คนไข้กับน้ำพริกปลาทู1

คนไข้กับน้ำพริกปลาทู

                      คนมีลูกยากรายนี้   คงเหมือนกับคนไข้มีลูกยากรายอื่น ๆ  ที่แต่งงานมานานหลายปีแล้วยังไม่มีลูก แต่มีข้อแตกต่างตรงที่  สามีเป็นคนญี่ปุ่น   อันคนญี่ปุ่นนั้น ถือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต

                      นอกเหนือจากครอบครัว ก็คือ "งาน" กล่าวกันว่า "ผู้ชายชาวญี่ปุ่นทำงานหนักมากจนบ่อยครั้งลืมครอบครัวและเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก"

                      คนไข้สตรีรายนี้ เพิ่งคลอดบุตรโดยการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาฤกษ์ทารกคลอดคือ  เวลา 10 นาฬิกา 39 นาที  เธอได้ลูกชาย  แข็งแรงดี  น้ำหนักแรกคลอด  2,520 กรัม ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจกับเธอที่แต่งงานมานานถึง 10 ปี  และโชคดีคลอดบุตรชายสมใจที่รอคอย

                      ความจริง คนไข้สตรีรายนี้และสามี มีฐานะความเป็นอยู่ไม่จัดว่าร่ำรวย แต่คนทั้งสองกลับเลือกพักอยู่ห้อง วี.ไอ.พี ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีราคาแพงมาก  ข้าพเจ้าถามเธอว่า "ทำไมไม่เลือกห้องธรรมดา ซึ่งราคาถูกกว่า" คำตอบของเธอทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจชีวิตการทำงานของคนญี่ปุ่นทันที เธออธิบายว่า "ห้อง วี.ไอ.พี  มี 2 ห้อง ที่แยกอิสระจากกันด้วยประตูกั้นกลาง ดิฉันนอนห้องหนึ่งในฐานะผู้ป่วย ส่วนสามีจะใช้อีกห้องหนึ่งทำงานโดยไม่รบกวนดิฉัน การทำงานของสามีที่นี่ คือ การส่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตติดต่อกับลูกค้าที่ประเทศญี่ปุ่น 

                      ก่อนหน้านี้ สามีได้เข้าประชุมกับผู้ร่วมงานที่ประเทศญี่ปุ่น สามีได้กล่าวกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นว่าอยากจะหยุดทำงานสักเดือนหนึ่ง

                      เพื่อน   ชาวญี่ปุ่นพากันตกใจ  สอบถามกันใหญ่ว่า  มีปัญหาอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นหรือ

                      สามีตอบกลับไปว่า ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร แต่ภรรยากำลังจะคลอดบุตร  เพราะฉะนั้น  จึงอยากหยุดพักเพื่อดูแลภรรยาและลูก

                      คำตอบนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมงุนงงและหัวเราะขึ้นพร้อมกัน เพราะชีวิตของชาวญี่ปุ่นนั้น ไม่มีวันหยุดทำงาน"

                      จากการดูแลคนไข้ระหว่างพักอยู่โรงพยาบาล ข้าพเจ้าสังเกตว่าสามีของคนไข้มีลักษณะของชาวญี่ปุ่นเหมือนดังคำตอบข้างต้นจริงๆ คือ เขามักจะง่วนอยู่กับงานที่ต้องอาศัย

คอมพิวเตอร์ในอีกห้องหนึ่ง และจะโผล่หน้าออกมาทักทายยามที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมไข้

                      ถึงว่าละ ประเทศญี่ปุ่น จึงเจริญก้าวหน้าดั่งทุกวันนี้ เพราะในขณะที่ผู้คนในประเทศอื่นๆ กำลังพักผ่อน  หลับไหล  หรือนั่งเฝ้าจอทีวี  เพื่อความบันเทิง คนญี่ปุ่นจะเอาเวลาเหล่านั้นมาทำงาน  พลังการทำงานของคนญี่ปุ่นจำนวน 100 ล้านคนที่ไปในทิศทางเดียวกัน  ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นดินแดนศิวิไลซ์ในช่วงไม่กี่ปี

                      "ลูกแข็งแรงดี แม้จะตัวเล็กไปหน่อย ตอนแรก ว่าจะให้สามีของคุณเข้าไปดูหรือถ่ายรูปในห้องผ่าตัดด้วย แต่กลัวมีปัญหา" ข้าพเจ้าเอ่ยทักคนไข้ในรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด

                      "ดีแล้วค่ะ สามีดิฉันเป็นคนกลัวเลือด เดี๋ยวเป็นลมขึ้นมาจะลำบาก"  คนไข้เห็นด้วยกับการตัดสินใจของข้าพเจ้า

                      "ราวสัก 2 ปีก่อน ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งอนุญาตให้สามีคนไข้เข้าไปดูการผ่าตัดคลอดของภรรยาได้ มีอยู่รายหนึ่งที่สามีเป็นลมล้มลงในห้องผ่าตัด ศีรษะฟาดพื้น  ต้องทำการผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะเพื่อหยุดเลือดและเอาเลือดที่คั่งออกถึง 2 ครั้ง"         ข้าพเจ้าพูดถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เวลาสามีคนไข้เข้าไปดูการผ่าตัดคลอด  และเล่าต่ออีกว่า    "เรื่องการเป็นลมล้มลงศีรษะฟาดพื้นนั้น เกิดขึ้นกับคนไข้ได้ด้วยเช่นกัน แต่มักเกิดในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด 1-2 วัน ที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง คนไข้สามัญรายหนึ่งลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำเองหลังผ่าตัดคลอด 1 วัน โดยไม่มีญาติหรือนางพยาบาลพยุงดูแล  คนไข้หายไปนานจนผิดสังเกต เมื่อพยาบาลตามไปดูในห้องน้ำ ผลปรากฏว่า   คนไข้นอนตายอยู่ที่พื้น ที่ศีรษะมีรอยกระโหลกแตกจากการล้มลง และศีรษะฟาดกับโถส้วมอย่างแรง เพราะฉะนั้น คุณจะลุกไปไหนในขณะที่ยังอ่อนเพลียอยู่  ควรมีคนคอยพยุงและอยู่เป็นเพื่อนเสมอ โดยเฉพาะในห้องน้ำ"

                      หลังจากพูดจาย้ำเตือนเรื่องความปลอดภัยแล้ว ข้าพเจ้าได้ถามคนไข้เกี่ยวกับสามีของเธอว่า "ทุกวันนี้ ทำงานเกี่ยวกับอะไร"

                      คนไข้ตอบว่า   "ทำงานเกี่ยวกับ ถ่ายทำหนังโฆษณา ส่วนใหญ่รับงานจากลูกค้าชาวญี่ปุ่น แต่ก็มีลูกค้าประเทศอื่น รวมทั้งชาวไทยอยู่บ้าง"

                      สามีชาวญี่ปุ่นซึ่งยืนอยู่ข้างเตียงของคนไข้ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงวิธีการถ่ายทำหนังโฆษณาว่า "ลงทุนสูงมาก เฉพาะค่าเช่ากล้องถ่ายทำโฆษณาก็ต้องเสียค่าเช่าถึง 6 หมื่นบาทต่อวัน ไฟส่องเพื่อให้แสงเวลาถ่ายทำ  ซึ่งต้องใช้ประมาณ 3-4 ดวง ค่าเช่าตกดวงละ 1 หมื่นบาทต่อวัน ค่าลูกน้องพนักงานจัดฉากอีก 50-100 คน ค่าจ้างคนละ 200-500 บาทต่อวัน  หากถ่ายทำโฆษณาน้อยกว่า ปีละ 10 ครั้ง จะขาดทุนทันที อย่างน้อยต้องมีงานโฆษณาปีละ 12 ครั้ง จึงจะอยู่ได้

                      แต่ก่อน หลังจากถ่ายทำโฆษณาเสร็จแล้ว ต้องเสียเวลาล้างฟิล์ม 2 วัน บรรจุและส่งฟิล์มไปยังบริษัทตัดต่อภาพโฆษณาที่ประเทศญี่ปุ่นอีก 2 วัน เมื่อตัดต่อภาพโฆษณาเสร็จ ก็เสียเวลาส่งกลับมาเมืองไทยอีก 1 วัน  นับว่า  เสียเวลาค่อนข้างมาก  เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล หลังจากถ่ายทำโฆษณาด้วยกล้องดิจิตอลเสร็จแล้ว ก็มาทำการคัดเลือกภาพโดยใช้คอมพิวเตอร์ได้ทันที จากนั้นสามารถส่งภาพต่างๆ ต่อไปยังบริษัทตัดต่อภาพที่ประเทศญี่ปุ่นได้เลยทางอินเตอร์เน็ต ถัดมาอีก 2-3 วัน เมื่อทางญี่ปุ่นตัดต่อภาพเสร็จก็ส่งภาพยนตร์โฆษณาพร้อมเสียงเพลงกลับมาทางอินเตอร์เน็ตเช่นกัน ผมอยู่ที่โรงพยาบาล ก็ยังสามารถทำงานได้ ไม่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์"

                      ข้าพเจ้าไม่ค่อยเข้าใจเทคโนโลยีการถ่ายทำโฆษณามากนัก จึงได้แต่พยักหน้าไปตามจังหวะที่สามีคนไข้เล่า หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้ถามถึงบิดามารดาของสามีคนไข้ว่าจะมาเยี่ยมเมื่อไหร่ ปัจจุบันนี้ยังทำงานอยู่หรือเปล่า

                      "ราวเดือนหน้า รอให้ลูกชายแข็งแรงดีสักหน่อย เราค่อยโทรศัพท์ไปบอกให้ท่านทั้งสองนั่งเครื่องบินมา ปัจจุบัน ท่านทั้งสองอายุเกือบ 80 ปีแล้ว แต่ยังคงทำงานเปิดร้านขายอาหารญี่ปุ่นอยู่ที่เมืองโยโกฮาม่า ท่านทำอาหารญี่ปุ่นอร่อยมาก นี่เพิ่งจะย้ายร้านจากย่านธุรกิจ มาเปิดที่บ้านบนที่ดินของตนเอง ลูกค้าหลายคนยังตามมารับประทานอาหารฝีมือของท่านทั้งสองเลยคนญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้แหละ ชอบทำงานเป็นชีวิตจิตใจ ทำงานจนกว่าจะทำไม่ไหว คนญี่ปุ่นถือคติว่าทำงานแล้วร่างกายจะแข็งแรง ชีวิตมีคุณค่า หากไม่ทำงานชีวิตจะไร้ค่าและไม่ต่างอะไรกับความตาย"  สามีคนไข้อธิบาย

                      "สำหรับคนไทย คงชอบมีชีวิตอย่างสบายๆ มากกว่า ทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร"  ข้าพเจ้าพูดถึงวัฒนธรรมของคนไทย และพูดต่อว่า "อย่างไรก็ตาม คนไทยมีน้ำใจที่ดี  ทำอาหารอร่อย โดยเฉพาะอาหารแบบไทยๆ  ดั่งเช่น น้ำพริกปลาทูที่ภรรยาของคุณนำมาฝากให้เป็นประจำ"

                      ข้าพเจ้าจำคนไข้รายนี้ได้ดี เพราะเป็นคนไข้คนเดียวที่มารักษาภาวะมีบุตรยากกับข้าพเจ้า แล้วนำเอาน้ำพริกกะปิพร้อมด้วยผักต่างๆ และปลาทูมาฝากทุกครั้งที่มาตรวจ     ร่างกาย

                      น้ำพริกกะปิของคนไข้รายนี้อร่อยมาก ไม่แพ้ที่ขายตามร้านอาหารดังๆ เธอบอกเคล็ดลับว่า ส่วนสำคัญอยู่ที่กะปิต้องเป็นกะปิอย่างดีที่ซื้อมาจากภาคใต้ ส่วนใหญ่จะสั่งซื้อจากจังหวัดชุมพร ส่วนผักจิ้ม เธอได้ลวกจนสุกสะอาดและจัดมาอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย   ไม่ว่าจะเป็น  ผักกะเฉด, ผักบุ้ง, กระถิน, มะเขือ หรือใบเหลียง นอกจากนั้นยังมีปลาทูทอดเนื้อดีมาให้อีก 4  ตัว  ทุกครั้ง

                      "ผมรู้สึกขอบคุณอย่างยิ่ง  สำหรับน้ำพริกปลาทูที่นำมาฝากบ่อยๆ รู้สึกเกรงใจที่ทำให้ต้องเสียเวลา แต่ผมพูดจริงๆ นะว่า อร่อยมาก" ข้าพเจ้ากล่าวชมถึงความอร่อยของน้ำพริกปลาทูฝีมือของคนไข้รายนี้

                      "ไม่เป็นไรหรอกคะ เป็นความตั้งใจจริงๆ ที่จะตอบแทนความมีน้ำใจของหมอที่ดูแลเป็นอย่างดี และช่วยให้ครอบครัวของเรามีสมาชิกใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิตของดิฉัน"   คนไข้พูดแสดงความจริงใจ

                      ถัดมาอีก 3 วัน คนไข้สามารถลุกขึ้นเดินได้ดี ไม่มีปัญหาในการดูแลตัวเองและลูกสามีชาวญี่ปุ่นจึงเดินทางไปอำเภอ "หัวหิน" เพื่อเก็บภาพนำมาประเมินว่า ควรจะให้เป็นฉากในการถ่ายทำหนังโฆษณาหรือไม่

                      ข้าพเจ้าพูดคุยกับคนไข้ว่า "สามีคุณเป็นคนขยันทำมาหากิน น่านับถือจริง "

                      "ความจริง พ่อแม่ของสามีมีฐานะที่จัดว่า เป็นเศรษฐีก็ว่าได้  เพราะมีที่ดินเป็นของตนเองหลายแปลง มีบ้านของตัวเองและการค้าด้านร้านอาหารญี่ปุ่นก็เป็นไปด้วยดี      สามีหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยฯ เขาไม่เคยขอเงินพ่อแม่สักบาทเดียว เขาเป็นคนเงียบๆ  คุยไม่เก่ง  แต่ชอบทำงานและเป็นคนซื่อสัตย์

                      ตอนที่แต่งงานกันใหม่ๆ เราเช่าหอพักอยู่  สามีก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่เคยบ่นถึงความยากลำบาก  เราค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ จนมีบ้าน มีรถเป็นของตนเอง ดิฉันมีไร่อยู่ที่จังหวัดลพบุรี 4-5 ไร่ ตอนนี้กำลังปลูกบ้านใหม่ที่นั่นอีกหลังหนึ่ง ไม่นานคงจะเรียบร้อย ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากการทำงานอย่างหนักของสามี ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ดิฉันเพียงแต่คอยให้กำลังใจเท่านั้น"

                      "เท่าที่ทราบมา คนญี่ปุ่นมี 2 บุคลิกอยู่ในตัวคนๆ เดียวกัน คือ บุคลิกหนึ่งจะเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ก้มหัวจนแทบติดดินต่อแขกหรือลูกค้า แต่อีกบุคลิกหนึ่ง คือ บุคลิกดื้อรั้นหรือสู้ชนิดหัวชนฝา คนญี่ปุ่นทำอะไรไม่มีคำว่า ยอมแพ้ง่ายๆ จากการที่คุณอยู่ร่วมกันมา 10 ปี คิดว่า สามีคุณเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า" ข้าพเจ้าเริ่มอยากรู้ถึงบุคลิกที่ซ่อนเร้นของคนญี่ปุ่น

                      "เป็นเช่นนั้นจริงๆ บุคลิกของการเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนคงเคยเห็นมาแล้วอีกบุคลิกหนึ่งนั้น ดิฉันจะเล่าให้ฟัง เมื่อไม่นานมานี้ เราสองคนเดินทางไปบ้านนอก ช่วงนั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ ผู้คนพากันมาเล่นสาดน้ำและเดินขวักไขว่เต็มท้องถนนที่รถเราผ่าน รถของเราค่อยๆ คืบคลานทีละนิดๆ ปากของดิฉันก็ร้องตะโกนขอโทษไปตลอดทาง สามีก็คอยยกมือและก้มหัวแสดงการขอโทษไปตลอดทางเช่นเดียวกัน

                      มีวัยรุ่นอยู่คนหนึ่ง ยกนิ้วกลาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลแสดงความไม่สุภาพให้สามี ครั้งแรก สามียกโทษให้ เมื่อขับรถผ่านไปอีกเล็กน้อย  วัยรุ่นคนเดิมแสดงกริยาอย่างนั้นซ้ำอีก สามีมองเห็นทางกระจกที่มองไปทางด้านหลัง เขาหยุดรถ เดินไปหาวัยรุ่นคนนั้นและบอกให้กล่าวคำขอโทษกับเขา

                      วัยรุ่นไม่ยอม สามีของดิฉันยืนกรานว่า ต้องกล่าวคำขอโทษ มิฉะนั้นเขาจะอยู่ประจันหน้าตรงนั้นไม่ไปไหน เหตุการณ์ชักจะบานปลายไปกันใหญ่ ดิฉันจึงบอกกับวัยรุ่นคนดังกล่าวว่า "สามีเป็นชาวญี่ปุ่น เขาเป็นคนสุภาพ แต่จะไม่ยอมให้คนไทยปฏิบัติต่อเขาไม่สุภาพดังเช่นที่คุณทำเด็ดขาด ฉันรู้ว่า คุณไม่ได้เมาหรือขาดสติ หากคุณเมาหรือไร้สติจริงๆ คุณคงกล้ากินขี้หมากลางถนน คุณไม่กล้าใช่ไหม ฉันจึงกล้าพูดว่า คุณไม่ได้เมา แล้วทำไมเราคนไทยต้องปฏิบัติต่อคนต่างชาติเช่นนี้ด้วย

                      คราวนี้ ร้อนถึงผู้ใหญ่บ้านต้องออกมาขอโทษแทนลูกบ้านที่แสดงกริยาไม่สุภาพต่อสามีของดิฉัน เรื่องจึงจบลงได้" คนไข้เล่าเรื่องราวความดื้อหัวชนฝาของสามีชาวญี่ปุ่นให้ฟัง

                      "คนญี่ปุ่น เวลาทำงานอะไร เขาจะอดทนต่อสู้และมุ่งมั่นทำงานอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะสำเร็จ นี่คือ บุคลิกที่เราน่าจะเอาอย่าง" ข้าพเจ้าพูดยกย่องคนญี่ปุ่นด้วยความนับถือและพูดต่อว่า "แต่ชาวญี่ปุ่นมีข้อเสียอยู่เหมือนกัน คือ คนญี่ปุ่นเครียดมาก และเมื่อหาทางออกอะไรไม่ได้จะฆ่าตัวตาย สถิติการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นสูงมากกว่าคนไทยหลายเท่า นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า ด้วยบุคลิก 2 ลักษณะเช่นนี้  ทำให้มีจุดอ่อนในส่วนบุคลิก (ดื้อรั้น)  ที่ซ่อนอยู่ ความดันทุรังที่จะแก้ปมปัญหาที่แก้ไม่ได้ ทำให้ต้องจบลงด้วยการฆ่าตัวตายบ่อยๆ

                      คนไทยไม่เป็นเช่นนั้น เราประสบปัญหามากมาย แต่คนไทยมีบุคลิกนิสัยรักสนุก    มีน้ำใจ ไม่เครียดและลืมง่าย ปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายจึงน้อย"

                      สังคมบ้านเรากำลังเปลี่ยนแปลง จากสังคมแบบเกษตรกรรมเป็นสังคมแบบ       อุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี  ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น   แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ที่เกิดผลในทางดีอย่างเดียวหรอก เมื่อเมืองไทยเราเจริญก้าวหน้าใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน  สถิติการฆ่าตัวตายคงมากมายดุจเดียวกัน  เพราะถึงตอนนั้นคนรุ่นใหม่คงลืมนิสัยหรือบุคลิกเก่าๆ  ของคนไทยไปแล้ว  ความใจเย็น  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  นิสัยรักสนุก   และความเป็นคนลืมง่ายคงหายไป การเป็นคนเลือดร้อน  ชอบแข่งขันเพื่อชัยชนะ และบุคลิกดื้อรัน จะเข้ามาแทนที่ แม้แต่เสียงดนตรี ก็จะเปลี่ยนเป็นเร้าใจ แทนจังหวะช้า เนิบ แบบเดิม

                      "ประเทศไทยเปลี่ยนไปทุกวัน อะไรจะเปลี่ยนไป ก็ช่างมันเถอะ ขออย่าไปเปลี่ยนน้ำพริกกะปิแบบเดิม ก็แล้วกัน" ข้าพเจ้าพูดล้อเล่นกับภรรยา ภายหลังจากเล่าเรื่องคนไข้รายนี้และวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นให้ฟัง

                      "ทำไมถึงชอบกินน้ำพริกนักหนา  ถ้าให้คุณเลือกระหว่าง หูฉลาม   กับ น้ำพริกปลาทู  คุณจะเลือกอะไร" ภรรยาข้าพเจ้าถามย้อนกลับมา

                      "น้ำพริกปลาทู" ข้าพเจ้าตอบโดยไม่ต้องคิด

                      "คนอะไร ไม่รู้จักอาหารการกินเสียเลย  คนแบบนี้ กินอาหารดี แล้วเสียของเปล่า" เป็นคำตัดพ้อต่อว่าเล่น จากภรรยา

                      ในความรู้สึกที่แท้จริงของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าชอบความเป็นไทย และน้ำพริกปลาทู แบบดั้งเดิมอย่างมาก ตั้งแต่จำความได้ จนถึงปัจจุบันและเชื่อว่าในอนาคต ข้าพเจ้าก็ยังคงชอบอยู่ อย่างนั้นโดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

 

 @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *