วัยทอง

                “สตรีมีช่วงชีวิตที่ยาว แต่มีช่วงความสาวที่สั้น” นี่เป็นความคิดของคนสมัยก่อน ความคิดนี้เองส่งผลให้ สตรีจำนวนมากที่วัยล่วงเลย 45-50 ปีขึ้นไป ไม่ยอมสนใจตัวเอง เพราะคิดว่าสังขารหมดความหมายเสียแล้ว คงจะแห้งเหี่ยวร่วงโรยอย่างรวดเร็ว โดยไม่สามารถยับยั้งไว้ได้ จึงมีสตรีหลายต่อหลายคน ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างทุกข์ทรมาน กลายเป็นคนพิการเป็นภาระของครอบครัวและสังคม

                 สตรีในโลกนี้ มีอายุยืนยาวขึ้น ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 80 ปี และมีจำนวนหนึ่งไม่ใช่น้อยที่มีอายุถึงร้อยปี สังคมสมัยนี้ เราได้ศึกษาค้นคว้าจนรู้แล้วว่า ในช่วงเวลา 30-50 ปีที่เหลือของชีวิต สตรีสามารถคงความสวยสง่าร่าเริงไว้ได้ ด้วยการดูแลร่างกายอย่างถูกวิธีตามหลักวิชา “วัยทอง” (GOLDEN PERIOD) หมายถึง วัยหมดประจำเดือน (MENOPUASAL PERIOD) นั่นเอง โดยปกติสตรีจะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติเมื่ออายุประมาณ 50 ปี แต่สตรีบางคนอาจจะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันสมควร (PREMATURE MENOPUASE) ก็ได้ อีกกรณีหนึ่งที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ สตรีวัยสาวที่รังไข่ถูกตัดออกไปหมดทั้งสองข้าง

                 ทำไมจึงเกิดโรคมากมายในสตรีวัยทอง

                 สตรีวัยทอง มีทุกสิ่งทุกอย่างไม่ค่อยแตกต่างจากสตรีโดยทั่วไป ยกเว้นขาดฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่ เนื่องจากรังไข่หยุดทำงานหรือถูกตัดออกไป ฮอร์โมนสำคัญที่ขาด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนของสตรีเป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะเกินกว่า 3 ปี จะทำให้เกิดพยาธิสภาพดังต่อไปนี้ได้ง่าย ผิวหนังและช่องคลอดแห้งเหี่ยว กระดูกพรุนและหักง่าย หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบจนถึงตัน อันเป็นเหตุให้ตายได้ โรคเหล่านี้ป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนที่ร่างกายขาดไปในปริมาณที่เพียงพอ

                 รู้ได้อย่างไรว่าอยู่ใน “วัยทอง” แล้ว

                 เรารู้ได้จาก อายุ อายุโดยเฉลี่ยของสตรีวัยทองอยู่ระหว่าง 48-53 ปี ประวัติระดู สตรีใกล้หมดประจำเดือนจะมีระยะห่างของระดูยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อขาดระดูนานกว่า 6-12 เดือน ในสตรีที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เชื่อว่าได้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว ผลการตรวจเลือดจากห้องปฏิบัติการ พบว่า ระดับของฮอร์โมนที่เป็น “คำสั่งจากสมองส่วนบน” (GONADOTROPIN) ได้แก่ FSH (FOLLICULAR STIMULATING HORMONE) สูงขึ้นจากค่าปกติ 10-20 เท่า และ LH (LUTEINIZING HORMONE) ที่สร้างจากรังไข่ลดลงอย่างมาก

                พยาธิสภาพของสตรีวัยทองเกิดจากอะไร

                สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพต่างๆ ในสตรีวัยทอง คือ การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่ มีหน้าที่สำคัญในการรักษาสภาพความชุ่มชื่นและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย อาทิเช่น เต้านม, ช่องคลอด, ปากช่องคลอด… เป็นต้น ดังนั้น หากร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จะส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ดังต่อไปนี้ ช่องคลอด จะมีขนาดเล็กลง, ผนังช่องคลอดจะบางและแห้ง, เนื้อเยื่อและเอ็นพังผืดที่คอยยึดมดลูกกับช่องคลอด จะสูญเสียความตึงตัวและเกิดการหย่อนยาน มดลูก จะมีขนาดเล็กลง, กล้ามเนื้อมดลูกจะฝ่อลีบเล็กลง, เยื่อบุโพรงมดลูกจะบางและมีจุดเลือดออก เต้านม จะมีรูปร่าง, ขนาดและความตึงตัวลดลง กระดูก จะค่อยๆ มีการสูญเสียแคลเซี่ยมที่ละเล็กที่ละน้อย ในที่สุดจะเกิดภาวะกระดูกพรุน (OSTEOPOROSIS) มีอาการปวด, กระดูกหัก และรูปร่างกระดูกผิดปกติ ผม จะมีขนขึ้นตามร่างกายมากขึ้นในลักษณะที่คล้ายกับของเพศชาย ผิวหนัง จะแห้งเหี่ยวย่น ขาดความตึงตัว

                สำหรับ อาการหรือโรคที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน มีดังนี้ ในระยะเริ่มแรก (IMMEDIATE CHANGE) อาการร้อนวูบวาบตามตัว (HOT FLUSH) มักจะเกิดขึ้นอย่างปุ๊บปั๊บทันทีทันใด ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ลักษณะที่ปรากฏให้เห็นจะเป็น “ผื่นแดง” ขึ้นมาบริเวณผิวหนังที่ศีรษะ, คอ และหน้าอก ร่วมกับมีอาการร้อนผ่าวทั้งตัวและลมหายใจ อาการเช่นนี้ครั้งหนึ่งๆ จะกินเวลา 2-3 นาทีหรือนานกว่านั้นเล็กน้อย จะเป็นบ่อยขึ้นและรุนแรงในยามค่ำคืนหรือเครียดจัด ผนังช่องคลอดบางและอักเสบ (ATROPHIC VAGINITIS) กลไกการเกิดพยาธิสภาพ คือ ผนังช่องคลอดจะแห้งและบางลง, ความเป็นกรดลดลง, น้ำที่สร้างจากผนังช่องคลอดลดลง ส่งผลให้มีอาการปวด แสบคัน, ติดเชื้อและเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมักเกิดอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ, ปัสสาวะบ่อยๆ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อีกด้วย กลุ่มอาการของสตรีหมดประจำเดือน (MENOPAUSAL SYNDROME) ซึ่งประกอบด้วย อาการอ่อนเพลีย, ปวดหัว, ตื่นเต้น, นอนไม่หลับ, ซึมเศร้า, ความต้องการทางเพศลดลง, ใจสั่น, ปวดตามกล่าวเนื้อและข้อ อาการดังกล่าวข้างต้นจะหายไปหรือดีขึ้นอย่างมาก เมื่อได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน

               ในระยะยาว (LONG TERM CHANGE) ภาวะกระดูกพรุน (OSTEOPOROSIS) เป็นภาวะที่มีความเข้มข้นของสารภายในเนื้อกระดูกลดลง เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้กระดูกเกิดการเปราะบางหักได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณข้อมือ, กระดูกสันหลังและข้อตะโพก ภาวะนี้จะค่อยเป็นค่อยไปโดยคนไข้ไม่รู้ตัว และจะเกิดการหักขึ้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือถูกกระทบกระทั่งอย่างรุนแรง

                ภาวะกระดูพรุนนี้ เป็นสาเหตุให้สตรีผิวขาวอายุมากกว่า 60 ปี มีกระดูกสันหลังยุบประมาณร้อยละ 25 นอกจากนั้น ร้อยละ 16 ของสตรีที่มีกระดูกข้อตะโพกหัก จะตายภายใน 4 เดือน ประมาณกันว่า ในปี ค.ศ.1900 (พ.ศ.2533) หนึ่งในสาม (31.2 %) ของสตรีทั่วโลกที่มีกระดูกข้อตะโพกหักเป็นสตรีชาวเอเซีย และคาดว่า อุบัติการณ์ จะเพิ่มขึ้นเป็นครึ่งหนึ่ง (11.1 %) ในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) อีก 50 ปีข้างหน้า

                 อะไรเป็นสาเหตุ

                 เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ อาหารการกินหรือสาเหตุอื่น ไม่มีใครรู้ได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ คุณภาพชีวิตจะแย่ลง สภาพความพิการจะมากขึ้นอย่างน่าใจหาย เป็นภาระต่อตัวเองและคนรอบข้าง สภาพจิตใจของสตรีเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร เมื่อมีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า ภาวะโรคหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน (CORONARY HEART DISEASE) ภาวะนี้เป็นสาเหตุการตายสูงที่สุดในสตรีวัยทอง คือ มีอัตราการตาย มากกว่า 10 เท่า ของการตายจากกระดูกตะโพกหัก สาเหตุส่งเสริมให้เกิดภาวะนี้เร็วขึ้น คือ ภาวะไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน และความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด

                 การประเมินสภาพของสตรีวัยทองก่อนการรักษา

                1. ซักประวัติโดยละเอียด เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและโรคหลอดเลือดที่ไป ลี้ยงหัวใจอุดตัน ด้านกรรมพันธุ์ : ประวัติทางครอบครัวเคยเป็นมาก่อน ด้านฮอร์โมน : ร่างกายขาดฮอร์โมนเนื่องจากรังไข่หยุดทำงานเอง หรือดูกตัดออกไปทั้งสองข้าง ด้านอาหาร : ผู้ป่วยอาจจะขาดอาหารจำพวกแคลเซี่ยม, วิตามินดี ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน : นิสัยชอบนั่งๆ นอนๆ, สูบบุหรี่ และดื่มกาแฟ

                2. ตรวจร่างกายโดยละเอียด โดยเฉพาะ วัดความดันโลหิต เพื่อค้นหาภาวะความดันโลหิตสูง ตรวจเต้านม และเอ็กซเรย์เต้านม (MAMMOGRAPHY) ตรวจภายใน และตรวจหาเซลล์มะเร็งบริเวณปากมดลูก

               3. การตรวจสอบว่า มีข้อห้ามในการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งเยื่อบุมดลูก โรคหลอดเลือดอุดตันที่ยังกำเริบอยู่ ภาวะเลือดออกผิดปกติจากมดลูก โรคตับอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง

              4. การขูดมดลูก เพื่อตรวจดูพยาธิสภาพในกรณีมีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยไม่ทรายสาเหตุ

             5. เจาะเลือดตรวจฮอร์โมน FSH (FOLLICLAR STIMULATING HORMONE) และ LH (LUTEINIZING HORMONE)

               การรักษา (TREATMENT) I การรักษาโดยการให้ฮอร์โมนหรือการสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนทดแทน (HORMONE REPLACEMENT THERAPY) ฮอร์โมนหลักที่ให้กับสตรีวัยทอง คือฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ในกรณีที่มีภาวะเสี่ยงต่อฮอร์โมนดังกล่าว ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน หรือสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนแทน โดยปกติ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน อาจะให้เป็นตัวเดียวล้วนๆ หรือร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนก็ได้ แต่การให้เพียงฮอร์โมนเอสโตรเจนตัวเดียว มีอัตราเสี่ยงสูงต่อมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

             1. ในสตรีอายุน้อยกว่า 40 ปี ซึ่งรังไข่หยุดทำงานโดยไม่ทราบสาเหตุหรือถูกตัดออกทั้งสองข้าง รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน ติดต่อกันไปทุกวัน เป็นเวลา 25 วัน ในแต่ละเดือน คือ ทุกๆ วันที่ 1-25 ของปฏิทิน ส่วนระยะเวลาที่เว้นว่างไว้ก็เพื่อไม่ให้ฮอร์โมนสะสมในร่างกายจนอาจเป็นอันตราย ได้ ควรรับประทานฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ร่วมด้วยกับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยรับประทานเดือนละ 7-10 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 16-25 ของปฏิทิน เลียนแบบธรรมชาติ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะแก่การลอกหลุดออกมาเป็นระดู ภายหลังจากหยุดฮอร์โมนในแต่ละรอบเดือน นอกจากนี้ยังช่วยต่อต้านฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย ควรจะขูดเอาเยื่อบุโพรงมดลูก มาตรวจดูพยาธิสภาพเป็นบางครั้งบางคราว

             2. สตรีที่มีเลือดออกผิดปกติในช่วงใกล้จะหมดระดู เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไปในสตรีวัยใกล้หมดระดูนี้ เกิดจากภาวะไข่ไม่ตก ในขณะที่ยังมีการผลิตไข่ออกมาเรื่อยๆ สตรีเหล่านี้จะไม่มีพยาธิสภาพอย่างอื่นร่วมด้วยเลย นอกจากสภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนา สำหรับการรักษา

                      2.1 ควรให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นระยะๆ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกและลอกหลุดออกมาเป็นประจำเดือน

                     2.2 ควรทำการขูดมดลูกมาตรวจพยาธิสภาพบ้างตามความเหมาะสม

            3. สตรีวัยหมดประจำเดือน

                     3.1 รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน เหมือนกับในข้อ 1.1

                     3.2 ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ชนิดทาในบริเวณผิวหนังหรือผิวหนังที่แห้งเหี่ยว, บางและอักเสบ เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นขึ้น เช่น บริเวณภายในช่องคลอด เป็นต้น กรณีที่คนไข้สตรี ไม่สะดวกในการรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน ยังมีกรรมวิธีอื่นอีกในการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น โดยการฝังใต้ชั้นผิวหนัง (SUBCUTANEOUS IMPLANT) โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (INTRAMUSCULAR DEPOT INJECTION) โดยใช้เป็นครีมทาบริเวณช่องคลอด (VAGINAL CREAM) โดยใช้เป็นขี้ผึ้งเหลวทาบริเวณผิวหนังทั่วๆ ไป (PERCUTANEOUS GEL) โดยใช้เป็นแผ่นแปะตามผิวหนัง (TRANSDERMAL DELIVERY SYSTEM) คนไข้สตรี สามารถเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามสะดวก แต่ไม่ควรลืมรับประทานฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ในช่วงระหว่างวันที่ 16-25 ของปฏิทินด้วย เพื่อเป็นการเลียนแบบธรรมชาติของมนุษย์

                    สำหรับสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมน (TIBOLONE : LIVIAL) ซึ่งเรานำมาใช้รักษาภาวะขาดฮอร์โมนของสตรีวัยทองนั้น เป็นสารเคมีที่มีสูตรโครงสร้างส่วนใหญ่คล้ายฮอร์โมนเพศ สารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมน (TIBOLONE : LIVIAL) นี้ สามารถออกฤทธิ์ลดอาการร้อนวูบวาบตามตัว (HOT FLUSH) และกลุ่มอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน (MENOPAUSAL SYNDROME) อื่นๆ ได้ดี นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันภาวะกระดูกพรุนและเพิ่มเนื้อกระดูกได้เช่นเดียวกันกับฮอร์โมน เอสโตรเจนจากธรรมชาติ สำหรับระบบหลอดเลือดและหัวใจ สารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนชนิดนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงระดับของความดัน โลหิต ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด แม้กระทั่งระดับไขมันในหลอดเลือด จึงเชื่อว่า ปลอดภัยต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ข้อได้เปรียบประการหนึ่งของสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนชนิดนี้ คือไม่ก่อให้เกิดมีเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างยิ่งของสตรีที่หมดประจำเดือนไปแล้ว II

                การบำรุงรักษาร่างกายของสตรีวัยทองโดยไม่ต้องอาศัยฮอร์โมน การรับประทานอาหารแบบสมดุลย์ โดยไม่มีสารอาหาดรชนิดใดมากหรือน้อยเกินไป การรับประทานอาหารที่แคลเซียมยมสูงๆ โดยปกติร่างกายของคนไข้สตรีเหล่านี้มีความต้องการแคลเซี่ยมวันละประมาณ 1.5 กรัม หากเกรงง่า จะได้รับจากอาหารไม่พอ ก็ควรได้รับเพิ่มเติมจากยาหรือวิตามินที่มีแคลเซียมในปริมาณสูง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะท่ามกลางแสงแดดยามเช้าหรือเย็น เพื่อให้ได้รับวิตามินดี ซึ่งเป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียมยมจากลำไส้ ในสตรีที่ชอบสูบบุหรี่ ให้งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด ควบคุมภาวะปัจจัยเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจให้อยู่ในเกณฑ์ ที่ปลอดภัย อันได้แก่ ภาวะเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ระดับไขมันในเลือด หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป การติดตามและตรวจร่างกายภายหลังได้รับฮอร์โมนทดแทน ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธี เดือนละอย่างน้อย 1 ครั้ง ให้แพทย์ตรวจภายในและตรวจเต้านมประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ขุดมดลูกในกรณีมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดภายหลังรักษาเกินกว่า 6 เดือน

               “วัยทอง” ของสตรีเป็นวัยที่มีค่า อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้ความหมาย เพียงบำรุงรักษาร่างกายง่ายๆ ด้วยการรับประทานฮอร์โมนที่ขาดไป, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเสริมแคลเซียม ก็จะไม่เป็นโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อชีวิตแล้ว ภาพของสตรีชรา ใบหน้าเหี่ยวย่น หลังค่อม ถือไม้เท้า ก้าวย่างอย่างเชื่องช้า ซึ่งพบเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในอดีตนั้น คงค่อยๆหมดไปในสมัยปัจจุบัน เพราะวิทยาการเรื่องนี้ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง สตรีสูงอายุยุคใหม่ น่าจะยังคงสวยสง่า ท่าทางทะมัดทะแมงแข็งขัน &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *