ธรรมะจัดสรร

หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ในทำนองที่ว่า เวลากระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นต่อเนื่องกันอย่างเป็นจังหวะเหมาะเจาะพอดี ส่งผลให้งานสำเร็จลุล่วงราบรื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ ท่านรู้หรือไม่ว่านั่นเป็นเพราะอะไร มีผู้รู้บอกว่า เป็นเพราะ “บุญทำกรรมแต่ง” ถ้าเป็นแต่ก่อน ข้าพเจ้าคงเฉย ๆ กับเรื่องบุญเรื่องกรรม เพราะไม่แน่ใจว่ากรรมจะให้ผลจริงหรือเปล่า จวบจนเมื่อสูงวัย ได้เห็นโลกมามาก และมีศรัทธามั่นคงในพุทธศาสนา ข้าพเจ้าได้พบว่า เรื่องราวดังกล่าวล้วนเป็นความจริงทั้งสิ้น
2-3 เดือนก่อน ข้าพเจ้ากับสูติแพทย์อีกท่านหนึ่งของโรงพยาบาลตำรวจได้เข้าร่วมแข่งขันสอบภาษาอังกฤษของกระทรวงต่างประเทศ เพื่อไปดูงานที่ประเทศสิงค์โปร์ ผลปรากฏว่า ข้าพเจ้าสอบตก!! ตอนแรกพอทราบผล ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก และมีท่าทางไม่เป็นสุข แต่เจ้าหน้าที่ธุรการท่านหนึ่งได้ปลอบใจว่า ไม่เป็นไรหรอก บางทีความผิดหวังจากเรื่องหนึ่งอาจนำมาพบกับความสมหวังสุขใจจากอีกเรื่องหนึ่งก็เป็นได้ ซึ่งต่อมาก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริง เนื่องจากคลอดทั้งเดือนตุลาคมที่เป็นช่วงดูงานที่ประเทศสิงค์โปร์ ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ซึ่งช่วงนั้นถ้าข้าพเจ้าไม่อยู่ในประเทศไทย คงมีปัญหาตามมาอีกมากมาย
ต้นเดือนตุลาคม ภรรยาข้าพเจ้าต้องเดินทางไปต่างประเทศประมาณ 10 วัน แล้วใครจะดูแลลูกซึ่งอยู่ในช่วงปิดเทอม!! ช่วงเวลาดังกล่าว ข้าพเจ้ามีค่าใช้จ่ายที่จะต้องชำระสะสางมากมาย ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ!! รวมทั้งการสูญเสียรายได้อันจำเป็นที่จะต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายโดยไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความรู้ที่จะได้รับมา เพราะข้าพเจ้าพอมีความรู้บ้างแล้วจากประสบการณ์กว่า 20 ปี!! ประกอบกับช่วงนั้น เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี มีน้ำท่วมบ้านเรือนของคุณพ่อคุณแม่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี พ่อแม่ซึ่งมีอายุมากถึง 80 ปี ต้องลำบากอย่างมากในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หากไม่มีลูก ๆ คอยช่วยเหลือ!! หลังจากผ่านพ้นสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ไปได้ ข้าพเจ้าก็ปรารภกับเพื่อนๆ ว่า โชคดีที่พลาดการดูงานทางสูติ-นรีเวชที่ประเทศสิงคโปร์ กัลยาณมิตรท่านหนึ่งได้พูดเสริมขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจว่า นั่นเป็นเพราะ “ธรรมะจัดสรร” ให้กับเรา ในขณะที่เรายังมีบุญอยู่
ช่วงปลายเดือนกันยายนต่อกับต้นเดือนตุลาคม 2549 ณ ที่ห้องผ่าตัดและห้องคลอดของโรงพยาบาลตำรวจ ได้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นติด ๆ กันกับคนท้องและทารกน้อยจำนวนหลายรายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน บุคลากรทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและพยายามหาทางแก้ไข พวกเขาเหล่านั้นได้ประชุมกันหลายครั้ง ในที่สุดก็สรุปได้ว่า ให้ทำบุญสังฆทานและเชิญพระสงฆ์มาสวดมนต์ อุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้วายชนม์ รวมทั้งทำพิธีปัดรังควานด้วย ในบรรดาโศกนาฏกรรมดังกล่าว ข้าพเจ้าเองก็มีส่วนร่วมด้วยในการสูญเสียทารกน้อยรายหนึ่ง ข้าพเจ้าเองรู้สึกไม่สบายใจเลย แต่ก็ได้ให้การช่วยเหลือคนไข้และลูกน้อยของเธออย่างดีที่สุดแล้ว
มีคนท้องรายหนึ่ง อายุ 30 ปี ครรภ์ที่ 2 คนไข้รายนี้มาห้องคลอดของโรงพยาบาลตำรวจอย่างฉุกเฉินด้วยเรื่องเจ็บครรภ์และมีถุงน้ำคร่ำแตก เมื่อพยาบาลห้องคลอดตรวจภายใน ก็พบว่ามีสายสะดือย้อยออกมาทางปากมดลูก ดังนั้น จึงต้องรายงานสูติแพทย์เวรเพื่อให้ทำการผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน โชคร้าย! ที่พอดีช่วงนั้น คุณหมอเวรกำลังยุ่งอยู่กับการตัดเอามดลูกของคนท้องรายหนึ่งออก เนื่องจากคนไข้มีการตกเลือดออกอย่างรุนแรงหลังจากผ่าตัดคลอดลูกเรียบร้อยแล้ว เหตุนี้เอง ทำให้สูติแพทย์เวรไม่สามารถปลีกตัวออกมาเพื่อผ่าตัดคลอดฉุกเฉินได้ ในที่สุดจึงต้องตามสูติแพทย์อีกท่านหนึ่งซึ่งอยู่ข้างนอกโรงพยาบาลให้รีบเดินทางเข้ามาทำการแทน ผลคือ ทารกน้อยตกอยู่ในสภาวะอันตรายจากการขาดก๊าซออกซิเจนนานเกินไป เมื่อคลอดออกมา จึงมีชีวิตรอดอยู่ในโลกได้ไม่นาน
อีกรายเป็น คนไข้ครรภ์แฝด (Undiagnosed conjoined trwins) ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยตอนช่วงแรก ผลคือ ทารกเติบใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จวบจนใกล้กำหนดคลอด ตอนนั้น สูติแพทย์เจ้าของไข้ได้ทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ให้คนไข้ เพราะสงสัยว่าทารกอยู่ในท่าก้น (Breech presentation) ซึ่งผลการตรวจก็ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริง ดังนั้น คนไข้จึงได้รับการผ่าตัดคลอดด้วยข้อบ่งชี้ดังกล่าว พอคุณหมอผ่าตัดเปิดหน้าท้องเข้าไปและทำคลอดทารกส่วนก้น ปรากฏว่า การทำคลอดโดยการดึงส่วนขาและก้นของทารกซึ่งเป็นส่วนนำ ออกมาด้วยความยากลำบาก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นในขณะนั้น คือ ถุงเยื่อบุลำไส้ที่ห่อหุ้มลำไส้ส่วนที่กองอยู่ภายนอกร่างกายบริเวณสะดือ (Gastoschisis) ของทารกรายหนึ่ง เกิดการฉีกขาดเนื่องจากคุณหมอไม่เคยทราบมาก่อน (เพราะไม่ได้ตรวจอัลตร้าซาวด์โดยละเอียด) จึงทำให้ขาดการระมัดระวังในขณะดึงตัวทารกเพื่อคลอดส่วนลำตัว คุณหมอต้องตกใจอย่างมากที่พบว่า ทารกเป็นแฝดสยาม (Conjoined twins) ที่มีลำตัวติดกัน และมีหัวใจเพียงดวงเดียว นอกจากนั้น ศัลยแพทย์กุมารยังต้องถูกเรียกตัวให้มาทำการผ่าตัดฉุกเฉินสำหรับทารกแฝดสยามรายนี้ ทารกแฝดสยามรายนี้มีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่วันหลังจากลืมตาดูโลก
ผลพวงจากการเสียชีวิตของทารกน้อยทั้งสองราย รวมถึงรายอื่น ๆ ในเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดการร้องเรียนจากผู้สูญเสีย จนอาจถึงขึ้นฟ้องร้องศาลยุติธรรม แม้ว่าทางโรงพยาบาลจะยื่นมือเข้าไปไกล่เกลี่ยแต่เรื่องราวก็คงไม่จบลงง่าย ๆ นี่เอง ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับสูติแพทย์ทุกคนของที่นี่
คนท้องอีกรายเป็นคนไข้ที่ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมด้วย ชื่อ คุณนภาพร อายุ 31 ปี ครรภ์ที่ 3 ฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ และมาตามนัดทุกครั้ง เรื่องราวมีอยู่ว่า ปลายเดือนกันยายน ขณะที่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณนภาพรได้แจ้งกับพยาบาลห้องตรวจว่า มี “น้ำเดิน” แต่เมื่อแพทย์ตรวจภายในและทดสอบภาวะน้ำเดิน ปรากฏว่า ให้ผลลบ นอกจากนั้นคนไข้ยังถูกส่งตัวไปให้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอัลตราซาวด์ช่วยตรวจวัดจำนวนน้ำคร่ำอีกด้วย ผลปรากฏว่า “ปกติ” หลังจากนั้น คุณนภาพรได้กลับมาตรวจที่แผนกฝากครรภ์อีกครั้งตอนอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ ซึ่งเธอก็ได้แจ้งซ้ำว่ายังมี “น้ำเดิน” แต่ก็ได้รับการแย้งว่า “หมอตรวจแล้วไม่พบว่ามีน้ำเดิน คุณจะรู้ดีกว่าหมอได้อย่างไร” ต่อมาคุณนภาพรได้กลับมาที่ห้องคลอดด้วยเรื่องนี้อีกแบบฉุกเฉิน
ยังจำได้ดีว่า วันนั้นเป็นวันอังคาร ซึ่งข้าพเจ้าอยู่เวรประจำการ คุณนภาพรได้เดินทางเข้ามาที่ห้องคลอดด้วยภาวะ “น้ำเดิน” ตอนเที่ยงคืน คราวนี้เธอให้ประวัติว่า มีน้ำคร่ำไหลออกมาอย่างมากจนเปียกหน้าขา ตอนนั้นคุณนภาพรตั้งครรภ์ได้ 31 สัปดาห์ 2 วัน ข้าพเจ้าได้ตรวจร่างกายคนไข้ พบว่า ระดับยอดมดลูกอยู่สูงกว่าสะดือไม่มากนัก แสดงว่า น้ำคร่ำน่าจะไหลออกไปเยอะแล้ว เมื่อใช้อัลตราซาวด์ตรวจผ่านทางหน้าท้องของคุณนภาพร ก็พบว่าลูกของเธออยู่ในท่าก้น และมีน้ำหนัก 1,500 กรัม โดยประมาณจากการวัดส่วนต่าง ๆ ของทารกแล้วคำนวณออกมา ที่สำคัญคือ มีน้ำคร่ำเหลืออยู่ภายในโพรงมดลูกน้อยมาก (Severe Oligohydramnios) ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉิน ข้าพเจ้าได้อธิบายให้คุณนภาพรทราบถึงความจำเป็นว่า “ตอนนี้ลูกของคุณกำลังตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากไม่ค่อยมีน้ำคร่ำเหลืออยู่ภายในโพรงมดลูก หากรอช้า ตัวเด็กจะเบียดกดทับสายสะดือจนขาดก๊าซออกซิเจน และเสียชีวิตได้”
คุณนภาพรและสามีเห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงผ่าตัดคลอดเอาตัวเด็กออกมาทางหน้าท้องตอนเที่ยงคืนเศษ ทารกมีน้ำหนัก 1,515 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 9, 10 (จากคะแนนเต็ม 10) ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจกับผลการผ่าตัดครั้งนี้มาก แต่ที่ไหนได้! วันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ลูกคุณนภาพรก็มีอาการแย่ลงและถูกส่งไปรักษาต่อที่ห้องไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด ทารกได้รับการวินิจฉัยว่า “มีการติดเชื้อในปอด” วันเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ ทารกน้อยก็มีอันต้องจากโลกนี้ไป คุณนภาพรและสามีได้ปรึกษากันเห็นว่า การเสียชีวิตของลูกน้อยน่าจะป้องกันได้ จึงร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เข้าข่ายผู้กระทำความผิดโดยตรง แต่ก็ไม่สบายใจ ข้าพเจ้าพยายามคิด คิด คิด และหาทางวิเคราะห์ว่า เราจะแก้ไขเรื่องเลวร้ายอย่างนี้ได้อย่างไร?
การที่คนท้องมีน้ำเดินในช่วงใกล้คลอดนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องควรเอาใจใส่ เพราะเกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาหลายอย่าง เช่น การติดเชื้อ การกดเบียดทับสายสะดือของทารกน้อย กรณีของคุณนภาพรนี้ เธอมารับการตรวจตั้งแต่ 27 สัปดาห์ ตอนนั้นคนไข้มีประวัติน้ำเดิน เพราะฉะนั้น การยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจภายในและการทดสอบน้ำเดิน รวมทั้งการส่งคนไข้ไปเข้ารบการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญการทำอัลตราซาวด์ ถือว่าถูกต้องแล้ว ปัญหาคือว่า เมื่อคนไข้ยืนยันว่ามีน้ำเดินมาอีก ทางฝ่ายผู้รักษาคงต้องทำการตรวจซ้ำใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากพบว่า “มีน้ำเดินจริง แต่ปริมาณน้ำคร่ำยังเหลืออยู่จำนวนมาก” ก็ให้คนไข้นอนพักโรงพยาบาล โดยมีข้อแม้คือ ถุงน้ำคร่ำต้องไม่แตกรั่วเป็นรูใหญ่จนไม่สามารถเก็บกักน้ำส่วนที่เหลือไว้ได้เลย ปกติถุงน้ำคร่ำจะมี 2 ขั้นและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ฉีกขาดง่าย การรั่วเพียงเล็กน้อย ร่างกายคนเราจะสามารถซ่อมแซมให้รูรั่วปิดกลับมาเหมือนเดิมได้ สำหรับการให้ยาฆ่าเชื้อนั้น สูติแพทย์จะให้ก็เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น สรุปก็คือ การเอาใจใส่ รวมทั้งการพูดจาของบุคลากรทางการแพทย์กับคนไข้น้ำเดิน จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ละเอียดลออ ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดโศกนาฏกรรมคล้าย ๆ กันนี้ได
ตอนนั้น หากข้าพเจ้าไม่เดินทางเข้ามาตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลและผ่าตัดคลอดให้ในค่ำคืนนั้น เชื่อว่า ควรผิดทั้งหมดคงตกอยู่กับข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว โชคดีที่ข้าพเจ้ามองว่า “คนไข้รายนี้ ถ้าเป็นญาติของเรา เราก็คงอยากเข้าไปดูแลจัดการทันที” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะจากการตรวจร่างกายและทำอัลตราซาวด์ให้กับคุณนภาพร ทำให้ทราบว่า ลูกของคุณนภาพรตกอยู่ในสภาวะที่คับขันอย่างมาก การจัดการที่ชักช้าอืดอาด ยืดยาดย่อมเป็นการชักนำให้มัจจุราชมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ข้าพเจ้าเร่งทำบุญอย่างมาก เพราะข้าพเจ้าเริ่มต้นชีวิตใกล้ชิดกับพุทธศาสนาช้าเหลือเกิน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงทำบุญทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งพยายามหาเวลาเข้าวัดปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างเสริมบารมี เผื่อว่าจะได้มีโอกาสเข้าใกล้เมืองนิพพาน นอกจากนั้น หากพบเจอเรื่องร้าย ๆ จะได้มีเทวดาอารักษ์ช่วยลดทอนภยันตรายที่จะเกิดขึ้น การกระทำความดีบ้างแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อคนไข้ เช่น ในกรณีของผู้ป่วยรายนี้ ได้ช่วยปกป้องข้าพเจ้าไม่ให้ต้องกลายเป็นจำเลยของสังคม ข้าพเจ้าเคยคิดเหมือนกันว่า ทำไมกรณีการเสียชีวิตของคนไข้รายอื่น ๆ อีกหลายรายจึงไม่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า? ข้าพเจ้าเชื่อว่า นั่นคงเป็นเพราะ “บุญกุศล” ที่ยังคงหนุนนำ ก่อนที่กรรมจะไล่ตามทัน
ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนมีธรรมะช่วยจัดสรรให้เราอยู่แล้ว หากเรายังไม่หยุดยั้งในการกระทำความดี

**************************
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *