ภาวะเด็กถ่ายขี้เทาเข้มข้นในน้ำคร่ำ (Thick Meconium)

ธรรมดาแล้ว ทารกในครรภ์จะไม่ถ่ายขี้เทาออกมา นอกเสียจากว่า ขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Severe Hypoxia).. ขี้เทาในน้ำคร่ำนั้น ถ้ามันไม่มาก ก็จะถูกเจือจางจากน้ำคร่ำ และไม่เป็นอันตราย.. แต่หากขี้เทามีจำนวนมาก ก็จะทำให้น้ำคร่ำเข้มข้นเหนียวหนืดและมีผลต่อชีวิตทารกน้อยตอนที่เขาหายใจเฮือกแรกของชีวิต (Firth Breathing) เพราะมันจะแทรกซอนเข้าไปอุดตันในหลอดลมเล็กๆเกือบทุกส่วนของปอด ส่งผลให้เนื้อปอดขาดก๊าซออกซิเจน รวมทั้งอวัยวะทั้งหมดด้วย ทารกน้อยย่อมจะมีชีวิตอยู่เป็นปกติสุขไม่ได้ ในที่สุด หลายคนก็ต้องชีพสลาย

วันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรประจำการแผนกสูติฯ ตอนเช้า ยังไม่ทันจะเดินทางถึงโรงพยาบาลตำรวจ ก็เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นในห้องคลอด เมื่อข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ห้องคลอดว่า ‘มีปัญหาอะไรไหม?’ พยาบาลคนหนึ่งรายงานว่า “เมื่อคืน มีคนไข้รายหนึ่ง ท้องที่ 2.. ปากมดลูกเปิด 7 เซนติเมตร ตั้งแต่ 1 ทุ่ม นี่เวลาผ่านไป 12 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่คลอดเลย”

“ เด็กตัวใหญ่ไหม? และมดลูกหดรัดตัวดีหรือเปล่า? ” ข้าพเจ้าถาม

“เด็กตัวใหญ่มาก มดลูกหดรัดตัวดีมาตลอด หมอรีบมาดูเถอะ” พยาบาลคนเดิมพยายามพูดเชิงวิงวอน

“ ไม่เป็นไร!!! Set ผ่าตัดไปเลย” ข้าพเจ้าสั่งการทางโทรศัพท์ จากนั้น ก็รีบขับรถ เพื่อให้ถึงโรงพยาบาลเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

คุณนงลักษณ์ คือ คนไข้รายนี้ เธออายุ 32 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 ลูกคนแรกคลอดเองทางช่องคลอด ขณะนี้อายุ 7 ขวบ น้ำหนักแรกคลอด 3,500 กรัม เพศหญิง ปัจจุบัน แข็งแรงดี คุณนงลักษณ์มาฝากครรภ์ ตั้งแต่อายุครรภ์ 7 สัปดาห์ และมาเข้ารับการตรวจครรภ์ตามนัดตลอด จำนวน 11 ครั้ง

ตอนอายุครรภ์ 17 สัปดาห์ เธอได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง เพราะขนาดมดลูกใหญ่กว่าอายุครรภ์ตามที่บอก ผลปรากฏว่า อายุครรภ์จากการเปรียบเทียบส่วนต่างๆของร่างกายทารก น่าจะเท่ากับ 21 สัปดาห์ คุณนงลักษณ์จึงเปลี่ยนแปลงอายุครรภ์นับแต่นั้น.. เธอยังมาฝากครรภ์อีกหลายครั้ง ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร และไม่มีการตั้งข้อสังเกตในใบฝากครรภ์

ก่อนหน้านั้น 1 วัน คุณนงลักษณ์ได้เข้ามานอนห้องคลอด ตอนเวลาประมาณ 6 นาฬิกา ด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ พยาบาลห้องคลอดตรวจภายใน พบปากมดลูกเปิด 2 เซนติเมตร ความบาง 100 % มดลูกมีการหดรัดตัว ทุก 4 นาที

11 นาฬิกา พยาบาลห้องคลอดตรวจภายในคุณนงลักษณ์ ซ้ำ ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร

เวลา 14 นาฬิกา ปากมดลูกยังคงเท่าเดิม

เวลา 16 นาฬิกา 30 นาที พยาบาลได้ตรวจภายในคนไข้อีก พบว่า ปากมดลูกเปิด 4 เซนติเมตร.. ตอน 18 นาฬิกา ปากมดลูกเปิด 5 เซนติเมตร… เวลา 19 นาฬิกา ปากมดลูกเปิด 7 เซนติเมตร ความบาง 100% พยาบาลได้รายงานให้แพทย์เวรมาดู เพราะการตั้งครรภ์ดำเนินไปค่อนข้างช้า (Progression of Labor) คุณหมอเวรมาดูทันที และให้ความเห็นว่า คุณนงลักษณ์น่าจะคลอดเองได้ เพราะเคยคลอดบุตรมาแล้ว พยาบาลห้องคลอดได้ตรวจภายในซ้ำอีกหลายครั้ง ก็ยังเหมือนเดิม.. ทุกครั้ง พยาบาลจะรายงานให้แพทย์รับทราบ แต่ก็ไม่ได้มีการตัดสินใจอะไร เนื่องจากแพทย์ยังมั่นใจว่า ‘คนไข้น่าจะคลอดได้ ทั้งหัวใจเด็กก็ยังเต้นเป็นปกติ’

ตอนเช้าเข้าเวร ขณะที่ข้าพเจ้าขับรถไปทำงาน… พอสิ้นเสียงโทรศัพท์ระหว่างข้าพเจ้ากับพยาบาลห้องคลอด ก็สั่งการให้พยาบาลห้องคลอดส่งคนไข้ไปที่ห้องผ่าตัดทันที ข้าพเจ้าไม่รอช้า ตั้งหน้าตั้งตา รีบขับรถมุ่งหน้า เพื่อให้ถึงโรงพยาบาลเร็วที่สุด

เนื่องด้วยหัวใจลูกคุณนงลักษณ์ยังเต้นเป็นปกติ ข้าพเจ้าจึงขอให้วิสัญญีแพทย์ฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลังคนไข้ เพื่อไม่ให้ปวดแผลหลังคลอด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้ากรีดมีดลงตามแนวขอบกางเกงในเพื่อความสวยงาม (Pfennenstiel incision) แล้วค่อยๆผ่าตัดผนังหน้าท้องไปตามลำดับชั้น พอกรีดมีดทะลุมดลูกส่วนล่าง (Lower segment) และเจาะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ของเหลวสีเขียวข้นคล้ายขี้โคลน ก็ไหลล้นออกมาอย่างมากมาย นั่นบ่งบอกว่า ทารกน้อยอยู่ในสภาพขาดก๊าซออกซิเจนค่อนข้างมาก ข้าพเจ้าใช้มือซ้ายล้วงเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อช้อนเอาหัวเด็กให้งอพับส่วนคอ และงัดให้เงยโผล่ขึ้นมาเหนือรอยแผลบนตัวมดลูก ลูกคุณนงลักษณ์โผล่หัวออกมาในท่านอนหงาย ใบหน้าทารกเต็มไปด้วยขี้เทาสีเขียวเข้ม พยาบาลผู้ช่วยใช้ผ้าเช็ดใบหน้าเด็ก ส่วนข้าพเจ้า..ใช้ลูกยางดูดเอาเสมหะและขี้เทาในปากจมูกเด็กออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้น ก็รีบส่งเด็กให้กับกุมารแพทย์ เพื่อช่วยเหลือต่อไป โชคดี!!! ที่ลูกคุณนงลักษณ์ยังขาดก๊าซออกิเจนในเลือดไม่นาน พอเด็กคลอด จีงร้องส่งเสียงดังทันที แขนขาขยับไปมาได้ดี

ข้าพเจ้าพูดเล่นว่า “ดูซิ! เด็กกำลังด่าพวกเราอยู่เลย” พยาบาลทุกคนที่นั่นต่างส่งเสียงหัวเราะ โดยไม่ทราบว่า ข้าพเจ้ากำลังหมายถึงใคร จริงๆแล้ว!! ข้าพเจ้าพูดไปอย่างนั้นเอง เพราะสภาพของทารกน้อยตอนนั้น ถือว่า เพิ่งผ่านพ้นขั้นวิกฤติ หากการคลอดเนิ่นนานกว่านี้สัก 2 ชั่วโมง ลูกของคุณนงลักษณ์น่าจะเสียชีวิต (Stillbirth)… ทารกมีน้ำหนักแรกคลอด 3,970 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9 และ 10 (จากคะแนนเต็ม 10) ตามลำดับ

การวินิจฉัยรายนี้ มีข้อผิดพลาด คือ 1. แม้คุณนงลักษณ์จะเคยคลอดเองมาแล้ว แต่ก็เป็นการคลอดยาก (Dystocia) คุณหมอต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด 2. การประเมินน้ำหนักทารกรายนี้ผิดพลาด คุญหมอเวรคิดว่า ตัวไม่ใหญ่ น้ำหนักไม่มาก แต่…ลูกคนแรกของคุณนงลักษณ์มีน้ำหนักถึง 3,500 กรัม ท้องนี้ คนไข้บอกว่า ‘ทารกใหญ่กว่าอีก’ ดังนั้น การคลอดในครั้งนี้ ก็อาจคลอดไม่ได้ 3. กราฟแสดงการดำเนินการคลอด (Progression of labor) หยุดนิ่งเป็นเวลานาน ถึง 12 ชั่วโมง แทนที่ใช้เวลา เพียง ½ – 1 ชั่วโมง นับจาก ปากมดลูกเปิด 7 เซนติเมตรจนถึงเปิดหมด (ในท้องหลัง) 4. คนไข้มีความสูงเพียง 150 เซนติเมตร คนท้องที่มีความสูงระดับนี้ อุ้งเชิงกรานอาจจะเล็ก และช่องเชิงกรานแคบ สูติแพทย์ทุกคนพึงระวังภาวะคลอดยากในทุกกรณี ไม่เว้นแม้แต่ครรภ์หลัง

ขณะที่ทำการผ่าตัดอยู่นั้น ผลจากการล้วงมือลงไปในมดลูกทางอุ้งเชิงกรานส่วนลึก ทำให้ปากมดลูกของคุณนงลักษณ์ฉีกขาดเป็นแนวยาวทางด้านซ้าย เกือบทะลุเข้าไปในช่องคลอด หากข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์มากพอ ก็อาจพิจารณาตัดมดลูกเหมือนคุณหมอที่เพิ่งจบใหม่บางท่าน

ถัดจากกรณีของคุณนงลักษณ์ ไม่นาน เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ก็มีคนไข้อีกรายหนึ่ง ปากมดลูกเปิด 8 – 9 เซนติเมตร และมีขี้เทาข้นปะปนในน้ำคร่ำ (Thick meconium ) เมื่อถุงน้ำแตกกระทันหัน แต่..เนื่องจากเป็นครรภ์แรก ผู้ป่วยปวดมากทนไม่ไหว และคงต้องใช้เวลานานกว่าจะคลอดสำเร็จ ข้าพเจ้าจึงพิจารณาตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้

การเย็บแผลบนตัวมดลูกส่วนล่างกรณีที่ปากมดลูกเปิดหมด เป็นสิ่งที่ยากพอๆกับการเย็บปากมดลูกฉีกขาดของคุณนงลักษณ์ วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสม คือ เย็บมุมแผลที่ฉีกขาดอย่างระมัดระวังด้วยกรรมวิธีเงื่อนปมหมายเลข 8 (Figure of eight) และต้องเย็บทีละปม (Interrupted) จากนั้น ก็ต้องใช้นิ้วมือแหย่เข้าไปคลำมุมแผลตรงที่เย็บว่า ‘เย็มคลุมมุมแผลจนไม่มีช่องโหว่…ใช่หรือไม่?’ นอกจากนั้น ยังต้องตัดตกแต่งขอบแผลที่กะรุ่งกะริ่งให้เรียบ เพื่อให้มีเนื้อมดลูกที่มีความหนาพอจะเย็บผูกได้ มิฉะนั้น เส้นด้ายอาจรัดแน่น จนตัดกล้ามเนื้ออันอ่อนนุ่มบริเวณนั้น (Cut through) ทำให้เลือดออกหลังปิดผนังหน้าท้อง และนำไปสู่การตัดมดลูก

ภาวะกรณีทารกถ่ายขี้เทาในครรภ์ก่อนคลอดนั้น สำคัญมาก เราไม่ควรประมาท… แม้แต่ทารกถ่ายขี้เทาเจือจาง..ในกรณีคนท้องครรภ์แรก ที่ปากมดลูกเปิดเพียง 2-3 เซนติเมตร ความบางไม่ถึง 100% (หรือพิเคราะห์ว่า ทารกจะไม่สามารถคลอดได้ภายในเวลา 6 ชั่วโมง) คนไข้ก็สมควรเข้ารับการผ่าตัดคลอดในเวลาอันสั้น ส่วนกรณีทารกถ่ายขี้เทาเข้มข้นนั้น แน่นอน!!! คุณหมอต้องช่วยเหลือให้คนไข้คลอดอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

โลกนี้อาจโหดร้ายสำหรับคนโง่ แต่ทารกแรกเกิดนั้น บริสุทธิ ไร้เดียงสา เขาไม่ควรเสียโอกาสในการอยู่รอดในโลกในแบบที่ร่างกายสมบูรณ์ดี และสมองไม่มีปัญญาอ่อนจากการขาดก๊าซออกซิเจน ดังนั้น คนท้องท่านใดที่เผอิญ ‘น้ำเดินมีขี้เทาข้นปะปน’ ออกมา ก็ขอให้พิจารณาว่า นั่นคือ ภาวะวิกฤติอย่างหนึ่งของทารกในครรภ์ ทุกท่านที่พบเห็น!!! โปรดรีบหาหนทางช่วยเหลือ เพื่อให้มีมนุษย์ที่มีคุณภาพอีกสักคน เกิดขึ้นมาบนโลก

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *