เบรกแตก

เบรกแตก

วันพุธที่ผ่านมา ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเดินทางไปพัทยาในตอนเช้า เพื่อเข้าอบรมวิชาการของสมาคม ISGE (International Society for Gynecologic Endoscopy) คืนก่อนหน้า ข้าพเจ้านอนค้างที่โรงพยาบาลตำรวจเพื่ออยู่เวรรักษาการ ข้าพเจ้าเริ่มออกเดินทางแต่เช้ามืด เมื่อขับรถไปได้สักพักหนึ่ง ก็ได้ยินเสียง ‘เอียดๆ’ เสียงดังมากทุกครั้งที่เหยียบเบรก เสียงดังเช่นนี้ ข้าพเจ้าเคยมีประสบการณ์มาก่อนว่า ‘เกิดจากจานเบรกเสียดสีกับจานเหล็กที่ล้อ อันมีสาเหตุมาจากผ้าเบรกที่บางจนใช้การไม่ได้’ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงแวะไปที่อู่ซ่อมรถย่านพัฒนาการ แล้วกลับไปนอนพักต่อที่บ้าน เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อกลับไปสอบถาม ช่างเจ้าของอู่รถบอกว่า ‘ผ้าเบรกล้อหน้าถูกเสียดสีจนหมดและจานห้ามล้อเกิดความเสียหายอย่างมาก’      ข้าพเจ้าถามนายช่างว่า “หากข้าพเจ้ายังคงขับรถต่อไป โดยไม่ทำการซ่อมแซมเสียก่อน จะเกิดอะไรขึ้น” นายช่างเจ้าของร้านตอบว่า เบรกแตก’ อย่างแน่นอน ปัญหาที่ตามมา ย่อมต้องเลวร้ายและรุนแรง

วันก่อน ข้าพเจ้าพบคนท้องอายุ 16 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 มาขอรับการผ่าตัดคลอด และทำหมัน??. พลันข้าพเจ้านึกถึง เรื่อง ‘เบรกแตก’ เพราะเธอตั้งครรภ์แรกในขณะที่เป็นเพียงเด็กหญิงอายุ 13 ปี โชคดี!! ที่ผ่านวิกฤตอันตรายมาได้ด้วยการผ่าตัดคลอด ตอนนี้ ก็มาตั้งครรภ์ที่ 2 อีกเมื่ออายุ 15 ปี นอกจากนี้ เธอยังต้องการทำหมันด้วย ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้ แต่ไม่ได้ทำหมัน พลางพิจารณาในใจว่า การตัดสินใจรักษาของสูติแพทย์ในกรณีที่คนไข้มีความเสี่ยงสูงนั้น แพทย์จำเป็นต้องกระทำอย่างเหมาะสมและไม่ช้าเกินไป มิฉะนั้น ก็จะเกิดปัญหาที่ยิ่งใหญ่ตามมา ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจรุนแรงจนทำให้ชีวิตคนไข้และลูกเป็นอันตรายได้  

วันจันทร์ก่อนเดินทางไปอบรม ตอนเย็น จู่ๆก็มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณกาญจนา ตั้งครรภ์แรก อายุ 28 ปีถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เธอมาที่ห้องคลอดตอนเวลาประมาณบ่าย 4 โมง แพทย์ฝึกหัดได้โทรศัพท์ปรึกษาข้าพเจ้าว่า ‘คนไข้เป็นครรภ์แฝด อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ ตอนเช้า ทราบมาก่อนจากใบส่งตัวว่า ทารกตายในครรภ์ 1 ตัว แต่.. เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา สูติแพทย์เวรห้องตรวจ ได้ดูอัลตราซาววนด์ให้แล้ว ปรากฏว่า ทารกเสียชีวิตทั้งคู่ ปัญหาสำคัญ คือ มีภาวะน้ำเกิน ( Polyhydramnios ) คนไข้จำเป็นต้องได้รับก๊าซออกซิเจนทางจมูก เพราะเธอทำท่าคล้ายกับจะหายใจไม่ออก’ ข้าพเจ้าฟังแล้ว รู้สึกไม่สบายใจ จึงรีบรุดไปดูในทันที

ภาพที่เห็น คือ คุณกาญจนานอนบนเตียงที่ห้องเตรียมของห้องคลอด หน้าท้องของเธอใหญ่โตมาก เหมือนกับจอมปลวกทีเดียว เธอนอนหายใจแผ่วๆ ค่อนข้างเร็ว และเหนื่อยเวลาตอบคำถาม พยาบาลได้วางหน้ากากพร้อมก๊าซออกซิเจนไว้ที่จมูกของเธอ โชคดี! ที่เธอยังนอนราบได้ มิฉะนั้น ข้าพเจ้าคงคิดว่า เธอมีโรคหัวใจวายร่วมด้วย

ข้าพเจ้าอธิบายวิธีการรักษาให้กับสามีและคุณกาญจนาฟังว่า “การรักษามี 3 วิธี คือ 1. ถ้าคุณกาญจนาหายใจลำบากมากจนทนไม่ไหวจริงๆ ผมจะใช้วิธีผ่าตัดคลอด (Hysterotomy) เอาเด็กออกมาก่อน เพื่อให้คนไข้หายใจสะดวกขึ้น แต่วิธีการนี้ทำให้คุณกาญจนาเจ็บตัวมาก และถือว่า ไม่คุ้มค่า วิธีที่ 2 คือเจาะถุงน้ำคร่ำทางปากช่องคลอด เพื่อให้คุณกาญจนาคลอดเองตามธรรมชาติ วิธีการนี้ ปากมดลูกของเธอต้องนุ่มและเปิดอย่างน้อย 2 – 3   เซนติเมตร วิธีที่ 3 คือ การใช้เข็มยาวๆ เจาะผ่านผนังหน้าท้องทะลุมดลูกเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ แล้วปล่อยให้น้ำคร่ำไหลออกมาทางสายที่ต่อกับก้นเข็มไปยังขวดน้ำทิ้ง จากนั้น ก็รอจนกว่าปากมดลูกจะนุ่ม เพื่อเจาะถุงน้ำคร่ำทางปากมดลูก

หลังจากนั้น สองสามีภรรยา ได้ปรึกษากัน และเห็นด้วยกับข้าพเจ้าที่จะใช้วิธีการที่ 2 ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในให้กับคุณกาญจนา พบว่า ปากมดลูกของเธอเปิดประมาณ 2 เซนติเมตร จากนั้น ก็ใช้เครื่องมือสอดใส่ผ่านทางปากมดลูกเข้าไปเจาะถุงน้ำคร่ำ ผลปรากฏว่า ‘ได้น้ำคร่ำออกมาเพียงเล็กน้อย ไม่ถึง 1 ถ้วยแก้ว’ ข้าพเจ้าพยายามใช้นิ้วดันส่วนของทารกที่อยู่ชิดติดกับปากมดลูก เพื่อให้น้ำคร่ำไหลออกมาอีก แต่ดันเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นผล.. ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะส่วนร่างกายของเด็กคนแรกปิดกั้นตรงคอมดลูกด้านใน

ข้าพเจ้าบอกกับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลห้องคลอดว่า “คงต้องรอเวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง พอปากมดลูกเปิดสัก 5 – 6 เซนติเมตร เด็กก็จะคลอดผ่านออกมาได้ เพราะอายุครรภ์แค่นี้ เด็กจะมีขนาดตัวพอๆกับกำปั้นมือของคนเราเท่านั้น”

เวลาผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง คุณกาญจนาก็แท้งบุตรทั้งสองคนออกมา ลูกคนแรก มีลักษณะผิวหนังลอกเกือบทั้งตัว ซึ่งแสดงว่า ได้เสียชีวิตมาไม่น้อยกว่า 3 วัน หลังจากคลอดทารกคนแรกแล้ว ก็ไม่มีน้ำคร่ำไหลออกมาอีก นั่นหมายความว่า ทารกทั้งสองตัวมีถุงน้ำคร่ำแยกจากกัน (Diamniotic dichrorionic twins) ซึ่งไม่ตรงกับการวินิจฉัยที่สูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลตราซาวนด์คาดการณ์ไว้ว่า มีถุงน้ำคร่ำเพียงอันเดียว (monoamniotic twins) เวลาผ่านไปอีกประมาณ 15 นาที ทารกคนที่สองก็แท้งออกมา คราวนี้ น้ำคร่ำได้ไหลทะลักออกมาราวกับเขื่อนพัง น้ำคร่ำไหลท่วมแผ่นผ้าที่รองก้นและนองเต็มพื้นห้องคลอด พยาบาลประเมินว่า น้ำคร่ำที่ออกมาในครั้งนี้ไม่น่าจะน้อยกว่า 5 ลิตร

ช่วงที่กำลังแท้งบุตรอยู่นั้น คุณกาญจนามีชีพจรเต้นเร็วมาก ขณะที่แท้งบุตรคนที่สอง ชีพจรของเธอเต้นเร็วมากถึง 130 ครั้งต่อนาที เวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง ชีพจรจึงเต้นช้าลง พอการแท้งสิ้นสุดลง คนไข้มีชีพจรเต้นลดลงเหลือเพียง 100 ครั้งต่อนาที คุณกาญจนารู้สึกหวาดผวากับการแท้งบุตรครั้งนี้มาก ข้าพเจ้าได้พูดจาปลอบใจเธอ ให้สบายใจ ซึ่ง..หากเธอนอนไม่หลับ ข้าพเจ้าก็จะให้ยาช่วยผ่อนคลายความเครียดกับเธอ แต่…เธอปฏิเสธ

ค่ำคืนวันเดียวกันนั้น ข้าพเจ้าสังเกตเห็นคนไข้อีกรายหนึ่ง นอนเตียงที่ 5 ในห้องคลอด ชื่อ คุณธีรพร อายุ 26 ปี ตั้งครรภ์แรก หน้าท้องของเธอดูเล็กมาก เธอมีประวัติน้ำเดินมาตั้งแต่เที่ยงคืนวันก่อน และคุณหมอเวรได้วางแผนจะผ่าตัดให้คุณธีรพรในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าอยู่เวรในค่ำคืนนั้น ข้าพเจ้าไม่ควรประมาท เพราะหากพลาดพลั้ง ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์เนื่องจากสายสะดือถูกกดทับ นั่นก็จะทำให้ ข้าพเจ้ากลายเป็นจำเลยสังคม…

ถึงแม้ในช่วงตอนเช้า คุณหมอเวรได้ตรวจดูอัลตราวนด์ให้คุณธีรพรแล้วครั้งหนึ่งและเขียนบันทึกไว้ว่า ‘เหลือน้ำคร่ำอยู่ค่อนข้างน้อย แต่ยังพอมี (Oligohydrramnios)’ ข้าพเจ้าก็ขอตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำให้กับเธอ เพื่อให้หายข้องใจ ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาด คือ ภายในโพรงมดลูก แทบจะไม่มีน้ำคร่ำเหลืออยู่เลย (Anhydrmnios) ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องผ่าตัดให้กับคุณธีรพรอย่างฉุกเฉิน ผลคือ ได้ทารกน้อยเพศหญิง น้ำหนักตัว 1,900 กรัม คะแนนศักยภาพแรกเกิด เท่ากับ 7, 8 (จากคะแนนเต็ม 10 ) ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ ทารกน้อยจำเป็นต้องเข้านอนพักที่ห้องไอ.ซี.ยู. เด็ก เป็นเวลา 7 วัน เนื่องจากปอดทำงานยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ หลังจากนั้น หนูน้อยได้ถูกส่งต่อไปที่ห้องทารกที่มีความเสี่ยงสูง (High risk room) เพื่อเลี้ยงดูจนน้ำหนักตัวเกินกว่า 2,000 กรัม จึงจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน

ยังมีคนไข้อีกรายที่มีความเสี่ยงสูง โดยที่คนไข้เองไม่รู้ตัว เธอชื่อคุญอรัญญา อายุ 33 ปี ตั้งครรภ์ที่ 3 ครรภ์แรก เธอคลอดเองตามธรรมชาติ บุตรคนแรกมีน้ำหนักแรกคลอด มากถึง 3,500 กรัม ปัจจุบัน อายุ 7 ขวบ แข็งแรงดี แต่..เธอต้องมาโชคร้ายในครรภ์ที่ 2 เพราะทารกที่คลอดออกมามีความพิการแต่กำเนิด และเสียชีวิตหลังคลอดไม่นาน ครรภ์ที่ 2 นั้น ได้รับการทำคลอดโดยแพทย์ท่านอื่น ดังนั้น ครรภ์ที่ 3 นี้ คุญอรัญญาจึงกลับมาขอให้ข้าพเจ้าทำคลอดให้ เธอฝากครรภ์ตั้งแต่ตั้งครรภ์ เพียง 6 สัปดาห์ และฝากครรภ์มาเรื่อยๆ

ตอนช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ คุญอรัญญามีมดลูกแข็งตัวเป็นบางครั้ง บางคราว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้เธอรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก (Bricanyl) จนถึงอายุครรภ์ได้ 37 สัปดาห์ ซึ่งช่วงนั้น หน้าท้องของเธอสูงใหญ่มาก ข้าพเจ้าได้ตรวจดูอัลตราซานด์ให้กับคุญอรัญญา ก็ไม่พบว่า ทารกตัวใหญ่ผิดปกติ เพียงแต่มีจำนวนน้ำคร่ำมากกว่าปกติเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าพยายามหาเหตุผลเรื่องการที่หน้าท้องเธอสูงใหญ่ว่า ‘เกิดจากสาเหตุใด’ ข้อที่ชวนให้ข้าพเจ้าคิดถึง ก็คือ ศีรษะเด็กไม่ลงสู่อุ้งเชิงกราน (Unengagement of the fetal head) ซึ่งจริงๆแล้ว ในครรภ์หลัง ก็เป็นเช่นนั้นได้

พออายุครรภ์ได้ 39 สัปดาห์ หน้าท้องของคุญอรัญญาสูงใหญ่มาก ข้าพเจ้าวัดโดยใช้ตลับเมตรได้ถึง 43 เซนติเมตร จากประสบการณ์ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ‘          ภัยร้ายกำลังใกล้เข้ามาแล้ว’ ข้าพเจ้าเริ่มชักชวนให้คุญอรัญญาเข้ารับการผ่าตัดคลอด ช่วงแรก เธอคัดค้านมาโดยตลอด เพราะครรภ์แรกคลอดเองทางช่องคลอดได้ ครรภ์นี้ ก็ควรคลอดเองได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าถือเป็นโอกาสบอกในส่วนการตัดสินใจของข้าพเจ้าว่า ‘วิธีการคลอดมีอยู่ประการเดียวเท่านั้น คือ ผ่าตัดคลอด’ ซึ่งหลังจากเธอปรึกษากับสามี ก็ตัดสินใจเลือกเอาฤกษ์ดีวันหนึ่งเป็นเวลาคลอด

ที่ห้องผ่าตัดคลอด ข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดคุญอรัญญาโดยไม่มีแรงกดดันอะไร เพราะการผ่าตัดคลอดจะช่วยแก้ไขปัญหาทุกสิ่งที่อาจพบในการคลอดเอง การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบง่าย พอผ่าตัดเข้าสู่ถุงน้ำคร่ำ ข้าพเจ้าก็ใช้มือล้วงเข้าไป พลางใช้เครื่องมือคีม (Forceps) คีบศีรษะทารกน้อย คาดไม่ถึง ข้าพเจ้าไม่สามารถประกบเครื่องมือได้ คราวนี้ ข้าพเจ้าจึงตั้งใจที่จะคลำเพื่อให้ทราบท่าของศีรษะทารกอย่างชัดเจน… ที่ไหนได้!!!!  เด็กอยู่ในท่าหน้า (face presentation) นั่นเอง

ปัญหาของทารกท่าหน้า (face presentation) ก็คือ หากถุงน้ำคร่ำแตก ใบหน้าเด็กจะบวมเป่งจากการกดกับอุ้งเชิงกรานเป็นเวลานาน จนอาจขัดขวางการหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด เมื่อหลายปีก่อน เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด ทารกน้อยเป็นท่าศีรษะทั้งคู่ พอตัวแรกคลอดออกไป และเวลาผ่านไปสักพัก พยาบาลจึงทราบว่า ทารกตัวที่สองไม่สามารถคลอดได้ เพราะเป็นท่าหน้า (Face presentation) เมื่อแจ้งให้สูติแพทย์ทราบ ท่านก็รีบผ่าตัดให้เป็นการด่วน อย่างไรก็ตาม การเตรียมผ่าตัด มีขั้นตอนที่ทำให้เสียเวลาไปไม่น้อย ในที่สุดทารกแฝดคนที่สองก็เสียชีวิต  ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงถือว่า ตัวเองเป็นคนโชคดี ที่ตัดสินใจผ่าตัดให้คุญอรัญญา ซึ่งตอนนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจไว้แล้วว่า หากคนไข้ยังคงยืนยันที่จะคลอดเองตามธรรมชาติ ข้าพเจ้าจะขอร้องให้เธอเปลี่ยนไปคลอดกับคุณหมอท่านอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องร้อง ที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการคลอดเอง (อาทิ การคลอดติดไหล่ หรือสายสะดือพันคอเด็กหลายรอบ ซึ่งเวลาดึงคลอด ก็เสมือนกับแขวนคอทารกน้อย)

บุตรของคุญอรัญญา เป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,450 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 9 และ 10 (คะแนนเต็ม 10 ) ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ ไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น คุณอรัญญาและสามีต่างก็ดีใจที่บุตรแข็งแรงดี ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างคลายข้อสงสัยว่า ‘ทำไมหน้าท้องคุณอรัญญาถึงสูงใหญ่ขนาดนั้น และไม่แปลกใจว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้กับคุณอรัญญา

ไม่ว่า จะเป็นคุณกาญจนา  คุณธีรพร หรือคุณอรัญญา หากมีการตัดสินใจรักษาที่ผิดพลาด ไม่เหมาะสม ผลที่ตามมาก็อาจเลวร้ายจนยากที่จะคาดเดา ซึ่งแน่นอน!! ข้าพเจ้า รวมถึงสูติแพทย์ทุกท่านที่หากกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ย่อมต้องพยายามหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนอย่างเต็มที่

โลกนี้ ยังคงวุ่นวาย ก็เพราะผู้คนขาดการยั้งคิด ไตร่ตรอง เวลาเกิดปัญหาเฉพาะหน้า หลายคนยังคงเดินหน้าต่อไป โดยไม่แยแสกับผลที่จะตามมา สุดท้าย ปัญหาก็ลุกลามไปเรื่อยๆ จนหมดหนทางเยียวยา… ทางที่ดี ข้าพเจ้าคิดว่า ‘เราควรหยุดคิด และแก้ปัญหาตามความเหมาะสม โดยใช้พลังปัญญาและบุญเก่าเท่าที่มี……’

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *