เสียงสะท้อนจาก แม่คนหนึ่ง (เขียนโดย โสภา สายวรรณ)

คำนำ   :

เกิด แก่ เจ็บตายเป็นสิ่งที่ใครหลีกเลี่ยงไม่ได้  ครอบครัวไหนมีคนป่วยจะเป็นครอบครัวที่ความทุกข์อย่างมาก  ยิ่งถ้าการเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่  ความทุกข์ทรมานยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

คุณภาพการบริการสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ป่วยและญาติ  แต่ก็ต้องยอมรับว่าการบริการสาธารณสุขไทยคุณภาพยังไม่เท่าเทียมกัน  บางพื้นที่มีคุณภาพต่ำ  ถึงจะมีการทำโรงพยาบาลคุณภาพ  (HA)  เพราะมันยังการันตีไม่ได้ว่าโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินจะมีคุณภาพจริง

หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนเสียงหนึ่งของระบบสาธารณสุขไทย  ที่หวังว่ามันจะสามารถให้บุคลากรทางการแพทย์วงการสาธารณะสุขไทย  ได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์ของประชาชน  ผู้เขียน : โสภา   สายวรรณ

                                                                                                                        

 

ครอบครัวสุขสันต์

ครอบครัวของฉันนับว่าเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบอีกครอบครัวหนึ่ง ฉันมีลูก 2  คน  เป็นเด็กผู้ชายทั้งคู่ คนโตชื่อน้องโชกุน  อายุ  3  ขวบ  คนเล็กชื่อน้องโชกันต์  อายุ  8  เดือนกว่าๆ

ตัวฉันเองเป็นพยาบาลวิชาชีพ  เดิมเคยทำงานที่โรงพยาบาลท่าศาลา  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ประมาณ 7 ปี  ฉันทำงานด้วยความรัก  ด้วยอุดมการณ์ที่สูงส่ง  ทุ่มเทกับการทำงานมาก  ชอบการพัฒนางาน  มีความสุขทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยและญาติ  จนวันหนึ่งเพื่อครอบครัวฉันต้องละทิ้งอุดมการณ์มาอยู่โรงพยาบาลเอกชนที่กรุงเทพมหานคร  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเล็กๆ แต่ให้เวลาฉันดูแลครอบครัวได้มากขึ้นพร้อมกับรายได้ที่มากขึ้น  ฉันเลือกทำงานประมาณ  20  วัน  และหยุดยาวครั้งละ 10  วัน   เพื่อกลับบ้านที่จังหวัดอุดรธานีซึ่งตากับยาย (พ่อกับแม่ของฉัน)จะช่วยดูแลเด็กๆให้  ส่วนแฟนของฉันเป็นตำรวจพลร่ม  ค่ายนเรศวร  กินอุดมการณ์เหมือนกัน  สมัครลงไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ปฏิบัติงานที่อำเภอบันนังสตา  จังหวัดยะลา  จะทำงาน  20  วัน  หยุด  10  วันเช่นกัน   ทำให้เราทั้งคู่มีเวลากลับบ้านพร้อมกันทุกเดือน

ถึงเราจะทำงานกันคนละที่  อยู่กันคนละทิศละทางแต่เราก็จะต้องมารวมตัวกันให้ได้ในแต่ละเดือน  เราจะไปเที่ยวด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันและดูเหมือนทุกๆเดือน  ลูกๆก็จะตั้งหน้าตั้งตานับวันรอที่พ่อกับแม่กลับบ้าน  ครอบครัวเราจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบนี้  และดูเหมือนทุกอย่างจะลงตัวไม่ว่าจะเป็นเวลาและรายได้ที่เข้ามา

น้องโชกุนลูกคนโตจะเป็นเด็กฉลาด  พูดเก่ง  ว่านอนสอนง่ายสมกับที่ฉันประคบประหงมตั้งแต่อยู่ในครรภ์  อะไรที่เสริมพัฒนาการของลูกได้ฉันหามาให้หมด  ในแถบหมู่บ้านของฉันโชกุนเป็นเด็กที่โชคดีที่สุด  และฉลาดที่สุด  เป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของชาวบ้านละแวกนั้น  เมื่ออายุ  3  ขวบ  แล้ว  ฉันก็พาลูกเข้าโรงเรียนเอกชนแถวนั้น  ลูกใส่ชุดนักเรียนดูน่ารักมาก  เวลากลับจากโรงเรียนจะเล่าให้ฟังว่าทำอะไรบ้าง คุณครูเป็นอย่างไร  ซึ่งก็ทำให้ฉันและคนในครอบครัวยิ้มแก้มปริในความน่ารักน่าชัง  ช่างเจรจาของเค้าอย่างมากเลยเชียว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

­­­­ฉันรู้สึกมีความสุขมาก ในแต่ละเดือนจะวางแผนคิดโปรแกรมว่าจะพาลูกไปเที่ยวที่ไหน  โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่าความสุขกำลังจะหมดไป   ความทุกข์กำลังย่างกรายเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว

 

วิกฤตครอบครัว

                ไม่มีใครรู้หรอกว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นกับเราตอนไหน  ที่สำคัญคือเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไร

                วันที่  30  พฤษภาคม  2556  ฉันกับแฟนไปส่งโชกุนที่โรงเรียนก่อนที่จะขับรถขึ้นกรุงเทพฯ  เพื่อไปทำงานโดยไม่รู้เลยว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเห็นรอยยิ้มของลูก  ฉันขึ้นกรุงเทพฯได้แค่คืนเดียว  ส่วนแฟนฉันเตรียมตัวเดินทางไปจังหวัดยะลาต่อ  ยายโทรศัพท์บอกว่าโชกุนไม่สบาย  ปวดท้อง  อาเจียน

                เช้าวันที่  31  พฤษภาคม  2556  โชกุนเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดอุดรธานี  ด้วยอาการกระเพาะอาหารอักเสบ  แฟนฉันจึงขอลางานตีรถกลับจังหวัดอุดรธานีไปเฝ้าลูกทันที  ส่วนฉันคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมากมีตายายและแฟนดูแลลูกอยู่แล้วในโรงพยาบาลที่การันตีคุณภาพ  ด้วยเป็นโรงพยาบาลที่ผ่าน  HA  แล้วจึงไม่น่าจะมีอะไรมาก ซึ่งฉันจะโทรสอบถามอาการแผนการรักษาของแพทย์ทุกวัน  วันละประมาณ  2-3  ครั้งกับพยาบาลเจ้าของ  case  โชกุนนอนโรงพยาบาลได้  2  วัน  ยายอยากให้ฉันกลับเนื่องจากเห็นว่าอาการยังไม่ดีขึ้น ยังปวดท้องตลอด  ไม่ทานอะไร  อาเจียนวันละ  1-2  ครั้งและหมอก็ถอดน้ำเกลือแล้ว  ฉันก็บอกให้ยายใจเย็นๆ ไม่เป็นอะไรมากหรอกบางทีก็ต้องใช้เวลาบ้าง  เพราะถ้าฉันกลับคนที่เป็นพยาบาลจะเข้าใจ  การที่ตารางเวรออกมาแล้วจะต้องแลกเวรมันยากแค่ไหน  งานพยาบาลจะทิ้งไปเฉยๆค่อยกลับมาเคลียร์ทีหลังเหมือนงานอื่นไม่ได้  แต่เมื่อถูกรบเร้ามาก  ฉันจึงตัดสินใจแลกเวร  1  สัปดาห์เพื่อกลับบ้าน

                เช้าวันที่  2  มิถุนายน  2556  ฉันขึ้นรถทัวร์ที่หมอชิตยังไม่ได้คิดอะไรมากนั่งมองวิวทิวทัศน์ข้างทางพร้อมจินตนาการไปเรื่อยเปื่อยตามประสาคนเพ้อฝัน แต่ก็ไม่ลืมโทรศัพท์ไปสอบถามอาการลูกเป็นระยะจนเวลาประมาณบ่ายสองโมงเดินทางถึงขอนแก่นพอดี ยายโทรศัพท์มาบอกว่าโชกุนมีอาการชักเกร็ง  ฉันรีบถามยายทันทีว่าเรียกพยาบาลมาดูหรือยัง  คำตอบที่ได้กลับมาทำให้ฉันรู้สึกว่านี่หรือคือพยาบาลวิชาชีพ  คุณเรียนมาเพื่อจะบอกกับญาติผู้ป่วยว่า  “เด็กหนาวพัดลมก็เป็นอย่างนี้แหละ”  ไม่นานโชกุนก็มีอาการชักอีกครั้ง  ยายบอกมีตาเหลือก  ปากเบี้ยว  ลิ้นคับปาก  ฉันขอสายคุยกับพยาบาล  ซึ่งบอกฉันว่าตามคุณหมอมาดูแล้ว  หมอบอกว่าเป็นผลข้างเคียง  (Side  Effect) ของยาแก้อาเจียน(plasil)ที่ฉีดเข้าไป  และให้เจาะ  CBC  (ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด)    E’lyte  (เกลือแร่ในร่างกาย)  ซึ่งจะต้องรอผลเลือดก่อนค่ะ  ตอนนี้ฉันก็เริ่มร้อนรนกระวนกระวายใจเมื่อไหร่จะถึงซักที  ทำไมรถวิ่งช้าจัง  ก็ใจมันไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเตลิดไปไหนต่อไหนแล้ว

                ฉันโทรกลับหาแฟนให้ขอ  Refer (ขอส่งตัวรักษาต่อโรงพยาบาลศูนย์) เข้าตัวจังหวัด  ฉันจะรอที่โรงพยาบาลเพราะรถทัวร์จะจอดที่  บขส.  ในตัวเมือง  แต่แฟนบอกว่า  หมอบอกไม่ต้อง  refer  ไม่มีอะไร  เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ฉันใกล้ถึงโรงพยาบาลอำเภอที่บ้าน  ในใจยังคิดว่าหมอบอกแล้วไม่มีอะไรคงไม่เป็นอะไรหรอก  ขณะก้าวลงจากรถเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น  มีเสียงพูดว่า  “รีบๆมาดูโชกุนเร็วพยาบาลเต็มห้องแล้ว”  แค่นั้นแหละฉันรีบวิ่งไปที่ห้องผู้ป่วยทันที  ก้าวแรกที่ถึงประตูห้อง  สภาพที่ฉันเห็นคือโชกุนชักเกร็งเป็นช่วงๆ ไม่รู้สึกตัว  มีพยาบาล  2  คน  ยืนอยู่ข้างเตียง  ตายายและญาติๆ ยืนร้องไห้ ที่ปลายเตียงมีรถฉุกเฉิน (Emergency)  ฉันรีบปรี่เข้าไปดูลูก  ขอไฟฉายพยาบาลดูการขยายของม่านตาผลปกติดี    ฉันรีบตรวจดู  Signs  (ติดเชื้อในสมอง)   Stiff  Neck ผลเป็นบวก  (อาการคอแข็ง)  แค่นั้นแหละฉันปล่อยโฮร้องไห้ออกมากลั้นน้ำตาไม่อยู่  ฉันเคยแต่ประเมินอาการของคนไข้  และด้วยประสบการณ์ที่ทำงานในตึกเด็กมาทำให้ฉันพอจะรู้ว่าลูกของฉันเป็นอะไร  ฉันเหมือนคนไม่มีสติแล้ว  รู้แต่พยาบาลรีบวิ่งออกไปรายงานหมอทันที ฉันออกจากห้องกดโทรศัพท์หาหมอเด็กที่โรงพยาบาลท่าศาลาทันที  พูดไปร้องไห้ไป  หมอก็ให้กำลังใจฉัน  ฉันตั้งสติซักพักเข้ามาดูลูก  เช็ดตัวให้  เพราะรอติดต่อ  Refer  ระหว่างโรงพยาบาล

                ติดต่อ  Refer  ได้ประมาณทุ่มกว่าๆ เจ้าหน้าที่มาเข็นน้องขึ้นรถ Refer  มีพยาบาล  1  คน  ตายายและพ่อน้องขอไปกับรถ  Refer  ด้วย  พยาบาลก็อนุญาต  ญาติคนอื่นๆร่วม  10  กว่าคนยืนมองตามด้วยความเป็นห่วงเช่นกัน  ฉันนั่งกอดลูกน้ำตาไหลรินตลอดมองตากับยายและแฟนก็ไม่ต่างกัน ยิ่งตากับยายร้องไห้และเป็นลมหลายรอบ รถออกไปได้ประมาณ 2  กิโลเมตร  เสียงมือถือพยาบาลดังขึ้น  คุณหมอโทรตามให้กลับรถก่อน  เพื่อกลับไปใส่  Tube (ท่อชวยหายใจ)  ตอนนี้แหละที่ฉันดึงสติตัวเองกลับคืนมา  เออใช่ระยะทางเกือบ  110  กิโลเมตร  ต้องใส่  Tube  สิ  เกิดเป็นอะไรขึ้นมาระหว่างทางจะทำอย่างไร  พยาบาลก็มีอยู่เพียงคนเดียวด้วย

               

 

 

เสียงรถ  Refer  จอดหน้าห้อง  ER  (ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน)  ญาติๆ ของฉันที่กำลังจะเดินทางกลับบ้านเห็นโชกุนถูกเข็นเข้า  ER  ญาติๆรีบปรี่เข้ามาถามว่ากลับมาทำไม  เมื่อได้รับคำตอบเสียงตะโกนด่าหมอเป็นระยะ  หมอใส่ Tube  อยู่นานมาก  ผ่านไปเกือบจะชั่วโมงถึงใส่ได้ (อาจเป็นเพราะไม่มีความชำนาญ) และให้ Dilantin  loading  (ยากันชัก) ไป

                การ  Refer  คอนข้างจะทุลักทุเล  ระยะทางที่ไกล  ถนนที่ขรุขระ  บรรยากาศที่อึมครึม  ไม่มีคำพูดใดๆ  มีเพียงเสียงเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และน้ำตาที่ไหลริน

 

 

ณ  โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

                เวลาน่าจะล่วงไปประมาณ   4  ทุ่ม  โชกุนถูก  Admitted ที่ไอซียูเด็ก  แพทย์เวรและพยาบาลมาซักประวัติ  บอกรายละเอียดการเยี่ยม  ชื่อแพทย์เจ้าของไข้  ระเบียบปฏิบัติต่างๆ  โดยไม่ได้ให้ข้อมูลอาการแผนการรักษากับฉันเลย  ขณะนั่งรอเซ็นเอกสารนอนโรงพยาบาล  ฉันก็แอบเหลือบมอง  Order  (คำสั่งการรักษาของแพทย์)  มีให้เจาะเลือด  CBC  (ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด)  BUN,  CR  (การทำงานของไต)  E’lyte  (เกลือแร่ในร่างกาย)  H/C  (นำเลือดเพาะเชื้อ)  ตามด้วยการเจาะหลัง  และส่งน้ำไขสันหลังตรวจ  มีให้ฉีดยาฆ่าเชื้อต่อ  แค่เหลือบมองฉันก็เก็บรายละเอียดได้หมด  และอยากเป็นญาติที่ดีไม่อยากไปกดดันทีมดูแลได้แต่เงียบๆ ทำตัวนิ่งๆ และรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อน

                ในช่วงที่รอผลตรวจนั้นฉันก็รีบ Line หาหมอเด็กท่านหนึ่งทันทีเพื่อขอคำปรึกษา คุณหมอแนะนำให้ทำ CT brain  (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง)  ไปด้วย  เวลาผ่านไปประมาณ  2  ชั่วโมง  ฉันจึงสอบถามผลตรวจ  พยาบาลให้ฉันคุยกับหมอทางโทรศัพท์  ซึ่งคุณหมอก็อธิบายว่าผลตรวจฟันธงไม่ได้ว่ามีการติดเชื้อที่สมอง  เพราะตัวเม็ดเลือดขาวสูงเล็กน้อยยังก้ำกึ่งอยู่  ฉันจึงขอทำ  CT  brain  ได้รับคำตอบกลับมาว่าถึงจะทำตอนนี้การรักษาก็ไม่เปลี่ยนให้รอสต๊าฟตอนเช้า

 

 

 

CT  brain(เอกซเรย์คอมพิวเตอร์)

                เช้าวันที่  3  มิถุนายน  2556  ฉัน  แฟน  ตา  และยาย  ตั้งหน้าตั้งตารอหมอสต๊าฟซึ่งเป็นหมอเจ้าของไข้จนเวลาประมาณแปดโมงกว่าๆ หมอทั่วไปตรวจคนไข้เสร็จ  สต๊าฟมาตรวจตามและให้  CT  brain  ได้  แต่ฉันพึ่งนึกออกว่าโชกุนแพ้กุ้งจะฉีดสีไม่ได้  จึงรีบแจ้งคุณหมอ  “ถ้าฉีดสีไม่ได้ยังจะทำเหรอคะ”  หมอพูด  “ทำไปก็ไม่มีประโยชน์หรอกค่ะเพราะไม่เห็นอะไร”  พยาบาลเสริม  ฉันลังเลอยู่ครู่หนึ่ง  “ขอคิดดูก่อนนะคะ”   ฉันตอบไป  ผ่านไปประมาณ  10  นาที  ฉันกลับมาแจ้งคุณหมอว่า  “ยืนยันขอทำ  CT brain  ค่ะ  แต่ไม่ฉีดสี  เห็นเท่าไหร่ก็เท่านั้น  น่าจะพอประเมินได้คร่าวๆ”  คุณหมอรีบสวนกลับทันที  “ถ้างั้นต้องรอปรึกษาสต๊าฟก่อนนะคะว่าได้หรือเปล่า”  ฉันคิดในใจ แมร่งแค่ขอ  CT  brain  มันยุ่งยากมากเลยหรือไงเนี่ย  ขนาดฉันใช้สิทธิ์เบิกได้ข้าราชการนะเนี่ย

                สุดท้ายฉันได้คิว  CT  brain  ได้ทำประมาณบ่าย  3  โมง  โชกุนยังไม่รู้สึกตัว  ยังนอนแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว  แต่เอาท่อช่วยหายใจออกแล้วเนื่องจากท่อหลุด  และน้องก็ไม่ได้เหนื่อยมากขึ้น  ยังต้องให้ออกซิเจนอยู่  ใส่สายให้อาหารทางจมูกเพื่อให้ยา  มีสายน้ำเกลือ  เครื่อง  Monitor  ออกซิเจน  ความดันโลหิต ชีพจร  มีสายให้ยาหลายตัว  ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าเชื้อ  ยากันชัก

                ประมาณเกือบทุ่มได้ผล  CT  brain  หมอสต๊าฟแจ้งผลฉันว่ามีติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองและในเนื้อสมองด้วย  จะฟื้นมาเท่าไหร่หมอไม่รู้  ต้องดูอาการเป็นวันๆไป แต่ตอนนี้หมอให้ยาเต็มที่แล้ว  แล้วหมอก็เดินจากไป

                ทั้งแฟน  ตากับยายรีบเข้ามาถามฉันสรุปว่าเป็นอย่างไรบ้าง  ฉันยืนนิ่งน้ำตาคลอเบ้า  ทุกคนนิ่งเงียบร้องไห้ตามๆกัน  ฉันได้แต่รำพึงกับตัวเอง  สรุปแล้วลูกฉันเป็น  Meningoencephalitis  (ติดเชื่อที่เยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมอง)  เป็นไปได้อย่างไรกัน  ฉันฉีดวัคซีนครบ  และเป็นวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมด้วย

 

 

 

 

 

MRI  brain(การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า)

                ผ่านไปอีก  1  วัน  เช้าวันที่  4  มิถุนายน  2556  ฉันรู้สึกว่าความทุกข์มันช่างผ่านไปช้าเหลือเกิน   น้ำตาไม่เคยหมด  มันไหลได้ตลอดมาจากไหนไม่รู้  ทั้งที่แทบจะไม่ได้ทานอะไรเลยแม้แต่น้ำดื่ม

                พวกเรา  4  คน  เข้าไปเยี่ยมโชกุนตามปกติ  ทุกคนนัยน์ตาแดงก่ำ  น้องยังไม่รู้สึกตัว  แต่ขยับแขนขาได้บ้างเล็กน้อย  พยาบาลเข้าแจ้งว่าเดี๋ยวจะส่งทำ  MRI  brain  ฉันถามกลับว่าทำไมต้องทำคะ  “ก็คุณแม่อยากทำไม่ใช่เหรอคะ”  น้ำเสียงกระแทกแดกดันของพยาบาล  ฉันยังงงว่าทำไม  ฉันบอกตอนไหน  แต่ความคลางแคลงใจของฉันก็หมดลงเมื่อเจ้าหน้าที่เวรเปลที่พาโชกุนไปทำ  CT  brain  คุยกับฉันบอกว่า  น้องมีเลือดออกในสมองเท่าหัวไม้ขีด  ฉันปะติดปะต่อเรื่องราวได้นี้แหละคือสาเหตุที่ต้องทำ  ต้องมีอะไรเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง

                ประมาณ  5  โมงเย็น  เจ้าหน้าที่ห้อง  MRI  มารับโชกุน  ใช้เวลาทำประมาณ  40  นาที  น้องไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ ทั้งสิ้น  ทั้งที่ในห้อง  MRI  เสียงดังมาก

                ฉันรอผลด้วยใจจดจ่อ  นั่งไม่ติดร้อนรนกระวนกระวาย  ทุกคนมีอาการเช่นเดียวกันหมด  จนเวลาประมาณ  4  ทุ่ม  คุณหมอที่เป็นแพทย์เวรแจ้งผลว่า  “น้องมีเลือดออกในสมอง  มีเส้นเลือดสมองอุดตัน  เนื้อสมองตายบางส่วนจากสมองขาดเลือด  และมีติดเชื้อในเนื้อสมองด้วย  ซึ่งอาการแบบนี้ห้าสิบห้าสิบ  คุณแม่ทำใจด้วยนะครับ”

                เหมือนมีดกรีดลงกลางใจ  น้ำตาที่เคยไหลรินมันเหือดแห้ง  ฉันนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง  ก่อนอธิบายกับญาติหมอพูดว่าอย่างไร  ทุกคนปล่อยโฮเหมือนคนบ้า  ร้องไห้น้ำตาแทบเป็นสายเลือดเป็นแบบนี้เอง  ความรู้สึกที่เวลาฉันบอกญาติคนไข้ให้ทำใจมันแบบนี้เองเหรอ  ฉันไม่มีคำพูดใดๆ ได้แต่ยอมแพ้แก่โชคชะตา

 

 

 

 

 

ความหวัง

                เช้าวันที่  5  มิถุนายน   2556  วันที่ทุกคนไม่มีความหวังใดๆ  วันแห่งความมืดมน  ไม่มีแม้แสงไฟริบหรี่   พวกเรา  4  คน  นั่งกระจายร้องไห้กันคนละมุมหน้าห้องไอซียู  อยู่ๆไม่รู้อะไรดลใจ  ฉันต้องสู้ซิ  เพื่อลูก  จะมาปล่อยให้แล้วแต่โชคชะตาไม่ได้  ฉันต้องเข้มแข็ง  คิดได้แบบนั้น  ฉันรีบบอกแฟน  เพื่อนของแฟนมีพี่สาวเป็นพยาบาลที่นี่ไม่ใช่เหรอลองปรึกษาพี่เค้าดูซิ  เผื่อรู้จักหมอที่ไหนบ้าง

                ส่วนฉันโทรหาคนที่รู้จัก  risk   รายชื่อมาทุกคน   อยากย้ายลูกไปรักษาที่อื่น  เริ่มด้วยโรงพยาบาลที่ฉันทำงานอยู่ซึ่งยินดีที่จะนำรถ  Ambulance  (รถฉุกเฉินของโรงพยาบาล)  มารับพร้อมแพทย์และพยาบาล  1  คน  แต่ต้องสามารถติดต่อหาเตียงในกรุงเทพฯ ให้ได้ก่อน  ซึ่งจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพพอในการรักษา  ซึ่งฉันก็รู้ว่าการจะ  refer  คนไข้เป็นเรื่องยากมากยังเป็นปัญหาระบบสาธารณสุขไทย  จะรู้กันในวงการแพทย์  ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรามา  โรงพยาบาลศิริราช  โรงพยาบาลจุฬาฯ  โรงพยาบาลเด็ก  ฉันไม่รู้จักใครเลย  รู้จักแต่โรงพยาบาลตำรวจ  จึงรีบกดโทรศัพท์หาอาจารย์ซึ่งเป็นสูติแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจทันที  เพื่อหวังว่าอาจารย์จะรู้จักใครหรือมีเพื่อนๆ ที่โรงพยาบาลอื่นๆ  อาจารย์ก็รับปากว่าจะช่วย  จากนั้นฉันโทรหาหมอเด็กอีกท่านที่กรุงเทพฯ  คุณหมอได้บอกฉันว่าอาการของน้องตอนนี้ถ้าจะเข้ากรุงเทพฯ  การเคลื่อนย้ายจะเกิดอันตรายได้  น่าจะเข้าโรงพยาบาลใกล้ๆที่พอมีศักยภาพแถวๆนั้นน่าจะเป็นที่ศรีนครินทร์  ขอนแก่น  เพราะเป็นโรงเรียนแพทย์

                ฉันมืดแปดด้านจริงๆ ไม่รู้จักใครในศรีนครินทร์เลยแล้วจะ  Refer  ไปได้อย่างไรกัน  ฉันขอดูผล  MRI  เมื่ออ่านผลก็พอจะเดาได้ว่าอาการรุนแรงและแนวทางการรักษาจากที่ปรึกษากับเพื่อนและคุณหมอที่ฉันรู้จักทาง Line น้องควรได้ยาละลายลิ่มเลือด  ถ้าอยู่ที่นี่ต่อมีหวังลูกชายฉันต้องเป็นเจ้าชายนิทราจากสมองขาดเลือดแน่นอน  ยังไงฉันก็ไม่หมดความพยายาม ฉันโทรถามเพื่อนทุกคนว่าใครรู้จักหรือพอมีเพื่อนที่ศรีนครินทร์บ้าง  แต่เพื่อนๆของฉันส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคใต้แทบทั้งสิ้น

                อารมณ์ท้อผ่านเข้ามาอีกรอบ  คุณหมอโรคเลือดเข้ามาแนะนำตัว  เดี๋ยวจะให้เลือดน้องนะคะ เพื่อให้หยุดเลือดที่ออกในสมองก่อน  ให้  FFP  แล้วก็ให้ยาฆ่าเชื้อไปเรื่อยๆก่อนนะคะ  สิ้นคำพูดของหมอฉันรู้สึกมันไม่ตรงกับคำตอบในใจของฉัน   ไม่ได้นะฉันต้องย้ายโรงพยาบาลให้ได้

                ทันใดเหมือนมีแสงสว่าง  เหมือนฟ้ามาโปรด  พี่พยาบาลที่เป็นพี่สาวของเพื่อนแฟน  จะขอเรียกว่าพี่เอ (นามสมมุติ)  พี่เอได้เข้ามาพูดคุยลงความเห็นเหมือนกันว่าน่าจะได้ยาละลายลิ่มเลือด  แต่ที่นี่ไม่มีหมอสมองเด็ก  หมอสต๊าฟเจ้าของไข้คือหมอหัวใจเด็ก  “โอ้วแม่เจ้า  เอาหมอหัวใจมารักษาโรคหลอดเลือดสมอง  แถมยังไม่บอกฉันอีกว่าโรงพยาบาลไม่มีหมอสมองเด็ก  ลูกฉันอยู่ที่นี่ต่อคงมีแต่ตายกับตาย”  พี่เอได้แนะนำอาจารย์หมอท่านหนึ่งเป็นหมอระบบประสาทและสมองที่เก่งมากของภาคอีสาน  แต่พี่เอให้ข้อมูลว่าอาจารย์เป็นระดับผู้บริหารไม่รับ  case  แล้ว  ให้ลองไปคุยกับอาจารย์ดูก่อน  อาจารย์จะเปิดคลินิกตอนหกโมงเย็น  ตอนนี้เป็นเวลาบ่ายโมง  ฉันรีบขอประวัติการรักษา  ผลตรวจทุกอย่างจากโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีทันที  ตอนแรกพยาบาลทำท่าอิดออดไม่ยอมให้  บอกต้องรอแจ้งหมอเจ้าของไข้ก่อน  ฉันก็เข้าใจระบบและต้องให้เกียรติคุณหมอที่รักษาด้วย ผ่านไปครึ่งชั่วโมงฉันเข้าไปถาม “รับประวัติได้หรือยังคะ  พอดีต้องรีบไปให้คุณหมอที่โน่นดูค่ะ”  พยาบาลรีบตอบทันควัน  “ยังไม่ได้แจ้งคุณหมอเลยค่ะ  ยังไม่ว่าง”  ฉันทำสีหน้าไม่พอใจ  คุณพยาบาลคนเดิมรีบบอกใหม่ว่า  “เลือกเอาแล้วกันเอาไปถ่ายเอกสารเอาเองแล้วเอาแฟ้มมาคืนด้วยนะคะ”

                เมื่อได้เอกสารฉันกับแฟนรีบบึ่งรถไปขอนแก่นทันที  เราไปจอดรถหน้าคลินิกเป็นเวลาประมาณบ่ายสามโมงกว่าๆ เราจะพูดยังไงให้หมอรับ case  ถ้าหมอไม่รับ  case  ฉันจะไม่กลับบ้าน  ฉันจะก้มลงกราบเท้าขอร้องหมอเหมือนในหนังในละครว่างั้น  ฉันนั่งรอจนถึงเวลา  6  โมงเย็น เมื่อคลินิกเปิด  ใจฉันเต้นแทบไม่เป็นจังหวะกลัวต้องผิดหวัง  กลัวไปหมดทุกอย่าง  เมื่อถึงคิว ฉันกับแฟนเปิดประตูห้องเข้าพบคุณหมอ  มือเท้าฉันเย็นหมด  หัวใจแทบจะหยุดเต้น  หลังจากหมออ่านผล  MRI  แล้วพูดว่า  “มาก็มาซิ  ไม่มีปัญหา  มันก็ควรต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดนั่นแหละ”  หมอพูดจบเหมือนเสียงสวรรค์  ฉันมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งในทางที่มืดมนยังไงก็ยังมีแสงสว่างถึงแม้จะริบหรี่ก็ตาม  วันนี้เป็นวันแรกที่ฉันมีรอยยิ้มบนคราบน้ำตา

 

ความเชื่อ

คงปฎิเสธไม่ได้สังคมไทยอยู่คู่กับความเชื่อมานานยิ่งวิถีชาวบ้าน ความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ฉันเองก็เหมือนกันถึงจะเป็นคนยุคใหม่อยู่ในวงการแพทย์ แต่ฉันก็ยังมีความเชื่อในสิ่งที่เร้นลับอยู่บ้าง

ฉันทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น การบนบานศาลกล่าว ดูดวง สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ทำบุญ ตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลาฉันยอมรับเลยเมื่อก่อนส่วนใหญ่จะทำบุญด้วยการบริจาค ไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวาทำบุญกับพระสงฆ์ ฉันก็เพิ่งได้รู้ตอนนี้แหละว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่เกิดเป็นคนอุดรเป็นจังหวัดที่มีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสายวัดป่าหลายรูปมาก

ณ เวลานี้บอกได้เลยว่าใครให้ฉันทำอะไรฉันทำหมด ไม่ว่าจะตายแทนได้ฉันก็ยอม ฉันใช้เวลาส่วนหนึ่งในแต่ละวันตระเวณสะเดาะเคราะห์ทำบุญตามที่หมอดูบอก ถ้ามองในด้านการแพทย์แผนปัจจุบันคนยุคใหม่อย่างฉันก็บอกได้เลยว่าไร้สาระ ก็โรคนี้มันอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากผีสางนางไม้ที่ไหน  แพทย์พยาบาลส่วนใหญ่จะมองแบบนั้น แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันเราท่องกันจนติดปากว่าให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม กาย จิต สังคม จิตวิญญาณ แต่จริงๆแล้วเราดูแลได้ครบถ้วนจริงหรือไม่ มิติด้านจิตวิญญาณคงอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ อะไรที่ไม่ได้ขัดกับการแพทย์แล้วมันเป็นความหวังเป็นกำลังใจให้กับญาติเราก็ควรจะปล่อยไป

ความคิดมันโลดแล่นไปได้ตลอดเวลา คิดเรื่องโน้นกระโดดไปเรื่องนี้ นึกย้อนถึงตัวเองตั้งแต่ทำงานมาฉันกล้าพูดไม่อายปากตัวเองว่า ฉันมีความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย ใครเดือดร้อนช่วยได้ฉันก็ช่วย ส่วนแฟนก็อยากทำงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยคิดว่าถ้าตำรวจ ทหารทุกคนคิดแต่กลัวไม่อยากลงไปทำงานแล้วประชาชนจะอยู่อย่างไร เกิดมาชาติหนึ่งขอตายอย่างมีเกียรติดีกว่าตายอย่างหมาข้างถนน ถึงแม้จะเป็นวีรบุรุษเพียงชั่วข้ามคืนก็ตามที่ไม่กี่วันคนไทยก็ลืม ฉันจำได้มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฉันกำลังทำงานแฟนฉันโทรศัพท์มา “แม่พ่อโดนระเบิด”  ขณะนั้นญาติผู้ป่วยวิ่งมาตามฉัน “คุณพยาบาลคนไข้เป็นอะไรไม่รู้ค่ะ” แค่นั้นแหละฉันบอกแฟนว่า “แค่นี้ก่อนนะ”  นึกขำตัวเองถ้าตอนนั้นเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายฉันคงรู้สึกเสียใจทั้งชีวิต  ฉันย้อนถามตัวเอง “ แล้วเราจะทำดีไปเพื่ออะไรกัน ”

“ อย่าให้ความชั่วมาครอบงำจิตใจ นี่คงเป็นวิบากกรรมของเราจากนี้ไปเราต้องทำความดีให้มากกว่าเดิม เพื่อกรรมดีจะได้ส่งผลให้เราเจอแต่เรื่องดีๆ ” ทันใดความคิดมันก็แล่นเข้ามา ฉันกำลังสับสนความคิดมันถึงได้เรื่อยเปื่อยแบบนี้

ฉันต้องลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ต้องเข้มแข็งเพราะเมื่อหันมองคนรอบข้างทุกคนหมดอาลัยตายอยากทั้งนั้น ทุกคนฝากความหวังไว้ที่ฉัน ฉันจะอ่อนแอไม่ได้ ตั้งแต่เกิดมาฉันเจอปัญหามาตั้งมากมายยังผ่านไปได้ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งที่ทุกข์ทรมานที่สุดในตอนนี้ แต่ฉันก็เชื่อว่าสักวันมันต้องผ่านไป

 

ReFer รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น

วันที่ 6 มิย. 56 ตอนนี้โชกุนเริ่มลืมตาแต่ยังมองแบบไร้จุดหมายแขนขาเริ่มขยับ ยังคงมีอาการชัก แต่อย่างน้อยฉันก็ได้กำลังใจกลับมาเยอะ ฉันรอเวลาพยาบาลติดต่อประสานงานการส่งต่อ กว่าทางศรีนครินทร์ จะเคลียร์เตียงน่าจะเป็นช่วงบ่าย พวกเราเตรียมของพร้อมที่จะเดินทางแล้ว รอแล้วรออีกพยาบาลก็ไม่มาแจ้งสักทีว่าไปได้แล้ว จนบ่ายสองโมง “ ฉันจึงถามว่าจะได้ไปตอนไหนคะ ”พยาบาลบอกเดี๋ยวตามเรื่องให้ อ้าวผ่านไปครึ่งค่อนวันยังไม่มีตามเรื่องอีกหรอเนี่ย ฉันได้แต่คิดในใจ

ประมาณครึ่งชั่วโมง พยาบาลคนเดิมเข้ามาแจ้งว่า “ ติดต่อทางศรีนครินทร์แล้วนะคะ พอดีเกิดความผิดพลาดในการประสานงานพรุ่งนี้ค่อยไปนะคะ ” ฉันก็อยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นแล้วพรุ่งนี้เกิดเตียงไม่ว่างจะได้ไปไหม ฉันเริ่มกระวนกระวาย จึงตัดสินใจโทรหาหมอที่ รพ. ศรีนครินทร์ ได้คำตอบว่า “ ทางศรีนครินทร์ก็รออุดรติดต่อมา ทางอุดรก็รอศรีนครินทร์ต่างคนต่างรอ จนบ่ายสองหมอเลยโทรถามว่าคนไข้เป็นอะไรหรือเปล่าถึงยังมาไม่ถึง แต่ถ้ามาวันนี้เลยก็จะเลยเวลาราชการ เอาเป็นพรุ่งนี้ดีกว่าครับ ” สรุปแล้วฉันก็ต้องเสียเวลาไปอีก 1 วัน ด้วยเหตุผลผิดพลาดในการประสานงาน

 

วันที่ 7 มิย. 56 ฉันได้ไปถึง รพ.ศรีนครินทร์ โชกุนได้ admitted ที่หอผู้ป่วยเด็ก มีแพทย์เจ้าของไข้เป็นหมอ ระบบประสาทและสมอง (Neuro) และหมอ hemato ( ระบบเลือด ) คุณหมอ hemato  อธิบายแผนการรักษาอย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นการให้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งน้องมีจุดเลือดออกที่สมองด้วย ถ้าให้ไปอาจมีเลือดออกในสมองเพิ่มซึ่งหมอเตรียมห้องผ่าตัดไว้พร้อมแล้ว และจะต้องฉีดยาไปถึง 6 เดือน หลัง 6 เดือนลิ่มเลือดที่อุดตันยังไม่ละลายก็จะกลายเป็นพังผืดไปแล้ว คุณหมออธิบายโรคและการวางแผนการดูแลอย่างละเอียด ทำให้ฉันรู้สึกว่ามันต้องอย่างนี้สิ เพราะฉันต้องการข้อมูลที่ชัดเจน ญาติผู้ป่วยทุกคนก็คงคิดไม่ต่างจากฉันนักหรอก

ส่วนอาจารย์หมอ Neuro แจ้งว่า ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สมองครั้งนี้ ( Cerebral Sinovenouse thrombosis ) เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และให้การรักษาไปพร้อมๆกันตอนนี้ต้องควบคุมการชักให้ได้ก่อน

เมื่ออยู่ในระบบโรงเรียนแพทย์ จะมีทั้งนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล แพทย์ฝึกหัด ไม่รู้ใครต่อใคร ให้น้องเป็นกรณีศึกษา ( Case Study ) ฉันก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลหากการเจ็บป่วยของน้องครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยคนอื่น และเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์

 

 

สงสัยเลือดออกในสมอง

โชกุนได้ยาละลายลิ่มเลือด ( heparin) ผ่านไปประมาณ  3 วัน ดูซึมลง ไม่ยอมลืมตา คุณหมอมาตรวจก็ไม่ยอมตอบสนอง ฉันนิ่งเงียบความคิดเตลิดไปไกล ถ้ามีเลือดออกเพิ่มต้องผ่าตัดสมอง น้องคงจะเจ็บมากแค่นี้น้องเจ็บไม่พอหรือไง โดนเจาะเลือดแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เวรกรรมอะไรนะ ฉันต้องหยุดความคิดลง อธิบายแผนการรักษาให้กับครอบครัวฉันฟัง และต้องเก็บความรู้สึกทุกอย่างไว้ไม่แสดงความกังวลความอ่อนแอออกมาให้ใครเห็น

ฉันตามน้องมา CT brain ผลตรวจยังคงเดิมเลือดออกเท่าเดิม และตรวจระดับยาในเลือดก็ยังปกติ ฉันดีใจมากอยากตะโกนออกมา “ไม่ต้องผ่าตัดแล้วโว้ย ”

 

 

หาสาเหตุโรค

การตรวจคนไข้ที่นี่จะมีนักศึกษาก่อน ตามด้วยแพทย์ฝึกหัดแพทย์ประจำหอผู้ป่วย สุดท้ายเป็นอาจารย์หมอ เวลาที่อาจารย์หมอสอนฉันก็จะจับประเด็นและหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตทันที รวมทั้งมีการพูดคุยกับเพื่อนพยาบาลด้วยกัน โชคดีที่ฉันมีเพื่อนพยาบาลทางด้านสมองอยู่คนหนึ่งที่คอยให้คำปรึกษาต้องยอมรับว่าฉันไม่มีความรู้ด้านนี้สักเท่าไหร่ ตอนนี้ฉันทำงานในห้องคลอดและหน่วยทารกแรกเกิด

พอสรุปคร่าวๆ ได้ว่าสาเหตุน่าจะมาจากในเรื่องของความผิดปกติของหัวใจ ( Cardiac disorder ) ความผิดปกติของเลือด(hematologic disorder) ความผิดปกติของหลอดเลือด(vascular disorder) สุดท้ายภาวะขาดน้ำ ( Dehydration )

เริ่มปฏิบัติการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วันแรกผลการตรวจผิดปกติ ตรวจซ้ำอีก       2 ครั้ง และปรึกษาหมอโรคหัวใจ สรุปว่าปกติตัดประเด็นนี้ไป

ภาวะขาดน้ำ จากที่น้องมีประวัติอาเจียน ทานไม่ได้ น่าจะมีส่วนทำให้เกิด ส่วนในเรื่องของการติดเชื้อที่สมองไม่น่าจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากมายขนาดนี้ เพราะของน้องเกิดลิ่มเลือดอุดตันระดับลึกหลายจุด ถือว่ามีความรุนแรงมาก

ต้องหาสาเหตุไปเรื่อยๆก่อน ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ ผลเลือดที่ตรวจออกครบ มีผล Protein S ( โปรตีน S ) ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด มันช่างสลับซับซ้อนอะไรเช่นนี้อย่างกับหนังฆาตกรรมซ่อนเงื่อน  ยังต้องสืบต่ออีกว่า โปรตีน S ต่ำ จากอะไร มีอยู่ 2 ประเด็น พันธุกรรมและโรคมะเร็ง ฉันจับคนในครอบครัวทุกคน ฉัน แฟน พร้อมด้วยโชกันต์ ลูกคนเล็กมาตรวจโปรตีน S ทั้งหมด

สรุปผลการตรวจ ฉันปกติ แฟนและโชกันต์ต่ำ แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ขวบ มีโอกาสต่ำได้ รอให้ครบ 4 ขวบค่อยเจาะซ้ำอีกรอบ ส่วนแฟนเจาะซ้ำครั้งที่ 2 เพื่อยืนยันผล ผลครั้งที่ 2 ยังต่ำเหมือนเดิม คุณหมอจึงสรุป สาเหตุการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สมองครั้งนี้เกิดจากการขาดโปรตีน S และการขาดโปรตีน S เป็นสาเหตุจากพันธุกรรม และการเกิดครั้งนี้ภาวะขาดน้ำน่าจะมีส่วนทำให้เกิด  อัตราการเกิดโรคนี้พบประมาณ 0.67 ต่อประชากร 100,000 รายต่อปี และมีโอกาสเกิดซ้ำ ได้ร้อยละ 17

 

คำว่าพันธุกรรม ก็คงหมายถึง กรรมของวงตระกูลของเผ่าพันธุ์นั้นๆ นี่ก็คงเป็นกรรมของตระกูลฉัน จากนี้ไปทุกคนในครอบครัว ยกเว้นตัวฉันมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ตลอดเวลา ถ้ามันต้องเกิดขึ้นอีกฉันก็ไม่รู้ว่าฉันยังจะรับมันไหวอยู่หรือเปล่า

 

บทบาทผู้ดูแล

ระหว่างที่ลูกอยู่ รพ. ฉันจะเป็นผู้ดูแลหลัก ฉันลางานไม่มีกำหนดผู้ป่วยที่นอนนานควรมีกายภาพมาแนะนำมาประเมินบ้าง แต่นี่ไม่มีเลย ฉันเริ่มออกกำลังกายให้ลูกเพื่อไม่ให้ข้อติด จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการฝึกเดิน มีการพลิกตะแคงตัวเพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับและภาวะปอดอักเสบจากการนอนนานๆ คำพูดของหมอยังก้องอยู่ในหู “ สมองส่วนควบคุมการนั่ง การเดิน กำลังของกล้ามเนื้อเสียหาย การที่จะกลับมานั่งได้ เดินได้จะมาทีหลังต้องใช้เวลา สมองส่วนควบคุม การมองเห็น การสื่อสาร การกลืน ความคิด ความจำ ก็เสียหายเช่นกัน ” สรุปแล้วลูกฉันสมองเสียหายทุกส่วน  ฉันก็รับไม่ได้ที่ลูกฉันต้องกลายเป็นเด็กสมองพิการ ความเครียดเพิ่มขึ้นทุกวัน ดูเหมือนความหวังจะลดน้อยลง เวลานี้กำลังใจสำคัญที่สุด เราต้องสู้ ฉันให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆ   

2 สัปดาห์ ผ่านไป โชกุนรู้สึกตัว ลืมตามองหน้าสบตาแม่ ขยับแขน ขา ได้ มีแขน ขา อ่อนแรงซีกขวา ยังมีชักเป็นช่วงๆ พูดไม่ได้ กลืนอาหารไม่ได้ต้องให้อาหารทางสายยาง ฉันเริ่มฝึกลูกนั่งโดยตอนแรกไขหัวเตียงให้สูงก่อนจาก 30 องศา เพิ่มเป็น 45 และปรับเป็น 90 องศา  ฉันจะโทรปรึกษาขอคำแนะนำจากพี่นักกายภาพบำบัด รพ. ท่าศาลาที่เคยทำงานอยู่ และตามด้วยฝึกนั่งห้อยขาข้างเตียง นั่งขัดสมาธิ นั่งเหยียดขา ฝึกใช้มือยันเลื่อนตัวเอง ประมาณ 1 สัปดาห์ น้องสามารถนั่งได้เอง ต่อไปฉันฝึกให้น้องยืน ตอนแรกช่วยจับก่อนแล้วเริ่มปล่อยให้เค้าจับราวข้างเตียงยืนเอง ฝึกให้ก้าวขาเดิน ฝึกเดินขึ้นลงบันได  น้องเริ่มเดินได้ แต่เราต้องจับเดินก่อน หลังจากนั้นไม่นานนักกายภาพบำบัดมาแนะนำการฝึกกำลังกล้ามเนื้อมาประเมินข้อติด ฉันได้แต่คิดในใจ “ ลูกของฉันเริ่มเดินได้แล้วเพิ่งมาประเมินว่ามีข้อติดหรือไม่ การทำงานรวดเร็วเกินไปหรือเปล่านะ”

โชกุนเริ่มมีอาการไอมีเสมหะ หมอสงสัยมีภาวะปอดแฟบ ( lung atelactasis ) ซึ่งไปเอ็กซเรย์ปอด ( CXR ) มีปอดแฟบจริงๆ ฉันก็เริ่มปฎิบัติการเคาะปอดทันที และก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าฉันไม่ใช่พยาบาล ลูกของฉันจะเป็นอย่างไร ข้อจะติดเสียก่อนมั้ย เดินไม่ได้หรือเปล่า ปอดแฟบจะทำยังไง จะหายหรือเปล่า จะมีภาวะแทรกซ้อนอะไรตามมาอีก  นี่เหรอคือระบบการบริการที่ได้มาตรฐานแล้ว ถือว่าโชคดีที่ฉันเป็นพยาบาลยังพอมีความรู้บ้าง แล้วคนอื่นล่ะจะต้องแล้วแต่เวรแต่กรรมอย่างนั้นหรือ

 

เตรียมกลับบ้าน

โชกุนใกล้จะได้กลับบ้านแล้ว อาการปอดแฟบดีขึ้นยากันชักเปลี่ยนเป็นยากิน ยาละลายลิ่มเลือดฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังทุก 12 ชั่วโมง และต้องฉีดต่อจนถึง 6 เดือน แต่น้องยังกินทางปากไม่ได้ต้องให้ทางสายให้อาหาร ช่วงที่รอสังเกตุอาการชักหลังเปลี่ยนเป็นยากิน ฉันก็ฝึกการกลืนของน้องไปด้วย โดยลองให้น้องกินไอศกรีม น้องเริ่มกลืนฉันดีใจมาก วันที่ 2 เริ่มเป็นน้ำข้าวต้ม ถัดมาเริ่มเป็นโจ๊ก ปรากฎว่าน้องกลืนโจ๊กได้หลายช้อน

หลังจากอยู่ รพ. ศรีนครินทร์ครบ 1 เดือนเต็ม โชกุนกลับบ้านได้ อาการก่อนกลับบ้านที่ใครๆก็ไม่อยากเชื่อ เมื่อเทียบกับพยาธิสภาพ ของโรคแล้วน้องนั่งได้ เดินได้แต่เรายังต้องช่วยจับมือก่อน กลืนเป็นโจ๊กได้ ยังพูดไม่ได้ มันก็เหมือนปาฎิหาริย์ที่เค้ากลับมาได้ขนาดนี้ในเวลา 1 เดือน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การดูแลที่บ้าน

กลับมาอยู่บ้านฉันก็ต้องเหนื่อยขึ้นหลายเท่า แฟนก็กลับไปทำงานที่ยะลา ต้องดูแลเจ้าตัวเล็กด้วยจะมียายคอยช่วยอีกคน

                ฉันเริ่มหากิจกรรมเพื่อฝึกน้อง เริ่มจากการเดินพื้นเรียบโดยจูงมือเดินก่อน จากนั้นลองปล่อยมือให้เดินเอง ตามด้วยพื้นขรุขระ พื้นต่างระดับ เดินในสนามหญ้า เดินข้ามและหลบสิ่งกีดขวางฉันก็ใช้ของภายในบ้านนั่นแหละวางระเกะระกะให้น้องเดินหลบเดินข้าม  เมื่อน้องเดินได้ดี  ฝึกให้เดินเร็ว วิ่งเล่น ทำซ้ำๆบ่อยๆ ทุกอย่างที่ทำต้องใช้เวลาและความอดทนมากเพราะข้อเสียของเด็กไม่ทำตามเราอยู่แล้วและยิ่งมีความผิดปกติของสมองยิ่งยากมากขึ้น  เราจะต้องใช้เป็นการเล่นแทนเค้าถึงจะทำตาม ฉันก็ต้องย้อนให้ตัวเองกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเป็นเพื่อนเล่นกับเค้า วิ่งก็ต้องวิ่งด้วยกัน

ในส่วนของกล้ามเนื้อ จะฝึกให้น้องหยิบจับสิ่งของ จับบอลใส่ตะกร้า โยนลูกบอล การต่อตัวต่อ วาดรูประบายสี ปั้นดินน้ำมัน

นอกจากนี้ยังต้องฝึกด้านความคิด ความจำ อารมณ์ สังคม ไปด้วย อ่านหนังสือเล่านิทาน ร้องเพลงให้น้องฟัง ให้ดูการ์ตูน ดูสารคดี รายการเพลง พาน้องไปในสถานที่ชุมชน ไปในที่ที่เคยไป ในช่วงแรกๆ น้องจะกลัวทุกอย่าง กลัวคน มด แมลง จะกรี๊ด กรีดร้อง ร้องไห้คนก็หันมามอง ฉันก็ไม่เคยอาย ไม่ท้อแต่มุ่งมั่นจะต้องให้น้องหายกลัวให้ได้

ในเรื่องการกลืนอาหาร นักกิจกรรมบำบัดบอกวิธีการนวดปาก เพื่อฝึกกล้ามเนื้อปากให้แข็งแรง โดยให้นวดทั้งในช่องปากและข้างนอก น้องไม่ยอมอ้าปากให้จะกัดฟันไว้ตลอด ฉันนวดได้แต่ข้างนอกโดยเล่นผลัดกันนวดปาก ให้เค้านวดให้เราก่อน

ก่อนน้องออกจากโรงพยาบาลกลืนเป็นโจ๊กได้บ้างแล้ว ฉันก็เริ่มเปลี่ยนเป็นข้าวต้ม ให้กินไอศกรีมแท่งด้วยหวังให้เค้าฝึกแลบลิ้นในการเลียไอศกรีม เอาอมยิ้มมาให้ฝึกดูด เมื่อรู้สึกว่ากลืนข้าวต้มได้ดีเริ่มเปลี่ยนเป็นข้าวสวย ให้ลองเคี้ยวขนมขบเคี้ยว ฝึกดูดนมและน้ำจากหลอด

ในแต่ละวันฉันแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนเลย แต่ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ความรักที่มีต่อลูก ถ้าการเหนื่อยของฉันในวันนี้มันทำให้ลูกของฉันดีขึ้น มันก็คุ้มค่า ฉันอยากให้กำลังใจคุณแม่ทุกคนที่กำลังท้อแท้ประสบชะตากรรมอย่างฉันอย่ายอมแพ้ กำลังใจความหวังสำคัญที่สุด

เวลาผ่านไปอีก 1 เดือนหลังจากที่ฉันสรรหากิจกรรมทุกอย่างมากระตุ้นฝึกฝนร่วมกับการให้ยาตามแผนการรักษา น้องโชกุนเดินได้เอง วิ่งได้  เคี้ยวกลืนข้าวสวยได้ ยังเหลือการกลืนน้ำยังกลืนไม่ได้ ยังต้องให้น้ำทางสายยาง รับรู้และพอเข้าใจที่เราพูด ส่งเสียงอืออา เข้าสังคมเล่นกับเพื่อนๆได้ ฉันก็พอใจอาการของลูกในระดับหนึ่ง

ฉันต้องพาลูกไปติดตามการรักษาเป็นระยะ วันที่ 13 ส.ค. 56  เป็นอีกวันที่ฉันต้องไปพบคุณหมอ ซึ่งก็เป็นเวลา 2 เดือนกว่าๆ แล้วตั้งแต่เริ่มป่วยวันนี้คุณหมอได้แจ้งฉันว่าไปศึกษาโรคมาเพิ่มเติม น้องเค้าเป็นรุนแรงมากเป็นในเส้นเลือดส่วนลึกและเป็นในตำแหน่งที่ไม่ค่อยเป็นกัน การให้ฉีดยาละลายลิ่มเลือดแค่ 6 เดือนอาจจะไม่เพียงพอ แผนการรักษาจะเป็นอย่างไรต่อหมอจะลองปรึกษากับเพื่อนๆในโครงการวิจัย ถ้าไม่ได้คำตอบจะปรึกษากับอาจารย์ที่แคนาดา แล้วค่อยมาร่วมตัดสินใจกับคุณแม่อีกครั้ง และน้องมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากมีปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะขาดน้ำ มันเปรียบเหมือนพายุลูกที่ 2 เข้ามา มันเป็นความรู้สึกที่ทำฉันรู้สึกหมดกำลังใจ ถ้าเป็นซ้ำอีก งานนี้เลี้ยงไม่โตแน่นอน คำถามแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวสมอง “ แล้วฉันจะทำอย่างไงต่อ ”

            

 

 

 

 

ทบทวนเหตุการณ์

ฉันรู้สึกเครียดมาก วิตกกังวล กลัวไปซะทุกอย่าง ฉันขอเวลาอยู่กับตัวเองสักพัก ฉันมานั่งที่ริมสระน้ำสวนสาธารณะ นั่งเงียบๆคนเดียว แม้แต่น้ำมันไหลผ่านไปมันยังไม่ไหลย้อนกลับ แต่ทำไมปัญหาของฉันมันเหมือนจะผ่านไปแต่ทำไมมันยังวงเวียนกลับมาอยู่ได้ เวรกรรมอะไรนักหนา เอาน่ายังมีคนที่เจอเหตุการณ์แบบฉันหรือเจอวิกฤติที่มากกว่าฉันอีก ฉันให้กำลังใจตัวเอง แต่ก็อดที่จะคิดไม่ได้ถึง สิ่งที่มันยังค้างคาใจอยู่และมันก็คงไม่มีประโยชน์อะไรที่ฉันจะเก็บมันไว้ให้ตายไปพร้อมกับฉัน ฉันจึงอยากฝากให้คนอื่นได้รับรู้ ฉันอยากให้การเจ็บป่วยครั้งนี้ของน้องได้สร้างประโยชน์ให้สังคมไม่มากก็น้อย สิ่งที่อยากฝากให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หยุดคิดสักนิด

1.คนที่ขาดโปรตีน s ไม่ได้ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันทุกราย หากการเกิดครั้งนี้มีภาวะขาดน้ำเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด มันสะท้อนให้เห็นว่าการให้น้ำเกลือที่เพียงพอเหมาะสม ไม่ถอดน้ำเกลือออกในขณะที่เด็กยังเพลีย รับประทานไม่ได้ และยังมีอาเจียนอยู่เป็นสิ่งสำคัญมาก จุดเล็กๆเพียงเท่านี้ที่มันพลิกผันชีวิตของเด็กคนหนึ่งสร้างความทุกข์ให้กับครอบครัวหนึ่งทั้งชีวิต

 2.การตระหนักถึงความปลอดภัยในการส่งต่อผู้ป่วย อย่าลืมว่ามีกฎหมายมาตรฐานการ Refer ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2545 )ก่อนจะส่งต่อต้องมีวิธีการที่เหมาะสมปลอดภัย  ไม่ควรมาคิดได้ตอนออกรถไปแล้ว มิเช่นนั้นคุณจะถูกฟ้องร้องได้

3.หากพยาบาลมีความใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยและมีองค์ความรู้ให้เหมาะกับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ คงจะไม่มีคำว่า หนาวพัดลม หลุดออกมาแน่นอน

4.เมื่อ รพ.ศูนย์มีผลตรวจที่บ่งบอกภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งพบตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการ และไม่มีศักยภาพพอในการดูแลผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบุคลากรก็ตาม ควรพิจารณาประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักไม่ควรดันทุรังรักษาต่อเพราะมันจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและญาติอย่างมหาศาล รวมทั้งควรให้ข้อมูลแก่ญาติไม่ปิดบังอำพรางข้อมูล เพื่อให้ญาติรับทราบและมีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจในการดูแล ควรพิจารณาถึงสิทธิผู้ป่วยด้วย

5.ความเหมาะสมในการจัดสรรแพทย์ไปยัง รพ.ชุมชน ไม่ควรให้แพทย์จบใหม่หรือที่ไม่มีประสบการณ์ไปอยู่ด้วยกัน โดยขาดแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการดูแล

6.กระบวนการประเมินคุณภาพ HA  สรพ.คงต้องกลับมาทบทวนหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ เพื่อให้สามารถการันตีได้ว่า รพ.นั้นๆมีคุณภาพจริงไม่ใช่เพียงแค่ผักชีโรยหน้า

7.ควรให้ความตระหนักในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมจริงๆหากมองจุดนี้จะพบว่าปัญหาการฟ้องร้องแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

8.คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่กระบวนการเรียนการสอน ทำไมคุณภาพบุคลากรทางการแพทย์ถึงลดลงเรื่อย ๆไม่ว่าจะเป็นด้านองค์ความรู้และจรรยาบรรณวิชาชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสภาการพยาบาลหรือแพทยสภา คงต้องประเมินหาสาเหตุและแก้ไข

9.สุดท้ายฝากถึงคุณพยาบาลทั้งหลายอย่าใช้ข้ออ้างที่ว่าภาระงานมากมาทำให้ความใส่ใจคนไข้ลดลงและไม่พัฒนาตนเอง เพราะดิฉันก็เคยอยู่รพ.รัฐบาลที่มีภาระงานมากเช่นกันมา 7 ปีกว่า ๆ ขอแค่คุณใช้ใจในการดูแลผู้ป่วยคุณจะมีคำตอบให้กับตัวคุณเองว่าจะต้องบริหารจัดการตัวเองอย่างไร และคุณจะเข้าใจคำว่าทำงานภายใต้วิจารณญาณวิชาชีพไม่ใช่ตามคำสั่งแพทย์เป็นเช่นไร

คิดไปคิดมาฉันรู้สึกว่าถ้าฉันไม่ใช่พยาบาลไม่ได้มีความรู้อะไรเลย  รพ.สุดท้ายที่ฉันจะรักษาก็คงเป็น รพ.ศูนย์อุดรลูกฉันคงเป็นเด็กพิการสมบูรณ์ 100% จากที่ฉันเคยสัมผัสระบบโรงพยาบาลใน 3 ภาคโดยที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลการศึกษาหรือผลสำรวจที่ไหนฉันสรุปให้ว่าคุณภาพการบริการในภาคอีสานต่ำสุด ถึงเวลาหรือยังที่บุคลากรทางการแพทย์ในภาคอีสานจะลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองใหม่

 ฉันไม่อยากให้คนอื่นต้องพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ ฉันจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ รพ.ทั้งหลายได้พัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยจริงๆ แต่จากความพยายามของฉันที่จะสะท้อนกลับความด้อยศักยภาพนั้นดูเหมือนจะไม่เป็นผลไม่มีใครสนใจเสียงเสียงนี้ ฉันคงต้องยอมรับว่ามันแค่หนึ่งเสียงที่มันไม่มีพลังอำนาจใด แต่ฉันเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้ามีหลายๆเสียงเสียงเล็กๆนี้ก็จะมีพลังที่ยิ่งใหญ่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทสรุป

ฉันใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นเวลา 2 วัน มันอาจจะเป็นเพียงเวลาสั้นๆแต่ความอัดอั้นตันใจของฉันมันคงยาวนานตลอดชีวิต ภาษาอาจจะไม่สวยหรูแต่เขียนออกมาจากใจ ด้วยที่ฉันไม่มีพลังอำนาจพอที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุขได้ฉันก็ได้แต่หวังว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ จะช่วยฉันถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนการบริการเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงการบริการที่ต่ำศักยภาพ อย่างน้อยทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าใจญาติผู้ป่วยมากขึ้นจะได้พัฒนาการดูแลให้ครบองค์รวมจริงๆและเป็นกำลังใจให้กับญาติผู้ป่วยทุกคน

ส่วนบทสรุปของน้องโชกุนจะเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป

โสภา สายวรรณ

E-Mail  Chokunnoy@hotmail.co.th

Facebook โสภา สายวรรณ

 

 

 

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *