แฝดใจเพชร
คนไข้สตรีที่ตั้งครรภ์แฝด ส่วนใหญ่มักดีใจที่จะได้บุตรทีเดียว 2 คน แต่ก็มีสตรีบางรายที่เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงปรารถนาขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ คือ ทารกตัวหนึ่งเสียชีวิตไป การจัดการและดูแลทารกตัวที่เหลือ ต้องใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณอย่างมาก นี่เอง….. ข้าพเจ้าจึงไม่ค่อยสบายใจทุกครั้งที่ต้องดูแลคนไข้ครรภ์แฝด ยิ่งแฝดจำนวนมากเท่าไหร่ ยิ่งไม่สบายใจเท่านั้น
หลายปีก่อน ข้าพเจ้าได้ทำกี๊ฟ ( Gamete intrafallopian transfer ) ให้กับสตรีรายหนึ่ง แล้วตั้งครรภ์แฝดสาม แต่ขณะที่เธอตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ ทารกคนแรกก็เสียชีวิตลง ต่อมา ทารกคนที่สองก็เสียชีวิตตามไปอีกเมื่อตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ พอตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ คนไข้สตรีผู้นั้นก็คลอดบุตรคนที่ 3 ออกมา ปรากฏว่า เป็นทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอดเพียง 700 กรัม ทารกได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เป็นเวลานานถึง 4 เดือน ใน ห้องไอ. ซี. ยู.ทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในที่สุด ทารกน้อยก็สามารถรอดชีวิตมาได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ยกเว้น มีขนาดและน้ำหนักตัวที่เล็กกว่าเด็กทั่วไป
ที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้ ก็เพื่อที่จะบอกว่า การเสียชีวิตของแฝดคนใดคนหนึ่งขณะอยู่ในครรภ์นั้น สามารถเกิดขึ้นได้และมักส่งผลถึงแฝดคนที่เหลือด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสาเหตุและจำนวนอายุครรภ์ หากแฝดคนหนึ่งเสียชีวิตตอนอายุครรภ์น้อยๆ การตั้งครรภ์ยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยมักไม่กระทบกระเทือนมากนัก แต่ถ้าเสียชีวิตตอนอายุครรภ์ เกินกว่า 30 สัปดาห์ขึ้นไป อาจทำให้แฝดที่เหลืออยู่มีปัญหา
หลายเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ดั่งที่เกริ่นข้างต้นกับคนไข้สตรี 2 รายในเวลาที่ใกล้เคียงกัน สตรีรายแรก ชื่อคุณจินตนา เกิดเหตุการณ์ลูกแฝดคนหนึ่งตายขณะอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ส่วนสตรีอีกราย ชื่อคุณเรณู ลูกแฝดคนหนึ่งตายขณะอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสให้คำปรึกษาและดูแลรักษาคนไข้สตรีทั้งสองคน ซึ่งจำเป็นต้องดูแลและดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาที่จะนำพาความเศร้าใจมาสู่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง
คุณจินตนา และคุณเรณูฝากครรภ์อยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนคนละแห่ง คุณจินตนาได้ฝากครรภ์กับสูติแพทย์ท่านหนึ่งจนถึงอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ก็ขอย้ายมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่วนคุณเรณู เธอฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนมาโดยตลอดจนกระทั่งลูกแฝดคนหนึ่งเสียชีวิต สูติแพทย์ที่รับฝากครรภ์จึงแนะนำ ให้คุณเรณูมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจควบคู่กันไป เพราะหากมีปัญหาเกี่ยวกับการคลอดก่อนกำหนด คุณเรณูจะคลอดบุตรที่โรงพยาบาลของรัฐเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่…หากการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจนใกล้ครบกำหนดได้ คุณเรณูจะขอกลับไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น
ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้น ตกใจ ดีใจคละเคล้ากันไปกับการดูแลคนไข้สตรีทั้งสองท่าน แต่ในลักษณะที่แตกต่างกัน
กรณีของคุณจินตนา ข้าพเจ้าได้ดูแลเธอตั้งแต่อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ตอนแรกไม่ทราบมาก่อนว่า คุณจินตนา ตั้งครรภ์แฝด มาทราบก็ตอนตรวจดูด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ในครั้งแรกที่พบกัน ทารกแฝดตอนนั้น มีขนาดใกล้เคียงกับอายุครรภ์ โดยมีแฝดคนหนึ่งใหญ่กว่าอีกคนหนึ่งเล็กน้อย การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปโดยไม่มีสัญญาณอะไรบ่งบอกว่า จะเกิดปัญหา จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ขณะนั้นคุณจินตนา ตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์
เวลาประมาณ 2 ทุ่ม คุณจินตนา โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาข้าพเจ้าว่า “ หมอ! หนูรู้สึกว่า ลูกไม่ดิ้นเลยตั้งแต่ตี 5 หนูลองสังเกตอาการ “ เด็กดิ้น ” หลังรับประทานอาหารเช้าและกลางวันตามที่คุณหมอเคยแนะนำแล้ว เด็กก็ไม่ดิ้นเหมือนเดิม หมอจะให้ทำยังไงดี?…ตอนนี้ หนูกำลังเดินทางมาที่โรงพยาบาล ( ขอสงวนนาม ) ”
“ วันนี้ท้องแข็งเป็นพักๆหรือเปล่า? และมีอาการเจ็บครรภ์บ้างไหม? ” ข้าพเจ้าถาม
“ รู้สึกว่า ท้องแข็งเป็นพักๆเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่า เป็นการเจ็บครรภ์หรือเปล่า หนูไม่ค่อยรู้สึกเจ็บท้องเลย รู้สึกแค่เกร็งๆเท่านั้น.. ”
“ เออ!..คุณจินตนารีบเข้าไปนอนพักที่ห้องคลอดก่อน เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเด็ก ( non – stress test ) เดี๋ยว..ผมจะโทรศัพท์เข้าไปสั่งการรักษากับพยาบาล ” ข้าพเจ้าแนะนำ
หลังจากคุณจินตนาเข้านอนพักที่ห้องคลอดของโรงพยาบาล ( เอกชน ) และได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเด็กแล้ว พยาบาลห้องคลอดได้โทรศัพท์มาบอกข้าพเจ้าว่า “ ได้ยินเสียงหัวใจเด็ก แต่บอกไม่ได้ว่า เป็นของเด็กทั้งสองหรือเปล่า?.. หรือเป็นของเด็กตัวใดตัวหนึ่ง…. ”
“ ไม่เป็นไร…..ผมกำลังขับรถอยู่ในระหว่างทาง อีกประมาณ 5 นาที คงเดินทางไปถึง ” ข้าพเจ้ารีบขับรถออกจากบ้านทันที ที่คุณจินตนาโทรศัพท์หา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ ครึ่งชั่วโมง จึงจะถึงโรงพยาบาล
เมื่อไปถึงห้องคลอด ข้าพเจ้าสังเกตว่า คุณจินตนา สามีและคุณแม่ที่ติดตามมาด้วย มีสีหน้าตื่นตระหนก จริงๆแล้ว ข้าพเจ้าก็ตกใจไม่ใช่น้อย เพราะการที่เด็กไม่ดิ้นในคนท้องนั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันอาจหมายถึง “ ทารกตายในครรภ์ ”
โชคดี ที่คุณจินตนามีอาการเจ็บครรภ์ร่วมด้วยกับการที่เด็กไม่ดิ้น นั่นหมายถึงว่า ทารกอาจไม่ตายในครรภ์ เพราะ ความรู้สึก “ เด็กดิ้น ” ของมารดาอยู่ที่บริเวณผนังหน้าท้อง ดังนั้น เมื่อมดลูกแข็งตัว ผู้เป็นแม่จึงอาจไม่รู้สึกว่า “ เด็กดิ้น ”
พยาบาลห้องคลอดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบในตอนแรกว่า “ ลูกคุณจินตนาหัวใจเต้นในอัตราปกติ และ มดลูกมีการแข็งตัวประมาณทุก 5 นาที ” ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจมาก เพราะอย่างน้อยทารกคนหนึ่งต้องรอด แต่…ข้าพเจ้าอยากให้ทารกน้อยรอดทั้งสองคน
ระหว่างที่รอการตรวจยืนยันการมีชีวิตของลุกคุณจินตนาด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องการตั้งครรภ์แฝดของคุณเรณู ซึ่งมีลูกแฝดคนหนี่งเสียชีวิตลงขณะอายุครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ว่า “ เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีคนไข้สตรีรายหนึ่ง ท้องแรก ตั้งครรภ์ประมาณ 6 เดือน ฝากครรภ์อยู่ที่โรงพยาบาล ( ขอสงวนนาม )….. โทรศัพท์มาปรึกษาว่า จะทำอย่างไรดี เพราะลูกแฝดคนหนึ่งได้เสียชีวิตลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มาทราบก็ตอนที่มาตรวจครรภ์ตามนัด แล้วหมอตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ ”
ข้าพเจ้าจึงได้แนะนำว่า “ ครรภ์แฝดสอง ที่ทารกคนหนึ่งตายตอนอายุครรภ์น้อยๆ ไม่ค่อยมีผลต่อการตั้งครรภ์มากนัก ขอให้ใจเย็นๆ และฝากครรภ์ตามนัดไปเรื่อยๆ คุณหมอคงนัดถี่ขึ้นและตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์บ่อยๆ ” หลังจากนั้นคุณเรณูก็มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจสลับกับที่โรงพยาบาลเอกชน สูติแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน คงกลัวว่า เด็กจะคลอดก่อนกำหนดแล้วคุณแม่จะรับภาระทางการเงินไม่ไหว
จากการศึกษา พบว่า ทารกแฝดคนใดคนหนึ่งมีโอกาสเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ ( single antepartum fetal demise ) ประมาณร้อยละ 0.5 ถึง 6.8 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในครรภ์แฝดแท้หรือแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ( monochorionic gestation ) ซึ่งมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดบริเวณรกมีการไหลถ่ายเทเลือดระหว่างกัน ( placental vascular anastomosis and twin-twin transfusion syndrome ) ส่วนกรณีที่เกิดในแฝดเทียม ( ไข่คนละใบ ) จะสัมพันธ์กับภาวะเส้นเลือดอุดตัน ( vascular thrombosis ) , ภาวะเติบโตช้าในครรภ์ ( intrauterine growth retardation ) , รกลอกตัวก่อนกำหนด และภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุอื่นๆอีก เช่น สายสะดือเกาะที่ขอบรก ( velamentous cord insertion ) และสายสะดือพันกัน
ข้าพเจ้าได้พูดกับคุณจินตนา สามีและคุณแม่ของเธอว่า “ บางที คุณจินตนาอาจเกิดเหตุการณ์เหมือนกับที่เล่ามา คงต้องตรวจยืนยันด้วยอัลตราซาวนด์ก่อน จึงจะรู้แน่ ”
ข้าพเจ้าได้ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องของคุณจินตนา พบว่า “ ทารกมีหัวใจเต้นเพียงคนเดียว ” ข้าพเจ้าได้แจ้งให้คุณจินตนา และครอบครัวทราบ โดยขอให้คุณจินตนาคลอดบุตรในทันที โดยวิธีผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง ( emergency cesarean section ) เหตุผลก็คือ ทารกโตพอสมควร จนน่าจะอยู่รอดในสภาพแวดล้อมภายนอกได้แล้ว และสิ่งแวดล้อมภายในที่ทำให้ทารกคนหนึ่งเสียชีวิต อาจทำให้แฝดอีกคนหนึ่งเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
ก่อนผ่าตัด ข้าพเจ้าได้เชิญกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญ 2 ท่าน มารอรับเด็ก การผ่าตัดคลอดเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทารกคนแรก ที่คลอดออกมา ตัวใหญ่กว่า หนัก 2300 กรัม เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทารกคนถัดมา หนัก 1900 กรัม แข็งแรง ส่งเสียงร้องดัง และไม่มีปัญหาเรื่องการหายใจ นี่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจมากที่สุด ที่สามารถช่วยชีวิตทารกแฝดได้หนึ่งคนให้พ้นจากภัยคุกคาม ซึ่งซ่อนอยู่ภายในมดลูก………. แม้ว่า ครอบครัวของคุณจินตนา จะต้องสูญเสียสิ่งมีค่าที่สุดไปสิ่งหนึ่ง ก็ตาม
แนวทางการรักษาแฝดสองที่ทารกคนหนึ่งตายในครรภ์นั้น ได้มีผู้ศึกษาไว้อย่างมากมาย สรุปได้ว่า เมื่อครรภ์แฝดได้รับผลกระทบจากการตายของแฝดคนหนึ่ง ย่อมส่งผลให้แฝดคนที่รอดมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด , รกลอกตัวก่อนกำหนด และระบบอวัยวะใหญ่ๆเสียหาย ( major organ system injury ) ทารกแฝดคนที่รอดในครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 3 ( ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ) มักแสดงอาการว่าตกอยู่ในภาวะอันตราย ( fetal distress ) ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากแฝดคนหนึ่งเสียชีวิตลง ดังนั้น สตรีผู้เป็นมารดาจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล อย่างน้อย 12 – 24 ชั่วโมง เพื่อสังเกตอาการทารกแฝดคนที่รอด ( continuous fetal monitoring ) หากมีสัญญาณบ่งบอกว่า ทารกตกอยู่ในอันตราย ก็ต้องทำการผ่าตัดคลอดเอาออกมาทางหน้าท้องทันที ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาผลกระทบจากการคลอดก่อนกำหนดในทารกแฝดคนที่รอด ( major morbidity ) มักจะไม่มากหลังจากอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ขึ้นไป
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการทำคลอดครรภ์แฝดที่ทารกคนหนึ่งเสียชีวิตนั้น ( monochorionic twins ) คือ อายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไป โดยในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 32 – 34 สัปดาห์ สูติแพทย์ควรพิจารณาเรื่องการเจาะน้ำคร่ำเพื่อนำมาทดสอบว่า ปอดของทารกสามารถทำงานได้ดีหรือไม่หากทารกอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอก ( lung maturity ) เมื่อการทดสอบให้ผลบวก ก็สามารถตัดสินใจให้คลอดได้ตามความเหมาะสม
สำหรับกรณีของคุณเรณู การตั้งครรภ์ยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น คุณเรณูได้รับการผ่าตัดคลอดในช่วงต้นของปีใหม่ โดยสูติแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนเดิม ลูกของคุณเรณูคนที่รอด เป็นเพศชาย มีน้ำหนักแรกคลอด 3800 กรัม แข็งแรงดี ส่วนคนแฝดที่เสียชีวิต มีน้ำหนัก 750 กรัม ข้าพเจ้าได้แสดงความยินดีกับคุณเรณูและสามีของเธอ ขอให้ทั้งสองท่านมีความสุขกับลูกน้อย สมดั่งที่ตั้งตาคอยมาอย่างใจจดใจจ่อเป็นเวลานานหลายสัปดาห์
เมื่อยามที่เกิดมา มีใครรู้บ้างว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร? เราจะต้องต่อสู้และใช้ชีวิตในโลกนี้ด้วยความยากลำบากแค่ไหน?
ข้าพเจ้าคิดว่า แค่มีชีวิตอยู่รอดได้ในสังคมและใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาสามัญ มีงานทำ มีความสุขตามอัตภาพ โดยไม่เดือดร้อนมากนัก ก็ถือว่า คุ้มค่ากับการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้ว สำหรับการมีชีวิตอยู่ในโลกภายนอก หากสิ่งแวดล้อมไม่ดี เรามีโอกาสหนีไปให้ไกลได้ แต่ทารกที่อาศัยอยู่ในมดลูก หากสิ่งแวดล้อมมีปัญหา ทารกน้อยจะหนีไปที่ไหน
การเกิดมาพร้อมกับคู่แฝด ซึ่งต้องเบียดแย่งแข่งกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เป็นเรื่องของพรหมลิขิต หากคู่แฝดคนหนึ่งตายไปเสียก่อน แฝดคนที่รอดชีวิตก็ต้องดิ้นรนอยู่ต่อไปในครรภ์โดยไม่รู้แน่ว่า จะจบชีวิตลงวันไหน สิ่งแวดล้อมภายในมีหรือ ที่จะเหมาะสมสำหรับแฝดคนที่รอด นี่เอง…….ที่ข้าพเจ้าอยากจะยกย่องจริงๆ และให้ฉายาทารกแฝดคนที่รอดว่าเป็น “ แฝดใจเพชร ” เพราะ..เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางภยันตรายในครรภ์เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ จนสามารถคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัย.
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน