การผ่าตัดผ่านกล้องของเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ (Large Myoma or Adenomyosis)

การผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่นั้นเป็น ปัญหาสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่งของแพทย์ เพราะพื้นที่ภายในท้อง ที่กล้องส่องเห็น มีไม่มากนัก ประกอบกับเครื่องมือที่ใช้ส่องมอง มีสักษณะเป็นแกนแนวตรง (Lens) ทำให้ไม่สามารถมองผ่านพื้นผิวโค้งของตัวมดลูกไปได้ สุดท้าย ยังมีการใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงอีก ทำให้มีโอกาสทำลายอวัยวะข้างคียงได้ง่าย อวัยวะเหล่านั้น ได้แก่ หลอดไต และลำไส้ ซึ่ง..มีโอกาสเกิดขึ้นทันที (Immediately) หรือค่อยๆเกิดขึ้นอย่างช้าๆ (Delayed type) นานกว่า 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด อันเป็นผลจากรังสีความร้อนที่แผ่ไปกระทบผิวของหลอดไต (Thermal burn) ขณะผ่าตัด\r\nปัจจุบัน เนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ที่คลำได้ระดับเกินสะดือ มีพบเห็นน้อยมาก เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้ง่าย แต่..ยังคงมีพบเห็นคนไข้เหล่านี้ได้ประปราย ซึ่งขนาดของเนื้องอกมดลูกที่ระดับสะดือขึ้นไปหรือใกล้เคียง เราถือว่า เป็นเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ในการผ่าตัดผ่านกล้อง…… \r\nทำไม?? เราจึงจำเป็นต้องคิดรอบคอบในการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่เหล่านี้?? ทั้งนี้ เพราะผลข้างเคียงของการผ่าตัดผ่านกล้อง มีมาก ดังนั้น ทักษะของแพทย์ต้องดีเยี่ยม รวมทั้งของผู้ช่วยด้วย อย่างไรก็ดี ยังมีข้อพิจารณาปลีกย่อยอื่นๆอีก ในการผ่าตัดผ่านกล้องของเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ (Large Adenomyosis/Myoma uteri) อาทิ อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ ต้องดีและไม่มีผลทำลายเนื้อเยื่อรุนแรงจนเกินไป ลองพิจารณาจากกรณีของคุณยุพา ก็พอจะมองเห็นภาพแห่งความยุ่งยากของการผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ \r\nข้าพเจ้ามีประสบการณ์เรื่องการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ผ่านกล้องมากมาย ตั้งแต่ 2 – 3 ปีก่อนแล้ว ซึ่งใช้วิธีการผ่าตัดที่เรียกว่า ‘LAVH’ ย่อมาจาก Laparoscropic assisted vaginal hysterectomy อันหมายถึง การผ่าตัดผ่านกล้อง ที่คุณหมอจะกระทำเพียงในส่วนของการตัดเอ็นที่ยึดเกาะตัวมดลูก 3 – 4 แห่ง เท่านั้น ส่วนที่เหลือ ก็จะผ่าตัดเอาเนื้องอกมดลูกออกทางช่องคลอด (vaginal hysterectomy) วิธีการดังกล่าว เป็นที่นิยมในยุคแรกๆของการผ่าตัดผ่านกล้อง และถือเป็นพื้นฐานของการผ่าตัดแบบเบ็ดเสร็จทางกล้องในปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดผ่านช่องคลอดเลย (Total Laparoscopic Hysterectomy หรือ ย่อว่า TLH)\r\nคุณยุพา เป็นชาวจังหวัดชุมพร มีอาชีพค้าขาย อายุ 43 ปี มีบุตร 3 คน บุตรคนสุดท้อง อายุ 12 ปี เธอได้โทรศัพท์มาหาข้าพเจ้าเมื่อราว 2 เดือนก่อนว่า ’คลำพบก้อนที่ท้องน้อยมา 5 เดือน ร่วมกับปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงตอนมีระดู’ ที่สำคัญ คือ คุณยุพาเคยตกเลือดมาแล้ว 3 ครั้งอย่างรุนแรง ทำให้เธอมีใบหน้าผิวพรรณซีดเผือด ตลอดเวลา…. 4 เดือนก่อน เธอเคยตกเลือด ประมาณ 10 วัน… 3 เดือนก่อน ก็ตกเลือดอีก 15 วัน จนเธอหมดเรี่ยวแรง…การตกเลือดคราวสุดท้ายรุนแรงและยาวนานกว่าครั้งใดๆ คุณยุพา จึงตัดสินใจที่จะตัดมดลูก เธอปรึกษากับเพื่อนข้างบ้าน ซึ่งเคยผ่าตัดผ่านกล้องกับข้าพเจ้าที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จากนั้น ก็โทรศัพท์มาปรึกษาข้าพเจ้า เพื่อหาทางออก… เนื่องจากคนไข้มีฐานะค่อนข้างยากจน ข้าพเจ้าจึงวางแผนให้เธอเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลตำรวจ \r\n1 เดือนก่อน คุณยุพาเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าตรวจภายในให้กับเธอ พบว่า ‘มดลูกของเธอโตขนาด เท่ากับอายุครรภ์ 16 – 18 สัปดาห์ หรือพอๆกับส้มโอนครไชยศรี’ แต่..เนื่องจากคุณยุพามีเลือดออกผิดกะปิดกะปรอย จากโพรงมดลูกบ่อยๆ..โดยหลักการ เราจำเป็นต้องขูดมดลูก เพื่อส่งตรวจชิ้นเนื้อไปตรวจก่อน เพราะหากเธอเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูกจริง การผ่าตัดจะต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าเปิดหน้าท้อง เพื่อจะได้สามารถเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานด้วย \r\nที่ห้องตรวจนรีเวชกรรม ตอนที่ใช้อัลตราซาวนด์ตรวจผ่านทางช่องคลอดคุณยุพา ข้าพเจ้าสังเกตว่า ‘เยื่อบุมดลูกของเธอ ค่อนข้างบาง’ ข้าพเจ้าจึงไม่ได้คิดถึงว่า เธอจะเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก (CA endometrium) ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการยุ่งยากเสียเวลา และได้ผลออกมาเช่นเดียวกับการส่งชิ้นเนื้อตรวจจากการขูดมดลูก ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้วิธี Endometrium sampling หรือใช้สายพลาสติกดูดเซลล์เยื่อบุมมดลูกผ่านหลอดสุญญากาศ ซึ่งผลทางพยาธิ จะได้ในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าแนะนำให้คุณยุพา ผ่าตัดในอีก 3 วันถัดมา เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางกลับไปกลับมา ระหว่างกรุงเทพฯ กับชุมพร \r\nการนัดหมายผ่าตัดให้คุณยุพาทันทีนั้น เป็นการเสี่ยงสำหรับตัวข้าพเจ้าอย่างมาก เพราะถ้าผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ข้าพเจ้าอาจจะโชคร้าย ถูกสอบสวนประมวลความผิดว่า ‘ประมาท เลินเล่อ ทำให้คนไข้เสี่ยงอันตรายกับชีวิต โดยไม่จำเป็น’ แต่..ด้วยความมั่นใจว่า คุณยุพาไม่เป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูกอย่างแน่นอน ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้ผ่าตัดเร็วขึ้น โดยไม่รอผลทางพยาธิ..คาดไม่ถึง ต่อมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉุกเฉิน จนเป็นเหตให้เลื่อนการผ่าตัดของคุณยุพาออกไป \r\nยังจำได้ คุณยุพาได้รับการดูดชิ้นเนื้อ (Endometrium sampling) จากโพรงมดลูกตอนเช้าของวันพุธ และจะเข้ารับการผ่าตัดวันจันทร์ แต่..เธอมีคำถามกับข้าพเจ้าว่า ‘คุณหมอคิดว่า ผลชิ้นเนื้อของดิฉันจะปกติหรือเปล่า??’ ข้าพเจ้าได้ตอบเธอไปว่า ‘ปกติ อย่างแน่นอน เพราะเยื่อบุมดลูกของคุณบางมาก หากเยื่อบุมดลูกของคุณหนา เราก็คงต้องรอผลชิ้นเนื้อก่อนสัก 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย’ ในวันอาทิตย์ ก่อนผ่าตัด 1 วัน ข้าพเจ้าได้ให้เลือดกับคุณยุพา 2 ถุง เพราะเลือดของเธอมีความเข้มข้นต่ำมาก (Hematocrit = 24%) ตอนบ่าย ของวันอาทิตย์ ได้เกิดปัญหาขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้การผ่าตัดต้องเลื่อนออกไป คือ จู่ๆ คนไข้ก็มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างรุนแรง ข้าพเจ้าสอบหาสาเหตุ ก็พบว่า เดิม คนไข้กินยา Premarin (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) วันละเม็ด ทุกวัน มาโดยตลอด เพื่อหยุดเลือด พอเธอเห็นว่า จะผ่าตัดในอีก 2 วันข้างหน้า เธอจึงหยุดยาเอง ผล คือ เยื่อบุมดลูกเกิดการสลายตัวบางส่วน และมีเลือดไหลทะลักออกมาจากช่องคลอด คุณยุพารับประทานยาตัวนี้ ตั้งแต่อยู่ที่จังหวัดชุมพร ตอนที่ไปพบแพทย์ท่านหนึ่งที่คลินิกทั่วไป ซึ่ง…คนไข้ ไม่ได้บอกกับใครเลยเกี่ยวกับการกินยาตัวนี้ \r\nการผ่าตัดได้เลื่อนกำหนดออกไปจากเดิมประมาณ 3 สัปดาห์ ผลชิ้นเนื้อออกมา ปรากฏออกมาว่า ‘เยื่อบุมดลูกไม่เป็นมะเร็ง’ ข้าพเจ้าสั่งยาฮอร์โมนเอสโตรเจน (Cycloprogyova) ให้เธอ ไปรับประทานวันละ 2 เม็ดตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาล เพื่อหยุดเลือด นอกจากนั้น ยังให้ยาบำรุงเลือดอีกจำนวนหนึ่งแก่เธอ คนไข้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด.. ไม่นาน……หลังจากนั้น เลือดในโพรงมดลูกก็หยุดสนิท ในที่สุด คนไข้ก็กลับมาตามกำหนดนัดหมาย \r\nที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าเข้าไปแต่เช้า เพื่อตระเตรียมเครื่องมือ พอคนไข้ได้รับการดมยา ปรากฏว่า ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว คุณหมอดมยา บอกให้ข้าพเจ้าอย่าเพิ่งเริ่มผ่าตัด และอธิบายว่า คนไข้เป็นโรค Hypothyroid แม้รักษาหายแล้ว แต่ยังคงต้องรับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ จึงไม่แน่ใจว่า ‘จะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า??’ และจะอนุญาตให้ผ่าตัดได้เมื่อความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติ พร้อมทั้งแนะนำว่า ‘ไม่ควรผ่าตัดนาน เพราะอาจเป็นผลเสียต่อคนไข้’ ข้าพเจ้าบอกกับ คุณหมอดมยาว่า ‘ถ้าความดันโลหิตไม่เพิ่มสูงขึ้น ก็จะเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เพราะใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่า’ คุณหมอดมยา ขอเวลาสักครู่ เพื่อดูว่า ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่???\r\nเวลาผ่านไปไม่นานนัก ความดันโลหิตของคนไข้ ก็ดีขึ้นตามลำดับ ข้าพเจ้าใส่เครื่องมือเข้าทางช่องคลอด เพื่อกระดกมดลูก ข้าพเจ้าสังเกตว่า ‘ปากมดลูกของคนไข้แบนราบติดชิดกับช่องคลอด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่าตัด’ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็สามารถใส่เครื่องมือกระดกมดลูก (Uterine Elevator) จนได้ ข้าพเจ้าเริ่มเจาะท้องตรงตำแหน่ง Lee – Huang Point (ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างลิ้นปี่ กับสะดือ) ก่อน แต่เจาะยังไง ก็ไม่เข้าไปในช่องท้อง ด้วยความกังวล ข้าพเจ้าจึงหยุดแค่นั้น แล้วหันมาเจาะที่สะดือ ด้วยขนาดของรูเล็กๆ และใช้กล้องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 5 มิลลิเมตร สอดใส่เข้าไปมอง ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นก้อนเนื้องอกได้ดีพอสมควร..คะเนว่า น่าจะผ่าตัดได้ ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนกล้อง (Lens) เป็นขนาด 10 มิลลิเมตร เพื่อความชัดเจนที่ดีกว่า \r\nเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่เช่นนี้ ข้าพเจ้าขยับตัวกระดกมดลูกอย่างไร ก็ไม่สามารถมองเห็นช่องท้องส่วนที่อยู่ต่ำสุด (Cul de sac) ได้ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ต่อทะลุถึงช่องคลอดส่วนล่าง (Posterior fornix) พอดี เมื่อเจาะทะลุเข้าไป ก็จะปลอดภัย เพราะไม่กระทบถูกอวัยวะข้างเคียง ข้าพเจ้ามักใช้เนื้อที่ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการผ่าตัดเสมอ แต่..ในรายนี้ ทำไม่ได้แล้ว ข้าพเจ้าหันไปเจาะเข้าช่องคลอดทางด้านหน้า ณ พื้นที่บริเวณที่ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะเล็กน้อย (Anterior colpotomy) ผืนแผ่นกล้ามเนื้อผนังด้านในช่องท้องส่วนนี้ต่อทะลุถึงช่องคลอด (Anterior fornix) พอดีเช่นกัน แต่..จะต้องมีการเลาะดันกระเพาะปัสสาวะให้แยกและลอยขึ้นไปสักหน่อย\r\nการผ่าตัดเจาะทะลุจากภายในช่องท้อง เข้าทางด้านหน้าของช่องคลอดส่วนบนนี้ (Anterior colpotomy) ทำได้ไม่ยากนัก.. การจี้ตัดด้วยไฟฟ้าพลังสูงตรงบริเวณนี้ ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหลอดไตได้ง่ายมาก ข้าพเจ้าจึงตัดเลาะไปไม่ไกล ไม่ถึงจุดยึดเกาะของเส้นเอ็น Round ligament ทั้งสองข้าง แต่..หลังจากนี้ การผ่าตัดจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะข้าพเจ้ามองไม่ค่อยเห็นส่วนต่างๆของมดลูกที่ต้องการตัด เนื่องจากมีส่วนโค้งของก้อนเนื้องอกมาบัง โชคดี ที่วันนั้น บริษัท เครื่องมือแห่งหนึ่งสนับสนุน เครื่องมือ ที่ชื่อ Ligature ซึ่งเป็นตัวเชื่อมปิดเส้นเลือดพร้อมๆกับตัดชิ้นเนื้อไปด้วย ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสตัดเส้นเอ็น Round ligament และ Infundibulo-pelvic ligaments ด้วยเครื่องมือตัวนี้ โดยเสียเลือดน้อยมาก ข้าพเจ้าตัดเอ็นทั้งสองทางด้านซ้ายก่อน อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้น ก็ตัดเข้าทางด้านข้างบริเวณคอมดลูก การตัดเช่นนี้ ปกติจะเสียเลือดจำนวนมาก และเกิดการผิดพลาดได้ง่าย แต่เครื่องมือที่ดีตัวนี้ ทำให้การผ่าตัดง่ายมากขึ้น เมื่อตัดชิ้นเนื้อได้ครั้งหนึ่ง ก็อาศัยการดันมดลูกจากแกนเหล็ก (Uterine Elevator) ที่ค้ำยันทางช่องคลอด เป็นเหตุให้เนื้อเยื่อที่ฉีกขาดเดิมยืดขยายออก ทำให้มองเห็นส่วนต่างๆที่จะตัดต่อไปมากขึ้น ข้าพเจ้าใช้เครื่องมือตัวนี้ ผ่าตัด เพิ่มพื้นที่ด้านข้างให้กว้างขึ้น จากนั้น ก็ใช้ เครื่องมือที่ชื่อว่า Hook จี้ตัดตรงเข้าสู่ช่องคลอด บริเวณที่เปิดไว้แต่เดิม ซึ่ง..ตรงนั้น ข้าพเจ้ามีขอบของอุปกรณ์ดันช่องคลอดสีฟ้า โผล่ออกมาให้เห็นเป็นแนว ข้าพเจ้าจี้ตัดด้วย Hook จนถึงขอบอุปกรณ์สีฟ้าดังกล่าว ก็ทำให้มดลูกถูกตัดขาดไปข้างหนึ่งแล้ว นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังตัดขอบแผลต่อลงไปทางด้านล่างอีก ซึ่ง..ตอนนี้ เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนแล้ว ข้าพเจ้าใช้วิธีเดียวกันนี้ ตัดด้านข้างของเนื้องอกมดลูกอีกฝั่ง ในที่สุด เนื้องอกมดลูก ก็หลุดจากออกจากช่องคลอด เข้าไปลอ่งลอยในช่องท้อง\r\nข้าพเจ้าขอให้เจ้าหน้าที่พยาบาลช่วยเอาเครื่องปั่นชิ้นเนื้อ (Morcellator) มาให้ ปรากฏว่า วันนั้น ไม่มีอุปกรณ์ที่จะใช้จับตัวเนื้องอก เพื่อดึงเข้ามาในเครื่องปั่นเนื้อ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเอาเนื้องอกมดลูกออกทางช่องคลอดด้านล่าง ด้วยการตัดแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง โดยการใช้กรรไกร ตัดหมุนวนขึ้นไปรอบๆ เริ่มจากขอบของปากมดลูก.. ชิ้นเนื้อก็จะหลุดออกมาในลักษณะเป็นท่อนกลมยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร ส่วนสุดท้าย ที่เหลือ ก็ดึงออกมาจากช่องคลอดได้ไม่ยาก เมื่อขนาดของเนื้องอกเล็กลงพอสมควร\r\nจากนั้น ข้าพเจ้าก็เย็บปากช่องคลอดทางด้านบน คือ เย็บจากภายในช่องท้อง การเย็บเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจาก เครื่องมือไม่ค่อยดี ส่วนผู้ช่วย ก็ยังใหม่.. และไม่รู้ว่า จะช่วยเหลือในการจับช่องคลอดตรงไหน เพื่อให้คนเย็บ เย็บได้สะดวก.. พอเย็บเสร็จ ข้าพเจ้าลองสำรวจตรวจดูภายในช่องคลอด ก็พบว่า มีการเผยอของรอยแผลภายในช่องคลอดจากการเย็บในช่องท้อง ข้าพเจ้าจึงลงมือเย็บช่องคลอดจากทางด้านล่างอีกครั้ง นั่น..ก็เป็นการเสร็จสิ้นภารกิจ การผ่าตัดมดลูกแบบเบ็ดเสร็จ ผ่านกล้อง (Total Laparoscopic Hysterectomy หรือ ย่อว่า TLH)\r\nวันรุ่งขึ้น เป็นวันเสาร์ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมคนไข้ คุณยุพาประคองตัวลุกขึ้นได้ดี และพูดคุยแบบสบายๆ นั่น ก็เพียงพอให้รู้แล้วว่า คนไข้ไม่มีปัญหาในการผ่าตัด หากคนไข้ยังนอนบนเตียงบ่นเจ็บกะปอดกะแปด ก็แสดว่า คนไข้น่าจะมีปัญหา คนไข้ขอกลับบ้านที่จังหวัดชุมพร ในวันถัดไป เพราะลูกๆ กำลังจะเปิดเทอมในวันจันทร์ ลูกสาวและลูกชายที่มาเฝ้าจะไปไม่ขาดเรียน ข้าพเจ้าอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยไม่ขัดขวาง \r\nการผ่าตัดผ่านกล้อง สำหรับมดลูกขนาดใหญ่แบบนี้ ต้องเป็นผู้ที่ชำนาญและผ่านการผ่าตัดมดลูกมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 100 ราย มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อน ก็รุนแรง จนคนไข้บางคนไม่อาจยอมรับได้ ส่วนใหญ่ที่เกิด ได้แก่ การบาดเจ็บของท่อไต และลำไส้ \r\nข้าพเจ้ามักเข้าห้องผ่าตัดเกือบทุกวัน เพื่อให้เคยชินกับการผ่าตัดผ่านกล้อง ตอนที่ข้าพเจ้าบรรยาย ความรู้ในที่ต่างๆ ข้าพเจ้าจะพูดเสมอว่า ‘การถักนตติ้ง ยากไหม??’ ผู้ฟังผู้หญิงส่วนใหญ่ จะตอบว่า ‘ไม่ยาก’ แต่มันยากสำหรับผู้ชาย เพราะ ไม่ได้ทำเป็นประจำหรือไม่ชอบ ไม่ถนัด แต่ถ้าเราลองทำดู ทุกวัน ทุกวัน อย่างสนุกสนาน เราจะเคยชิน และทำได้ไม่ยาก ข้าพเจ้ามักหาเวลาไปเข้าร่วมผ่าตัดผ่านกล้อง กับเพื่อนๆในที่ต่างๆ หรือสอนคุณหมอผู้อื่น เพราะนั่น ทำให้เราชินกับการผ่าตัดผ่านกล้อง ผลที่ตามมา คือ เกิดภาวะแทรกซ้อน น้อยมากๆ \r\nชาวบ้าน ในท้องทุ่งบ้านไร่ ที่ห่างไกลความเจริญ ยังคิดประดิษฐ์ ผ้าไหม ลายพิศดาร ได้ ทั้งนี้ เพราะความรักเอาใจใส่ในงาน ทำเป็นประจำ โดยไม่คิดอะไรมาก เพราะฉะนั้น คุณหมอ ก็เช่นกัน คนที่ทำผ่าตัดบ่อยๆ และมีจินตนาการ แก้ไข ข้อผิดพลาด ประดิษฐ์ ค้นคิดอุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อช่วยในการผ่าตัด ในที่สุด ก็เป็น ผู้ชำนาญการ เชี่ยวชาญชั้นยอดได้ …..\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *