ชีวิตส่วนเกิน [การทำแท้งในไตรมาส 2]

ชีวิตส่วนเกิน [การทำแท้งในไตรมาส 2]\r\nทุกวันนี้ ผู้คนต่างก็เป็นเหยื่อของความเจริญที่เรียกว่า ‘โลกาภิวัฒน์’ กันทั้งนั้น ความเจริญทางด้านวัตถุนี้ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่น้อย….ผู้คนมากมาย พากันหลงไหล ‘สัญญลักษณ์แห่งความเจริญ’ อาทิ มือถือ คอมพิวเตอร์..กล้องถ่ายรูป ทุกคนพากันเร่งรีบ เพื่อให้เป็นบุคคลทันสมัย โดยพยายามเสาะหาเงินทองมามากมาย เพื่อทุ่มเทเสพสิ่งเหล่านี้…แต่… ไม่นาน!!!… วัตถุหลายสิ่งหลายอย่างก็ล้าสมัย พวกที่ยังหลงไหลในวัตถุล้ำสมัย ต่างก็โยนทิ้งสิ่งของที่ไล่ไม่ทันความเจริญ ก่อเกิดเป็น ‘กองขยะ’ กองใหญ่ของปฏิมากรรม.. ที่..เมื่อไม่นานมานี้ เคยถือว่า มันเป็น ‘มรกตแห่งปัญญา’\r\nสิ่งล้ำหน้าเหล่านี้ ถ้าหลงไหล ก็ชักพาเราเสียหาย แต่หากเรารู้เท่าทัน ก็ก่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะความรู้ทางการแพทย์ อันเกี่ยวกับทารกในครรภ์ ที่เรียกว่า MFM (Maternal and fetal Medicine) นั้น บัดนี้ ได้ก้าวไปไกลมาก \r\n2 -3 สัปดาห์ก่อน…คุณหมอสูติ 2 ท่าน ต่างก็พูดสนทนาวิชาการแพทย์กันอย่างเข้มข้นขณะที่ดูอัลตราซาวนด์ ให้กับคนท้องรายหนึ่ง คนท้องรายนี้มีอายุ 39 ปี ตั้งครรภ์ที่ 4 มีปัญหาที่สรุปได้ว่า ‘ คนไข้มีทารกในครรภ์ ขนาดเท่ากับอายุครรภ์ 31 สัปดาห์ แต่ทารกมีความพิการร่างกายหลายอวัยวะ อาทิ ปากแห่ง เพดานโหว่ ใบหน้าผิดรูปผิดร่าง ที่สำคัญ คือ สมองบางส่วน และหัวใจบางห้องมีความบกพร่อง.. ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้ คุณหมอคงต้องทำแท้ง เพื่อการรักษาให้ (Therapeutic abortion) ซึ่งดีกว่า ปล่อยให้เธอตั้งครรภ์ต่อไป.. อย่างไรก็ตาม คุณหมอต้องการจะเจาะเลือดที่สายสะดือเด็ก (Cordocentsis) ก่อน เพื่อการวินิจฉัย 100% ซึ่งผล ก็ออกมาเป็นความผิดปกติของโครโมโซม (Trisomy 18) จริงๆ’\r\nเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง มาปรึกษาข้าพเจ้า ด้วยเรื่องการจัดการเกี่ยวกับทารกพิการในครรภ์ ปัญหา คือ เธอตั้งครรภ์แฝด จากการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งทารกแฝดคนหนึ่ง มีความพิการร่างกายหลายอวัยวะ ส่วนทารกแฝดอีกคนหนึ่งลักษณะรูปร่างปกติ ขณะนี้ คณะแพทย์จากโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งได้เจาะน้ำคร่ำของแฝดทั้งสอง ไปเพาะโครโมโซม และกำลังรอผลอยู่ ตอนนี้ ฝ่ายภรรยาตั้งครรภ์ได้ 18 สัปดาห์…. มีคำถามว่า ‘คุณหมอควรจะจัดการกับการตั้งครรภ์นี้อย่างไร??’ \r\nข้าพเจ้าเชื่อว่า คณะสูติแพทย์ดังกล่าว คงได้แต่เฝ้ารอให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป เพราะถึงแม้จะวินิจฉัยได้ว่า ‘โครโมโซมของทารกคนหนึ่งปกติ และอีกคนผิดปกติ’ การจะทำให้ทารกแฝดคนหนึ่งเสียชีวิต โดยไม่กระทบต่อทารกแฝดคนที่สองนั้น เป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมากต่อการแท้งของทารกทั้งสอง ซึ่ง…นั่นหมายถึงว่า คุณหมออาจถูกฟ้องร้องในทางกฏหมาย… เช่นนี้แล้ว..สู้ปล่อยให้ชะตาชีวิตของทารกน้อยแฝดทั้งสองตัดสินอนาคตของตัวเอง จะมิดีกว่าหรือ…. ฝ่ายคณะสูติแพทย็เพียงแต่คอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ก็จะเป็นผู้มีพระคุณ มากกว่าเป็นผู้ร้ายในสายตาของคนไข้ \r\nสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ออกตรวจผู้ป่วยนอก มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณ รุ่งทิวา อายุ 33 ปี ครรภ์ที่ 3 มีบุตรแล้ว 2 คน ครรภ์นี้ เธอมีปัญหา คือ ลูกของเธอเป็นทารกท้องบาตร (Hydrop fetalis) หมายถึง รูปร่างของทารก มีท้องป่องขนาดใหญ่ จากภาวะท้องมาน (Ascites) สาเหตุ เกิดจากการที่เธอและสามีเป็นโรคเลือดทาลาสซีเมียแฝง แต่เมื่อปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน (embryo) ตัวอ่อนกลับมียีนด้อยของทั้งสองคน มาผนวกกันเป็น โรคทาลาสซีเมีย ชนิด Alpha thal1/alpha thal1 ผลคือ ต่อไป ทารกจะมีเม็ดเลือดแดงแตกทั่วร่างกาย ตัวเด็กจะบวมน้ำทั้งตัว และท้องจะป่องออก ทารกจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา…แต่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ คุณแม่จะได้รับอันตรายจากภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง (Severe Preeclamsia) ด้วยเหตุนี้ สูติแพทย์ผู้ดูแล จึงวางแผนจะทำแท้งเพื่อการรักษาให้กับคุณ รุ่งทิวา \r\nการทำแท้ง คุณหมอได้กระทำตอนคนไข้ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ ขณะนั้น คุณรุ่งทิวา และทารกยังไม่เกิดปัญหาดังที่กล่าวมา คุณรุ่งทิวา ได้รับการทำแท้งก่อนที่จะมาพบข้าพเจ้า 2 วัน และได้รับการขูดมดลูกหลังแท้งบุตร 1 วัน เนื่องจากสงสัยว่า เธอจะมีรกค้าง (Retained pieces of placenta) สูติแพทย์เวรที่ขูดมดลูก ก็กระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยขูดมดลูกภายใต้การดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า คุณรุ่งทิวายังมีเลือดออกกะปิดกะปรอยมาโดยตลอด สุดท้าย จึงตัดสินใจเข้ามาตรวจที่แผนกนรีเวชหลังจากขูดมดลูกไปแล้ว 3 สัปดาห์ \r\nคนไข้เล่าว่า เธอมีเลือดออกจากช่องคลอดทุกวันหลังจากขูดมดลูก แต่เลือดออกมากขึ้นวันที่มาเข้ารับการตรวจ ข้าพเจ้าตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับคุณรุ่งทิวา พบว่า ภายในโพรงมดลูกของเธอ มีชิ้นเนื้อเหลืออยู่มากพอสมควร (Retained pieces of placenta) ข้าพเจ้าจึงกำหนดให้เธอเข้ารับการขุดมดลูกอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น โดยคืนก่อนไปห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้สั่งการให้พยาบาลเหน็บยา Cytotek เพื่อทำให้ปากมดลูกนุ่มและง่ายกับการขูดมดลูก \r\nที่ห้องผ่าตัด เมื่อลงมือขูดมดลูกจริงๆให้กับคุณรุ่งทิวา ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า ‘มีชิ้นเนื้อเหลืออยู่น้อยมาก เพราะขูดไม่ค่อยได้ชิ้นเนื้อออกมาเลย’ ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจกับสถานการณ์ที่พบ จึงสอบถามจากนักศึกษาแพทย์ประจำหอผู้ป่วยนั้นว่า ‘เมื่อคืน คนไข้มีชิ้นเนื้อหลุดออกมาจากช่องคลอดหรือเปล่า??’ นักศึกษาแพทย์ผู้นั้นตอบว่า ‘คนไข้ตกเลือดเมื่อคืน และมีชิ้นเนื้อหลุดออกมาจำนวนมาก ตอนเช้ากะว่า จะโทรศัพท์บอกอาจารย์ให้มาขูดมดลูกเร็วหน่อย สักพักหนึ่ง..เลือดก็ออกจากช่องคลอดน้อยลง ผมจึงขอให้คนไข้รอขูดมดลูกตามเวลาที่กำหนด’\r\nหลังขูดมดลูก คนไข้มีเลือดจางมาก มีความเข้มข้นของเลือดเพียง 18% เท่านั้น ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้เลือด 2 ถุงทันที ตอนกลางคืน คืนนั้น คุณรุ่งทิวามีไข้สูงมาก ถึง 41 องศาเซลเซียส ทางคุณแม่ของคนไข้และญาติพากันบ่นด้วยความไม่พอใจว่า ‘คุณหมอคนก่อน ไม่ดูแลให้ดี ปล่อยให้รกค้าง จึงต้องมาขูดมดลูกซ้ำ นี่…ถ้าคนไข้เป็นอะไรไปละก็…..’ พยาบาลได้โทรศัพท์มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงสั่งให้ทำการลดไข้อย่างเต็มที่ด้วยวิธีต่างๆ และฉีดยาหยุดเลือด (Transamine) เข้าเส้นเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง \r\nวันรุ่งขึ้น คนไข้มีอาการสบายมากขึ้น ไม่มีเหงื่อกาฬไหลและไข้เหมือนเมื่อคืนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคุณรุ่งทิวา และชี้แจงให้ญาติๆฟังว่า ‘คุณหมอท่านที่ขูดมดลูกคราวก่อน ก็กระทำด้วยความระมัดระวังอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีชิ้นเนื้อคั่งค้าง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้’ คุณรุ่งทิวามีสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ วันถัดมา เธอก็ขอกลับบ้าน เนื่องจากต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย \r\nทารกน้อยในครรภ์นั้น คือ ของขวัญจากสวรรรค์ ที่ส่งให้มา แต่..พอกลับกลายเป็นทารกพิการ ทารกนั้น ก็เป็นส่วนเกินของชีวิตของหญิงผู้นั้นในทันที การทำแท้งในไตรมาสที่ 2 นั้น อันตรายมาก นี่..ขนาดกระทำในโรงพยาบาล ที่มีบุคลากรผู้ทรงความรู้ความสามารถและมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ยังเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้ หากสตรีท่านใด ไปทำแท้งกับหมอเถื่อน ที่ปราศจากความรู้ อีกทั้งเครื่องมือไม่มาตรฐาน คนไข้ยิ่งเสี่ยงที่จะเอาชีวิตไปทิ้ง\r\nการทำแท้งในไตรมาสที่ 2 นั้น นับวัน ก็จะมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะมีการค้นพบทารกพิการร่างกายเร็วขึ้น โดยบรรดาสูติแพทย์ผู้ชำนาญการดูอัลตราซาวนด์ (MFM) และด้วยเหตุผลที่ว่า ความพิการของทารกนั้น ยากที่จะวินิจฉัยได้ในไตรมาสแรก ข้อบ่งชี้ส่วนใหญ่ในการทำแท้งทารกพิการนั้น มักไม่สามารถตรวจพบได้จนกว่าคนท้องจะมีอายุครรภ์มากกว่า 16 สัปดาห์ขึ้นไป นอกจากนั้น คุณแม่ที่ทนทุกข์เหล่านี้ ยังเข้าถึงกระบวนการทำแท้งได้ยาก ส่วนแพทย์ผู้ที่อาสาจะทำแท้งให้ ก็มีอยู่จำนวนน้อย \r\nการทำแท้ง ที่เหมาะสม และได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ สำหรับคนท้องที่มีอายุครรภ์มากกว่า 16 สัปดาห์ คือ 1. การใช้เครื่องดูด (Vacuum extraction) 2. การขยายปากมดลูกและค่อยๆคีบชิ้นเนื้อออกจากโพรงมดลูก (Dilatation & Evacuation) 3. การใช้ยาเหน็บช่องคลอด (misoprostol) เพื่อให้แท้งออกมาเอง ส่วนวิธีการอื่น ที่ถือว่าอันตรายและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ การขูดมดลูกด้วยก้านเหล็ก (sharp curettage), การผ่าเปิดมดลูกและเอาทารกออกมา (hysterotomy), การฉีดน้ำเกลือเข้มข้น หรือสารบางอย่างเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ (intra-amniotic injection of hypertonic saline solution, intra-or extra-amniotic administration of ethacridine lactate (Rivanol), parenteral, intra or extra-amniotic administration of prostaglandin analogues and administration of oxytocin) \r\n2 วันก่อน คุณรุ่งทิวาได้มาตรวจตามนัดที่แผนกผู้ป่วยนอกนรีเวช รพ.ตำรวจ ตอนแรก ข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดอะไร แต่….ความที่คนไข้บอกว่า ‘ยังมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดทุกวัน’ ข้าพเจ้าจึงขอตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดให้กับเธอ ข้าพเจ้าแทบช็อคกับภาพที่เห็น คือ ‘ยังมีชิ้นเนื้อเหลืออยู่ในโพรงมดลูกอย่างมายมาย คล้ายกับครั้งแรกที่ยังไม่ได้ขูด’ \r\nตอนนั้น ข้าพเจ้าเผลอคิดว่า ‘สิ่งที่อยู่ภายในโพรงมดลูกนั้นเป็นก้อนเลือด’ ข้าพเจ้าจึงใช้เครื่องมือดูด (Menstrual regulation) ลองดูด (Suction) ดูด… คราวนี้ เลือดไหลออกมาเป็นทาง.. ไม่หยุดเลย ข้าพเจ้าขอให้พยาบาล เตรียมอุปกรณ์ขูดมดลูกที่ห้องตรวจแผนกผู้ป่วยนั้นทันที \r\nไม่รอช้า ! ข้าพเจ้าค่อยๆใช้คีม (Ovum forceps) คีบเอาชิ้นเนื้อภายในโพรงมดลูกภายใต้การดูด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้อง การคีบชินเนื้อ กระทำด้วยความระมัดระวังยิ่ง ชิ้นเนื้อค่อยๆหลุดออกมา ตอนนั้น ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า ชิ้นเนื้อรกนั้น เป็นแบบรกเกาะฝังแน่น ( Placenta accrete) แต่กินไม่ทะลุกล้ามเนื้อมดลูก ข้าพเจ้าหยิบจับคีบเอาชิ้นเนื้ออกมาประมาณ 20 กรัม และขูดตามอีกเล็กน้อย… คุณรุ่งทิวาเสียเลือดระหว่างปฏิบัติการ ประมาณ 200 มิลิลิตร \r\nตอนนั้น ข้าพเจ้าจำเป็นต้องขูดและคีบจับชิ้นเนื้อที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก เพราะมีอัลตราซาวนด์เป็นตัวช่วยดูสภาพภายในโพรงมดลูก ซึ่งจะทำให้การขูดสมบูรณ์ คุณรุ่งทิวาจะได้ไม่ต้องกลับมาขูดมดลูกซ้ำอีก ตอนนั้น ข้าพเจ้าได้ฉีดยามอร์ฟีนให้กับเธอด้วย เพื่อลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น หลังจากดำเนินการ ข้าพเจ้าได้ให้คุณรุ่งทิวาไปพักผ่อนนอนหลับอยู่ที่ห้องให้นมบุตร เมื่ออาการอ่อนเพลียต่างๆหายดีแล้ว ก็อนุญาตให้เธอกลับบ้าน \r\n‘นี่คือ ความผิดพลาดที่ไม่อาจลืมได้’ ทั้งนี้ทั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะ รกในไตรมาส 2 นั้น มักเกาะฝังแน่นมาก (Placenta accreta) การขูดมดลูกจึงควรใช้อัลตราซาวนด์ช่วยตรวจดูด้วยเสมอ แม้จะกระทำในห้องผ่าตัดก็ตาม \r\nชีวิตของเราที่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ ถือว่า มากเหลือเกินแล้ว เพราะสิ่งแวดล้อมล้วนเต็มไปด้วยภยันตราย ทั้งมลภาวะ อาหาร อากาศที่เจือปนด้วยพิษร้ายต่างๆ แต่..คนเราก็ยังไม่รู้จักพอ ทุกคนพยายามแก่งแย่ง แต่ไม่แบ่งปัน หาก…ลองมองดูเครื่องใช้ไม้สอยรอบตัวเรา จะเห็นว่า พวกเราส่วนใหญ่มีสิ่งของมากเกินความจำเป็น คนๆหนึ่งมีมือถือมากกว่า 1 เครื่อง, มีรถมากกว่า 1 คัน, มีคอมพิวเตอร์มากกว่า 1 เครื่อง, มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย แต่…. เรามักไม่มีเวลาให้กับครอบครัว รวมทั้งพ่อแม่พี่น้องของเรา บ้านที่เราอยู่ ยังคงเงียบเหงา เพราะว่าเราชอบออกไปข้างนอก เพื่อเสาะหาสิ่งแปลกๆใหม่ๆ มาบำรุงบำเรอความอยาก ที่มีไม่สิ้นสุด………..\r\n &&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *