คนท้องกับโรคหัวใจวายซีกขวา

คนท้องกับโรคหัวใจวายซีกขวา

เรื่องราวในโลกนี้ บางที มันก็ไม่เป็นอย่างที่เราคิด อย่างไรก็ตาม..ตราบใดที่ยังมีความหวัง.. ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างปาฏิหาริย์บ้าง… แต่..ปาฏิหาริย์ที่ว่า.. บางคราว ก็ถูกทำลายล้างได้ด้วยกรรม.. ซึ่งไม่รู้ว่า ทำไว้แต่ชาติปางไหน..

เมื่อวาน ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. อายุรกรรม เพื่อสอบถามอาการของคนไข้ท้องหลังคลอดรายหนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจซีกขวาล้มเหลว ข้าพเจ้าถามเจ้าหน้าที่พยาบาลที่นั่นว่า “ เออ! คนท้องที่หัวใจล้มเหลวหลังคลอด ซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ที่นี่ เป็นยังไงบ้าง?” ตอนแรก พยาบาลคนนั้นตอบปฏิเสธว่า ‘ไม่มี’ แต่..สักครู่หนึ่ง เธอก็พูดโพล่งแบบนึกขึ้นได้ทันทีทันใดว่า ‘อ๋อ!! คนที่เป็นโรค SLE (เอส.แอล.อี. หรือ โรคพุ่มพวง) ใช่ไหม?  คุณลักขณา’  พยาบาลคนนั้นพูดชื่อคนไข้.. หยุดสักนิดหนึ่ง แล้วก็พูดต่อว่า ‘เสียชีวิตแล้ว… คนไข้เสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมานี่เอง’

ข้าพเจ้าฟังแล้ว ให้รู้สึกสะเทือนใจ..พลางคิดว่า ‘ถ้าเธอไม่ตั้งครรภ์ ก็คงสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกหลายปี อย่างไรก็ตาม ขอให้เธอจงเป็นสุขอยู่ในสรวงสวรรค์เถิด เพราะลูกของเธอในปัจจุบันนั้น แข็งแรงดี แม้จะคลอดก่อนกำหนด’

คุณลักขณา อายุ 30 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 …ครรภ์แรก เธอคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดเอาเด็กออกด้วยเรื่องน้ำเดิน (PROM = premature rupture of membrane) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ทารกเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 2,600 กรัม แข็งแรงดี.. คุณลักขณา มาโรงพยาบาลตั้งแต่อายุครรภ์ เพียง 9 สัปดาห์ นั่นแสดงว่า เธอใส่ใจในสุขภาพของตนเองมาก วันแรกที่คนไข้มา ก็ได้รับการเจาะเลือด สำหรับฝากครรภ์ พบว่า เธอมีภาวะโลหิตจาง (Hct= Hematocrit 27.2 mg%) และ สงสัย ว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ (Heart disease?)

ขณะตั้งครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ เธอได้รับการตรวจร่างกายโดยพยาบาลห้องฝากครรภ์ พบว่า ขนาดและอายุครรภ์ ไม่ไปด้วยกัน แต่..เนื่องจากอายุครรภ์น้อย เธอจึงถูกส่งไปรับคำปรึกษาจากนักศึกษาแพทย์ และไม่ได้รับการรักษาใดๆ

พออายุครรภ์ได้ 17 สัปดาห์ (จากคำบอกเล่าของคนไข้ ซึ่งคำนวณจากวันสุดท้ายของระดู) คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูอัลตราซาวนด์ (MFM= Maternal fetal medicine) ได้ตรวจร่างกายและให้การวินิจฉัยว่า คุณลักขณา เป็นโรคหัวใจ คนไข้ได้รับการส่งตัวไปปรึกษาอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งคุณหมอได้แนะนำให้ทำ การตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจอย่างละเอียด (Echo) ช่วงนี้ คุณลักขณา เริ่มมีอาการหอบเหนื่อยเป็นบางครั้ง.. จากสภาพที่เป็นอยู่ ทำให้สูติแพทย์ผู้ดูแล วางแผนที่จะทำแท้งเพื่อการรักษาให้กับคนไข้ (Therapeutic abortion) และนัดเพื่อจะดูอัลตราซาวนด์โดยละเอียดคราวต่อไปในเวลาไม่นานนัก

ยังไม่ทันที่จะได้รับการทำแท้ง คุณลักขณาก็เกิดมีภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลวตอนอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ (Right heart failure) โดยได้รับตัวไว้ที่แผนกอายุรกรรม และส่งมาปรึกษาที่แผนกสูติฯ อีกที ในตอนนั้น จากการตรวจดูอัลตราซาวนด์โดยละเอียด พบว่า คุณลักขณาตั้งครรภ์ได้ 27 สัปดาห์แล้ว ไม่ใช่ 18 สัปดาห์ ขณะนั้น ทางแผนกอายุรกรรมกำลังพยายามหาสาเหตุของภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลว แต่..ยังหาไม่พบ ดังนั้น ทางแผนกอายุรกรรมจึงให้การรักษาคนไข้แบบประคับประคองไปก่อน เพราะภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลว.. ไม่มียารักษา โดยเฉพาะ

คุณลักขณา ถูกส่งตัวไปๆมาๆ ระหว่างแผนกอายุรกรรม และสูติฯ เพื่อหาวีธีการรักษาที่เหมาะสม  แต่..เวลาผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า จะให้คนไข้คลอดอย่างไร ..หากเธอไม่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน ก็คงใช้วิธีให้คลอดเองทางช่องคลอด โดยการชักนำวิธีใดวิธีหนึ่ง… สภาพของคนไข้ตอนนั้น คือ เธอต้องนอนอยู่บนเตียงทั้งวันทั้งคืน ยกเว้นเวลาไปเข้าห้องน้ำ ซึ่ง..บ่อยครั้งที่เธอจำเป็นต้องทำกิจธุระบนเตียงคนไข้ เพราะไม่มีแรงเดินไปเข้าห้องน้ำ

เนื่องจากคนไข้มีภาวะเลือดจางร่วมด้วย (Hct = 22%) เธอจึงได้รับเลือด (PRC=Pack red cell) ไปในครั้งแรก 2 ถุง และให้เลือดอีกเมื่อพบว่า โลหิตจางเพิ่ม.. ด้วยสภาพที่ร่างกายอ่อนแอมาก เธอจึงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะผสมผสานเข้าไปด้วย แต่ก็ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพสูง

ตอนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้เชิญคณาจารย์ฝ่ายอายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ และสูติแพทย์ มาประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาของคนไข้รายนี้ ข้าพเจ้าเริ่มเปิดการเจรจาดังนี้   

‘ในอดีต เมื่อ 30 ปีก่อน ตอนที่ข้าพเจ้าจบเป็นแพทย์ใหม่ๆ ทำงานที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดพัทลุง วันหนึ่ง เกิดเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าไม่มีวันลืม กล่าวคือ มีคนท้องหัวใจล้มเหลวคนหนึ่ง อายุครรภ์ครบแล้วมาที่ห้องคลอด คุณหมอท่านนั้นตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ ขณะที่ทำคลอดเอาตัวเด็กออกจากมดลูก คุณแม่ก็เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นทันที.. แพทย์,พยาบาลและเจ้าหน้าที่ ทุกคน พากันตกใจ.. แม้จะพยายามปั้มหัวใจให้คนไข้รายนั้นอย่างสุดความสามารถ แต่….เราก็ไม่สามารถยื้อยุดฉุดวิญญาณของคนไข้ไว้ได้ เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าไปศึกษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช จึงได้ทราบว่า คนท้องที่เป็นโรคหัวใจวาย(โดยเฉพาะหัวใจซีกซ้าย) อันตรายที่สุดก็คือ ตอนที่คลอดทารกออกมาใหม่ๆ เพราะช่วงนั้น กระแสเลือดจะถูกผลักย้อนกลับไปที่หัวใจ เนื่องจากมดลูกเกิดการหดรัดตัว เลือดที่ไหลกลับนั้น มีปริมาณมาก.. ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับหัวใจ ที่ทำหน้าที่เสมือนปั้มน้ำ หัวใจจึงไม่สามารถทนทานต่อไปได้ และหยุดทำงานทันที ..สำหรับรายนี้ พวกเราคิดว่า จะตัดสินใจอย่างไรดี’

กลุ่มสูติแพทย์ ลงความเห็นว่า ‘การผ่าตัดคลอดน่าจะเป็นทางออกดีที่สุด แม้จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของคนไข้ แต่..จะต้องกระทำภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของวิสัญญีแพทย์และอายุรแพทย์โรคหัวใจ เนื่องจากคนไข้มีประวัติเคยผ่าตัดคลอดมาก่อน’

กลุ่มวิสัญญีแพทย์ สรุปว่า ‘ จะให้คลอดทางช่องคลอด ก็ได้ โดยการทำ Painless labor (การฉีดยาชาเข้าในไขกระดูกสันหลัง [spinal or epidural block]) หากผ่าตัดคลอด ก็คงน่าจะใช้วิธีใสท่อช่วยหายใจและดมยา (General anesthesia) เพราะทำให้ระบบความดันโลหิตและกระแสเลือด ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก.. อนึ่ง หลังผ่าตัด ก็ยังจะสามารถส่งต่อคนไข้ไปยังห้องไอ.ซี.ยู.อายุรกรรมได้เลย โดยไม่ต้องถอดท่อหายใจ…ช่วยให้การดูแลคนไข้ ในห้อง ไอ.ซี.ยู. ง่ายขึ้น’

กลุ่มอาจารย์กุมารแพทย์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลูกคุณลักขณาว่า ‘ทารกอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ น่าจะดูแลได้ แต่..ความสำคัญของเด็กคงเป็นเรื่องรอง… เราคงต้องเลือกมารดามากกว่าลูก’

คณาจารย์แผนกอายุกรรมหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ‘การตั้งครรภ์ ทำให้โรคหัวใจของคนไข้แย่ลง หากปล่อยไว้นานกว่านี้ คิดว่า คุณลักขณา อาจเสียชีวิตพร้อมกับลูกในครรภ์ ขณะนี้ อาการของคนไข้ดีขึ้นมากพอสมควร จากการสืบหาสาเหตุ เราคิดว่า คนไข้น่าจะเป็นโรค SLE และเริ่มให้ยา สเตียรอยด์ (Steroid) แล้ว 2 – 3 วัน คนไข้ตอบสนองต่อยาค่อนข้างดี อาการเกี่ยวกับปอดดีขึ้น ทางอายุรกรรมอยากให้ ทางสูติแพทย์ คลอดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’

ข้าพเจ้าสอบถามคุณหมอจากอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือดว่า ‘ พวกเราได้ไปเยี่ยมคนไข้ที่แผนกอายุรกรรม ไม่เห็นอาจารย์ให้ยาบำรุงหัวใจแก่คนไข้เลย.. เห็นให้แต่ยาธรรมดา.. แบบนี้ เวลาคลอด แม้ว่า อาจารย์มา ก็คงช่วยอะไรคนไข้ไม่ได้เท่าไหร่’

‘เออ!! คุณลักขณา เป็นโรคหัวใจซีกขวาล้มเหลว โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ ไม่เหมือนหัวใจซีกช้ายล้มเหลว ซึ่งมียาช่วยการทำงานให้หัวใจดีขึ้นหลายตัว สิ่งสำคัญกรณีนี้ คือ หาสาเหตุให้ได้ และรักษาสาเหตุนั้น’ คุณหมอแผนกอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือดอธิบาย คุณหมอยังพูดต่อว่า ‘ตอนนี้ เราเชื่อว่า สาเหตุของหัวใจซีกขวาล้มเหลวของรายนี้ มาจาก โรคเอส. แอล. อี. (SLE disease)’

คุณลักขณา อยู่ที่แผนกอายุรกรรมคราวนี้ อาการดีขึ้นชั่วคราว ทำให้สูติแพทย์เจ้าของไข้ เตรียมจะผ่าตัดให้เมื่ออายุครรภ์ครบ 30 สัปดาห์ ขณะที่คุณหมอผู้ดูแลทุกคนกำลังดีใจในสภาพคนไข้ที่ดีขึ้นตามลำดับอยู่นั้น ..จู่ๆ คุณลักขณาก็มีอาการแย่ลงหลังจากดีขึ้นได้เพียง 2 – 3 วัน สูติแพทย์เจ้าของไข้จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉินให้คนไข้ในบ่ายวันหนึ่ง ขณะที่คนไข้ตั้งครรภ์ได้ 29 สัปดาห์

วันนั้น เป็นวันพุธ สูติแพทย์ที่ทราบข่าวต่างพากันไปอออยู่ในห้องผ่าตัด พร้อมกับวิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ รวมทั้งอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย คุณลักขณาสามารถทนต่อการผ่าตัดคลอดได้ดี เพียงแต่ต้องคาท่อช่วยหายใจต่อ จนส่งตัวเข้าไปอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู.หน่วยหัวใจและหลอดเลือด (C.C.U.) ทารกลูกของเธอเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 1,268 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 5 และ 7 (คะแนนเต็ม 10) ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ ทารกน้อยได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจทันที และถูกส่งไปยังห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดเช่นกัน ลูกคุณลักขณานอนพักรักษาตัวอยู่ที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. 5 วัน ก็ส่งกลับไปอยู่ห้องความเสียงของทารก ซึ่ง.. ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ.. ส่วนคุณลักขณา อยู่โรงพยาบาลเพียง 7 วันหลังคลอด ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้

หลังจากคุณลักขณาคลอด สูติแพทย์ และคณาจารย์ทั้งหลายพากันดีใจในความสำเร็จ เพราะทุกอย่างปรากฏออกมาดีมากจนเกินคาด คุณลักขณามีชีวิตที่สุขสบายขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้มาก แต่..เธอยังคงได้รับยา steroid เพื่อรักษาโรค เอส แอล อี (SLE) ต่อไป.. เรื่องราวของคุณลักขณาควรจะจบลงตรงนี้ แล้ว ก็ใช้ชีวิตเยี่ยงคนทั่วไป ไม่ต้องคิดถึงวันเก่าที่เพิ่งผ่านพ้นมา

คุณลักขณากลับบ้านได้เพียง 3 วัน ก็เกิดอาการช็อคหมดสติ และหามส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน เมื่อได้รับการรักษาเบื้องต้นโดยการใส่ท่อช่วยหายใจ เธอก็ถูกส่งตัวต่อ (refer) มาที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะคุณลักขณามีการประกันสังคมที่นี่ คนไข้ถูกส่งเข้าห้องไอ.ซี.ยู.ทันทีและได้รับการเจาะปอด (ICD = intercostals drainage) ใส่ท่อระบายอากาศ เนื่องจาก มีภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax) คุณหมอแผนกอายุรกรรมประชุมหารือกันทุกวัน เพื่อให้การรักษาที่ดีที่สุด มีการสั่งหยุดยาสเตียรอยด์ เพราะยาตัวนี้ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว ..ถึงแม้ว่า เธอจะได้รับยาฆ่าเชื้อที่ดีมากอย่างไร การตอบสนองของร่างกายดูจะไม่กระเตื้องขึ้นเลย คนไข้นอนอยู่ที่ห้องไอ.ซี.ยู. นาน 10 วัน ก็จากโลกนี้ไป อย่างไม่มีวันหวนกลับ

คนท้องที่เป็นโรคหัวใจวาย หากวินิจฉัยได้ตอนอายุครรภ์น้อยๆ ควรต้องได้รับการทำแท้ง สำหรับคนไข้รายนี้ เธอจำระดูผิด และตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว.. ทั้งไม่ทราบว่า ตัวเองเป็นโรคหัวใจวาย ..ยิ่งโชคร้ายซ้ำเติม เมื่อเธอเป็นโรคหัวใจวายซีกขวา (Right heart failure with pulmonary hypertension) ซึ่งไม่มียาแก้ไขเฉพาะ แต่ยังดี ที่มีปาฏิหาริย์ เธอได้รับการผ่าตัดคลอดปลอดภัย พร้อมลูกน้อย อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์ไม่มีเป็นครั้งที่สอง เมื่อเธอได้รับการติดเชื้อทั่วร่างกายหลังคลอดและเกิดอาการช็อค จนเสียชีวิตในที่สุด

ชีวิตคนเรานั้น!! จะมีอะไรที่แน่นอน…..แค่มีชีวิตรอดพ้นไปวันหนึ่งวันหนึ่ง โดยไม่มีโรคภัยหรืออุบัติเหตุเบียดเบียน ก็นับว่า มีบุญโขอยู่แล้ว  หากเกิดโรคภัย แล้วรอดพ้นมาได้สักครั้งหนึ่ง ก็นับว่าโชคดี.. แต่..จะโชคดีหลายๆครั้ง คงต้องอาศัยบุพกรรมแต่หนหลังที่สมบูรณ์ยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรทำบุญสั่งสมตั้งแต่วันนี้อย่างต่อเนื่อง  เพื่อวันข้างหน้าในโลก จะได้พ้นภัยได้บ่อยๆ…

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

  

 

 

 

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *