การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Laparoscopic Surgery in Gynecologic patients)

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
(Laparoscopic Surgery in Gynecologic patients)
การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่มนุษยชาติคิดประดิษฐ์ขึ้นมา วิธีการ คือ เจาะท้องเป็นรูเล็กๆ 3 – 4 แห่ง แล้วสอดใส่เครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัดสิ่งผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้อง ซึ่งใช้ได้ทั้งโรคทางศัลยกรรมและนรีเวชกรรม

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เอง ในประเทศไทย ได้มีการดำเนินการมานานพอสมควร คือ ประมาณ 30 ปี แต่..เป็นการผ่าตัดเล็กๆน้อย เช่นทำหมัน หรือทำกิ๊ฟ (GIFT)…. ประวัติศาสตร์ของการผ่าตัดผ่านกล้องนั้น มีวิวัฒนาการ ดังนี้
พ.ศ. 2412 (ค.ศ. 1869) Pantaleoni เป็นผู้เริ่มต้นทำการส่องกล้องเข้าในโพรงมดลูกสำเร็จและใช้ไฟฟ้าจี้เนื้องอกในโพรงมดลูก (Uterine polyp)
Palmer ชาวฝรั่งเศส ในปีพ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) และSemm ชาวเยอรมัน ในปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) ได้ทบทวนการผ่าตัดโดยเจาะท้องส่องกล้อง (Laparoscopy) และปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) Dekok ได้ทำการเจาะท้องส่องกล้องผ่าตัดไส้ติ่งสำเร็จเป้นครั้งแรก
ว่าไปแล้ว ศัลยแพทย์เป็นผู้ที่บุกเบิกการผ่าตัดใหญ่ภายในช่องท้องผ่านกล้องได้ก่อน โดยในปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) Phillipe Mouret ได้รายงานผลสำเร็จของการเจาะท้องส่องกล้องผ่าตัดถุงน้ำดีเป็นครั้งแรก ที่เมือง Lyons หลังจากนั้น วงการแพทย์ทางนรีเวช ก็ตื่นตัว และพัฒนาการผ่าตัดผ่านกล้องมากขึ้นเรื่อยๆ
พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) Harry Reich ได้ทำผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองในคนไข้สตรีที่เป็นมะเร็งรังไข่ได้สำเร็จ (laparoscopic lymphadenectomy for treatment of ovarian cancer) ในปีถัดมา ยังได้ทำการผ่าตัดมดลูกผ่านการเจาะท้องส่องกล้อง โดยใช้เครื่องจี้ชนิด bipolar
พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) มีรายงานการเจาะท้องส่องกล้องผ่าตัดทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เนต โดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic Telesurgery).สำเร็จเป็นครั้งแรก
การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยแล้ว เพิ่งมีการพัฒนาจนสามารถผ่าตัดอย่างสลับซับซ้อนได้ไม่นานนัก คือ ในช่วงประมาณ 10 ปีมานี้ อย่างไรก็ตาม..ความสามารถของแพทย์ไทย ถือว่า ไม่แพ้ชาติอื่น ปัจจุบัน เรามีแพทย์จำนวนหนึ่งที่สามารถผ่าตัดมะเร็งรังไข่ได้เป็นอย่างดี
การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้น เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้าอย่างยิ่งยวดเกี่ยวกับการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ยักษ์ใหญ่ของโลก อันได้แก่ สหรัฐ และเยอรมันกำลังช่วงชิงความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี่ทางด้านนี้ ปัจจุบัน แพทย์ในโรงพยาบาลระดับแนวหน้าบางแห่งของประเทศทั้งสองสามารถผ่าตัดทางไกลผ่านกล้องได้โดยใช้หุ่นยนต์….จากที่กล่าวมา ทำให้เชื่อได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ คงมีการผ่าตัดทางไกลข้ามประเทศได้สำเร็จอย่างไม่ยากเย็น
ภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม “Chocolate cyst” เป็นโรคที่พบมากในกลุ่มสตรีที่มีอายุอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือ 15 – 45 ปี ในทางการแพทย์ ถือว่า กรณีที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด การผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic surgery) เป็นการรักษาที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดรอยโรคที่ลึก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนกับลำไส้และหลอดไตได้
โรคของรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรง (Benign ovarian tumor) เช่น Dermoid หรือ Chocolate cyst ไม่ใช่ปัญหาของนรีแพทย์อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากการผ่าตัดผ่านกล้องไม่ยุ่งยาก และให้ผลดี เพียงแต่ว่า ก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องได้รับการประเมินอย่างรอบคอบ เพื่อแยกจากโรคมะเร็งรังไข่ ทุกวันนี้ มีแพทย์ที่ให้บริการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชไม่น้อยกว่า 300 คน และยังมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการจัดฝึกอบรมฝึกหัดผ่าตัดผ่านกล้องตามโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดสหสาขาผ่านกล้องไทย – เยอรมัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งศาสตรจารย์ นายแพทย์ พงษ์ศักดิ์ ชัยศิลป์วัฒนา เป็นผู้ก่อตั้ง
สำหรับมะเร็งทางนรีเวชของสตรีนั้น การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) นับว่า เป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะกับสตรีที่เป็นมะเร็งระยะแรก ในต่างประเทศ มีทำกันมาก ตามโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์แถบทวีปยุโรปและอเมริกา ส่วนในทวีปเอเชีย มีทำกันมากที่ประเทศไต้หวัน ปัจจุบัน โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ วชิระพยาบาล (Bangkok Metropolitan Administration [BMA] Medical College and Vajira Hospital) ได้มีการพัฒนาการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้องให้กับคนไข้มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ในสตรีมากว่า 2 ปีแล้ว
การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) ทางนรีเวช มีข้อดีหลายประการ อาทิ เจ็บปวดแผลผ่าตัดไม่มาก พักฟื้นไม่นาน และกลับไปทำงานได้เร็ว อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน , มีพังผืดยึดแน่น หรือมีรอยโรคฝังลึกอยู่ในอุ้งเชิงกราน ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายและรุนแรง เช่น กระเพาะปัสสาวะทะลุ , มีรูรั่วระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับช่องคลอด (vesico-vaginal fistula) , หลอดไตบอบช้ำ /ฉีกขาด เป็นเหตุให้ไตวาย รวมทั้งมีน้ำปัสสาวะไหลเข้าไปในช่องท้อง
ผู้ป่วยที่เหมาะสำหรับการเจาะท้องส่องกล้อง (laparoscopic surgery) เข้าไปผ่าตัด ได้แก่ ผู้ที่มีพังผืดในช่องท้อง (Pelvic adhesion) , ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) , ถุงน้ำรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรง (benign ovarian cyst) , เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri) แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ ข้อห้ามของการผ่าตัดด้วยกล้อง คือ การขาดประสบการณ์ของแพทย์ เครื่องมือไม่พร้อม ผู้ป่วยทนไม่ได้ต่อการใส่แก๊สเข้าในช่องท้อง หรือมีข้อห้ามในการดมยาสลบ
โรงพยาบาลตำรวจ เพิ่งมีการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชอย่างจริงจัง ราวปลายปี พ.ศ. 2548 ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดไม่น้อยกว่า 200 ราย สถิติการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช นับจาก 1 ส.ค. 2550 ถึง 1 ส.ค. 2551 (1 ปี) มีทั้งสิ้น 146 ราย แยกเป็นรายละเอียด ดังนี้

รูปแบบการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
1 Total laparoscopic hysterectomy (TLH) 18 ราย หรือ 12.33%
2 Laparoscopic assisted vaginal hysterectomy(LAVH) 33 ราย หรือ 22.60%
3 Laparoscopic adnexectomy (LOC/LSO/LS/etc) 83 ราย หรือ 56.85%
4 Myomectomy 4 ราย หรือ 2.74%
5 Diagnostic laparoscopy (s/c appendectomy) [Dx Lap] 4 ราย หรือ 2.74%
6 Excision and drain 3 ราย หรือ 2.05%

Total 146 ราย

ยุคแรกๆ ของการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชเมื่อราว 10 กว่าปีก่อน ผลของการผ่าตัดเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมากมาย จนนรีแพทย์จำนวนหนึ่งต้องเลิกลาไป ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องมือทางการแพทย์ยังล้าสมัย อย่างไรก็ตาม นรีแพทย์ทั่วโลกได้พยายามพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดให้ดีขึ้นเรื่อยๆและรายงานวิธีการต่างๆมากว่า 10 ปี ที่พิเศษกว่านั้น คือ บริษัทอุปการณ์ทางการแพทย์ได้พัฒนาเครื่องมือขึ้นมาอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะเครื่องจี้ตัดเส้นเลือด ซึ่งเป็นผลให้การผ่าตัดในปัจจุบันเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อน
อันสตรีนั้น มีธรรมชาติของอวัยวะสืบพันธุ์ อาทิ มดลูก รังไข่ ซ่อนอยู่ภายในช่องท้อง ที่สำคัญ คือ อวัยวะเหล่านี้ วันหนึ่ง มันสามารถแปรเปลี่ยนเป็นโรคที่ทำร้ายร่างกายของผู้เป็นเจ้าของได้ บ้าง..ก็มาในรูปเป็นพังผืด ถุงน้ำ (Endometriosis) บ้าง..ก็มาในรูปเป็นก้อนเนื้อ (Tumor) จำพวกเนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) หรือรังไข่ (Ovarian Tumor) บ้าง…ก็เป็นเนื้อร้าย.. จำพวกมะเร็ง (Cancer) เกาะกินทำลายร่างกายสตรีผู้นั้น ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส โชคดี! ที่วิทยาการด้านผ่าตัดรักษามะเร็งก้าวหน้าไปมาก จึงสามารถช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ได้..โชคดียิ่งกว่านั้น ที่ปัจจุบัน การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) คุณหมอจำนวนมากสามารถทำได้และทำได้ดีด้วย
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *