อัลตราซาวน์ คืออะไรกันแน่? รังสีหรือคลื่นเสียง ทำไมใคร ๆ บอกว่า "อันตราย..! อย่าได้ไปทำโดยเด็ดขาด สตรีทั่วไป ทำบ่อย ๆ อาจเป็นมะเร็ง สตรีตั้งครรภ์ ทำบ่อย ๆ เด็กจะพิการ" ความจริงเป็นอย่างไร
อัลตราซาวน์ คือ คลื่นเสียงความถี่สูง ไม่ใช่รังสีหรือเอ็กซเรย์ เหมือนอย่างที่ชาวบ้านบางคนเข้าใจ สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อการวินิจฉัย (DIAGNOSIS) และการรักษา (TREATMENT) แต่ผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและเซลล์มีชีวิตจากคลื่นเสียงของเครื่องอัลตราซาวน์ ชนิดที่ใช้เพื่อการวินิจฉัย จะน้อยกว่า ชนิดที่ใช้เพื่อการรักษา และถือว่า"ปลอดภัย" แน่นอน ซึ่งรับรองโดยราชวิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์แห่งประเทศสหรัฐ (ROYAL COLLEGE OF OBSTETRICS AND GYNECOLOGISTS) และสถาบันด้านอัลตราซาวน์ในทางการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (AMERICAN INSTITUTE OF ULTRASOUND IN MEDICINE)
จากงานวิจัยด้วยการสัมภาษณ์ มารดาจำนวน 400,000 คน ที่เคยทำการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์มาก่อน พบว่า "มีความพอใจเป็นอย่างยิ่ง และไม่มีผลเสียใด ๆ ต่อทารกแรกเกิด" อันได้แก่
* ไม่มีความพิการแต่กำเนิดหรือเป็นมะเร็ง มากกว่าปรกติ
* ไม่มีการเจริญเติบโตช้ากว่าปรกติ
* ไม่มีความบกพร่องในเรื่องการได้ยิน,การเรียนรู้,พัฒนาการและพฤติกรรม
นอกจากนั้น ในบางครั้งบางคราว ยังได้ใช้ตรวจร่างกายมารดาขณะที่ "ตัวอ่อน" มีการแบ่งตัวระยะต่าง ๆ ก็ไม่พบว่า จำนวนและโครงสร้างของโครโมโซมผิดปรกติแต่อย่างใด
เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (เพื่อการวินิจฉัย) แต่เดิมมา ใช้ตรวจทางหน้าท้อง (ABDOMINAL ULTRASOUND) ซึ่งเหมาะสำหรับอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนบนเหนือกระดูกเชิงกรานโดยเฉพาะ ดังนั้น หากต้องการตรวจอวัยวะภายในของสตรี ก็จำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ติดกันดัน มดลูก & รังไข่ ให้ลอยขึ้นมาอยู่เหนืออุ้งเชิงกราน จึงจะตรวจเห็นได้ การกลั้นปัสสาวะต้องกลั้นจนทนแทบไม่ได้จึงจะสามารถมองเห็นภาพมดลูกชัดเจน สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสตรีที่มาตรวจอย่างมาก บางคนถึงกับเป็นลมสลบหรือวิ่งเข้าห้องน้ำไม่ทัน เนื่องจากกลั้นไม่อยู่ กลายเป็นภาพที่ไม่น่าดู นอกจากนั้น ภาพที่ได้จากการตรวจทางหน้าท้อง ในบางราย ก็ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เช่น ในรายที่อ้วน,อุ้งเชิงกรานลึกและมีพังผืดมาก เป็นต้น
ต่อมา จึงได้มีการพัฒนาสร้างเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (เพื่อการวินิจฉัย)ทางช่องคลอด (TRANSVAGINAL ULTRASOUND) เพื่อใช้ตรวจเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์สตรี โดยเฉพาะทำให้มีข้อได้เปรียบ คือ แปลผลสะดวก ถูกต้อง แม่นยำ ภาพคมชัด และเห็น รายละเอียดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดไม่สามารถทดแทน การตรวจทางหน้าท้องได้ ในกรณีที่อวัยวะหรือก้อนเนื้อที่ต้องการตรวจโผล่พ้นจากอุ้งเชิงกรานขึ้นไปแล้ว เพราะภาพที่คมชัดจะห่างไม่เกิน 6-8 เซนติเมตรจากหัวตรวจทางช่องคลอด เท่านั้น
ประโยชน์ของ การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด
1. ช่วยในการตรวจ (EXAMINATION) และติดตามผล (FOLLOW UP)
* ตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
* ติดตามการเจริญเติบโตของ "ไข่"
* ศึกษาลักษณะของเยื่อบุโพรงมดลูก
* ตรวจวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนและประเมินการตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ (FIRST
TRIMESTER EVALUATION)
2. ช่วยในการทำหัตถการ (ASSISTED OPERATION)
* เจาะเก็บไข่
* ใส่ "ตัวอ่อน" ในโพรงมดลูก
* ใส่ "เซลล์สืบพันธ์" (ไข่&อสุจิ) หรือ "ตัวอ่อน" เข้าท่อนำไข่
* ลดจำนวน "ทารก" ในกรณีตั้งครรภ์แฝดหลายคน
การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อการรักษาภาวะมีลูกยาก จะใช้เครื่องตรวจ
อัลตราซาวน์ทางช่องคลอดเป็นหลัก
* การตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ส่วนใหญ่เป็นการตรวจหาความผิดปรกติของ มดลูก,รังไข่ และท่อนำไข่ แต่ความผิดปรกติอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน ก็สามารถตรวจพบได้
มดลูก (UTERUS) มีขนาดแตกต่างกันไปตามอายุ ในวัยหมดระดู มดลูก จะมีขนาดเล็กลงมาก สำหรับเยื่อบุโพรงมดลูกในช่วงครึ่งแรกของรอบเดือน (PROLIFERATIVE ENDOMETRIUM) จะมีความหนาประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ส่วนในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน (SECRETORY ENDOMETRIUM) ความหนาจะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 8-14 มิลลิเมตรและมีลักษณะที่แตกต่างออกไป
มดลูก ก่อให้เกิดภาวะมีลูกยากได้ โดยอาจจะเป็นส่วนของตัวมดลูกเอง ที่มีเนื้องอก(MYOMA UTERI OR ADENOMYOSIS) หรือในโพรงมดลูกมีเนื้องอกย้อยออกมาจากผนังด้านบน(ENDOMETRIAL POLYP OR SUBMUCOUS MYOMA) ซึ่งขนาด,จำนวนและตำแหน่งของเนื้องอก มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินทาง & ฝังตัวของ "ตัวอ่อน" การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทาง ช่องคลอดจะช่วยบอกถึงสิ่งเหล่านี้ได้
รังไข่ (OVARY) มีขนาดแตกต่างกันไปตามอายุและช่วงเวลาของรอบเดือน ในเด็กและสตรีวัยหมดระดูจะมีขนาดเล็ก ส่วนสตรีวัยเจริญพันธ์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมี "ไข่" ขนาดต่าง ๆ กันมากมายเจริญเติบโตขึ้นมา โรคของรังไข่ในภาวะมีลูกยากที่พูดถึงกันมาก มี 2 โรค คือ
1. โรค พี.ซี.โอ.(PCO) หรือ พี.ซี.โอ.ดี.(PCOD) ซึ่งย่อมาจาก POLYCYSTIC OVARY OR OVARIAN DISEASE พบบ่อยมากใน "คนมีลูกยาก" เนื่องจากมีปัญหาสำคัญ คือ "ไข่" ไม่ตกตามที่ควรจะเป็น (ANOVULATION) ลักษณะที่แสดงออก คือ สตรีผู้นั้นจะมีระดูมาแต่ละครั้งห่างกันมาก (OLIGOMENORRHEA) เช่น 2 เดือน,3 เดือน หรือ 6 เดือน จะมาสักครั้งหนึ่ง
รังไข่ จะมีลักษณะเฉพาะ คือ มีขนาดโตกว่าปรกติเล็กน้อย มีถุงน้ำเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-8 มิลลิเมตร จำนวนมากเรียงรายตามขอบของรังไข่คล้ายวงแหวน (รายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป)
2. ถุงน้ำเนื้องอกรังไข่ที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (ENDOMETRIOMA) ซึ่งวินิจฉัยได้ง่ายมากและแม่นยำด้วยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด ลักษณะที่เห็นจะเป็นถุงน้ำค่อนข้างกลม มีการสะท้อนคลื่นเสียงต่ำ มองเห็นเป็นเนื้อเนียนละเอียดนวลสีดำตลอดแนวขอบของถุงน้ำ ส่วนใหญ่ถุงน้ำเนื้องอกรังไข่นี้จะอยู่ติดกับมดลูกทางด้านหลังหรือด้านข้าง(รายละเอียดอยู่ในเรื่อง ENDOMETRIOSIS)
"ท่อนำไข่" (FALLOPIAN TUBES) โดยปรกติ จะมองเห็นได้ยากจากการดูด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ ยกเว้น มีความผิดปรกติเกิดขึ้น เช่น มีการอุดตันที่ส่วนปลายของท่อนำไข่ จนเกิดมีน้ำขังอยู่ภายใน (HYDROSALPINX) การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด จะมองเห็นพยาธิสภาพเช่นนี้ได้ชัดเจนมาก
นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการศึกษาหาวิธีการตรวจโพรงมดลูก และ ท่อนำไข่ที่ทำได้ง่ายขึ้น กว่าวิธีการเดิม เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และไม่ต้องอาศัยผู้ช่วยหลายคน วิธีการนี้เรียกว่า HYSTEROSALPINGO-CONTRAST-SONOGRAPHY ซึ่งกระทำโดยการฉีดสารทึบแสงเข้าทางปากมดลูก พร้อมกับการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด ปรากฏว่า สามารถบอกความผิดปกติภายในโพรงมดลูก และท่อนำไข่ ได้ดี โดยไม่ต้องเอกซเรย์
* การติดตามการเจริญเติบโตของ "ไข่" ในคนไข้มีลูกยาก ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด มีข้อดีอย่างน้อย 3 ประการ
1. ติดตามดูการเจริญเติบโตของ "ไข่" ตามธรรมชาติและจากการกระตุ้น ซึ่งโดยปรกติ "ไข่" ที่สมบูรณ์พร้อม (DOMINANT FOLLICLE) จะเติบโตในอัตรา 1-2 มิลลิเมตรต่อวัน การติดตามที่ดี ควรกระทำควบคู่ไปกับการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนด้วย เพราะในขณะที่"ไข่" (FOLLICLES) เจริญเติบโต จะมีการสร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้นด้วย
2. ช่วยกำหนดเวลาที่ "ไข่" ตกได้ โดยการฉีดยา (HUMAN CHORIONIC GONADOTROPIN) กระตุ้น เมื่อเวลาที่ "ไข่" โตจนมีขนาดเหมาะสม คือ ประมาณ 18-20 มิลลิเมตร หลังจากไข่ตกไปแล้ว ยังสามารถฉีดยากระตุ้นให้รังไข่ทำงานสร้างฮอร์โมนต่อไปได้ดีอีกด้วย
3. ช่วยในการวินิจฉัยภาวะที่ "ไข่" สุกแต่ไม่มีการตกออกมา (LUTEINIZED UNRUPTURED FOLLICLE ชื่อย่อ "LUF") ซึ่ง "ไข่" เหล่านี้จะเสียคุณสมบัติในการปฏิสนธิไปเลย
* การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูก (ENDOMETRIUM) การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดจะบอกถึง ความหนา และลักษณะ ของเยื่อบุโพรงมดลูกได้ดี ซึ่งมีหลายรายงานพบว่า ความหนา และลักษณะของเยื่อบุโพรงมดลูก ก่อนการเจาะเก็บไข่หรือในวันหยอด"ตัวอ่อน" สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์
* การตรวจวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อน และประเมินการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก (FIRST TRIMESTER EVALUATION) ด้วยเครื่องตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด จะได้ประโยชน์ในการ
1. วินิจฉัยยืนยันการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก และช่วยวินิจฉัยแยกโรคจาก "ท้องนอกมดลูก"
2. บอกการมีชีวิต จำนวนทารก และอายุครรภ์ได้
3. บอกภาวะแทรกซ้อน,ความผิดปรกติและความพิการของทารกในระหว่างตั้งครรภ์
4. ช่วยเหลือในการทำหัตถการ เช่น เจาะดูดน้ำคร่ำ เป็นต้น
1. การวินิจฉัยยืนยันการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก และวินิจฉัยแยกโรคจาก "ท้องนอกมดลูก"
เมื่อสตรีมีบุตรยากตั้งครรภ์ขึ้นมา จำเป็นจะต้องยืนยันให้ได้ว่า เป็นการตั้งครรภ์ภายใน โพรงมดลูก ไม่ใช่ "นอกมดลูก" ซึ่งการตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดจะช่วยเหลืออย่างมาก โดยเฉพาะ เมื่อแปลผลร่วมกับค่า BhCG (เบต้า เอช.ซี.จี.) จากซีรั่ม
กรณีทราบระดูครั้งสุดท้าย หรืออายุครรภ์แน่นอน พบว่า
ขณะอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ จะตรวจพบเพียงลักษณะเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ ในโพรงมดลูก (GESTATIONAL SAC) ซึ่งกินเนื้อที่ประมาณ 25% ของโพรงมดลูก แต่ยังมองไม่เห็นเงาของทารก (FETAL POLE)
ขณะอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ จะตรวจพบถุงน้ำ (GESTATIONAL SAC) ซึ่งกินเนื้อที่ประมาณ 35% ของโพรงมดลูก และมองเห็น เงาของทารก (FETAL POLE) ด้วย
ขณะอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ จะตรวจพบถุงน้ำ (GESTATIONAL SAC) ซึ่งกินเนื้อที่ 50% ของโพรงมดลูก นอกจากมองเห็น เงาของทารก (FETAL POLE) แล้ว ยังมองเห็น การเต้นของหัวใจ (FETAL HEART ACTION) คล้ายไฟกระพริบ ด้วย
ขณะอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ถุงน้ำ (GESTATIONAL SAC) นั้น จะกินเนื้อที่ตลอดภายในโพรงมดลูก และสามารถมองเห็นส่วนต่าง ๆ ของทารก เช่น หัว,ลำตัว,แขนขา ได้
กรณีไม่ทราบอายุครรภ์แน่นอน ควรแปลผลร่วมกับค่า BhCG โดย
ถ้าค่า BhCG มากกว่า 2000 หน่วย โดยการตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดหรือมากกว่า 6500 หน่วย โดยการตรวจอัลตราซาวน์ทางหน้าท้อง เราควรจะตรวจพบ ถุงน้ำเล็ก ๆ (GESTATIONAL SAC) ในโพรงมดลูก หากตรวจไม่พบถุงน้ำเล็ก ๆ ใน โพรงมดลูก ให้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็น "ท้องนอกมดลูก" (ECTOPIC PREGNANCY) อย่างไรก็ตาม ควรประเมินผลร่วมกับ ประวัติ,ตรวจร่างกาย,อาการแสดง,การติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน และการรักษาที่ถูกต้อง
2. บอกการมีชีวิต,จำนวนทารกและอายุครรภ์
การมีชีวิตของทารก ดูได้จาก การเต้นของหัวใจ ซึ่งพบได้ตั้งแต่ 8 สัปดาห์ขึ้นไป หรือจากการเคลื่อนไหวของแขนขา,หน้าท้อง และกระบังลมของทารก
ส่วนจำนวนของทารกดูได้ตั้งแต่ 5 สัปดาห์ ซึ่งพบจำนวนถุงน้ำ (GESTATIONAL SAC)เท่ากับจำนวนทารก แต่จะมีจำนวนเท่าไรแน่นอน ก็ต่อเมื่อพบ เงาของทารกร่วมกับ การเต้นของหัวใจ ในถุงน้ำ (GESTATIONAL SAC) แต่ละใบนั้น
สำหรับอายุครรภ์ในช่วง 5-8 สัปดาห์ ต้องอาศัยขนาดของถุงน้ำ (GESTA-TIONAL SAC),เงาของทารก (FETAL POLE) และการเต้นของหัวใจ (FETAL HEART ACTION) มาคาดคะเนเทียบเคียงกับอายุครรภ์ขณะนั้น ส่วนหลังจาก อายุครรภ์ 7-8 สัปดาห์ไปแล้ว สามารถใช้ความยาวระหว่างศีรษะและก้นกบของทารก (CRL = CROWN RUMP LENGTH) มาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน ก็จะได้อายุครรภ์ เมื่ออายุครรภ์มากกว่า 10-12 สัปดาห์ขึ้นไป เราจะใช้การวัดส่วนอื่น ๆ ของทารกนำมาเทียบเคียงได้อีก และค่อนข้างแม่นยำ เช่น ความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางศีรษะระหว่างกกหูทั้งสองข้าง ส่วนกว้างที่สุด (BPD = BIPARIETAL DIAMETER) เป็นต้น
3. บอกภาวะแทรกซ้อน,ความผิดปรกติและความพิการของทารกในครรภ์ อันได้แก่
* การตั้งครรภ์ที่ ตัวเด็ก ไม่เจริญ และฝ่อไปจนไม่ปรากฏให้เห็นในครรภ์
(BLIGHTED OVUM)
* แท้งคุกคาม (THREATENED ABORTION)
* แท้งไม่ครบ (INCOMPLETE ABORTION)
* ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (HYDATIDIFORM MOLE)
* แท้งค้าง (MISSED ABORTION)
4. ช่วยเหลือในการทำหัตถการ
เจาะดูดน้ำ (ASCITIC FLUID) ออกจากช่องท้องในกรณีเกิดภาวะรังไข่ถูก
กระตุ้นมากเกินไป
* การลดจำนวนทารกในกรณีตั้งครรภ์แฝดหลายคน
การใช้อัลตราซาวน์ทางช่องคลอดในขบวนการรักษาภาวะมีลูกยาก
1. การเก็บ "ไข่" (OOCYTE RETRIEVAL) โดยทำหน้าที่เป็นตัวชี้นำให้มองเห็น
"ไข่" ในเวลาที่เจาะดูด การเจาะเก็บ "ไข่" ทางช่องคลอดนี้ สะดวก ถูกต้องแม่นยำและได้
"ไข่" จำนวนมากถึง 90% ของทั้งหมดทีเดียว
2. การใส่ "ตัวอ่อน" ในโพรงมดลูก โดยปรกติไม่จำเป็นต้องใช้อัลตราซาวน์ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถสอดหลอดที่บรรจุ "ตัวอ่อน" เข้าไปในโพรงมดลูกได้ เราสามารถใช้อัลตราซาวน์ช่วยตรวจดูทิศทางของคอมดลูก และ โพรงมดลูก ก่อนหรือขณะหยอด "ตัวอ่อน" ทำให้สะดวกยิ่งขึ้น และอาจมีผลให้อัตราการตั้งครรภ์สูงขึ้นด้วย
ในรายที่ปากมดลูกตีบหรือมดลูก[1]คว่ำมาก จนไม่สามารถหยอด "ตัวอ่อน" ได้ มีผู้ศึกษาว่า ใช้เข็มแทงทะลุผ่านกล้ามเนื้อมดลูกโดยให้ปลายเข็มไปอยู่ที่ชั้นเยื่อบุโพรงมดลูก แล้วหยอด "ตัวอ่อน" ไปฝังตรงตำแหน่งนั้น ผลการตั้งครรภ์ก็ไม่น้อยไปกว่าการหยอดทางปากมดลูก
3. การใส่ "เซลล์สืบพันธุ์"(ไข่ & อสุจิ) หรือ "ตัวอ่อน" เข้าไปไว้ในท่อนำไข่
ผ่านทางช่องคลอด (TRANSVAGINAL "GIFT" OR "ZIFT")
มีข้อดี คือ คนไข้สตรีผู้นั้นไม่ต้องเจ็บตัวจากการเจาะท้องส่องกล้อง แต่ผลสำเร็จ ยังไม่มากนัก และมีข้อจำกัดที่แพทย์ผู้ทำต้องมีความชำนาญและประสบการณ์
4. การลดจำนวนทารกในครรภ์แฝด การรักษาภาวะมีลูกยาก มีโอกาสเกิดภาวะครรภ์แฝดได้ประมาณ 20% ในกรณีที่เป็นแฝดมากกว่า 2 คน จะมีภาวะแทรกซ้อนสูงมาก โดยเฉพาะตั้งแต่แฝดสี่ขึ้นไป เช่นนี้แล้ว เราสามารถลดจำนวนทารกลงได้ตามต้องการ ด้วยวิธีใช้เข็มยาวเจาะผ่านผนังช่องคลอดเข้าไปแทงหรือทำร้ายทารก โดยอาศัยอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดช่วยส่องชี้นำ (รายละเอียดอยู่ในบท "แฝดใจเพชร")
การตรวจอัลตราซาวน์ทางหน้าท้อง (ABDOMINAL ULTRASOUND) ในทางสูติกรรมสามารถใช้ยืนยันหรือประเมินการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก และวินิจฉัยแยกโรค "ท้องนอกมดลูก" ในขณะอายุครรภ์น้อย ๆ ได้ แต่ไม่ดีเท่าอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด ส่วนใหญ่จะใช้ตรวจการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 เพราะมดลูกโตโผล่พ้นจากอุ้งเชิงกรานขึ้นมาแล้ว
การตรวจอัลตราซาวน์ทางหน้าท้องขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสสองและสาม (SECOND AND THIRD TRIMESTER EXAMINATION)
ส่วนมากใช้วัดส่วนต่าง ๆ ของทารก เพื่อบ่งบอก อายุครรภ์ น้ำหนัก ภาวะการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ นอกจากนั้นยังสามารถดูเพศ,ใช้ประเมินสภาพความเป็นอยู่ (FETAL WELL-BEING),ความผิดปรกติของทารก และช่วยเหลือการทำหัตถการบางอย่างได้ดี
* อายุครรภ์ (GESTATAONAL AGE) การวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของศีรษะ (BPD) และความยาวของกระดูกขาส่วนต้น (FEMUR LENGTH) ช่วยบอกได้ดี แต่ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่สามารถบอกได้อีก ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้หลาย ๆ ค่า มาประเมินเพื่อหาค่าที่เหมาะสมที่สุด
* น้ำหนักเด็ก (FETAL WEIGHT) คำนวณจากเครื่องอัลตราซาวน์ โดยใช้ค่า ความกว้างของศรีษะ (BPD),ความยาวของกระดูกต้นขา (FEMUR LENGTH) และเส้นรอบวงของท้อง (ABDOMINAL CIRCUMFERENCE) จะได้น้ำหนักทารกใกล้เคียงความเป็นจริง และผิดพลาดไม่เกิน 10%
* ภาวะเติบโตช้าในครรภ์ (INTRAUTERINE GROWTH RETARDATION) เป็นการประมวลข้อมูลหลาย ๆ อย่าง จากเครื่องอัลตราซาวน์เข้าด้วยกันแล้วนำมาประเมินว่า ทารกเติบโตช้าหรือไม่ เช่น อัตราส่วนระหว่างเส้นรอบวง ศีรษะ กับหน้าท้องเด็ก (FETAL HEAD : ABDOMINAL CIRCUMFERENCE),ค่าปริมาณน้ำคร่ำ (AMNIOTIC FLUID VOLUME) และค่าอื่น ๆ ที่กล่าวไปแล้ว เป็นต้น
* เพศของทารก เราสามารถดูเพศของทารกได้ ตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป แต่จะดูชัดเจนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องตรวจ,ความหนาของหน้าท้องมารดา,ท่าของเด็ก,ตำแหน่งที่รกเกาะและความชำนาญของหมอ เพราะฉะนั้น จะให้มั่นใจว่า ทารกเป็นเพศชายหรือหญิงแน่ ควรรอตรวจภายหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ไปแล้ว
* ความผิดปรกติและความพิการของทารก (CONGENITAL ANOMALY) โดยปรกติเกือบจะเป็นกฎตายตัวว่า ก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ควรจะตรวจอัลตราซาวน์ อย่างน้อย 1 ครั้งเพื่อประเมินสภาพต่าง ๆ ของทารก ที่สำคัญ คือ หากพบความพิการที่รุนแรงมาก เช่น ทารกไม่มีกระโหลกศรีษะ (ANENCEPHALY) ก็สามารถจะพิจารณาทำแท้ง (THERAPEUTIC ABORTION) ให้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ตั้งครรภ์จนคลอด ทารกผิดปรกติออกมา
* การประเมินสภาพความเป็นอยู่ (FETAL WELL-BEING) ของทารก เพื่อดูว่าทารกยังดีอยู่หรือไม่ในขณะนั้น เช่น การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของการหายใจ (FETAL BREATHING MOVEMENT), การเคลื่อนไหวของร่างกาย (FETAL MOVEMENT),การตอบสนอง การเต้นของหัวใจเมื่อทารกดิ้น (NON-STRESS TEST) เป็นต้น เราอาจแปลผลโดยตรงเมื่อตรวจทดสอบแต่ละครั้ง หรือให้เป็นคะแนน (SCORE) ในแต่ละการทดสอบ แล้วนำมาประเมินผล ร่วมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความชำนาญของแพทย์แต่ละคน
* การทำหัตถการต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์ มักต้องใช้อัลตราซาวน์ช่วยเหลือเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากที่สุด เช่น การเจาะดูดน้ำคร่ำขณะอายุครรภ์ 14-16 สัปดาห์ เพื่อนำไปตรวจโครโมโซม (AMNIOCENTESIS) เป็นต้น
เครื่องตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด มีประโยชน์มากในภาวะมีลูกยาก ยามตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ก็ยังมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย แต่หลังจาก 3 เดือน ไปแล้วมักไม่ค่อยได้ใช้ ยกเว้น จำเป็นต้องทำหัตถการผ่านทางช่องคลอดหรือมีเลือดออกจากช่องคลอดที่หาสาเหตุไม่ได้ จากอัลตราซาวน์ทางหน้าท้อง
สำหรับเครื่องตรวจอัลตราซาวน์ทางหน้าท้อง สามารถใช้ตรวจอวัยวะในช่องท้องได้ทุกอย่าง และแยกความแตกต่างของความผิดปรกติได้ดี แม้แต่อวัยวะสืบพันธุ์สตรีในอุ้งเชิงกราน (กรณีที่ไม่มีหัวตรวจทางช่องคลอด)
อัลตราซาวน์ (คลื่นเสียงความถี่สูง) จึงนับว่า มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์มากมาย โดยยังไม่เคยปรากฏมีผลร้ายต่อร่างกายสตรีและทารกในครรภ์แต่อย่างใด
มีผู้คนไม่น้อยที่ยังเข้าใจผิดหรือมองในแง่ลบ เมื่อตรวจพบความผิดปรกติจากเครื่องอัลตราซาวน์ เขามักจะกล่าวโทษว่า ความผิดปรกตินั้นเกิดจากอัลตราซาวน์ แท้จริง ความผิดปรกตินั้นมีมาแต่เดิมแล้ว จะตรวจหรือไม่ตรวจก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากแต่การตรวจอัลตราซาวน์จะช่วยให้เรารู้ก่อนและตัดสินใจดำเนินการได้ถูกต้อง ดีกว่าปล่อยไว้ให้เหตุการณ์ล่าช้าไปจนสายเกินแก้
เครื่องไม้เครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ล้วนแล้วแต่ได้ผ่านการพัฒนามาตามลำดับ ขณะเดียวกัน ได้มีการวิจัยถึงความปลอดภัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับเครื่องตรวจอัลตราซาวน์ เรามีข้อสรุปแล้วว่า [1]อัลตราซาวน์เพื่อการวินิจฉัยนั้น ปลอดภัยแน่นอน
ความคิดของคนเรา บางทีกว้างไกลจนคนอื่นตามไปไม่ถึง ถึงแม้จะพยายามอธิบายให้เข้าใจก็ไร้ประโยชน์ เพราะคนเราชอบยึดมั่นอยู่กับอวิชชา ตราบจนได้พิสูจน์ด้วยตนเอง หรือเห็นความจริงด้วยตา จึงจะรู้ว่า ความคิดนั้นเป็นความจริง และความจริงนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@