คนที่บรรลุเป้าหมาย คนที่วิ่งผ่านเส้นชัย หรือคนที่พ้นวัยหนุ่มสาว มักเข้าใจว่า ต่อไปตนคงมีชีวิตที่สุขสงบ ราบเรียบ ดุจทะเลที่ไร้คลื่นลม แต่……ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ คนที่เพิ่งประสบความสำเร็จวันนี้ อาจล้มเหลวในเร็ววัน คนที่เพิ่งวิ่งผ่านเส้นชัย อาจล้มลงและลุกไม่ขึ้น คนชราในวัยเกษียร อาจเกิดโรคร้ายในภายหลัง ที่สำคัญ คือ คนไข้หลังแท้ง หลังคลอด อาจไม่ปลอดภัย และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ บางที…ก็ร้ายแรงจนรับไม่ได้
สัปดาห์ก่อน มีคุณยายท่านหนึ่ง อายุ 84 ปี มาที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยเรื่องมีก้อนในท้อง ขนาดใหญ่มหึมาคล้ายดั่งตั้งครรภ์แฝดสาม ซึ่งส่งผลให้ผนังหน้าท้องสูงนูนตั้งแต่หัวเหน่าจนถึงลิ้นปี่ เหตุที่นำมาโรงพยาบาล ก็เนื่องจากหายใจลำบาก และกินอาหารไม่ได้!! ในที่สุด เมื่อคุณยายได้รับการผ่าตัด ปรากฏว่า ก้อนเนื้อที่ซ่อนอยู่นั้น คือ มะเร็งรังไข่!! ซึ่งภายในมีของเหลวลักษณะช้ำเลือดช้ำหนองจำนวนมากถึง 10 ลิตร ส่วนที่เป็นเนื้อ ก็มีมากมาย รูปร่างล้วนน่าเกลียด.. ใครจะเชื่อว่า สตรีอายุเกือบร้อยปี รังไข่ซึ่งฝ่อลีบหยุดทำงานไปแล้วกว่า 30 ปี จู่! จู่! จะกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งและกลายเป็นเนื้อร้ายมะเร็งก้อนใหญ่
สำหรับคนท้องหลังคลอด หลังแท้ง ก็เช่นกัน โดยทั่วไป สุขภาพน่าจะปลอดภัยและไม่มีปัญหาอะไร จากกระบวนการคลอดและการแท้ง แต่…อาจไม่เป็นเช่นนั้น
ภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดนั้นพบได้บ่อย อาทิ ตกเลือด, ติดเชื้อ, รกค้าง ส่วนเรื่องราวที่จะเล่าต่อไป แม้เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ก็ควรใส่ใจและคิดถึงไว้ยามที่คนไข้หลังคลอดมีอาการช็อก
คุณลัดดา อายุ 36 ปี ครรภ์ที่ 2 เข้ารับการผ่าตัดคลอดเพราะลูกอยู่ในท่าก้น ปรากฏว่า หลังผ่าตัด 2 ชั่วโมง ความดันโลหิตของคุณลัดดาลดต่ำลงมากอยู่ในเกณฑ์ช็อก ผนังหน้าท้องก็นูนพองขึ้น ในลักษณะที่ชวนสงสัยว่า มีเลือดออกในช่องท้อง?? สูติแพทย์เวรรีบนำคนไข้เข้าห้องผ่าตัดซ้ำ ผลปรากฏว่า มีเลือดอยู่ในช่องท้องประมาณ 1 ลิตร โดยมีจุดที่เลือดออกที่มุมแผลรอยเย็บของมดลูก ที่สำคัญคือ มีเลือดเซาะผนังช่องท้องภายใน เกิดเป็นแอ่งเลือดคั่งหลายจุด (Hematoma) สูติแพทย์เวรได้เย็บบริเวณจุดเลือดออก เพื่อหยุดเลือด อย่างไรก็ตาม..เมื่อตรวจสอบผนังด้านในของช่องท้องบริเวณที่เลือดเซาะคั่ง ปรากฏว่า ‘ไม่รุนแรงและเลือดหยุดแล้ว’ คุณหมอจึงไม่ได้ผ่าตัดเย็บต่อ
หลายปีก่อน ก็มีกรณีแบบเดียวกันนี้ ที่หน่วยนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีการประชุมว่าด้วยการตายของคนท้องหลังคลอดรายหนึ่ง ซึ่งมีอาการช็อกเสียชีวิตหลังผ่าตัดคลอดประมาณ 6 ชั่วโมง เมื่อได้รับการผ่าชันสูตรศพ ก็พบมีเลือดออกอยู่ในช่องท้องมากถึง 1.5 ลิตร ทั้งๆที่แผลผ่าตัดบนตัวมดลูกเรียบร้อยดีและส่วนอื่นในช่องท้องก็ไม่มีจุดเลือดออก ทางหน่วยนิติเวช ได้เชิญข้าพเจ้าให้ไปแสดงความคิดเห็นว่า “เลือดที่ออกในช่องท้องจำนวนมากเช่นนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร?” ข้าพเจ้าบอกได้ทันทีเลยว่า “เลือดจำนวนนั้นออกมาจากมุมแผลผ่าตัดของมดลูก” คณะแพทย์นิติเวชถามว่า “ทำไมเลือดจึงออกตรงนั้น ทั้งๆที่ดูแผลผ่าตัดบนมดลูกเรียบร้อย” คำตอบ คือ ‘มุมแผลผ่าตัดบนตัวมดลูกเท่านั้นที่มีเส้นเลือดใหญ่มาเปิด (Uterine artery) ซึ่งเป็นไปได้ว่า แผลตรงมุมที่ได้รับการเย็บนั้น เรามองเห็นภายนอกเรียบร้อย แต่..ตรงจุดมุมแผลภายในยังไม่ได้รับการผูกรัดเส้นเลือดดีพอ ผลคือ มีเลือดไหลซึมออกมาเรื่อยๆ…เวลาผ่านไป 5 -6 ชั่วโมง ก็ทำให้คนไข้ช็อกและเสียชีวิต’
โชคดี!! ที่คุณลัดดา ยังอยู่ในห้องพักฟื้นของห้องผ่าตัด เธอจึงไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเลือดออกในช่องท้อง หากคุณลัดดาถูกส่งตัวกลับไปที่หอผู้ป่วยแล้ว คงคาดเดาได้ยากว่า จะเป็นเช่นไร…..
สำหรับกรณีแท้งบุตร ช่วงระยะเวลาหลังแท้ง ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึง 2 สัปดาห์ ผู้ดูแลทุกคนที่เกี่ยวข้อง ต้องเอาใจใส่ ระแวดระวังให้ดี
คุณนฤมล เป็นคนท้องที่เพิ่งแท้งบุตรและผ่านการขูดมดลูกไปเมื่อประมาณ 4 สัปดาห์ก่อน คุณนฤมล อายุ 30 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 ตอนตั้งครรภ์ได้ 11 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่า ‘ถุงการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกมีขนาดไม่สมส่วน และไม่มีเงาทารก (Blighted ovum)’ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขูดมดลูกให้คุณนฤมลในวันถัดมา ผลการขูดมดลูก ได้ชิ้นเนื้อประมาณ 10 กรัม ภายในโพรงมดลูกราบเรียบดี เสียเลือดเพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้าได้ให้ยาฆ่าเชื้อกับคุณนฤมล ไป 5วัน และนัดมาตรวจซ้ำในอีก 2 สัปดาห์
เมื่อถึงกำหนดนัด คุณนฤมลได้มาพบข้าพเจ้าด้วยปัญหา ‘เลือดออกจากช่องคลอดกะปิดกะปรอยตลอดระยะเวลาที่อยู่บ้าน’ ตอนแรก ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่น่าจะเป็นอะไร? แต่พอตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดคุณนฤมล ปรากฏว่า ‘มีเศษชิ้นเนื้อ (Conceptive product) ค้างอยู่ภายในโพรงมดลูก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร’ สำหรับกรณีนฤมล ข้าพเจ้าได้ใช้วิธีเฝ้าสังเกตอาการ (Observation) คือ รอคอยเวลาให้ธรรมชาติขับชิ้นเนื้อให้หลุดออกมาจากโพรงมดลูกเอง โดยให้ยาฆ่าเชื้อไปอีก 1 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า ชิ้นเนื้อไม่ยอมหลุดลอกออกมา
ข้าพเจ้ารู้สึกผิดหวังกับการรักษาแบบเฝ้าสังเกตอาการครั้งนี้อย่างมาก แต่…เพื่อหลีกเลี่ยงการขูดมดลูกซ้ำในห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจใช้วิธีดูดชิ้นเนื้อออกมาโดยอาศัยหลักสุญญากาศผ่านอุปกรณ์ที่เหมือนกระบอกฉีดยาขนาดใหญ่ (menstrual regulation)..ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า ยังมีชิ้นเนื้อค้างอยู่อีกเกือบ 1 เซนติเมตรและยังมีเลือดอกมาอีก คราวนี้เป็นเลือดสดๆออกกระปิดกระปรอยทุกวัน ซึ่งโดยปกติ เศษชิ้นเนื้อแค่นี้ มันมักจะหลุดออกมาเองหลังตรวจพบประมาณ 1 สัปดาห์ ข้าพเจ้ายังคงใช้วิธีเฝ้าสังเกตอาการ (Observation) ต่อ แต่ปรากฏว่า คราวนี้เลือดยังคงออกกะปิดกะปรอยอยู่ ในที่สุด จึงได้ขูดมดลูกให้กับคุณนฤมลอีกครั้ง เพื่อหยุดเลือด ซึ่งก็พบชิ้นเนื้อเหลืออีกเพียงเล็กน้อย เรื่องราวต่างๆจึงได้ยุติ
ตั้งแต่ทำงานด้านสูตินรีเวชมานานเกือบ 20 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าขูดมดลูกของคนไข้ แล้วมีเศษชิ้นเนื้อหลงเหลืออยู่ในโพรงมดลูก อย่างไรก็ตาม..กรณีเช่นนี้กลับเป็นสิ่งที่พบได้ในโรงพยาบาลอีกหลายๆแห่ง ซึ่ง..นับเป็นข้อควรระวังอย่างหนึ่ง ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนควรใส่ใจในการดูแลคนไข้หลังขูดมดลูก
ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเขียนหนังสืออยู่นี้ ก็เป็นช่วงเวลาที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการทำแท้งเพื่อการรักษาให้กับคุณพรพรรณ ทั้งนี้เพราะเธอตั้งครรภ์ได้ 17 สัปดาห์ แล้วเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์เมื่อ 3 วันก่อน พบว่า ‘ทารกเสียชีวิตในครรภ์’ เมื่อวานซืนตอนเช้า ข้าพเจ้าจึงได้นัดให้คุณพรพรรณเข้ามานอนโรงพยาบาล เพื่อทำแท้ง โดยเริ่มจากการเหน็บยาCytotek ทุก 6 ชั่วโมง ร่วมกับการหยดยา (Syntocinon) เข้าทางเส้นเลือดดำ เพื่อบีบรัดมดลูก เร่งให้แท้งเร็วขึ้น เวลาผ่านไป 10 ชั่วโมง ถุงน้ำคร่ำได้แตกออก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 24 ชั่วโมง ก็ยังไม่แท้ง ตอนเช้าเมื่อวาน ข้าพเจ้าจึงได้เพิ่มยาฉีด (Nalador) เข้ากล้ามอีกชนิดหนึ่ง เพื่อเร่งการหดตัวของมดลูกอย่างรุนแรง ในที่สุด คุณพรพรรณ ก็แท้งบุตรออกมาตอนก่อนเที่ยงคืนและเข้ารับการขูดมดลูกทันที เนื่องจากรกของคนท้องในไตรมาสสองเกาะมดลูกแน่นกว่ารกในทุกไตรมาส ครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ขุดมดลูกด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง พร้อมกับตรวจดูภายในโพรงมดลูกของคุณพรพรรณในเวลาเดียวกัน ด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง ข้าพเจ้าหวังว่า คราวนี้ จะไม่เกิดปัญหายุ่งยากตามมาอีก
ช่วงระยะเวลาหลังคลอดหรือหลังแท้ง เป็นช่วงเวลาที่เราไม่ควรชะล่าใจ โดยคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะ..ภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างอาจเกิดตามมาได้ และบางที ก็รุนแรงจนยากที่จะคาดเดา……
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน