ภาวะวิกฤติทางสูติศาสตร์ 3

ภาวะวิกฤติทางสูติศาสตร์ 3
    
ท้องฟ้าในวันสงกรานต์ปีนี้ ดูมืดครึม เปลี่ยวเหงา ไม่ร้อนแรงเหมือนปีก่อนๆ เพราะท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยหมู่เมฆ ส่วนบรรยากาศ ก็เหมือนคลุกเคล้าด้วยความเศร้าซึม..นั่น..อาจเพราะข้าพเจ้าเพิ่งพานพบกับเรื่องราวในห้องคลอดที่น่าสลดหดหู่ใจมา..ใครหนอ!!!! ที่พอจะเก่งกล้า เขียนบทกวี บรรยายความรู้สึกเช่นนี้ได้.. ข้าพเจ้าเองคงทำไม่ได้… จะทำได้ ก็เพียง…ทอดถอนใจเบาๆ เท่านั้น
โศกนาฏกรรม ที่กิดกับทารกในครรภ์ ถือเป็น ภาวะวิกฤติทางสูติศาสตร์อย่างหนึ่ง….ซึ่ง..ยากนัก ที่ใคร..จะรู้ซึ้งถึงความโศกาอาดูรของผู้เป็นบุพการี? คนท้อง..ตั้งครรภ์นานถึง 9 เดือน หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา ก็เปรียบเสมือน ชาวสวนปลูกต้นไม้ และหมั่นรดน้ำพรวนดิน ด้วยหวังเก็บเกี่ยวผลผลิต… พลัน ก็เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ นำความหายนะมาสู่…. ใครเลย?? จะเข้าใจ ในความรู้สึกแห่งการสูญเสียนั้น
เมื่อวันจันทร์ ข้าพเจ้าเดินผ่านมาที่ห้องคลอด เพื่อทำธุระบางอย่าง ข้าพเจ้าได้สอบถามจากนักศึกษาแพทย์ที่อยู่เวรวันนั้น ว่า ‘มีคนไข้ที่มีปัญหาไหม?’  นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งตอบว่า ‘ที่ห้องคลอด มีคนไข้อยู่เพียง 4 – 5 คน นอนอยู่ ล้วนแล้วแต่มีปัญหา’ ข้าพเจ้าถามต่อว่า ‘ลองเล่ามาซิว่า มีCase (กรณีคนไข้) อะไรบ้าง?’
นักศึกษาแพทย์คนเดิมตอบว่า ‘คนท้องเตียงที่ 1 ทารกตายในครรภ์, คนท้องเตียงที่ 2 เป็นครรภ์แฝด อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ ลูกแฝดคนหนึ่งเสียไปแล้ว ลูกแฝดอีกคน ก็ทำท่าไม่ค่อยดี หัวใจเต้นช้ามาก คิดว่า คงจะเสียชีวิตตามมาในเวลาอีกไม่นาน, เตียงที่ 3 เป็นคนท้องที่มีรกเกาะต่ำ อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ตอนนี้ เรากำลังยับยั้งการแข็งตัวของมดลูกอยู่ , คนไข้เตียงที่ 4 ตัวเตี้ย สูงเพียง 145 เซนติเมตร และมีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Severe preeclampsia) ส่วนห้องแยก ก็เป็นคนท้องที่มีเลือดบวกของเอดส์ หน้าท้องใหญ่มาก  คาดว่า เด็กน่าจะหนักถึง 4 กิโลกรัม’
ข้าพเจ้าฟังแล้ว รู้สึกห่อเหี่ยวใจ และสงสารสูติแพทย์เวรเสียเหลือเกิน  อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าสนใจเป็นพิเศษ ก็เฉพาะกรณีคนท้องที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์ทั้ง 2 ราย เท่านั้น
คนไข้รายแรก ชื่อ คุณนงคราญ อายุ 32 ปี ตั้งครรภ์แรก มาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ เพียง 7 สัปดาห์ และมาตรวจตตามนัดทุกครั้ง ตัวคนไข้เป็นโรคโลหิตจาง ‘ทาลาสซีเมีย’ (Thalassemia) ชนิด Homologous HbE  ส่วนสามี ผลเลือดปกติ คุณนงคราญแพ้ท้องมากตอนอายุครรภ์น้อยๆ พออายุครรภ์ ได้ 17 สัปดาห์ สูติแพทย์ผู้ตรวจ คลำพบว่า มดลูกของคุณนงคราญมีขนาดใหญ่กว่าอายุครรภ์ จึงส่งตราจอัลตราซาวนด์ ผลปรากฏว่า  ทารกในครรภ์เป็นแฝด (Twins) และนัดตรวจพิเศษกับสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอัลตราซาวนด์โดยเฉพาะ (Specialist for Maternal fetal medicine) เมื่อได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์โดยละเอียด ก็พบว่า ทารกแฝดทั้งสอง ตัวเล็กมาก และที่ใช้รกอันเดียว (Monochorionic diamnionic Placenta) ทารกคนหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีกคนอย่างเห็นได้ชัด (Discordant twins) นอกจากนั้น เส้นเลือดบนตัวรก ยังมีการไข้วสลับกันไปมา ดุจร่างแห ทำให้มีการถ่ายเทเลือดจากเด็กคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งด้วย  นี่เอง!! ที่อาจเป็นสาเหตุให้ทารกคนที่สอง เสียชีวิตถัดจากทารกคนแรกในเวลาไม่นานนัก เนื่องจากของเสีย สารพิษจากทารกคนแรกที่เสียชีวิต ถ่ายเทเข้าสู่ร่างกายของคนที่สองอย่างรวดเร็ว   คุณหมอสูติที่ตรวจอัลตราซาวนด์ให้ ได้บอกให้คุณนงคราญทำใจว่า ‘ลูกทั้งสองยังอยู่ในสภาวะที่อันตราย ไม่แน่!! อาจต้องเสียชีวิตในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น’ ถัดจากนั้นมาอีก 4 สัปดาห์ ก็เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว.. คือ ทารกค่อยๆเสียชีวิตทีละคน คุณนงคราญเจ็บครรภ์มาโรงพยาบาลตอนอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ คุณหมอที่แผนกผู้ป่วยนอกตรวจอัลตราซาวนด์ให้ ปรากฏว่า ‘ทารกตัวแรก หัวใจเต้นช้าลง ประมาณ 80 ครั้งต่อนาที ส่วนอีกตัวหนึ่ง หัวใจยังเต้นปกติ ’ ผู้ป่วยได้ถูกส่งตัวขึ้นไปนอนพักในห้องคลอด เมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกาของวันศุกร์   ตอนนั้น ทารกคนแรก หัวใจหยุดเต้นแล้ว ไม่นานหลังจากนั้น ทารกแฝดคนน้อง ก็เสียชีวิต คุณนงคราญคลอดทารกทั้งสอง ในวันจันทร์ เมื่อเวลา 22 นาฬิกา  ทารกคนแรกหนัก 430 กรัม  ทารกคนที่สอง หนัก 470  กรัม  คุณนงคราญ แม้จะรู้สึกเศร้าใจ แต่ก็ได้ทำใจไว้ระดับหนึ่งแล้ว และคิดว่า รอพักรักษาตัว สักระยะหนึ่ง ก็จะลองตั้งครรภ์ อีก
ส่วนกรณี คุณพรนภา  เธออายุ 23 ปี  ตั้งครรภ์แรกเหมือนกับ คุณนงคราญ เพียงแต่เธอตั้งครรภ์เดี่ยว  คุณพรนภาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 11 สัปดาห์ เธอมาเข้ารับการตรวจตามนัดทุกครั้ง จำนวนทั้งหมด 11 ครั้ง ด้วยความหวังว่า ลูกของเธอจะคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์, คุณพรนภามีปัญหาความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ไม่เกิน 160/90 มิลลิเมตรปรอท เธอจึงไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อควบคุมความดันโลหิต เป็นระยะๆ
ตั้งแต่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นต้นมา คุณพรนภาได้รับการตรวจพิเศษเกี่ยวกับสภาพเด็ก (Non- stress test) ทุกสัปดาห์ ก็ไม่พบว่า ทารกผิดปกติ พออายุครภ์ได้ 40 สัปดาห์เศษ คุณพรนภาได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง ผลปรากฏว่า ทารกมีรูปร่างและขนาดปกติ แต่..มีน้ำคร่ำน้อยมาก (Oligohydramnios) และรกอยู่ในสภาพเสื่อมทีเดียว (Placental grad = 3) สูติแพทย์ที่แผนกผู้ป่วยนอก จึงสั่งการให้คนไข้นอนพักที่ห้องคลอด เพื่อรอการตัดสินใจของสูติแพทย์เวร ต่อมา คนไข้ได้ถูกส่งตัวขึ้นไปนอนพักที่หอผู้ป่วยชั้น 5 เพื่อรอการชักนำ (Labor Induction) ให้คลอดในวันรุ่งขึ้น
พยาบาลที่หอผู้ป่วยชั้น 5 ได้ตรวจฟังหัวใจทารก แรกรับและตอนเย็นวันนั้น พบว่า หัวใจทารกเต้นปกติ ต่อมา คนไข้ขอย้ายไปอยู่ห้องพิเศษที่หอผู้ป่วยชั้น 4 พยาบาลที่นั่นได้ฟังการเต้นของหัวใจลูกคุณพรนภาในตอนแรกรับ ก็พบว่า หัวใจเต้นตามปกติ จากนั้น คนไข้ก็เข้านอน และอดอาหารหลังเที่ยงคืน เพื่อเข้าสู่กระบวนการชักนำในห้องคลอด ตอนเช้าของวันใหม่
ใครเลยจะรู้ ว่า เมื่อคนไข้ถูกส่งตัวมาถึงห้องคลอด เมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกา พยาบาลที่ห้องคลอด ก็ฟังเสียงหัวใจทารก ลูกคุณพรนภาไม่ได้ยินเสียแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคน พากันตกใจ และแจ้งให้สูติแพทย์เวรทราบ..ซึ่ง..เมื่อซักประวัติย้อนกลับไป ก็พบว่า ‘ลูกคุณพรนภาไม่ค่อยดิ้น ตั้งแต่เวลา ประมาณ 2 ทุ่มของคืนวาน’ คนไข้ไม่คิดว่า จะมีปัญหาอะไร?? เพราะเธอนึกว่า ‘มดลูกแข็งตัวบ่อย เธอจึงรู้สึกว่า ลูกดิ้นน้อย’ ความไม่เฉลียวใจของคุณพรนภาครั้งนี้ กลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่น่าเห็นใจยิ่ง
หลังจากนั้น คุณพรนภาก็ได้รับการเร่งคลอด โดยการผสมยาเร่งคลอด (Syntocinon) ในน้ำเกลือที่หยดเข้าทางเส้นเลือดดำ คุณพรนภาคลอดในวันจันทร์ เมื่อเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2,900 กรัม คนไข้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 วัน ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน …..เหลือทิ้งไว้ ก็แต่ความรู้สึกเงียบเหงาเศร้าใจของผู้ที่ทราบเรื่องราวดังกล่าว..
 ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) หมายถึง ภาวะที่มีน้ำคร่ำน้อยผิดปกติ ในทางการแพทย์ บางแห่ง ก็ถือว่า น้อยกว่า 400 มิลลิลิตร ซึ่ง..การวินิจฉัย กระทำได้โดยการวัดระดับน้ำคร่ำในแนวดิ่ง 4 มุม (Quadrant) ของหน้าท้อง เรียกเป็นทางการว่า ‘ดัชนีน้ำคร่ำ’ [amniotic fluid index (AFI)] แล้วได้ค่าผลรวม < 5 เซนติเมตร ภาวะนี้ มีอันตรายมาก โดยเฉพาะ ในกรณีที่น้ำคร่ำมีจำนวนน้อยมากมาก เทียบเป็น ค่าดัชนีน้ำคร่ำ ก็น้อยกว่า 1 เซนติเมตร (AFI < 1) เพราะตัวเด็กจะไปกดเบียดสายสะดือ ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงทารก จนเป็นเหตุให้ทารกต้องเสียชีวิต
การเสียชีวิตของทารกในครรภ์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ‘ป้องกันไม่ได้’ ตัวอย่างเช่น กรณีของคุณนงคราญ ซึ่งทารกมีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ‘สามารถป้องกันได้ (Preventable)’ ซึ่งหมายถึง..ว่า ทารกนั้น ไม่ได้มีความผิดปกติอะไรเลย แต่กำลังตกอยู่ในอันตราย จากสภาวะแวดล้อมบางอย่าง ที่ไม่ปลอดภัย กรณีเช่นนี้ คงน่าเสียดาย ที่ทารกจะต้องมาสูญสิ้นชีวิต ดังนั้น หากคุณแม่ท่านใด ที่ตั้งครรภ์จนครบกำหนด (อายุครรภ์เกินกว่า 38 สัปดาห์) แล้ว มีปัญหา…บางอย่าง (เช่นกรณีคุณพรนภา) ที่คุกตามต่อจิตใจของมารดา จนคิดว่า ‘ลูกของเธอ อาจเสียชีวิตได้ หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน’ เธอก็สามารถร้องขอต่อสูติแพทย์ผ่าตัดคลอดให้ได้ ทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจสิ่งใดอีก…
ความเงียบเหงา แห่งรัตติกาล ทำให้ใจข้าพเจ้าสงบนิ่ง ทุกสิ่งในโลกนี้ ดูเหมือนว่า ล้วนแล้วแต่อนิจจัง ข้าพเจ้าเอง ก็ไม่อยากจะหวังสิ่งใดมากนัก…เพียงแค่  อยากให้ทุกชีวิต ที่กำลังดิ้นรน กระเสือก กระสนอยู่ในครรภ์มารดา จงอย่าได้ มีเหตุเภทภัย ให้ต้องมาจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย ดุจเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น เพราะ…การได้กำเนิดมา และมีอัตภาพเป็นมนุษย์นั้น ถือว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น…ยากที่สุดอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้…..
 &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี   ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *