‘ซีซ่า [CESA]’ กับปัญหาที่แก้ไม่ตก

‘ซีซ่า [CESA]’ กับปัญหาที่แก้ไม่ตก
‘การผ่าตัดคลอด’ นั้น ภาษาวงการแพทย์ เรียกว่า ‘Cesarean section [อ่านว่า ซีซาเรียน เซคชั่น]’ เรียกย่อว่า ‘ซีซ่า’ หมายความว่า ‘เอาคนท้องไปผ่าตัดคลอดบุตร’ ข้าพเจ้ามักสอนนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด (Extern) อยู่เสมอว่า คนท้องครบกำหนดนั้น หากมีปัญหาที่แก้ไม่ได้ ก็ให้คิดถึง ‘ซีซ่า(หรือ ผ่าตัดคลอด)’ เพราะมันช่วยให้ทารกน้อยคลอดออกมาลืมตาดูโลกด้วยความสดใส ปลอดภัย.. แต่ก็มีสูติแพทย์บางท่าน ที่ยึดมั่นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ (Indication) มากเกินไป..จนทำให้ตัดสินใจช้า ก่อให้เกิดปัญหาตามมากับเด็กอย่งมากมาย…อาทิ สมองขาดก๊าซออกซิเจน หรือ้ยแรงถึงเสียชีวิต..ในความคิดของข้าพเจ้าแล้.. ‘ชีวิตน้อยๆของมนุษย์’ เมื่อได้ถูกสร้างให้จุติเข้ามาอยู่ในครรภ์ของมารดาแล้ว…เขาควรที่จะลืมตาคลอดออกมาดูโลก ด้วยสมองที่แจ่มใส ปราศจากหมอกควันแห่งความมืดทึบของปัญญา…
วันศุกร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรห้องคลอดในช่วงเช้า เนื่องจากจำนวนสูติแพทย์ไม่เพียงพอ ข้าพเจ้าในฐานะหัวหน้าแผนกฯ จึงต้องรับผิดชอบงานห้องคลอด เพื่อเป็นตัวอย่าง..อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าเป็นคนชอบดูแลคนท้องในสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหายุ่งยากให้กลับกลายเป็นดี โดยอาศัยประสบการณ์ที่ยาวนาน.. อีกประการหนึ่ง คือ ข้าพเจ้าไม่อยากลืมความรู้ทางสูติศาสตร์ที่สะสมมา..กว่า 20 ปี..
ตอนเช้าของวันนั้น ข้าพเจ้าจำเป็นต้องรีบเดินทางไปที่ราชวิทยาลัยสูติ – นรีเวชแห่งประเทศไทย ที่อาคารในซอยศูนย์วิจัยฯ ถนนเพชรบุรี….ขณะเดียวกัน ก็มีกำหนดการประชุมฝ่ายบริหาร โดยนายแพทย์ใหญ่ เกี่ยวกับการสั่งจ่ายยาของโรงพยาบาลตำรวจ.. ข้าพเจ้ากำลังลังเลใจว่า ‘จะแก้ไขปัญหาซ้ำซ้อนเหล่านี้ได้อย่างไร’ คุณหมอนักศึกษาแพทย์ ก็โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาจากห้องคลอดว่า
‘อาจารย์อยู่เวรวันนี้ใช่ไหมค่ะ?’ นักศึกษาแพทย์หญิงเอ่ยทักทายขึ้นก่อน แล้วพูดต่อว่า ‘มีคนไข้จะรายงาน 2 ราย รายหนึ่ง เป็นคนท้องท่าก้น (Breech presentation) อายุครรภ์ 36 สัปดาห์เศษ ส่วนอีกรายเป็นคนท้องที่มีปริมาณน้ำคร่ำน้อย (Severe oligohydramnios)’ ข้าพเจ้าได้บอกกับนักศึกษาแพทย์คนนั้นว่า ‘เตรียมคนไข้ทำผ่าตัดคลอดทั้งสองรายเลย’ โดยไม่ได้แวะไปดูคนไข้ การที่ข้าพเจ้าไม่ได้ขึ้นไปดูคนไข้ทั้งสองที่ห้องคลอด แล้วตัดสินใจผ่าตัดคลอดทันทีนั้น (Cesarean section)  ก็เพราะคนท้องท่าก้น.. ไม่ว่า จะเป็นครรภ์ที่เท่าไหร่.. ทารกก็มีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างมาก หากคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ แล้วมีการติดศีรษะเกิดขึ้น ยิ่งเป็นการทำคลอดโดยน้องนักศึกษาแพทย์ โอกาสที่ทารกจะคลอดติดหัว ย่อมเป็นไปได้มาก ทารกน้อย..ถ้าคลอดติดหัวนานเกินกว่า 3 นาที ทารกคนนั้น มีโอกาสปัญญาอ่อนหรือเสียชีวิต ดังนั้น การผ่าตัดคลอด จึงช่วยแก้ไขได้ดีในเหตุการณ์ท่าก้น
สำหรับรายที่สอง ซึ่งมีปริมาณน้ำคร่ำน้อย (severe oligohydrammnios) คนไข้ เธอชื่อ คุณวรรณา อายุ 24 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2, อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ คนไข้มีปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก คุณวรรณามีกลุ่มเลือด Rh negative ขณะนี้ เธอตั้งครรภ์ที่ 2 ภาวะนี้ [Rh negative] อาจทำให้ทารกในครรภ์ เกิดมีเม็ดเลือดแดงแตกจำนวนมาก เป็นผลให้ทารกเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายได้ แต่…ภาวะหัวใจวาย น่าจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่อายุครรภ์ ประมาณ 7 – 8  เดือน ไม่ใช่ตอนนี้ ซึ่ง คุณวรรณา มีอายุครรภ์ มากถึง 40 สัปดาห์..  ประการที่ 2 คือ ครรภ์ของ คุณวรรณา มีค่าน้ำคร่ำ (AFI = Amniotic fluid index) เพียง 2.2 เซนติเมตร เท่านั้น (ค่า AFI  คือ ค่ารวมของการวัดน้ำคร่ำในแนวดิ่ง 4 มุม; ค่าที่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ถือว่า น้อย) หมายความว่า น้ำคร่ำมีเหลืออยู่ในครรภ์น้อยมาก จนอาจเป็นเหตุให้ทารกเสียชีวิตจากการที่สายสะดือถูกกดเบียด ทารกลูกคุณวรรณา คลอดเมื่อเวลา13 นาฬิกา เป็นทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,320 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9  และ 10  ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ ( คะแนนเต็ม 10)
ในเย็นวันนั้น มีคนท้องอีกราย ชื่อ คุณกรรณิกา  อายุ 32 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 ….ลูกคนแรก ของเธออายุ 8 ปี คลอดโดยวิธีธรรมชาติ น้ำหนักแรกคลอด 2,600 กรัม.. ข้าพเจ้าสังเกตว่า หน้าท้องของเธอสูงใหญ่มากพอสมควร ข้าพเจ้าคะเนว่า ลูกของคุณกรรณิกา น่าจะหนักประมาณ 3,500 – 3,800 กรัม คนไข้ตอนนั้น เจ็บครรภ์ ทุกๆ 5 นาที เธอมีสีหน้ากังวลค่อนข้างมากว่า ‘จะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติไม่ได้ เพราะครรภ์นี้ใหญ่กว่าครรภ์ก่อนค่อนข้างมาก’ ข้าพเจ้าเอง ก็คิดเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงพูดข้อเสนอให้กับคุณกรรณิกาว่า ‘หมอจะผ่าตัดคลอดให้คุณ..เอาไหม? เพราะไม่แน่ใจว่า คุณจะคลอดเองได้’ คุณกรรณิกา ตอบตกลงยินยอม ข้าพเจ้าจึงตกลงผ่าตัดคลอดให้กับเธอเมื่อเวลา 16:00 นาฬิกา..ลูกคุณกรรณิกา  หนัก 3,880 กรัม เป็นเพศชาย คะแนนศักยภาพแรกคลอด 10 , 10 ..ณ นาทีที่  1 , 5 ตามลำดับ
เมื่อวานนี้.. มีกรณีที่น่าสนใจยิ่งกว่าวันก่อนอีก คนไข้เป็นชาวฟิลิปปิน ชื่อ คุณซินเดอเรลล่า อายุ 28 ปี ตั้งครรภ์แรก นไข้เข้ามาที่ห้องคลอด ตอนเช้ามึดของวันวาน.. พยาบาลห้องคลอดตรวจภายในให้กับเธอครั้งแรก ปรากฏว่า ปากมดลุกเปิด 1 เซนติเมตร ความบาง 75%..  คุณซินเดอเรลล่า จึงได้รับอนุญาตให้รับประทานอาหารได้ทุกมื้อ แต่..ก็ได้รับการติดเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจทารกไว้บางช่วงบางขณะ (NST) …เวลาผ่านไป 1 คืน โดยไม่มีปัญหาอะไร พอมาวันนี้ ตอนเช้า หัวใจของทารกเริ่มมีการเต้นช้าผิดจังหวะในบางเวลา นักศึกษาแพทย์รายงานข้าพเจ้าทันทีที่รับเวร ข้าพเจ้าได้ไปตรวจดูคนไข้สักพักหนึ่ง ก็ไม่เห็นความผิดปกติดังกล่าว.. ตอนช่วงเช้า คุณซินเดอเรลล่ามีปากมดลูกเปิดเพียง 2 เซนติเมตร ความบาง ร้อยละ 75…. ส่วนนำ คือ ศีรษะ อยู่ที่ระดับ 0 …ซึ่งเป็นระดับที่แสดงว่า หัวเด็กอยู่สูงมาก และกำลังจ่อจะเข้าสู่ช่องคลอดส่วนล่าง (Ischial spine) ต่อมา ปรากฏว่า การดำเนินการคลอด (Progression of labour) เป็นไปค่อนข้างรวดเร็ว เพราะ ในราว 10 นาฬิกา เมื่อข้าพเจ้าได้ตรวจภายในให้กับคุณซินเดอเรลล่า กลับพบว่า ปากมดลูกเปิดมากถึง 6 – 7 เซนติเมตร ความบาง 100% แต่…ระดับของส่วนนำ หรือยอดศีรษะ อยู่ที่ระดับ +1 เท่านั้น ซึ่ง..ในความเป็นจริง ส่วนนำของคนท้องเช่นนี้ น่าจะอยู่ระดับต่ำกว่า+1…ข้าพเจ้ารู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับความรู้สึกของตัวเอง โดยสังเกตว่า คุณซินเดอเรลล่าจะนอนบิดตัวไปมาบ่อยๆ ด้วยความเจ็บปวด.. ในช่วงนั้น… พยาบาลห้องคลอด พยายามจะพูดบอกกับข้าพเจ้าว่า ‘เสียงหัวใจเด็กเต้นช้าผิดปกติ อยู่บ่อยครั้ง (Variable deceleration) ในลักษณะที่น่ากลัวมาก บางที…เต้นช้ามาก ในอัตราเพียง 70 ครั้งต่อนาที (ค่าปกติของการเต้นของหัวใจทารก คือ 140 ครั้งต่อนาที หากมีการเต้นต่ำกว่า 100 ครั้งต่อนาที แสดงว่า ทารกขาดออกซิเจน) อย่างไรก็ตาม..ต่อมาหัวใจ ก็เต้นกลับมาเป็นปกติ’  
ข้าพเจ้าฟังแล้ว ให้รู้สึกไม่สบายใจเลย แต่..ก็ด้วยยังติดภารกิจ คือ กำลังผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านกล้องทางนรีเวช (Total laparoscopic hysterectomy) อยู่ในห้องผ่าตัด.. เผอิญ ..ช่วงนั้น การผ่าตัด มีปัญหาเรื่องการจ่ายกระแสไฟฟ้า…ข้าพเจ้าจึงหยุดผ่าไว้ก่อน เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เดินออกมานอกห้องผ่าตัดสักครู่.. โดยแวะมาดูคนไข้ที่ห้องคลอด ซึ่งก็พบกรณีของคุณซินเดอเรลล่า ด้วย ตอนนั้น..ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า ‘ทำไม ส่วนนำของทารกน้อยลูกคุณซินเดอเรลล่า จึงไม่เคลื่อนตัวลงมาที่ระดับต่ำกว่านี้ (ระดับ 0  คือ ระดับเดียวกับ Ischial spine) ทั้งๆที่ปากมดลูกเปิดมากแล้ว’  ข้าพเจ้าเก็บงำความรู้สึกนี้ไว้ ตอนที่กลับไปผ่าตัดให้กับคนไข้ทางนรีเวช… พอผ่าตัดเสร็จ.. ข้าพเจ้า ก็รีบสั่งการให้รับคุณซินเดอเรลล่ามาเข้าห้องผ่าตัดทันที เพื่อผ่าตัดคลอดบุตร (Cesarean section) เนื่องจาก กลัวทารกจะมีปัญหาสายสะดือถูกกดทับ จนขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือด [การที่หัวใจทารกในครรภ์เต้นช้าผิดปกติ โดยมีอัตราการเต้น ลดต่ำลงมากอย่างรวดเร็ว และกลับมาเต้นเป็นปกติในเวลาไม่นานนัก มักเกิดจากสายสะดือถูกกดเบียด]
ที่ห้องผ่าตัด… ข้าพเจ้ายังคงจำภาพเหตุการณ์นั้นได้อย่างแม่นยำ ก่อนเข้าห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ประเมินน้ำหนักเด็กลูกคุณซินเดอเรลล่า ว่าน่าจะเกิน 3,000 กรัม…ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ไม่มากนัก ทารกสามารถคลอดเองได้ทางช่องคลอด..แต่..ข้าพเจ้าก็ยังสะกิดใจเรื่องส่วนนำไม่ลงต่ำ.. ข้าพเจ้าลงกรีดมีดตามแนวขอบกางเกงในของคนไข้ (Pfannenstiel’s incision) เพื่อความสวยงาม เมื่อกรีดมีดทะลุเข้าถุงน้ำคร่ำ ก็พบว่า ‘น้ำคร่ำของคนไข้ มีสีเขียวอ่อน (Mild meconium) นั่น..แสดงว่า ทารกน้อยลูกคุณซินเดอเรลล่า เริ่มขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือด’ ข้าพเจ้ารีบใช้คีมคีบศีรษะเด็กและทำคลอดเด็กออกมาอย่างนิ่มนวล.. ที่น่าสังเกต คือ ลูกคุณซินเดอเรลล่า มีสายสะดือพันรอบคอ อยู่ 1 รอบ …ซึ่ง มันสามารถดึงรั้งทำให้เด็กทั้งตัวไม่เคลื่อนตัวลงมาได้.. ทารกคลอดลูกคุณซินเดอเรลล่า  เมื่อเวลา 13 นาฬิกา 15 นาที..น้ำหนักแรกคลอด 2,460 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด คือ 9 และ 10 ณ นาทีที่ 1 , 5 ตามลำดับ (คะแนนเต็ม 10)
ข้าพเจ้าอยากจะอธิบายให้ทุกท่านทราบว่า ‘สายสะดือ ที่พันคอ ลูกคุณซินเดอเรลล่า นั้น มีความยาว ไม่มากนัก..คือ มีความยาวไม่น่าจะเกิน 20 เซนติเมตร สิ่งสำคัญ คือ มันคล้องอ้อมรอบคอ และหัวไหล่เด็ก..ในลักษณะดึงรั้งจนตึง.. ทำให้ลูกคุณซินเดอเรลล่าไม่สามารถเคลื่อนตัว .. ต่ำลงมาได้’ เรื่องการที่ทารกในครรภ์ ที่มีขนาดน้ำหนักน้อยๆแบบนี้ และไม่เคลื่อนตัวลงมาในช่องคลอด จนเป็นเหตุให้ต้องผ่าตัดคลอดนั้น.. แต่ก่อน เคยมีสูตินรีแพทย์ รพ ในเครือ กทม. นำ ไปเสนอในการประชุมวิชาการระหว่างโรงพยาบาลต่างๆครั้งหนึ่ง (Interhospital conference) แล้ว ปรากฏว่า ไม่มีคุณหมอท่านใด ตอบปัญหานี้ได้ เพราะเป็นสิ่งทุกคนมักคาดไม่ถึง..
การผ่าตัดคลอด หรือ’ซีซ่า’ นั้นแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับคนท้องในห้องคลอดได้ดุจ’สารพัดนึก’ …มากกว่า เรื่องราวที่เล่ามาข้างต้น อย่างไรก็ตาม…การผ่าตัดภายใต้ระบบดมยา ย่อมต้องมีความเสี่ยงอยู่บ้าง..ตั้งแต่เล็กๆน้อยๆจนถึงขั้นหลับไม่ตื่น..แต่อุบัติการณ์เช่นนั้นพบเกิดขึ้นน้อยมากๆ…ซึ่งหากเทียบกับลูกในครรภ์ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว ถือว่า ‘คุ้มค่า’
ข้าพเจ้ามักสอนนักศึกษาแพทย์เสมอๆว่า ‘อย่าไปยึดติดกับตำราและข้อบ่งชี้มากนัก…เพราะเด็กนั้น มี ‘ชีวิต’  แต่..ตำรา ‘ไม่มีชีวิต’….. เรา ซึ่งเป็น ‘หมอ’ ต่างหาก ที่พอจะเป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาคนท้องในห้องคลอด…  ที่ไร้ทางออกได้  ’
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ.  นพ. เสรี  ธีรพงษ์   ผู้เขียน

 

 

       

 
 

 

ครรภ์พิษ สะกิดใจ

ครรภ์พิษ  สะกิดใจ
เมื่อวาน ข้าพเจ้าตรวจคนท้องรายหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชน เธออายุ 30 ปี ตั้งครรภ์ที่สอง เธอมีความรู้สึกหวาดกลัวมากกับการตั้งครรภ์ครั้งนี้ เพราะครรภ์แรก เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาเด็กออกตอนอายุครรภ์เพียง 26 สัปดาห์ เนื่องจากป่วยเป็นครรภ์พิษ (Toxemia) …ลูกของเธอเสียชีวิตหลังจากคลอดไม่นาน.. แต่ตัวเธอเองปลอดภัยดี…..เรื่องราวของคนไข้ สะกิดใจให้ข้าพเจ้านึกถึงคนท้องอีกรายหนึ่งที่โรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
คุณนฤมล คือคนท้องที่กล่าวถึง เธออายุ 36 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2  ครรภ์แรก ได้รับการผ่าตัดคลอด เมื่อ 7 ปีก่อนเนื่องจากตั้งครรภ์ท่าก้น (Breech presentation) เธอคลอดบุตรได้ลูกชาย น้ำหนักแรกคลอด 2700 กรัม  คุณนฤมลมาฝากครรภ์คราวนี้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้เพียง 7 สัปดาห์ และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง โดยไม่พบมีปัญหาอะไร นอกจากเคยประวัติป่วยเป็นโรคธัยรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid)….เธอรับประทานยา ชื่อ PTU (propylthiouracil).ครั้งละครึ่งเม็ด วันเว้นวัน และหยุดยาตอนตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์  คุณนฤมลได้รับการตรวจภาวะเบาหวาน (OGTT=Oral glucose tolerance test) ขณะอายุครรภ์ 25 สัปดาห์ ก็ปรกติ.. ต้นเดือนนี้ ขณะที่เธอตั้งครรภ์ได้เพียง 32 สัปดาห์ 5 วัน เธอก็มีความดันโลหิตสูงขึ้นระดับ 140/100 มิลลิเมตรปรอท (หลังจากได้รับการนอนพักกว่า 1 ชั่วโมง และวัด 3 ครั้ง) และโปรตีนในปัสสาวะ 1+ คุณหมอที่ห้องตรวจ ได้ส่งคุณนฤมลไปเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์โดยละเอียด ปรากฏว่า ทารกน้อยมีภาวะแคระแกรนเล็กน้อย (IUGR = Intrauterine growth retardation) คาดว่า ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1400 – 1600 กรัม คุณหมอกลัวว่า คุณนฤมล และลูกอาจจะมีปัญหา คือ คนไข้อาจพัฒนาไปเป็นครรภ์พิษ ส่วนลูก ก็อาจเสียชีวิตจากภาวะแคระแกรน อันเกิดจากเลือดไปเลี้ยงทารกไม่พอ คุณหมอจึงให้เธอนอนโรงพยาบาล เพื่อค้นหาสาเหตุต่างๆ โดยให้คำวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็น ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Mild Pre-cclampsia) ซึ่งยังไม่ใช่ ครรภ์พิษ
วันแรกที่คนไข้นอนโรงพยาบาล เป็นวันศุกร์ คุณนฤมลนอนพักอยู่ที่หอผู้ป่วย ชั้น 5 เธอได้รับการเจาะเลือด และตรวจเก็บโปรตีนในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ผลเลือดออกมา ปรากฏว่า ค่าเกร็ดเลือด (Platelets) ได้มากกว่า 2 แสน, ความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) ได้ 38% (ค่าปกติ 35 – 45%), ค่าโปรตีน ปกติ , ค่าผลเลือดอื่นๆ ยังไม่ผิดปกติ..คนไข้และสามียังงงๆอยู่เลยว่า ให้คุณนฤมล นอนโรงพยาบาลทำไม?
ในช่วงวันเสาร์ และวันอาทิตยช่วงเช้า  คุณนฤมลยังคงนอนอยู่ที่หอผู้ป่วยชั้น 5.. จนกระทั่งมีแพทย์ประจำบ้านคนหนึ่งเดินไปดูที่กราฟแสดงสภาพเด็ก (NST=Non-stress test) ของคนไข้ แล้วรู้สึกว่า ทารกน้อยมีการเต้นของหัวใจผิดปกติ จึงรายงานให้สูติแพทย์เวรทราบ ดังนั้น เพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด จึงสั่งการย้ายคนไข้ลงมายังห้องคลอด ในวันนั้น คุณนฤมลยังได้รับยาสเตียรอยด์ (Steroid) ด้วย เพื่อการพัฒนาปอดของทารก
วันจันทร์ต่อมา เรื่องราวของคนไข้รายนี้ได้ถูกนำเสนอในตอนเช้า (Morning conference)  เพื่อให้สูตินรีแพทย์ทั้งแผนกได้ถกปัญหา หาทางแก้ไข และเพื่อเป็นการเรียนรู้ของแพทย์ประจำบ้าน รวมทั้งนักศึกษาแพทย์ว่า เราควรจะดำเนินแก้รักษาคนไข้รายนี้ยังไง?? สูติแพทย์บางคนคิดว่า ‘คนไข้รายนี้ ยังไม่เป็นไรมากนัก’ แต่บางคนก็ว่า ‘คนไข้อยู่ในภาวะวิกฤติ และน่าจะให้การวินิจฉัย เป็น ครรภ์พิษ (severe pre-eclampsia) ด้วย เนื่องจากทารกน้อย มีภาวะแคระแกรน (IUGR = Intrauterine growth retardation)’ ข้าพเจ้าในฐานะประธาน ได้สรุปในที่ประชุมว่า ‘ให้ไปดูคนไข้ร่วมกัน แล้วค่อยตัดสินใจรักษา ’
ในวันจันทร์ตอนเช้า เมื่อพวกเราไปดูคนไข้.. จากการดูกราฟแสดงสภาพเด็ก พบว่า ทารกอยู่ในสภาพที่ดี คุณแม่ก็ไม่มีอาการปวดศีรษะ ไม่มีความดันโลหิตสูง แต่ได้ขอให้ยกเลิกยาลดความดันโลหิต (Aldomet) ตัวหนึ่ง ซึ่งบดบังอาการที่จะแสดงออกว่า คนไข้กำลังพัฒนาไปเป็นภาวะครรภ์พิษ??.. ตอนนั้น คุณนฤมลรับประทานอาหารได้ดี โดยลดอาหารเค็ม
วันอังคารเช้า พวกเราได้นำกรณีของคุณนฤมล (Morning conference) เข้ามาคุยกันต่อ ปรากฏว่า การดูอัลตราซาวนด์ในวันจันทร์พบว่า ‘รกของคนไข้เสื่อมสภาพ (Placenta Grade 3) แต่..การไหลของเลือดที่ไปเลี้ยงเด็กยังดีอยู่ (Flow) ทารกน้อยหนักประมาณ 1600 กรัม เท่าเดิม’ การตัดสินใจแก้ปัญหา แยกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า น่าจะผ่าตัดคลอดลอดเลย.. อีกฝ่าย เห็นว่า น่าจะรออีกสัก 1 สัปดาห์ ทารกจะได้ตัวโตขึ้น จะได้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับปอด..ข้าพเจ้าได้ขอให้พวกเราลงไปดูคนไข้รายนี้อีกครั้ง
การลงไปดูคนไข้ครั้งนี้ หากว่า มีปัญหาอะไร ข้าพเจ้าจะเป็นคนผ่าตัดคลอดให้เอง เพราะเป็นภาวะเสี่ยงต่อเด็ก.. ซึ่ง..ไม่มีหมอคนไหนอยากทำ..
คุณหมอที่ลงไปดู มีคุณหมอท่านหนึ่งเชี่ยวชาญเรื่องภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่งจบมาจากศิริราช เข้าร่วมด้วย (MFM= Maternal fetal medicine) คุณหมอให้ความคิดเห็นว่า ‘น่าจะรออีกสัก 1 หรือ 2 สัปดาห์.. หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักนิดหน่อย เราค่อยผ่าตัดคลอด ก็ยังไม่น่าจะสายเกินไป’ ข้าพเจ้าบอกกับคุณหมอที่ลงมาดูด้วยกันว่า ‘วันพฤหัส ลองตรวจดูอัลตราซาวนด์ให้คนไข้ อีกที ถ้า การไหลเวียนของเลือดไปสู่ทารกน้อย (Flow) ไม่ค่อยดี.. ผมจะผ่าตัดคลอดให้ในวันศุกร์’
ที่ไหนได้!! พอตกบ่าย วันอังคาร คุณนฤมล ก็ถูกนำไปผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน เนื่องจากมีไข้ขึ้นสูง ผลคือ ได้บุตรชาย น้ำหนักแรกคลอด 1610 กรัม แข็งแรงดี คะแนนศักยภาพแรกเกิด 9, 10 ตามลำดับ หลังคลอด คุณนฤมลยังคงมีไข้สูงลอยทุกวัน พวกเราระดมยาฆ่าเชื้อ 2 ถึง3 ตัวให้กับคนไข้ และเจาะเลือด (CBC & others) ทุกวัน ผลคือ เกร็ดเลืดคนไข้ลดต่ำลงอย่างน่าตกใจ  จาก 200000 เหลือ 120000 , 90000, วันเสาร์ (วันที่ 5 หลังผ่าตัดคลอด) เหลือ 41000..และวันอาทิตย์ เหลือ 14000 รวมทั้ง ค่าการแข็งตัวของเลือด (Coagulation Profile) ก็ลดลงด้วย แต่ความเข้นข้นของเลือด (Hematocrit) ยังไม่เปลี่ยนแปลง คุณนฤมล ได้รับการย้ายจากแผนกสูติ สู่ แผนกอายุรกรรมในวันเสาร์นั้นทันที เพื่อการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด
ข้าพเจ้าได้เดินทางไปดูคุณนฤมลที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมในวันเสาร์ พยาบาลที่นั่นดูแลคนไข้ใกล้ชิดมาก และไม่อนุญาตให้คนไข้ลุกจากเตียง การถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ต้องกระทำบนเตียงเท่านั้น เพราะวันที่คุณนฤมลย้ายมา เป็นวันที่ 5 ของโรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) ซึ่งหมายความว่า เป็นวันที่คนไข้มักจะช็อค (Hypovolemic Shock) ข้าพเจ้าบอกกับคนไข้และสามีว่า ‘หากเธอผ่านพ้น 48 ชั่วโมงนี้ไปได้ โดยไม่เกิดเรื่อง (หมายถึง คนไข้เสียชีวิตจากภาวะช็อค หรือ เลือดออกในอวัยวะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมอง) คุณนฤมลก็จะปลอดภัย ’
คุณนฤมล ถือว่า โชคดีมากที่ไม่เกิดภาวะโรคไข้เลือดออกขณะตั้งครรภ์ ซึ่ง..หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราจะต้องส่งต่อเธอไปยังโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัยฯ อาทิ รพ.ศิริราช, รพ.รามา, หรือ รพ.จุฬาฯ เพราะเกร็ดเลือดและปัจจัยการแข็งตัวของเลือดจะลดลงและผิดปกติอย่างมาก คนไข้มีโอกาสเลือดไหลออกตามบาดแผลไม่หยุดขณะผ่าตัดคลอดและเสียชีวิตบนเตียงผ่าตัด
เรื่องราวของคุณนฤมลน่ากลัวมาก ถึงแม้ลูกของเธอจะออกมาในตอนแรกดี แต่ก็มีปัญหาติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องย้ายเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด อีก 2 ครั้ง
ข้าพเจ้าลองคิดจินตนาการเล่นๆว่า ‘หากวันแรก ที่คุณหมอตรวจพบที่แผนกฝากครรภ์และสงสัยภาวะ ‘ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Mild pre-eclampsia)’ เพียงเล็กน้อย โดยไม่ได้ให้คนไข้นอนโรงพยาบาล??’  จะเกิดอะไรขึ้น??….
เนื่องจาก คนไข้จะต้องเสียเวลาในช่วงสำคัญอยู่ที่บ้านอีก 1 สัปดาห์ ซึ่งหมายถึงว่า ภาวะเลวร้ายต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนอาจทำให้ทารกน้อยเสียชีวิต เพราะรกเสื่อม ส่งเลือดไปเลี้ยงลูกไม่เพียงพอ
จะสังเกตว่า ตอนที่บอกให้คนไข้นอนโรงพยาบาล คนไข้และสามียังงงๆอยู่เลยว่า ให้นอนทำไม? โรคที่เธอเป็นอยู่ร้ายแรงมากจริงหรือ? ลูกก็ยังดิ้นดีอยู่… คุณแม่ก็ไม่เห็นปวดหัวเลย.. อย่างไรก็ตาม คุณนฤมลยินยอมนอนโรงพยาบาลตามคำแนะนำของคุณหมอ และเกิดผลดีตามมาดังที่เล่า..
เรื่องราวของภาวะครรภ์พิษนั้น แม้ความดันโลหิตจะยังไม่สูงถึง 160/100 มิลลิเมตรปรอท แต่ถ้าความดันโลหิตเกิน 140/100 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับภาวะดังต่อไปนี้ ก็ให้ถือว่า เป็นครรภ์พิษ (Severe Pre-eclampsia) ได้เลย นั่นคือ ภาวะทารกแคระแกรน (IUGR= Intrauterine Growth retardation) , โปรตีนในปัสสาวะมีมากถึง 3+,4+ , มีน้ำในปอดคนท้อง (Pulmonary edema),  ปัสสาวะไหลออกน้อยมากๆ [Oliguria (น้อยกว่า 500 มิลลิลิตรใน 24 ชั่วโมง)], เกิดการชัก [Eclampsia (grand mal seizures)] , มีเอนไซม์บางตัวขึ้นสูง หรือที่เรียกว่า เป็นกลุ่มอาการ HELLP syndrome
ภาวะครรภ์พิษ (Severe Pre-eclampsia) เป็นเรื่องที่น่ากลัว ไม่น้อย หากพวกเราพบเห็นคนท้องที่มีลักษณะดังที่เล่ามา ก็จงอย่าได้ชะล่าใจ คิดว่า ไม่เป็นไร??….ยิ่งผสมผสานกับโรคแทรกซ้อนแปลกๆ อาทิ..โรคไข้เลือดออก, โรคธัยรอยเป็นพิษ….ยิ่งทวีความน่ากลัว และเป็นอันตรายต่อชีวิตคนไข้ เหล่านั้น
โลกใบนี้ ไม่ใช่สวนสวรรค์ เหมือนที่บางคนคิด มันมีโรคแปลกๆ เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา หากไม่มีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ ช่วยวิเคราะห์อย่างพินิจ เราก็เสมือนเป็นเหยื่อของมหันต์ภัยร้าย  ที่แฝงกายเข้าใกล้แบบไม่รู้ตัว ..ช่างน่าสงสารมนุษย์ในโลกนี้ยิ่งนัก ….หากไม่มีบุญเก่า..ร่วมกับกุศลใหม่ที่เราสร้างขึ้น เราก็อาจมีชีวิตที่ลำบากยิ่งนักจากโรคร้ายๆเหล่านี้…
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

 

 
 

 

 

แฝดใจเพชร

คุณเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์หรือไม่? สำหรับข้าพเจ้า…เชื่ออย่างสนิทใจ เพราะชีวิตที่ผ่านมาของข้าพเจ้า ล้วนผ่านพ้นมาได้อย่างมหัศจรรย์ทั้งสิ้น หากไม่มีปาฏิหาริย์ ข้าพเจ้าคงจบชีวิตไปนานแล้ว ณ ที่คูคลองเล็กๆแห่งหนึ่งที่ขนานคลองชลประทานย่านอำเภอสองพี่น้อง เนื่องจากเหตุการณ์รถกระบะเสียหลัก พลัดตกและจมน้ำ แต่..ก็มีชาวบ้านช่วยเหลือได้ทัน ก่อนที่ข้าพเจ้าจะกลั้นลมหายใจเฮือกสุดท้ายไม่อยู่..

สิ่งเหลือเชื่อใดๆ ในปัจจุบัน ได้ปรากฏขึ้นให้เห็นบ่อยๆ จนเราเคยชิน..อาทิ เศษเหล็กที่มาประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องบิน และเหิรฟ้าได้ดุจนก ..ในทางการแพทย์ วิทยาการและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ก็พัฒนาก้าวหน้าไปไกล…จนแทบไม่น่าเชื่อว่า จะมีมนุษย์คนใดคิดค้นขึ้นมาได้…

วันวาน ข้าพเจ้าได้เดินไปเยี่ยมห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด ด้วยหวังจะดูทารกแฝด ซึ่งเป็นปัญหาเข้าที่ประชุมสูติแพทย์เมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อน.. น่าแปลกใจ ที่พบมีเด็กแฝดเกิดขึ้นมาอีกคู่ คราวนี้สภาพการณ์ของทารกน้อยรุนแรงกว่าคู่แรกเสียอีก เพราะคนไข้และคุณหมอไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก่อน… จู่ๆ เธอก็ปรากฏกายขึ้นที่ห้องคลอด และเบ่งคลอดหลังจากนั้นไม่นาน..

คนไข้รายใหม่นี้ ชื่อ คุณโสรญา… เธออายุ ๒๔ ปี ตั้งครรภ์แฝด ท้องแรก อายุครรภ์ ๒๖ สัปดาห์ ๔ วัน…๑ วันก่อนมาโรงพยาบาลฯ เธอเริ่มเจ็บครรภ์น้อยๆตอนเที่ยงวัน แต่อาชีพเป็นฝ่ายการเงิน..ทำให้เธอทนทำงานจนถึงค่ำ และพบว่า อาการปวดท้องน้อยเริ่มเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนตอนเช้าราว ๖ นาฬิกา คุณโสรญา ก็มาที่ห้องคลอด ซึ่ง..เมื่อพยาบาลตรวจภายในให้ ก็พบว่า ปากมดลูกของเธอเปิด ๙ เซนติเมตร ความบาง ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ทารกทั้งสองเป็นท่าหัว,หัว (Vertex,vertex) ..ภายในเวลาไม่ถึง ๑ ชั่วโมง  คุณโสรญาก็เบ่งคลอดลูกออกมาตามธรรมชาติ ตอนนั้น คุณหมอเด็กเพิ่งมาเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อช่วยหายใจทารกน้อยในเบื้องต้น คนไข้เบ่งคลอดอยู่นาน ๑ ชั่วโมง ก็คลอดทารกแฝดออกมา.. ด้วยว่า ทารกทั้งสองมีศีรษะ เป็นส่วนนำทั้งคู่  (Vertex, vertex) เธอจึงคลอดไม่ยาก..ทารกน้อยทั้งสอง เป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด พอๆกัน คือ แฝดตัวแรกหนัก ๖๘๘ กรัม แฝดตัวน้องที่คลอดภายหลัง หนัก ๖๙๖ กรัม ซึ่ง..คะแนนศักยภาพแรกเกิด ไม่ดีทั้งสองคน กุมารแพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจให้ และถูกส่งไปยังห้องไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด ทันที… ปัจจุบัน แฝดทั้งสองยังอยู่ในอาการร่อแร่…. เราคงต้องเฝ้าดูต่อไป

อีกรายหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อราวครึ่งเดือนก่อน..เป็นกรณีของคุณจิตราวดี  คนไข้อายุ ๒๘ ปี เคยแท้งบุตรมา ๒ ครั้ง ฝากครรภ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุครรภ์เพียง ๙ สัปดาห์ พออายุครรภ์ ได้ ๒๓ สัปดาห์ สังเกตว่า มดลูกโตมากกว่าปกติ สูติแพทย์ที่แผนกฝากครรภ์จึงตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องให้ ปรากฏว่า เธอมีลูกแฝด ขนาดของทารกน้อย เท่ากับ ๒๑ และ ๑๙ สัปดาห์ ตามลำดับ เธอได้รับการส่งตัวต่อ..ให้ตรวจโดยละเอียด กับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการดูอัลตราซาวนด์ (MFM = Maternal- fetal medicine)

เมื่อคุณจิตราวดี ตั้งครรภ์ได้ ๒๕ สัปดาห์ การตรวจอัลตราซาวนด์ โดยละเอียดจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีทารกน้อย คนหนึ่ง เกิดสภาพแคระแกรน (IUGR= Intrauterine growth retardation) และทารกอีกคนน่าจะได้รับเลือดถ่ายเทจากทารกตัวเล็ก (Twin –twin transfusion syndrome) สำหรับ ‘รก’ พบว่า มันเป็นรกอันเดียว แต่มีถุงน้ำคร่ำแยก (Monochorion Diamnion Placenta) รกชนิดนี้นี่เอง ที่ก่อปัญหา ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงทารกทั้งสอง มีการเชื่อมต่อกันในบางส่วน เลือดจะถ่ายเทจากตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวหนึ่งได้ ทำให้ทารกตัวหนึ่งขาดเลือด ในขณะที่ทารกอีกตัวมีภาวะเลือดมากเกิน (Polyhydramnios) เป็นผลให้ทารกตัวเล็กเสียชีวิตได้ง่าย.. จากนั้น เป็นต้นมา คุณจิตราวดี ก็ได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์จากผู้เชี่ยวชาญทุกสัปดาห์.. พออายุครรภ์ ๒๗ สัปดาห์ ๓ วัน ทารกทั้งสองเริ่มมีภาวะแคระแกรนอย่างเห็นได้ชัด แต่..ก็ยังไม่ถึงกับต้องผ่าตัดคลอดออกมา

เมื่อคุณจิตราวดี ตั้งครรภ์ได้ ๒๘ สัปดาห์ ๕ วัน ตอนนี้เอง ที่พบว่า การไหลเวียนของเลือดภายในรกเกิดการย้อนกลับ (Reverse flow) ซึ่ง..เป็นสัญญาณอันตรายร้ายแรง บ่งบอกว่า ทารกทั้งสองจะเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นานหลังจากนี้..  นี่เอง..เป็นเหตุให้สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลตราซาวนด์ ต้องคุยกับคุณจิตราวดี ว่า ‘ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องตัดสินใจผ่าตัดคลอด แม้ว่า อายุครรภ์จะน้อยมาก ก็ตาม’

ถึงจะเสี่ยงต่อความตายจากการคลอดก่อนกำหนด (Preterm delivery) แต่..คุณจิตราวดี ก็ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดคลอด.. สูติแพทย์ท่านนั้น ได้ให้ยาเพิ่มการพัฒนาการทำงานของปอด (Steroid) เป็นเวลา ๒ วันก่อนผ่าตัด เพื่อให้ปอดมีประสิทธิภาพพอที่จะอยู่ในโลกภายนอก… ส่วนกุมารแพทย์ ก็เตรียมห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดรองรับทารกทั้งสอง อย่างเต็มที่

ในที่สุด วันนั้น ก็มาถึง สูติแพทย์ผู้รับผิดชอบ ได้ลงมือผ่าตัดคลอดให้แต่เช้า ภายใต้การเตรียมการของทุกฝ่าย ตั้งแต่กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และสูติแพทย์ ทารกน้อยคลอดเมื่อเวลา ๑๐ นาฬิกา ๓ และ ๔ นาทีตามลำดับ ได้ทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด ๑๐๐๐ กรัม และ ๖๕๘ กรัม ค่าคะแนนศักยภาพของทารกแรกเกิดแฝดคนแรกเท่ากับ ๗ และ ๙ ; แฝดคนน้อง เท่ากับ ๔ และ ๘ (คะแนนเต็ม ๑๐) ณ เวลา ๑ และ๕ นาทีหลังคลอดตามลำดับ ทารกทั้งสองได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจทันที และส่งไปดูแลอย่างใกล้ชิดที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด.. ปัจจุบัน ทารกแฝดลูกคุณจิตราวดี มีสภาพร่างกายที่ดีมาก แม้จะอยู่ในสภาพใส่เครื่องช่วยหายใจ

คุณจิตราวดี และ คุณโสรญา  มีลูกแฝดเหมือนกัน แต่โชคชะตาแห่งอนาคตของลูกน้อยอาจแตกต่าง..ด้วยว่า คุณจิตราวดีขณะตั้งครรภ์ เมื่อทารกมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต ก็ได้มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด จากสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (MFM) พอทารกน้อยเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง คุณจิตราวดีก็เข้าสู่กระบวนการผ่าตัดคลอดทันทีโดยมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นอย่างดีจากคุณหมอทุกฝ่าย ลูกคนเล็กของคุณจิตราวดี ที่มีน้ำหนักแรกคลอด เพียง ๖๐๐ กรัมเศษ ก็แข็งแรงดีวันดีคืน กว่า ลูกคนโต ที่มีน้ำหนัก ๑๐๐๐ กรัมด้วยซ้ำไป

ส่วนคุณโสรญา แม้จะฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ และได้รับคำแนะนำต่างๆเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝดเช่นเดียวกัน แต่..เธอไม่สามารถตระหนักรู้ได้ว่า ‘อะไร คือ สัญญาณอันตราย ที่จะก่อให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด’ เธอยังคงมุ่งมั่นทำงาน..โดยไม่ได้คำนึงถึงตัวเอง..ตราบจนคลอดออกมาเรียบร้อยแล้ว เธอยังไม่รู้เลยว่า อะไรทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น… หลังคลอดบุตร ๑ วัน ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคุณโสรญา และถามเธอว่า ‘คุณคิดว่า อะไร คือ สาเหตุของการคลอดครั้งนี้ คุณมีเพศสัมพันธ์ในวันที่เจ็บครรภ์หรือเปล่า เพราะคนท้องบางคนมีความไวต่อสารพรอสตาแกรนดิน ในน้ำอสุจิ ทำให้เจ็บครรภ์ และแท้งบุตรในที่สุด’ คุณโสรญาปฏิเสธ แต่ยอมรับว่า ไม่ค่อยได้พักผ่อน..กรณีของคุณโสรญา  จึงยังคงเป็นปริศนา ถึงที่มาของสาเหตุการคลอดก่อนกำหนด

อย่างไรก็ตาม ทารกน้อยลูกแฝดของคนไข้ทั้งสอง ยังคงได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้องไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด ทารกทุกคนยังมีชีวิตอยู่ และพยายามยื้อยุดฉุดตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อหนีให้พ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราช… อย่างกรณีลูกแฝดของคุณจิตราวดี สามารถมีชีวิตอยู่มาได้กว่าครึ่งเดือน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ถือว่า ใจเด็ด ไม่น้อย  แต่..ก็ต้องขอยกย่อง ทีมงานแพทย์ ทั้งของแผนกสูติ-นรีเวช วิสัญญีแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุมารแพทย์ ที่เตรียมการเป็นอย่างดีในการรับมือเหตุการณ์ครั้งนี้.. จากการสังเกตของข้าพเจ้า… เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด มีการพัฒนาก้าวหน้าไปไกลมาก …ที่ผ่านมา ห้องไอ.ซี.ยู. แห่งนี้ สามารถช่วยชีวิตทารกน้อย ที่คลอดก่อนกำหนดในช่วงอายุครรภ์ ๒๖ สัปดาห์ หรือน้ำหนักประมาณ ๖๐๐ กรัมเศษไว้ได้หลายคน.. มาคราวนี้..ก็หวังว่า จะช่วยชีวิตทารกน้อยลูกแฝดของคนท้องทั้งสองได้…สำหรับกรณีลูกแฝดของคุณโสรญานั้น ทางห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด เพิ่งรับมาได้ไม่กี่วัน และไม่ได้มีการเตรียมพร้อมมาก่อน .. กุมารแพทย์ยอมรับว่า เป็นภาระที่หนัก.. การจะช่วยเหลือให้รอดชีวิตทั้งสองคน มีไม่มากนัก…ซึ่ง..คงต้องอาศัยปาฏิหาริย์ เท่านั้น ข้าพเจ้าเอง ก็หวังเช่นนั้น.. หวังว่า ทารกน้อยแฝดทุกคนที่กล่าวมาข้างต้น จะมีใจที่เด็ดเดี่ยว ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา มีจิตใจความแข็งแกร่งประดุจเพชร  ที่จะสู้ เพื่อมีชีวิตรอดอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะพานพบกับอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน…

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ.เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน        

 

มหัศจรรย์แห่งชีวิต

มหัศจรรย์แห่งชีวิต

วันวาน ข้าพเจ้าได้สัมผัสเรื่องราวที่น่าหดหู่ใจของสตรีรายหนึ่ง ที่เพิ่งสูญเสียบุตรในครรภ์ ไปในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เธอมาตรวจหลังคลอดกับคุณหมอสูติแพทย์เวร ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจไปกับเรื่องราวของเธอ เพราะวันศุกร์ก่อน เธอได้มาตรวจที่หน่วยฝากครรภ์ พยาบาลที่นั่นยังฟังเสียงหัวใจลูกของเธอได้เลย.. พอตกบ่ายวันเสาร์ ลูกของเธอก็หยุดดิ้น เมื่อเดินทางมาถึงห้องคลอด โรงพยาบาลตำรวจ คุณหมอเวรได้ตรวจดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องให้ ปรากฏว่า ลูกของเธอไม่มีสัญญาณชีวิตใดๆ.. คุณหมอเวรได้สอดยา (Cytotec) เพื่อช่วยชักนำให้ปากมดลูกของเธอนุ่ม จากนั้นก็เร่งคลอดทันที วันอาทิตย์ ตอนบ่าย คนไข้ได้คลอดร่างของบุตรที่ไร้วิญญาณออกมาด้วยความโศกเศร้า ไม่น่าเชื่อ..ว่า บุตรของเธอจะมีน้ำหนักมากถึง 3.5 กิโลกรัม นั่นหมายถึงว่า หากเธอคลอดเร็วกว่านี้ อาจสัก 1 สัปดาห์ ลูกเธอก็จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เหมือนดั่งเราๆท่านๆๆ..ไม่มีใคร..ทราบถึงสาเหตุการเสียชีวิตของหนูน้อยในคราวนี้….แต่..เชื่อว่า น่าจะเป็นผลจากการติดเชื้อภายในร่างกายของทารกในครรภ์…เรื่องของชีวิตมนุษย์เรา……ใครเลยจะทราบได้…มันเป็นเรื่องของชะตา ฟ้าลิขิต

วันจันทร์ถัดมา ข้าพเจ้าอยู่เวรที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง  คืนนั้น ตอนค่ำ ทำท่าว่า จะเงียบสงบ เพราะไม่มีการปรึกษาใดๆจากห้องฉุกเฉิน หรือหอผู้ป่วย… ที่ไหนได้…. ปรากฏว่า..

มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อ คุณวราภรณ์ อายุ 31 ปี ครรภ์ที่สาม อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ 5 วัน ฝากครรภ์ อยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่ง  ณ จังหวัดชลบุรี..เธอมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ จึงโทรศัพท์เข้ามาที่โรงพยาบาล เพื่อจะขอย้าย พยาบาลห้องฉุกเฉินพูดปรึกษากับข้าพเจ้าว่า ‘ หมอ..หมอ!! มีคนไข้รายหนึ่งติดต่อเข้ามาจากโรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรีว่า จะขอเข้ามาตรวจหน่อยได้ไหม?? เป็นคนไข้ท้องที่สาม หน้าท้องใหญ่มากจนหายใจไม่ค่อยออก… อายุครรภ์ ประมาณ 34 สัปดาห์’ นั่นเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ข้าพเจ้าได้รับ…ใจหนึ่ง ก็ไม่อยากรับเนื่องจาก น่าจะเป็นคนไข้เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (Preterm labour) ซึ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น คือ ปัญหาใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน เพราะทารกน้อยมักจะบอบบาง เสียชีวิต ก็ง่าย …มีความพิการแต่กำเนิด ก็พบบ่อย..อาทิ ตาบอด..ปอดอักเสบ..สมองขาดก๊าซออกซิเจนจนปัญญาอ่อน..พ่อแม่ของเด็ก จึงมักจะถูกยุยงให้ฟ้องร้องสูติแพทย์ และกุมารแพทย์ ..หารู้ไม่ว่า …สูติแพทย์ แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับทารกน้อยที่คลอดออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว…การจะผ่าตัดคลอดบุตรนั้น สูติแพทย์จะกระทำ ก็เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ..

ราวๆ 2 นาฬิกา คุณวราภรณ์พร้อมพี่สาว ก็เดินทางมาถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน (ขอสงวนนาม) ที่ข้าพเจ้าอยู่เวร เมื่อลงไปดู ก็พบว่า คุณวราภรณ์อยู่ในสภาพ..กึ่งนั่งกึ่งนอนบนเตียง ทำท่าหายใจลำบาก หน้าท้องของเธอสูงใหญ่ยันลิ้นปี่ ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ทำไมถึงมาโรงพยาบาลแห่งนี้’ เธอตอบว่า ‘ที่โน่น (ชลบุรี) ..ไม่มีใครรักษาดิฉัน..ดิฉันไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน คุณหมอก็บอกว่า ไม่เป็นไร ความจริง!! ดิฉัน แทบจะตายอยู่แล้ว หายใจลำบากมาก แต่..คุณหมอกลับบอกว่า กลับบ้านไปก่อน ดิฉันโทรศัพท์ไปติดต่อยังโรงพยาบาลต่างๆหลายแห่ง ปรากฏว่า ไม่มีหมออยู่เวร.. พอดี พี่เขยเคยมารับการรักษาที่นี่ เขาจึงบอกให้ดิฉันลองติดต่อมา ซึ่งก็มีสูติแพทย์อยู่ประจำจริงๆ.. ดิฉันจึงตีรถยนต์มาทันที ’

ข้าพเจ้าเปิดดูแฟ้มประวัติการฝากครรภ์ของคุณวราภรณ์ที่คลินิกใกล้บ้าน ก็พบมีแผ่นกระดาษเขียนบันทึกผลการตรวจอัลตราซาวนด์ของคนไข้ก่อนส่งต่อ (Refer) ไปรักษาต่อ ที่โรงพยาบาลระดับศูนย์แพทย์ ลงวันที่ก่อนหน้านี้  2 วัน ในนั้นเขียนว่า

คุณวราภรณ์ฝากครรภ์ที่คลินิก 8 ครั้ง ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 8 สัปดาห์ ผลเลือดทุกอย่างปกติ เลือดกรุ๊ป บี และ Rh positive (ปกติ).. 3 วันก่อน คนไข้มีอาการแน่นท้อง ไม่มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือเจ็บครรภ์ …ยอดมดลูกอยู่ชิดติดกับยอกอก วัดได้ 40 เซนติเมตรจากหัวเหน่าจากการดูอัลตราซาววนด์โดยละเอียด พบว่า ทารกน่าจะมีขนาดเข้าได้กับอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ น้ำหนักคร่าวๆ เท่ากับ 2170 กรัม รกเกาะด้านบนกลางมดลูก น้ำคร่ำ มีจำนวนมาก (Polyhydramnios…AFI=26 Cm.) ทารกมีภาวะท้องมาน (Ascites) และมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion) โดยให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็นภาวะทารกท้องบาตร (Hydrop fetalis) ข้าพเจ้าลองตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องของคนไข้ ก็พบลักษณะเช่นเดียวกัน.. ข้าพเจ้ารีบคุยกับพี่สาวของคนไข้ว่า ‘อาจจะต้องผ่าตัดคลอดบุตรให้กับน้องสาวคุณ เพื่อให้คุณแม่ปลอดภัย..แต่..ลูกอาจไม่รอด’ พี่สาวของคุณวราภรณ์ตกลงยินยอมตามที่ข้าพเจ้าเสนอ โดยยืนยันว่า หากลูกคุณวราภรณ์เสียชีวิต จะถือเป็นเหตุสุดวิสัย…ไม่เป็นไร?? ข้าพเจ้ารูสึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย แต่ เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ ก็คิดว่า น่าจะผ่าตัดคลอดในตอนเช้า จะดีกว่า เพราะบุคลากรพร้อม เผื่อว่า ลูกคุณวราภรณ์จะรอดชีวิต ตอนนั้น ข้าพเจ้าใช้คำว่า ‘อาจมีปาฏิหาริย์’

ข้าพเจ้าลงมือผ่าตัดคลอดให้กับคุณวราภรณ์ เมื่อเวลา 7 นาฬิกา 30 นาที…ทารกคลอดเมื่อเวลา 7 นาฬิกา 56 นาที เป็นทารก เพศชาย น้าหนักแรกคลอด 3055 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอดเท่ากับ 2 และ 4 (คะแนนเต็ม 10) ณ เวลา 1 และ 5 ตามลำดับ หมายความว่า ทารกน้อยกำลังจะเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษา ลูกคุณวราภรณ์ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ และถูกปั้มหัวใจทันที หลังจากนั้น ก็ถูกส่งไปที่ห้องไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด…

กุมารแพทย์ได้เดินมาพูดกับข้าพเจ้าขณะผ่าตัดว่า ‘สงสัย เด็กจะเป็น Hydrop fetalis (ทารกท้องบาตร[หมายถึง ทารกที่มีภาวะหัวใจวายและตัวบวม เนื่องจากเลือดจางมากๆ])’ คำพูดของกุมารแพทย์ คล้ายๆจะสื่อสารว่า ทารกรายนี้ ไม่น่าจะรอดชีวิต…ซึ่งหมายถึงว่า คงจะมีชีวิตได้ไม่น่าจะข้ามวัน…ข้าพเจ้าเองก็คิดเช่นนั้น ข้าพเจ้าชะโงกหน้าไปมองดูคนไข้ ปรากฏว่า คุณวราภรณ์กำลังหลับลึกจากยาดมสลบ..อย่างไรก็ตาม หลังผ่าตัดเสร็จ ข้าพเจ้าได้เดินขึ้นไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกคลอด เพื่อตามหาญาติคนไข้ ..เป็นจริงตามคาด ..สามีคนไข้และลูกสาว กำลังยืนชะเง้อดูทารกน้อย ข้าพเจ้าอธิบายให้สามีคนไข้ฟังว่า ‘ลูกของคุณอาการไม่ค่อยดีนะ ตอนที่เขาคลอดออกมา หัวใจเต้นด้วยอัตราเพียง 40 ครั้งต่อนาที (ปกติ หัวใจทารกจะเต้นในอัตรา 140 ครั้งต่อนาที หากต่ำกว่า ๑๐๐ ครั้งต่อนาที ถือว่า ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งจะเสียชีวิตได้ทุกเวลา)’

จากนั้น ข้าพเจ้าก็เดินทางกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าง่วนอยู่กับงานจนลืมคนไข้รายนี้ พอกลับมาเยี่ยมคนไข้และญาติในตอนเย็น ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันความคิดเห็นเดิมเกี่ยวกับทารกน้อยว่า อยู่ในภาวะวิกฤติ แต่…คาดไม่ถึงว่า ลูกคุณวราภรณ์ ยังอยู่ในสภาวการณ์ที่ค่อนข้างดี..โดยมีคุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญเรื่องทารกวิกฤติ ดูแลอย่างใกล้ชิด อาจารย์แพทย์ท่านนี้ เป็นถึงรองคณบดีโรงพยาบาลรามาธิบดี..ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น ลูกคุณวราภรณ์จึงถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดี…คุณวราภรณ์อยู่โรงพยาบาล ๓ วันก็กลับบ้าน

 อีก 1 สัปดาห์ถัดมา คุณวราภรณ์มาตัดไหมที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ลูกของคุณ เป็นยังไงบ้าง??’ คนไข้ตอบว่า ‘ตัวบวมลดลง…รูปร่งเกือบเหมือนเด็กปกติเลย ลูกดิ้นดีขึ้น คุณหมอพูดเหมือนกับว่า ลูกของดิฉันมีโอกาสจะอยู่รอดได้ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน!! ’   

ข้าพเจ้ายิ่งรู้สึกประหลาดใจมากเมื่อพบคุณวราภรณ์วันนี้ (ถัดมาอีก 1 สัปดาห์) ข้าพเจ้าถามเธอว่า ‘ตกลง..ลูกคุณเป็นโรคอะไรกันแน่….ดีขึ้นหรือยัง’ คุณวราภรณ์ตอบว่า ‘ตอนนี้ลูกของหนูดีขึ้นมากเลย ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ต้องอยู่ในตู้อบแล้ว’ ข้าพเจ้าถามต่อว่า ‘สาเหตุที่ทำให้เด็กหัวใจวาย คืออะไร?? ’

‘ตอนแรก คุณหมอที่นั่นก็หาสาเหตุไม่ได้’ คุณวราภรณ์บอก ‘แต่…สุดท้าย คุณหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็พบสาเหตุว่าเป็นจาก รก’ ข้าพเจ้าอุทานว่า ‘อะไรนะ???’

‘คือว่า คุณหมอบอกว่า รกมันส่งเลือดไปเลี้ยงลูกน้อยลงมากๆ จนลูกเกิดภาวะหัวใจวายจากการขาดเลือด’ คุณวราภรณ์อธิบายต่อ…ข้าพเจ้าบอกกับเธอว่า ‘ผมไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้เลยในชีวิต.. เจอแต่ว่าทารกหัวใจวายในครรภ์จากสาเหตุอื่น อาทิ โรคเลือดทาลาสซีเมีย หรือ กรุ๊ปเลือด Rh negative (ผิดปกติ) ของแม่ แล้วเกิดภาวะทารกท้องบาตร (Hydrop Fetalis) ซึ่ง..สุดท้าย ทารกน้อยจะไม่รอดหากคลอดออกมาสู่โลกภายนอกและมักเสียชีวิตในครรภ์ กรณีของคุณวราภรณ์ จึงถือว่า มหัศจรรย์มาก’

ชีวิตของทารกน้อยนั้น..เปรียบไป ก็เหมือนกับบทเพลง ที่มารดาเป็นผู้รังสรรขึ้นนับแต่แรกปฏิสนธิในครรภ์…..ช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ท่านก็บรรจงเรียงร้อยถ้อยคำ ประดิษฐ์ประดอยอย่างเต็มความสามารถ จนใกล้กำหนดคลอด..ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 และ 3.. หากพบมีอุปสรรคขัดขวาง แล้วมารดาแก้ไขปัญหาเองได้.. บทเพลงนั้น ก็ยังสำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมา.. แต่..หากทารกน้อยต้องจบชีวิตลง บทเพลงนั้น ก็จะขาดบทสรุปสุดท้าย ไม่ได้เป็นบทเพลงที่สมบูรณ์ ซึ่ง….จะไร้คุณค่าในทันที..บางครั้ง เมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤติ..ผู้แต่ง อันได้แก่ มารดา คงจำเป็นต้องอาศัยผู้อื่น ช่วยขัดเกลาเนื้อเพลง เพื่อทำให้ชีวิตลูกปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงว่า ‘บทเพลงแห่งชีวิตนั้น แค่คนเรามีชีวิตรอดออกมาจากท้องแม่ได้.. ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว’  

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน 

 

 

 

 

 

เสียงสะท้อนจาก แม่คนหนึ่ง (เขียนโดย โสภา สายวรรณ)

คำนำ   :

เกิด แก่ เจ็บตายเป็นสิ่งที่ใครหลีกเลี่ยงไม่ได้  ครอบครัวไหนมีคนป่วยจะเป็นครอบครัวที่ความทุกข์อย่างมาก  ยิ่งถ้าการเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่  ความทุกข์ทรมานยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

คุณภาพการบริการสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ป่วยและญาติ  แต่ก็ต้องยอมรับว่าการบริการสาธารณสุขไทยคุณภาพยังไม่เท่าเทียมกัน  บางพื้นที่มีคุณภาพต่ำ  ถึงจะมีการทำโรงพยาบาลคุณภาพ  (HA)  เพราะมันยังการันตีไม่ได้ว่าโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินจะมีคุณภาพจริง

หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนเสียงหนึ่งของระบบสาธารณสุขไทย  ที่หวังว่ามันจะสามารถให้บุคลากรทางการแพทย์วงการสาธารณะสุขไทย  ได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์ของประชาชน  ผู้เขียน : โสภา   สายวรรณ

                                                                                                                        

 

ครอบครัวสุขสันต์

ครอบครัวของฉันนับว่าเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบอีกครอบครัวหนึ่ง ฉันมีลูก 2  คน  เป็นเด็กผู้ชายทั้งคู่ คนโตชื่อน้องโชกุน  อายุ  3  ขวบ  คนเล็กชื่อน้องโชกันต์  อายุ  8  เดือนกว่าๆ

ตัวฉันเองเป็นพยาบาลวิชาชีพ  เดิมเคยทำงานที่โรงพยาบาลท่าศาลา  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ประมาณ 7 ปี  ฉันทำงานด้วยความรัก  ด้วยอุดมการณ์ที่สูงส่ง  ทุ่มเทกับการทำงานมาก  ชอบการพัฒนางาน  มีความสุขทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยและญาติ  จนวันหนึ่งเพื่อครอบครัวฉันต้องละทิ้งอุดมการณ์มาอยู่โรงพยาบาลเอกชนที่กรุงเทพมหานคร  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเล็กๆ แต่ให้เวลาฉันดูแลครอบครัวได้มากขึ้นพร้อมกับรายได้ที่มากขึ้น  ฉันเลือกทำงานประมาณ  20  วัน  และหยุดยาวครั้งละ 10  วัน   เพื่อกลับบ้านที่จังหวัดอุดรธานีซึ่งตากับยาย (พ่อกับแม่ของฉัน)จะช่วยดูแลเด็กๆให้  ส่วนแฟนของฉันเป็นตำรวจพลร่ม  ค่ายนเรศวร  กินอุดมการณ์เหมือนกัน  สมัครลงไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ปฏิบัติงานที่อำเภอบันนังสตา  จังหวัดยะลา  จะทำงาน  20  วัน  หยุด  10  วันเช่นกัน   ทำให้เราทั้งคู่มีเวลากลับบ้านพร้อมกันทุกเดือน

ถึงเราจะทำงานกันคนละที่  อยู่กันคนละทิศละทางแต่เราก็จะต้องมารวมตัวกันให้ได้ในแต่ละเดือน  เราจะไปเที่ยวด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันและดูเหมือนทุกๆเดือน  ลูกๆก็จะตั้งหน้าตั้งตานับวันรอที่พ่อกับแม่กลับบ้าน  ครอบครัวเราจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบนี้  และดูเหมือนทุกอย่างจะลงตัวไม่ว่าจะเป็นเวลาและรายได้ที่เข้ามา

น้องโชกุนลูกคนโตจะเป็นเด็กฉลาด  พูดเก่ง  ว่านอนสอนง่ายสมกับที่ฉันประคบประหงมตั้งแต่อยู่ในครรภ์  อะไรที่เสริมพัฒนาการของลูกได้ฉันหามาให้หมด  ในแถบหมู่บ้านของฉันโชกุนเป็นเด็กที่โชคดีที่สุด  และฉลาดที่สุด  เป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของชาวบ้านละแวกนั้น  เมื่ออายุ  3  ขวบ  แล้ว  ฉันก็พาลูกเข้าโรงเรียนเอกชนแถวนั้น  ลูกใส่ชุดนักเรียนดูน่ารักมาก  เวลากลับจากโรงเรียนจะเล่าให้ฟังว่าทำอะไรบ้าง คุณครูเป็นอย่างไร  ซึ่งก็ทำให้ฉันและคนในครอบครัวยิ้มแก้มปริในความน่ารักน่าชัง  ช่างเจรจาของเค้าอย่างมากเลยเชียว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

­­­­ฉันรู้สึกมีความสุขมาก ในแต่ละเดือนจะวางแผนคิดโปรแกรมว่าจะพาลูกไปเที่ยวที่ไหน  โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่าความสุขกำลังจะหมดไป   ความทุกข์กำลังย่างกรายเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว

 

วิกฤตครอบครัว

                ไม่มีใครรู้หรอกว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นกับเราตอนไหน  ที่สำคัญคือเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไร

                วันที่  30  พฤษภาคม  2556  ฉันกับแฟนไปส่งโชกุนที่โรงเรียนก่อนที่จะขับรถขึ้นกรุงเทพฯ  เพื่อไปทำงานโดยไม่รู้เลยว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเห็นรอยยิ้มของลูก  ฉันขึ้นกรุงเทพฯได้แค่คืนเดียว  ส่วนแฟนฉันเตรียมตัวเดินทางไปจังหวัดยะลาต่อ  ยายโทรศัพท์บอกว่าโชกุนไม่สบาย  ปวดท้อง  อาเจียน

                เช้าวันที่  31  พฤษภาคม  2556  โชกุนเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดอุดรธานี  ด้วยอาการกระเพาะอาหารอักเสบ  แฟนฉันจึงขอลางานตีรถกลับจังหวัดอุดรธานีไปเฝ้าลูกทันที  ส่วนฉันคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมากมีตายายและแฟนดูแลลูกอยู่แล้วในโรงพยาบาลที่การันตีคุณภาพ  ด้วยเป็นโรงพยาบาลที่ผ่าน  HA  แล้วจึงไม่น่าจะมีอะไรมาก ซึ่งฉันจะโทรสอบถามอาการแผนการรักษาของแพทย์ทุกวัน  วันละประมาณ  2-3  ครั้งกับพยาบาลเจ้าของ  case  โชกุนนอนโรงพยาบาลได้  2  วัน  ยายอยากให้ฉันกลับเนื่องจากเห็นว่าอาการยังไม่ดีขึ้น ยังปวดท้องตลอด  ไม่ทานอะไร  อาเจียนวันละ  1-2  ครั้งและหมอก็ถอดน้ำเกลือแล้ว  ฉันก็บอกให้ยายใจเย็นๆ ไม่เป็นอะไรมากหรอกบางทีก็ต้องใช้เวลาบ้าง  เพราะถ้าฉันกลับคนที่เป็นพยาบาลจะเข้าใจ  การที่ตารางเวรออกมาแล้วจะต้องแลกเวรมันยากแค่ไหน  งานพยาบาลจะทิ้งไปเฉยๆค่อยกลับมาเคลียร์ทีหลังเหมือนงานอื่นไม่ได้  แต่เมื่อถูกรบเร้ามาก  ฉันจึงตัดสินใจแลกเวร  1  สัปดาห์เพื่อกลับบ้าน

                เช้าวันที่  2  มิถุนายน  2556  ฉันขึ้นรถทัวร์ที่หมอชิตยังไม่ได้คิดอะไรมากนั่งมองวิวทิวทัศน์ข้างทางพร้อมจินตนาการไปเรื่อยเปื่อยตามประสาคนเพ้อฝัน แต่ก็ไม่ลืมโทรศัพท์ไปสอบถามอาการลูกเป็นระยะจนเวลาประมาณบ่ายสองโมงเดินทางถึงขอนแก่นพอดี ยายโทรศัพท์มาบอกว่าโชกุนมีอาการชักเกร็ง  ฉันรีบถามยายทันทีว่าเรียกพยาบาลมาดูหรือยัง  คำตอบที่ได้กลับมาทำให้ฉันรู้สึกว่านี่หรือคือพยาบาลวิชาชีพ  คุณเรียนมาเพื่อจะบอกกับญาติผู้ป่วยว่า  “เด็กหนาวพัดลมก็เป็นอย่างนี้แหละ”  ไม่นานโชกุนก็มีอาการชักอีกครั้ง  ยายบอกมีตาเหลือก  ปากเบี้ยว  ลิ้นคับปาก  ฉันขอสายคุยกับพยาบาล  ซึ่งบอกฉันว่าตามคุณหมอมาดูแล้ว  หมอบอกว่าเป็นผลข้างเคียง  (Side  Effect) ของยาแก้อาเจียน(plasil)ที่ฉีดเข้าไป  และให้เจาะ  CBC  (ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด)    E’lyte  (เกลือแร่ในร่างกาย)  ซึ่งจะต้องรอผลเลือดก่อนค่ะ  ตอนนี้ฉันก็เริ่มร้อนรนกระวนกระวายใจเมื่อไหร่จะถึงซักที  ทำไมรถวิ่งช้าจัง  ก็ใจมันไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเตลิดไปไหนต่อไหนแล้ว

                ฉันโทรกลับหาแฟนให้ขอ  Refer (ขอส่งตัวรักษาต่อโรงพยาบาลศูนย์) เข้าตัวจังหวัด  ฉันจะรอที่โรงพยาบาลเพราะรถทัวร์จะจอดที่  บขส.  ในตัวเมือง  แต่แฟนบอกว่า  หมอบอกไม่ต้อง  refer  ไม่มีอะไร  เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ฉันใกล้ถึงโรงพยาบาลอำเภอที่บ้าน  ในใจยังคิดว่าหมอบอกแล้วไม่มีอะไรคงไม่เป็นอะไรหรอก  ขณะก้าวลงจากรถเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น  มีเสียงพูดว่า  “รีบๆมาดูโชกุนเร็วพยาบาลเต็มห้องแล้ว”  แค่นั้นแหละฉันรีบวิ่งไปที่ห้องผู้ป่วยทันที  ก้าวแรกที่ถึงประตูห้อง  สภาพที่ฉันเห็นคือโชกุนชักเกร็งเป็นช่วงๆ ไม่รู้สึกตัว  มีพยาบาล  2  คน  ยืนอยู่ข้างเตียง  ตายายและญาติๆ ยืนร้องไห้ ที่ปลายเตียงมีรถฉุกเฉิน (Emergency)  ฉันรีบปรี่เข้าไปดูลูก  ขอไฟฉายพยาบาลดูการขยายของม่านตาผลปกติดี    ฉันรีบตรวจดู  Signs  (ติดเชื้อในสมอง)   Stiff  Neck ผลเป็นบวก  (อาการคอแข็ง)  แค่นั้นแหละฉันปล่อยโฮร้องไห้ออกมากลั้นน้ำตาไม่อยู่  ฉันเคยแต่ประเมินอาการของคนไข้  และด้วยประสบการณ์ที่ทำงานในตึกเด็กมาทำให้ฉันพอจะรู้ว่าลูกของฉันเป็นอะไร  ฉันเหมือนคนไม่มีสติแล้ว  รู้แต่พยาบาลรีบวิ่งออกไปรายงานหมอทันที ฉันออกจากห้องกดโทรศัพท์หาหมอเด็กที่โรงพยาบาลท่าศาลาทันที  พูดไปร้องไห้ไป  หมอก็ให้กำลังใจฉัน  ฉันตั้งสติซักพักเข้ามาดูลูก  เช็ดตัวให้  เพราะรอติดต่อ  Refer  ระหว่างโรงพยาบาล

                ติดต่อ  Refer  ได้ประมาณทุ่มกว่าๆ เจ้าหน้าที่มาเข็นน้องขึ้นรถ Refer  มีพยาบาล  1  คน  ตายายและพ่อน้องขอไปกับรถ  Refer  ด้วย  พยาบาลก็อนุญาต  ญาติคนอื่นๆร่วม  10  กว่าคนยืนมองตามด้วยความเป็นห่วงเช่นกัน  ฉันนั่งกอดลูกน้ำตาไหลรินตลอดมองตากับยายและแฟนก็ไม่ต่างกัน ยิ่งตากับยายร้องไห้และเป็นลมหลายรอบ รถออกไปได้ประมาณ 2  กิโลเมตร  เสียงมือถือพยาบาลดังขึ้น  คุณหมอโทรตามให้กลับรถก่อน  เพื่อกลับไปใส่  Tube (ท่อชวยหายใจ)  ตอนนี้แหละที่ฉันดึงสติตัวเองกลับคืนมา  เออใช่ระยะทางเกือบ  110  กิโลเมตร  ต้องใส่  Tube  สิ  เกิดเป็นอะไรขึ้นมาระหว่างทางจะทำอย่างไร  พยาบาลก็มีอยู่เพียงคนเดียวด้วย

               

 

 

เสียงรถ  Refer  จอดหน้าห้อง  ER  (ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน)  ญาติๆ ของฉันที่กำลังจะเดินทางกลับบ้านเห็นโชกุนถูกเข็นเข้า  ER  ญาติๆรีบปรี่เข้ามาถามว่ากลับมาทำไม  เมื่อได้รับคำตอบเสียงตะโกนด่าหมอเป็นระยะ  หมอใส่ Tube  อยู่นานมาก  ผ่านไปเกือบจะชั่วโมงถึงใส่ได้ (อาจเป็นเพราะไม่มีความชำนาญ) และให้ Dilantin  loading  (ยากันชัก) ไป

                การ  Refer  คอนข้างจะทุลักทุเล  ระยะทางที่ไกล  ถนนที่ขรุขระ  บรรยากาศที่อึมครึม  ไม่มีคำพูดใดๆ  มีเพียงเสียงเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และน้ำตาที่ไหลริน

 

 

ณ  โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

                เวลาน่าจะล่วงไปประมาณ   4  ทุ่ม  โชกุนถูก  Admitted ที่ไอซียูเด็ก  แพทย์เวรและพยาบาลมาซักประวัติ  บอกรายละเอียดการเยี่ยม  ชื่อแพทย์เจ้าของไข้  ระเบียบปฏิบัติต่างๆ  โดยไม่ได้ให้ข้อมูลอาการแผนการรักษากับฉันเลย  ขณะนั่งรอเซ็นเอกสารนอนโรงพยาบาล  ฉันก็แอบเหลือบมอง  Order  (คำสั่งการรักษาของแพทย์)  มีให้เจาะเลือด  CBC  (ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด)  BUN,  CR  (การทำงานของไต)  E’lyte  (เกลือแร่ในร่างกาย)  H/C  (นำเลือดเพาะเชื้อ)  ตามด้วยการเจาะหลัง  และส่งน้ำไขสันหลังตรวจ  มีให้ฉีดยาฆ่าเชื้อต่อ  แค่เหลือบมองฉันก็เก็บรายละเอียดได้หมด  และอยากเป็นญาติที่ดีไม่อยากไปกดดันทีมดูแลได้แต่เงียบๆ ทำตัวนิ่งๆ และรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อน

                ในช่วงที่รอผลตรวจนั้นฉันก็รีบ Line หาหมอเด็กท่านหนึ่งทันทีเพื่อขอคำปรึกษา คุณหมอแนะนำให้ทำ CT brain  (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง)  ไปด้วย  เวลาผ่านไปประมาณ  2  ชั่วโมง  ฉันจึงสอบถามผลตรวจ  พยาบาลให้ฉันคุยกับหมอทางโทรศัพท์  ซึ่งคุณหมอก็อธิบายว่าผลตรวจฟันธงไม่ได้ว่ามีการติดเชื้อที่สมอง  เพราะตัวเม็ดเลือดขาวสูงเล็กน้อยยังก้ำกึ่งอยู่  ฉันจึงขอทำ  CT  brain  ได้รับคำตอบกลับมาว่าถึงจะทำตอนนี้การรักษาก็ไม่เปลี่ยนให้รอสต๊าฟตอนเช้า

 

 

 

CT  brain(เอกซเรย์คอมพิวเตอร์)

                เช้าวันที่  3  มิถุนายน  2556  ฉัน  แฟน  ตา  และยาย  ตั้งหน้าตั้งตารอหมอสต๊าฟซึ่งเป็นหมอเจ้าของไข้จนเวลาประมาณแปดโมงกว่าๆ หมอทั่วไปตรวจคนไข้เสร็จ  สต๊าฟมาตรวจตามและให้  CT  brain  ได้  แต่ฉันพึ่งนึกออกว่าโชกุนแพ้กุ้งจะฉีดสีไม่ได้  จึงรีบแจ้งคุณหมอ  “ถ้าฉีดสีไม่ได้ยังจะทำเหรอคะ”  หมอพูด  “ทำไปก็ไม่มีประโยชน์หรอกค่ะเพราะไม่เห็นอะไร”  พยาบาลเสริม  ฉันลังเลอยู่ครู่หนึ่ง  “ขอคิดดูก่อนนะคะ”   ฉันตอบไป  ผ่านไปประมาณ  10  นาที  ฉันกลับมาแจ้งคุณหมอว่า  “ยืนยันขอทำ  CT brain  ค่ะ  แต่ไม่ฉีดสี  เห็นเท่าไหร่ก็เท่านั้น  น่าจะพอประเมินได้คร่าวๆ”  คุณหมอรีบสวนกลับทันที  “ถ้างั้นต้องรอปรึกษาสต๊าฟก่อนนะคะว่าได้หรือเปล่า”  ฉันคิดในใจ แมร่งแค่ขอ  CT  brain  มันยุ่งยากมากเลยหรือไงเนี่ย  ขนาดฉันใช้สิทธิ์เบิกได้ข้าราชการนะเนี่ย

                สุดท้ายฉันได้คิว  CT  brain  ได้ทำประมาณบ่าย  3  โมง  โชกุนยังไม่รู้สึกตัว  ยังนอนแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว  แต่เอาท่อช่วยหายใจออกแล้วเนื่องจากท่อหลุด  และน้องก็ไม่ได้เหนื่อยมากขึ้น  ยังต้องให้ออกซิเจนอยู่  ใส่สายให้อาหารทางจมูกเพื่อให้ยา  มีสายน้ำเกลือ  เครื่อง  Monitor  ออกซิเจน  ความดันโลหิต ชีพจร  มีสายให้ยาหลายตัว  ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าเชื้อ  ยากันชัก

                ประมาณเกือบทุ่มได้ผล  CT  brain  หมอสต๊าฟแจ้งผลฉันว่ามีติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองและในเนื้อสมองด้วย  จะฟื้นมาเท่าไหร่หมอไม่รู้  ต้องดูอาการเป็นวันๆไป แต่ตอนนี้หมอให้ยาเต็มที่แล้ว  แล้วหมอก็เดินจากไป

                ทั้งแฟน  ตากับยายรีบเข้ามาถามฉันสรุปว่าเป็นอย่างไรบ้าง  ฉันยืนนิ่งน้ำตาคลอเบ้า  ทุกคนนิ่งเงียบร้องไห้ตามๆกัน  ฉันได้แต่รำพึงกับตัวเอง  สรุปแล้วลูกฉันเป็น  Meningoencephalitis  (ติดเชื่อที่เยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมอง)  เป็นไปได้อย่างไรกัน  ฉันฉีดวัคซีนครบ  และเป็นวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมด้วย

 

 

 

 

 

MRI  brain(การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า)

                ผ่านไปอีก  1  วัน  เช้าวันที่  4  มิถุนายน  2556  ฉันรู้สึกว่าความทุกข์มันช่างผ่านไปช้าเหลือเกิน   น้ำตาไม่เคยหมด  มันไหลได้ตลอดมาจากไหนไม่รู้  ทั้งที่แทบจะไม่ได้ทานอะไรเลยแม้แต่น้ำดื่ม

                พวกเรา  4  คน  เข้าไปเยี่ยมโชกุนตามปกติ  ทุกคนนัยน์ตาแดงก่ำ  น้องยังไม่รู้สึกตัว  แต่ขยับแขนขาได้บ้างเล็กน้อย  พยาบาลเข้าแจ้งว่าเดี๋ยวจะส่งทำ  MRI  brain  ฉันถามกลับว่าทำไมต้องทำคะ  “ก็คุณแม่อยากทำไม่ใช่เหรอคะ”  น้ำเสียงกระแทกแดกดันของพยาบาล  ฉันยังงงว่าทำไม  ฉันบอกตอนไหน  แต่ความคลางแคลงใจของฉันก็หมดลงเมื่อเจ้าหน้าที่เวรเปลที่พาโชกุนไปทำ  CT  brain  คุยกับฉันบอกว่า  น้องมีเลือดออกในสมองเท่าหัวไม้ขีด  ฉันปะติดปะต่อเรื่องราวได้นี้แหละคือสาเหตุที่ต้องทำ  ต้องมีอะไรเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง

                ประมาณ  5  โมงเย็น  เจ้าหน้าที่ห้อง  MRI  มารับโชกุน  ใช้เวลาทำประมาณ  40  นาที  น้องไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ ทั้งสิ้น  ทั้งที่ในห้อง  MRI  เสียงดังมาก

                ฉันรอผลด้วยใจจดจ่อ  นั่งไม่ติดร้อนรนกระวนกระวาย  ทุกคนมีอาการเช่นเดียวกันหมด  จนเวลาประมาณ  4  ทุ่ม  คุณหมอที่เป็นแพทย์เวรแจ้งผลว่า  “น้องมีเลือดออกในสมอง  มีเส้นเลือดสมองอุดตัน  เนื้อสมองตายบางส่วนจากสมองขาดเลือด  และมีติดเชื้อในเนื้อสมองด้วย  ซึ่งอาการแบบนี้ห้าสิบห้าสิบ  คุณแม่ทำใจด้วยนะครับ”

                เหมือนมีดกรีดลงกลางใจ  น้ำตาที่เคยไหลรินมันเหือดแห้ง  ฉันนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง  ก่อนอธิบายกับญาติหมอพูดว่าอย่างไร  ทุกคนปล่อยโฮเหมือนคนบ้า  ร้องไห้น้ำตาแทบเป็นสายเลือดเป็นแบบนี้เอง  ความรู้สึกที่เวลาฉันบอกญาติคนไข้ให้ทำใจมันแบบนี้เองเหรอ  ฉันไม่มีคำพูดใดๆ ได้แต่ยอมแพ้แก่โชคชะตา

 

 

 

 

 

ความหวัง

                เช้าวันที่  5  มิถุนายน   2556  วันที่ทุกคนไม่มีความหวังใดๆ  วันแห่งความมืดมน  ไม่มีแม้แสงไฟริบหรี่   พวกเรา  4  คน  นั่งกระจายร้องไห้กันคนละมุมหน้าห้องไอซียู  อยู่ๆไม่รู้อะไรดลใจ  ฉันต้องสู้ซิ  เพื่อลูก  จะมาปล่อยให้แล้วแต่โชคชะตาไม่ได้  ฉันต้องเข้มแข็ง  คิดได้แบบนั้น  ฉันรีบบอกแฟน  เพื่อนของแฟนมีพี่สาวเป็นพยาบาลที่นี่ไม่ใช่เหรอลองปรึกษาพี่เค้าดูซิ  เผื่อรู้จักหมอที่ไหนบ้าง

                ส่วนฉันโทรหาคนที่รู้จัก  risk   รายชื่อมาทุกคน   อยากย้ายลูกไปรักษาที่อื่น  เริ่มด้วยโรงพยาบาลที่ฉันทำงานอยู่ซึ่งยินดีที่จะนำรถ  Ambulance  (รถฉุกเฉินของโรงพยาบาล)  มารับพร้อมแพทย์และพยาบาล  1  คน  แต่ต้องสามารถติดต่อหาเตียงในกรุงเทพฯ ให้ได้ก่อน  ซึ่งจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพพอในการรักษา  ซึ่งฉันก็รู้ว่าการจะ  refer  คนไข้เป็นเรื่องยากมากยังเป็นปัญหาระบบสาธารณสุขไทย  จะรู้กันในวงการแพทย์  ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรามา  โรงพยาบาลศิริราช  โรงพยาบาลจุฬาฯ  โรงพยาบาลเด็ก  ฉันไม่รู้จักใครเลย  รู้จักแต่โรงพยาบาลตำรวจ  จึงรีบกดโทรศัพท์หาอาจารย์ซึ่งเป็นสูติแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจทันที  เพื่อหวังว่าอาจารย์จะรู้จักใครหรือมีเพื่อนๆ ที่โรงพยาบาลอื่นๆ  อาจารย์ก็รับปากว่าจะช่วย  จากนั้นฉันโทรหาหมอเด็กอีกท่านที่กรุงเทพฯ  คุณหมอได้บอกฉันว่าอาการของน้องตอนนี้ถ้าจะเข้ากรุงเทพฯ  การเคลื่อนย้ายจะเกิดอันตรายได้  น่าจะเข้าโรงพยาบาลใกล้ๆที่พอมีศักยภาพแถวๆนั้นน่าจะเป็นที่ศรีนครินทร์  ขอนแก่น  เพราะเป็นโรงเรียนแพทย์

                ฉันมืดแปดด้านจริงๆ ไม่รู้จักใครในศรีนครินทร์เลยแล้วจะ  Refer  ไปได้อย่างไรกัน  ฉันขอดูผล  MRI  เมื่ออ่านผลก็พอจะเดาได้ว่าอาการรุนแรงและแนวทางการรักษาจากที่ปรึกษากับเพื่อนและคุณหมอที่ฉันรู้จักทาง Line น้องควรได้ยาละลายลิ่มเลือด  ถ้าอยู่ที่นี่ต่อมีหวังลูกชายฉันต้องเป็นเจ้าชายนิทราจากสมองขาดเลือดแน่นอน  ยังไงฉันก็ไม่หมดความพยายาม ฉันโทรถามเพื่อนทุกคนว่าใครรู้จักหรือพอมีเพื่อนที่ศรีนครินทร์บ้าง  แต่เพื่อนๆของฉันส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคใต้แทบทั้งสิ้น

                อารมณ์ท้อผ่านเข้ามาอีกรอบ  คุณหมอโรคเลือดเข้ามาแนะนำตัว  เดี๋ยวจะให้เลือดน้องนะคะ เพื่อให้หยุดเลือดที่ออกในสมองก่อน  ให้  FFP  แล้วก็ให้ยาฆ่าเชื้อไปเรื่อยๆก่อนนะคะ  สิ้นคำพูดของหมอฉันรู้สึกมันไม่ตรงกับคำตอบในใจของฉัน   ไม่ได้นะฉันต้องย้ายโรงพยาบาลให้ได้

                ทันใดเหมือนมีแสงสว่าง  เหมือนฟ้ามาโปรด  พี่พยาบาลที่เป็นพี่สาวของเพื่อนแฟน  จะขอเรียกว่าพี่เอ (นามสมมุติ)  พี่เอได้เข้ามาพูดคุยลงความเห็นเหมือนกันว่าน่าจะได้ยาละลายลิ่มเลือด  แต่ที่นี่ไม่มีหมอสมองเด็ก  หมอสต๊าฟเจ้าของไข้คือหมอหัวใจเด็ก  “โอ้วแม่เจ้า  เอาหมอหัวใจมารักษาโรคหลอดเลือดสมอง  แถมยังไม่บอกฉันอีกว่าโรงพยาบาลไม่มีหมอสมองเด็ก  ลูกฉันอยู่ที่นี่ต่อคงมีแต่ตายกับตาย”  พี่เอได้แนะนำอาจารย์หมอท่านหนึ่งเป็นหมอระบบประสาทและสมองที่เก่งมากของภาคอีสาน  แต่พี่เอให้ข้อมูลว่าอาจารย์เป็นระดับผู้บริหารไม่รับ  case  แล้ว  ให้ลองไปคุยกับอาจารย์ดูก่อน  อาจารย์จะเปิดคลินิกตอนหกโมงเย็น  ตอนนี้เป็นเวลาบ่ายโมง  ฉันรีบขอประวัติการรักษา  ผลตรวจทุกอย่างจากโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีทันที  ตอนแรกพยาบาลทำท่าอิดออดไม่ยอมให้  บอกต้องรอแจ้งหมอเจ้าของไข้ก่อน  ฉันก็เข้าใจระบบและต้องให้เกียรติคุณหมอที่รักษาด้วย ผ่านไปครึ่งชั่วโมงฉันเข้าไปถาม “รับประวัติได้หรือยังคะ  พอดีต้องรีบไปให้คุณหมอที่โน่นดูค่ะ”  พยาบาลรีบตอบทันควัน  “ยังไม่ได้แจ้งคุณหมอเลยค่ะ  ยังไม่ว่าง”  ฉันทำสีหน้าไม่พอใจ  คุณพยาบาลคนเดิมรีบบอกใหม่ว่า  “เลือกเอาแล้วกันเอาไปถ่ายเอกสารเอาเองแล้วเอาแฟ้มมาคืนด้วยนะคะ”

                เมื่อได้เอกสารฉันกับแฟนรีบบึ่งรถไปขอนแก่นทันที  เราไปจอดรถหน้าคลินิกเป็นเวลาประมาณบ่ายสามโมงกว่าๆ เราจะพูดยังไงให้หมอรับ case  ถ้าหมอไม่รับ  case  ฉันจะไม่กลับบ้าน  ฉันจะก้มลงกราบเท้าขอร้องหมอเหมือนในหนังในละครว่างั้น  ฉันนั่งรอจนถึงเวลา  6  โมงเย็น เมื่อคลินิกเปิด  ใจฉันเต้นแทบไม่เป็นจังหวะกลัวต้องผิดหวัง  กลัวไปหมดทุกอย่าง  เมื่อถึงคิว ฉันกับแฟนเปิดประตูห้องเข้าพบคุณหมอ  มือเท้าฉันเย็นหมด  หัวใจแทบจะหยุดเต้น  หลังจากหมออ่านผล  MRI  แล้วพูดว่า  “มาก็มาซิ  ไม่มีปัญหา  มันก็ควรต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดนั่นแหละ”  หมอพูดจบเหมือนเสียงสวรรค์  ฉันมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งในทางที่มืดมนยังไงก็ยังมีแสงสว่างถึงแม้จะริบหรี่ก็ตาม  วันนี้เป็นวันแรกที่ฉันมีรอยยิ้มบนคราบน้ำตา

 

ความเชื่อ

คงปฎิเสธไม่ได้สังคมไทยอยู่คู่กับความเชื่อมานานยิ่งวิถีชาวบ้าน ความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ฉันเองก็เหมือนกันถึงจะเป็นคนยุคใหม่อยู่ในวงการแพทย์ แต่ฉันก็ยังมีความเชื่อในสิ่งที่เร้นลับอยู่บ้าง

ฉันทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น การบนบานศาลกล่าว ดูดวง สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ทำบุญ ตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลาฉันยอมรับเลยเมื่อก่อนส่วนใหญ่จะทำบุญด้วยการบริจาค ไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวาทำบุญกับพระสงฆ์ ฉันก็เพิ่งได้รู้ตอนนี้แหละว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่เกิดเป็นคนอุดรเป็นจังหวัดที่มีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสายวัดป่าหลายรูปมาก

ณ เวลานี้บอกได้เลยว่าใครให้ฉันทำอะไรฉันทำหมด ไม่ว่าจะตายแทนได้ฉันก็ยอม ฉันใช้เวลาส่วนหนึ่งในแต่ละวันตระเวณสะเดาะเคราะห์ทำบุญตามที่หมอดูบอก ถ้ามองในด้านการแพทย์แผนปัจจุบันคนยุคใหม่อย่างฉันก็บอกได้เลยว่าไร้สาระ ก็โรคนี้มันอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากผีสางนางไม้ที่ไหน  แพทย์พยาบาลส่วนใหญ่จะมองแบบนั้น แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันเราท่องกันจนติดปากว่าให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม กาย จิต สังคม จิตวิญญาณ แต่จริงๆแล้วเราดูแลได้ครบถ้วนจริงหรือไม่ มิติด้านจิตวิญญาณคงอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ อะไรที่ไม่ได้ขัดกับการแพทย์แล้วมันเป็นความหวังเป็นกำลังใจให้กับญาติเราก็ควรจะปล่อยไป

ความคิดมันโลดแล่นไปได้ตลอดเวลา คิดเรื่องโน้นกระโดดไปเรื่องนี้ นึกย้อนถึงตัวเองตั้งแต่ทำงานมาฉันกล้าพูดไม่อายปากตัวเองว่า ฉันมีความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย ใครเดือดร้อนช่วยได้ฉันก็ช่วย ส่วนแฟนก็อยากทำงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยคิดว่าถ้าตำรวจ ทหารทุกคนคิดแต่กลัวไม่อยากลงไปทำงานแล้วประชาชนจะอยู่อย่างไร เกิดมาชาติหนึ่งขอตายอย่างมีเกียรติดีกว่าตายอย่างหมาข้างถนน ถึงแม้จะเป็นวีรบุรุษเพียงชั่วข้ามคืนก็ตามที่ไม่กี่วันคนไทยก็ลืม ฉันจำได้มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฉันกำลังทำงานแฟนฉันโทรศัพท์มา “แม่พ่อโดนระเบิด”  ขณะนั้นญาติผู้ป่วยวิ่งมาตามฉัน “คุณพยาบาลคนไข้เป็นอะไรไม่รู้ค่ะ” แค่นั้นแหละฉันบอกแฟนว่า “แค่นี้ก่อนนะ”  นึกขำตัวเองถ้าตอนนั้นเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายฉันคงรู้สึกเสียใจทั้งชีวิต  ฉันย้อนถามตัวเอง “ แล้วเราจะทำดีไปเพื่ออะไรกัน ”

“ อย่าให้ความชั่วมาครอบงำจิตใจ นี่คงเป็นวิบากกรรมของเราจากนี้ไปเราต้องทำความดีให้มากกว่าเดิม เพื่อกรรมดีจะได้ส่งผลให้เราเจอแต่เรื่องดีๆ ” ทันใดความคิดมันก็แล่นเข้ามา ฉันกำลังสับสนความคิดมันถึงได้เรื่อยเปื่อยแบบนี้

ฉันต้องลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ต้องเข้มแข็งเพราะเมื่อหันมองคนรอบข้างทุกคนหมดอาลัยตายอยากทั้งนั้น ทุกคนฝากความหวังไว้ที่ฉัน ฉันจะอ่อนแอไม่ได้ ตั้งแต่เกิดมาฉันเจอปัญหามาตั้งมากมายยังผ่านไปได้ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งที่ทุกข์ทรมานที่สุดในตอนนี้ แต่ฉันก็เชื่อว่าสักวันมันต้องผ่านไป

 

ReFer รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น

วันที่ 6 มิย. 56 ตอนนี้โชกุนเริ่มลืมตาแต่ยังมองแบบไร้จุดหมายแขนขาเริ่มขยับ ยังคงมีอาการชัก แต่อย่างน้อยฉันก็ได้กำลังใจกลับมาเยอะ ฉันรอเวลาพยาบาลติดต่อประสานงานการส่งต่อ กว่าทางศรีนครินทร์ จะเคลียร์เตียงน่าจะเป็นช่วงบ่าย พวกเราเตรียมของพร้อมที่จะเดินทางแล้ว รอแล้วรออีกพยาบาลก็ไม่มาแจ้งสักทีว่าไปได้แล้ว จนบ่ายสองโมง “ ฉันจึงถามว่าจะได้ไปตอนไหนคะ ”พยาบาลบอกเดี๋ยวตามเรื่องให้ อ้าวผ่านไปครึ่งค่อนวันยังไม่มีตามเรื่องอีกหรอเนี่ย ฉันได้แต่คิดในใจ

ประมาณครึ่งชั่วโมง พยาบาลคนเดิมเข้ามาแจ้งว่า “ ติดต่อทางศรีนครินทร์แล้วนะคะ พอดีเกิดความผิดพลาดในการประสานงานพรุ่งนี้ค่อยไปนะคะ ” ฉันก็อยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นแล้วพรุ่งนี้เกิดเตียงไม่ว่างจะได้ไปไหม ฉันเริ่มกระวนกระวาย จึงตัดสินใจโทรหาหมอที่ รพ. ศรีนครินทร์ ได้คำตอบว่า “ ทางศรีนครินทร์ก็รออุดรติดต่อมา ทางอุดรก็รอศรีนครินทร์ต่างคนต่างรอ จนบ่ายสองหมอเลยโทรถามว่าคนไข้เป็นอะไรหรือเปล่าถึงยังมาไม่ถึง แต่ถ้ามาวันนี้เลยก็จะเลยเวลาราชการ เอาเป็นพรุ่งนี้ดีกว่าครับ ” สรุปแล้วฉันก็ต้องเสียเวลาไปอีก 1 วัน ด้วยเหตุผลผิดพลาดในการประสานงาน

 

วันที่ 7 มิย. 56 ฉันได้ไปถึง รพ.ศรีนครินทร์ โชกุนได้ admitted ที่หอผู้ป่วยเด็ก มีแพทย์เจ้าของไข้เป็นหมอ ระบบประสาทและสมอง (Neuro) และหมอ hemato ( ระบบเลือด ) คุณหมอ hemato  อธิบายแผนการรักษาอย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นการให้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งน้องมีจุดเลือดออกที่สมองด้วย ถ้าให้ไปอาจมีเลือดออกในสมองเพิ่มซึ่งหมอเตรียมห้องผ่าตัดไว้พร้อมแล้ว และจะต้องฉีดยาไปถึง 6 เดือน หลัง 6 เดือนลิ่มเลือดที่อุดตันยังไม่ละลายก็จะกลายเป็นพังผืดไปแล้ว คุณหมออธิบายโรคและการวางแผนการดูแลอย่างละเอียด ทำให้ฉันรู้สึกว่ามันต้องอย่างนี้สิ เพราะฉันต้องการข้อมูลที่ชัดเจน ญาติผู้ป่วยทุกคนก็คงคิดไม่ต่างจากฉันนักหรอก

ส่วนอาจารย์หมอ Neuro แจ้งว่า ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สมองครั้งนี้ ( Cerebral Sinovenouse thrombosis ) เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ และให้การรักษาไปพร้อมๆกันตอนนี้ต้องควบคุมการชักให้ได้ก่อน

เมื่ออยู่ในระบบโรงเรียนแพทย์ จะมีทั้งนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล แพทย์ฝึกหัด ไม่รู้ใครต่อใคร ให้น้องเป็นกรณีศึกษา ( Case Study ) ฉันก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลหากการเจ็บป่วยของน้องครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยคนอื่น และเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์

 

 

สงสัยเลือดออกในสมอง

โชกุนได้ยาละลายลิ่มเลือด ( heparin) ผ่านไปประมาณ  3 วัน ดูซึมลง ไม่ยอมลืมตา คุณหมอมาตรวจก็ไม่ยอมตอบสนอง ฉันนิ่งเงียบความคิดเตลิดไปไกล ถ้ามีเลือดออกเพิ่มต้องผ่าตัดสมอง น้องคงจะเจ็บมากแค่นี้น้องเจ็บไม่พอหรือไง โดนเจาะเลือดแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เวรกรรมอะไรนะ ฉันต้องหยุดความคิดลง อธิบายแผนการรักษาให้กับครอบครัวฉันฟัง และต้องเก็บความรู้สึกทุกอย่างไว้ไม่แสดงความกังวลความอ่อนแอออกมาให้ใครเห็น

ฉันตามน้องมา CT brain ผลตรวจยังคงเดิมเลือดออกเท่าเดิม และตรวจระดับยาในเลือดก็ยังปกติ ฉันดีใจมากอยากตะโกนออกมา “ไม่ต้องผ่าตัดแล้วโว้ย ”

 

 

หาสาเหตุโรค

การตรวจคนไข้ที่นี่จะมีนักศึกษาก่อน ตามด้วยแพทย์ฝึกหัดแพทย์ประจำหอผู้ป่วย สุดท้ายเป็นอาจารย์หมอ เวลาที่อาจารย์หมอสอนฉันก็จะจับประเด็นและหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตทันที รวมทั้งมีการพูดคุยกับเพื่อนพยาบาลด้วยกัน โชคดีที่ฉันมีเพื่อนพยาบาลทางด้านสมองอยู่คนหนึ่งที่คอยให้คำปรึกษาต้องยอมรับว่าฉันไม่มีความรู้ด้านนี้สักเท่าไหร่ ตอนนี้ฉันทำงานในห้องคลอดและหน่วยทารกแรกเกิด

พอสรุปคร่าวๆ ได้ว่าสาเหตุน่าจะมาจากในเรื่องของความผิดปกติของหัวใจ ( Cardiac disorder ) ความผิดปกติของเลือด(hematologic disorder) ความผิดปกติของหลอดเลือด(vascular disorder) สุดท้ายภาวะขาดน้ำ ( Dehydration )

เริ่มปฏิบัติการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วันแรกผลการตรวจผิดปกติ ตรวจซ้ำอีก       2 ครั้ง และปรึกษาหมอโรคหัวใจ สรุปว่าปกติตัดประเด็นนี้ไป

ภาวะขาดน้ำ จากที่น้องมีประวัติอาเจียน ทานไม่ได้ น่าจะมีส่วนทำให้เกิด ส่วนในเรื่องของการติดเชื้อที่สมองไม่น่าจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากมายขนาดนี้ เพราะของน้องเกิดลิ่มเลือดอุดตันระดับลึกหลายจุด ถือว่ามีความรุนแรงมาก

ต้องหาสาเหตุไปเรื่อยๆก่อน ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ ผลเลือดที่ตรวจออกครบ มีผล Protein S ( โปรตีน S ) ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด มันช่างสลับซับซ้อนอะไรเช่นนี้อย่างกับหนังฆาตกรรมซ่อนเงื่อน  ยังต้องสืบต่ออีกว่า โปรตีน S ต่ำ จากอะไร มีอยู่ 2 ประเด็น พันธุกรรมและโรคมะเร็ง ฉันจับคนในครอบครัวทุกคน ฉัน แฟน พร้อมด้วยโชกันต์ ลูกคนเล็กมาตรวจโปรตีน S ทั้งหมด

สรุปผลการตรวจ ฉันปกติ แฟนและโชกันต์ต่ำ แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ขวบ มีโอกาสต่ำได้ รอให้ครบ 4 ขวบค่อยเจาะซ้ำอีกรอบ ส่วนแฟนเจาะซ้ำครั้งที่ 2 เพื่อยืนยันผล ผลครั้งที่ 2 ยังต่ำเหมือนเดิม คุณหมอจึงสรุป สาเหตุการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สมองครั้งนี้เกิดจากการขาดโปรตีน S และการขาดโปรตีน S เป็นสาเหตุจากพันธุกรรม และการเกิดครั้งนี้ภาวะขาดน้ำน่าจะมีส่วนทำให้เกิด  อัตราการเกิดโรคนี้พบประมาณ 0.67 ต่อประชากร 100,000 รายต่อปี และมีโอกาสเกิดซ้ำ ได้ร้อยละ 17

 

คำว่าพันธุกรรม ก็คงหมายถึง กรรมของวงตระกูลของเผ่าพันธุ์นั้นๆ นี่ก็คงเป็นกรรมของตระกูลฉัน จากนี้ไปทุกคนในครอบครัว ยกเว้นตัวฉันมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ตลอดเวลา ถ้ามันต้องเกิดขึ้นอีกฉันก็ไม่รู้ว่าฉันยังจะรับมันไหวอยู่หรือเปล่า

 

บทบาทผู้ดูแล

ระหว่างที่ลูกอยู่ รพ. ฉันจะเป็นผู้ดูแลหลัก ฉันลางานไม่มีกำหนดผู้ป่วยที่นอนนานควรมีกายภาพมาแนะนำมาประเมินบ้าง แต่นี่ไม่มีเลย ฉันเริ่มออกกำลังกายให้ลูกเพื่อไม่ให้ข้อติด จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการฝึกเดิน มีการพลิกตะแคงตัวเพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับและภาวะปอดอักเสบจากการนอนนานๆ คำพูดของหมอยังก้องอยู่ในหู “ สมองส่วนควบคุมการนั่ง การเดิน กำลังของกล้ามเนื้อเสียหาย การที่จะกลับมานั่งได้ เดินได้จะมาทีหลังต้องใช้เวลา สมองส่วนควบคุม การมองเห็น การสื่อสาร การกลืน ความคิด ความจำ ก็เสียหายเช่นกัน ” สรุปแล้วลูกฉันสมองเสียหายทุกส่วน  ฉันก็รับไม่ได้ที่ลูกฉันต้องกลายเป็นเด็กสมองพิการ ความเครียดเพิ่มขึ้นทุกวัน ดูเหมือนความหวังจะลดน้อยลง เวลานี้กำลังใจสำคัญที่สุด เราต้องสู้ ฉันให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆ   

2 สัปดาห์ ผ่านไป โชกุนรู้สึกตัว ลืมตามองหน้าสบตาแม่ ขยับแขน ขา ได้ มีแขน ขา อ่อนแรงซีกขวา ยังมีชักเป็นช่วงๆ พูดไม่ได้ กลืนอาหารไม่ได้ต้องให้อาหารทางสายยาง ฉันเริ่มฝึกลูกนั่งโดยตอนแรกไขหัวเตียงให้สูงก่อนจาก 30 องศา เพิ่มเป็น 45 และปรับเป็น 90 องศา  ฉันจะโทรปรึกษาขอคำแนะนำจากพี่นักกายภาพบำบัด รพ. ท่าศาลาที่เคยทำงานอยู่ และตามด้วยฝึกนั่งห้อยขาข้างเตียง นั่งขัดสมาธิ นั่งเหยียดขา ฝึกใช้มือยันเลื่อนตัวเอง ประมาณ 1 สัปดาห์ น้องสามารถนั่งได้เอง ต่อไปฉันฝึกให้น้องยืน ตอนแรกช่วยจับก่อนแล้วเริ่มปล่อยให้เค้าจับราวข้างเตียงยืนเอง ฝึกให้ก้าวขาเดิน ฝึกเดินขึ้นลงบันได  น้องเริ่มเดินได้ แต่เราต้องจับเดินก่อน หลังจากนั้นไม่นานนักกายภาพบำบัดมาแนะนำการฝึกกำลังกล้ามเนื้อมาประเมินข้อติด ฉันได้แต่คิดในใจ “ ลูกของฉันเริ่มเดินได้แล้วเพิ่งมาประเมินว่ามีข้อติดหรือไม่ การทำงานรวดเร็วเกินไปหรือเปล่านะ”

โชกุนเริ่มมีอาการไอมีเสมหะ หมอสงสัยมีภาวะปอดแฟบ ( lung atelactasis ) ซึ่งไปเอ็กซเรย์ปอด ( CXR ) มีปอดแฟบจริงๆ ฉันก็เริ่มปฎิบัติการเคาะปอดทันที และก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าฉันไม่ใช่พยาบาล ลูกของฉันจะเป็นอย่างไร ข้อจะติดเสียก่อนมั้ย เดินไม่ได้หรือเปล่า ปอดแฟบจะทำยังไง จะหายหรือเปล่า จะมีภาวะแทรกซ้อนอะไรตามมาอีก  นี่เหรอคือระบบการบริการที่ได้มาตรฐานแล้ว ถือว่าโชคดีที่ฉันเป็นพยาบาลยังพอมีความรู้บ้าง แล้วคนอื่นล่ะจะต้องแล้วแต่เวรแต่กรรมอย่างนั้นหรือ

 

เตรียมกลับบ้าน

โชกุนใกล้จะได้กลับบ้านแล้ว อาการปอดแฟบดีขึ้นยากันชักเปลี่ยนเป็นยากิน ยาละลายลิ่มเลือดฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังทุก 12 ชั่วโมง และต้องฉีดต่อจนถึง 6 เดือน แต่น้องยังกินทางปากไม่ได้ต้องให้ทางสายให้อาหาร ช่วงที่รอสังเกตุอาการชักหลังเปลี่ยนเป็นยากิน ฉันก็ฝึกการกลืนของน้องไปด้วย โดยลองให้น้องกินไอศกรีม น้องเริ่มกลืนฉันดีใจมาก วันที่ 2 เริ่มเป็นน้ำข้าวต้ม ถัดมาเริ่มเป็นโจ๊ก ปรากฎว่าน้องกลืนโจ๊กได้หลายช้อน

หลังจากอยู่ รพ. ศรีนครินทร์ครบ 1 เดือนเต็ม โชกุนกลับบ้านได้ อาการก่อนกลับบ้านที่ใครๆก็ไม่อยากเชื่อ เมื่อเทียบกับพยาธิสภาพ ของโรคแล้วน้องนั่งได้ เดินได้แต่เรายังต้องช่วยจับมือก่อน กลืนเป็นโจ๊กได้ ยังพูดไม่ได้ มันก็เหมือนปาฎิหาริย์ที่เค้ากลับมาได้ขนาดนี้ในเวลา 1 เดือน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การดูแลที่บ้าน

กลับมาอยู่บ้านฉันก็ต้องเหนื่อยขึ้นหลายเท่า แฟนก็กลับไปทำงานที่ยะลา ต้องดูแลเจ้าตัวเล็กด้วยจะมียายคอยช่วยอีกคน

                ฉันเริ่มหากิจกรรมเพื่อฝึกน้อง เริ่มจากการเดินพื้นเรียบโดยจูงมือเดินก่อน จากนั้นลองปล่อยมือให้เดินเอง ตามด้วยพื้นขรุขระ พื้นต่างระดับ เดินในสนามหญ้า เดินข้ามและหลบสิ่งกีดขวางฉันก็ใช้ของภายในบ้านนั่นแหละวางระเกะระกะให้น้องเดินหลบเดินข้าม  เมื่อน้องเดินได้ดี  ฝึกให้เดินเร็ว วิ่งเล่น ทำซ้ำๆบ่อยๆ ทุกอย่างที่ทำต้องใช้เวลาและความอดทนมากเพราะข้อเสียของเด็กไม่ทำตามเราอยู่แล้วและยิ่งมีความผิดปกติของสมองยิ่งยากมากขึ้น  เราจะต้องใช้เป็นการเล่นแทนเค้าถึงจะทำตาม ฉันก็ต้องย้อนให้ตัวเองกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเป็นเพื่อนเล่นกับเค้า วิ่งก็ต้องวิ่งด้วยกัน

ในส่วนของกล้ามเนื้อ จะฝึกให้น้องหยิบจับสิ่งของ จับบอลใส่ตะกร้า โยนลูกบอล การต่อตัวต่อ วาดรูประบายสี ปั้นดินน้ำมัน

นอกจากนี้ยังต้องฝึกด้านความคิด ความจำ อารมณ์ สังคม ไปด้วย อ่านหนังสือเล่านิทาน ร้องเพลงให้น้องฟัง ให้ดูการ์ตูน ดูสารคดี รายการเพลง พาน้องไปในสถานที่ชุมชน ไปในที่ที่เคยไป ในช่วงแรกๆ น้องจะกลัวทุกอย่าง กลัวคน มด แมลง จะกรี๊ด กรีดร้อง ร้องไห้คนก็หันมามอง ฉันก็ไม่เคยอาย ไม่ท้อแต่มุ่งมั่นจะต้องให้น้องหายกลัวให้ได้

ในเรื่องการกลืนอาหาร นักกิจกรรมบำบัดบอกวิธีการนวดปาก เพื่อฝึกกล้ามเนื้อปากให้แข็งแรง โดยให้นวดทั้งในช่องปากและข้างนอก น้องไม่ยอมอ้าปากให้จะกัดฟันไว้ตลอด ฉันนวดได้แต่ข้างนอกโดยเล่นผลัดกันนวดปาก ให้เค้านวดให้เราก่อน

ก่อนน้องออกจากโรงพยาบาลกลืนเป็นโจ๊กได้บ้างแล้ว ฉันก็เริ่มเปลี่ยนเป็นข้าวต้ม ให้กินไอศกรีมแท่งด้วยหวังให้เค้าฝึกแลบลิ้นในการเลียไอศกรีม เอาอมยิ้มมาให้ฝึกดูด เมื่อรู้สึกว่ากลืนข้าวต้มได้ดีเริ่มเปลี่ยนเป็นข้าวสวย ให้ลองเคี้ยวขนมขบเคี้ยว ฝึกดูดนมและน้ำจากหลอด

ในแต่ละวันฉันแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนเลย แต่ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ความรักที่มีต่อลูก ถ้าการเหนื่อยของฉันในวันนี้มันทำให้ลูกของฉันดีขึ้น มันก็คุ้มค่า ฉันอยากให้กำลังใจคุณแม่ทุกคนที่กำลังท้อแท้ประสบชะตากรรมอย่างฉันอย่ายอมแพ้ กำลังใจความหวังสำคัญที่สุด

เวลาผ่านไปอีก 1 เดือนหลังจากที่ฉันสรรหากิจกรรมทุกอย่างมากระตุ้นฝึกฝนร่วมกับการให้ยาตามแผนการรักษา น้องโชกุนเดินได้เอง วิ่งได้  เคี้ยวกลืนข้าวสวยได้ ยังเหลือการกลืนน้ำยังกลืนไม่ได้ ยังต้องให้น้ำทางสายยาง รับรู้และพอเข้าใจที่เราพูด ส่งเสียงอืออา เข้าสังคมเล่นกับเพื่อนๆได้ ฉันก็พอใจอาการของลูกในระดับหนึ่ง

ฉันต้องพาลูกไปติดตามการรักษาเป็นระยะ วันที่ 13 ส.ค. 56  เป็นอีกวันที่ฉันต้องไปพบคุณหมอ ซึ่งก็เป็นเวลา 2 เดือนกว่าๆ แล้วตั้งแต่เริ่มป่วยวันนี้คุณหมอได้แจ้งฉันว่าไปศึกษาโรคมาเพิ่มเติม น้องเค้าเป็นรุนแรงมากเป็นในเส้นเลือดส่วนลึกและเป็นในตำแหน่งที่ไม่ค่อยเป็นกัน การให้ฉีดยาละลายลิ่มเลือดแค่ 6 เดือนอาจจะไม่เพียงพอ แผนการรักษาจะเป็นอย่างไรต่อหมอจะลองปรึกษากับเพื่อนๆในโครงการวิจัย ถ้าไม่ได้คำตอบจะปรึกษากับอาจารย์ที่แคนาดา แล้วค่อยมาร่วมตัดสินใจกับคุณแม่อีกครั้ง และน้องมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากมีปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะขาดน้ำ มันเปรียบเหมือนพายุลูกที่ 2 เข้ามา มันเป็นความรู้สึกที่ทำฉันรู้สึกหมดกำลังใจ ถ้าเป็นซ้ำอีก งานนี้เลี้ยงไม่โตแน่นอน คำถามแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวสมอง “ แล้วฉันจะทำอย่างไงต่อ ”

            

 

 

 

 

ทบทวนเหตุการณ์

ฉันรู้สึกเครียดมาก วิตกกังวล กลัวไปซะทุกอย่าง ฉันขอเวลาอยู่กับตัวเองสักพัก ฉันมานั่งที่ริมสระน้ำสวนสาธารณะ นั่งเงียบๆคนเดียว แม้แต่น้ำมันไหลผ่านไปมันยังไม่ไหลย้อนกลับ แต่ทำไมปัญหาของฉันมันเหมือนจะผ่านไปแต่ทำไมมันยังวงเวียนกลับมาอยู่ได้ เวรกรรมอะไรนักหนา เอาน่ายังมีคนที่เจอเหตุการณ์แบบฉันหรือเจอวิกฤติที่มากกว่าฉันอีก ฉันให้กำลังใจตัวเอง แต่ก็อดที่จะคิดไม่ได้ถึง สิ่งที่มันยังค้างคาใจอยู่และมันก็คงไม่มีประโยชน์อะไรที่ฉันจะเก็บมันไว้ให้ตายไปพร้อมกับฉัน ฉันจึงอยากฝากให้คนอื่นได้รับรู้ ฉันอยากให้การเจ็บป่วยครั้งนี้ของน้องได้สร้างประโยชน์ให้สังคมไม่มากก็น้อย สิ่งที่อยากฝากให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หยุดคิดสักนิด

1.คนที่ขาดโปรตีน s ไม่ได้ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันทุกราย หากการเกิดครั้งนี้มีภาวะขาดน้ำเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด มันสะท้อนให้เห็นว่าการให้น้ำเกลือที่เพียงพอเหมาะสม ไม่ถอดน้ำเกลือออกในขณะที่เด็กยังเพลีย รับประทานไม่ได้ และยังมีอาเจียนอยู่เป็นสิ่งสำคัญมาก จุดเล็กๆเพียงเท่านี้ที่มันพลิกผันชีวิตของเด็กคนหนึ่งสร้างความทุกข์ให้กับครอบครัวหนึ่งทั้งชีวิต

 2.การตระหนักถึงความปลอดภัยในการส่งต่อผู้ป่วย อย่าลืมว่ามีกฎหมายมาตรฐานการ Refer ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2545 )ก่อนจะส่งต่อต้องมีวิธีการที่เหมาะสมปลอดภัย  ไม่ควรมาคิดได้ตอนออกรถไปแล้ว มิเช่นนั้นคุณจะถูกฟ้องร้องได้

3.หากพยาบาลมีความใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยและมีองค์ความรู้ให้เหมาะกับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ คงจะไม่มีคำว่า หนาวพัดลม หลุดออกมาแน่นอน

4.เมื่อ รพ.ศูนย์มีผลตรวจที่บ่งบอกภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งพบตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการ และไม่มีศักยภาพพอในการดูแลผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบุคลากรก็ตาม ควรพิจารณาประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลักไม่ควรดันทุรังรักษาต่อเพราะมันจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและญาติอย่างมหาศาล รวมทั้งควรให้ข้อมูลแก่ญาติไม่ปิดบังอำพรางข้อมูล เพื่อให้ญาติรับทราบและมีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจในการดูแล ควรพิจารณาถึงสิทธิผู้ป่วยด้วย

5.ความเหมาะสมในการจัดสรรแพทย์ไปยัง รพ.ชุมชน ไม่ควรให้แพทย์จบใหม่หรือที่ไม่มีประสบการณ์ไปอยู่ด้วยกัน โดยขาดแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการดูแล

6.กระบวนการประเมินคุณภาพ HA  สรพ.คงต้องกลับมาทบทวนหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ เพื่อให้สามารถการันตีได้ว่า รพ.นั้นๆมีคุณภาพจริงไม่ใช่เพียงแค่ผักชีโรยหน้า

7.ควรให้ความตระหนักในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมจริงๆหากมองจุดนี้จะพบว่าปัญหาการฟ้องร้องแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

8.คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่กระบวนการเรียนการสอน ทำไมคุณภาพบุคลากรทางการแพทย์ถึงลดลงเรื่อย ๆไม่ว่าจะเป็นด้านองค์ความรู้และจรรยาบรรณวิชาชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสภาการพยาบาลหรือแพทยสภา คงต้องประเมินหาสาเหตุและแก้ไข

9.สุดท้ายฝากถึงคุณพยาบาลทั้งหลายอย่าใช้ข้ออ้างที่ว่าภาระงานมากมาทำให้ความใส่ใจคนไข้ลดลงและไม่พัฒนาตนเอง เพราะดิฉันก็เคยอยู่รพ.รัฐบาลที่มีภาระงานมากเช่นกันมา 7 ปีกว่า ๆ ขอแค่คุณใช้ใจในการดูแลผู้ป่วยคุณจะมีคำตอบให้กับตัวคุณเองว่าจะต้องบริหารจัดการตัวเองอย่างไร และคุณจะเข้าใจคำว่าทำงานภายใต้วิจารณญาณวิชาชีพไม่ใช่ตามคำสั่งแพทย์เป็นเช่นไร

คิดไปคิดมาฉันรู้สึกว่าถ้าฉันไม่ใช่พยาบาลไม่ได้มีความรู้อะไรเลย  รพ.สุดท้ายที่ฉันจะรักษาก็คงเป็น รพ.ศูนย์อุดรลูกฉันคงเป็นเด็กพิการสมบูรณ์ 100% จากที่ฉันเคยสัมผัสระบบโรงพยาบาลใน 3 ภาคโดยที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลการศึกษาหรือผลสำรวจที่ไหนฉันสรุปให้ว่าคุณภาพการบริการในภาคอีสานต่ำสุด ถึงเวลาหรือยังที่บุคลากรทางการแพทย์ในภาคอีสานจะลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองใหม่

 ฉันไม่อยากให้คนอื่นต้องพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ ฉันจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ รพ.ทั้งหลายได้พัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยจริงๆ แต่จากความพยายามของฉันที่จะสะท้อนกลับความด้อยศักยภาพนั้นดูเหมือนจะไม่เป็นผลไม่มีใครสนใจเสียงเสียงนี้ ฉันคงต้องยอมรับว่ามันแค่หนึ่งเสียงที่มันไม่มีพลังอำนาจใด แต่ฉันเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้ามีหลายๆเสียงเสียงเล็กๆนี้ก็จะมีพลังที่ยิ่งใหญ่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทสรุป

ฉันใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นเวลา 2 วัน มันอาจจะเป็นเพียงเวลาสั้นๆแต่ความอัดอั้นตันใจของฉันมันคงยาวนานตลอดชีวิต ภาษาอาจจะไม่สวยหรูแต่เขียนออกมาจากใจ ด้วยที่ฉันไม่มีพลังอำนาจพอที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุขได้ฉันก็ได้แต่หวังว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ จะช่วยฉันถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนการบริการเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงการบริการที่ต่ำศักยภาพ อย่างน้อยทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าใจญาติผู้ป่วยมากขึ้นจะได้พัฒนาการดูแลให้ครบองค์รวมจริงๆและเป็นกำลังใจให้กับญาติผู้ป่วยทุกคน

ส่วนบทสรุปของน้องโชกุนจะเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป

โสภา สายวรรณ

E-Mail  Chokunnoy@hotmail.co.th

Facebook โสภา สายวรรณ

 

 

 

 

 

 

 

โรคทาลาสซีเมียในคนท้อง

โรคทาลาสซีเมียในคนท้อง

ข้าพเจ้าเพิ่งได้อ่านจบหนังสือเรื่องสั้น ชื่อ “เสียงสะท้อนของแม่” ซึ่งเขียนขึ้นโดยพยาบาลวิชาชีพคนหนึ่ง เธอขียนขึ้นก็เพื่อสะท้อนความรู้สึกปวดร้าว เศร้าใจจากการที่ลูกของเธอไม่สบาย ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และได้รับการดูแล จากสถานพยาบาลต่างๆ อย่างไร้มนุษยธรรม.. ภาษาที่เธอเขียน แม้ไม่ได้บรรจงเรียบเรียง แต่ก็สละสลวย งดงามพร้อมด้วยอักขระพิถีพิถัน อาจเป็นเพราะงานเขียนชิ้นนี้ ผุดขึ้นและหลั่งไหลออกมาจากจิตใจของเธอ (ลองหาอ่านดูได้ใน www.drseri.com) ข้าพเจ้าเริ่มอ่าน ก็ต้องอ่านจนจบ เหมือนต้องมนต์สะกด อ่านไป ก็เกิดความรู้สึกคล้อยตาม ดื่มด่ำลงไปในส่วนลึกว่า ความทุกข์ของมารดาที่มีต่อลูกยามเจ็บป่วยร้ายแรงนั้น มีมากมายขนาดไหน ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความรักที่มีต่อลูกของมารดาทุกคน มีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรใดๆในโลกนี้..

อนึ่ง ข้าพเจ้าสังเกตว่า สิ่งเล็กๆน้อยๆของความรู้รอบตัวเรา บางครั้งมันก็สำคัญ จนสามารถช่วยเหลือให้เราปลอดภัย หรือทำลายชีวิตของเราได้เลยทีเดียว.. ซึ่ง..บางทีเราอาจต้องแลกบทเรียนบทหนึ่ง ด้วยชีวิตน้อยๆของมนุษย์คนหนึ่ง….ยกตัวอย่าง ควันธูปในกุฏพระ ที่คลุ้งตลบอบอวนอยู่ตลอดเวลา สามารถทำให้พระภิกษุ(ดัง)รูปหนึ่งเสียชีวิต เนื่องจาก ทุกๆวัน พระรูปนั้นจะสูบเอาควันธูปเข้าไปเต็มปอด.. นานวันเข้า..นับเป็นเวลาหลายปี ในที่สุด ควันธูปนั้นก็ส่งผลให้พระท่านป่วยเป็นมะเร็งปอดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา…ส่วน..กรณีของทารกน้อยในครรภ์ที่คุณแม่เป็นทาลาสซีเมียชนิดรุนแรง ก็เช่นกัน อาจมีผลทำให้ตัวทารก ตลอดจนครอบครัว ต้องทุกข์ทรมานไปเป็นเวลานานแสนนาน ซึ่ง…ในที่สุด เด็กทาลาสซีเมียคนนั้น ก็เสียชีวิต ในวัยเยาว์

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวหนึ่งน่าสนใจมาก และให้ข้อคิดสะกิดใจแก่ข้าพเจ้า.. วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นประธานยุติการตั้งครรภ์ (แทนคนเดิมที่ติดธุระด่วน) ชั่วคราว ให้กับคุณรัชนีวรรณ เนื่องจากมีการตรวจพบว่า ทารกในครรภ์ของเธอ เป็นโรคทาลาสซีเมีย ชนิดเลือดจางรุนแรง ซึ่งมีชื่อว่า Beta thal E major  

แม้คุณรัชนีวรรณจมีะอายุเพียง 23 ปี แต่..เธอก็ตั้งครรภ์ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2  แล้ว.. ลูกคนแรกของเธออายุ 2 ขวบปี แข็งแรงดี เพศชาย จากประวัติการตรวจร่างกายของคนไข้ คุณรัชนีวรรณ ได้รับการตรวจเลือด ผลเป็น  Hb E trait with or without alpha thal…ส่วนสามีของเธอ ได้รับการตรวจเลือด พบว่าเป็น Beta Thal trait  with or without alpha thal …เพียงแค่นี้ ก็คงไม่มีใครเดาออกว่า เธอจะโชคร้ายแค่ไหน.. แต่..ก็เข้าข่ายมีภาวะเสี่ยงต่อโรคโลหิตจางรุนแรง….ข้าพเจ้ายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานเลยว่า มีความรู้เกี่ยวกับโรคทาลาสซีเมีย เพียงระดับพื้นฐานเท่านั้น ความรู้ที่ลึกซึ้ง คงต้องสอบถามจากท่านผู้รู้ต่อไป

เท่าที่ทราบ คือ เด็กที่เป็น homozygous β-thalassemia major [β-thalassemia/Hb E:- β0/βE]) จะเริ่มมี อาการซีดตั้งแต่ อายุ 2 ขวบ นอกจากนั้น ยังพบอาการอื่นๆอีก อาทิ ตับ ม้ามโต รูปโครงสร้างใบหน้าเปลี่ยน (thalas-semic faces) การเจริญเติบโตของร่างกายไม่สมอายุ หากเด็กคนนั้นไม่ได้รับเลือดอย่างเพียงพอ เขาจะมีอาการซีดมาก  และเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคในกลุ่มเบต้าธาลัสซีเมีย ชนิดนี้ คนไข้มักมีอาการซีดอย่างรุนแรง โดยอาการซีดจะปรากฏตั้งแต่อายุเพียง 6 เดือน เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับเลือด (transfusion dependent) ทดแทนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง..ส่วนใหญ่…เด็กที่ได้รับการดูแลแบบไม่ดีนัก  มักจะเสียชีวิต ภายในอายุไม่ถึง 20 ปี

ดังนั้น ในวันที่เรียกคุณรัชนีวรรณ มาแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการยุติการตั้งครรภ์  พอคุณรัชนีวรรณทราบถึงความรุนแรงของโรคดังกล่าว เธอจึงขอให้ทางโรงพยาบาลช่วยทำแท้งบุตร เพื่อเห็นแก่เธอและครอบครัว

ข้าพเจ้าลองทบทวนประวัติของคนไข้ ก็พบว่า ..ท้องแรก คุณรัชนีวรรณคลอดเอง ราว 2 ปีก่อน ได้ลูกชาย แข็งแรงดี มีน้ำหนักแรกคลอด 2990 กรัม สำหรับครรภ์นี้ คุณรัชนีวรรณเริ่มฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง 7 สัปดาห์ และเข้ารับการตรวจตามนัดทุกครั้ง เมื่อเธอตั้งครรภ์ ได้ 8 สัปดาห์ เธอก็ได้เข้ารับการอบรมความรู้เรื่องทาลาสซีเมีย เนื่องจาก เธอมีความเสี่ยง ที่จะได้ลูกที่เป็นโรคเลือดชนิดรุนแรง.. พออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ คุณรัชนีวรรณก็ถูกส่งตัวไปพบกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแม่&เด็ก (MFM  = maternal fetal medicine)  และได้รับการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์

การฝากครรภ์ของเธอ เป็นไปด้วยดี จวบจนอายุครรภ์ได้ 18 สัปดาห์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องอัลตราซาวนด์ (MFM = maternal fetal medicine) ได้ขอเจาะน้ำคร่ำ เพื่อส่งตรวจ DNA ที่โรงพยาบาลศิริราช.. หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ผลก็ปรากฏออกมาว่า ทารกเป็นโรคทาลาสซีเมีย ชนิดรุนแรง (β-thalassemia/Hb E ..β0/βE) ตอนนั้น คุณรัชนีวรรณตั้งครรภ์ ได้ 20 สัปดาห์ หรือครึ่งทางของระยะการตั้งครรภ์ พอดี

การประชุมว่าด้วยการทำแท้งของคณะกรรมการฯ เป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่คุณรัชนีวรรณตั้งครรภ์ได้ 21 สัปดาห์.. เนื่องจาก ปัจจุบัน โรคทาลาสซีเมีย β-thalassemia/Hb E ..β0/βE ชนิดนี้ สามารถรักษาได้แล้ว ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก…แต่ แน่นอน..คงต้องเสียเงินเสียทองจำนวนมากมาย  การประชุมครั้งแรก จึงยังไม่มีข้อยุติ..คณะกรรมการฯของโรงพยาบาลขอให้คุณรัชนีวรรณกลับบ้านไปปรึกษากับญาติพี่น้องอีกครั้งและหาข้อสรุปให้ได้

ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ ข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยบังเอิญ ซึ่ง…คุณรัชนีวรรณยังคงยืนยันที่จะขอให้ทางโรงพยาบาลตำรวจทำแท้งเพื่อการรักษา คุณหมอเด็กถามคนไข้ในที่ประชุมว่า ‘ถ้าเด็กรอดชีวิต คุณจะยินยอมเลี้ยงดูลูกคุณหรือไม่..’ คนไข้พยักหน้ายอมรับ…ส่วนคุณหมอเจ้าของไข้ กลับพูดอย่างแข็งขันว่า ‘ถ้าอายุครรภ์ของคนไข้ มากกว่า 24 สัปดาห์  ผมจะไม่ทำแท้งให้ เพราะเด็กตัวโตแล้ว.. ถ้าจะให้ผมทำแท้ง.. ก็ต้องรีบทำ ภายในสัปดาห์นี้’

คุณรัชนีวรรณได้เข้ามานอนห้องพิเศษของโรงพยาบาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมกับญาติผู้หญิงคนหนึ่งและลูกชาย…. คุณหมอเจ้าของไข้ ได้สั่งการให้พยาบาลใช้ยาเหน็บ ชื่อ Cytotec สอดใส่ในช่องคลอด ครั้งละ 2 เม็ด ณ เวลา 23 นาฬิกาของวันนั้น..และ 4 , 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น (วันจันทร์)

เช้าวันจันทร์ ขณะที่พวกเราสูติแพทย์กำลังประชุมวิชาการกัน แพทย์ประจำบ้านคนหนึ่ง ก็วิ่งกระหืดกระหอบขึ้นมา พูดว่า “ตายแล้ว!!  ผลรายงานจากโรงพยาบาลศิริราช บอกว่า ลูกคุณรัชนีวรรณ ไม่ได้เป็น โรคทาลาสซีเมียชนิดรุนแรง (Unaffected) แต่..เราได้เหน็บยาไปแล้ว ตั้งแต่เมือคืน” ข้าพเจ้าฟังแล้ว แทบจะช็อค เพราะความผิดพลาดดังกล่าวอาจนำพาให้พวกเราติดคุก..อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง รีบรุดออกจากห้องประชุม และลงไปยังหอผู้ป่วยพิเศษ คุณหมอได้ตรวจภายในให้กับคนไข้ ปรากฏว่า ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ซึ่งหมายถึงว่า เราไม่สามารถยับยั้งกระบวนการแท้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แล้ว  ข้าพเจ้าได้แต่ครุ่นคิดอย่างหนักและภาวนาให้เราสามารถแก้ปัญหาครั้งนี้ลุล่วงไปได้ในที่สุด.. แต่..จะมีปาฏิหาริย์หรือ??

ตอนเที่ยง คนไข้แท้งบุตรออกมา เป็นทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 620 กรัม ลูกคุณรัชนีวรรณ หายใจได้ 3 เฮือก ก็สิ้นลม..จากโลกนี้ไป ถัดจากนั้น ครึ่งชั่วโมงรกก็คลอด.. สรุปว่า คนไข้ปลอดภัย ขณะนั้น ข้าพเจ้ากำลังทานอาหารกลางวันอยู่ที่แผนกธุรการ สูตินรีเวชกรรม.. คุณหมอ คนที่วิ่งลงไปดูคนไข้ตอนเช้า ได้เข้ามารายงานกับข้าพเจ้าว่า “จริงๆแล้ว!!! ก็ไม่ได้ผิดพลาดอะไรหรอกครับ พอดีแพทย์ประจำบ้าน ดันไปรื้อค้นประวัติเก่า และเอาใบรายงานฉบับเดิมของลูกคนแรกของคุณรัชนีวรรณ ซึ่งได้รับการวินิจฉัยเป็น Unaffected แต่..ในครรภ์นี้ ใบรายงานผล DNA ของน้ำคร่ำ ยังมาไม่ถึง.. แต่..เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศิริราชได้กรุณาโทรศัพท์มาบอกล่วงหน้าว่า ทารกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเลือดร้ายแรงดังกล่าว เพื่อให้ทางเราดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง (ทำแท้งเพื่อการรักษา) ในที่สุด..ใบรายงานก็ถูกส่งตามมา ยืนยันตามที่โทรศัพท์มาบอก.. ”  คุณหมอทุกท่านที่ได้ยิน ต่างพากันถอนหายใจแบบโล่งอก เสมือนยกของหนักที่กดทับ ทิ้งไป สรุปคือ พวกเราได้ทำแท้งให้กับคุณรัชนีวรรณ ถูกต้องตามผลการตรวจ DNA แล้ว

ก่อนหน้านี้ ราว 2 เดือน ก็เกิดเรื่องราวในทำนองเดียวกัน.. คุณแม่คนหนึ่ง ตั้งครรภ์ที่ 2..  ลูกของเธอคนแรก เป็นโรคทาลาสซีเมีย  β-thalassemia/Hb E ..β0/βE ชนิดรุนแรงเหมือนดังที่กล่าวมาข้างต้น เธอและครอบครัวได้ดูแลลูกคนแรก อย่างทุกข์ยาก เป็นเวลานานกว่า 5 ปี เพราะต้องพาลูกเข้าออกโรงพยาบาลใกล้บ้านบ่อยมาก เพื่อรับการถ่ายเลือด และรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ..ปัจจุบัน ลูกเธอก็ยังไม่ได้ไปเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก.. พอเธอตั้งครรภ์ที่ 2 และได้รับการตรวจ DNA จากน้ำคร่ำ พบว่า เป็นโรคนี้อีก.. เธอจึงขอเข้ารับการทำแท้ง.. ซึ่ง.. คณะกรรมการยุติการตั้งครรภ์ของโรงพยาบาลตำรวจชุดก่อน ก็พิจารณาอนุมัติตามที่ร้องขอ คุณหมอเจ้าของไข้ ก็ได้ดำเนินการให้…ด้วยใจที่เมตตา..

วันนี้ เสียงเพลงบรรเลง ที่ข้าพเจ้าใช้ฟังประกอบการเขียนหนังสือ แปรเปลี่ยนไป..มันให้ความรู้สึกที่เปลี่ยวเหงาเหลือเกิน..คงเพราะ ข้าพเจ้าเพิ่งได้ร่วมกับผู้อื่นในการกระทำสังฆกรรม ด้วยการพรากชีวิตน้อยๆชีวิตหนึ่ง ไปจากโลกนี้….ใครเล่า !! อยากจะทำบาป แต่..หากเป็นเรา ที่เกิดเป็นโรคนี้ขณะยังเป็นทารกน้อยในครรภ์ โดยมีญาณทิพย์ทราบว่า ต่อไปภายภาคหน้า จะมีอนาคตเป็นอย่างไร… ก็คงไม่มีใคร..อยากจะเกิดมามีชีวิตอยู่บนโลกนี้..ทุกคนคงยินดีให้มีคนทำแท้ง และทำลายชีวิตของตนในครรภ์อย่างแน่นอน….

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ.  นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

 

 

 

คนท้องกับโรคหัวใจวายซีกขวา

คนท้องกับโรคหัวใจวายซีกขวา

เรื่องราวในโลกนี้ บางที มันก็ไม่เป็นอย่างที่เราคิด อย่างไรก็ตาม..ตราบใดที่ยังมีความหวัง.. ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างปาฏิหาริย์บ้าง… แต่..ปาฏิหาริย์ที่ว่า.. บางคราว ก็ถูกทำลายล้างได้ด้วยกรรม.. ซึ่งไม่รู้ว่า ทำไว้แต่ชาติปางไหน..

เมื่อวาน ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. อายุรกรรม เพื่อสอบถามอาการของคนไข้ท้องหลังคลอดรายหนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจซีกขวาล้มเหลว ข้าพเจ้าถามเจ้าหน้าที่พยาบาลที่นั่นว่า “ เออ! คนท้องที่หัวใจล้มเหลวหลังคลอด ซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ที่นี่ เป็นยังไงบ้าง?” ตอนแรก พยาบาลคนนั้นตอบปฏิเสธว่า ‘ไม่มี’ แต่..สักครู่หนึ่ง เธอก็พูดโพล่งแบบนึกขึ้นได้ทันทีทันใดว่า ‘อ๋อ!! คนที่เป็นโรค SLE (เอส.แอล.อี. หรือ โรคพุ่มพวง) ใช่ไหม?  คุณลักขณา’  พยาบาลคนนั้นพูดชื่อคนไข้.. หยุดสักนิดหนึ่ง แล้วก็พูดต่อว่า ‘เสียชีวิตแล้ว… คนไข้เสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมานี่เอง’

ข้าพเจ้าฟังแล้ว ให้รู้สึกสะเทือนใจ..พลางคิดว่า ‘ถ้าเธอไม่ตั้งครรภ์ ก็คงสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกหลายปี อย่างไรก็ตาม ขอให้เธอจงเป็นสุขอยู่ในสรวงสวรรค์เถิด เพราะลูกของเธอในปัจจุบันนั้น แข็งแรงดี แม้จะคลอดก่อนกำหนด’

คุณลักขณา อายุ 30 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 …ครรภ์แรก เธอคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดเอาเด็กออกด้วยเรื่องน้ำเดิน (PROM = premature rupture of membrane) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ทารกเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 2,600 กรัม แข็งแรงดี.. คุณลักขณา มาโรงพยาบาลตั้งแต่อายุครรภ์ เพียง 9 สัปดาห์ นั่นแสดงว่า เธอใส่ใจในสุขภาพของตนเองมาก วันแรกที่คนไข้มา ก็ได้รับการเจาะเลือด สำหรับฝากครรภ์ พบว่า เธอมีภาวะโลหิตจาง (Hct= Hematocrit 27.2 mg%) และ สงสัย ว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ (Heart disease?)

ขณะตั้งครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ เธอได้รับการตรวจร่างกายโดยพยาบาลห้องฝากครรภ์ พบว่า ขนาดและอายุครรภ์ ไม่ไปด้วยกัน แต่..เนื่องจากอายุครรภ์น้อย เธอจึงถูกส่งไปรับคำปรึกษาจากนักศึกษาแพทย์ และไม่ได้รับการรักษาใดๆ

พออายุครรภ์ได้ 17 สัปดาห์ (จากคำบอกเล่าของคนไข้ ซึ่งคำนวณจากวันสุดท้ายของระดู) คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูอัลตราซาวนด์ (MFM= Maternal fetal medicine) ได้ตรวจร่างกายและให้การวินิจฉัยว่า คุณลักขณา เป็นโรคหัวใจ คนไข้ได้รับการส่งตัวไปปรึกษาอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งคุณหมอได้แนะนำให้ทำ การตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจอย่างละเอียด (Echo) ช่วงนี้ คุณลักขณา เริ่มมีอาการหอบเหนื่อยเป็นบางครั้ง.. จากสภาพที่เป็นอยู่ ทำให้สูติแพทย์ผู้ดูแล วางแผนที่จะทำแท้งเพื่อการรักษาให้กับคนไข้ (Therapeutic abortion) และนัดเพื่อจะดูอัลตราซาวนด์โดยละเอียดคราวต่อไปในเวลาไม่นานนัก

ยังไม่ทันที่จะได้รับการทำแท้ง คุณลักขณาก็เกิดมีภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลวตอนอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ (Right heart failure) โดยได้รับตัวไว้ที่แผนกอายุรกรรม และส่งมาปรึกษาที่แผนกสูติฯ อีกที ในตอนนั้น จากการตรวจดูอัลตราซาวนด์โดยละเอียด พบว่า คุณลักขณาตั้งครรภ์ได้ 27 สัปดาห์แล้ว ไม่ใช่ 18 สัปดาห์ ขณะนั้น ทางแผนกอายุรกรรมกำลังพยายามหาสาเหตุของภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลว แต่..ยังหาไม่พบ ดังนั้น ทางแผนกอายุรกรรมจึงให้การรักษาคนไข้แบบประคับประคองไปก่อน เพราะภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลว.. ไม่มียารักษา โดยเฉพาะ

คุณลักขณา ถูกส่งตัวไปๆมาๆ ระหว่างแผนกอายุรกรรม และสูติฯ เพื่อหาวีธีการรักษาที่เหมาะสม  แต่..เวลาผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า จะให้คนไข้คลอดอย่างไร ..หากเธอไม่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน ก็คงใช้วิธีให้คลอดเองทางช่องคลอด โดยการชักนำวิธีใดวิธีหนึ่ง… สภาพของคนไข้ตอนนั้น คือ เธอต้องนอนอยู่บนเตียงทั้งวันทั้งคืน ยกเว้นเวลาไปเข้าห้องน้ำ ซึ่ง..บ่อยครั้งที่เธอจำเป็นต้องทำกิจธุระบนเตียงคนไข้ เพราะไม่มีแรงเดินไปเข้าห้องน้ำ

เนื่องจากคนไข้มีภาวะเลือดจางร่วมด้วย (Hct = 22%) เธอจึงได้รับเลือด (PRC=Pack red cell) ไปในครั้งแรก 2 ถุง และให้เลือดอีกเมื่อพบว่า โลหิตจางเพิ่ม.. ด้วยสภาพที่ร่างกายอ่อนแอมาก เธอจึงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะผสมผสานเข้าไปด้วย แต่ก็ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพสูง

ตอนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ข้าพเจ้าได้เชิญคณาจารย์ฝ่ายอายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ และสูติแพทย์ มาประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาของคนไข้รายนี้ ข้าพเจ้าเริ่มเปิดการเจรจาดังนี้   

‘ในอดีต เมื่อ 30 ปีก่อน ตอนที่ข้าพเจ้าจบเป็นแพทย์ใหม่ๆ ทำงานที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดพัทลุง วันหนึ่ง เกิดเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าไม่มีวันลืม กล่าวคือ มีคนท้องหัวใจล้มเหลวคนหนึ่ง อายุครรภ์ครบแล้วมาที่ห้องคลอด คุณหมอท่านนั้นตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้ ขณะที่ทำคลอดเอาตัวเด็กออกจากมดลูก คุณแม่ก็เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นทันที.. แพทย์,พยาบาลและเจ้าหน้าที่ ทุกคน พากันตกใจ.. แม้จะพยายามปั้มหัวใจให้คนไข้รายนั้นอย่างสุดความสามารถ แต่….เราก็ไม่สามารถยื้อยุดฉุดวิญญาณของคนไข้ไว้ได้ เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าไปศึกษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช จึงได้ทราบว่า คนท้องที่เป็นโรคหัวใจวาย(โดยเฉพาะหัวใจซีกซ้าย) อันตรายที่สุดก็คือ ตอนที่คลอดทารกออกมาใหม่ๆ เพราะช่วงนั้น กระแสเลือดจะถูกผลักย้อนกลับไปที่หัวใจ เนื่องจากมดลูกเกิดการหดรัดตัว เลือดที่ไหลกลับนั้น มีปริมาณมาก.. ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับหัวใจ ที่ทำหน้าที่เสมือนปั้มน้ำ หัวใจจึงไม่สามารถทนทานต่อไปได้ และหยุดทำงานทันที ..สำหรับรายนี้ พวกเราคิดว่า จะตัดสินใจอย่างไรดี’

กลุ่มสูติแพทย์ ลงความเห็นว่า ‘การผ่าตัดคลอดน่าจะเป็นทางออกดีที่สุด แม้จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของคนไข้ แต่..จะต้องกระทำภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของวิสัญญีแพทย์และอายุรแพทย์โรคหัวใจ เนื่องจากคนไข้มีประวัติเคยผ่าตัดคลอดมาก่อน’

กลุ่มวิสัญญีแพทย์ สรุปว่า ‘ จะให้คลอดทางช่องคลอด ก็ได้ โดยการทำ Painless labor (การฉีดยาชาเข้าในไขกระดูกสันหลัง [spinal or epidural block]) หากผ่าตัดคลอด ก็คงน่าจะใช้วิธีใสท่อช่วยหายใจและดมยา (General anesthesia) เพราะทำให้ระบบความดันโลหิตและกระแสเลือด ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก.. อนึ่ง หลังผ่าตัด ก็ยังจะสามารถส่งต่อคนไข้ไปยังห้องไอ.ซี.ยู.อายุรกรรมได้เลย โดยไม่ต้องถอดท่อหายใจ…ช่วยให้การดูแลคนไข้ ในห้อง ไอ.ซี.ยู. ง่ายขึ้น’

กลุ่มอาจารย์กุมารแพทย์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลูกคุณลักขณาว่า ‘ทารกอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ น่าจะดูแลได้ แต่..ความสำคัญของเด็กคงเป็นเรื่องรอง… เราคงต้องเลือกมารดามากกว่าลูก’

คณาจารย์แผนกอายุกรรมหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ‘การตั้งครรภ์ ทำให้โรคหัวใจของคนไข้แย่ลง หากปล่อยไว้นานกว่านี้ คิดว่า คุณลักขณา อาจเสียชีวิตพร้อมกับลูกในครรภ์ ขณะนี้ อาการของคนไข้ดีขึ้นมากพอสมควร จากการสืบหาสาเหตุ เราคิดว่า คนไข้น่าจะเป็นโรค SLE และเริ่มให้ยา สเตียรอยด์ (Steroid) แล้ว 2 – 3 วัน คนไข้ตอบสนองต่อยาค่อนข้างดี อาการเกี่ยวกับปอดดีขึ้น ทางอายุรกรรมอยากให้ ทางสูติแพทย์ คลอดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’

ข้าพเจ้าสอบถามคุณหมอจากอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือดว่า ‘ พวกเราได้ไปเยี่ยมคนไข้ที่แผนกอายุรกรรม ไม่เห็นอาจารย์ให้ยาบำรุงหัวใจแก่คนไข้เลย.. เห็นให้แต่ยาธรรมดา.. แบบนี้ เวลาคลอด แม้ว่า อาจารย์มา ก็คงช่วยอะไรคนไข้ไม่ได้เท่าไหร่’

‘เออ!! คุณลักขณา เป็นโรคหัวใจซีกขวาล้มเหลว โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ ไม่เหมือนหัวใจซีกช้ายล้มเหลว ซึ่งมียาช่วยการทำงานให้หัวใจดีขึ้นหลายตัว สิ่งสำคัญกรณีนี้ คือ หาสาเหตุให้ได้ และรักษาสาเหตุนั้น’ คุณหมอแผนกอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือดอธิบาย คุณหมอยังพูดต่อว่า ‘ตอนนี้ เราเชื่อว่า สาเหตุของหัวใจซีกขวาล้มเหลวของรายนี้ มาจาก โรคเอส. แอล. อี. (SLE disease)’

คุณลักขณา อยู่ที่แผนกอายุรกรรมคราวนี้ อาการดีขึ้นชั่วคราว ทำให้สูติแพทย์เจ้าของไข้ เตรียมจะผ่าตัดให้เมื่ออายุครรภ์ครบ 30 สัปดาห์ ขณะที่คุณหมอผู้ดูแลทุกคนกำลังดีใจในสภาพคนไข้ที่ดีขึ้นตามลำดับอยู่นั้น ..จู่ๆ คุณลักขณาก็มีอาการแย่ลงหลังจากดีขึ้นได้เพียง 2 – 3 วัน สูติแพทย์เจ้าของไข้จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉินให้คนไข้ในบ่ายวันหนึ่ง ขณะที่คนไข้ตั้งครรภ์ได้ 29 สัปดาห์

วันนั้น เป็นวันพุธ สูติแพทย์ที่ทราบข่าวต่างพากันไปอออยู่ในห้องผ่าตัด พร้อมกับวิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ รวมทั้งอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย คุณลักขณาสามารถทนต่อการผ่าตัดคลอดได้ดี เพียงแต่ต้องคาท่อช่วยหายใจต่อ จนส่งตัวเข้าไปอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู.หน่วยหัวใจและหลอดเลือด (C.C.U.) ทารกลูกของเธอเป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 1,268 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 5 และ 7 (คะแนนเต็ม 10) ณ นาทีที่ 1 และ 5 ตามลำดับ ทารกน้อยได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจทันที และถูกส่งไปยังห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิดเช่นกัน ลูกคุณลักขณานอนพักรักษาตัวอยู่ที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. 5 วัน ก็ส่งกลับไปอยู่ห้องความเสียงของทารก ซึ่ง.. ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ.. ส่วนคุณลักขณา อยู่โรงพยาบาลเพียง 7 วันหลังคลอด ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้

หลังจากคุณลักขณาคลอด สูติแพทย์ และคณาจารย์ทั้งหลายพากันดีใจในความสำเร็จ เพราะทุกอย่างปรากฏออกมาดีมากจนเกินคาด คุณลักขณามีชีวิตที่สุขสบายขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้มาก แต่..เธอยังคงได้รับยา steroid เพื่อรักษาโรค เอส แอล อี (SLE) ต่อไป.. เรื่องราวของคุณลักขณาควรจะจบลงตรงนี้ แล้ว ก็ใช้ชีวิตเยี่ยงคนทั่วไป ไม่ต้องคิดถึงวันเก่าที่เพิ่งผ่านพ้นมา

คุณลักขณากลับบ้านได้เพียง 3 วัน ก็เกิดอาการช็อคหมดสติ และหามส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน เมื่อได้รับการรักษาเบื้องต้นโดยการใส่ท่อช่วยหายใจ เธอก็ถูกส่งตัวต่อ (refer) มาที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะคุณลักขณามีการประกันสังคมที่นี่ คนไข้ถูกส่งเข้าห้องไอ.ซี.ยู.ทันทีและได้รับการเจาะปอด (ICD = intercostals drainage) ใส่ท่อระบายอากาศ เนื่องจาก มีภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax) คุณหมอแผนกอายุรกรรมประชุมหารือกันทุกวัน เพื่อให้การรักษาที่ดีที่สุด มีการสั่งหยุดยาสเตียรอยด์ เพราะยาตัวนี้ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว ..ถึงแม้ว่า เธอจะได้รับยาฆ่าเชื้อที่ดีมากอย่างไร การตอบสนองของร่างกายดูจะไม่กระเตื้องขึ้นเลย คนไข้นอนอยู่ที่ห้องไอ.ซี.ยู. นาน 10 วัน ก็จากโลกนี้ไป อย่างไม่มีวันหวนกลับ

คนท้องที่เป็นโรคหัวใจวาย หากวินิจฉัยได้ตอนอายุครรภ์น้อยๆ ควรต้องได้รับการทำแท้ง สำหรับคนไข้รายนี้ เธอจำระดูผิด และตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว.. ทั้งไม่ทราบว่า ตัวเองเป็นโรคหัวใจวาย ..ยิ่งโชคร้ายซ้ำเติม เมื่อเธอเป็นโรคหัวใจวายซีกขวา (Right heart failure with pulmonary hypertension) ซึ่งไม่มียาแก้ไขเฉพาะ แต่ยังดี ที่มีปาฏิหาริย์ เธอได้รับการผ่าตัดคลอดปลอดภัย พร้อมลูกน้อย อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์ไม่มีเป็นครั้งที่สอง เมื่อเธอได้รับการติดเชื้อทั่วร่างกายหลังคลอดและเกิดอาการช็อค จนเสียชีวิตในที่สุด

ชีวิตคนเรานั้น!! จะมีอะไรที่แน่นอน…..แค่มีชีวิตรอดพ้นไปวันหนึ่งวันหนึ่ง โดยไม่มีโรคภัยหรืออุบัติเหตุเบียดเบียน ก็นับว่า มีบุญโขอยู่แล้ว  หากเกิดโรคภัย แล้วรอดพ้นมาได้สักครั้งหนึ่ง ก็นับว่าโชคดี.. แต่..จะโชคดีหลายๆครั้ง คงต้องอาศัยบุพกรรมแต่หนหลังที่สมบูรณ์ยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรทำบุญสั่งสมตั้งแต่วันนี้อย่างต่อเนื่อง  เพื่อวันข้างหน้าในโลก จะได้พ้นภัยได้บ่อยๆ…

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

  

 

 

 

 

 

 

 

ชีวิตนี้ มีความหมาย (6)

ชีวิตนี้ มีความหมาย (6)

การตรวจเยี่ยมคุกเมืองไทยปลายปีนี้ (พ.ศ. 2556) ข้าพเจ้าเริ่มต้นตรวจนักโทษไต้หวันที่คุกบางขวางก่อน ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พวกเรา ซึ่งประกอบด้วย คุณชาญ ข้าพเจ้า และเจ้าหน้าที่ใหม่คนหนึ่ง ชื่อ มิสเตอร์จาง คิดว่า การตรวจที่นี่ คงจะยุ่งยากไม่น้อย เพราะมีกฏกติกามากมายจากผ็อำนวยการเรือนจำคนใหม่ แต่..พอเข้าไปในคุกบางขวางจริงๆ กลับทำงานง่ายดายกว่าทุกปี เพราะที่นี่ ข้าพเจ้าถูกจำกัดให้จ่ายยากับนักโทษแต่ละคนได้ ไม่เกินคนละ 3 ตัว ปัจจุบัน ยาทุกตัวที่จะถูกนำเข้าคุกบางขวาง ต้องได้รับการตรวจค้นอย่างละเอียด สาเหตุ ก็เนื่องมาจากมีผู้กระทำผิดลักลอบนำยาเสพติด, มือถือ หรือสิ่งผิดกฏหมายเข้ามาในเรือนจำ แล้วถูกจับได้ มาตรการตรวจค้นสิ่งของก่อนนำเข้า จึงเป็นไปอย่างรอบคอบ พวกเราตรวจที่คุกบางขวางเพียงครึ่งวัน ก็จบ.. ตอนบ่าย ข้าพเจ้าว่างจากภารกิจต่างๆที่เกี่ยวกับคุก จึงขอให้คนรถของกงสุลไต้หวัน ช่วยขับ นำข้าพเจ้าไปส่งที่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เพื่อพักผ่อน ก่อนจะเริ่มทำงานต่อในตอนเย็น

 

วันที่ 2 ธันวาคม 2556 ข้าพเจ้าได้ไปตรวจที่คุกคลองเปรม …หมายถึงว่า ไปตรวจ ณ โรงพยาบาลฑัณทสถานคลองเปรม นักโทษที่มาตรวจ ก็ไม่มากนัก แต่..การตรวจเป็นไปอยบ่างล่าช้า เพราะมีการเขียนใบสั่งยาซ้ำซ้อนกันหลายใบ นักโทษบางคนต้องการใบสั่งยาเพิ่ม เพื่อไปซื้อเครื่องสำอางค์ จำพวกครีมบำรุงผิว และใบหน้า.. ข้าพเจ้าเขียนไป 3 – 4 ใบ ก็รู้สึกแปลกใจ และไม่ค่อยกล้าถามว่า ทำไมถึงต้องการครีม หรือ Lotion เหล่านี้..ต่อมา จึงรู้จากพยาบาลที่นั่นว่า ‘พวกนักโทษเหล่านี้ นำไปเพื่อหาซื้อเครื่องบำรุงผิวพรรณให้กับบรรดากระเทย.. เป็นค่าทำขวัญ เวลามีเพศสัมพันธ์ด้วย’

พอตรวจนักโทษไปได้สักพักหนึ่ง คุณชาญ ก็เดินมาบอกกับข้าพเจ้าว่า ‘ไม่ต้องออกใบสั่งยาต่างหากอีกแล้ว เพราะนักโทษบางคนนำเอามันไปต่อเติม เพื่อซื้อยาที่มีโทษหรือผิดกฏหมาย ทำให้เสียชื่อคุณหมอและกงสุลไต้หวัน’ เมื่อใกล้เวลาเที่ยง เจ้าหน้าที่พยาบาลของโรงพยาบาลคลองเปรมคนหนึ่ง ก็มาช่วยดำเนินการ โดยให้ข้าพเจ้าเขียนใบสั่งยาอย่างเดียว เธอเป็นคนคัดลอกใบยาและเขียนชื่อนักโทษลงในใบสั่งยาฉบับนั้น พวกเราจึงตรวจนักโทษเสร็จเร็วกว่าที่คาด.. เลยเวลาพักเที่ยงไปไม่นาน

ที่นั่น ข้าพเจ้ายังได้ตรวจนักโทษหญิงอีก 2 -3 คน ซึ่งถูกส่งมาจากฑัณทสถานหญิง.. คราวนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่อำนวยความสะดวกให้กับเรา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปตรวจที่ฑัณทสถานหญิง ในจำนวนนั้น มีนักโทษหญิงคนหนึ่งน่าสนใจมาก ชื่อ คุณเย่ ตอนนี้ เธอมีอายุเกือบ 50 ปี เธอติดคุกตั้งแต่ยังสาว ช่วงเวลานั้น เธอกำลังตั้งครรภ์ใกล้คลอด สามีของเธอ ซึ่งมียาเสพติดไว้ในครอบครอง เมื่อตำรวจบุกเข้าไปในห้องพัก เพื่อขอตรวจค้น สามีเธอเห็นท่าไม่ดี จึงนำเฮโรอินทั้งหมด ไปซุกซ่อนไว้ในตัวเธอ ทำให้เธอมีโทษผิด ฐานค้ายาเสพติดไปด้วย สามีเธอถูกตัดสินประหารชีวิต แล้วลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนเธอถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แล้วลดโทษลงมาจนในที่สุดเหลือดเพียง 20 ปี เธอคลอดบุตรสาวขณะติดคุกฑัณทสถานหญิงในปีนั้น หลังคลอด..ลูกสาวของเธอถูกส่งไปให้พี่ชายสามีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม วันที่ข้าพเจ้าตรวจสุขภาพของเธอคราวนี้ จึงได้ทราบว่า ‘เธอติดคุกมาแล้ว 19 ปี ..ปีหน้า เธอจะได้รับการปล่อยพ้นโทษ ให้เป็นอิสระกลับไปประเทศไต้หวัน’ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก ร่วมไปกับเธอด้วย

เรื่องราวของสามีคุณเย่ ยิ่งน่าสนใจ สามีคุณเย่ถูกจองจำที่คุกบางขวาง เขาเป็นคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก ทุกครั้งที่มาขอยาจากข้าพเจ้า เขาจะใช้เลห์เพทุบายหลายอย่าง เพื่อให้ได้ยามากที่สุดทั้งชนิดและจำนวนยา ถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว แต่ก็มักจะอะลุ่มอล่วย  ข้าพเจ้าได้ดูแลสามีของคุณเย่ จากการเยี่ยมเยียนคุกประมาณ 10 กว่าปี เขาก็เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บในที่คุมขัง… ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ ตลอดระยะเวลาที่เขาติดคุก ไม่เคยมีใครมาเยี่ยมเลย เมื่อเขาตายลง คุณชาญได้โทรศัพท์ติดต่อญาตพี่น้องพ่อแม่ แต่..ทางญาตขอให้กงศุลช่วยดำเนินการเกี่ยวกับศพให้ด้วย คุณชาญได้แจ้งให้ทางญาตทราบว่า การดำเนินการเหล่านี้ ต้องมีค่าใช้จ่าย ทางญาตก็บอกว่า ‘อย่างนั้น ก็ไม่เอาศพเขาแล้ว ทางสถานฑูตจะทำยังไง ก็ไม่ว่า ไม่ต้องส่งกลับไปไต้หวันหรอก’ ตอนนั้น ศพของสามีคุณเย่ นอนแช่แข็งอยู่ที่ตู้เย็นของแผนกนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลาถึง 4 – 5 เดือน เนื่องจากการประสานไปมาระหว่างญาต มีปัญหา อย่างไรก็ตาม เมื่อทางญาตปฏิเสธเด็ดขาดที่จะไม่ยุ่งเกี่ยว ทางกงสุลไต้หวันจึงติดต่อขอเงินบริจาคจากมูลนิธิฯหลายแห่งของคนไต้หวัน ดำเนินการเกี่ยวกับศพไร้ญาตผู้นี้ จากนั้น ก็นำศพไปเผา และเก็บอัฐฐิ ออกมา… ปัญหา ก็คือ ญาตไม่เอาอัฐฐิ.. ใครๆก็ไม่ต้องการ สุดท้าย คุณชาญได้ไปสอบถามทางวัดไตรมิตร ขอฝากอัฐฐิของคนไร้ค่าผู้นี้ ปรากฏว่า ทางวัดอนุญาตให้ฝากไว้ได้ เมื่อคุณเย่พ้นโทษในปีหน้า ออกจากคุกและเดินทางกลับไต้หวัน ข้าพเจ้าก็หวั่นวิตกว่า คงไม่นำอัฐฐิของสามีกลับไปด้วย เพราะเขาเป็นคนทำให้เธอคิดคุกเป็นเวลานานถึง 20 ปี หญิงสาวคนหญิงได้ทิ้งชีวิตของเธอไว้ในฑัณทสถาน ไม่ได้เห็นความศิวิไลแห่งโลกเป็นเวลานานแสนนาน… เมื่อสามารถออกมาดำเนินชีวิตเยี่ยงคนธรรมดา.. มีหรือ..ที่เธอจะไม่โทษชะตาชีวิตที่เลือกคนเช่นนั้นเป็นสามี 

วันที่ 17 ธันวาคม ข้าพเจ้าเดินทางโดยสารเครื่องบินของสายการบินไทย ไปจังหวัดเชียงราย…ในตอนเช้ามืด เวลาประมาณ 5 นาฬิกาเศษ ข้าพเจ้าจัดแจงเตรียมตัวอย่างเรียบร้อย จัดกระเป๋า และเครื่องใช้ไม้สอยเท่าที่จำเป็น แต่..ข้าพเจ้าต้องเปลี่ยนเสื้อที่ใส่มาของวันก่อน เวลานั้น ข้าพเจ้าลงลิ๊ฟมายังชั้นไต้ดิน แล้ว ก็รีบหยิบเสื้อเชิ้ต 1 ตัว เพื่อไปเปลี่ยน ณ ที่รโหฐานด้านข้างของตัวตึก ตอนนั้น ไม่รู้ข้าพเจ้าเหม่อลอยเรื่องอะไร ทำให้ข้าพเจ้าสะพายเอากระเป๋าบรรจุ Ipad ไปด้วย เมื่อไปถึงที่รโหฐานด้านข้าง ซึ่งมีผนังไม้แผ่นบางๆบังอยู่เป็นแนวยาว และลึกเข้าไปข้างใน จะเป็นห้องซ่อมเฟอร์นิเจอร์ของโรงพยาบาล ข้าพเจ้าได้วางกระเป๋า Ipad ไว้บนโต๊ะบริเวณนั้น พอข้าพเจ้าเปลี่ยนเสื้อเสร็จ ก็รีบหยิบเสื้อตัวเก่า..เก็บกลับไปใส่ไว้ในรถ พลางลากกระเป๋าเดินทางขึ้นมาชั้นหนึ่ง เพื่อรอรถยนต์ของกงสุลไต้หวันที่มารับทางด้านหน้า ของโรงพยาบาลไทยนครินทร์

รถยนต์คันดังกล่าว ได้พาข้าพเจ้าและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่ง นามว่า………….มุ่งหน้าไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ พอรถขับไปถึงบริเวณสี่แยกถนนบางนาตัดกับถนนกิ่งแก้ว  ข้าพเจ้าก็สะดุดคิดขึ้นมาว่า ‘อาจจะลืมกระเป๋าIpadไว้ที่ โรงพยาบาลฯ’ ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์กลับไปที่ห้องคลอด ซึ่งมีผู้ช่วยพยาบาลเป็นคนรับสาย ข้าพเจ้าพูดขอร้องเธอว่า ‘ให้ช่วยไปดูที่รถข้าพเจ้าหน่อยว่า มีกระเป๋าบรรจุ Ipad สีดำอยู่ภายในหรือ เปล่า พร้อมกับบรรยายรูปร่างกระเป๋าให้ฟังด้วย’ สักพักหนึ่ง ข้าพเจ้าโทรศัพท์กลับไปอีกครั้ง ปรากฏว่า ผู้ช่วยพยาบาลคนดังกล่าวไม่ได้ไปดูตามที่ขอร้อง แต่..โทรศัพท์แจ้ง รปภ.ชั้นไต้ดิน ให้ไปดู.. ทาง รปภ.แจ้งว่า ‘มีกระเป๋าสีดำวางอยู่’ ข้าพเจ้าเอะใจขึ้นมาทันทีว่า ‘การสื่อสารของผู้ถ่ายทอด มักผิดพลาดไม่มากก็น้อย’ ข้าพเจ้าจึงโทรศัพท์ไปถาม รปภ.ด้วยตนเอง ข้าพเจ้าถามเขาว่า ‘มีกระเป๋าสีดำขนาดบรรจุ ไอแพด ในรถหรือเปล่า’ เขาตอบว่า ‘เจ้าหน้าที่ห้องคลอดเพียงแต่บอกว่า เป็นกระเป๋าสีดำ ไม่ได้บอกลักษณะอะไรเลย แต่..ที่คุณหมอบอกนั้น..ไม่มี.. เดี๋ยวผมจะลงไปดูให้อีกที จะดูโดยละเอียด’ เมื่อข้าพเจ้าโทรศัพท์กลับไปถามอีกครั้ง ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มี แต่พบกระเป๋าเล็กๆขนาดเท่าไอแพด อยู่ที่เบาะหลังคนขับ เขียนว่า Carry on ข้าพเจาคิดว่า นั่น!! คงเป็นกระเป๋าใบเก่าที่เคยใช้ใส่ไอแพดแน่.. ข้าพเจ้าจึงขอร้องให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยท่านนี้ ลองเดินไปที่ด้านข้างใกล้ห้อซ่อมเฟอร์นิเจอร์ และสำรวจดูบริเวณนั้น เนื่องจากตอนเปลี่ยนเสื้อผ้า ข้าพเจ้าวางกระเป๋าไว้แถวนั้น เจ้าหน้าที่ รปภ.ได้เดินไปดู และพบกระเป๋าที่ข้าพเจ้ากล่าวถึง เขาโทรศัพท์กลับมาบอกข้าพเจ้าขณะเดินทางไปใกล้ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะในเครื่องไอแพดนั้น มีข้อมูลบางอย่างสำคัญ, มีสมุดบัญชีลูก และบัญชีสหกรณ์โรงพยาบาลตำรวจอีกหลายเล่ม สรุปว่า หากกระเป๋าใบนั้นหายไป ข้าพเจ้าคงยุ่งยากเสียเวลาดำเนินการอีกมากมาย กว่าจะได้สิ่งของดังกล่าวคืนมาในรูปแบบอื่น..จริงๆแล้ว เมื่อข้าพเจ้านึกขึ้นได้ ข้าพเจ้าควรจะบอกคนรถให้ย้อนกลับไปโรงพยาบาลไทยนครินทร์ ซึ่ง..คงใช้เวลา ไม่น่าจะเกิน 15 นาที ..ไม่ได้ทำให้พวกเราเสียเวลา จนเดินทางไปขึ้นเครื่องบินไม่ทัน แต่..เพราะความเกรงใจ จึงทำให้ข้าพเจ้าเกือบเสียหายอย่างใหญ่หลวง..นี่คือ ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่มีวันลืม และจะไม่ย่อมผิดพลาดในทำนองเดียวกันนั้นอีก..

ข้าพเจ้าออกเดินทางโดยเครื่องบินบริษัทการบินไทย เที่ยวบินที่ TG130 เวลา 8.00 นาฬิกา บินไปถึงสนามบินเชียงรายราว 9.00 นาฬิกา พวกเรา คุณชาญ เจ้าหน้าที่กงสุล และข้าพเจ้า พร้อมกับคนขับรถตู้ ชื่อ คุณโก้ ออกเดินทางทันทีมุ่งสู่เรือนจำเชียงราย..

ที่เรือนจำเชียงราย พวกเราทั้งสามคนเข้าไปถึงสถานพยาบาล ประมาณ 10 นาฬิกา 30 นาที มีนักโทษไต้หวันจากแดนต่างๆมารับบริการ 10 คน ความจริง..จะต้องเป็น 11 คน แต่นักโทษคนหนึ่ง ทำผิดกฏข้อบังคับบางประการ จึงถูกจับขังเดี่ยว..ข้าพเจ้าสั่งยาให้นักโทษคนแรก ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาการของเขาค่อนข้างหนัก แต่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากอายุรแพทย์ของโรงพยาบาลจังหวัด เขาจึงมีชีวิตรอด หากถูกทอดทิ้งละก็…คงเสียชีวิตไปนานแล้ว เพราะนักโทษคดียาเสพติดนั้น ก็เปรียบเสมือนไม่ใช่คน ยามที่ต้องโทษทัณฑ์เช่นนี้ แต่..นั่นก็เพราะกรรมที่พวกเขาได้ก่อ ยาเสพติดเหล่านั้น ได้ไปทำลายผู้คนจำนวนมากมาย ทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด กลายเป็นสัตว์นรกตัวหนึ่ง ซึ่งต้องเที่ยวกระทำความผิด เพื่อหาเงินมาซื้อยาเสพติด นี่แหละกฏแห่งกรรม

ยังโชคดี ที่บ้านเรากำหนดโทษของผู้ต้องหาค้ายาเสพติดไว้รุนแรงมาก ผู้มีความผิด จะติดคุกนานเป็นสิบๆปี ส่วนใหญ่มักจะเกิน 20 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้น ใครเผลอไปค้ายาเสพเสพติดละก็ ไม่ต้องคิดถึงโทษทัณฑ์เลย ฆ่าตัวตายเสียยังดีกว่า เพราะว่า โอกาสจะรอดออกมาเป็นอิสระนั้น ยากมากๆ.. กว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็ต้องติดคุกนานกว่า 15 ปี และได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็เพียง 1 ใน 8 หรือ สูงสุด เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น…ไม่เหมือนกับพวกนักโทษฆ่าคนตาย ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษมากกว่านี้

ข้าพเจ้าตรวจและสั่งยาให้กับนักโทษเหล่านี้ ถึงเวลาเที่ยง ก็เสร็จภารกิจ..จากนั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปบนภูเขาสูง เพื่อนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ.. อากาศข้างบนนั้นหนาวเหน็บมาก แต่ก็อบอุ่นในดวงใจ กล่าวกันว่า งคนไม่มีบุญ จะไม่สามารถขึ้นไปนมัสการพระธาตุได้ เพราะพระธาตุอยู่บนดอยสูง ทางขึ้นเขาค่อนข้างลาดชั้น ถนนลื่นและแคบ มีรถมากมายที่วิ่งขึ้นมาจนใกล้จะถึงพระธาตุดอยสุเทพ แต่..ต้องย้อนกลับ เพราะล้อรถหมุนแบบฟรี..ตอนไต่ทางลาดชัน.. ข้าพเจ้าบินขึ้นมาตรวจนักโทษไต้หวันที่จังหวัดเชียงราย กว่า 10 ปี ยังไม่เคยขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพเลย มาคราวนี้ คุณชาญบอกว่า มีการทำถนนทางขึ้นค่อนข้างดี โดยมีการขยายเปิดไหล่ทาง หมายความว่า มีการทำถนนหนทางให้กว้างมากขึ้น และทำรั้วขอบถนนด้านนอก เพื่อกันรถตกเขา การเดินทางขึ้นดอยคราวนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ..ที่เรียกว่า ราบรื่นนั้น ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะขึ้นไปได้เหมือนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเดินทางขึ้นมาครั้งนี้เป็นวันธรรมดา ไม่ใช่วันหยุด จึงมีคนขับรถขึ้นไปชมพระธาตุจำนวนน้อย.. หากเป็นวันเสาร์อาทิตย์ การขับรถจะยุ่งยากกว่านี้ เพราะมีรถยนต์จำนวนมากพากันขึ้นมา การสับหลีกระหว่างรถเป็นเรื่องที่ยากมาก.. บางที..จำเป็นต้องมีคนคอยให้สัญญาณ เพื่อให้รถขึ้นหรือลงได้โดยไม่เบียดชนกัน มิฉะนั้น ก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ข้างบนวัดพระธาตุดอยสุเทพ มีลานกว้างราวครึ่งหนึ่งของสนามฟุตบอล ด้านข้างหน้ามีพระพุทธรูปหลายองค์ใหญ่ๆ เรียงรายหันหน้าเข้าหาพระธาตุ.. เท่าที่จำได้ มีพระสังฆกระจาย และพระพุทธเจ้ารูปลักษณ์ต่างๆ ..ส่วนของพระธาตุ มีเจดีย์ขนาดกระทัดรัด 2 องค์ครอบอยู่ รูปลักษณ์เป็นสีทอง ข้าพเจ้าได้กระทำการสักการะโดยเดินเวียนขวา 3 รอบ และได้ทำบุญตามกำลังศรัทธา ในใจตอนนั้น รู้สึกอิ่มเอิบเป็นอย่างยิ่ง เสมือนอิ่มทิพย์อย่างนั้น  อากาศที่นั่น หนาวเย็นแบบสะท้าน… ทันทีที่ลงรถตู้ ข้าพเจ้ารีบใส่เสื้อหนาวที่เตรียมไป พร้อมกับสวมหมวกผ้าที่ติดมากับเสื้อหนาว.. หลังจากเดินชมข้างบนอยู่สักพักใหญ่ๆ  ข้าพเจ้าก็เดินทางลงสู่พื้นราบ

การขับรถลงจากภูเขานั้น เป็นเรื่องที่เราควรเรียนรู้ไว้ เพราะหากขับรถไม่เป็น.. รถมีโอกาสพังได้ทุกเมื่อ.. คุณโก้ ซึ่งขับรถมาตลอดชีวิต เล่าให้ฟังว่า ‘เวลาขับนั้น ให้ใช้เพียงแค่เกีย 2 ก็พอ จากนั้น ก็ปล่อยรถให้มันไหลไปตามแรงโน้มถ่วง พอถึงทางตรงใกล้ถึงส่วนโค้ง ก็เบรกแบบแตะๆ ให้รถใกล้หยุด แล้วค่อยปล่อยรถไหลต่อ..สิ่งที่พึงระวัง คือ หากแตะเบรกตลอดเวลา.. จานเบรกของรถจะพัง เพราะผ้าเบรกจะถูกกัดกร่อนจนหมดอย่างรวดเร็ว ..และหากแตะเบรกตรงทางโค้ง รถจะปัด ทำให้เสียหลัก เกิดการพลิกคว่ำได้ง่าย..นี่แหละ!! เทคนิคการขับรถลงเขา..

ตอนหัวค่ำ พวกเรา ซึ่งมีภรรยาคุณชาญมาร่วมด้วย ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านภูแล อาหารที่นี่ นับว่า อร่อยมากทีเดียว มีผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วสารทิศมารับประทาน…ที่นี่ มีการตลาดที่ดีมาก มีการโฆษณาน่าสนใจ อาทิ มีป้ายหรือสติกเกอร์ข้อความว่า ‘ผู้ว่ายังยกนิ้วให้ว่า อร่อย’ และอื่นๆ… หลังจากรับประทานอาหารมื้อหนักเสร็จ พวกเราก็แวะไปรับประทานบัวลอยทรงเครื่องที่ร้านแถวหอนาฬิกา.. ซึ่งถือว่า..เป็นอนุสาวรีย์ ยอดนิยมของชาวเชียงราย.. ที่นี่..ราวๆ 3 ทุ่ม จะมีการเปิดไฟที่หอนาฬิกา ร่วมกับเพลงบรรเลงเพราะๆให้ฟัง…. ผู้คนจำนวนมากมาย มักจะมาออกันรอบๆ และถ่ายรูป สถานที่นี้

กลางคืน.. หลังอาหารมื้อค่ำ ข้าพเจ้าได้ไปเดินใน ‘ไนท์พลาซ่า’ บรรยากาศน่ารัก เป็นกันเอง อาหารก็ไม่แพง มีการแสดงและดนตรีขับกล่อมเคล้าคลอกับบรรยากาศ ช่างผ่อนคลายยิ่งนัก ข้าพเจ้ามาจังหวัดเชียงรายหลายครั้ง ได้มาเดินเล่นที่นี่หลายครั้ง จึงไม่ได้ตื่นเต้นอะไร เดินสักพักหนึ่ง ก็กลับไปยังที่พัก คือ โรงแรมวังทอง

ตอนเช้า หลังอาหาร พวกเราก็ออกเดินทางจากโรงแรมวังทอง เมืองเชียงราย มุ่งหน้าสู่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่..ทำไมหรือ? ก็เพราะ ที่นั่น เป็นสถานที่ตั่งของเรือนจำเชียงใหม่ ที่นั่น มีนักโทษไต้หวันอยู่ 2 คน..เรือนจำเชียงใหม่เพิ่งย้ายจากตัวเมืองมาได้เพียง 1 ขวบปี ส่วนคุกเชียงใหม่เดิม ก็ปรับเปลี่ยนเป็นฑัณทสถานหญิง.. ระหว่างทาง..พวกเราได้แวะที่น้ำพุร้อนทวีสิน เพื่อรับประทานกาแฟ และแช่เท้าด้วยน้ำแร่ ซึ่งเชื่อว่า มีส่วนช่วยสุขภาพ ข้าพเจ้าดื่มกาแฟคาปูชิโน และแช่เท้าครู่หนึ่ง … ก็ออกเดินทางสู่อำเภอแม่แตง โดยนัดแนะกับเจ้าหน้าที่ว่า จะไปตรวจนักโทษไต้หวันประมาณบ่ายโมง ของวันที่ 18 ธันวาคม 2556    

พอไปถึงเรือนจำเชียงใหม่.. เจ้าหน้าที่ชายคนหนึ่ง ชื่อ คุณสมศักดิ์ ซึ่ง..โทรศัพท์ติดต่อกับคุณชาญประจำ ก็ออกมาต้อนรับ พวกเราเดินทางเข้าไปในคุก 3 คนเช่นเดิม คราวนี้ เราได้รับแจ้งว่า นักโทษคนหนึ่งถูกส่งไปที่เรือนจำอื่น จึงเหลือนักโทษไต้หวันเพียงคนเดียว คนที่นำเข้าไปเป็นพยาบาลผู้ชายสูงอายุ กะว่า น่าจะเกิน 50 ปี ข้าพเจ้าสอบถามจากเขาว่า เรือนจำที่นี่มีเนื้อที่เท่าไหร่ ได้รับคำตอบว่า 30 ไร่ นับว่า ใหญ่เอาการ..

นักโทษหนุ่มคนนี้ อายุเพียง 32 ปี ตัดผมสั้น เหมือนนักโทษทั่วไป คุกใหม่แห่งนี้ มีบรรยากาศที่ดี นักโทษหนุ่มคนนี้ อยู่ในแดนโทษหนัก จึงมีนักโทษขังรวมกับเขาไม่มากนัก อยู่กันแบบหลวมๆ เขาออกกำลังกายทุกวัน โดยตั้งความหวังว่า สักวันหนึ่ง จะได้ออกจากที่คุมขังแดนนรกแห่งนี้… แม้อากาศจะหนาว แต่ก็ไม่ลดต่ำมากเท่าเมืองเชียงราย.. อากาศจัดว่า กำลังดีสำหรับคนไต้หวันทีเดียว นักโทษคนนี้กำลังอยู่ในช่วงอุทธรณ์ แต่คาดว่า น่าจะถูกตัดสิน จองจำตลอดชีวิต เพราะเป็นผู้ค้าเฮโรอินขนาด 2 กิโลกรัม ..

ข้าพเจ้าเข้ามาในเรือนจำต่างๆมากถึง 20 ปีแล้ว ก็ยังแก้ข้อข้องใจไม่ได้ว่า ‘ทำไม คนเหล่านั้นถึงเสี่ยงค้ายาเสพติดชนิดร้ายแรงเช่นนี้’ คุณชาญไขข้อข้องใจข้าพเจ้าได้เปราะหนึ่งว่า ‘ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ มักกระทำการสำเร็จในการค้ายาเสพติดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง จากนั้นก็ย่ามใจ กระทำเรื่อยไป สุดท้าย จึงต้องติดคุกด้วยผลแห่งกรรม ที่ทำแล้วไม่ยอมหยุด…ประเภท รวยแล้วไม่ยอมเลิกชั่ว อย่างนั้นแหละ…’ หนุ่มน้อยรายนี้มีการมองโลกที่ดี เขาก็จะมีชีวิตอยู่ในคุกค่อนข้างดีหน่อย แม้จะไม่สบาย แต่หากเขามองโลกในแง่ร้าย เขาจะมีทุกข์ทุกคืนวัน และจบชีวิตลงในคุกอย่างแน่นอน…

ความหลงผิดของมนุษย์ในโลกนั้น ก็เพราะคิดว่า คนอื่นรู้ไม่เท่าทัน… คนเราอาจหลอกลวงคนอื่นและหลบหลีกหนีเร้นได้บ้างบางครั้ง แต่..ก็ต้องมีสักครั้งหนึ่ง ที่ไม่สามารถหนีรอดจากบ่วงกรรม และต้องติดคุกอย่างยาวนาน เหมือนกับนักโทษไต้หวันที่กล่าวมา ..นี่..จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้คนทั้งหลายพึงสังวรไว้ว่า ต้องหมั่นทำความดี ที่สำคัญคือ ต้องฝึกฝนหาวิชาไว้เลี้ยงชีพ ฝึกปรือจนเหนือกว่าผู้อื่น อย่างน้อย ก็นิดหนึ่ง และ ไอ้ ‘นิดหนึ่งนั้น’ หมายความว่า เราต้องฝึกหัดพัฒนาซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเชี่ยวชาญ ทำงานสำเร็จได้ดั่งใจหมาย.. ประกอบเป็นอาชีพที่คนเชื่อถือ.. ว่าจ้างเราทำงานให้.. เมื่อเราเป็นผู้เชี่ยวชาญจนเป็นที่เชื่อถือ และมีอาชีพมั่นคงแล้ว… เราจะไปทำชั่วค้ายาเสพติดทำไม…เพราะยาเสพติด ทำให้ชีวิตผู้เสพ ไม่ใช่คนอีกต่อไป ส่วนผู้ค้า แน่นอน สุดท้าย ก็ต้องได้รับกรรม จองจำในคุกตราบนานเท่านาน ซึ่ง..ก็เป็นสิ่งที่สมควร…

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน

 

 

 

 

การคลอดฉุกเฉิน (Emergency Delivery)

การคลอดฉุกเฉิน (Emergency Delivery)

ข้าพเจ้าเกือบจะกลายเป็นจำเลยสังคมเสียแล้ว จากกรณีของคนไข้หญิงท้องแก่ ครรภ์ที่ 4 รายหนึ่ง เดินทางไปที่โรงพยาบาลเอกชนเล็กๆ ที่ข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษา ซึ่ง..ต่อมาคนไข้ได้กลับไปคลอดที่บ้าน และบุตรเสียชีวิต  เรื่องราวนี้ เกิดลุกลามใหญ่โต เป็นที่วิพากวิจารณ์ใน Social media เมื่อดาราใจบุญคนหนึ่งนำเรื่องไปเขียนใส่ไว้ใน facebook ….จริงๆแล้ว ! จำเลยสังคม น่าจะเป็นข้าพเจ้า.. แต่..เนื่องจาก สูติแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลแห่งนั้น ขออยู่เวรแทนที่ข้าพเจ้าในช่วงวันเสาร์อาทิตย์นั้น ข้าพเจ้าจึงรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว เรื่องราวก็เป็นดังที่ทราบโดยทั่วกันว่า คนไข้ ณ ขณะมาถึงโรงพยาบาลฯ ปากมดลูก เปิดมากถึง 8 เซนติเมตร พอเธอได้รับการบอกเล่าถึงค่าใช้จ่ายในการคลอด [18,000 บาท]..เธอก็ขอไปคลอดยังโรงพยาบาลรัฐใกล้เคียง เนื่องจากเงินที่เตรียมมาไม่พอ  แต่..จับพลัดจับผลู ยังไงไม่ทราบ เธอกลับบ้าน และคลอดบุตรอย่างกระทันหันที่นั่น…ผลคือ.. ลูกของเธอเสียชีวิต..จากการสำลักน้ำคร่ำ  

‘การคลอดฉุกเฉิน หมายความว่า อย่างไรหรือคะ?’ นี่คือคำถามที่คุณหมอท่านนั้นโทรถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองก็ตอบไม่ถูก แต่ได้อธิบายง่ายๆจากประสบการณ์ว่า ‘คือ การคลอดที่จะเกิดขึ้นในอีก ครึ่งถึง 1 ชม. ข้างหน้า ส่วนใหญ่มักเกิดในคนท้อง ที่ปากมดลูก เปิดตั้งแต่ 8 เซนติเมตรขึ้นไป โดยเฉพาะในท้องหลังๆ.. ซึ่ง..นับเป็นสิ่งสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะให้คนไข้ อยู่ในโรงพยาบาล (Admit) เพื่อเตรียมตัวคลอด.. คุณหมอไม่ควรปล่อยคนไข้เหล่านี้กลับบ้าน มิฉะนั้น ก็อาจเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้ดังตัวอย่างที่เล่ามา’

‘แต่..คนไข้รายนี้ขอกลับไปเองนะคะ’ คุณหมอท่านนั้นพูดเปรยๆขึ้นมา ‘ทางเราไม่ได้ขับไล่ไสส่งคนไข้’ ข้าพเจ้าฟังแล้ว ก็ไม่อยากพูดขยายความต่อ อย่างไรก็ตาม…ความผิดทางกฎหมายจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ได้ว่า คุณหมอมีประมาทเลินเล่อจริง ซึ่งคงต้องอาศัยความคิดเห็นจากคณาจารย์แพทย์จากราชวิทยาลัยสูติฯและพยานแวดล้อมมากมาย.. เรื่องราวคดีครั้งนี้คงยืดเยื้ออีกนาน..

ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน… ก็เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับการคลอด กับข้าพเจ้า เช่นกัน

เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คุณสุกัญญา อายุ 38 ปี ตั้งครรภ์ที่ 5 โดยมีบุตรอายุเรียงตามลำดับดังนี้ 18, 16, 12 และ 2 ขวบ เธอฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชน ที่ข้าพเจ้าเข้าเวรตอนกลางคืนพอดี คุณสุกัญญาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเพียงครั้งเดียว ก็เจ็บครรภ์มาคลอดเลย คุณสุกัญญามาถึงห้องคลอดตอนตีสี่ (4 นาฬิกา) พยาบาลห้องคลอดโทรศัพท์เข้ามาที่ห้องพักแพทย์เวร รายงานว่า ‘หมอ! หมอ!  มีคนไข้ท้องสี่ ท่าก้น รายหนึ่งมาที่ห้องคลอด เป็นคนไข้ของอาจารย์…(เจ้าของไข้ ขอสงวนนาม) คุณหมอช่วยมาตรวจภายในให้หน่อยสิคะ’ ข้าพเจ้ารู้สึกหงุดหงิดเล็กน้อย เพราะง่วงนอน และพยาบาลห้องคลอดเองก็ตรวจได้ แต่..ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร ฝืนใจเดินออกไปตรวจคนไข้ พอไปถึง ก็ต้องตกใจ เพราะหน้าท้องคุณสุกัญญาค่อนข้างใหญ่ ยิ่งเมื่อตรวจภายในให้กับคุณสุกัญญา ปรากฏว่า ปากมดลูกเปิดหมดแล้ว.. ส่วนก้นของทารกน้อย ย้อยลงมาในช่องคลอดค่อนข้างต่ำ อุจจาระเด็กไหลออกมากองที่ปากช่องคลอดเต็มไปหมด ตอนนั้น พยาบาลเพิ่งโทรติดต่ออาจารย์เจ้าของไข้ได้ อาจารย์ได้ขอสายพูดกับข้าพเจ้าว่า ‘พี่คงไป โรงพยาบาลไม่ทัน’ โดยขอให้ข้าพเจ้าช่วยผ่าตัดคลอดบุตรแทน

คุณสุกัญญาถูกส่งไปยังห้องผ่าตัดแบบฉุกเฉิน ข้าพเจ้าบอกให้พยาบาลห้องผ่าตัดฟอกหน้าท้องให้กับคุณสุกัญญาทันที และยังบอกพยาบาลในห้องผ่าตัดว่า ‘ปูผ้าคลุมหน้าท้องคนไข้ไปเลย ไม่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะตอนนี้ เพราะหากแยกขาของคนไข้  เด็กมีโอกาสจะหลุดลอด คลอดออกมาจากช่องคลอด ซึ่ง…อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต’

เมื่อปูผ้าสะอาดคลุมหน้าท้องของคุณสุกัญญาแล้ว ข้าพเจ้าสังเกตเห็นกระเพาะปัสสาวะโป่งพองขึ้นที่หน้าท้องตรงหัวเหน่า ข้าพเจ้าจึงขอใส่สายสวนปัสสาวะขณะนั้นเลย โดยขยับผ้าสะอาดบริเวณหัวเหน่าเลื่อนลงมาที่ปากช่องคลอดและสอดใส่สายสวนปัสสาวะอย่างระมัดระวัง โดยแหย่นิ้วเข้าไปในช่องคลอดก่อน เพื่อดันก้นทารกให้ลอยขึ้น จะได้ไม่กดช่องคลอดบริเวณแนวท่อปัสสาวะ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ข้าพเจ้าก็รีบกรีดมีดที่ผิวหนังบริเวณหัวเหน่าตามแนวขวาง (Pfannenstiel’s incision) หรือแนวขอบกางเกงใน..เพื่อความสวยงาม

พอผ่าตัดเข้าถึงตัวมดลูกของคุณสุกัญญา ข้าพเจ้าค่อยๆกรีดมีดที่บริเวณคอมดลูก โดยวางแนวให้สูงกว่ารอยต่อของกระเพาะปัสสาวะกับมดลูก (vesico-uterine reflexion) มากพอสมควร ..เนื่องจากกลัวเป็นอันตราย ต่อกระเพาะปัสสาวะ จากนั้น ก็ทำคลอดทารกท่าก้น อย่างระมัดระวัง… โชคดี!!  ที่ก้นของเด็กย้อยลงไปในอุ้งเชิงกราน ไม่มากนัก ข้าพเจ้าจึงล้วงขึ้นมาได้ มิฉะนั้น..คงทุลักทุเลอีกนาน ซึ่ง..ไม่เป็นผลดีต่อทารกน้อย   จากนั้น ก็ทำคลอดลำตัว และหัวตามลำดับ ทารกน้อยเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,760 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9 , และ10 ตามลำดับ (คะแนนเต็ม 10)

หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็รีบเดินทางไปผ่าตัดยังโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ขณะที่กำลังผ่าตัดอยู่นั้น พยาบาลห้องพักฟื้นโรงพยาบาลเอกชนเดิม ก็โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาว่า ‘หมอ!  หมอ!  คนไข้ท้องอืด และตกเลือดจำนวนมากออกมาทางช่องคลอด  ใช้ผ้าอนามัย 2 ผืนชุ่ม ในเวลา 2 ชั่วโมง’

‘ผมเย็บแผลผ่าตัดคลอดที่มดลูกถึง 3 ชั้น จึงไม่น่าจะเกิดจากเลือดออกจากแผลที่เย็บบนตัวมดลูกอย่างแน่นอน..ตอนนี้…ให้ใส่สาย NG tube (ท่อพลาสติกสายสวนกระเพาะ) ไปก่อน ส่วนกรณีที่ตกเลือดทางช่องคลอด ผมคิดว่า น่าจะเกิดจากภาวะ uterine atony (มดลูกไม่แข็งตัว) ก็ให้ Duratocin ไป 1 หลอด… อยากทราบว่า ตอนนี้ ความดันโลหิตของคนไข้เท่าไหร่ นะ’ พยาบาลคนนั้นตอบว่า ‘200/110 มิลลิเมตรปรอท’ ข้าพเจ้าสั่งการรักษาทางโทรศัพท์อย่างระมัดระวัง เพราะยาตัวอื่นที่ช่วยให้มดลูกแข็งตัว (Methergin) จะทำให้ความดันโลหิตพุ่งกระฉูดได้  ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้ยาหดรัดตัวมดลูกชื่อ Duratocin แทน..ซึ่งไม่มีผลต่อความดันโลหิต ..

‘แย่แล้ว!!  ทำไมคนไข้ถึงมีหลายโรคจัง ความดันโลหิตขนาดนี้ คนไข้ชักได้นะ’ ข้าพเจ้าอุทาน

‘เมื่อกี้ ตามอาจารย์ไม่ได้ เลยตามอาจารย์เจ้าของไข้ อาจารย์สั่งยา Adalat 5 มิลลิกรัมกิน ’ พยาบาลพูดต่อ ข้าพเจ้ารีบพูดแทรกว่า ‘ไม่ได้นะ หลังผ่าตัดคลอด ห้ามคนไข้กินอะไรทั้งนั้น แม้แต่น้ำ ซึ่ง..คนไข้อาจสำลักตายได้ แต่..คนนี้โชคดี ที่มีการต่อสายท่อพลาสติกเข้าไปในท้อง (NG tube) มันจะดูดน้ำออกมาเอง ตอนนี้ ให้เจาะ Adalat อมไต้ลิ้น..ยาจะออกฤทธิ์ผ่านการดูดซึมไต้ลิ้น แล้วอีก 10 นาที ก็เอาเม็ดยาออก จากนั้น ให้ตามอายุรแพทย์มาดู’ การที่ข้าพเจ้าให้ยา Duratocin  ก็เพราะยาตัวนี้ไม่มีผลต่อความดันโลหิตสูง มิฉะนั้น คนไข้อาจเสียชีวิตจากเส้นโลหิตในสมองแตก  ส่วนยา Adalat เจาะอมไต้ลิ้น จะช่วยลดความดันโลหิตอย่างรวดเร็ว เพียงชั่วคราว สรุปว่า ขณะนั้น คุณสุกัญญาดีขึ้น ทั้งอาการตกเลือด และความดันโลหิต

การตกเลือดจากช่องคลอดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage) มีหลายสาเหตุ ซึ่งที่พบมากที่สุดคือ มดลูกไม่หดรัดตัว (Uterine Atony) แต่..สาเหตุสำหรับรายนี้ที่จะทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ คือ การฉีกขาดของปากมดลูก ซึ่ง..เกิดจากการเย็บซ่อมปากมดลูกส่วนล่าง ไม่ดีพอ (Lower uterine segment tear) อย่างไรก็ตาม.. ในรายนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่น่าจะเกิดจากสาเหตุนี้

ในรายคุณสุกัญญา ข้าพเจ้าโชคดีที่วินิจฉัยถูก มิฉะนั้น คนไข้อาจถูกตัดมดลูกจากการตกเลือดได้ในกรณีที่เชื่อว่า เกิดจากปากมดลูกฉีกขาด และตกเลือดเข้าไปในท้อง เพราะท้องคนไข้ป่องขึ้นอย่างรวดเร็ว..สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างในรายนี้ที่เป็นไปได้ คือ Acute Gastric dilatation (กระเพาะพองตัว) ซึ่ง..แก้ไขด้วยการใส่ ท่อ NG tube (ท่อพลาสติกสายสวนกระเพาะ)

ตอนบ่าย คนไข้มีความดันโลหิตสูงขึ้นอีก อยู่ในราว 170/110 มิลลิเมตรปรอท อายุแพทย์เวร ไม่สามารถควบคุมความดันโลดหิตได้ คุณหมออายุรกรรมโทรศัพท์มาถามข้าพเจ้าว่า ‘ดิฉันให้ยา Aldomet กินไป ก็ลดความดันโลหิต ไม่ค่อยดีนัก อาจารย์คิดว่า จะทำยังไงต่อดี ’

‘ไม่ได้นะ!! คนไข้ห้ามกินยาทางปากหลังผ่าตัด แต่..รายนี้ โชคดี ที่ใส่ท่อ NG tube น้ำจึงถูกดูดออกมาทันที มิฉะนั้น คนไข้อาจสำลักน้ำเสียชีวิตขณะนอนหลับได้ ’ ข้าพเจ้าพูดแสดงความเห็นไป อายุรแพทย์ท่านนั้นพูดต่อว่า ‘อย่างนั้น หนูจะให้ยา Cardipine ทางเส้นเลือด ซึ่ง..คนไข้ต้องย้ายลง ห้อง ไอ.ซี.ยู นะ เพราะยาตัวนี้ต้องดูแลใกล้ชิดมาก’ ข้าพเจ้าเห็นด้วย…จากนั้น คนไข้ก็ถูกส่งลงไปนอนพักที่ห้อง ไอซี ยู..  คุณสุกัญญานอนพักที่นั่น คืนหนึ่ง  อาการต่างๆ ก็ดีขึ้น และส่งกลับหอผู้ป่วย ชั้น 6.. คุณสุกัญญาอยู่รอดปลอดภัย จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้

คนไข้รายนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ควรค่าแก่การนำมาวิเคราะห์ คือ 1. การทำคลอดท่าก้น หากทารกตัวใหญ่ เด็กอาจติดหัวเสียชีวิต 2. หลังคลอด คนไข้ตกเลือด ร่วมกับหน้าท้องป่องอืดขึ้น อาจวินิฉัยผิด เป็น ปากมดลูกฉีกขาดเย็บซ่อมผิดพลาด ตกเลือดเข้าไปในท้อง จำเป็นต้องผ่าเปิดหน้าท้องเข้าไปตรวจดูอีกที หากไม่แน่ใจ ก็ต้องตัดมดลูก 3. ความดันโลหิตสูงของคนไข้รายนี้น่ากลัวมาก อาจต้องวินิจฉัยเข้าข่าย ครรภ์พิษ คนไข้จะต้องได้รับยาอีกหลายขนาน อาทิ MgSO4 ซึ่งอันตรายมากพอสมควร แต่..ในความคิดเห็นของสูติแพทย์เก่าๆ เช่นข้าพเจ้า จะคิดเพียงว่า คนไข้น่าจะเป็น Chronic hypertension เพราะเป็นคนไข้ท้องหลัง และไม่มีอาการปวดหัว ตามัว จุกแน่นหน้าอก (Prodomal symptom) ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องให้ยาตัวนั้น

การคลอดฉุกเฉินนั้น น่ากลัวมาก โดยเฉพาะคนไข้ที่มีภาวะแทรกซ้อน ดังที่เล่ามา สูติแพทย์ แม้จะมีประสบการณ์ ยังอาจผิดพลาด นับประสาอะไรกับสูติแพทย์จบใหม่ ที่เพิ่งออกมาผจญภัยในสังคมยุคนี้ การผิดพลาดในการตัดสินใจรักษา แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นเรื่องใหญ่โตได้ด้วยสังคมออนไลน์ social media…แต่ถ้า เกิดเรื่องรุนแรงใหญ่โตกับคนไข้จริงๆละก็.. คุณหมอท่านนั้น คงแทบจะตกนรกไปเลย..

พ.ต.อ. นพ. เสรี  ธีรพงษ์  ผู้เขียน……..

 

 

 

   

ตกเลือดหลังคลอด จากรกค้าง (Retained pieces of placenta)

ตกเลือดหลังคลอด จากรกค้าง (Retained pieces of placenta)

เรื่องราวการตกเลือดหลังคลอดจากรกค้าง (Retained pieces of placenta) นั้น พบได้บ่อยในกรณีคนท้องตกเลือดหลังคลอดทันทีภายใน 24 ชั่วโมง (Immediate postpartum hemorrhage) แต่..กรณี คนไข้หลังคลอดที่กลับบ้านไปนานเป็นสัปดาห์ๆ แล้วต่อมาตกเลือดจากภาวะนี้ ในชีวิตข้าพเจ้า พบน้อยมาก  ยิ่งเวลาห่างออกไปหลังคลอด เป็นเดือนอย่างกรณีคนไข้รายนี้ ข้าพเจ้าไม่เคยพบเลย

ทุกคนคงรู้แล้วว่า การตกเลือดหลังคลอดนั้น เป็นสาเหตุการตายของสตรีตั้งครรภ์ ถึง 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตของทั้งหมด.. ดังนั้น การตกเลือดหลังคลอด จึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรระมัดระวังและใส่ใจยามตั้งครรภ์.. การตกเลือดหลังคลอด มี  2 อย่างด้วยกัน คือ ตกเลือดหลังคลอดทันที (Immediate postpartum hemorrhage)   และการตกเลือดหลังคลอด ภายหลัง 24 ชั่วโมง (Late postpartum hemorrhage)

สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะเล่าให้ฟังครั้งนี้ เป็นเรื่องราวที่ข้าพเจ้าแทบไม่เคยเจอเลย ตลอดระยะเวลาในการเป็นสูติแพทย์กว่า 20 ปี  ถึงแม้เรื่องราวที่เล่า จะเป็นเพียงเรื่องที่กล่าวในห้องประชุมวิชาการตอนเช้าของแผนกสูติฯ รพ.ตำรวจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกตื่นเต้นไปกับการรักษาแบบฉุกเฉิน แต่…เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพของสูติแพทย์เวรและอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด

คุณศิริลักษณ์ คือคนไข้ที่ว่านั้น เธออายุ 25 ปี สามีเป็นคนต่างประเทศ เธอตั้งครรภ์ที่ 2.. บุตรคนแรก เธอคลอดเองเมื่อ 9 ปีก่อน การคลอดในครั้งแรกก็คลอดแบบฉุกเฉินเช่นกัน ตอนนั้น เธอก็ทราบว่า เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด แต่คงด้วยความอยากมีบุตร เธอจึงไม่ได้ฝากครรภ์ เพราะหากฝากครรภ์ คุณหมอคงแนะนำให้ทำแท้ง.. สำหรับการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 คนไข้ไม่ได้ฝากครรภ์ที่ไหนเช่นกัน  จากการซักประวัติพบว่า เธอเคยเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ รพ. ยันฮี ด้วยเรื่องลิ้นหัวใจรั่ว เป็นเวลา 4 ปี และถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ศิริราช ด้วย เป็นระยะๆ…1 ปีก่อน คนไข้ ขาดการรักษาเกี่ยวกับภาวะหัวใจรั่วที่ รพ.ศิริราช แต่..ก็ได้ไปรักษาฉีดยาบางครั้งที่ รพ. รามคำแหง ยามที่เหนื่อยหอบ..  ต่อมา คุณศิริลักษณ์ ก็ขาดการรักษาแบบต่อเนื่อง อันเนื่องมาจาก เธอตั้งครรภ์…และไม่ต้องการทำแท้งบุตร

ระหว่างตั้งครรภ์ คุณศิริลักษณ์ไม่ได้ไปฝากครรภ์ที่ไหน อาจเนื่องจากเหตุผลข้างต้น…และสภาพทางเศรษฐกิจร่วมด้วย คนไข้ดำเนินการตั้งครรภ์ไปจนครบกำหนด ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจไปคลอดที่โรงเรียนแพทย์ คุณศิริลักษณ์ คลอดเอง (Vaginal delivery) ที่นั่นอย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา..จากการสอบถามของคุณแม่ เธอบอกว่า ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 2600 กรัม คลอดง่ายทั้งตัวลูกและรก  คนไข้ไม่มีการตกเลือดหลังคลอดทันที (Immediate postpartum hemorrhage) ในช่วงระยะแรก เธออยู่โรงพยาบาล 48 ชั่วโมง ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน.. เธอสุขสบายดีมาโดยตลอด จนกระทั่ง…

6 ชั่วโมงก่อนมาที่ รพ.ตำรวจ   คุณศิริลักษณ์มีเลือดออกจากช่องคลอดในลักษณะเป็นลิ่มๆ จำนวนมาก ประมาณ 1 ลิตร  จากนั้น เธอก็ปวดท้องน้อยตลอดเวลา.. เลือดยังคงไหลออกมาจากช่องคลอดไม่หยุดหย่อน  ผู้ป่วยไม่มีภาวะปัสสาวะแสบขัด แต่..มีอาการคลื่นใส้อาเจียน ..หลังจากตกเลือดไปสักพักหนึ่ง คนไข้ก็หมดสติ ญาตจึงนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ….ราวๆเที่ยงคืน

แพทย์ประจำบ้านสูติฯ และอายุรกรรมได้มาตรวจคนไข้รายนี้พร้อมกัน เพราะคนไข้มี 2 โรคร้ายแรงในตัวเธอ.. จากการตรวจร่างกาย  คุณศิริลักษณ์ เธอมีความดันโลหิต 90/60 มิลลิเมตรปรอท และลดลงเป็น 73/39 มิลลิเมตรปรอท (Shock) ชีพจรเต้นจาก 80 เพิ่มเป็น 130 ครั้งต่อนาที.. ในระหว่างที่รอเลือด ด้วยระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ใบหน้าของคนไข้ ก็ซีดเซียวลงอย่างรวดเร็ว.. ที่หัวใจ  ปรากฏมีเสียงฟู่ ฟู่ ดังมาก….เมื่อเปรียบเทียบจากผลการเอกซเรย์ปอด..หัวใจของคุณศิริลักษณ์ มีขนาดเทียบเท่ากับคนไข้หัวใจวาย ซึ่งไม่นานนัก เธอก็เหนื่อยหอบจนตัวโยน จากการตรวจภายใน พบว่า  ปากมดลูกของคุณศิริลักษณ์ เปิด 3 เซนติเมตร มีเลือดออกจากปากมดลูกตลอดเวลา จำนวนค่อนข้างมาก ประมาณ 1 ลิตร.. ตอนนั้น คนไข้เกือบจะหมดสติอีกครั้ง ซึ่งบรรดาคุณหมอก็พยายามดูแลอย่างใกล้ชิด  มดลูกของคุณศิริลักษณ์ มีขนาดเท่ากับอายุครรภ์ 16 สัปดาห์  ซึ่งหมายถึง มันยังไม่เข้าอู่ (Subinvolution ) ปกติ มดลูกจะเข้าอู่ประมาณ 2 สัปดาห์หลังคลอด ..แต่ในรายนี้ ไม่เป็นเช่นนั้น มดลูกมีขนาดเท่ากับคนท้อง 4 เดือนทีเดียว เราจึงจำเป็นต้องตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุให้ได้ ส่วนที่จะเป็นสาเหตุของการตกเลือดหลังคลอดมากกว่า 24 ชั่วโมงนั้น ที่พบบ่อย มีสาเหตุมาจาก 1. การติดเชื้อในโพรงมดลูก ซึ่งพบบ่อยกว่า… และ 2. รกค้าง (Retained pieces of placenta)  ….คุณศิริลักษณ์ ส่งเสียงร้องปวดครวญครางอย่างน่าเวทนาขณะที่คุณหมอกำลังคลำบริเวณหน้าท้องของเธอ  

จากการตรวจดูด้วยอัลตราซาวนด์ พบว่า มีก้อนชิ้นเนื้อสีเข้มอยู่ภายในโพรงมดลูกของคุณศิริลักษณ์ ขนาด 2×5 เซนติเมตร….. แต่ที่บริเวณปีกมดลูก  ไม่พบมีปัญหาใดๆ…นั่นหมายถึง มีเศษรกค้างในโพรงมดลูกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของการตกเลือด.. จากการเอกซเรย์ปอด พบว่า หัวใจของคุณศิริลักษณ์ค่อนข้างโต คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ก็มีผิดปกติ บางส่วน (inverted T in V1 – V6 ) สูติแพทย์เวรได้ปรึกษาเรื่องความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจของคุณศิริลักษณ์กับอายุรแพทย์ หน่วยหัวใจหลอดเลือดและวิสัญญีแพทย์ เพื่อขอนำคนไข้เข้ารับการขูดมดลูกในห้องผ่าตัด

สำหรับ ความเข้นข้นของเลือดคุณศิริลักษณ์ ตอนแรกรับ เท่ากับ 29% และ ลดลงเหลือ 25% ก่อนเข้าห้องผ่าตัด เพราะเสียเลือดไปในระหว่างรอเข้าห้องผ่าตัดไปไม่น้อย.. คุณศิริลักษณ์ ได้รับน้ำเกลือไป 2 ถุง รวมทั้ง ตัวเพิ่มขยายนำเลือด อีก 500 มิลลิลิตร ทั้งหมดนี้ ต้องให้อย่างระมัดระวัง เพราะมิฉะนั้น คนไข้จะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย

ที่ห้องผ่าตัด สูติแพทย์เวร ได้ทำการขูดมดลูกส่วนที่ค้างอยู่ โดยดูอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องควบคู่กันไปด้วย การขูดมดลูกกินเวลา ประมาณ 20 นาที ก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์ จากนั้น คุณศิริลักษณ์ ก็ถูกส่งไปเข้าห้อง ไอ.ซี.ยู.ศัลยกรรม อายุรแพทย์เวร เฝ้าดูคนไข้อย่างใกล้ชิด และคำนวณจำนวนน้ำเกลือ รวมถึงเลือดที่เข้าออกจากตัวคนไข้ อย่างระมัดระวัง   โดยคนไข้ได้รับเลือดไปในระหว่างผ่าตัดจำนวน  2 ถุง เพราะก่อนเข้าห้องผ่าตัด คนไข้เสียเลือดไปประมาณ 2500 มิลลิลิตร (2.5 ลิตร) และได้รับสารน้ำเพิ่มเติมในจำนวนใกล้เคียงกัน   แม้ถึงกระนั้น อายุรแพทย์ ยังเผลอบ่นออกมาดังๆว่า ‘ดูแลยากมาก.. คนไข้รอดจากตกเลือด ไม่รู้ว่า จะตายจากหัวใจวายหรือเปล่า??’  …คุณศิริลักษณ์พักอยู่ ห้อง ไอ.ซี.ยู. 2 วัน ก็ย้ายมาอยู่หอผู้ป่วยชั้น 5 ของกลุ่มงานสูติฯ อายุรแพทย์ หน่วยหัวใจ ยังติดตามมาดูแลอีก เพราะคนไข้มีโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดร่วมด้วย คุณหมอบอกว่า ‘น่าจะเป็นชนิดที่เรียกว่า Tetralogy of Fallot (TOF) ส่วนรอยรั่วที่ผนังหัวใจ มีโอกาสเป็นชนิด  ASD (Atrial septal defect) ค่อนข้างมากคุณหมอยังนัดคุณศิริลักษณ์เข้ามาตรวจ เผื่อว่าจะมีโอกาสเข้ารับการผ่าตัดหัวใจต่ออีก ถือว่า โชคดีมากๆเลย.. เธอพักอยู่โรงพยาบาลตำรวจ 5 วัน ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ นับว่า เป็นคนที่มีบุญวาสนารายหนึ่ง ซึ่ง..รอดพ้นจากมือของมัจจุราชมาได้อย่างหวุดหวิด

โลกเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าทางด้านวิทยาการทางการแพทย์ ทำให้ชีวิตมนุษย์ยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อว่า ไม่มีใครสามารถฝืนโชคชะตาแห่งชีวิตไปได้ ดังนั้น ขอให้ยึดมั่นในคุณความดี ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยเรา ทุกสิ่งทุกอย่างในด้านการรักษา ก็น่าจะผ่านพ้นวิกฤต..แต่ ภาวะแห่งทุนนิยมของโลก ที่ถาโถมเข้ามาในบ้านเมืองเรา ..อาจทำให้การรักษาของบ้านเรา ล้มละลายไปได้เช่นกัน เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาทุกอย่าง  ใช้เงินมากขึ้นทุกที… จนในที่สุด.. ชีวิตมนุษย์ อาจมีค่าน้อยกว่า อวัยวะบางส่วนของตัวเรา ก็เป็นได้..

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี   ธีรพงษ์  ผู้เขียน