ภาวะน้ำเดินก่อนเวลาอันควร

ภาวะน้ำเดินก่อนเวลาอันควร ( Premature ruptured of amniotic membrane)

ในระหว่างตั้งครรภ์ คนไข้สตรีควรหมั่นไปพบสูติแพทย์ตามนัดหรือเมื่อมีปัญหา เพราะปัญหาของสตรีตั้งครรภ์มีมากมาย บางครั้งหมอช่วยเหลือได้ บางครั้งช่วยเหลือไม่ได้ แต่……อย่างน้อยก็น่าจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนให้ลดลง

                                เมื่อวานมีคนไข้สตรีรายหนึ่งมาตรวจแผลผ่าตัดหลังคลอด 2 สัปดาห์ ความจริง เธอยังไม่ถึงกำหนดคลอดเลย ต้องรออีก 2 เดือนจึงจะถึงกำหนดคลอด แต่เผอิญเกิดปัญหาน้ำเดินขึ้นมาก่อน ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงแก้ไขวิธีอื่นได้นอกจากผ่าตัดให้คลอดหลังจากพยายามช่วยเหลืออยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม คงเป็นความโชคดี ทารกที่คลอดออกมา ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก เพียงแต่ตัวเล็กไปหน่อย ปัญหาภาวะน้ำเดินนี้เป็นเรื่องที่พบบ่อย ดังนั้น สตรีตั้งครรภ์ควรเรียนรู้เอาไว้

คนไข้รายนี้มีชื่อว่า คุณเทวพร ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ 2 มาฝากท้องตั้งแต่ต้นและไม่เคยผิดกำหนดนัดหมาย  ลูกคนแรกของเธอขณะนี้อายุได้ 2 ขวบ  คลอดโดยการผ่าตัดออกทางหน้าท้อง เนื่องจากอยู่ในท่าก้นและตัวใหญ่ น้ำหนักแรกคลอดมากถึง 3500 กรัม

 วันหนึ่ง คนไข้รายนี้มีปัญหาเรื่องน้ำเดินก่อนเวลาอันควร( Premature rupture of  membrane ) ข้าพเจ้าจึงต้องให้คนไข้เข้ามานอนรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากอายุครรภ์ขณะนั้นยังน้อยอยู่ เพียง 28 สัปดาห์  4 วัน 

เรื่องน้ำเดินก่อนเวลาอันควร ( Premature rupture of membrane ) เป็นเรื่องใหญ่ที่คนไข้หลายคนไม่เข้าใจ   ความหมาย ก็คือ ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนดคลอดนานมากเกินกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีผลทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งแม่และลูก

แม่อาจได้รับการติดเชื้อภายในโพรงมดลูกที่รุนแรง จนอาจจำเป็นต้องตัดมดลูกทิ้ง ส่วนลูกในครรภ์ก็อาจตายจากการติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบัน การแพทย์เจริญก้าวหน้าและยาปฏิชีวนะมีประสิทธิภาพสูง ทำให้กุมารแพทย์สามารถช่วยเหลือชีวิตคนไข้และลูกได้อย่างปลอดภัยเป็นส่วนมาก ยกเว้น คนไข้มาโรงพยาบาลช้าเกินไป จนเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงแล้ว

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ อายุครรภ์ขณะที่เกิดภาวะน้ำเดิน  หากอายุครรภ์ต่ำกว่า 28 สัปดาห์ ทารกถือว่าอยู่ในภาวะอันตราย เพราะทารกตัวเล็กมากและปอดยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร  การที่จะรักษาชีวิตของทารกไว้ให้ได้ ทารกต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษและอยู่ตู้อบในห้องไอ.ซี.ยู. เป็นระยะเวลานาน ซึ่งทารกจะรอดหรือไม่ นอกเหนือจากสภาพของตัวทารกเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของคณะแพทย์และพยาบาล รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยของไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดเป็นสำคัญ

วันนั้น ยังจำได้ คุณเทวพรได้โทรศัพท์มาบอกกับข้าพเจ้าว่า มีน้ำเดินออกมาจากช่องคลอด หนูได้เข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแถวบ้าน หมอบอกว่า มีน้ำเดินจริงแต่หยุดแล้ว จึงให้หนูกลับมานอนรักษาตัวที่บ้านก่อน ตอนนี้หนูมีน้ำเดินออกมาอีก  หมอจะให้ทำยังไง ? ”

ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ผมอยากให้คุณเทวพรเข้ามานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตอนนี้เลยเพราะภาวะน้ำเดินนั้นอันตรายมาก ข้าพเจ้าตอบกลับไป

ตอนแรก คุณเทวพรก็ไม่อยากมานอนโรงพยาบาล แต่พอรู้ว่าอันตรายจึงยินยอม เมื่อเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว ข้าพเจ้าได้ตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ให้ ปรากฏว่า ทารกยังแข็งแรงดี มีขนาดเท่ากับอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ และน้ำคร่ำยังเหลืออยู่ค่อนข้างมาก

ข้าพเจ้าบอกกับคนไข้ว่า การรักษาโรคนี้ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่นอนอย่างเดียว ห้ามลุกออกจากเตียงโดยเด็ดขาด แม้แต่จะปัสสาวะ อาจยกเว้นให้เฉพาะลุกออกไปถ่ายอุจจาระได้เท่านั้น

หนูต้องนอนโรงพยาบาลนานเท่าใด  คุณเทวพรถาม

นานที่สุดเท่าที่ทารกจะปลอดภัย อย่างน้อยควรให้ได้ถึงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ถ้าให้ดีควรเกิน 36 สัปดาห์ ยิ่งครบ 38 สัปดาห์ ถือว่า ปลอดภัยแน่นอน ข้าพเจ้าตอบ

อย่างนั้น หนูต้องนอนที่นี่นานถึง 2 เดือนเลยหรือหมอ คนไข้ถาม

ถ้าอยู่ได้ถึงเวลานั้น ก็คงจะดี แต่หมอคิดว่า ไม่น่าจะถึง เพราะฉะนั้น คุณต้องพยายามไม่ลุกออกจากเตียงโดยไม่จำเป็น  ไม่ต้องอาบน้ำ ให้เช็ดตัวที่เตียง ข้าพเจ้าพยายามเน้นเรื่องการนอนเฉยๆอยู่บนเตียงตลอดเวลา เพราะนั่นคือ วิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับภาวะน้ำเดินสำหรับคนไข้ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ซึ่งเราไม่สามารถอนุญาตให้คลอดถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

ระหว่างนี้ หนูต้องทำอะไรบ้าง คุณเทวพรถาม

ใส่ผ้าอนามัย เพื่อดูว่ายังมีน้ำเดินออกมาจากช่องคลอดอีกมากน้อยแค่ไหน และหมั่นสังเกตตัวเองว่า มีไข้ขึ้นหรือเปล่า? มีอาการปวดท้องน้อยหรือไม่?  ถ้ามีไข้ขึ้น ปวดท้องน้อย หรือน้ำคร่ำที่ไหลออกมามีกลิ่นเหม็น ก็แสดงว่า มีการติดเชื้อเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าอันตรายมาก จำเป็นต้องรีบให้คลอดทันที แต่..ตราบใดที่ไม่มีอาการแสดงดังกล่าว คุณสามารถนอนต่อไปได้เรื่อยๆจนกว่าเด็กจะปลอดภัย จึงให้คลอดออกมาข้าพเจ้าอธิบายในส่วนของการปฏิบัติตัว

ถ้าลูกหนูคลอดออกมาตอนนี้ ลูกหนูจะเป็นยังไงและต้องอยู่ตู้อบนานไหม? ” คนไข้ถามต่อ

ถ้าคลอดออกมาตอนนี้ เด็กจะหนักประมาณ 1000 กรัม และปอดยังทำงานไม่ได้ดี หมอเด็กต้องใส่ท่อช่วยหายใจตั้งแต่คลอด เด็กต้องอยู่ดูแลในตู้อบของไอ.ซี.ยู.เด็กตลอดเวลา หมอเด็กต้องให้ยาฆ่าเชื้อ บางทีต้องให้โปรตีนและยาเพิ่มภูมิต้านทาน ซึ่งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นแสน เพราะฉะนั้นคุณต้องอดทนนอนนิ่งๆบนเตียง ห้ามลุกไปไหนโดยไม่จำเป็น  ผมเคยมีคนไข้รายหนึ่งคลอดบุตรตอนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หมอเด็กได้ช่วยแบบที่กล่าวข้างต้น เด็กต้องอยู่ดูแลในโรงพยาบาลนานถึง 3 เดือน เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนบาท แต่ก็ยังโชคดี ที่ลูกของเขาไม่มีปัญหาอะไรเลย ซึ่งจะมีสักกี่คนที่โชคดีอย่างนี้ ข้าพเจ้าพยายามจะพูดอธิบายโดยยกตัวอย่างจริงเพื่อให้คนไข้เข้าใจและปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด

คำอธิบายของข้าพเจ้าได้ผล คนไข้สามารถปฏิบัติตัวได้เป็นอย่างดี ภาวะน้ำเดินค่อยๆลดลง บางวันไม่มีน้ำเดินออกมาเลย ระหว่างนี้ข้าพเจ้าได้ให้ยา( dexamethazone ) ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 วันเพื่อช่วยเร่งการพัฒนาของปอดเด็ก เผื่อว่า จำเป็นต้องคลอด

ในวันที่ 7 ของการนอนรักษาตัวของคุณเทวพร  ตอนเวลาประมาณ 3 และ 5 นาฬิกา  คนไข้มีน้ำเดินออกมาจำนวนมาก 2 ครั้ง ตอนเช้า พอพยาบาลรายงานให้ทราบ ข้าพเจ้าจึงให้คนไข้ไปตรวจดูด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ ปรากฏว่า น้ำคร่ำเหลืออยู่ในโพรงมดลูกน้อยมาก แต่เด็กยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าบอกกับคุณเทวพรว่า  ต้องผ่าตัดคลอดเดี๋ยวนี้ ทิ้งไว้นาน ตัวเด็กอาจเบียดสายสะดือจนขาดออกซิเจนตายได้

คนไข้รู้สึกตกใจและถามอีกว่า  ลูกของหนูคลอดออกมา จะเป็นอะไรไหม? ”

ตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ แต่ผมได้ให้ยาช่วยพัฒนาปอดเด็กไปแล้ว ลูกของคุณอาจจะดีก็ได้ ข้าพเจ้าไม่กล้ารับรองอะไรทั้งนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโชคชะตา

คนไข้ได้รับการผ่าตัดคลอดหลังจากนั้นไม่นาน เธอได้รับการดมยาโดยวิธีฉีดยาสลบเข้าไขกระดูกสันหลัง จึงรู้สึกตัวตลอดเวลาระหว่างผ่าตัด การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทารกอยู่ในท่าก้น น้ำหนักแรกเกิด 1340 กรัม ตัวเล็กมาก แต่ร้องดี ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จึงนับว่า โชคดีมาก

คุณเทวพรได้เห็นลูกของเธอในสภาพที่แข็งแรงปลอดภัยตั้งแต่แรกคลอดเลย เธอรุ้สึกดีใจจนน้ำตาไหลรินออกมา ข้าพเจ้าเองก็ดีใจด้วย

 คนไข้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพียง 4 วัน ก็ขอกลับบ้านไปก่อน โดยทิ้งลูกน้อยให้ห้องทารกแรกเกิดเลี้ยงจนกว่าเด็กจะมีน้ำหนักเกิน 2000 กรัม ซึ่งคงต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

ภาวะน้ำเดิน เกิดจากถุงน้ำคร่ำรั่ว ปกติถุงน้ำคร่ำมี 2 ชั้น การรั่วของถุงน้ำคร่ำจึงอาจมีการรั่วมากหรือน้อยก็ได้ ถ้าถุงน้ำคร่ำรั่วเพียงเล็กน้อย ถุงน้ำคร่ำจะสามารถสร้างขึ้นมาปิดตัวเองได้ แต่ต้องใช้เวลา  ตั้งแต่ 1 สัปดาห์จนถึงกินเวลาเป็นเดือน

ถ้าถุงน้ำคร่ำรั่วมาก คงไม่สามารถที่จะสร้างขึ้นมาปิดเองได้ การที่ให้คนไข้มานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ก็เพียงแค่รอเวลาเพื่อให้ยาพัฒนาปอดทารก เมื่อให้ยาครบกำหนด 2 วันแล้ว จึงพิจารณาให้ทารกคลอดตามความเหมาะสม

การแพทย์เจริญก้าวหน้า แต่คนไข้ก็ต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจตามไปด้วย สาเหตุของภาวะน้ำเดินก่อนเวลาอันควร ส่วนใหญ่ไม่ทราบ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงและอาจเป็นสาเหตุได้  คือ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ยิ่งถ้ามีน้ำใสๆไหลออกมาจากช่องคลอด  ให้คิดไว้ก่อนว่า อาจจะเป็น น้ำคร่ำ   ห้ามคิดว่า เป็นปัสสาวะที่ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว และขอให้หยุดการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ใช่ น้ำเดิน

ความหวังของคนท้องทุกคน ก็คือ คลอดลูกที่แข็งแรงสมบูรณ์ แต่ทุกอย่างจะเป็นไปดังที่หวังหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะคาดการณ์ได้ อย่างกรณี น้ำเดิน ของคุณเทวพร ซึ่งถ้าไม่รู้และคิดว่าไม่เป็นไร ปล่อยเวลาให้เนิ่นนานผ่านไป โดยใช้ชีวิตตามปกติ ก็อาจต้องสูญเสียลูกน้อย พรของเทพเจ้าใดๆ คงไม่สามารถช่วยเหลือได้ ความรู้ความเข้าใจต่างหากที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา และเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลับกลายเป็นดี.

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *