ภาวะเร่งด่วน จากการตรวจภาพเด็ก (Abnormal fetal heart rate monitoring)

‘การเกิด..เป็นทุกข์’ พระพุทธดำรัสว่าอย่างนั้น แต่..พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ห้ามการมีลูกหลานสืบสกุล ซ้ำยังสรรเสริญการได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ด้วยว่า ‘เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในโลก’ จริงๆแล้ว ในทางโลก พ่อแม่ทุกคนต่างก็ตั้งตารอวันที่ให้กำเนิดบุตร และสิ่งเดียวที่ท่านหวังไว้ ก็คือ ‘ขอให้ได้ลูกที่แข็งแรงสมบูรณ์’ คำถามแรกที่คุณแม่เกือบทุกคนมักถามหลังคลอดบุตรใหม่ๆ คือ ‘ลูกดิฉัน (มีอวัยวะ) ครบไหม?’ นี่คือ ความห่วงใย ของแม่ตามวิสัยปุถุชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย
ปัจจุบัน มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเด็กหรือตรวจสภาพทารกในครรภ์อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า “NST” (ย่อจาก Fetal Non-Stress test) คอยตรวจสอบว่า ‘ทารกในครรภ์มีการขาดก๊าซอ๊อกซิเจนในกระแสเลือดหรือไม่?’ โดยจะนำมาใช้ในคนท้องที่มีอายุครรภ์ ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะก่อนหน้านั้น ทารกไม่สามารถตอบสนองได้ตามรูปแบบที่กำหนด (the test protocol) ซึ่งมีการตรวจง่ายๆ โดยวางตัวจับสัญญาณการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ ไว้ที่หน้าท้องของคุณแม่ช่วงผ่อนคลาย บริเวณตำแหน่งที่ได้ยินเสียงชัดเจนที่สุด มีหลักการว่า ‘เมื่อทารกขยับตัวหรือดิ้น 1 ครั้ง หัวใจทารกจะมีอัตราการเต้นของหัวใจทารกเพิ่มขึ้นมากกว่า 15 ครั้ง ต่อนาที นานมากกว่า 15 วินาที [ช่วงเวลาการทดสอบนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที ซึ่งทารกน้อยจะต้องมีการดิ้นหรือเคลื่อนไหวมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป] จึงจะเรียกว่า ‘ปกติ’ (NST reactive)’ การเต้นของหัวใจทารกที่ตรวจ จะปรากฏออกมาเป็นกร๊าฟ การแปลผลเป็นดังนี้..หากการเต้นของหัวใจทารกช้ากว่า 120 ครั้ง ต่อนาที ถือว่า ‘ควรระวัง’ หากเต้นช้ากว่า 100 ครั้งต่อนาที และคงอยู่เช่นนั้นนานพอสมควร แสดงว่า ‘ทารกกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย’ ส่วนการแปลผลอย่างอื่น ขอให้เป็นหน้าที่ของสูติแพทย์
การตรวจ “NST” หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเด็ก เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนท้อง มีข้อบ่งชี้ชัดเจน ที่สำคัญ คือ ในกรณีที่สงสัยว่า ‘ทารกในครรภ์กำลังตกอยู่ในอันตราย’ อาทิ คุณแม่ตั้งครรภ์เกินกำหนด (มากกว่า 40 สัปดาห์), ลูกดิ้นน้อยลง, หญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคแทรกซ้อน พวกเบาหวาน ความดันโลหิตสูง, ภาวะเด็กแคระแกรนในครรภ์ (Intrauterine growth retardation)
หลายวันก่อน มีกรณีของคนท้องรายหนึ่ง ตั้งครรภ์ที่ 3 เธอฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ พออายุครรภ์ได้ 35 สัปดาห์ เธอเจ็บครรภ์เล็กน้อย และได้มาพักที่หอผู้ป่วยพิเศษโรงพยาบาลตำรวจ คนไข้มีปัญหาเป็นโรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus) อยู่ด้วย หลังจากพักได้เพียง 1 คืน ตอนเช้าคนไข้รู้สึกว่า ‘ลูกดิ้นน้อย’ พยาบาลจึงได้นำตัวคนไข้เข้าทำการตรวจสภาพเด็ก (NST) ทันที ก็พบว่า หลังมีการหดรัดตัวของมดลูกทุกครั้ง ทารกน้อยจะมีการเต้นของหัวใจช้ามาก คือ ต่ำกว่า 60 ครั้ง ต่อนาที และคงอยู่ในอัตราเช่นนั้นเป็นเวลานานพอสมควร (Late decerelation) สูติแพทย์เวรได้ทำการผ่าตัดคลอดให้ทันที ด้วยข้อบ่งชี้ ‘ทารกตกอยู่ในภาวะอันตราย (Fetal distress)’ แต่..ปรากฏว่า ทารกน้อยอยู่ในสภาพที่แย่มากและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการตรวจเลือดของทารกน้อย พบว่า เลือดจางอย่างมาก คือ มีความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) เพียงร้อยละ 13 ซึ่งค่าปกติอยู่ที่ร้อยละ 50 – 62 จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า สาเหตุการเสียชีวิตของทารกน่าจะมาจากภาวะหัวใจวาย ส่วนตัวคุณแม่เอง ขณะอยู่ที่ห้องพักฟื้น ก็เกิดการตกเลือดจากภาวะมดลูกไม่แข็งตัว (Uterine atony) แม้จะให้ยาเพิ่มการหดรัดตัวของมดลูก (Nalador) แล้วก็ตาม สูติแพทย์เวรจึงจำเป็นต้องตัดมดลูกให้ นี่คือ ตัวอย่างการตรวจสภาพทารกในครรภ์จริงๆของห้องคลอด ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การตัดสินใจให้การรักษาที่เหมาะสม
คุณบุษกร อายุ 18 ปีตั้งครรภ์แรก เริ่มฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 8 สัปดาห์ เธอฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด จนกระทั่ง การฝากครรภ์ครั้งที่ 11 ตอนอายุครรภ์ได้ 34 สัปดาห์ 5 วัน คุณบุษกรมีปัญหาเรื่อง’เด็กดิ้นน้อยลง’ แต่เมื่อได้ทำการตรวจสภาพทารกในครรภ์ ผลปรากฏว่า ปกติ (Reactive) จึงไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม เพียงแค่นัดมาตรวจอีก 1 สัปดาห์
สมัยก่อน สูติแพทย์บ้านเรามักไม่มีการส่งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต่ำกว่าอายุครรภ์ 34 สัปดาห์เข้าตรวจสภาพเด็ก (Non-stress test) เพราะถือว่า ไม่ค่อยมีประโยชน์ เนื่องจากอายุครรภ์น้อยเกินไป คุณหมอจะตัดสินใจทำผ่าตัดคลอด ก็ไม่มั่นใจ เพราะเด็กที่คลอดออกมา มักไม่ค่อยดี ปอดยังไม่มีการพัฒนาไปเท่าที่ควร แต่…เดี๋ยวนี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เนื่องจากความรู้และเครื่องมือทางกุมารเวชพัฒนาไปมาก ทารกตัวน้อยๆในราว 500 – 1000 กรัม การแพทย์ก็ช่วยเหลือได้
ถัดมา 1 สัปดาห์ น้ำหนักของคุณบุษกรยังคงเท่าเดิม เธอจึงเข้ารับการตรวจสภาพเด็ก (Non-stress test) ซ้ำ เพื่อติดตามดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ ระหว่างนั้น กร๊าฟแสดงการเต้นของหัวใจทารก ได้ลดลงแบบตกวูบ 2 ครั้ง โดยมีอัตราการเต้นอยู่ระหว่าง 60 – 80 ครั้งต่อนาที และคงอยู่เช่นนั้นนาน 10 – 20 วินาที เธอจึงถูกส่งไปที่ห้องคลอด เพื่อรอการตัดสินใจของสูติแพทย์เวร คุณบุษกรได้นอนพักและติดเครื่องตรวจสภาพเด็กในห้องคลอดอยู่ 3 วัน วันแรก คุณบุษกรต้องอดอาหารและน้ำ โดยได้รับน้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำทดแทน แต่….ในที่สุด ก็ต้องให้กลับมารับประทานอาหารได้ เพราะผลกราฟที่แสดงติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ไม่ได้แสดงว่า ทารกขาดก๊าซออกซิเจน วันถัดมา ข้าพเจ้าอยู่เวรห้องคลอด ก็สังเกตว่า ทารกดิ้นดีและกร๊าฟแสดงผลการเต้นของหัวใจทารกปกติติดต่อกันเช่นเดิม ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ตัดสินใจผ่าตัดให้คลอด นอกจากนั้น ยังได้ให้คุณบุษกรย้ายขึ้นไปนอนพักที่หอผู้ป่วยชั้น 5 คุณบุษกรนอนพักที่นั่นเป็นเวลา 3 วัน จึงได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน
ถัดมาอีก 2 วัน คุณบุษกรมาเข้ารับการตรวจตามนัด ที่ห้องตรวจครรภ์ เธอได้รับการตรวจสภาพเด็กอีกครั้ง ก็เกิดการเต้นช้าของหัวใจเด็กเหมือนสัปดาห์ก่อนอีกแล้ว คราวนี้ อายุครรภ์ของเธอ เพิ่มเป็น 36 สัปดาห์ 5 วัน ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน ซึ่งสูติแพทย์เวรยินดีผ่าตัดให้
ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้เข้าไปสังเกตการณ์ด้วย การผ่าตัดเป็นไปอย่างรวดเร็ว พอสูติแพทย์กรีดมีดเข้าสู่โพรงมดลูก ก็สบายใจได้ เพราะน้ำคร่ำไม่มีขี้เทา ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2,380 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 7 และ 9 (จากคะแนนเต็ม 10) ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สูติแพทย์ผู้ผ่าตัด กลับบอกว่า ‘รกมีลักษณะไม่ค่อยดี คล้ายๆกับว่า กำลังจะมีการลอกตัวบางส่วน’ ซึ่ง…เมื่อผลลัพธ์ออกมาดี ข้าพเจ้าก็ไม่สนใจอะไรอีกแล้ว รีบเดินดุ่มๆออกจากห้องผ่าตัดทันที

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทารกในครรภ์ (Non-Stress test) นี้ มีประโยชน์มากในการตรวจสภาพเด็ก ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น จากการศึกษา พบว่า 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตของทารก (Fetal death) เกิดขึ้นก่อนเริ่มเจ็บครรภ์ ซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างฝากครรภ์ในคนท้องที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกไม่เพียงพอ (Uteroplacental insufficiency) ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงจำเป็นต้องหาเครื่องมือบางอย่างมาทดสอบ เพื่อให้สูติแพทย์เข้าไปดำเนินการก่อนที่ทารกจะเสียชีวิต ซึ่งการทดสอบ NST (Non-Stress test) ที่เล่ามานี้ ถือว่า มีความเหมาะสมมาก นอกจากนั้น ยังมีเครื่องมือทดสอบอีกหลายอย่างที่ช่วย อาทิ การตรวจอัลตราซาวนด์อย่างละเอียดเพื่อดูสภาวะการขาดออกซิเจนในเด็ก (Biophysical profiles) เป็นต้น
อนึ่ง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทารกในครรภ์ (Non-Stress test) นั้น มีอยู่บ่อยครั้ง ที่เกิดการแปลผลคลาดเคลื่อน โดยนึกว่า ทารกกำลังตกอยู่ในอันตราย ทั้งๆที่ปรกติ เช่น หัวใจทารกเต้นช้าแบบไม่จริง (Variable deceleration) ซึ่งเป็นผลจากการที่สายสะดือถูกกดเบียด จนนำไปสู่การผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็น (Unnecessary cesarean section) และทำให้คุณแม่เจ็บตัว อย่างไรก็ตาม ถือว่า การตัดสินใจเช่นนั้น ยังมีข้อดีซ่อนอยู่ ที่สำคัญคือ การได้เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงออกมา
ความหวังของปุถุชนคนธรรมดาเช่นเราๆท่านๆเกี่ยวกับครอบครัว คงไม่มีอะไรมากไปกว่า ‘การได้ลูกที่สมบูรณ์แข็งแรง มีแขนขาและอวัยวะครบถ้วน’ ดังจะเห็นได้ว่า เกือบทุกครอบครัว ต่างก็กระตือรือล้นที่จะไปฝากครรภ์ยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยฝากความหวังไว้ที่สูติแพทย์และอุปกรณ์เครื่องมือสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม คงไม่มีเครื่องมือใดจับการเคลื่อนไหวและความผิดปกติการตั้งครรภ์ได้ดีไปกว่า ‘ตัวคุณแม่เอง’ ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นช่วงใกล้คลอด ควรรีบไปหาหมอ และอธิษฐานจิต ขอให้ลูกน้อยยังอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ก่อนจะได้รับการผ่าตัดคลอดออกมา.
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *