ไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เกิดเรื่องวุ่นวายเรื่องหนึ่งขึ้นในแผนกสูติ ของโรงพยาบาลตำรวจ แต่..ด้านหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากมีการรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ของคนท้องรายหนึ่งพร้อมกับลูกน้อย ซึ่ง..นับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก ถ้าไม่ใช่เพราะบุญเก่าของบุคคลทั้งสอง ก็ไม่รู้ว่า จะเรียกว่า อะไร!! คนท้องรายนี้อายุ 31 ปี มีอายุครรภ์ใกล้ครบกำหนด คือ 36 สัปดาห์เศษ เธอปวดศีรษะมากและมาที่ห้องฉุกเฉินเมื่อเวลา 5 นาฬิกา ทันทีที่คนไข้ถูกส่งมาถึงห้องคลอด เธอก็หยุดหายใจ พยาบาลและแพทย์ต่างวิ่งวุ่นช่วยเหลือโดยใส่ท่อหายใจ และส่งไปที่ห้องผ่าตัดอย่างฉุกเฉิน พร้อมทั้งโทรศัพท์แจ้งกับศัลยแพทย์ระบบประสาทว่า ‘คนไข้!! สงสัยมีเส้นเลือดในสมองแตก??’ เมื่อคนไข้ได้รับการผ่าตัดคลอดแล้ว ก็ถูกส่งต่อไปยังห้องผ่าตัดศัลยกรรม เธอได้รับการผ่าตัดสมองทันทีภายหลังจากเข้ารับการตรวจด้วยคอมพิวเตอร์เอกซเรย์ (CT scan) บุตรของเธอเป็นเพศชาย น้ำหนัก 3,070 กรัม แข็งแรงดี และได้กลับบ้านในเวลาต่อมา ส่วนคุณแม่ก็ดีวันดีคืนตามลำดับ ขณะนี้ คนไข้สามารถรับรู้คำพูดได้ดี แต่ปฏิกิริยาตอบสนองยังเชื่องช้า คาดว่า คงไม่นาน เธอก็จะกลับเป็นปรกติ
วันนี้ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมเธอที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง รู้สึกดีใจไปกับครอบครัวเธอด้วย ที่เธอสามารถแสดงอากัปกิริยาโต้ตอบได้พอสมควร จากประวัติ คนไข้เริ่มฝากท้องตั้งแต่อายุครรภ์อ่อนๆเพียง 8 สัปดาห์ และมาตรวจครรภ์ตามนัดหมาย ในอดีต เธอเคยคลอดบุตรมาแล้วเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนนั้น เธอมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นที่สมอง จนถูกห้ามไม่ให้ตั้งครรภ์อีก เวลาผ่านไปหลายปี เธอไม่เคยมีปัญหาอะไร จึงลองตั้งครรภ์ครั้งใหม่กับสามีคนที่สอง ซึ่ง..เธอไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องสมองดังกล่าวกับพยาบาลที่ห้องฝากครรภ์ ภายหลังเข้ารับการผ่าตัดสมองในครั้งนี้ ทุกคนจึงได้ทราบว่า สมองของเธอมีเส้นเลือดโป่งพองผิดปกติ ชนิดเชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ (Aterio – venous malformation หรือย่อว่า AV-M) เรื่องราวของคนไข้รายนี้ ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนตั้งแต่ก่อตั้งโรงพยาบาลมา ถือเป็นอุทาหรณ์ได้อย่างดีว่า “ข้อมูลสำคัญของการเจ็บป่วย คนไข้ไม่ควรปกปิด” เพราะนั่นอาจทำให้ เธอตกอยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต โดยที่ไม่ได้เตรียมการป้องกัน
อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแปลกประหลาดและมีอันตรายคล้ายๆกัน อันหมายถึง คนไข้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการแตกของเส้นโลหิตในสมอง เรื่องนี้เกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ข้างต้น คุณจารุณี อายุ 29 ปี มีประวัติสำคัญ คือ ไม่เคยมีระดูมา 10 กว่าปี… จู่ๆ..ก็รู้สึกว่า มีอะไรดิ้นอยู่ในท้อง!!! ภายหลังจากรักษาตัวที่แผนกกระดูกด้วยเรื่องปวดหลังปวดเอว มาได้ระยะหนึ่ง คุณหมอที่นั่น ได้ทำเรื่องปรึกษามาที่แผนกสูติว่า สงสัยเธออาจมีการตั้งครรภ์!! ข้าพเจ้าเป็นแพทย์ผู้รับปรึกษา จึงได้ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านหน้าท้องให้ ผลปรากฏว่า คุณจารุณีตั้งครรภ์จริงๆ โดยมีอายุครรภ์ประมาณ 27 สัปดาห์ จากการเปรียบเทียบวัดกับส่วนต่างๆของร่างกายทารก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เธอไม่เคยรู้ตัวเลยว่า ‘ตั้งครรภ์’ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เธอเป็นคนอ้วน มีน้ำหนักตัวมากถึง 90 กิโลกรัม แต่..ที่สำคัญ คือ การตั้งครรภ์ได้ดำเนินไปกว่า 6 เดือน เธอถึงได้รู้ตัวและสงสัยว่า ตัวเองตั้งครรภ์?? เพราะรู้สึกคล้ายๆกับมี ‘เด็กดิ้นในท้อง !!!!! ’ ตอนนั้น คนไข้ถามข้าพเจ้าว่า ‘ลูกของหนูจะเป็นอะไรหรือเปล่า? เพราะหนูกินยาแก้ปวดและยาเกี่ยวกับกระดูกเข้าไปเยอะ!!!’ ข้าพเจ้าตอบว่า ‘บอกยาก.. คงต้องขึ้นอยู่กับโชควาสนา แต่..จากการตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์.. เด็กน่าจะดี’
ถัดจากนั้นมาหนึ่งวัน วันนั้น เป็นวันหยุดกลางปีของธนาคาร คุณจารุณีถูกส่งตัวขึ้นมาที่หอผู้ป่วยชั้น 5 โดยระบุว่าเป็น ‘ครรภ์พิษ’ หรือ ‘ภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์’ เธอมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และความดันโลหิตสูงถึง 180/120 มิลลิเมตรปรอท เผอิญ! ข้าพเจ้าอยู่เวรวันนั้น เมื่อขึ้นไปตรวจดูคนไข้ ก็สั่งการให้ยาลดความดันโลหิตชนิดรับประทาน 2 ตัวทันที โดยไม่ได้ตัดสินใจให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดคลอด
นับเป็นโชคดี! ที่ข้าพเจ้าอยู่เวร.. หากเป็นสูติแพทย์บางท่าน ก็อาจคิดถึงแต่ความปลอดภัยเฉพาะตัวคุณแม่และตัดสินใจผ่าตัดคลอดทันที โดยไม่สนใจทารกน้อย ซึ่ง…สำหรับสูติแพทย์ที่มีประสบการณ์แล้ว ย่อมคาดการณ์ได้เลยว่า “หากผ่าตัดขณะนั้น ทารกน้อยซึ่งมีอายุเพียง 27 สัปดาห์ คงต้องสังเวยชีวิต เพราะปอดมีโอกาสทำงานล้มเหลวสูงในโลกภายนอก” สำหรับ การรักษาแบบประคับประคองในคนไข้ครรภ์พิษ เป็นสิ่งที่ทำได้ และมีผู้ศึกษามากมาย อาศัยหลักที่ว่า ‘หากสามารถควบคุมสภาวะต่างๆของโรคได้ภายใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะความดันโลหิตและอาการที่นำมาก่อนชัก (prodomal symptoms) คนไข้ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดคลอด’
ถึงแม้จะเป็นไปได้ในหลักการรักษา แต่…ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ประมาท โดยปรึกษาไปทางอายุรแพทย์เพื่อช่วยประเมินสถานการณ์ และปรับเปลี่ยนยาลดความดันโลหิตสูงที่เหมาะสม ไม่นานหลังจากนั้น ก็สามารถควบคุมภาวะนี้ได้ คุณจารุณีมีความดันโลหิตเฉลี่ยอยู่ที่ 160/110 มิลลิเมตรปรอท ไม่ปวดหัว ลุกขึ้นเดินไปมา เข้าห้องน้ำได้ พูดจายิ้มแย้มแจ่มใส่ ข้าพเจ้าถามเธอว่า “คุณจะยอมรับความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้หรือไม่? ซึ่งอันตรายมาก แต่..จะมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงหรือจุกหน้าอกนำมาก่อน หาก..ปรากฏอาการเช่นนั้น ก็ต้องรีบเข้ารับการผ่าตัดด่วน การรักษาแบบประคับประคอง จะยึดเวลาได้เพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ก็เพื่อซื้อเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกของคุณรอดชีวิต” คุณจารุณีพูดตอบด้วยทีท่าเห็นด้วยกับการตัดสินใจของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ายังได้ส่งคนไข้ไปให้สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการตรวจดูอัลตราซาวนด์ระดับสูงด้วย เพื่อจะได้ตรวจให้ทราบแน่ชัดว่า ‘ทารกมีความพิการแต่กำเนิดหรือไม่?’ เนื่องจากมีคำถามคาใจข้าพเจ้าว่า ‘ทำไมคุณจารุณีจึงมีภาวะความดันโลหิตสูงในอายุครรภ์ที่ค่อนข้างน้อย?’ คุณจารุณีได้รับการตรวจอัลตราซานด์ในวันจันทร์ถัดมา คือ 1 สัปดาห์หลังจากเข้ารับการรักษา ผลปรากฏว่า ‘ทารกปกติ เพศชาย น้ำหนักประมาณ 1000 กรัม’ พร้อมกันนั้น คุณหมอผู้ตรวจยังช่วยสั่งยากันชัก (Magnesium sulfate) หยดเข้าทางเส้นเลือดดำและยาเพื่อพัฒนาปอด (Dexamethasone)ให้ด้วย
วันต่อมา คุณจารุณีมีอาการปวดศีรษะมากขึ้น แต่พอทนได้และไม่มีอาการตาพร่ามัว ตอนนั้น ข้าพเจ้ายังคิดว่า ภาวะความดันโลหิตสูงของเธอสามารถควบคุมได้ และอาการชักคงไม่เกิดขึ้น จึงสั่งหยุดยาแมกนีเซี่ยม ซัลเฟต (Magnesium sulfate) คุณจารุณีรู้สึกดีใจที่จะไม่ต้องทนทุกข์กับอาการซู่ซ่าที่แผ่ไปยังทั่วร่างตลอดเวลา ซึ่งเป็นฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์ของยาตัวนี้ เธอหายปวดศีรษะ และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ข้าพเจ้าพยายามติดตามประเมินสถานการณ์ของคุณจารุณีตลอดเวลา เพราะกลัวภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ เส้นโลหิตในสมองแตกและภาวะไตวาย แต่คนไข้ก็ยังไม่มีอาการปวดศีรษะที่รุนแรง
วันพุธ ตอนบ่าย คุณจารุณี เริ่มมีอาการปวดศีรษะ คนไข้พยายามข่มตาหลับนอนพักเพียงใด อาการก็ไม่ดีขึ้น ตกดึก คุณจารุณีมีอาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้นและตาเริ่มพร่ามัว ซึ่งเป็นอาการที่นำมาก่อนจะชัก (Eclampsia) สูติแพทย์เวร จึงตัดสินใจทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง บุตรคุณจารุณี เป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 1160 กรัม คะแนนศักยภาพทารกแรกเกิดเท่ากับ 9 และ 10 (จากคะแนนเต็ม 10) ณ เวลานาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ สรุปว่า เราสามารถรักษาแบบประคับประคองได้ 10 วัน และให้คลอดที่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ 5 วัน
ปัจจุบัน คุณจารุณีได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน แต่ลูกน้อยของเธอยังคงอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด ในสภาพที่ไม่ค่อยดีนักแม้จะได้รับการช่วยเหลือยึดเวลาแห่งชีวิตออกไปอีก 10 วัน หาก…เรารักษาแบบประคับประคองได้นานกว่านี้สัก 1 สัปดาห์ ลูกคุณจารุณีอาจไม่พบมีปัญหาอะไรเลย
ภาวะครรภ์พิษ (ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์) นั้น มีหลักการรักษา คือ 1. ลดความดันโลหิต 2. ป้องกันชัก และ 3. ทำให้ครรภ์สิ้นสุดลง.. สำหรับในข้อที่ 3 นั้น ยังเป็นข้อถกถียงกันว่า ‘สามารถรักษาแบบประคับประคองได้หรือไม่?’ สูติแพทย์บางท่านอาจตัดสินใจตามหลักการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงทารกในครรภ์ แต่..ในทางส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า กรณีที่คนท้องมีอายุครรภ์ระหว่าง 26 – 28 สัปดาห์ ก็น่าจะลองเสี่ยงรักษาแบบประคับประคอง โดยถือหลัก ‘ต้องความคุมสถานการณ์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง’ ปัจจุบัน โรงเรียนแพทย์หลายแห่ง ก็มีการรักษาแบบประคับประคองในคนท้องครรภ์พิษ โดยให้คนไข้อยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู. พร้อมกับหยดยาป้องกันชัก
ปัจจุบัน ข้าพเจ้าดูแลคนท้องอยู่รายหนึ่ง ตั้งครรภ์ที่ 3 ซึ่ง…อดีต เคยสูญเสียบุตรในครรภ์แรกจากภาวะครรภ์พิษ ขณะอายุครรภ์ 26 สัปดาห์เศษ สำหรับครรภ์ที่สอง ข้าพเจ้าได้ดูแลการตั้งครรภ์จนคลอดเมื่อครบกำหนด โดยไม่มีปัญหาอะไร คราวนี้ ตั้งครรภ์ใหม่ แม้เธอจะอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลที่ข้าพเจ้าออกตรวจ เธอและสามีก็ยังยอมเดินทางมาฝากครรภ์กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าบอกเธอว่า “ในครรภ์หลังนั้น ภาวะครรภ์พิษเกิดขึ้นน้อยมากและมักไม่รุนแรง จึงไม่จำเป็นต้องลำบากมาฝากครรภ์กับข้าพเจ้า” แต่….เธอและสามีกลับบอกว่า ‘เพื่อความสบายใจ ’
ข้าพเจ้าไม่อยากบอกว่า การตัดสินใจของสูติแพทย์กรณีครรภ์พิษนั้น ใครผิดใครถูก แต่สำหรับคนที่ครอบครัวและมีลูก คงคิดคล้ายๆกันว่า “ซื้อเวลาอีกเพียง 2 – 3 สัปดาห์ แล้วได้ลูกรอด ปลอดภัย” น่าจะดี แต่การตัดสินใจดังกล่าว มีความเสี่ยงอย่างมากต่อภาวะแทรกซ้อนต่อตัวคนท้อง เช่น ภาวะไตวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตก เรื่องราวของการตัดสินใจรักษาแบบประคับประคองในคนไข้ครรภ์พิษนั้น ยังคงต้องเป็นที่ถกเถียงต่อไป ไม่มีสิ้นสุด สูติแพทย์ท่านหนึ่งให้ความเห็นกับข้าพเจ้าว่า “ถ้าคนไข้เกิดเป็นอะไรไป ข้าพเจ้ามีหวังหมดอนาคต”
โลกทุกวันนี้ ไม่เหมือนแต่ก่อน สูติแพทย์ ต่างพากันหวาดผวากับการฟ้องร้องจนต้องพยายามหาทางปกป้องตัวเองเท่าที่จะทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่..เป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่..ยังมีเรื่องของคนท้องบางเรื่อง.. ประเภทคาบลูกคาบดอก ที่อาจตัดสินใจออกไปได้ 2 ทาง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของคนท้องที่เป็นครรภ์พิษ จะมีหมอสักกี่คนที่หาญกล้า ผ่าทางตัน ตัดสินใจรักษาแบบประคับประคอง แทนที่จะตัดใจทอดทิ้งชีวิตน้อยๆในครรภ์
เสียงเพลงเก่าๆ ขับขานบรรเลงอยู่ข้างกายข้าพเจ้าขณะที่กำลังเขียนหนังสือ เสียงเพลงเหล่านี้เรียบง่าย เยือกเย็น และมีอารมณ์อ่อนไหว ชวนให้มองเห็นภาพตามคำร้อง ท่วงทำนองที่บรรยาย แต่..จะมีใครเข้าใจในบรรยากาศของเพลงช้าๆพวกนี้บ้าง คนสมัยเก่าที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า คงสามารถเข้าถึงเสียงเพลงได้ แต่…คนสมัยใหม่ คงมอง เห็นเป็นที่น่ารำคาญ…
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษื ผู้เขียน