอดีต เคยมีกรณีของทารก น้ำหนักเพียง 2,600 กรัม แล้วได้รับการช่วยดึงคลอดด้วยเครื่องดูดถึง 8 ครั้ง ปรากฏว่า ทารกมีเลือดออกในสมอง และเสียชีวิตในที่สุด อุทาหรณ์เรื่องดังกล่าว ถือเป็นเครื่องเตือนใจอย่างดี ให้ข้าพเจ้ารีบตัดสินใจผ่าตัดคลอด ไม่ชักช้า แม้ว่า จะยังมีข้อสงสัยในใจอยู่ ก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่า ยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการฟ้องร้องคุณหมอจากคนไข้อย่างมาก พอเกิดปัญหาคลอดยากขึ้น ไม่ว่า จะเป็นรูปแบบใด.. ก็ไม่ควรรอช้า.. คุณหมอสูติ ควรรีบตัดสินใจผ่าตัดคลอดทันที แม้ว่าจะขัดต่อหลักทางวิชาการบ้าง เพราะ ‘การได้ทารกที่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยวินิจฉัยผิด (Good outcome, but Wrong diagnosis)’ ยังดีกว่า ‘วินิจฉัยถูก แต่ดำเนินการล่าช้าจนได้ทารกที่พิการทางสมอง (Good diagnosis, but Bad outcome)’ ………฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *