ปริญญาโทของคนท้อง

 

         เมื่อไม่นานมานี้ มีดารานักแสดงหญิงชาวไต้หวันคนหนึ่ง อายุ 58 ปี มาปรากฏตัวทางโทรทัศน์และเล่าเรื่องราวชีวิตว่า “สิ่งที่เธอเสียใจมากที่สุด คือ เรียนหนังสือน้อย และไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เธอเรียนไม่จบแม้กระทั่งระดับมัธยมศึกษา”

          เธอมีลูกตั้งแต่อายุ 15 ปี ต่อมาได้มีโอกาสแสดงหนังเป็นนางเอกและมีชื่อเสียง เธอไม่ชอบเล่นหนังกำลังภายใน แต่ผู้กำกับกลับบังคับให้แสดง เพราะกำลังเป็นที่นิยม ช่วงนั้น นักแสดงได้เงินค่าตอบแทนน้อยมาก เมื่อคราวที่ไม่มีงานแสดง เธอได้ออกไปตระเวนขายของแบกะดิน ผู้คนที่พานพบต่างเห็นใจ ช่วยซื้อของและถามไถ่ความเป็นมา เธอบอกว่า “ความรู้น้อย เกิดมายากจน ขายของเช่นนี้ ก็เหมาะสมกับตัวเธอแล้ว” เธออับอายกับการช่วยเหลือเช่นนี้ เวลาผ่านไปไม่นานนัก เธอได้ย้ายไปอยู่บนภูเขา ซึ่งไม่มีใครรู้จัก  เธอหย่าร้าง 3 ครั้ง พ่อของลูกคนแรก เป็นเพื่อนนักเรียน สามีคนที่สองเป็นดอกเตอร์ ซึ่งมีเพื่อนฝูงมากมาย เธอขอหย่าสามีทั้งที่ยังรัก เพราะความสงสารสามีที่เธอต่ำต้อยด้อยความรู้ ต่อมา เธอแต่งงานกับบัณฑิตจบใหม่ที่มีภูมิลำเนาบนภูเขาที่เธอไปเร่ขายสินค้าแบกะดิน ปัจจุบัน เธอกับสามีคนนี้ประสบความสำเร็จในการเปิดร้านอาหารบนภูเขา จึงมีคำถามว่า ‘ ทำไมคนบางคนต้องถือเอาใบปริญญาหรือระดับการศึกษา มาทำให้ใจตนเองเศร้าหมองด้วย ทั้งๆที่ตัวเอง ก็มีส่วนอื่นที่ดีมีคุณค่ากว่าตั้งมากมาย’

           ผู้คนสมัยนี้ ใครๆต่างก็พยายามเสาะแสวงหาความรู้กันทั้งนั้น สำหรับคนท้อง จริงๆแล้ว ก็จำเป็นต้องมีความรู้ไว้บ้าง ช่วงนี้ ที่ห้องตรวจครรภ์  คนท้องหลายคน ได้สอบถามความรู้มากมายกับข้าพเจ้า จนตอบแทบไม่ทัน…มีเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยมีใครถาม แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ นั่นคือ เรื่องความผิดปกติของหมู่เลือดในร่างกายคนท้องที่เรียกว่า Rh isoimmunization

            หมู่เลือดสำคัญในร่างกายมนุษย์มี 2 หมู่เลือด คือ หมู่เลือด ABO ที่พวกเราคุ้นเคย กับ หมู่เลือด Rh (Rh antigen system) ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก แต่มีความสำคัญ

            ในระบบหมู่เลือด Rh antigen system นั้น มนุษย์ทุกคนจะมีอย่างน้อย 1 antigen D  ซึ่งหากใครมี Antigen DD หรือ D(-) ในเลือด เราจะเรียกบุคคลผู้นั้นว่า มีหมู่เลือด Rh บวก (Rh positive) แต่ถ้าไม่มี Antigen D เลย หรือ (-)(-) ก็จะเรียกว่า Rh ลบ (Rh negative)  กรณีเดียวที่สำคัญในทางสูติกรรม คือ แม่มีหมู่เลือด Rh ลบ ( Rh negative) และพ่อมีหมู่เลือด Rh บวก (Rh positive) ซึ่ง..ถึงแม้เป็นเช่นนั้น แต่บุตรคนแรก ก็จะคลอดออกมาโดยไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ดี บุตรคนต่อไป มักจะประสบปัญหา ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะมีโอกาสเสียชีวิตหากคุณแม่ไม่ได้รับการรักษาขณะตั้งครรภ์บุตรคนแรก เพราะเม็ดเลือดแดงของบุตรคนถัดไปมีโอกาสแตกสลายทั่วร่างกายจากการจับตัวของระบบภูมิคุ้มกัน (Rh system) ซึ่งมีผลทำให้ทารกมีภาวะโลหิตอย่างจางรุนแรง , หัวใจวาย , บวมทั่วร่างกายและเสียชีวิตในลักษณะที่เรียกว่า Hydrop fetalis

             จากสถิติ พบว่า เพียงร้อยละ 1 ของคนไทยเท่านั้นที่มีหมู่เลือด Rh ลบ แต่พวกฝรั่ง พบได้ร้อยละ 15 ในคนผิวขาว และร้อยละ 8 ในคนผิวสี.. จากประสบการณ์กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีโอกาสดูแลคนท้องที่มีหมู่เลือด Rh ลบ ไม่เกิน 20 คน ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีเรื่องเล่าของคนท้องเหล่านี้    

              เมื่อไม่นานมานี้ มีคนท้องรายหนึ่งชื่อ คุณวรกมล อายุ 31 ปี เธอมี หมู่เลือด Rh ลบ ในขณะที่พี่สาว สามีและคนในบ้านล้วนมีหมู่เลือด Rh บวก ข้าพเจ้าบอกคุณวรกมลว่า ‘เธอเป็นคนพิเศษ ไม่เหมือนใคร หากดูจากลักษณะภายนอก ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ซึ่งถ้าไม่มาฝากครรภ์ที่นี่ หรืออยู่ในสถานพยาบาลที่ไม่มีใครเอาใจใส่ ผลร้ายหรือหายนะย่อมจะตกอยู่กับลูกคนถัดไป คือลูกคนต่อไปมีโอกาสจะเสียชีวิตในครรภ์’ คุณวรกมลตกใจมาก เพราะไม่เคยได้ยินเรื่องเช่นนี้มาก่อน

               คุณวรกมลฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ เนื่องจากตั้งครรภ์แรกและพี่สาวบอกให้มาฝาก ลูกของพี่สาวทั้ง 3 คน ข้าพเจ้าเป็นคนผ่าตัดทำคลอดให้ ครอบครัวของเธอจึงไว้วางใจ ข้าพเจ้าเล่าให้เธอฟังคร่าวๆเกี่ยวกับระบบ Rh system และบอกให้มาฝากครรภ์ตามนัดทุกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรกมลปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เธอได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องตอนอายุครรภ์ 15, 20, และ28 สัปดาห์ ก็ไม่พบว่า ทารกมีความผิดปกติแต่อย่างใด 

              พออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณวรกมลรู้สึกมีน้ำใสๆไหลออกมาจากช่องคลอด เธอตกใจมากและรีบเข้ามารับการตรวจภายในที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผลปรากฏว่า ไม่ใช่ภาวะน้ำเดิน แต่เป็นการตกขาวธรรมดา เมื่อข้าพเจ้าตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องของเธอ ก็ไม่พบว่า น้ำคร่ำลดลง สรุปคือ ไม่มีภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด

               คุณวรกมล  ได้รับการฉีดสารอิมมูโนกลอบบูลินขนาด 300 ไมโครกรัม [Rh immune globulin (RHO gam)] จำนวน 2 ครั้ง คือ ตอนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ และหลังคลอด ประมาณ 24 ชั่วโมง (ควรฉีดภายใน 72 ชั่วโมงหลังคลอด) ทั้งนี้ ก็เชื่อว่า หากเลือดของลูกคุณวรกมล (ซึ่งมี Antigen D) เข้าไปทางบาดแผลและกระแสเลือดของเธอ แล้วก่อให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานขึ้น (Anti – D antibodies) ตัวสารอิมมูโนกลอบบูลินที่เราฉีดเข้าไป ก็จะไปจับกับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น และไม่เป็นอันตรายอีกต่อไป แต่หากไม่ฉีดสารอิมมูโนกลอบบูลินเข้าไปในตัวคุณแม่ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในคุณแม่ก็จะผ่านรกเข้าไปจับกับ Antigen D ของลูกคนถัดไป ผลคือ เม็ดเลือดแดงของลูกนั้นจะแตกสลาย ทารกเกิดภาวะโลหิตจาง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา

                คุณวรกมล  คลอดบุตรตอนอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ ทารกเป็นเพศหญิง หนัก 3335 กรัม แข็งแรงดี ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่ง…คงต้องติดตามครรภ์ครั้งต่อไปของคุณวรกมล ว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ อย่างไร

                 อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ สูติแพทย์ท่านหนึ่งได้เล่าในวงสนทนาของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจว่า ‘มีคนท้องคนหนึ่งฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชน เป็นครรภ์ที่ 2 เธอมีหมู่เลือด Rh ลบ โดยการทดสอบเลือดซ้ำถึง 2 ครั้ง.. ที่น่าแปลก คือ ตอนที่ฝากครรภ์แรก   เธอไม่ได้รับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนโดยการฉีดสาร RHO gam เนื่องจากเธอได้รับการวินิจฉัยว่า มีหมู่เลือด Rh บวก.. ผลที่ตามมา คือ ทารกในครรภ์นี้ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ส่วนจะรุนแรงหรือไม่ ยังไม่ทราบ’ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว วิธีการแก้ไข ควรทำอย่างไร

                ก่อนอื่น สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วขณะนี้อย่างแน่นอน คือ ทารกน้อยในครรภ์ (Rh บวก) ได้รับภูมิต้านทานของเลือดแม่ (Anti – D Antibodies) ที่ผ่านรกเข้ามาในกระแสเลือดลูก และไปจับกับ (Rh) Antigen D ของเม็ดเลือดลูก ทำให้ เม็ดเลือดลูกบางส่วนแตกสลาย แต่ความรุนแรงจะมากน้อยเพียงใด มีข้อสังเกตดังนี้

1. ถ้าแม่มี anti – D antibodies ที่เกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์  จะถือว่า มีปฏิกิริยาการจับตัวของ Antigens และ antibodies (sensitized) เกิดขึ้นในลูกแล้ว ซึ่งแม่จะต้องได้รับการเจาะเลือดทุก 4 – 6 สัปดาห์ เพื่อติดตามดูค่า (serial) antibodies titers

2. ถ้าค่า antibodies titers ต่ำกว่า 1:16 โอกาสเกิดภาวะเม็ดเลือดแตกสลายอย่างรุนแรงในลูก ก็ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าค่า antibodies titers สูงกว่า 1:16 ถือว่า ทารกมีโอกาสมากที่จะเกิดภาวะเม็ดเลือดแตกสลายรุนแรงและเสียชีวิต  คณะแพทย์จะช่วยเหลือโดยการเจาะน้ำคร่ำในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อดูระดับของ Bilirubin ในเลือดแม่ โดยวิธีหาค่า OD 450  ซึ่ง..กรณีระดับของ Bilirubin ในแม่มีค่าสูง แสดงว่า เม็ดเลือดแดงของลูกแตกสลายอย่างรุนแรง    สำหรับการตัดสินใจให้ครรภ์สิ้นสุด สูติแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดคลอดให้คนไข้ที่อายุครรภ์ประมาณ 26 – 28 สัปดาห์ ก่อนเกิดภาวะทารกตายในครรภ์ (Hydrop fetalis) แต่….ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องพิจารณาเกี่ยวกับศักยภาพของแผนกกุมารเวชกรรม ณ สถานที่นั้นๆควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นและไม่มีความพร้อม.. ก็อย่ารอช้า คุณหมอผู้ดูแล โปรดช่วยกรุณาส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงเรียนแพทย์ ด้วย

กรณีของคนท้องที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ข้าพเจ้าได้แนะนำคุณหมอให้ส่งตัวเธอไปที่โรงเรียนแพทย์ เพื่อการดูแลที่เหมาะสม แต่..คุณหมอยังปฏิเสธและอยากขอดูแลคนไข้ต่ออีกสักระยะหนึ่ง เพราะ Antibodies titers ของคนไข้มีค่าต่ำมาก คือ เพียง 1:1 เท่านั้น

               ข้าพเจ้าสังเกตว่า มีผู้คนมากมายหลงใหลกับการศึกษาต่อปริญญาโทในหลากหลายรูปแบบ โดยไม่ทราบว่า ความรู้ที่เรียนนั้นจะได้ใช้ประโยชน์ภายภาคหน้าหรือไม่ บางคนได้รับปริญญาโทถึง 10 ใบ ซึ่ง..หากเป็นการศึกษาอย่างสะเปะสะปะแล้ว วิชาการที่เรียนรู้นั้น ก็ไม่ต่างไปจาก ‘ขยะความรู้’ รังแต่จะทำให้เสียเวลา และกลืนกินชีวิตที่เหลืออยู่อย่างสิ้นเปลือง…. เช่นนี้แล้ว เขาเหล่านั้นจึงไม่สมควรได้รับปริญญาโทเลย!! ตรงกันข้ามกับคนท้องหลายคน ที่ใฝ่หาความรู้ แม้เพียงเล็กน้อย แต่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีค่ามหาศาล ดังเช่น เรื่องราวที่เล่ามา คนท้องเหล่านี้สามารถดูแลตัวเองจนคลอดได้อย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูก ดังนั้น คนท้องเหล่านี้ต่างหากที่สมควรได้รับปริญญาโทเกียรติคุณ.

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *