การผสมเทียม 2

การผสมเทียม 2

(Artificial Insemination)

ตอน ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

(PROGNOSTIC INDICATORS FOR INTRAUTERINE INSEMINATION)

 

        คนไข้มีลูกยากต่างฝากความหวังไว้ที่หมอ แล้วเฝ้ารอความสำเร็จ โดยหารู้ไม่ว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จ ส่วนใหญ่อยู่ที่ตัวคนไข้เอง

        เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่แพทย์นำวิธีการผสมเทียมมาใช้กับคนไข้มีลูกยากและประสบความสำเร็จดีพอสมควร วิธีการผสมเทียมที่นิยมใช้มากที่สุด คือ การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (INTRAUTERINE INSEMINATION ชื่อย่อ IUI)

        ข้อมูลมากมายทำให้เรารู้ว่า ผลสำเร็จของการฉีดเชื้อ (IUI) เกิดจากการประสานงานกันอย่างพอดีระหว่างการกระตุ้นไข่, การบังคับให้ไข่ตกในเวลาที่กำหนด และการฉีดเชื้อที่แข็งแรงสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ไข่ตก นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นอีกที่พอจะบอกเป็นนัยๆว่า น่าจะตั้งครรภ์

        การฉีดเชื้อ (IUI) โดยไม่กระตุ้นไข่ แทบจะไม่ได้ผลเลย ส่วนการกระตุ้นไข่โดยไม่ฉีดเชื้อ (IUI) แต่ให้คนไข้ไปร่วมเพศกันเองในช่วงเวลาที่ไข่ตก กลับได้ผลสำเร็จดีพอสมควร ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า จำนวนไข่ที่มีคุณภาพซึ่งตกออกมา เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จ

 

o ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์

I. ปัจจัยจากฝ่ายชาย (MALE FACTORS)

      1.1 กรณี เชื้ออ่อนมาก(< 10 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร) ให้ผลสำเร็จน้อยมากจากวิธีการนี้ (ตั้งครรภ์ไม่ถึง 10%)

        BURR และคณะ อ้างว่าจำนวนเชื้ออสุจิ (ภายหลังคัดเชื้อ) ที่มากกว่า 1 ล้านตัว/มิลลิลิตร ยังคงมีโอกาสตั้งครรภ์ด้วยวิธีการนี้ แต่เท่าที่มีรายงาน พบว่า อัตราการตั้งครรภ์จะต่างกันอย่างมากในกลุ่มคนไข้ที่มีจำนวนเชื้ออสุจิ >20 ล้านตัว/มิลลิลิตร (ตั้งครรภ์ 20-30%) เทียบกับ < 20 ล้านตัว/มิลลิลิตร (ตั้งครรภ์เพียง 10% เท่านั้น)

              จากรายงานของ TOMLINSON และคณะที่ศึกษาการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูกจำนวน 260 รอบเดือน พบว่า จำนวนเชื้ออสุจิ <10 ล้านตัว/มิลลิลิตร (ก่อนคัดเชื้อ) หรือ < 3ล้านตัว/มิลลิลิตร (หลังคัดเชื้อ) จะไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเลย

 รูปร่างตัวอสุจิผิดปกติ

 BURR และคณะ รายงานว่า กลุ่มคนไข้ที่เชื้ออสุจิมีรูปร่างปกติ < 10% จะให้ผลสำเร็จของการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 4.3  ในขณะที่กลุ่มคนไข้เชื้ออสุจิมีรูปร่างปกติ > 10% จะมีอัตราการตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ 18.2

การเคลื่อนไหวตรงไปข้างของ อสุจิ(PROGRESSIVE MOTILITY) มีรายงานว่า ในกลุ่มคนไข้ที่เชื้ออสุจิมีการเคลื่อนไหวไปข้างหน้า > 40% เทียบกับน้อยกว่า < 40% จะมีอัตราการตั้งครรภ์ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 27 และ ร้อยละ 13 ตามลำดับ)

 

ปัจจัยทางฝ่ายหญิง (FEMALE FACTORS)

อายุ  อายุสตรีที่มากกว่า 40 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 4 เท่านั้น นับว่า น้อยมาก จึงอาจถือได้ว่า การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) ได้ประโยชน์น้อยมากในสตรีเหล่านี้

จำนวนรอบเดือน

        การฉีดเชื้อ (IUI) ในรอบเดือนแรก มีโอกาสตั้งครรภ์ 20-25% (เฉลี่ย 22.3%)

         การฉีดเชื้อ(IUI) ในรอบเดือนที่ 2 มีโอกาสตั้งครรภ์ 15-20% (เฉลี่ย 18%)

        การฉีดเชื้อ(IUI) ในรอบเดือนที่ 3 มีโอกาสตั้งครรภ์ 10-15% (เฉลี่ย 14%)

อัตราการตั้งครรภ์สะสมเฉลี่ยใน 3 รอบเดือน เท่ากับ 19.6%

สาเหตุ

*      การตกไข่ผิดปกติ (OVULATORY DYSFUNCTION) มีอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 30 ต่อรอบเดือน

*      กลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ (IDIOPATHIC) มีอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 30 ต่อรอบเดือน

*      สตรีในกลุ่มที่มีสาเหตุจากท่อนำไข่ (TUBAL FACTOR), เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (ENDOMETRIOSIS) และหลายๆสาเหตุร่วมกัน (MULTIEACTORIAL FACTORS) มีอัตราการตั้งครรภ์ใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 9-14 ต่อรอบเดือน ซึ่งนับว่าค่อนข้างน้อย

2.4  จำนวนไข่ที่สุกออกมา (MATURE FOLLICLES)

        ไข่สมบูรณ์ที่จะทำการกระตุ้นให้ตกออกมา ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  > 18 มิลลิลิตร หากมีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยประมาณ 16 มิลลิลิตร จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 8.8 เท่านั้น

        จากการศึกษา พบว่า การฉีดเชื้อ (IUI) ในกรณี ไข่สุกสมบูรณ์ที่ตกออกมาจำนวน 1 ใบ, 2 ใบ, 3 ใบ, และ 4 ใบ จะมีอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 7.6, 26.0, 37.0 และ 44.0 ต่อรอบเดือน ตามลำดับ ไข่สุกสมบูรณ์ยิ่งออกมามากเท่าใด โอกาสตั้งครรภ์และเป็นแฝดมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นในรอบเดือนใดที่มีจำนวน ไข่สุกสมบูรณ์มากกว่า 4 ใบ จึงควรยกเลิกการฉีดเชื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะครรภ์แฝด

        2.5       ระดับฮอร์โมน FSH ซึ่งเป็น คำสั่งจากสมอง (BASAL FOLLICULAR STIMULATING HORMONE)

        ระดับ FSH ในวันที่ 3 ของรอบเดือน ที่มากกว่า 10 หน่วย (mIU) ต่อมิลลิลิตร จะมีผลทำให้การเจริญเติบโตและขนาดของ ไข่” (FOLLICLES) ลดลง รวมทั้งระดับความเข้มข้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนภายหลังไข่ตกแล้วลดลงด้วย

        ระดับ FSH (วันที่ 3 ของรอบเดือน) ที่มากกว่า 10 หน่วย (mIU) ต่อมิลลิลิตร จะมีผลให้โอกาสตั้งครรภ์ลดลงอย่างมาก

        ระดับ FSH ในวันที่ 3 ของรอบเดือน ที่มากกว่า 10 หน่วย (mIU) ต่อมิลลิลิตร ที่มากกว่า 23 หน่วย (mIU) ต่อมิลลิลิตร จากงานวิจัยไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเลย

 

III. ปัจจัยเสริม

        3.1       ระยะเวลาตั้งแต่อยู่ร่วมกันจนกระทั่งมารับการรักษา (DURATION OF INFERTILITY) ระยะเวลาที่น้อยกว่า 6 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์ 20% แต่ถ้านานกว่านั้น จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 10% ต่อรอบเดือนเท่านั้น

        3.2       สูตรการกระตุ้นไข่ (PROTOCOL OF OVULATION INDUCTION) สูตรที่ได้ผลดีคือ

        *           สูตรที่ประกอบด้วยยากิน (CLOMIPHENE CITRATE) และยาฉีด HMG (HOMUN MENOPAUSAL GONADOTROPIN) ซึ่งได้ผลสำเร็จ 15% ต่อรอบเดือน

อีกสูตรหนึ่งซึ่งได้ผลดีเช่นกัน คือ

        *           สูตรที่ประกอบด้วยยาฉีด HMG และยากดการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า (GnRH AGONIST) ซึ่งได้ผล มีอัตราการตั้งครรภ์ 27% ต่อรอบเดือน

        3.3       การให้สาร HCG (HUMAN CHORIONIC GONADOTROPHIN) ก่อนไข่ตก

        รอบเดือนที่มีการกระตุ้นให้ไข่ตก ด้วยสาร HCG จะมีอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่ารอบเดือนที่ไม่ได้ให้สารนี้กระตุ้น (ร้อยละ 13 & ร้อยละ 3 ตามลำดับ)

3.4การเจาะท้องส่องกล้องก่อนการรักษา (PRETREATMENT DIAGNOSTIC LAPAROSCOPY)

        ในกรณีที่ฉีดสีเข้าโพรงมดลูก (HYSTEROSALPINGOGRAPHY) แล้วท่อนำไข่ทั้งสองข้างไม่มีการอุดตัน อาจไม่จำเป็นต้องเจาะท้องส่องกล้อง (LAPAROSCOPE) ก็ได้

        สตรีมีบุตรยากที่ไม่ได้เจาะท้องส่องกล้อง แต่ทราบจากการฉีดสีเข้าโพรงมดลูกว่า ท่อนำไข่ทั้งสองข้างไม่มีการอุดตัน จะมีอัตราการตั้งครรภ์จากการฉีดเชื้อ (IUI) 17% ต่อรอบเดือน แต่ในกลุ่มที่จำเป็นต้องทำการเจาะท้องส่องกล้อง จะพบว่ามีอัตราการตั้งครรภ์เพียง 11% ต่อรอบเดือน เป็นไปได้ว่า กลุ่มที่ทำการเจาะท้องส่องกล้อง ส่วนใหญ่จะมีพยาธิสภาพภายในอุ้งเชิงกรานซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์มากกว่า

        การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลุก (IUI) เป็นการผสมเทียมที่นิยมใช้มากที่สุดในการรักษาเบื้องต้นของคนไข้มีลูกยาก การฉีดเชื้อ (IUI) จะต้องกระทำร่วมกับการกระตุ้นไข่เสมอ มิฉะนั้น แทบจะไม่ได้ประโยชน์เลย การฉีดเชื้อ (IUI) จะใช้ได้ผลดีในกรณีที่ฝ่ายชายปกติ และฝ่ายหญิงมีปัญหาเรื่องไข่ไม่ตกหรือหาสาเหตุไม่ได้ โดยมีอัตราการตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 20 แต่จะน้อยลงตามรอบเดือนที่ทำการรักษา มีภาวะแฝดเกิดขึ้นร้อยละ 23.5 เมื่อท้องแล้วยังมีโอกาสแท้งบุตรได้ประมาณ ร้อยละ 15.6

        คนเราเกิดมาย่อมต้องมีความหวัง แต่อย่าไปฝากความหวังไว้กับใครบางคนมากจนเกินไป ตั้งความหวังไว้สูง ยามผิดหวังย่อมเสียใจมาก แต่ไม่ตั้งความหวังไว้เลย เมื่อไรจะพบกับความสำเร็จสมหวัง อันธรรมดาคนเราหากหวังสิ่งใดควรเก็บใจไว้สักครึ่งหนึ่งเผื่อไว้สำหรับความผิดหวัง เพราะเมื่อถึงเวลาผิดหวังจริงๆ จะได้เหลือกำลังใจ และพร้อมที่จะเริ่มต้นกับความหวังใหม่ ด้วยดวงใจที่ยังมีพลัง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *