ร่วมช่วยด้วยกัน (2)

ปลายปี พ.ศ. 2542 ใครๆต่างลงความเห็นว่า ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายลงแล้ว แต่ช่วงนี้เองความหนาวเย็นของบรรยากาศที่แผ่ปกคลุมประเทศกลับรุนแรงมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ เท่าที่มีรายงาน มีคนหนาวตายภายในเดือนธันวาคมถึงกว่า 30 รายทีเดียว ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ย้ำเตือนให้ระวังถึงฤดูหนาวที่กำลังก้าวเข้ามาอยู่หลายครั้ง นี่เอง จึงเป็นแนวความคิดให้คณะทำบุญของมูลนิธิแสงพุทธธรรมแห่งประเทศไทย ตัดสินใจมอบสิ่งของบริจาคเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้กับชาวจีนภูเขาที่จังหวัดเชียงราย
คณะทำบุญมูลนิธิแสงพุทธธรรมของพวกเรา ออกเดินทางตั้งแต่ 8 นาฬิกา 30 นาทีของวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยสายการบินไทย ก่อนออกเดินทาง ข้าพเจ้าในฐานะ ผู้ติดตามภรรยา คิดในใจว่า คงจะเหมือนๆกับปีที่แล้ว คือ \”ทำบุญเป็นหลัก เที่ยวเป็นรอง\” ที่ไหนได้ พอไปถึงสนามบินก็ต้องแปลกใจที่ได้พบกับคณะผู้เดินทางถึง 30 คน พร้อมกับโปรแกรมการ ท่องเที่ยวยาวเหยียด 3 วันเต็มๆ ยกเว้นในวันสุดท้าย 27 ธันวาคม เท่านั้นที่จะแวะขึ้นไปบนภูเขา ที่หมู่บ้านเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดเชียงราย เพื่อทำพิธีแจกจ่ายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันหนาวและเงินอีกจำนวน 5 หมื่นบาท ให้กับชาวจีนภูเขา โดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แค่ 2-3 ชั่วโมง แสดงว่า การมาในครั้งนี้ \”เที่ยวเป็นหลัก ทำบุญเป็นรอง\”
เครื่องบินร่อนลงที่สนามบินเมืองเชียงใหม่เมื่อใกล้เที่ยง พวกเราไม่ได้แวะเข้าโรงแรมที่พักก่อนให้เสียเวลา แต่พากันนั่งรถตู้ 3 คันไปเที่ยวที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และอยู่สักการะที่นั่น เป็นเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง
ข้าพเจ้าปล่อยนก 21 ตัว เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วจึงเดินขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ พอเวียนรอบองค์พระธาตุครบ 3 รอบ พลันเหลือบไปเห็นคนเขาเสี่ยงเซียมซี จึงเข้าไปกราบไหว้และเสี่ยงเซียมซีดูบ้าง ปรากฏว่า ได้หมายเลข 4 ภายในคำทำนายกล่าวว่า \” ต้องทำงานหนักต่อไป คงยังไม่อยู่เป็นสุขสบายในระยะเวลาอันใกล้ \” ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจ จึงเดินไปบอกกับภรรยาว่า \” เซียมซีไม่ค่อยดีเลย \” เธอพูดให้กำลังใจว่า \” เซียมซีบอกว่า ไม่ดี ต่อไป จะดี เอง \” จิตใจของข้าพเจ้าจึงกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
ถัดจากนั้น พวกเรานั่งรถตู้ต่อไปยังตำบลแม่ตะมานเพื่อนั่งช้างชมวิว ข้าพเจ้าเคยนั่งช้างมาแล้ว เลยไม่ค่อยจะตื่นเต้น ผิดกับลูกชายที่ตื่นเต้นและดีใจอย่างออกหน้าออกตา
พอถึงเวลานั่งบนหลังช้างจริงๆ ข้าพเจ้ากลับรู้สึกตื่นกลัว เพราะการนั่งช้างครั้งนี้ เป็นการนั่งช้างไต่ขึ้นไปบนเนินเขา แม้จะไม่สูงมากแต่ก็ลาดชันพอดู ช้างทุกตัวที่บรรทุกผู้โดยสารค่อยๆเยื้องย่างอย่างเชื่องช้า กูบที่พวกเรานั่งโคลงเคลงไปมาตามจังหวะการโยกตัวของมัน มือข้าพเจ้าข้างหนึ่งจับเชือกที่โยงไว้เพื่อกันตก และอีกข้างหนึ่งกอดเอวลูกน้อยเอาไว้ ลูกชายของข้าพเจ้า ส่งเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนานไปตลอดทาง ส่วยภรรยาก็ไม่มีทีท่าว่ากลัวแต่อย่างใด แต่ข้าพเจ้ากุมสติด้วยความระมัดระวังตลอดเวลา นี่อาจเป็นเรื่องธรรมดาของหัวหน้าครอบครัว ที่จะคอยหวาดระแวงเสมอ ยามครอบครัวอยู่ใกล้อันตราย
หลังจากนั่งบนหลังช้างขึ้นเนินเขาและลุยลำธารเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงแล้ว เราทั้งสามก็ไปนั่งเกวียนเทียมโคต่ออีก 15 นาที ความจริง พวกเรามีโปรแกรมที่จะล่องแพต่ออีก แต่คณะของพวกเรามาถึงที่นี่ค่อนข้างบ่าย หากล่องแพตามระยะทางที่กำหนด 4 กิโลเมตร เวลาจะค่ำมืดก่อนที่พวกเราจะถึงที่หมาย จนอาจเกิดอันตราย ทางไกด์ผู้จัดจึงต้องขอยกเลิกกิจกรรม \”ล่องแพ\” ซึ่งพวกเรา ทุกคนเห็นด้วย
ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจ ทำไมคนในเมืองถึงแสวงหาในสิ่งที่ชาวบ้านพยายามหลีกหนีมาด้วยการเข้าไปในป่า ขึ้นดอย ขี่ช้าง นั่งเกวียน หรือ ล่องแพ สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านเขาเบื่อนักหนา เพราะมันไม่โสภาหรือให้ความสุขกับเขา แต่สำหรับเรามันกลับตื่นตาและน่าแปลก มนุษย์มักเป็นอย่างนี้ สิ่งเดียวกันแท้ๆ คนหนึ่งมองแล้วเป็นสุข อีกคนหนึ่งกลับเป็นทุกข์ คนเราส่วนมากจึงมักอยากเป็นคนโน้นคนนี้และไม่อยากเป็นตนเอง วันแรกของพวกเราผ่านไปง่ายๆดังนี้ โดยเข้าพักค้างคืนที่โรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งหนึ่งกลางเมืองเชียงใหม่
เช้าวันที่สองของการเดินทาง พวกเราได้ไปแวะชมกระบวนการผลิตอาหารจำพวกพืชผักแช่แข็งของ บริษัท เชียงใหม่ฟรอสเซนต์ จำกัด บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างคนไทย ญี่ปุ่นและไต้หวัน โดยอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ ส่วนความรู้ความชำนาญด้านการเกษตร ได้อาศัยคนไทยคนหนึ่งที่ชื่อ ดอกเตอร์ ประยูร เป็นตัวจักรสำคัญ
บริษัท เชียงใหม่ฟรอสเซนต์ นี้ มีกระบวนการผลิตแช่แข็งที่สลับซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยอาศัยพืชผักต่างๆจากของชาวนา ชาวไร่ จำนวนกว่าหมื่นครอบครัวในเขตพื้นที่ใกล้เคียง ชาวไทยเหล่านี้ เดิมที่ เป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนที่ยากจน แต่หลังจากสมัครเป็นสมาชิกผู้จัดส่งผักผลไม้ให้กับทางบริษัทแล้ว เขาเหล่านั้นก็ไม่ยากจนอีกต่อไป พวกเขาทุกคนจะได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ การดูแลเลี้ยงดูพืชผักอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย หรือสารเคมี ยาฆ่าแมลง รวมทั้งการหยุดพ่นยากำจัดแมลงก่อนเก็บพืชผักในระยะเวลาที่เหมาะสม พืชผักของสมาชิกจะได้รับการประกันราคา เป็นผลให้คนไทยชาวล้านนาเหล่านี้มีรายได้มากกว่าเดิมถึง 3-4 เท่า ที่สำคัญ เขาเหล่านี้มีรายได้ที่แน่นอนโดยไม่ต้องไปดิ้นรนเร่ขายพืชผลตามที่ต่างๆ
ดร.ประยูร เป็นผู้ที่เล่าเรื่องราวดังกล่าวข้างต้นให้ข้าพเจ้าฟัง ท่านคลุกคลีกับเกษตรกรรมเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี จนมีความชำนาญและประสบความสำเร็จมากมายทางด้านนี้ ในปี พ.ศ. 2537 มหาวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอพระราชทานดุษฎีบัณฑิตปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ให้ เพื่อเป็นการยืนยันความสำเร็จและผลงานที่ดีเด่นของท่าน
นอกจากที่ ดร. ประยูร เป็นตัวจักรสำคัญของบริษัท เชียงใหม่ฟรอสเซนต์แล้ว ท่านยังมีสวนส้มสายน้ำผึ้งจำนวนมากมายที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พวกเราได้ไปเยี่ยมชมสวนส้มแห่งหนึ่งของท่านบนเนื้อที่กว่า4,000 ไร่ ที่นั่น มีส้มพันธุ์ดีกว่า 1 แสนต้น มีคนงานประจำกว่า 600 คน
ส้มที่นี่ หวานฉ่ำชื่นใจ ใครได้กินเป็นต้องติดใจ ข้าพเจ้าถาม ดร.ประยูรว่า \”ทำไมถึงเลือก ส้ม เป็นผลไม้หลักของที่นี่\” ดร.ประยูรตอบว่า \”อากาศที่ฝางหนาวเย็นตลอดปี เดิมทีมีผู้คนจำนวนหนึ่งทดลองนำ ส้มสายพันธ์น้ำผึ้ง มาปลูกปรากฏว่าประสบความสำเร็จ ส่งผลให้หลายคนทำตามอย่าง ผมได้ลองปลูก ส้มสายพันธ์น้ำผึ้ง ดูเช่นกัน โดยคัดเลือกพันธุ์ที่ดีเยี่ยมมาปลูก แต่นั้นมา ส้ม ก็กลายเป็นผลไม้นำโชคสำหรับผม และชาวอำเภอฝาง
ทุกวันนี้ ดร.ประยูร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากเมื่อหลายปีก่อนมาก นอกจากจะมีชีวิตครอบครัวที่ดีแล้ว ยังทำให้คนไทยชาวเหนือมีงานทำอีกจำนวนมาก จนข้าพเจ้าอยากจะตั่งให้เรื่องราวข้างต้นนี้ให้มีชื่อว่า ขายความหนาว ช่วยชาวเหนือ
อันความหนาวเหน็บนั้น ถ้าเรายอมแพ้ มันก็จะทำร้ายเรา แต่ถ้าเรารู้จักคิดและนำเอา \”ความหนาว\” มาใช้ มันก็จะกลายเป็นประโยชน์ สร้างรายได้อย่างมหาศาลดุจเรื่องราวของ ดร.ประยูรและชาวอำเภอฝาง
เรื่องราวของการไม่ยอมแพ้ต่อธรรมชาติอากาศหนาวเช่นนี้ มีให้เห็นมากมายในต่างประเทศ เช่น การแกะสลักน้ำแข็งของเมืองฮาบิ้น ในประเทศจีน หรือการแข่งขันกีฬาสกีน้ำแข็งชิงแชมป์ในดินแดนเมืองหิมะหลายๆแห่ง ทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการแปรเปลี่ยน \”โชคร้าย\” ให้กลายเป็น \”โอกาส\”
ตอนเย็น พวกเราเดินทางต่อไปและเข้าที่พักบนดอย \”อ่างขาง\” ดินแดนที่ได้ชื่อว่า สวยงามและหนาวเย็นที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือ \”อ่างขาง\” เป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวของชนชาวสยามได้แปรเปลี่ยนจาก \”ไร่ฝิ่น\” ให้กลายเป็นสถาบันวิจัยพันธุ์พืชเมืองหนาวและสถานที่ท่องเที่ยว บรรยากาศที่นั่นหนาวเย็นมาก ภายนอกสถานที่พัก \” อามารี รีสอร์ท \” อุณหภูมิลดต่ำลงถึง -2 องศาเซลเซียส หลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้ว บุตรชายและภรรยา ได้พากันออกไปวิ่งเล่นบนสนามหญ้าด้านหน้ารีสอร์ท ท้าทายความหนาว ส่วนข้าพเจ้าขอตัวกลับห้องพักซุกตัวซ่อนใต้ผ้าห่ม เก็บแรงเอาไว้เที่ยวต่อวันรุ่งขึ้น
ตอนเช้า หลังจากรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ไกด์ทัวร์ได้พาพวกเราไปชมความงามของพันธุ์ไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ และสวนบอนไซที่มีชื่อเสียงบริเวณรอบๆหุบเขานั้น พวกเราใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการถ่ายรูปคู่กับธรรมชาติและดอกไม้ ก็ต้องจำลาสถานที่แห่งนั้นด้วยความเสียดาย
พวกเราเดินทางต่อไปและแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ดอยแม่สลอง จากนั้นได้เดินทางไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง คือ พระตำหนักดอยตุง ของ สมเด็จย่า สถานที่ประทับยามทรงงานส่วนตัวและโครงการช่วยเหลือชาวทางภาคเหนือในเขตอำเภอดอยตุง
\”ความหนาว\” เดิมที เป็นศัตรูที่สำคัญของชาวภาคเหนือ และชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่บัดนี้ กลับกลายเป็น สิ่งอำนวยความสุข ช่วยให้เขาเหล่านั้นมีอาชีพ มีรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นี่คือ ความมหัศจรรย์ของสมองมนุษย์ ที่สามารถหาหนทางเอาชนะธรรมชาติ
การทำบุญ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักของพวกเรา ใช้ช่วงระยะเวลาเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น จากกำหนดการ 4 วันของการเดินทาง เสื้อผ้าสิ่งของเครื่องนุ่งห่มได้ถูกส่งล่วงหน้ามาทางรถบรรทุกก่อนแล้ว รอเพียงพิธีการส่งมอบอย่างเป็นทางการในช่วงเวลากลางวันของวันสุดท้ายการเดินทางเท่านั้น
ประธานมูลนิธิแสงพุทธธรรม กล่าวเปิดงานพอเป็นพิธีเพียง 20 นาที จากนั้น ก็เป็นการส่งมอบ สิ่งของเสื้อผ้าที่จัดเป็นกองๆไว้เรียบร้อยแล้ว ให้กับตัวแทนชาวจีนภูเขา 50 หมู่บ้าน พร้อมเงินอีกจำนวน 5 หมื่นบาท เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น พวกเราจึงเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร
การเดินทางท่องเที่ยวมาทำบุญครั้งนี้นั้น นับว่า คุ้มค่ามาก คนจีนภูเขาผู้มารับของบริจาค ต่างยิ้มแย้มแจ่มใส คณะผู้ให้รู้สึกยินดีสุขใจ ส่วนข้าพเจ้า ถึงแม้มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย ก็พลอยอนุโมทนา
สิ่งที่คาดไม่ถึง กลับเป็นความรู้สึกที่ว่า \”จุดด้อยหรือข้อเสียเปรียบ ถ้าเรายอมรับและแก้ไขได้ มันก็จะกลายเป็น จุดเด่นหรือข้อได้เปรียบ ในทันที สิ่งสำคัญ อยู่ตรงที่ว่า เราจะคิด ค้นหา วิธีแก้ไข ได้หรือไม่ รวมทั้งใช้โอกาสที่ได้มา เป็นหรือเปล่า เท่านั้น.\” ดุจเรื่องราวที่เล่ามาข้างต้น
โลกหมุนไป ทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่…ใช่ว่า สัตว์โลกจำเป็นต้องหากินกลางวันและนอนกลางคืน เวียนวนตามเวลาอยู่ร่ำไป ยามที่ผู้คนกำลังนอนหลับไหล นักคิดนักเขียนมีชื่อหลายคน กำลังนั่งทำงานอยู่ เขาทำในสิ่งที่ไม่เหมือนกับคนอื่นนี่เอง จึงทำให้นักคิดนักเขียนเหล่านี้ มีชื่อเสียงและผลงานที่ดีเยี่ยม…..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผุ้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *