“ ไม่มีข่าว นั่นแหละคือ ข่าวดี ” ถือเป็นสุภาษิตที่ข้าพเจ้าชื่นชอบและเชื่อว่า ความเป็นไปในชีวิตของคนเราเป็นเช่นนั้นจริง เพราะทุกครั้งที่มีข่าวด่วนมาหาข้าพเจ้า โดยเฉพาะข่าวที่ได้รับทางโทรศัพท์ ส่วนใหญ่กว่า 90 % เป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือไม่น่าพอใจ ยิ่งอยู่ในเวลาทำงานหรือเข้าเวรโรงพยาบาล ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าหนักใจเกือบทั้งสิ้น
อย่างเช่น วันนี้ ตอนเที่ยง ขณะกำลังรับประทานอาหารกลางวัน ก็มีโทรศัพท์จากห้องคลอดเข้ามาปรึกษาว่า มีคนไข้รกค้าง และความดันโลหิตค่อนข้างต่ำ คนไข้เคยมีประวัติรกค้างมาแล้ว 2 ครั้งจากครรภ์ก่อนและต้องล้วงรกทั้ง 2 ครั้ง ข้าพเจ้าจึงรีบรุดไปล้วงรก ปรากฏว่า คนไข้ตกเลือดจนช็อก แต่ก็โชคดีที่สามารถล้วงรกออกมาได้ทันทีที่ไปถึง ข้าพเจ้าได้บอกกับแพทย์ฝึกหัดที่ดูแลหอผู้ป่วยว่า “ อย่าปล่อยคนไข้กลับบ้านก่อน 3 วันโดยเด็ดขาด ต้องเฝ้าสังเกตอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดและให้ยาฆ่าเชื้ออย่างดี เพราะเคยเกิดกรณีคนไข้ของเรามดลูกติดเชื้อและไปนอนที่โรงพยาบาลเอกชนจนเกือบถูกตัดมดลูกมาแล้ว
เมื่อ 5 วันก่อน มีสูติแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โทรศัพท์มาสอบถามที่สำนักงานสูติ–นรีเวชกรรม เรื่องคนไข้สตรีหลังคลอดที่รกค้างและข้าพเจ้าเป็นคนล้วงรกโดยบอกชื่อ นามสกุลของคนไข้มาด้วย เผอิญ ขณะนั้นข้าพเจ้าอยู่ข้างนอกโรงพยาบาล จึงได้แต่พูดคุยเรื่องราวคร่าวๆทางโทรศัพท์กับแพทย์ที่อยู่สำนักงาน คุณหมอสูติท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนได้รับการติดต่อจากคุณหมอโรงพยาบาลเอกชน… ได้ช่วยแก้ไขข้อข้องใจเบื้องต้นโดยดูจากประวัติการคลอดของคนไข้ หลังจากนั้น คุณหมอท่านนั้นได้โทรศัพท์มายังข้าพเจ้าอีกที เพื่อขอความกระจ่างและจะได้เป็นข้อมูลในการตอบข้อสงสัยครั้งต่อไปได้อย่างถูกต้อง
“ พี่จำคนไข้สตรีหลังคลอดที่รกค้างและพี่ล้วงรกเมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนได้ไหม? ในประวัติเท่าที่ดู มีบันทึกไว้ว่า ล้วงรกไม่ได้ จึงทำการขูดมดลูก..…คือว่า คนไข้รายนี้มาที่โรงพยาบาล..( ขอสงวนนาม ) ด้วยเรื่องไข้สูงและน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นและลักษณะคล้ายหนอง ” คุณหมอท่านนั้นถามมาทางโทรศัพท์
“ อ๋อ..จำได้ จำได้ คนไข้รายนี้คลอดบุตรเองตามธรรมชาติตอนประมาณตี 3 เป็นคนไข้อายุ 20 ปี ครรภ์แรก หลังคลอดเธอมีรกค้างอยู่นานเกินครึ่งชั่วโมง พี่เลยทำการล้วงรกให้ จำได้ว่า คนไข้รายนี้ มีปากมดลูกหดเกร็ง ( Cervical cramp ) จนปากมดลูกแคบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 เซนติเมตร ( ปกติในระยะหลังคลอดจะกว้าง 10 เซนติเมตร ) พี่ใส่นิ้วมือผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกได้แค่ 2 นิ้วเท่านั้น จึงทำให้การล้างรกเป็นไปด้วยความยากลำบาก รกที่ล้วงออกมามีจำนวนไม่มากนัก ตอนนั้น มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง คือ ทุกครั้งที่ใส่มือเข้าไปในช่องคลอดเพื่อทำการล้วงรก ชีพจรของคนไข้จะเต้นเร็วมากๆเลย ประมาณ 140 ครั้งต่อนาที พี่ใส่มือเข้าไปล้วงรก 2 ครั้ง ปรากฏว่า ชีพจรเต้นเร็วมากทั้งสองครั้ง พี่กลัวคนไข้จะหัวใจวาย จึงหยุดทำการล้วงรก และเปลี่ยนมาเป็นการขูดมดลูกแทน เพื่อเอารกส่วนที่เหลือออกมา ตอนนี้ คนไข้เป็นยังไงบ้าง ? ” ข้าพเจ้าสอบถามคุณหมอท่านนั้นซึ่งเป็นคนที่ได้รับการบอกเล่าโดยตรงจากคุณหมอเจ้าของไข้
คุณหมอท่านนั้นเล่าให้ฟังต่อว่า
“ คุณหมอธนบูรณ์ หมอสูติรุ่นน้องของผมซึ่งประจำอยู่ที่นั่น บอกว่า คนไข้สตรีรายนี้มีไข้สูงมาก หนาวสั่น น้ำคาวปลาที่ไหลออกมา มีลักษณะเหมือนหนอง กลิ่นเหม็นมาก ฟังน้ำเสียงของเขา เหมือนกับจะบอกว่า คนไข้ไม่ค่อยจะรู้สึกตัวนะ ” ข้าพเจ้าหยุดการสนทนาเพียงแค่นั้นและรีบเดินทางกลับมายังสำนักงานสูติฯ เพื่อศึกษาประวัติของคนไข้รายนี้
พอกลับมาถึงสำนักงานสูติฯ ข้าพเจ้าได้พบกับคุณหมอคนดังกล่าวจึงได้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม จากการทบทวนประวัติของคนไข้ จึงทราบว่า
คนไข้อายุ 21 ปี ตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ คลอดบุตรเมื่อ 7 วันก่อน คนไข้มาโรงพยาบาลตอนเที่ยงคืน ด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ และมีน้ำเดินมาจากบ้าน ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบางของปากมดลูก 70 % มดลูกแข็งตัวทุก 4 นาที 30 วินาที
เวลา 1 นาฬิกา 35 นาที ปากมดลูกของคนไข้เปิด 9 เซนติเมตร ความบางของปากมดลูก 100% ศีรษะเด็กอยู่สูงขึ้นไปในช่องคลอดที่ระดับ 0
เวลา 2 นาฬิกา ปากมดลูกของคนไข้เปิดหมด ( 10 เซนติเมตร ) ทารกคลอดเวลา 2 นาฬิกา 13 นาที เป็นทารกเพศชาย น้ำหนัก 2910 กรัม แข็งแรงดี ไม่มีปัญหาใดๆ
เวลา 3 นาฬิกา ข้าพเจ้าล้วงรกออกมาได้ประมาณ 150 กรัม และยังมีรกค้าง ข้าพเจ้าทำการขูดมดลูก ได้ชิ้นเนื้อเศษรกเพิ่มเติมอีก ประมาณ 200 กรัม หลังขูดมดลูกได้ให้ยาฆ่าเชื้อโรคทางเส้นเลือด 2 ครั้งห่างกัน 6 ชั่วโมง คนไข้นอนพักในโรงพยาบาล 2 วันโดยไม่มีไข้ หรือภาวะแทรกซ้อนใดๆ จึงขอกลับบ้านพร้อมบุตร แพทย์ประจำหอผู้ป่วยได้อนุญาติ เพราะไม่ทราบรายละเอียดความเป็นมาของปัญหาที่เกิดขึ้น
ขณะที่กำลังทบทวนประวัติอยู่นั้น เผอิญ คุณหมอผู้ดูแลคนไข้ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นโทรศัพท์เข้ามาพอดี ข้าพเจ้าจึงขอรับสายเพื่อพูดคุย คุณหมอคนดังกล่าวแนะนำตัว “ สวัสดีครับ ผมหมอธนบูรณ์ เป็นคนดูแลคนไข้รายนี้ ” และสอบถามว่า “ คนไข้มีประวัติคลอดที่โรงพยาบาลตำรวจ ผมจึงโทรศัพท์มาขอข้อมูลการคลอด เพื่อประโยชน์ในการรักษา เพราะทราบว่า คนไข้มีรกค้างและได้รับการขูดมดลูก พี่เป็นคนขูดมดลูกเองใช่ไหมครับ? มีปัญหาอะไรไหมครับในระหว่างที่ขูดมดลูก….. ”
“ พี่เป็นคนขูดมดลูกเอง คนไข้รายนี้มีปัญหาในการล้วงรก คือ ปากมดลูกมีการหดรัดตัว ( Cervical cramp ) และหัวใจของคนไข้เต้นไวมากขณะล้วงมือเข้าไปในช่องคลอด พี่กลัวคนไข้จะหัวใจวายซะก่อน จึงหยุดล้วงรกและเปลี่ยนมาเป็นการขูดมดลูกแทน คนไข้รายนี้ขูดมดลูกค่อนข้างยาก เพราะกลัวมดลูกทะลุ แต่คิดว่า ขูดเอาเศษรกออกจนหมดหรือเกือบหมด หลังขูดมดลูก ไม่พบมีปัญหาอะไร พี่ได้ให้ยาฆ่าเชื้อไป 2 ครั้งห่างกัน 6 ชั่วโมง คนไข้นอนโรงพยาบาล 2 วันก็กลับบ้าน ตอนนี้คนไข้เป็นอย่างไรบ้าง? ” ข้าพเจ้าตอบคำถามไปตามความจริงและไม่ลืมที่จะถามถึงสภาพคนไข้ในปัจจุบัน
“ ตอนที่มา คนไข้ปวดท้องน้อยไม่มากนัก แต่มีไข้สูงมากถึง 40 องศาเซลเซียส และน้ำคาวปลาที่ออกมา มีลักษณะเป็นแบบช้ำเลือดช้ำหนอง อย่างไรก็ตาม คนไข้รู้สึกตัวดีมาตลอด. ” คุณหมอธนบูรณ์เล่ามาถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าจึงถามซ้ำว่า “ คนไข้รู้สึกตัวดีจริงๆ ใช่ไหม? ”
เพราะข้อมูลแตกต่างจากที่ทราบตอนแรกว่า คนไข้ไม่ค่อยรู้สึกตัว การที่คนไข้รู้สึกตัวดี ทำให้สบายใจว่า คนไข้ไม่ได้ติดเชื้อทั่วร่างกายจากการมีรกค้าง คุณหมอธนบูรณ์ได้พูดต่อไปว่า “ คิดว่า เป็นการติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอดธรรมดา ( Endometritis ) คือที่ผมโทรศัพท์มาถาม ก็เพราะกลัวว่า จะยังมีรกค้างอยู่อีก แต่ถ้าพี่เป็นคนที่ขูดมดลูกเอง ไม่ใช่แพทย์ฝึกหัดขูดมดลูก คงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องรกค้างอยู่อีก ” คุณหมอธนบูรณ์บอกถึงความกังวลใจ เพราะหากมีรกยังเหลือค้างอยู่อีก อาจจำเป็นต้องขูดมดลูกซ้ำ
“ คิดว่า คนไข้รายนี้ จำเป็นต้องตัดมดลูกไหม? ” ข้าพเจ้าถาม
“ ผมคิดว่า คงพอไหว ให้ยาฆ่าเชื้อดีๆ ทางกระแสเลือด น่าจะรักษาและควบคุมเชื้อโรคได้ ” คุณหมอธนบูรณ์ตอบและพูดถึงยาฆ่าเชื้อโรค 3 ชนิดที่ให้ทางเส้นเลือด โดยขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากข้าพเจ้าด้วย
“ ดีแล้ว ยาที่ให้ คิดว่า ครอบคลุมเชื้อโรคทั้งชนิดใช้และไม่ใช้ออกซิเจนได้ดี ถ้ามีปัญหาอะไร โทรศัพท์ติดต่อพี่ได้ทันทีทุกเวลา ” ข้าพเจ้าบอกเบอร์โทรศัพท์ไปและคิดว่า คงจะมีการติดต่อกลับมาอีกเป็นบางครั้งบางคราว
เวลา ผ่านไป 5 วัน ไม่มีโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาเลย ข้าพเจ้าจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น เพื่อขอทราบความคืบหน้าของการรักษาคนไข้ เผอิญคุณหมอธนบูรณ์ไม่อยู่ เจ้าหน้าที่พยาบาลเป็นคนรับสาย ข้าพเจ้าถามถึงคนไข้รายดังกล่าวและบอกเธอว่า ข้าพเจ้าอยากไปเยี่ยมเพื่อดูอาการ
“ คนไข้กลับไปแล้ว เพิ่งกลับไปวันนี้เอง ” พยาบาลบอก
“ คนไข้ถูกตัดมดลูกหรือเปล่า ” ข้าพเจ้าถาม
“ คนไข้ไม่ได้ถูกตัดมดลูก หมอเพียงแค่ให้ยาฆ่าเชื้อเท่านั้น ระดับไข้ค่อยๆลดลงมาตามลำดับ เพิ่งจะเป็นปกติเมื่อวาน… วันนี้ ทางญาติจึงขออนุญาตินำคนไข้กลับบ้าน คุณหมอก็อนุญาติให้กลับได้ ” พยาบาลพูดต่อ
ข้าพเจ้ากล่าวขอบคุณที่เธอได้เล่ารายละเอียดและรายงานความเป็นไปของสภาพคนไข้ ในระหว่างอยู่โรงพยาบาล
เรื่องราวของรกค้างหลังคลอดเป็นเรื่องที่พบบ่อย ส่วนใหญ่ เราใช้การล้วงรกทางช่องคลอดเป็นวิธีการรักษา แต่ก็มีบางรายที่ปากมดลูกมีการหดรัดตัว ( Cervical cramp ) จนไม่สามารถสอดใส่มือเข้าไปในโพรงมดลูกได้ ดังเช่นคนไข้รายนี้ การที่จะปล่อยให้เศษรกเหลือทิ้งไว้ในโพรงมดลูก ย่อมเกิดปัญหาการติดเชื้อและตกเลือดตามมาอย่างแน่นอน วิธีเดียวที่จะแก้ไข้ คือ ขูดมดลูกขณะนั้นเลย
การติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอด ( Endometritis ) ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนไข้จำนวนมากไม่เข้าใจและไม่รู้ตัวว่า กำลังเป็นอะไรอยู่ หลายคนคิดว่า คงหายเองได้ในเร็ววัน จึงปล่อยปละละเลยและมาหาหมอช้าเกินไป..ทำให้ต้องถูกตัดมดลูกเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ สาเหตุของการติดเชื้อ
สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอด ( Endometritis ) คือ การทำหัตถการในโพรงมดลูก เช่น ล้วงรก ขูดมดลูก…. คนไข้บางคนอาจจะมีภาวะน้ำเดินนำมาก่อน ( Predisposing factor ) ทำให้มีการติดเชื้ออยู่บ้างแล้ว และมาเพิ่มเติมการติดเชื้อจากการทำหัตถการ นอกจากนั้น การที่คนไข้ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ก็จะส่งเสริมให้ภาวะนี้รุนแรงยิ่งขึ้น
ภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด หากมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก จะถือว่า อันตรายมาก ถ้ามีการตัดสินใจให้ขูดมดลูกซ้ำ จำไว้ว่า ต้องเตรียมพร้อมคนไข้สำหรับตัดมดลูกไว้ด้วย
หลังจากวันที่มีโทรศัพท์ติดต่อจากโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาในครั้งแรก ข้าพเจ้าก็เฝ้ารอว่า เมื่อไหร่จะมีการติดต่อเข้ามาอีก ซึ่งจะได้ดำเนินการช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป บางที อาจจำเป็นต้องขอให้ส่งคนไข้กลับมายังโรงพยาบาลตำรวจเพื่อตัดมดลูก… เมื่อไม่มีโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาอีก ข้าพเจ้าจึงสรุปเอาเองว่า คนไข้น่าปลอดภัยแล้ว การที่ข้าพเจ้าโทรศัพท์กลับไปสอบถามหลังจากเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ ก็เพื่อยืนยันความเชื่อดังกล่าว เท่านั้น
ทุกวันนี้ ข้าพเจ้ากลายเป็นคนที่กลัวโทรศัพท์ไปเลย เพราะเรื่องเลวร้ายมีเกิดขึ้นตลอดเวลา พอมีการเรียกทางโทรศัพท์ ข้าพเจ้ามักจะสอบถามถึงแหล่งที่มาและความรีบด่วนเสมอ ถ้ามาจากโรงพยาบาลและเป็นเรื่องด่วน แน่นอน! คงต้องเป็นเรื่องที่ไม่สู้ดีและมีปัญหา แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อเกิดเป็นหมอ ก็ต้องพร้อมเสมอที่จะรับมือกับมัน
การมีชีวิตอย่างง่ายๆ สบายๆเป็นเรื่องที่ทุกคนปรารถนา แต่การใช้ชีวิตที่หรูหราฟู่ฟ่าในเมืองใหญ่ คงยากที่จะหาความสุขสงบเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีโทรศัพท์ด่วนเรียกตัวเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนบางครั้งข้าพเจ้านึกอยากจะหยุดพักผ่อน ไปเที่ยวต่างจังหวัดสักหนึ่งสัปดาห์โดยไม่รับโทรศัพท์ใดๆ แต่อีกนั่นแหละ ถ้ามีเรื่องสำคัญรีบด่วน แล้วตามตัวเราไม่ได้ ข้าพเจ้าก็คงไม่สบายใจเช่นกัน เดี๋ยวนี้ โทรศัพท์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเรา..
ท่านล่ะ! เป็นแบบข้าพเจ้าหรือเปล่า วันไหนที่ไม่มีโทรศัพท์เรียกเลย บางที ก็รู้สึกแปลกๆไปเหมือนกัน ทั้งๆที่รู้ว่า “ ไม่มีข่าว นั่นแหละ ข่าวดี ” …………………..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&