สูติศาสตร์ กับนิทานพื้นบ้าน ‘คนตัดต้นไม้’

สูติศาสตร์ กับนิทาน “คนตัดต้นไม้”

ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าชอบฟังนิทานเรื่อง “คนตัดต้นไม้” ซึ่งมีหลากหลายลีลาภาษา จากนักเขียนหลายท่าน แต่..เนื้อหาไม่ค่อยแตกต่างกันนัก เรื่องราวก็เป็นดังนี้

ชายคนหนึ่งตัดต้นไม้ในป่าด้วยความเหน็ดเหนื่อย จนสายตัวแทบขาด แต่ก็ยังได้จำนวนท่อนไม้ไม่พอกับที่ต้องการ..เขายังคงทำงานอย่างขะมักเขม้นต่อไป แม้จะมีคนแนะนำให้กลับไปลับขวานให้คมเสียก่อน ชายคนนั้น ได้โต้เถียงว่า ‘นี่ขนาด ผมขยันและออกแรงมาก โดยไม่ได้หยุดหย่อนเลย ยังตัดต้นไม้ ได้จำนวนเพียงเล็กน้อย หากเสียเวลาไปลับขวาน มีหวัง ผมคงต้องตายแน่ เพราะงานคงจะล่าช้าไปอีก’ นี่คือ ความคิดของคนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งคุณหมอบางท่าน ซึ่งไม่มีเวลาพัฒนาความรู้ของตนเอง เพราะคิดว่า ‘ เสียเวลา’ แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า การเสียเวลา’ลับคม’ นั้น สำคัญอย่างไร

การพัฒนาความรู้ทางการแพทย์นั้น อาจไม่จำเป็นต้องเสียเวลามากมาย เพียงแค่รับฟังข้อผิดพลาดของตนเอง (และผู้อื่น) อย่างพินิจพิเคราะห์ จากนั้น ลองครุ่นคิด พิจารณา ไตร่ตรอง แก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น ด้วยปัญญาของตนเอง รวมทั้ง ข้อเสนอแนะจากผู้คนที่มีความรู้รอบข้าง ในที่สุด ก็จะเกิดการพัฒนาปัญญาความรู้และช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างถูกต้อง

1 เดือนที่ผ่านมา มีเรื่องราวของคนไข้ 2 – 3 ราย ที่น่าสนใจมาก รายแรก เป็นคนไข้ที่เกิดภาวะน้ำคร่ำเข้ากระแสเลือด (Amniotic Fluid Embolism) เวลานั้น ข้าพเจ้ายังทำหน้าที่ออกตรวจอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ เวลาบ่ายคล้อยใกล้หมดเวลาทำการแล้ว ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่แวะมาเยี่ยม.. จู่ๆ!! คุณหมออีกท่านหนึ่ง ที่ออกตรวจในห้องถัดไป ก็ผลุนผลันวิ่งออกจากห้องตรวจ เนื่องจากมีการแจ้งกระจายเสียงว่า ‘เกิดกรณีฉุกเฉินวิกฤตที่ห้องคลอด’ ข้าพเจ้านึกว่า คงเป็นกรณีวิกฤตทั่วไป ที่พวกหมอพบเป็นประจำ จึงไม่ได้เฉลียวใจ ติดตามขึ้นไปดู และขอตัวกลับบ้าน ถัดจากนั้นมาอีก 1 ชั่วโมง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้โทรศัพท์มาบอกกับข้าพเจ้าว่า ‘คุณหมอรู้ไหมว่า เมื่อสักครู่นั้น เกิดกรณี คนไข้มีน้ำคร่ำเข้าไปในกระแสเลือด (Amniotic Fluid embolism) คนไข้ต้องได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อเอาลูกออกมา โชคดีที่ทารกรอดชีวิต ส่วนมารดานั้น เธอได้รับการตัดมดลูก เพื่อหยุดเลือดจากภาวะเลือดไม่แข็งตัว [Disseminated intravascular coagulation (DIC)] ต่อมา ได้ทราบว่า คุณแม่ท่านนี้ได้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา.. ช่างน่ากลัวมาก…จริงๆแล้ว ภาวะวิกฤติข้างต้น พบน้อยมาก… ในช่วงชีวิตสูติแพทย์ของข้าพเจ้า ได้พบและช่วยเหลือผู้ป่วยลักษณะเดียวกันนี้กับคุณหมอรุ่นพี่ เพียงรายเดียว ซึ่ง…คนไข้เหล่านี้มีโอกาสที่จะรอดชีวิต ค่อนข้างน้อย

คนไข้รายที่สอง เป็นคนไข้โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นกรณีศึกษา.. เธออายุ 38 ปี มีบุตรคนแรกอายุ 13 ปี และแท้งบุตรในครรภ์ที่สอง ครรภ์นี้เป็นครรภ์ที่ 3 เธอฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจหลายครั้ง และมาที่ห้องคลอดตอน 9 นาฬิกาของวันหนึ่ง เมื่อเจ็บครรภ์ ปัญหา คือ เธอคลอดบุตรทางช่องคลอดไม่ได้และได้รับการตัดสินใจผ่าตัดคลอดตอนเที่ยงคืนวันนั้น บุตรของเธอเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 4 กิโลกรัม ทารกอยู่ในสภาพที่ขาดก๊าซออกซิเจน (Severe Hypoxia) มีคะแนนศักยภาพแรกคลอด 4 และ 6 (คะแนนเต็ม 10) ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ ทารกมีปัญหาร่างกายขณะนั้น คือ ปอดมี Pnuemothorax (ภาษาชาวบ้าน เรียก ‘ปอดแตก’) และปัสสาวะเป็นเลือด ทารกต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู. นานกว่า 1 เดือน ปัจจุบัน อาการฟื้นตัวดีของหนูน้อยขึ้นตามลำดับ ทารกสามารถดูดนมและตอบสนองสิ่งต่างๆได้ดีพอสมควร แต่..อนาคตของเธอจะเป็นเช่นไร คงตอบได้ยาก

คนไข้อีกราย ชื่อ คุณวนิดา อายุ 39 ปี ตั้งครรภ์แรก หลังจากแต่งงาน 3 ปี พอเริ่มขาดระดู คุณวนิดา ก็ทำการตรวจทดสอบการตั้งครรภ์ทันที ในครั้งแรกให้ผลลบ… แต่ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ เธอได้ตรวจทดสอบซ้ำ ปรากฏว่า ให้ผลบวก

ผลจากการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยปัสสาวะนั้น หากให้ผลบวกในครั้งแรกของผู้หญิงที่ขาดระดู ทางการแพทย์ ถือว่า เธอมีอายุครรภ์ ประมาณ 5 สัปดาห์ คุณวนิดามาพบข้าพเจ้าถัดจากนั้น เพียง 4 วัน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงอนุมานว่า เธอตั้งครรภ์ ประมาณ 5 – 6 สัปดาห์ ตอนนั้น ข้าพเจ้าดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับคุณวนิดา ก็พบเพียงถุงน้ำการตั้งครรภ์ และถุงอัลลันโตอิก (Allantoic sac) เท่านั้น ยังมองไม่เห็นเงาทารก ข้าพเจ้าได้นัดให้เธอมาตรวจอัลตราซาวนด์ซ้ำในอีก 2 สัปดาห์ ถัดมา เพื่อให้ทราบว่า ภายในโพรงมดลูกมีทารกน้อย อยู่จริงหรือไม่??

เมื่อคุณวนิดามาเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ตามนัด ก็พบ เงาทารก และมีการเต้นของหัวใจอย่างชัดเจน จึงสรุปแน่ชัดว่า เธอตั้งครรภ์ประมาณ 7 – 8 สัปดาห์ พร้อมทารกที่มีชีวิต พออายุครรภ์ ได้ 12 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้ส่งคุณวนิดาไปที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจพิเศษทางอัลตราซานด์ บริเวณคอของทารก ร่วมกับเจาะเลือด เพื่อหาว่า ทารกมีโอกาสเป็นเด็กปัญญาอ่อน (ที่เรียกว่า โรค Down’s syndrome) หรือไม่?? ซึ่งผลการตรวจโดยสรุป ให้ผลลบ (มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปัญญาอ่อนน้อยมาก)

การดำเนินการตั้งครรภ์น่าจะเป็นไปด้วยดี เพราะตัดปัญหาเรื่อง4k;tปัญญาอ่อนไปได้ ข้าพเจ้าเกือบจะสิ้นกังวลแล้ว…แต่ก็มาพบว่า คนไข้มีประวัติเป็นลิ้นหัวใจอันหนึ่งปลิ้น ( Prolapse posterior Mitral valve with trivial Mitral regurgitation) ซึ่งเป็นผลให้เธอเหนื่อยง่าย จนอาจส่งผลร้ายขณะคลอด อย่างไรก็ตาม คุณหมอโรคหัวใจได้บอกกับข้าพเจ้าว่า ‘ไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวการตั้งครรภ์และการคลอด’

พออายุครรภ์ 19 สัปดาห์ คุณวนิดาได้มาโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉินด้วยเรื่องตกเลือด และสงสัยมีน้ำเดินร่วมด้วย ข้าพเจ้าดูอัลตราซาวนด์ให้กับเธอ ก็พบว่า ทารกน้อยเป็นเพศหญิง มีขนาดเท่ากับอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ รกเกาะต่ำ ตอนนั้น คุณวนิดา ได้ให้ประวัติเพิ่มเติมว่า เธอเคยได้รับการผ่าตัดที่ปากมดลูกเมื่อ 2-3 ปีก่อน.. คราวนี้ มีเรื่องให้กวนใจข้าพเจ้าแล้ว เพราะคนไข้ที่เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณปากมดลูก อาจเกิดภาวะปากมดลูกหลวม (Cervical incompetence) ตามมาได้ ข้าพเจ้าขอให้คนไข้นอนพักโรงพยาบาล นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระหว่างนั้น ข้าพเจ้าก็โทรศัพท์ติดต่อคุณหมอที่ผ่าตัดปากมดลูกให้กับเธอว่า ‘ทำผ่าตัดไปมากน้อยแค่ไหน???’ คุณหมอบอกว่า ‘ผ่าตัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพียงชิ้นเนื้อเล็กๆที่ปากมดลูก (Cervical polyp) และคิดว่า ไม่น่าจะมีผล จนทำให้เกิดการแท้งบุตรแบบหลุดจากปากมดลูกในไตรมาส 2 เนื่องจากปากมดลูกรองรับน้ำหนักทารกไม่ไหว’

คุณวนิดานอนพักโรงพยาบาลเพียง 2 – 3 วัน ก็กลับบ้าน ข้าพเจ้าเอง ก็คลายความกังวลใจไปได้เปราะหนึ่ง คุณวนิดามีอาการปวดตึงที่ท้องน้อยบ้าง ทำให้เธอต้องรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อลดอาการดังกล่าวตั้งแต่นั้น ข้าพเจ้านัดคนไข้มาตรวจต่อทุกๆ 2 – 3 สัปดาห์ ตามปกติ.. คนไข้ก็ไม่พบมีปัญหาอะไรมากไปกว่าการแข็งตึงของมดลูกและมานอนพักโรงพยาบาลเป็นครั้งเป็นคราว อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็สามารถประคับประคองการตั้งครรภ์ของเธอไปได้จนถึงอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ และผ่าตัดคลอดให้กับเธออย่างปลอดภัย

บุตรของเธอเป็น เพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 3,340 กรัม มีคะแนนศักยภาพแรกคลอด 9 และ 10 (คะแนนเต็ม 10 ) ตามลำดับ ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง

การมองย้อนหลังกลับไปดูเรื่องราวที่ผ่านมากรณีของคุณวนิดา นั้น..คล้ายกับว่า ไม่น่าจะมีอะไร.. แต่ ณ เวลาที่เรากำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว โดยยังไม่รู้ว่าผลมันจะออกมาเช่นไร?? เราจะรู้สึกว่า เส้นทางข้างหน้าไม่น่าจะราบรื่น และคนไข้อาจเป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม การที่คุณหมอหลายท่านสามารถมองเห็นภาพข้างหน้าของคนไข้ในว้นนี้ได้ ราวกับหมอดูที่มีความแม่นยำ ก็เพราะท่านมีประสบการณ์มายาวนาน ซึ่งก็คือ ผลึกความรู้สะสมจากการแก้ไขข้อผิดพลาดตลอดชีวิตที่ผ่านมา

คนไข้ท้องทั้งสามรายข้างต้น มีผลลัพท์ลงเอยที่แตกต่างกัน คนท้องรายแรกถือเป็นโชคร้ายของคุณหมอและคนไข้ เพราะไม่ว่า ทีมคุณหมอจะช่วยเหลืออย่างไร คนไข้ก็มีโอกาสสรอดน้อยมาก สำหรับคนไข้รายที่สอง ถูกนำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อหาแนวทางแก้ไขในโอกาสหน้าเมื่อพบคนไข้ในทำนองเดียวกัน โดยอย่าประมาทเพียงแค่คิดว่า ‘คนไข้ท้องหลังที่เคยคลอดเอง ทางช่องคลอด ย่อมคลอดเองได้’ ส่วนคนไข้รายที่สามนั้น แม้จะมีปัญหา แต่ก็ได้รับการแก้ไขเป็นขั้น เป็นตอนตามสถานการณ์เท่าที่จะเป็นไปได้ หาก ณ ตอนอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ และเป็นภาวะปากมดลูกหลวม (Cervical incompetence) จริง ข้าพเจ้าคงไม่สามารถยับยั้งการคลอดได้ และต้องสูญเสียเด็กนั้นไป โชคดี!!! ข้าพเจ้าที่ได้รับข้อมูลการผ่าตัดจากปากของคุณหมอผู้ผ่าตัด จึงรู้การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยรายนี้ว่า ‘ต่อไปน่าจะไม่มีปัญหา’ บางที เรื่องราวเหล่านี้ อาจเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนท้องทั่วๆไป ว่า การตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงมาก หากเกิดความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็ต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม

ตอนที่ข้าพเจ้าจะเลือกเรียนเพื่อเป็น’หมอสูติ’นั้น แพทย์รุ่นพี่ท่านหนึ่งที่กำลังเรียนอยู่ ได้บอกกับข้าพเจ้าว่า ‘สูติศาสตร์ เป็นแขนงวิชาแพทย์ที่ตายแล้ว วิชาการมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก นอกจากนั้น เรายังเสมือนเป็นหมอศัลยกรรม หมอเด็ก และหมออายุรกรรมไปพร้อมๆกัน’ ข้าพเจ้าเห็นด้วยความคิดดังกล่าว และตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตไปในทางนั้นทันที แต่….หลังจากจบเป็นสูติแพทย์แล้ว ข้าพเจ้ากลับมีความรู้สึกว่า ความรู้ทางการแพทย์สูติศาสตร์นั้น มีความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ อย่างไม่มีหยุดยั้ง ใครทอดทิ้งวิชาการ ก็จะล้าหลัง และอาจพลาดพลั้งในการประกอบวิชาชีพได้

฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿

พ.ต.อ.นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *