โรคทาลาสซีเมียในคนท้อง

โรคทาลาสซีเมียในคนท้อง

ข้าพเจ้าเพิ่งได้อ่านจบหนังสือเรื่องสั้น ชื่อ “เสียงสะท้อนของแม่” ซึ่งเขียนขึ้นโดยพยาบาลวิชาชีพคนหนึ่ง เธอขียนขึ้นก็เพื่อสะท้อนความรู้สึกปวดร้าว เศร้าใจจากการที่ลูกของเธอไม่สบาย ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และได้รับการดูแล จากสถานพยาบาลต่างๆ อย่างไร้มนุษยธรรม.. ภาษาที่เธอเขียน แม้ไม่ได้บรรจงเรียบเรียง แต่ก็สละสลวย งดงามพร้อมด้วยอักขระพิถีพิถัน อาจเป็นเพราะงานเขียนชิ้นนี้ ผุดขึ้นและหลั่งไหลออกมาจากจิตใจของเธอ (ลองหาอ่านดูได้ใน www.drseri.com) ข้าพเจ้าเริ่มอ่าน ก็ต้องอ่านจนจบ เหมือนต้องมนต์สะกด อ่านไป ก็เกิดความรู้สึกคล้อยตาม ดื่มด่ำลงไปในส่วนลึกว่า ความทุกข์ของมารดาที่มีต่อลูกยามเจ็บป่วยร้ายแรงนั้น มีมากมายขนาดไหน ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความรักที่มีต่อลูกของมารดาทุกคน มีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรใดๆในโลกนี้..

อนึ่ง ข้าพเจ้าสังเกตว่า สิ่งเล็กๆน้อยๆของความรู้รอบตัวเรา บางครั้งมันก็สำคัญ จนสามารถช่วยเหลือให้เราปลอดภัย หรือทำลายชีวิตของเราได้เลยทีเดียว.. ซึ่ง..บางทีเราอาจต้องแลกบทเรียนบทหนึ่ง ด้วยชีวิตน้อยๆของมนุษย์คนหนึ่ง….ยกตัวอย่าง ควันธูปในกุฏพระ ที่คลุ้งตลบอบอวนอยู่ตลอดเวลา สามารถทำให้พระภิกษุ(ดัง)รูปหนึ่งเสียชีวิต เนื่องจาก ทุกๆวัน พระรูปนั้นจะสูบเอาควันธูปเข้าไปเต็มปอด.. นานวันเข้า..นับเป็นเวลาหลายปี ในที่สุด ควันธูปนั้นก็ส่งผลให้พระท่านป่วยเป็นมะเร็งปอดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา…ส่วน..กรณีของทารกน้อยในครรภ์ที่คุณแม่เป็นทาลาสซีเมียชนิดรุนแรง ก็เช่นกัน อาจมีผลทำให้ตัวทารก ตลอดจนครอบครัว ต้องทุกข์ทรมานไปเป็นเวลานานแสนนาน ซึ่ง…ในที่สุด เด็กทาลาสซีเมียคนนั้น ก็เสียชีวิต ในวัยเยาว์

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวหนึ่งน่าสนใจมาก และให้ข้อคิดสะกิดใจแก่ข้าพเจ้า.. วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นประธานยุติการตั้งครรภ์ (แทนคนเดิมที่ติดธุระด่วน) ชั่วคราว ให้กับคุณรัชนีวรรณ เนื่องจากมีการตรวจพบว่า ทารกในครรภ์ของเธอ เป็นโรคทาลาสซีเมีย ชนิดเลือดจางรุนแรง ซึ่งมีชื่อว่า Beta thal E major  

แม้คุณรัชนีวรรณจมีะอายุเพียง 23 ปี แต่..เธอก็ตั้งครรภ์ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2  แล้ว.. ลูกคนแรกของเธออายุ 2 ขวบปี แข็งแรงดี เพศชาย จากประวัติการตรวจร่างกายของคนไข้ คุณรัชนีวรรณ ได้รับการตรวจเลือด ผลเป็น  Hb E trait with or without alpha thal…ส่วนสามีของเธอ ได้รับการตรวจเลือด พบว่าเป็น Beta Thal trait  with or without alpha thal …เพียงแค่นี้ ก็คงไม่มีใครเดาออกว่า เธอจะโชคร้ายแค่ไหน.. แต่..ก็เข้าข่ายมีภาวะเสี่ยงต่อโรคโลหิตจางรุนแรง….ข้าพเจ้ายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานเลยว่า มีความรู้เกี่ยวกับโรคทาลาสซีเมีย เพียงระดับพื้นฐานเท่านั้น ความรู้ที่ลึกซึ้ง คงต้องสอบถามจากท่านผู้รู้ต่อไป

เท่าที่ทราบ คือ เด็กที่เป็น homozygous β-thalassemia major [β-thalassemia/Hb E:- β0/βE]) จะเริ่มมี อาการซีดตั้งแต่ อายุ 2 ขวบ นอกจากนั้น ยังพบอาการอื่นๆอีก อาทิ ตับ ม้ามโต รูปโครงสร้างใบหน้าเปลี่ยน (thalas-semic faces) การเจริญเติบโตของร่างกายไม่สมอายุ หากเด็กคนนั้นไม่ได้รับเลือดอย่างเพียงพอ เขาจะมีอาการซีดมาก  และเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคในกลุ่มเบต้าธาลัสซีเมีย ชนิดนี้ คนไข้มักมีอาการซีดอย่างรุนแรง โดยอาการซีดจะปรากฏตั้งแต่อายุเพียง 6 เดือน เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับเลือด (transfusion dependent) ทดแทนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง..ส่วนใหญ่…เด็กที่ได้รับการดูแลแบบไม่ดีนัก  มักจะเสียชีวิต ภายในอายุไม่ถึง 20 ปี

ดังนั้น ในวันที่เรียกคุณรัชนีวรรณ มาแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการยุติการตั้งครรภ์  พอคุณรัชนีวรรณทราบถึงความรุนแรงของโรคดังกล่าว เธอจึงขอให้ทางโรงพยาบาลช่วยทำแท้งบุตร เพื่อเห็นแก่เธอและครอบครัว

ข้าพเจ้าลองทบทวนประวัติของคนไข้ ก็พบว่า ..ท้องแรก คุณรัชนีวรรณคลอดเอง ราว 2 ปีก่อน ได้ลูกชาย แข็งแรงดี มีน้ำหนักแรกคลอด 2990 กรัม สำหรับครรภ์นี้ คุณรัชนีวรรณเริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 7 สัปดาห์ และเข้ารับการตรวจตามนัดทุกครั้ง เมื่อเธอตั้งครรภ์ ได้ 8 สัปดาห์ เธอก็ได้เข้ารับการอบรมความรู้เรื่องทาลาสซีเมีย เนื่องจาก เธอมีความเสี่ยง ที่จะได้ลูกที่เป็นโรคเลือดชนิดรุนแรง.. พออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ คุณรัชนีวรรณก็ถูกส่งตัวไปพบกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแม่&เด็ก (MFM  = maternal fetal medicine)  และได้รับการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์

การฝากครรภ์ของเธอ เป็นไปด้วยดี จวบจนอายุครรภ์ได้ 18 สัปดาห์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องอัลตราซาวนด์ (MFM = maternal fetal medicine) ได้ขอเจาะน้ำคร่ำ เพื่อส่งตรวจ DNA ที่โรงพยาบาลศิริราช.. หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ผลก็ปรากฏออกมาว่า ทารกเป็นโรคทาลาสซีเมีย ชนิดรุนแรง (β-thalassemia/Hb E ..β0/βE) ตอนนั้น คุณรัชนีวรรณตั้งครรภ์ ได้ 20 สัปดาห์ หรือครึ่งทางของระยะการตั้งครรภ์ พอดี

การประชุมว่าด้วยการทำแท้งของคณะกรรมการฯ เป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่คุณรัชนีวรรณตั้งครรภ์ได้ 21 สัปดาห์.. เนื่องจาก ปัจจุบัน โรคทาลาสซีเมีย β-thalassemia/Hb E ..β0/βE ชนิดนี้ สามารถรักษาได้แล้ว ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก…แต่ แน่นอน..คงต้องเสียเงินเสียทองจำนวนมากมาย  การประชุมครั้งแรก จึงยังไม่มีข้อยุติ..คณะกรรมการฯของโรงพยาบาลขอให้คุณรัชนีวรรณกลับบ้านไปปรึกษากับญาติพี่น้องอีกครั้งและหาข้อสรุปให้ได้

ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ ข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยบังเอิญ ซึ่ง…คุณรัชนีวรรณยังคงยืนยันที่จะขอให้ทางโรงพยาบาลตำรวจทำแท้งเพื่อการรักษา คุณหมอเด็กถามคนไข้ในที่ประชุมว่า ‘ถ้าเด็กรอดชีวิต คุณจะยินยอมเลี้ยงดูลูกคุณหรือไม่..’ คนไข้พยักหน้ายอมรับ…ส่วนคุณหมอเจ้าของไข้ กลับพูดอย่างแข็งขันว่า ‘ถ้าอายุครรภ์ของคนไข้ มากกว่า 24 สัปดาห์  ผมจะไม่ทำแท้งให้ เพราะเด็กตัวโตแล้ว.. ถ้าจะให้ผมทำแท้ง.. ก็ต้องรีบทำ ภายในสัปดาห์นี้’

คุณรัชนีวรรณได้เข้ามานอนห้องพิเศษของโรงพยาบาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมกับญาติผู้หญิงคนหนึ่งและลูกชาย…. คุณหมอเจ้าของไข้ ได้สั่งการให้พยาบาลใช้ยาเหน็บ ชื่อ Cytotec สอดใส่ในช่องคลอด ครั้งละ 2 เม็ด ณ เวลา 23 นาฬิกาของวันนั้น..และ 4 , 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น (วันจันทร์)

เช้าวันจันทร์ ขณะที่พวกเราสูติแพทย์กำลังประชุมวิชาการกัน แพทย์ประจำบ้านคนหนึ่ง ก็วิ่งกระหืดกระหอบขึ้นมา พูดว่า “ตายแล้ว!!  ผลรายงานจากโรงพยาบาลศิริราช บอกว่า ลูกคุณรัชนีวรรณ ไม่ได้เป็น โรคทาลาสซีเมียชนิดรุนแรง (Unaffected) แต่..เราได้เหน็บยาไปแล้ว ตั้งแต่เมือคืน” ข้าพเจ้าฟังแล้ว แทบจะช็อค เพราะความผิดพลาดดังกล่าวอาจนำพาให้พวกเราติดคุก..อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง รีบรุดออกจากห้องประชุม และลงไปยังหอผู้ป่วยพิเศษ คุณหมอได้ตรวจภายในให้กับคนไข้ ปรากฏว่า ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ซึ่งหมายถึงว่า เราไม่สามารถยับยั้งกระบวนการแท้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แล้ว  ข้าพเจ้าได้แต่ครุ่นคิดอย่างหนักและภาวนาให้เราสามารถแก้ปัญหาครั้งนี้ลุล่วงไปได้ในที่สุด.. แต่..จะมีปาฏิหาริย์หรือ??

ตอนเที่ยง คนไข้แท้งบุตรออกมา เป็นทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 620 กรัม ลูกคุณรัชนีวรรณ หายใจได้ 3 เฮือก ก็สิ้นลม..จากโลกนี้ไป ถัดจากนั้น ครึ่งชั่วโมงรกก็คลอด.. สรุปว่า คนไข้ปลอดภัย ขณะนั้น ข้าพเจ้ากำลังทานอาหารกลางวันอยู่ที่แผนกธุรการ สูตินรีเวชกรรม.. คุณหมอ คนที่วิ่งลงไปดูคนไข้ตอนเช้า ได้เข้ามารายงานกับข้าพเจ้าว่า “จริงๆแล้ว!!! ก็ไม่ได้ผิดพลาดอะไรหรอกครับ พอดีแพทย์ประจำบ้าน ดันไปรื้อค้นประวัติเก่า และเอาใบรายงานฉบับเดิมของลูกคนแรกของคุณรัชนีวรรณ ซึ่งได้รับการวินิจฉัยเป็น Unaffected แต่..ในครรภ์นี้ ใบรายงานผล DNA ของน้ำคร่ำ ยังมาไม่ถึง.. แต่..เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศิริราชได้กรุณาโทรศัพท์มาบอกล่วงหน้าว่า ทารกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเลือดร้ายแรงดังกล่าว เพื่อให้ทางเราดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง (ทำแท้งเพื่อการรักษา) ในที่สุด..ใบรายงานก็ถูกส่งตามมา ยืนยันตามที่โทรศัพท์มาบอก.. ”  คุณหมอทุกท่านที่ได้ยิน ต่างพากันถอนหายใจแบบโล่งอก เสมือนยกของหนักที่กดทับ ทิ้งไป สรุปคือ พวกเราได้ทำแท้งให้กับคุณรัชนีวรรณ ถูกต้องตามผลการตรวจ DNA แล้ว

ก่อนหน้านี้ ราว 2 เดือน ก็เกิดเรื่องราวในทำนองเดียวกัน.. คุณแม่คนหนึ่ง ตั้งครรภ์ที่ 2..  ลูกของเธอคนแรก เป็นโรคทาลาสซีเมีย  β-thalassemia/Hb E ..β0/βE ชนิดรุนแรงเหมือนดังที่กล่าวมาข้างต้น เธอและครอบครัวได้ดูแลลูกคนแรก อย่างทุกข์ยาก เป็นเวลานานกว่า 5 ปี เพราะต้องพาลูกเข้าออกโรงพยาบาลใกล้บ้านบ่อยมาก เพื่อรับการถ่ายเลือด และรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ..ปัจจุบัน ลูกเธอก็ยังไม่ได้ไปเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก.. พอเธอตั้งครรภ์ที่ 2 และได้รับการตรวจ DNA จากน้ำคร่ำ พบว่า เป็นโรคนี้อีก.. เธอจึงขอเข้ารับการทำแท้ง.. ซึ่ง.. คณะกรรมการยุติการตั้งครรภ์ของโรงพยาบาลตำรวจชุดก่อน ก็พิจารณาอนุมัติตามที่ร้องขอ คุณหมอเจ้าของไข้ ก็ได้ดำเนินการให้…ด้วยใจที่เมตตา..

วันนี้ เสียงเพลงบรรเลง ที่ข้าพเจ้าใช้ฟังประกอบการเขียนหนังสือ แปรเปลี่ยนไป..มันให้ความรู้สึกที่เปลี่ยวเหงาเหลือเกิน..คงเพราะ ข้าพเจ้าเพิ่งได้ร่วมกับผู้อื่นในการกระทำสังฆกรรม ด้วยการพรากชีวิตน้อยๆชีวิตหนึ่ง ไปจากโลกนี้….ใครเล่า !! อยากจะทำบาป แต่..หากเป็นเรา ที่เกิดเป็นโรคนี้ขณะยังเป็นทารกน้อยในครรภ์ โดยมีญาณทิพย์ทราบว่า ต่อไปภายภาคหน้า จะมีอนาคตเป็นอย่างไร… ก็คงไม่มีใคร..อยากจะเกิดมามีชีวิตอยู่บนโลกนี้..ทุกคนคงยินดีให้มีคนทำแท้ง และทำลายชีวิตของตนในครรภ์อย่างแน่นอน….

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ.  นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *