การเลือกเพศโดยการวิเคราะห์ตัวอ่อน( PGD)
วันนี้ เป็นวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม สำหรับคนทั่วๆไป ก็ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น แต่ถือได้ว่า เป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของคุณวรวรรณ เพราะเธอได้มาตรวจเลือดทดสอบการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และผลปรากฏว่า เธอตั้งครรภ์สำเร็จได้ลูกชายตามต้องการ
ทำไม ข้าพเจ้าจึงใช้คำว่า สำคัญที่สุด ทั้งนี้ก็เนื่องจากคุณวรวรรณได้มารับการรักษาเพื่อเลือกเพศบุตรจากตัวอ่อนด้วยวิธี PGD ( prenatal genetic diagnosis ) กับข้าพเจ้าเป็นเวลานานหลายเดือนก่อนที่จะมาถึงวันนี้
ตอนเช้า เวลาประมาณ 9 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯโทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบครั้งหนึ่งแล้วว่า คุณวรวรรณมาเจาะเลือดตรวจการตั้งครรภ์ ข้าพเจ้ายังหวั่นใจว่า เธอจะไม่ตั้งครรภ์ เนื่องจาก 5 วันก่อน คุณวรวรรณได้โทรศัพท์มาบอกว่า ปวดท้องน้อย ลักษณะคล้ายปวดประจำเดือนหลังจากหยอดตัวอ่อนไป 4 วัน
1 ชั่วโมงหลังจากคนไข้เจาะเลือด เจ้าหน้าที่ฯได้โทรศัพท์มาเข้ามือถือข้าพเจ้าเพื่อบอกผลอีกครั้ง ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นและหวั่นใจอย่างมาก..ว่า คำตอบคือ “ ไม่ท้อง” ซึ่งคงต้องหาคำอธิบายว่า “ ทำไมถึงไม่ท้อง? ” ตอนนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกราวกับหัวใจหยุดเต้นในขณะที่รอฟังผล ความหวั่นใจนี้ เกิดจากการที่คนไข้เสียเงินไปเป็นจำนวนมาก และเคยโทรศัพท์มาเล่าถึงความไม่สบายใจเรื่อง อาการปวดท้องน้อยและความกลัวว่าจะไม่ท้อง
“ผลเลือดของคุณวรวรรณ(bhCG) เท่ากับ 132 (mIU/ml) ค่ะ” เสียงจากพยาบาลคนเดิมพูด คำพูดประโยคนี้ทำให้ข้าพเจ้าดีใจอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกเหมือนกับว่า ถูกรางวัลที่ 1 จากการประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลเลยทีเดียว
ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์กลับไปบอกคุณวรวรรณทันทีที่ทราบผล..ว่า “ยินดีและดีใจด้วยนะ! คุณวรวรรณท้องแล้ว ”
“ จริงหรือคะ ” คุณวรวรรณย้อนถาม
“ จริงซิ เพราะผลเลือดของคุณวรวรรณ เท่ากับ 132 หน่วย (mIU/ml) ถ้าค่าผลเลือด(bhCG)เกินกว่า 25 หน่วย ก็หมายถึงท้อง นี่ของคุณเกินมาต้องเยอะ แสดงว่า ท้องแน่นอน ”
“ดีใจจังเลย เพราะคราวนี้ หนูลองคิดคำนวณดู หนูใช้เงินไปประมาณ 5 แสนบาท ถ้าไม่ท้อง คงเสียดายแย่เลย” คุณวรวรรณพูดด้วยความดีใจ และคลายความกังวลต่อผลการรักษา หลังจากนั้น เธอก็ถามต่อว่า “หนูต้องเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซม ว่าเด็กผิดปกติหรือเปล่าคะ”
“ไม่ต้องหรอก เพราะการเลือกเพศโดยการตรวจวิธี PGD (ย่อมาจาก prenatal genetic diagnosis) นี้เป็นการวิเคราะห์จากโครโมโซมของตัวอ่อนโดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งปกติเราจะใช้วิธี PGD (prenatal genetic diagnosis) นี้กับคู่สามีภรรยาที่มีบุตรพิการในครรภ์ก่อนๆ”
คุณวรวรรณมีบุตรสาว 3 คน ซึ่งข้าพเจ้าเป็นคนผ่าตัดคลอดให้ทั้งหมด ลูกๆ ของเธออายุ 7 ขวบ, 4 ขวบ และ 3 ขวบ ตามลำดับ ปัจจุบัน คุณวรวรรณอายุ 35 ปี ลูกคนสุดท้อง ก็เกิดจากการเลือกเพศเหมือนกัน แต่ใช้วิธีคัดเชื้ออสุจิแยกเพศ การคัดเชื้ออสุจิแยกเพศชายนั้น ให้ผลสำเร็จได้เพศตามต้องการเพียง 70% เท่านั้น ซึ่งปรากฏว่า เธอตั้งครรภ์สำเร็จในการรักษาครั้งแรก แต่ได้บุตรเพศหญิง ดังนั้น การเลือกเพศบุตรครั้งนี้จึงไม่กล้ากลับไปใช้วิธีเดิม อย่างไรก็ตาม บุตรสาวคนที่สาม ก็ไม่ได้ทำให้เธอและสามีผิดหวัง เพราะเป็นเด็กที่ฉลาดปราดเปรื่องมาก
PGD ( prenatal genetic diagnosis ) เป็นวิธีการวิเคราะห์ตัวอ่อนมนุษย์ตอนอายุ 3 วัน โดยการใช้เข็มที่ทำด้วยหลอดแก้วเล็กๆ เจาะเข้าไปในผนังที่ห่อหุ้มตัวอ่อนขนาด 6 – 8 เซลล์ แล้วดูดและดึงลากเอาเซลล์ออกมา 1 – 2 เซลล์ เซลล์ที่เอาออกมาจะถูกนำไปย้อมสีสังเคราะห์และวิเคราะห์โครโมโซม โครโมโซมที่ได้จะบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของตัวอ่อน และสามารถบอกได้ถึงเพศด้วย ดังนั้น วิธีการ PGD ( prenatal genetic diagnosis ) จึงนำมาใช้เลือกเพศให้กับคู่สมรสได้ด้วย
คุณวรวรรณเป็นบุคคลที่น่าสนใจในเรื่องการรักษาวิธีนี้ เพราะใช้เวลาในการรักษานานกว่า 6 เดือน เสียเงินกว่า 5 แสนบาท ฉีดยากระตุ้นไข่กว่า 30 เข็ม นับว่า เป็นการลงทุนที่มหาศาล เพื่อเสี่ยงกับวิทยาการสมัยใหม่ ที่เรียกว่า PGD ( prenatal genetic diagnosis ) และ การหยอดตัวอ่อนในระยะฝังตัว ( Blastocyst Transfer ) โดย
ต้นเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว คนไข้ได้รับการกระตุ้นไข่ โดยใช้ ยาพ่น( Suprefact E ) ร่วมกับยาฉีด ( Metrodine HP ) เป็นเวลา 12 วัน และเจาะไข่ในวันที่ 15 ของประจำเดือน ได้ไข่ 6ใบ เมื่อนำไปทำ อิ๊กซี่ ( ICSI) แล้ว ปรากฏว่า ได้ตัวอ่อน 3 ตัว ข้าพเจ้าได้แนะนำให้แช่แข็งตัวอ่อนทั้งหมด ( Freezing ) เนื่องจากหากนำตัวอ่อนเพียง 3 ตัวไปทำ PGD แล้วอาจไม่ได้เพศชายเลยก็เป็นได้ ที่สำคัญ คือ เสียเงินค่าทำ PGD อย่างมาก ดังนั้นเราจึงยุติแค่นั้นก่อน และวางแผนจะกระตุ้นไข่อีกหลังจากพักผ่อนประมาณ 2-3 เดือน
เดือนธันวาคม คนไข้ได้รับการกระตุ้นไข่เป็นครั้งที่ 2 คราวนี้ มีการเปลี่ยนแปลงยาฉีดกระตุ้น ( Gonal – F) เป็นคนละตัว ซึ่งผลปรากฏว่า เมื่อฉีดยาได้ 7 วัน ตรวจได้ไข่โต เพียง 3 ใบ ทำให้ต้องยกเลิกการทำไปก่อน ถ้าขืนทำต่อ จะเสียเงินโดยไม่คุ้มค่า เนื่องจากไข่อาจได้น้อยกว่า 3 ใบ และ เมื่อเจาะไข่ใส่ตัวอสุจิเข้าไป(ในกระบวนการ “อิ๊กซี่”)แล้ว อาจได้ตัวอ่อนเพียงแค่ 1-2 ตัว
ข้าพเจ้าขอให้คุณวรวรรณเว้นระยะเวลาในการกระตุ้นไข่ออกไปอีกนานกว่า 3 เดือน ข้าพเจ้าได้อธิบายให้เธอและสามีฟังว่า เพื่อให้รังไข่ ซึ่งมีขนาดใหญ่จากการกระตุ้น ค่อยๆหดตัวกลับคืนสู่สภาพเดิม นอกจากนั้น ยังทำให้ร่างกายไม่ต่อต้านต่อยากระตุ้น การต่อต้านของร่างกายต่อยากระตุ้นไข่ ย่อมส่งผลให้ได้จำนวนไข่จากการกระตุ้นน้อยเกินไป
กลางเดือนเมษายน ของปีนี้ (เว้นระยะห่างจากกางกระตุ้นครั้งก่อน 4 เดือน) ข้าพเจ้าได้กระตุ้นไข่ให้คุณวรวรรณเป็นครั้งที่ 3 โดยวางแผนจะใช้ยากระตุ้นตัวเดิม ( Metrodine HP ) เพราะครั้งแรกกระตุ้นได้ไข่จำนวนมากกว่าครั้งที่2 แต่ยาตัวเดิมเลิกผลิตไปแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นไข่ตัวใหม่( Gonal – F) อีกครั้ง โดยเพิ่มขนาดยาให้มากกว่าที่ใช้ในครั้งที่ 2 ไข่ที่ได้จากการกระตุ้นครั้งนี้มี 10 ใบ แต่เจาะดูดออกมาได้ 6 ใบ เท่ากับคราวที่แล้ว แต่เมื่อนำมาทำ อิ๊กซี่ ( เจาะไข่ใส่ตัวอสุจิ) ปรากฏว่า มีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนระยะแรก( pronuclear stage) แค่ 3 ตัว
เมื่อนำตัวอ่อนแช่แข็งอีก 3 ตัวจากคราวก่อนมาละลาย ตัวอ่อนรอดทั้ง 3 ตัว ดังนั้นเราจึงได้ตัวอ่อนระยะแรก (pronuclear stage) รวมทั้งหมด 6 ตัวที่มีอายุ 1 วัน พอตัวอ่อนเจริญจนอายุได้ 3 วัน ตัวอ่อนทุกตัว ซึ่งมีเซลล์ภายใน 6 – 8 เซลล์ ได้ถูกนำไปทำ PGD ผลปรากฏว่า ได้ ตัวอ่อนปกติ 4 ตัว เป็นเพศชาย 2 ตัว และเพศหญิงอีก 2 ตัว ซึ่งตัวอ่อนเพศชายทั้งสองตัว จะถูกนำไปหยอดในระยะฝังตัว (Blastocyst) ต่อไป
ตัวอ่อนระยะฝังตัว (Blastocyst) เป็นตัวอ่อนอายุ 5 วันหลังจากปฏิสนธิ มีคุณสมบัติที่ดี คือ สามารถฝังตัวได้ (Implantation) ในวันที่หยอดตัวอ่อน ไม่ต้องเสียเวลาในการเจริญแบ่งตัวเพิ่มเติมอีก ลักษณะรูปร่างของมัน คือ มีการแยกกลุ่มเซลล์ ออกเป็น 2 ส่วน กลุ่มเซลล์ที่รวมเป็นกระจุกอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง เรียกว่า Inner cell mass ส่วนกลุ่มเซลล์ที่อยู่รายรอบ เรียกว่า Trophectoderm ตัวอ่อนแบ่งเป็นเกรด A,B,C ตามความหนาแน่นของเซลล์ และแบ่งเป็นระยะ(stage)ตามความสมบูรณ์ คือ Early Blastocyst, Blastocyst , และ Full Blastocyst
สำหรับ ตัวอ่อนเพศชายของคุณวรวรรณทั้ง 2 ตัว ปรากฏว่า เป็น ตัวอ่อนระยะ Morula ( ช้ากว่าอายุจริงของตัวอ่อน 1 วัน) 1 ตัวและ Full Blastocyst (ตัวอ่อนสมบูรณ์) 1 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมาจากไข่คนละชุดของการกระตุ้น อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้หยอดตัวอ่อนเพศชายทั้งสองเข้าไปในโพรงมดลูกอย่างง่ายดายและนิ่มนวล โดยหลังจากหยอดตัวอ่อน ข้าพเจ้าได้ให้พยาบาลใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ 6 ชั่วโมง เพื่อให้คนไข้ได้นอนอยู่บนเตียงนิ่งๆเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการฝังตัวอย่างมาก
ความจริงแล้ว คุณวรวรรณมีโอกาสไม่มากนักในการหยอดตัวอ่อนครั้งนี้ ถึงแม้ว่า เธอจะเป็นคนท้องง่าย โดยมีปัจจัยเสริม คือ ฮอร์โมนเพศในครั้งนี้อยู่ในเกณฑ์ดีและเยื่อบุมดลูกสมบูรณ์มากจากการสังเกตด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด แต่ตัวอ่อนระยะฝังตัวที่สมบูรณ์จริงๆมีเพียงตัวเดียว ส่วนตัวอ่อนอีกตัวหนึ่งเป็นระยะ Morula หรือ ตัวอ่อนระยะอายุ 4 วัน ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่เจริญเติบโตช้ากว่าความเป็นจริง 1 วัน ดังนั้น โอกาสตั้งครรภ์จึงมีไม่มากนัก
ข้าพเจ้าได้พูดขอร้องให้คุณวรวรรณพักผ่อนมากๆ ห้ามยกของหนัก และสวดมนต์ไหว้พระบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เครียด ข้าพเจ้าเองแอบหวังอยู่เงียบๆว่า คุณวรวรรณจะตั้งครรภ์ เนื่องจากเวลาหยอดตัวอ่อน ไม่พบมีปัญหาอุปสรรคใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาปากมดลูกตีบซึ่งต้องมีการถ่างปากมดลูก หรือปัญหาเลือดออกจากปากมดลูกหลังหยอดตัวอ่อน
วันนี้ ข้าพเจ้ายังคงไม่สบายใจอยู่ดียามเมื่อเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯโทรศัพท์มาบอกครั้งแรกว่า คุณวรวรรณได้เข้ามาเจาะเลือดเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ และจะทราบผลในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า ยังโชคดีที่ผลสุดท้าย ออกมาว่า “ท้อง”
โลกนี้ คนเราต้องอยู่กินและเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนว่า จะต้องแลกมาด้วยเงิน แม้แต่การเลือกเพศเพื่อให้ได้บุตรตามเพศที่ต้องการ โดยต้องเสี่ยงกับวิทยาการความรู้สมัยใหม่ ซึ่งไม่ได้รับประกันว่า จะได้ตามที่เราต้องการ
อย่างไรก็ตาม การเสี่ยงทำ PGD( prenatal genetic diagnosis ) นั้น หากมีความจำเป็นและไม่ได้ทำให้ชีวิตครอบครัวต้องเดือดร้อน สิ่งที่ได้ก็คุ้มค่า เพราะหมายถึง ลูกชายหรือลูกสาวที่สมบูรณ์แข็งแรงตามประสงค์ ดังนั้น ก็น่าที่จะลองเสี่ยงดู….ภายใต้เงื่อนไขว่า ห้องปฏิบัติการตัวอ่อนต้องมีมาตรฐาน รวมทั้งทีมแพทย์ต้องมีประสบการณ์ และผลงานที่ดี.
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&