ฉันไม่ใช่ไอ้ตัวตลก

คนบางคน ชอบมองคนอื่นเป็น “ ตัวตลก ” หรือบุคคลที่น่าสมเพช คนที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ ตัวตลก ”หรือ “ น่าสมเพช” มักเป็น คนที่อ่อนแอ พิการ ทำงานเชื่องช้าหรือพวกที่เรียนหนังสือไม่เก่ง…
จริงๆแล้ว คนที่ด้อยความรู้ความสามารถเหล่านี้ ไม่ใช่บุคคลที่น่าสงสารหรือน่าขันแต่อย่างใด เขาเพียงแต่ขาดคุณสมบัติใด คุณสมบัติหนึ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคย เขาอาจจะมีจิตใจดีและนิสัยอ่อนโยนเกินไป รวมทั้งเรียนรู้อะไรๆช้าไปหน่อย แต่..ที่แน่ๆ เขาไม่ได้มีลักษณะเป็น ตัวตลก ประเภท จำอวด ที่ใครเห็นเป็นต้องหัวเราะ เลยสักนิด
นักฟุตบอลอาชีพอาจมองบรรดานักฟุตบอลข้างถนนว่า เล่นได้ไม่เอาไหน เลี้ยงลูกบอลหลบหลีกไม่สวยงาม แม้มีความพยายามเพียงใด ก็คงเป็นได้แค่นักฟุตบอลพื้นๆ ที่ไม่มีอนาคต
นักแสดงที่มีชื่อเสียงบางคนมองนักแสดงตัวประกอบ เป็นคนไม่มีค่า
นายช่างใหญ่หลายคน มอง ช่างลูกมือ เป็นบุคคลที่น่ารำคาญ
นักเขียนลือชื่อมากมาย มองนักเขียนหน้าใหม่ไม่อยู่ในสายตา
หมอและพยาบาลบางคนไม่ให้ความเคารพ คนไข้ และมองข้ามความสำคัญของเขาไป
ทำไม คนเราบางคนชอบมองคนที่ด้อยกว่าเป็นตัวตลก แทนที่จะเกรงใจและให้การส่งเสริมสนับสนุน ผู้ที่ชอบเย้ยหยันคนอื่น จะรู้บ้างไหมหนอว่า คนที่ได้รับการอุปโลกให้เป็นตัวตลกนั้น ไม่เคยรู้สึกยินดีกับท่าทีที่แสดงต่อเขาอย่างไม่ให้เกียรติเลย
ใคร คือ ผู้ที่ทำให้คนบางคน กลายเป็น “ ตัวตลก ”….
ส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่เผอิญมีฐานะตำแหน่งสูง มีชื่อเสียงหรือร่างกายสมบูรณ์มากกว่า และติดนิสัยชอบดูถูก ดูแคลนผู้ที่ด้อยกว่า…..
ผู้ประสบความสำเร็จบางคนที่กำลังก้าวเดินอยู่บนถนนแห่งชีวิตอันสวยงาม เคยเป็นตัวตลก มาก่อน เพียงแต่บางครั้งอาจจะหลงลืม แล้วทำไมเมื่อเวลาผ่านไป กลับเป็นผู้ที่ชอบเย้ยหยันหรือทำให้คนอื่นเป็นตัวตลก
ข้าพเจ้าพบคนไข้สตรี 2 คนที่พิการขาทั้งสองข้างเนื่องจากเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่วัยเด็ก คนไข้ทั้งสองอาจเป็นตัวตลกหรือคนที่น่าสงสารในสายตาคนภายนอก สำหรับจากสายตาภายในตัวของเขาเองกลับมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง……. ทำไมข้าพเจ้าจึงมีความคิดเช่นนั้น?
ทั้งนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าได้พูดคุยกับคนทั้งสองในระหว่างที่มาตรวจเยี่ยมติดตามการรักษา การพูดจาแสดงความคิดเห็นของคนทั้งสองแตกต่างกันอย่างมาก
คนหนึ่งมองตนเองว่าน่าสงสาร และไม่ยอมช่วยเหลือตัวเองใดๆเลยตั้งแต่เล็ก เธอติดเชื้อโปลิโอตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แต่เนื่องจากพ่อแม่พอมีฐานะ เธอจึงได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี คุณพ่อคุณแม่พยายามพาไปรักษาตามสถานที่ต่างๆแต่ก็ไม่เป็นผล คนไข้เองรู้สึกท้อแท้ จึงไม่ค่อยพยายามช่วยเหลือตัวเอง ถูกจับไปวางที่ตรงไหน ก็จะนอนหรือนั่งที่ตรงนั้น ไม่ยอมขยับเขยื้อนไปไหนเป็นเวลานานๆ แต่อีกคนหนึ่งกลับไม่เคยรู้สึกว่า ตนเองด้อยค่า น่าสงสาร ทั้งนี้เพราะแต่ก่อนฐานะยากจน หลังจากรักษาตามมีตามเกิดแล้ว ก็นอนแกล่วอยู่กับบ้านเฉยๆ โชคดี วันหนึ่งมีหมอจากโครงการแพทย์อาสาสมเด็จพระบรมราชชนนีฯมาพบ เธอจึงถูกนำตัวเข้ามากรุงเทพฯ ไปอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์คนพิการสมเด็จพระบรมราชชนนีฯ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เธอเล่าว่า “ ร้องให้เกือบทุกวัน เพราะคิดถึงแม่ แต่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หนูเดินได้ ถ้ามีคนคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา หนูอาจกลายเป็นคนพิการที่เดินไม่ได้ ” เธอต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่างและเรียนรู้วิชาชีพ อาทิเช่น การเย็บปักถักร้อย จนอายุได้ 13 ปี ทางสมาคมฯจึงอนุญาตให้กลับบ้านมาอยู่กับพ่อแม่ตามเดิม
คนไข้สตรีโปลิโอคนแรก ปัจจุบันอายุ 30 ปี หน้าตาดี มีคุณแม่คอยให้การช่วยเหลือมาตั้งแต่เล็กๆ เธอมาโรงพยาบาลตำรวจด้วยเรื่อง มีก้อนที่ปากช่องคลอด โดยเธอมักประสบปัญหามีฝีแตกบ่อยๆที่ปากช่องคลอดทางด้านซ้าย เป็นๆหายๆมาหลายปีจนเกิดเป็นก้อนเนื้อขนาดเท่าฟองไข่ไก่บริเวณนั้น คนไข้ รู้สึกรำคาญจึงอยากให้ผ่าตัดทิ้งไป ข้าพเจ้าได้ตรวจดูด้วยการคลำ รู้สึกว่าเป็นก้อนเนื้อตันที่ค่อนข้างแข็ง เนื่องจากเคยติดเชื้อเป็นถุงหนองหลายครั้ง จนกระทั่งร่างกายสร้างพังผืดหนาตัวขึ้นมาหุ้ม หากไม่ผ่าตัด จริงๆ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่คนไข้ ยืนกรานอยากให้ผ่าตัดเอาออก ข้าพเจ้ากลัวจะทำร้ายจิตใจของเธอ จึงยินยอมผ่าตัดเอาก้อนเนื้อที่ปากช่องคลอดออกให้
คุณแม่และคนไข้ขออยู่รักษาแผลที่โรงพยาบาลจนกว่าแผลจะหาย ข้าพเจ้าอนุญาต เพราะการทำแผลในกรณีของเธอเป็นเรื่องที่ยุ่งยากจริงๆ แต่…หากเป็นคนธรรมดา การทำแผลลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล
คนไข้รายนี้ นอนโรงพยาบาลเพื่อการทำแผลหลังผ่าตัดนานถึง 42 วัน อาจมีคนสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะแผลผ่าตัดมีการติดเชื้อเป็นหนองอยู่หลายครั้ง แม้จะให้การดูแลแผลเป็นพิเศษอยู่แล้วก็ตาม
คนไข้สตรีโปลิโอรายที่ 2 อายุ 26 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการแพ้ท้อง ขณะนี้ เธอตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ ความจริงเธอไม่ต้องการนอนโรงพยาบาล แต่ด้วยอาการอ่อนเพลียและรับประทานอาหารไม่ได้ ทำให้ต้องมานอน ลักษณะภายนอกของเธอโดยทั่วไป คล้ายกับคนไข้สตรีโปลิโอคนแรก แต่…..แตกต่างกันในลักษณะของการช่วยเหลือตัวเอง
คนไข้สตรีรายที่ 2 นี้ ท่าทางคล่องแคล่ว ไม่ชอบอยู่นิ่ง พูดเก่ง มนุษยสัมพันธ์ดี เธอใช้ไม้เท้าข้างเดียว ก็สามารถค้ำยันและพยุงร่างกายเดินได้ บางทีเธอลุกออกไปนั่งคุยกับเพื่อนคนไข้ข้างเตียง บางทีใช้ไม้เท้าพยุงตัวและลากเสาที่แขวนน้ำเกลือ เดินออกไปโทรศัพท์
นับว่า เธอเป็นบุคคลที่น่าทึ่งคนหนึ่ง
“ ลูกคนแรกอายุเท่าไหร่ และสามีทำงานอะไร ” ข้าพเจ้าถามด้วยความสนใจที่เห็นในบันทึกประวัติคนไข้ว่า เธอตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ 2 และคลอดบุตรคนแรกเองโดยวิธีธรรมชาติ
“ ลูกอายุ 3 ขวบ ไปโรงเรียนแล้ว สามีทำงานรับจ้างขับรถ 6 ล้อส่งของ ” คนไข้ตอบ
“ คุณเป็นคนที่เก่งมากเลย น่ายกย่องมาก ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง แล้วทุกวันนี้ทำอาชีพอะไร ” ข้าพเจ้าถามต่อ
“ เป็นแม่บ้านเฉยๆ.. อยู่ที่บ้านหนูทำงานได้ทุกอย่าง เลี้ยงลูก ถูบ้าน ซักผ้า หุงข้าว หนูรับจ้าง ซักผ้าด้วย ถ้ามีคนมาจ้าง แต่..ไม่ค่อยมีคนมาจ้างหนูหรอก เขาคงสงสารและกลัวหนูลำบาก ทำไมคนอื่นถึงได้คิดเช่นนี้ ในเมื่อเราเองไม่เคยรู้สึกอย่างนั้น ” คนไข้ตอบเสียงฉะฉาน
“ ถ้าสงสาร ก็น่าจะให้งานคุณทำ ไม่ใช่มาสงสาร ด้วยการสมเพชเวทนา แล้วไม่เคยหยิบยื่นโอกาสอะไรให้ ” ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็นบ้าง และถามต่อด้วยความระมัดระวังในคำพูดว่า “ เออ!…… ขอโทษทีเถิดนะ ต้องขอโทษจริงๆ คือ อยากจะถามว่า คุณแต่งงานได้ยังไง ในสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์อย่างนี้ เพราะผมคิดว่า ผู้ชายน้อยคนนักที่คิดจะแต่งงานกับผู้หญิงที่มีขาพิการ ”
“ คือ สามี..เขาสงสารดิฉัน เขาบอกกับแม่ดิฉันว่า เขาอยากดูแลดิฉันเพราะเห็นดิฉันเป็นคนสู้ชีวิต ” เธอตอบโดยไม่ปิดบัง และพูดต่อว่า “ แม่ดิฉันยังบอกสามีดิฉันเลยว่า ถ้าเลี้ยงไม่ไหว ก็ให้เอากลับไปคืน เดี๋ยวนี้..ดิฉันมีลูกคนที่ 2 แล้ว สามีและดิฉันยังพร้อมที่จะสู้ต่อไป ”
“ สามีดูแลคุณดีไหม? แล้วเขาไม่ออกไปเที่ยวนอกบ้านบ่อยๆหรือ? ” ข้าพเจ้าถามด้วยความเป็นห่วง
“ ไม่หรอก เขาเป็นคนดีมาก รักลูกรักเมีย ไม่เคยไปเที่ยวนอกบ้าน ทำงานเสร็จ ก็กลับบ้านมาช่วยดูแลลูก ” เธอตอบอย่างมั่นใจในสามีตน
ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับเธออีก เพราะเธอขอกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น รวมเวลาที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 วัน แต่นั่น ก็สร้างความประทับใจให้กับข้าพเจ้าและอีกหลายคนที่ได้พูดคุยกับเธอ
คนเราเกิดมา ล้วนแต่ไม่ใช่คนที่น่าสงสารหรือน่าสมเพช จึงไม่จำเป็นที่ใครจะต้องมาเวทนา
ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น บางคนกลายเป็นตัวตลก ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นผู้มีรูปร่างประหลาด หรือร่างกายพิการ ตัวตลกในที่นี้ หมายถึงมีคนคอยดูถูก ดูแคลน เยาะเย้ย ถากถาง ยามที่เขาพูดจาหรือทำอะไรผิดพลาด
ข้าพเจ้าเคยศึกษาเรื่องราวของคนพิการและคนต่อสู้ชีวิตมามาก ส่วนใหญ่ที่สามารถก้าวไปจนประสบความสำเร็จได้ ก็เพราะมีคนดูถูก ดูแคลน หรือกลายเป็นตัวตลก โดยที่ตัวเองไม่ยอมรับ อย่างไรก็ดี ความโกรธแค้นที่เกิดขึ้น มักเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ผลักดันให้ประสบความสำเร็จ
บางที เมื่อไปถึงที่หมาย และประสบความสำเร็จสมปรารถนา เราอาจต้องกลับมาขอบคุณคนที่เยาะเย้ยดูถูกเราเสียด้วย
มีคุณหมอตาบอดท่านหนึ่ง ซึ่งได้รับยกย่องจากทั่วทุกมุมโลก ชื่อ ดอกเตอร์ เดวิด ฮาร์ดแมน ได้กล่าวคำพูดหนึ่งไว้ในระหว่างที่ถูกสัมภาษณ์เพื่อเข้าเรียนแพทย์ เป็นคำพูดที่น่าประทับใจมากจนข้าพเจ้าอยากจะหยิบยกมา เพื่อเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจสำหรับทุกๆคน ที่ถูกปฏิบัติราวกับว่าเป็นตัวตลก หรือผู้ที่ด้อยความสามารถ
ใครๆต่างมอง เดวิด ฮาร์ดแมน ว่า เป็นคนที่ไม่สามารถแข่งขันกับคนปกติได้ แต่ เดวิด กลับพูดว่า “ คนเราต่างก็มีความพิการด้วยกันทั้งนั้น แต่คนที่พิการที่สุด ก็คือ คนที่ไม่กล้าทำอะไรพิเศษ หรือท้าทายความสามารถของตนเอง ”
ข้าพเจ้าจดจำคำพูดนี้ได้เสมอ เพราะเป็นคำพูดที่เตือนใจให้ข้าพเจ้าต่อสู้ชีวิตอย่างไม่ท้อถอย บ่อยครั้ง ที่ข้าพเจ้าชอบทำให้ทุกคนที่อยู่รอบข้างได้หัวเราะจากเรื่องตลกขำขัน แต่…จะไม่ชอบอย่างยิ่ง หากใครมาทำให้ข้าพเจ้าเป็น ตัวตลก เพราะว่า “ ฉันไม่ใช่ไอ้ตัวตลก ”

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ.นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *