แฝดใจเพชร

แฝดใจเพชร

คุณเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์หรือไม่? สำหรับข้าพเจ้า…เชื่ออย่างสนิทใจ เพราะชีวิตที่ผ่านมาของข้าพเจ้า ล้วนผ่านพ้นมาได้อย่างมหัศจรรย์ทั้งสิ้น หากไม่มีปาฏิหาริย์ ข้าพเจ้าคงจบชีวิตไปนานแล้ว ณ ที่คูคลองเล็กๆแห่งหนึ่งที่ขนานคลองชลประทานย่านอำเภอสองพี่น้อง เนื่องจากเหตุการณ์รถกระบะเสียหลัก พลัดตกและจมน้ำ แต่..ก็มีชาวบ้านช่วยเหลือได้ทัน ก่อนที่ข้าพเจ้าจะกลั้นลมหายใจเฮือกสุดท้ายไม่อยู่..

สิ่งเหลือเชื่อใดๆ ในปัจจุบัน ได้ปรากฏขึ้นให้เห็นบ่อยๆ จนเราเคยชิน..อาทิ เศษเหล็กที่มาประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องบิน และเหิรฟ้าได้ดุจนก ..ในทางการแพทย์ วิทยาการและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ก็พัฒนาก้าวหน้าไปไกล…จนแทบไม่น่าเชื่อว่า จะมีมนุษย์คนใดคิดค้นขึ้นมาได้…

วันวาน ข้าพเจ้าได้เดินไปเยี่ยมห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด ด้วยหวังจะดูทารกแฝด ซึ่งเป็นปัญหาเข้าที่ประชุมสูติแพทย์เมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อน.. น่าแปลกใจ ที่พบมีเด็กแฝดเกิดขึ้นมาอีกคู่ คราวนี้สภาพการณ์ของทารกน้อยรุนแรงกว่าคู่แรกเสียอีก เพราะคนไข้และคุณหมอไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก่อน… จู่ๆ เธอก็ปรากฏกายขึ้นที่ห้องคลอด และเบ่งคลอดหลังจากนั้นไม่นาน..

คนไข้รายใหม่นี้ ชื่อ คุณโสรญา… เธออายุ ๒๔ ปี ตั้งครรภ์แฝด ท้องแรก อายุครรภ์ ๒๖ สัปดาห์ ๔ วัน…๑ วันก่อนมาโรงพยาบาลฯ เธอเริ่มเจ็บครรภ์น้อยๆตอนเที่ยงวัน แต่อาชีพเป็นฝ่ายการเงิน..ทำให้เธอทนทำงานจนถึงค่ำ และพบว่า อาการปวดท้องน้อยเริ่มเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนตอนเช้าราว ๖ นาฬิกา คุณโสรญา ก็มาที่ห้องคลอด ซึ่ง..เมื่อพยาบาลตรวจภายในให้ ก็พบว่า ปากมดลูกของเธอเปิด ๙ เซนติเมตร ความบาง ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ทารกทั้งสองเป็นท่าหัว,หัว (Vertex,vertex) ..ภายในเวลาไม่ถึง ๑ ชั่วโมง  คุณโสรญาก็เบ่งคลอดลูกออกมาตามธรรมชาติ ตอนนั้น คุณหมอเด็กเพิ่งมาเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อช่วยหายใจทารกน้อยในเบื้องต้น คนไข้เบ่งคลอดอยู่นาน ๑ ชั่วโมง ก็คลอดทารกแฝดออกมา.. ด้วยว่า ทารกทั้งสองมีศีรษะ เป็นส่วนนำทั้งคู่  (Vertex, vertex) เธอจึงคลอดไม่ยาก..ทารกน้อยทั้งสอง เป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด พอๆกัน คือ แฝดตัวแรกหนัก ๖๘๘ กรัม แฝดตัวน้องที่คลอดภายหลัง หนัก ๖๙๖ กรัม ซึ่ง..คะแนนศักยภาพแรกเกิด ไม่ดีทั้งสองคน กุมารแพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจให้ และถูกส่งไปยังห้องไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด ทันที… ปัจจุบัน แฝดทั้งสองยังอยู่ในอาการร่อแร่…. เราคงต้องเฝ้าดูต่อไป

อีกรายหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อราวครึ่งเดือนก่อน..เป็นกรณีของคุณจิตราวดี  คนไข้อายุ ๒๘ ปี เคยแท้งบุตรมา ๒ ครั้ง ฝากครรภ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุครรภ์เพียง ๙ สัปดาห์ พออายุครรภ์ ได้ ๒๓ สัปดาห์ สังเกตว่า มดลูกโตมากกว่าปกติ สูติแพทย์ที่แผนกฝากครรภ์จึงตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องให้ ปรากฏว่า เธอมีลูกแฝด ขนาดของทารกน้อย เท่ากับ ๒๑ และ ๑๙ สัปดาห์ ตามลำดับ เธอได้รับการส่งตัวต่อ..ให้ตรวจโดยละเอียด กับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการดูอัลตราซาวนด์ (MFM = Maternal- fetal medicine)

เมื่อคุณจิตราวดี ตั้งครรภ์ได้ ๒๕ สัปดาห์ การตรวจอัลตราซาวนด์ โดยละเอียดจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีทารกน้อย คนหนึ่ง เกิดสภาพแคระแกรน (IUGR= Intrauterine growth retardation) และทารกอีกคนน่าจะได้รับเลือดถ่ายเทจากทารกตัวเล็ก (Twin –twin transfusion syndrome) สำหรับ ‘รก’ พบว่า มันเป็นรกอันเดียว แต่มีถุงน้ำคร่ำแยก (Monochorion Diamnion Placenta) รกชนิดนี้นี่เอง ที่ก่อปัญหา ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงทารกทั้งสอง มีการเชื่อมต่อกันในบางส่วน เลือดจะถ่ายเทจากตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวหนึ่งได้ ทำให้ทารกตัวหนึ่งขาดเลือด ในขณะที่ทารกอีกตัวมีภาวะเลือดมากเกิน (Polyhydramnios) เป็นผลให้ทารกตัวเล็กเสียชีวิตได้ง่าย.. จากนั้น เป็นต้นมา คุณจิตราวดี ก็ได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์จากผู้เชี่ยวชาญทุกสัปดาห์.. พออายุครรภ์ ๒๗ สัปดาห์ ๓ วัน ทารกทั้งสองเริ่มมีภาวะแคระแกรนอย่างเห็นได้ชัด แต่..ก็ยังไม่ถึงกับต้องผ่าตัดคลอดออกมา

เมื่อคุณจิตราวดี ตั้งครรภ์ได้ ๒๘ สัปดาห์ ๕ วัน ตอนนี้เอง ที่พบว่า การไหลเวียนของเลือดภายในรกเกิดการย้อนกลับ (Reverse flow) ซึ่ง..เป็นสัญญาณอันตรายร้ายแรง บ่งบอกว่า ทารกทั้งสองจะเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นานหลังจากนี้..  นี่เอง..เป็นเหตุให้สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลตราซาวนด์ ต้องคุยกับคุณจิตราวดี ว่า ‘ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องตัดสินใจผ่าตัดคลอด แม้ว่า อายุครรภ์จะน้อยมาก ก็ตาม’

ถึงจะเสี่ยงต่อความตายจากการคลอดก่อนกำหนด (Preterm delivery) แต่..คุณจิตราวดี ก็ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดคลอด.. สูติแพทย์ท่านนั้น ได้ให้ยาเพิ่มการพัฒนาการทำงานของปอด (Steroid) เป็นเวลา ๒ วันก่อนผ่าตัด เพื่อให้ปอดมีประสิทธิภาพพอที่จะอยู่ในโลกภายนอก… ส่วนกุมารแพทย์ ก็เตรียมห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดรองรับทารกทั้งสอง อย่างเต็มที่

ในที่สุด วันนั้น ก็มาถึง สูติแพทย์ผู้รับผิดชอบ ได้ลงมือผ่าตัดคลอดให้แต่เช้า ภายใต้การเตรียมการของทุกฝ่าย ตั้งแต่กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และสูติแพทย์ ทารกน้อยคลอดเมื่อเวลา ๑๐ นาฬิกา ๓ และ ๔ นาทีตามลำดับ ได้ทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด ๑๐๐๐ กรัม และ ๖๕๘ กรัม ค่าคะแนนศักยภาพของทารกแรกเกิดแฝดคนแรกเท่ากับ ๗ และ ๙ ; แฝดคนน้อง เท่ากับ ๔ และ ๘ (คะแนนเต็ม ๑๐) ณ เวลา ๑ และ๕ นาทีหลังคลอดตามลำดับ ทารกทั้งสองได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจทันที และส่งไปดูแลอย่างใกล้ชิดที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด.. ปัจจุบัน ทารกแฝดลูกคุณจิตราวดี มีสภาพร่างกายที่ดีมาก แม้จะอยู่ในสภาพใส่เครื่องช่วยหายใจ

คุณจิตราวดี และ คุณโสรญา  มีลูกแฝดเหมือนกัน แต่โชคชะตาแห่งอนาคตของลูกน้อยอาจแตกต่าง..ด้วยว่า คุณจิตราวดีขณะตั้งครรภ์ เมื่อทารกมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต ก็ได้มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด จากสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (MFM) พอทารกน้อยเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง คุณจิตราวดีก็เข้าสู่กระบวนการผ่าตัดคลอดทันทีโดยมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นอย่างดีจากคุณหมอทุกฝ่าย ลูกคนเล็กของคุณจิตราวดี ที่มีน้ำหนักแรกคลอด เพียง ๖๐๐ กรัมเศษ ก็แข็งแรงดีวันดีคืน กว่า ลูกคนโต ที่มีน้ำหนัก ๑๐๐๐ กรัมด้วยซ้ำไป

ส่วนคุณโสรญา แม้จะฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ และได้รับคำแนะนำต่างๆเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝดเช่นเดียวกัน แต่..เธอไม่สามารถตระหนักรู้ได้ว่า ‘อะไร คือ สัญญาณอันตราย ที่จะก่อให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด’ เธอยังคงมุ่งมั่นทำงาน..โดยไม่ได้คำนึงถึงตัวเอง..ตราบจนคลอดออกมาเรียบร้อยแล้ว เธอยังไม่รู้เลยว่า อะไรทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น… หลังคลอดบุตร ๑ วัน ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคุณโสรญา และถามเธอว่า ‘คุณคิดว่า อะไร คือ สาเหตุของการคลอดครั้งนี้ คุณมีเพศสัมพันธ์ในวันที่เจ็บครรภ์หรือเปล่า เพราะคนท้องบางคนมีความไวต่อสารพรอสตาแกรนดิน ในน้ำอสุจิ ทำให้เจ็บครรภ์ และแท้งบุตรในที่สุด’ คุณโสรญาปฏิเสธ แต่ยอมรับว่า ไม่ค่อยได้พักผ่อน..กรณีของคุณโสรญา  จึงยังคงเป็นปริศนา ถึงที่มาของสาเหตุการคลอดก่อนกำหนด

อย่างไรก็ตาม ทารกน้อยลูกแฝดของคนไข้ทั้งสอง ยังคงได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้องไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด ทารกทุกคนยังมีชีวิตอยู่ และพยายามยื้อยุดฉุดตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อหนีให้พ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราช… อย่างกรณีลูกแฝดของคุณจิตราวดี สามารถมีชีวิตอยู่มาได้กว่าครึ่งเดือน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ถือว่า ใจเด็ด ไม่น้อย  แต่..ก็ต้องขอยกย่อง ทีมงานแพทย์ ทั้งของแผนกสูติ-นรีเวช วิสัญญีแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุมารแพทย์ ที่เตรียมการเป็นอย่างดีในการรับมือเหตุการณ์ครั้งนี้.. จากการสังเกตของข้าพเจ้า… เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด มีการพัฒนาก้าวหน้าไปไกลมาก …ที่ผ่านมา ห้องไอ.ซี.ยู. แห่งนี้ สามารถช่วยชีวิตทารกน้อย ที่คลอดก่อนกำหนดในช่วงอายุครรภ์ ๒๖ สัปดาห์ หรือน้ำหนักประมาณ ๖๐๐ กรัมเศษไว้ได้หลายคน.. มาคราวนี้..ก็หวังว่า จะช่วยชีวิตทารกน้อยลูกแฝดของคนท้องทั้งสองได้…สำหรับกรณีลูกแฝดของคุณโสรญานั้น ทางห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด เพิ่งรับมาได้ไม่กี่วัน และไม่ได้มีการเตรียมพร้อมมาก่อน .. กุมารแพทย์ยอมรับว่า เป็นภาระที่หนัก.. การจะช่วยเหลือให้รอดชีวิตทั้งสองคน มีไม่มากนัก…ซึ่ง..คงต้องอาศัยปาฏิหาริย์ เท่านั้น ข้าพเจ้าเอง ก็หวังเช่นนั้น.. หวังว่า ทารกน้อยแฝดทุกคนที่กล่าวมาข้างต้น จะมีใจที่เด็ดเดี่ยว ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา มีจิตใจความแข็งแกร่งประดุจเพชร  ที่จะสู้ เพื่อมีชีวิตรอดอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะพานพบกับอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน…

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน        

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *