โสหุ้ยแห่งชีวิต

ในปี พ.ศ. 2554 นับแต่เดือน กรกฎาคม จนถึง ธันวาคม มหาอุทุกภัยได้ถาโถมเข้าถล่มบ้านเมืองของเราจนเสียหาย กว้างไกล ตั้งเหนือจรดไต้ ไม่มีเว้น แม้แต่เมืองหลวง..ประชาชนทุกหย่อมหญ้าในอาณาเขตที่กระแสน้ำไหลผ่าน ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า ปวงประชา พากัน ร้องไห้ ระงม..เป็นที่น่าสังเวชใจยิ่ง…จะมีเหลือผู้โชคดี อยู่รอดปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินจริงๆ..ไม่มากนักเลย….\r\nสำหรับโลกมนุษย์ยุคนี้ เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้ในการดำเนินชีวิต ต้องมี ค่าใช้จ่าย.. และค่าใช้จ่ายในยุคทุนนิยม อันน่ากลัวที่สุด ก็คือ ‘ค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับสุขภาพ’ เพราะ มันสูบกินเลือดกินเนื้อของคนไข้ ลูกหลาน หว่านเครือไปอย่างมากมาย รุนแรง… ก่อเกิดหายนะยิ่งใหญ่ ไม่ต่างจาก มหาอุทกภัย ที่ผ่านมา\r\nสมัยก่อน มีคำกล่าวว่า ‘คนตาย ขายคนเป็น’..เดี๋ยวนี้ ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว คนตายไร้ญาติ จะมีมูลนิธิฯมากมาย ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ จัดการศพให้ โดยไม่คิดมูลค่า แต่.. คนป่วยไข้ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ถือเป็น โสหุ้ย ที่จะทำให้คนทั้งครอบครัวเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส สำหรับคนจน หรือแม้ชนชั้นกลางทั่วๆไป ก็อาจล้มละลายได้จากโสหุ้ยที่ว่า ซึ่ง..ข้าพเจ้าอยากจะตั้งเป็นสำนวนแทนคำสำนวนเก่าว่า ‘คนป่วยไข้ คือ โสหุ้ยหายนะ’ \r\nช่วงใกล้ปีใหม่ ข้าพเจ้าได้อยู่เวรให้กับโรงพยาบาลเอกชน (ขอสงวนนาม) แห่งหนึ่ง และได้ผ่าตัดผ่านกล้องให้กับคนไข้ท้องนอกมดลูกรายหนึ่ง ก่อนผ่าตัด ฝ่ายการเงินได้แจกแจงรายจ่ายค่าผ่าตัดว่า ‘ผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ประมาณแปดหมื่นห้า ส่วนผ่าตัดผ่านกล้อง น่าจะอยู่ในราวแสนสองถึงแสนสาม’ ข้าพเจ้าได้ยินการสนทนาครั้งนี้ แล้วรู้สึกสะท้อนใจว่า ‘ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนนั้น แพงมากๆเลย คนจนทั่วไป คงสู้ไม่ไหวแน่’\r\nสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดเรื่องราวเกี่ยวกับคนไข้รายหนึ่ง ที่ทำให้ข้าพเจ้าอกสั่นขวัญแขวนอยู่หลายวัน เรื่องมีอยู่ว่า คืนหนึ่ง คุณกัญญารัตน์ อายุ 37 ปี ซึ่งตั้งครรภ์แรก ทั้งๆที่เป็นเนื้องอกมดลูก (Adenomyosis) ได้มาที่โรงพยาบาลเอกชน ที่ข้าพเจ้าทำงาน ด้วยเรื่องน้ำเดิน ตอนอายุครรภ์ 36 สัปดาห์เศษ ซึ่งสุดท้าย ก็มีปัญหาสงสัยว่า จะมีกระเพาะปัสสาวะฉีกขาดจากการผ่าตัดคลอด??\r\nเมื่อแรกเริ่มตั้งครรภ์ คุณกัญญารัตน์ได้มาฝากครรภ์กับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลแห่งนี้ การฝากครรภ์เป็นไปด้วยดี พออายุครรภ์ ได้ 11 – 14 สัปดาห์ ข้าพเจ้า ได้ส่งเธอไปเข้ารับการตรวจเลือด และตรวจอัลตราซาวนด์ที่คอทารกน้อย (Nuchal thickness) ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี หน่วยทารกปริกำเนิด (Maternal Fetal medicine) ผลออกมา ก็ปกติดี พออายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ก็ส่งให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านอัลตราซาวนด์ช่วยตรวจหาความพิการของทารกน้อย คุณกัญญารัตน์ผ่านพ้นการตรวจอย่างละเอียดมาตลอด โดยไม่พบมีปัญหา แต่…ข้าพเจ้าได้บอกกับคุณกัญญารัตน์และสามีล่วงหน้าแล้วว่า ‘คุณกัญญารัตน์ มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด เพราะเนื้องอกมดลูกชนิดนี้ มักทำให้มดลูกหดรัดตัวบ่อยๆ เนื่องจากไวต่อการถูกรบกวนเมื่อครรภ์เติบใหญ่ขึ้น ’\r\nยังจำได้…คืนนั้น เป็นคืนวันจันทร์ที่ข้าพเจ้าอยู่เวรประจำการพอดี คุณกัญญารัตน์มีน้ำเดินมาที่ห้องคลอด ตอนเวลาประมาณ 5 ทุ่ม พยาบาลได้ตรวจภายในให้ และมารายงานข้าพเจ้าว่า ‘ปากมดลูกคนไข้เปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 100% ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว (Membrane ruptured)’ ข้าพเจ้าถามคนไข้ว่า ‘กินอาหารและน้ำครั้งสุดท้ายกี่โมง’ คุณกัญญารัตน์ตอบว่า ‘ประมาณทุ่มหนึ่ง’ ข้าพเจ้าจึงให้พยาบาลโทรศัพท์ไปถามวิสัญญีแพทย์ว่า ‘จะให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดได้กี่โมง’ ซึ่ง…ทางวิสัญญีตอบมาว่า ‘ผ่าตัดได้เลย’\r\nที่ห้องผ่าตัด.. ข้าพเจ้ากรีดลงมีดตามแนวขอบกางเกงในตามปกติ และผ่าตัดผนังหน้าท้องเป็นชั้นๆจนถึงตัวมดลูก… ที่มดลูกส่วนล่าง (Lower uterine segment) ข้าพเจ้าสังเกตว่า ส่วนของเยื่อบุลำไส้ที่คลุมกระเพาะปัสสาวะ (Peritoneum) มีส่วนหนึ่งยื่นเข้ามาที่คอมดลูก แต่ก็ไม่มากนัก ข้าพเจ้าลงมีดกรีดตรงนั้น เป็นแนวยาว พร้อมกับกรีดผ่านกล้ามเนื้อมดลูก พอกรีดไปนิดหนึ่ง ก็ต้องตกใจ เพราะทะลุเข้าไปถึงถุงน้ำคร่ำ และถูกต้องตัวเด็กเล็กน้อย นั่น..แสดงว่า ปากมดลูกของคนไข้เปิดหมดแล้ว จึงทำให้มดลูกส่วนล่างบริเวณนี้บางมาก อย่างไรก็ตาม ปลายมีด ก็ไม่ได้บาดถูกผิวเนื้อของเด็ก ซี่ง..ทราบภายหลังจากการล้วงเข้าไปว่า เป็นส่วนแขนของทารกน้อย ส่วนหัวลูกคุณกัญญารัตน์ นั้น อยู่ลึกเข้าไปในอุ้งเชิงกราน จนเกือบจะคลอดออกมาอยู่แล้ว ข้าพเจ้าต้องเสียเวลาใช้มือล้วงอยู่นาน จึงสามารถทำคลอดส่วนหัวออกมาได้ ลูกคุณกัญญารัตน์คลอดเมื่อเวลา 00.35 นาฬิกา เป็นทารกเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 2,510 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9, 10 ณ นาที ที่ 1 และ 5 ตามลำดับ (คะนนเต็ม 10)\r\nการเย็บมดลูกส่วนล่างนั้น ไม่ง่ายเลย เพราะเนื้อมดลูกบางมาก ข้าพเจ้าเสียเวลาเย็บบริเวณมุมของแผลส่วนล่างของคอมดลูก (Lower uterine segment) อยู่นาน เพราะมันฉีกขาดมากจนเลยจากจุดที่มองเห็น หาก..สูติแพทย์ที่ไม่มีประสบการณ์เย็บตรงนี้แบบเดิมๆ…..โอกาสที่คนไข้จะตกเลือดเข้าไปในช่องท้องในห้องพักฟื้น จะมีมาก และเป็นสาเหตุให้คนไข้เสียชีวิตได้ด้วย ข้าพเจ้าเย็บส่วนมุมของแผลมดลูกส่วนนี้อยู่นานทีเดียว โดยเย็บแบบเงื่อนปมหมายเลขแปด (Figure of eight) 3 ครั้ง และผูกเป็นแบบทีละปมแยกกัน (Interrupted stitch) จากนั้น ก็เย็บแผลส่วนที่เหลือด้วย Continuous lock และเย็บเสริมความแข็งแกร่งอีก 1 ชั้น แล้วจึงเย็บเยื่อบุลำไส้มาปิด\r\nวิสัญญีแพทย์ ได้บอกกับข้าพเจ้าตอนก่อนจะเย็บปิดผนังหน้าท้องว่า ‘ปัสสาวะของคนไข้ ค่อนข้างแดงนะ’ ข้าพเจ้าชะโงกหน้าไปมองดูถุงใส่ปัสสาวะ เห็นมีน้ำปัสสาวะในถุงประมาณ 700 – 800 มิลลิลิตร ลักษณะมีสีออกแดงเรื่อๆ ข้าพเจ้าตอบกับวิสัญญีแพทย์ว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก’ จากนั้น ก็ตั้งหน้าตั้งตาเย็บปิดเยื่อบุช่องท้องคลุมส่วนแผลบนคอมดลูก ซับเลือดภายในช่องท้อง และเย็บปิดผนังหน้าท้องทีละชั้น \r\nคาดไม่ถึง วันรุ่งขึ้น พยาบาลหอผู้ป่วยชั้น 5 จะโทรศัพท์มาปลุกข้าพเจ้าตอน 8 นาฬิกาเศษ ว่า ‘ปัสสาวะของคนไข้ สีแดงมากเลย สงสัยจะมีเลือดออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ หมอช่วยขึ้นมาดูหน่อย’ เช้าวันนั้น ข้าพเจ้านอนตื่นสาย พอได้ยินเสียงพยาบาลพูดเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็สะดุ้งลุกขึ้นจากเตียงทันที รู้สึกใจหายแวบ และคิดไปไปต่างๆนานา เมื่อเข้าไปในห้องผู้ป่วย ข้าพเจ้าต้องตกใจ ที่เห็นน้ำปัสสาวะในถุง (Urinary Bag) สีแดงเข้มมาก และยังมีส่วนตกตะกอนที่คาอยู่ในสายสวนปัสสาวะอีก สียิ่งแดง ราวกับเลือดสดๆ.. สามีคนไข้นั่งบน โซฟา พอเห็นสีหน้าของข้าพเจ้า ก็เอ่ยพูดขึ้นมาอย่างเคร่งเครียดว่า ‘คุณหมอ คิดว่า จะต้องผ่าตัดใหม่หรือเปล่า?’ คำพูดนี้ ทำให้ข้าพเจ้ายิ่งจินตนาการไกลออกไปว่า ‘ส่วนที่ยื่นของเยื่อบุลำไส้ ที่คลุมขึ้นมาบนคอมดลูก อาจถูกข้าพเจ้าดัน จนฉีกขาด แล้วไม่ได้เย็บ.. แบบนี้ มีหวัง กระเพาะปัสสาวะฉีกขาด เป็นแนวยาวตามรอยกรีด โอ้ย!! อาจต้องผ่าเปิดหน้าท้องคนไข้อีกรอบ คนไข้และสามีต้องเอาเรื่องผมแน่’ พอคิดดังนั้น ข้าพเจ้า ก็เผลอพูดออกมาว่า ‘เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน ผมจะไม่คิดค่าใช้จ่าย ในส่วนค่าแพทย์ของผมเลย นอกจากนี้ ในส่วนอื่น ที่อาจต้องเข้าห้องผ่าตัดอีก ผมจะรับผิดชอบเอง’ การที่ข้าพเจ้าพูดเช่นนั้น ก็เพราะกังวลว่า สามีคนไข้อาจจะไปฟ้องร้อง หรือแม้แต่เพียงร้องเรียนโรงพยาบาลในความผิดพลาดครั้งนี้ \r\nความจริง ข้าพเจ้า เคยพานพบเรื่องปัสสาวะของคนไข้มีสีเลือดแดงในถุงปัสสาวะหลังผ่าคลอดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 40 – 50 ราย ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา แต่..ข้าพเจ้าไม่เคยตกใจเท่าครั้งนี้เลย เพราะ สีเลือดในถุงน้ำปัสสาวะครั้งนี้ สีแดงข้นจริงๆ.. อนึ่ง.. ปัจจุบัน คนไข้มักขี้ตกใจ อะไรนิดหน่อย ก็ฟ้องร้อง แบบไม่ให้ทันตั้งตัว… ซึ่งอาจเกิดขึ้น เนื่องด้วย ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แพงมาก คนไข้และญาติ จำเป็นต้องเรียกร้องเอาจากความไม่พอใจ หรือตกใจในทุกกรณีที่สงสัยว่า จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น….. \r\nข้าพเจ้าพูดเรื่อยเปื่อยในห้องคนไข้สักพัก ก็เดินออกมาด้วยความไม่สบายใจ พอถึง เคาเตอร์พยาบาล ก็สั่งการกับพยาบาลว่า ‘เพิ่มอัตราเร่งของน้ำเกลืออีกหน่อย และช่วยรายงานผมเป็นระยะๆด้วยว่า เลือดที่ออกจากกระเพาะปัสสาวะในชั่วโมงต่อๆไป จะมีสีแดงเข้มเช่นนี้ อีกหรือเปล่า?’ นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังให้พยาบาลที่หอผู้ป่วยชั้น 5 โทรศัพท์ติดต่อศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ เพื่อปรึกษากรณีนี้ ข้าพเจ้าถามพยาบาลคนนั้นว่า ‘หมอ URO (ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ) คนไหนเก่ง’ พยาบาลคนนั้นตอบว่า ‘คุณหมอสุพิรักษ์ อยู่เวร First call’ ข้าพเจ้าจึงโทรศัพท์ปรึกษากับคุณหมอ โดยเล่าให้ทราบว่า ‘คนไข้รายนี้ เพิ่งผ่าตัดคลอดไปราว เที่ยงคืน ตอนนั้น ปัสสาวะมีสีแดงเรื่อๆ ไม่แดงเข้มมากนัก ( Hematuria) แต่.. ตอนนี้ เวลาผ่านไปกว่า 6 ชัวโมง ปัสสาวะยังมีสีแดงอยู่เลย แถมสียังเข้มขึ้นอีกด้วย ไม่รู้ว่า ตอนเย็บปิดแผลบนตัวมดลูกส่วนล่าง ผมจะพลาดพลั้ง เอาเข็มเย็บเข้าไปทิ่มถูกกระเพาะปัสสาวะหรือเปล่า?? กรณีอย่างนี้จะทำยังไงดี ต้องส่องดูในกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscope) หรือเปล่า’ คุณหมอสุพิรักษ์ตอบว่า ‘ขอผมดูคนไข้ก่อนก็แล้วกัน แต่….ถ้าอาจารย์เย็บแล้วเข็มทิ่มเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะจริงๆ สักเข็ม สองเข็ม ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร อย่างไรก็ตาม..คงต้องใส่สายปัสสาวะให้คนไข้คาทิ้งไว้นานหน่อย สัก 5 – 7 วัน’\r\nตอนเช้า คุณหมอสุพิรักษ์ได้ไปดูคุณกัญญารัตน์ราว 10 นาฬิกา และโทรศัพท์มาหาข้าพเจ้าทันที คุณหมอบอกว่า ‘ปัสสาวะของคนไข้ ดูมีสีใสขึ้น คงไม่จำเป็นต้องนำคนไข้ไปส่องตรวจดูในกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscope) หรอก’ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจมาก ที่ไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายจนถึงขั้นต้องส่องกล้อง (Cystoscope) เข้าไปดูในกระเพาะปัสสาวะของคนไข้ เพราะ..นั่น..เท่ากับ สร้างความไม่พอใจให้กับคนไข้ ,สามี รวมทั้งบรรดาญาติๆ อันอาจนำไปสู่การฟ้องร้องในที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้บอกกับพยาบาลที่นั่นว่า ‘หากจำเป็นต้องทำอะไรให้กับคนไข้ ตามที่ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะร้องขอ ค่าใช้จ่าย ให้ตัดเข้าบัญชีของผม’ ซึ่ง..หมายความว่า ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ ของคนไข้ทั้งหมด วันนั้น ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์เข้าไปที่หอผู้ป่วย สอบถามเรื่องปัสสาวะของคุณกัญญารัตน์ เกือบทุกชั่วโมง ผลปรากฏว่า ปัสสาวะมีสีแดงจางลงตามลำดับ\r\nกลางคืน วันนั้น ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปเยี่ยมคุณกัญญารัตน์อีก สังเกตว่า ‘น้ำปัสสาวะในสายสวนและในถุงปัสสาวะไม่มีสีแดงฉาน เหมือนตอนเช้า คงเป็นสีแดงเรื่อจางๆเท่านั้น’ ข้าพเจ้าพูดกับคุณกัญญารัตน์ว่า ‘ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องใหม่ หรือส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะอีกแล้ว เพียงแต่ว่า ต้องคาสายสวนนานหน่อย และคาดว่าจะเอาสายสวน (ปัสสาวะ) ออกในตอนเช้าวันพุธ.หรือ พฤหัส. ช้าไปสักวันสองวัน’ ข้าพเจ้าพูดออกไปเช่นนั้น ก็เป็นด้วยประสบการณ์ที่เคยพบเจอ แต่..พอพบเจ้าหน้าที่พยาบาล ข้าพเจ้าก็บอกกับพยาบาลว่า ‘การเอาสายปัสสาวะออก (off urinary catheter) เมื่อไหร่นั้น ก็แล้วแต่อาจารย์สุพิรักษ์’\r\nวันอังคาร ข้าพเจ้าไปเยี่ยมคนไข้แต่เช้ามืด สังเกตว่า ‘ในสายสวนปัสสาวะของคนไข้ ไม่มีตะกอนเลือดอีกแล้ว’ ข้าพเจ้าดีใจจนบอกไม่ถูก หลังจากพูดคุยกับคุณกัญญารัตน์สักพักหนึ่ง จึงทราบว่า ‘ทางบริษัทฯของสามี จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ทั้งหมด’ ซึ่ง…ทำให้ข้าพเจ้าโล่งใจได้นิดหนึ่ง..วันพุธ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคนไข้อีกและเห็นว่า ‘ปัสสาวะของคนไข้สีเหลืองใสเหมือนของคนปกติ’ ข้าพเจ้าออกจะมั่นใจว่า ‘ณ ขณะนี้ คนไข้คงสามารถกลับบ้านได้ตามปกติ คือ 4 วันนับจากวันผ่าตัด’ แต่.. พอออกไปที่เคาเตอร์พยาบาล จึงได้ทราบว่า ‘อาจารย์สุพิรักษ์ ต้องการให้คนไข้คาสายสวนปัสสาวะต่อไปอีก 3 – 4 วัน’ \r\nวันพฤหัส ข้าพเจ้ายังคงไปทำงานที่โรงพยาบาลตำรวจตามปกติ พอตกเย็น ทางพยาบาลหอผู้ป่วย ได้โทรมาบอกข้าพเจ้าว่า ‘คนไข้ขอกลับบ้าน อาจารย์สุพิรักษ์ก้อนุญาตแล้วด้วย’ ข้าพเจ้ารีบเดินทางไปดูคนไข้ทันที เจ้าหน้าที่พยาบาลบอกว่า ‘คนไข้ได้โทรศัพท์ติดต่อกับอาจารย์สุพิรักษ์ อาจารย์บอกว่า ให้เอาสายสวนปัสสาวะออกได้ หลังจากนั้น คนไข้ก็ปัสสาวะได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร’ พอพบหน้าคนไข้ คุณกัญญารัตน์ไดถามข้าพเจ้าว่า ‘ทำไมค่าใช้จ่าย ถึงบานปลายเป็น 7 – 8 หมื่นละหมอ..เราไม่ได้ทำอะไรเลย’ ข้าพเจ้าอึ้งอยู่สักพัก ก็ขอตัวไปสอบถามจากพยาบาล โดยยังพูดกับคนไข้และญาติทำนองเดิมอีกว่า ‘ไม่เป็นไร เดี๋ยว…. ถ้ามีปัญหาอะไร (เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย)..ค่าแพทย์ต่างๆ ผมจะขอให้ทางโรงพยาบาลตัดออก’ พยาบาลได้ชี้แจงให้ฟังว่า ‘ที่คนไข้บอกมานั้น เป็นค่ารักษาที่ยังไม่คิดแบบ Package… พอคิดแบบ Package.. จำนวนเงินก็จะลดลง’ และพูดเสริมเพิมเติมว่า ‘ นี่ยังดีนะ ที่เจอคุณหมอสุพิรักษ์ หากไปเจอกับ คุณหมอURO ท่านอื่นบางคน คนไข้คงถูกจับไปส่องกล้องกระเพาะปัสสาวแล้ว และจะต้องนอนพักโรงพยาบาลต่ออีก 5 – 7 วัน ค่าใช้จ่ายมีหวังต้องเกินหลักแสน’ ในที่สุด คนไข้ ก็ชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดแบบ Package ผ่านทางบริษัทฯ \r\nข้าพเจ้าได้ผ่านเรื่องเลวร้ายเช่นนี้มาหลายครั้งหลายหน แต่….คราวนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึงไม่น้อย เพราะ..หากคนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนจ่ายไม่ไหว..เขาคงเรียกร้องเอาจากข้าพเจ้า.. ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันระยะหลังๆ มานี้ ไม่ว่าจะเป็นของโรงพยาบาลเอกชนหรือรัฐ ก็แพงแบบน่าใจหาย ด้วยเหตนี้ การฟ้องร้องแพทย์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกิดขึ้นอย่างมากมาย เพราะความไม่พอใจ อันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายและภาวะแทรกซ้อนของคนไข้\r\n ข้าพเจ้าอยากให้ใครสักคนที่มีอำนาจ ช่วยจัดตั้ง ‘สหกรณ์คนป่วย (ช่วยคนไข้)’ ขึ้นมา โดยระดมทุนจากคนไข้และคนจนทั่วไปทั่วทุกสารทิศ ในรูปแบบระบบสหกรณ์ ยามเมื่อเจ็บป่วย คนไข้จะได้สามารถไปกู้ยืม หรือ ขอความอนุเคราะห์ฟรี ตามเหตุอันควร เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวค่ารักษาพยาบาลยามเมื่อเจ็บป่วยนั้น นับวันมีแต่จะบานปลายและลุกลาม ดุจไฟไหม้ป่า หรือมหาอุทกภัย หากไม่มีทุนสำรองหรือทุนอุดหนุน คนไข้ ก็มีแต่จะเอาชีวิตไปทิ้ง เพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา…\r\n จากที่ข้าพเจ้าเคยเห็นและได้ยินมา พ่อแม่ พี่น้องและญาติของคนไข้จำนวนหนึ่ง จำต้องกลายเป็นคนจนข้างถนน ไร้ที่อยู่อาศัยในชั่วข้ามคืน เพราะจำเป็นต้องขายไร่ ขายนา เพื่อช่วยรักษา ยื้อชีวิตคนไข้ในเบื้องต้น..แต่….ในที่สุด ก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือของมัจจุราช..\r\nนี่คือ ความจริงแท้แน่เทียว…. การเจ็บป่วย คือ โสหุ้ยแห่งหายนะ จนมีคำกล่าวติดตลกว่า ‘ไม่มีเงินค่ารักษา ก็จงไปตายซะ’ \r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *