เมื่อหมอป่วย

เมฆหมอกในชีวิตมนุษย์ มักปิดบังดวงตาเรา ให้โง่เขลาอยู่เสมอ มองไม่เห็นสิ่งง่ายๆที่เป็นอันตรายรายรอบ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บ ที่แฝงมาในรูปลักษณ์ต่างๆ หากเราประมาทและผิดพลาดเพียงครั้งเดียว โรคร้ายก็อาจทำลายเรา จนไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้

‘สุขภาพ คือ ทั้งหมดของชีวิต’ เป็นสุภาษิตที่น่าสนใจ แต่ผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งข้าพเจ้า กลับไม่ค่อยเอาใส่ใจกับสุขภาพของตัวเอง ผู้คนเหล่านี้พากันละเลยต่อการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี.. ดังนั้น พอเจ็บไข้ขึ้นมา ก็มักจะมีอาการป่วยที่รุนแรง

ข้าพเจ้าเอง เท่าที่ข้าพเจ้าจำความได้ ไม่เคยล้มหมอนนอนเสื่อในโรงพยาบาลมานานกว่า 40 ปี.. แต่แล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้เกิดโรคประหลาดอย่างหนึ่งขึ้นในตัวข้าพเจ้า จนต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาล.. ที่ต้องเรียกว่า เป็น ‘โรคประหลาด’ ก็เพราะ โรคนี้ไม่เคยปรากฏอยู่ในความคิดของข้าพเจ้าเลย แต่กลับต้องมาทนทุกข์ทรมานอยู่กับมันเป็นเวลานาน ทั้งยังหลงทางในการรักษาอีกด้วย

เดือนมีนาคม ในปี พ.ศ. 2553 ข้าพเจ้าได้เดินทางไปประเทศอินเดียในเช้าวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ เพื่อส่งลูกชายเข้าศึกษาที่โรงเรียน กาสิก้า (Kasiga School) โรงเรียนแห่งนี้ ตั้งอยู่บนภูเขา ในเขตรัฐเดลาดูน (Dehradun) ห่างจากสนามบินนิวเดลลีประมาณ 240 กิโลเมตร ข้าพเจ้าใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์นานถึง 8 ชั่วโมง โดยจอดแวะร้านอาหารริมทางเพียงแห่งเดียว เมื่อรวมเวลาที่โดยสารบนเครื่องบินอีก 4 ชั่วโมง เป็น 12 ชั่วโมง ก็เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องล้มป่วย

วันนั้น ข้าพเจ้าเข้าพักที่โรงแรมบนภูเขาแดนภารตะ เมื่อเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ตกดึก ก็มีอาการหนาวสั่นสะท้าน โดยไม่ทราบสาเหตุ ข้าพเจ้า คิดเอาเองว่า น่าจะเกิดจากอากาศที่หนาวเย็นบนเทือกเขา เพราะอากาศที่นั่นเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ช่วงกลางวัน อุณหภูมิปกติ พออาทิตย์ลับขอบฟ้า อุณหภูมิก็แปรเปลี่ยนเป็นหนาว ที่อุณหภูมิประมาณ 12 – 15 องศาเซลเซียส ข้าพเจ้าต้องใส่เสื้อหนาว 3 ตัว และห่มผ้าอีกหลายผืน เพื่ออบอุ่นร่างกาย คืนนั้น ปากคอข้าพเจ้ามีอาการสั่นจนฟันกระทบกันเป็นระยะๆ บอกไม่ถูกว่า ทำไมอาการหนาวสะท้านจึงไม่หยุด??? ‘อาการหนาวสะท้านทรวง’ นี้เป็นอยู่นานหลายชั้วโมง จนเผลอหลับไปในตอนใกล้รุ่ง อาการอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าเข้าใจผิดในช่วงเวลานั้น คือ อาการปวดท้องน้อยลึกๆตลอดคืนนั้น ข้าพจ้าคิดว่า น่าจะเกิดเนื่องจาก อาหารมื้อเย็น ซึ่งเป็นอาหารเครื่องเทศของอินเดีย พอกินเข้าไปแล้ว ก็รู้สึกปวดท้องนิดๆทันทีตั้งแต่แรก และปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆยามดึก

ด้วยความเป็นหมอ ข้าพเจ้าจึงคิดถึงโรคง่ายๆก่อนที่น่าจะเป็น คือ ‘หวัด’ หรือ ‘ทางเดินปัสสาวะอักเสบ’ ข้าพเจ้ารีบรับประทานยาลดไข้ และยาฆ่าเชื้อ ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้พกพายาฆ่าเชื้อจำพวก Quinolone ที่ชื่อ Norfloxacine (400 mg) มาด้วย จึงหยิบมารับประทานในขนาด 1 เม็ด 2 เวลา (เช้า-เย็น) ร่วมกับ ยาลดไข้อีก 2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง ข้าพเจ้ามีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วจนคิดว่า หายแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ที่อินเดีย 3 คืน ก็เดินทางกลับสู่ประเทศไทย

เมื่อกลับถึงประเทศไทย ค่ำคืนนั้น ก็เข้าเวรประจำการโดยไม่หยุดพักผ่อน หลังจากนั้น ก็ดำเนินงานตามปกติ ทั้งยังทำการผ่าตัดใหญ่ในวันศุกร์อีกด้วย พอวันเสาร์ ข้าพเจ้าก็เกิดอาการหนาวสั่นสะท้านอีก ต้องนอนซมตลอดทั้งวัน ข้าพเจ้าสังเกตว่า ‘เวลาล้างก้น ข้าพเจ้าจะปวดท้องน้อยลึกๆอย่างมาก’ ข้าพเจ้าคิด คิด คิด เป็นเวลานาน สุดท้าย ก็นึกถึงโรคๆหนึ่ง คือ ต่อมลูกหมากอักเสบ

ไม่รอช้า!!! ในวันจันทร์ ข้าพเจ้ารีบไปปรึกษาคุณหมอศัลย์ทางเดินปัสสาวะ คุณหมอให้การวินิจฉัยเช่นเดียวกับข้าพเจ้า แต่…การรักษาผิดแผกไปจากที่ข้าพเจ้าคิด คือ คุณหมอได้ให้ยาในกลุ่ม Quinolone ชื่อ Olfloxacine ขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง รับประทานเป็นเวลา 3 เดือน ในความคิดของข้าพเจ้า โรคต่อมลูกหมากอักเสบ คนไข้น่าจะกินยา อย่างมาก ก็แค่ 2 สัปดาห์ แต่นี่ไม่ใช่ คนไข้เหล่านี้ต้องกินยานานมากอย่างน้อย 2 เดือน นี่เอง ทำให้ข้าพเจ้าหันกลับมาทบทวนตัวเองว่า ‘คนเรานั้น จงอย่าได้คิดรักษาตนเองแบบคาดคะเนโดยเด็ดขาด.. มีปัญหาอะไร เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เราควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ’

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เผลอแป๊บเดียว เวลาก็ล่วงเลยไปกว่า 2 เดือน วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ไปตรวจนักเรียนตำรวจ ที่จังหวัดนครสวรรค์ การเดินทางใช้เวลา เพียง 3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้น ข้าพเจ้าใช้เวลาตรวจ 2 วัน พอกลับมาที่กรุงเทพฯ ข้าพเจ้าก็ปวดท้องน้อยอีก

คราวนี้ ข้าพเจ้าไม่อยากรบกวนคนอื่น และลองรักษาเองตามเหตุผลที่ควรจะเป็น ข้าพเจ้าเริ่มให้ยาในกลุ่ม Aminoglycocide คือ Gentamycin ในขนาด 240 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน โดยแบ่งฉีดเข้าเส้นเลือดดำในวันหยุดราชการและฉีดเข้ากล้ามในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หลังยาได้รับยาตัวนี้แล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีความรู้สึกปวดท้องน้อยแบบรำคาญๆอยู่

ระหว่างนั้น ข้าพเจ้า ได้มีโอกาสพบแพทย์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งเคยจบเภสัชศาสตร์มาก่อน คุณหมอแนะนำว่า ต่อมลูกหมากเป็นเนื้อเยื่อ (Tissue) ยากลุ่ม Aminoglycocide และ Quinolone ไม่สามารถเข้าสู่เนื้อเยื่อได้ดี ควรจะเปลี่ยนยาไปเป็นกลุ่ม Cephalosporin ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนไปใช้ยา Ceftrex ในปริมาณ 2 กรัม ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ เป็นเวลา 5 วัน ร่วมกับยากินในกลุ่มเดียวกัน คือ Omnicef 2 เม็ด 3 เวลา

ข้าพเจ้ารักษาตัวเองเช่นนี้ อยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ อาการปวดท้องน้อยไม่ดีขึ้น และมีแนวโน้มจะปวดมากขึ้นอีก ภรรยาข้าพเจ้าบอกว่า ‘แบบนี้ มันผิดปกติแล้ว รักษามา 3 เดือน อาการไม่ดีขึ้น ต้องระวังว่า จะเป็นอย่างอื่น’

ยิ่งคิด ยิ่งกลัวว่า จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ข้าพเจ้าตัดสินใจเข้ารับการปรึกษาจากศัลยแพทย์แผนกทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งอายุรแพทย์อีกหลายท่าน แพทย์ท่านหนึ่งเคยเป็นต่อมลูกหมากอักเสบด้วย ได้กินยาหลายขนาน ก็ไม่หาย ท่านอธิบายให้ผมฟังมากมายจนงงไปหมด ผมกำลังหลงทางในการรักษาหรือเปล่า?? ท่านบอกว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่อมลูกหมาก เคยให้ความคิดเห็นว่า ‘ยากลุ่ม Quinolone ใช้ได้ผลดีกับภาวะอักเสบของต่อมลูกหมาก’ ตัวคุณหมอเองเคยรรักษาด้วยยาหลายขนาน ก็ไม่หาย สุดท้าย คุณหมอได้รักษาตัวเองหาย ด้วยการฉีดยา Gentamycin เข้ากล้ามเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ‘จำเป็นต้องมีแนวทางรักษาที่ถูกต้อง’ โดยเตรียมตัวจะไปปรึกษาอาจารย์แพทย์ที่ โรงพยาบาลศิริราช ในวันเสาร์

เผอิญ! วันนั้น ข้าพเจ้าต้องเดินทางเข้าไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อดูแลคนไข้ ข้าพเจ้าตัดสินใจปรึกษาจากศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะอักเสบที่นั่นก่อน เมื่อคุณหมอพิจารณาอย่างถ้วนถี่ พบว่า ข้าพเจ้าใช้ยาครบทุกขนานแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ถีงเวลาที่ต้องใช้ยาประเภทสูงสุด เพราะเชื้อโรคคงดื้อยา ท่านแนะนำให้ข้าพเจ้านอนโรงพยาบาลและให้ยา ชื่อ Invanze ในขนาด 1 amp เข้าเส้นเลือดดำวันละครั้ง เป็นเวลา 5 วัน พร้อมกับทานยาลดอาการคั่งค้างภายในต่อมลูกหมากชื่อ Harnal คืนละ 1 เม็ด โดยให้การวินิจฉัยเป็นต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง

ในตอนนั้น ข้าพเจ้าได้ทำเรื่องปรึกษาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะด้วย คุณหมอท่านนี้ทราบเรื่องของข้าพเจ้าเป็นอย่างดี เพราะเคยปรึกษามาตั้งแต่ต้น พอมาถึง คุณหมอก็บอกว่า ข้าพเจ้าได้หายจากโรค ต่อมลูกหมากอักเสบแล้ว ขณะนี้ ที่ข้าพเจ้าเป็น คือ ‘โรคกระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินไป (OAB= Overactive Bladder)’ อาการปวดท้องน้อยจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับต่อมลูกหมากอักสบ คนไข้หลายคนสับสนกับโรคต่อมลูกหมากอักเสบ สำหรับการรักษา จะเปลี่ยนไปเป็นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ การรักษาต่อมลูกหมากอักเสบที่ดื้อต่อยา จะต้องใช้ยาที่สูงสุด แต่โรคกระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินไป (OAB= Overactive Bladder) ไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อสักตัวเดียว เพียงแต่ให้ยาที่ควบคุมการปัสสาวะระบบประสาทอัตโนมัติเท่านั้น นี่คือ เรื่องที่ข้าพเจ้าคิดไม่ถึงอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็เห็นด้วยกับเหตุผลของคุณหมอ เพราะสังเกตว่า เวลาล้างก้น ข้าพเจ้าไม่ปวดท้องน้อยลึกๆเหมือนตอนแรก แต่กลับปวดท้องน้อยทางด้านหน้าท้องเหนือหัวเหน่า ร้าวลงไปที่บริเวณอัณฑะ รวมทั้งมีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากินกาแฟ

อะไรกันนี่!!!! ทำไมข้าพเจ้าจึงผิดพลาดเช่นนี้ หากให้ยาฆ่าเชื้อประเภทระดับสูงสุดต่อไป ข้าพเจ้ามีหวังได้รับผลข้างเคียงจากพิษของยา เช่นไตเสียหาย เป็นต้น โชคดี!! ที่ยังกลับตัวได้ทัน ยอมรับฟังผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ตอนนี้ ข้าพจ้ามีความสุขมากกับการใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ แม้จะยังต้องรับประทานยาควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ นานถึง 1 เดือน การปวดท้องน้อยและปวดก้นส่วนลึกๆหายไปเกือบทั้งหมด แต่อาการปัสสาวะบ่อย ยังคงมีอยู่บ้าง คุณหมอศัลย์ทางเดินปัสสาวะบอกว่า ‘ให้ทำกิจกรรมเพลินๆ อย่าไปคิดถึงอาการปวดท้องน้อย และอย่ากินกาแฟ’

ในบทบาทตอนเป็นคนไข้ ข้าพเจ้าจึงทราบว่า สิ่งที่คนไข้ทุกคนต้องการ คือ ‘ต้องการหายจากโรค’ สิ่งอื่น แทบจะไม่อยากได้เลย คนไข้ทุกคนอยากจะรู้ว่า ตัวเองเป็นอะไร? และจะรักษาหายได้หรือไม่? และอยากได้หมอที่ดีที่สุดมาคอยดูแลเอาใจใส่..นอกจากนั้น ยังพบปัญหาอื่นๆในห้องพักผู้ป่วยหลายอย่าง อาทิ กางเกงคนไข้ไม่มีหูรูด ทำให้หลุดร่วงได้ง่าย ผมต้องใช้เข็มขัดมารัดเอว ไม่เช่นนั้น เดินเพียงไม่กี่ก้าว กางเกงก็หลุด ข้าพเจ้าถามพยาบาลว่า ไม่มีคนไข้อื่นบ่นหรือ? พยาบาลบอกว่า มีเยอะ!! แต่ก็ไม่ได้นำมาเป็นประเด็นแก้ไข คนไข้ส่วนใหญ่แก้ปัญหาเองได้ด้วยการใส่เข็มขัดรัดเอว จึงไม่มีการรร้องเรียน นอกจากนั้น ในห้องผู้ป่วย ก็ไม่มีตู้เซฟเก็บของมีค่า หากคนไข้เผลอหลับ และมีขโมยเข้ามาในห้อง มีหวังของหายมากมาย โดยไม่มีใครรู้

ปัจจุบัน ข้าพเจ้ายังคงใช้ชีวิตตามปกติ มีความสุขง่ายๆ ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดท้องน้อย ดื่มกาแฟบ้างในตอนเช้า เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะจากการติดกาแฟ ( Caffeine addict) คนไข้แบบข้าพเจ้านั้น มีอยู่มากมาย คือ เป็นผู้มีความรู้วิชาการแพทย์บ้างพอสังเขป จึงชอบรักษาตัวเอง แต่ไม่รู้จริงในโรคที่ตนเป็นอยู่ ทำให้หลงทางในการรักษา เสียเวลาไปโดยไร้ประโยชน์ ที่สำคัญ..อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาระหว่างที่รักษาอยู่ โรคอาจลุกลามไปไกลเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ ดังนั้น จงถามตัวเองเสียก่อนว่า ตัวเรามีความรู้เกี่ยวกับโรคที่กำลังเป็นอยู่แค่ไหน? หากได้คำตอบว่า ‘ไม่แน่ใจ’ ก็อย่าไว้วางใจในการรักษาตัวเอง…ถามผู้รู้จริง ดูจะเหมาะกว่า

จริงอยู่ที่คุณหมอยุคปัจจุบัน มีความชำนาญโรคค่อนข้างมาก จนอาจมีคนเข้าใจผิด คิดว่า ‘คุณหมอคนหนึ่ง จะรู้เกี่ยวโรคทุกโรค เชี่ยวชาญการรักษาทุกอย่าง’ แต่…จริงๆแล้ว คุณหมอท่านหนึ่ง ก็จะรู้เฉพาะสิ่งที่ตนเรียนรู้และรักษาอยู่เป็นประจำเท่านั้น โรคอื่นๆที่นอกเหนือจากนั้น คุณหมออาจรู้บ้าง แต่รู้ไม่หมดหรอก ดังนั้น จงอย่าคาดหวังกับคุณหมอท่านใดท่านหนึ่งมากเกินไป เพราะโรคภัยไข้เจ็บมักมีเงื่อนปมซ่อนอยู่อย่างสลับซับซ้อน การพิจารณาปรึกษาอย่างรอบคอบจากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ย่อมให้ผลคุ้มค่ากับการรักษา………………

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *