ของขวัญวันแม่

ที่ประเทศไต้หวัน ในคืน ‘วันแม่’ ของปีหนึ่ง ลูกๆ 3 คนได้ซื้อของขวัญไปให้คุณแม่ท่านหนึ่งคนละชิ้น ลูกคนโต ซื้อถังน้ำ ลูกคนรองซื้อไม้ถูพื้น และลูกคนสุดท้องซื้อไม้กวาด คุณแม่ท่านนี้ เห็นของขวัญแล้วอดกลั้นน้ำตาไม่ได้ พลางคิดว่า ‘ตลอดเวลาที่ผ่านมา ลูกๆเห็นแม่ เหมือนคนไช้ ทำงานบ้านทุกเช้าค่ำ (คนใช้ในประเทศไต้หวันนั้น ขาดแคลนและค่าจ้างแพงมาก จะมีก็เฉพาะในบ้านของเศรษฐีเท่านั้น) ในใจจึงไม่เคยคิดถึงของขวัญอย่างอื่น ของขวัญอะไรก็ได้ แม้จะไม่มีราคา..แน่นอน!! ย่อมมีค่าสำหรับแม่เสมอ แต่..ทำไม ลูกๆ จึงมองแม่ตัวเองไม่เหมือนมารดาของคนทั่วๆไป’ คุณแม่ท่านนี้ เขียนเรื่องราวมาลงหนังสือพิมพ์ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ……ยังดี!! ที่สามีของเธอช่วยแก้ไข้ให้ว่า ‘ลูกๆเพียงแค่ล้อเล่น เท่านั้น’ ก็เป็นอันจบเรื่องราวของของขวัญเจ้าปัญหาครั้งนี้

ข้าพเจ้าเอง เป็นคนที่แย่กว่าลูกคนอื่นๆ เพราะใน ‘วันแม่’ ข้าพเจ้ามักจะรีบร้อน ตื่นขึ้นแต่เช้า กระวีกระวาดไปทำงาน ทำงานเสร็จ ก็เร่งขับรถกลับบ้านที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยไม่ทันได้ซื้อของขวัญอะไรไปฝาก เมื่อไปถึงบ้าน ข้าพเจ้าก็เพียงแต่พูดคุยสนุกสนานกับคุณแม่เท่านั้น เพราะในใจคิดว่า ‘ชีวิตลูกที่ปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง และยังมีแขนขาอยู่ครบ รวมทั้งมีสมองที่ปกตินั้น คือ ของขวัญของคุณแม่ข้าพเจ้า’

วันอังคารที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรประจำการห้องคลอด พอถึงโรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้าตรงดิ่งไปที่ห้องผ่าตัด ไม่ได้แวะไปที่ห้องคลอดก่อน เพราะต้องรีบไปสังเกตการผ่าตัดคลอดของคุณพรรณี โดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านอัลตราซาวนด์ (Maternal Fetal Medicine = MFM) เนื่องด้วย ลูกของคุณพรรณีมีลำไส้ทะลักออกมากองนอกสะดือ (Gastroschisis) ภาวะนี้พบเจอระหว่างฝากครรภ์จากการอัลตราซาวนด์ของคุณหมอท่านนี้ ข้าพเจ้าอาสาจะผ่าตัดคลอดให้ ท่านก็ไม่ยอม ประวัติอดีตของคุณพรรณี ก็ไม่มีใครในครอบครัวเคยเป็นเช่นนี้มาก่อน เธอมีอายุเพียง 20 ปี ตั้งครรภ์นี้เป็นครรภ์ที่ 2 , ลูกคนแรกของเธอ เป็นผู้หญิง อายุ 4 ขวบ แข็งแรงดี

ที่ห้องผ่าตัด กุมารแพทย์ พากันมาหลายคน เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือทารกรายนี้ ทำให้ห้องผ่าตัดแลดูแน่นขนัด การผ่าตัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทารกน้อยเป็นเพศชาย คลอดเมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกา น้ำหนักแรกคลอด 2,886 กรัม คะแนนศักยภาพแรกเกิด 8 และ 9 (เต็ม 10) ณ เวลา 1 และ 5 นาที ตามลำดับ ลักษณะความผิดปกติของทารกที่สังเกตได้ คือ มีกระเพาะ และลำไส้ออกนอกร่างกายตรงบริเวณสะดือ ทารกหายใจได้ดีพอสมควร และดิ้นไปมา หน้าตาสีแดงระเรื่อ ร้องเสียงดัง คุณหมอเด็กได้ใส่สายท่อพลาสติกลงไปในกระเพาะ (NG Tube) และดูดน้ำคร่ำ ที่เต็มไปด้วยขี้เทา (Moderate Meconium) ออกทิ้งอย่างมากมาย ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจไปกับคุณแม่ ที่เอียงคอทอดสายตาดูว่า ลูกของเธอเป็นเช่นไร คุณหมอเด็กหลังจากดูแลทำความสะอาด และห่อผ้าให้ความอบอุ่นแก่ทารกแล้ว ก็พาหนูน้อยไปให้มารดาดูสักครู่ ก่อนจะส่งต่อไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด

ตอนบ่าย ทารกน้อยลูกคุณพรรณี ก็ถูกส่งเข้าห้องผ่าตัดทางศัลยกรรม เพื่อผ่าตัดเอาลำไส้ และกระเพาะเข้าไปในข่องท้อง ซึ่ง..ปรากฏว่า คุณหมอสามารผ่าตัดเอากระเพาะและสำไส้ใส่กลับไปในช่องท้องได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ลำไส้ส่วนที่เหลือ ก็ห่อหุ้มด้วย Silo (หมายถึง ถุงที่ทำขึ้นเฉพาะ เพื่อห่อลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่) แขวนไว้กับแกนเหล็ก ทุกๆวัน จะมีศัลยแพทย์เวรแวะไปทำความสะอาด Silo และบิดเกลียวถุงบริเวณส่วนบน เพื่อบีบลำไส้ให้ไหลกลับเข้าไปในท้องเพิ่มขึ้น วันละเล็กวันละน้อย คาดว่า ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ลำไส้จะกลับเข้าไปอยู่ในช่องท้องจนหมด หลังผ่าตัด 2 วัน ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคุณพรรณี และพูดคุยกับญาติที่มาเยี่ยม คุณแม่สามีของเธอพูดว่า ‘น่าสงสารเด็ก ที่เกิดมา ก็ต้องเจ็บตัวเลย (หมายถึง ถูกผ่าตัด) ’

ข้าพเจ้าบอกคุณพรรณีและญาติว่า ‘เด็กเกิดใหม่ ระบบประสาทยังพัฒนาไม่ค่อยดี ดังนั้น เวลาคุณหมอผ่าท้อง เด็กจึงไม่ค่อยเจ็บ อย่าไปห่วงเลย เพราะลูกคุณพรรณี ปอดไม่มีปัญหา และไม่ปัญญาอ่อน วันสองวัน ก็กินได้ พวกคุณคงรออีกไม่นาน เมื่อใส่ลำไส้เข้าไปได้หมด ก็น่าจะไม่เป็นอะไรแล้ว เด็กคงจะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ประมาณ 1 – 2 เดือน’

ถัดจากกรณีของคุณพรรณี ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้กับคุณพัชรี (อายุ 23 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 และครรภ์แรกทำแท้งเมื่อ 2 ปีก่อน) เนื่องจากลูกของเธอมีกรวยไตและหลอดไตบวมโตทั้งสองข้าง (Bilateral Hydronephrosis and hydroureter) คุณหมอผู้ชำนาญอัลตราซาวนด์ได้ตรวจให้เธอโดยบังเอิญตอนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ โดยพบว่า กรวยไต (Pelvis) ของหนูน้อยกว้างกว่าปกติ ทั้ง 2 ข้าง คือ วัดได้ 1.2 และ 1.5 ซ.ม. (ค่าปกติ 6 – 8 ซ.ม.) คุณหมอได้ให้ความเห็นในใบตรวจว่า ‘คนไข้น่าจะคลอดเองได้ตามธรรมชาติ’ ด้วยเหตุนี้ คุณพัชรีจึงต้องนอนพักอยู่ในห้องคลอดหลังจากเจ็บครรภ์มาตอนกลางคืนวันจันทร์ เพื่อให้เธอคลอดเองช่องคลอดในเวลาต่อไป

พอข้าพเจ้าพบเจอคุณพัชรี ข้าพเจ้าก็มีความเห็นที่แตกต่างไปจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญอัลตราซาวนด์ กล่าวคือ ลูกคุณพัชรีเป็นเด็กมีปัญหา หากปล่อยให้คลอดในตอนกลางคืน และไม่มีกุมารแพทย์มาดูแลเป็นพิเศษ เด็กอาจจะแย่หรือเสียชีวิต ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงกำหนดให้ผ่าตัดในตอนกลางวันของวันนั้น

ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้กับคุณพัชรีอย่างช้าๆ โดยไม่ได้รีบร้อน ทารกน้อยเป็นเพศชาย คลอดเมื่อเวลาราวเที่ยงเศษ น้ำหนักแรกคลอด 3,185 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 10 และ 10 (เต็ม 10 ) ณ 1 และ 5 นาที ตามลำดับ ข้าพเจ้าเห็นสภาพเด็กครั้งแรก ก็สบายใจ เพราะเนื้อตัวเด็กมีสีแดงดี ร้องเสียงดัง หลังจากกุมารแพทย์ดูแลเบื้องต้น ก็นำเด็กมาให้คณแม่ดู ข้าพเจ้าเห็นเช่นนั้น ก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะยังไง ยังไง ก็ถือว่า ทำดีที่สุดแล้ว การที่เด็กสบายดี ไม่ได้หมายความว่า ข้าพเจ้าวินิจฉัยหรือตัดสินใจผิด….

พอตกตอนเย็น ขณะที่กำลังผ่าตัดคลอดบุตรให้กับคนไข้อีกรายหนึ่ง พยาบาลที่รับเด็กได้เล่าให้ฟังว่า ‘ลูกคุณพัชรี ตอนนี้ ย้ายจากห้องดูแลทารกเสี่ยง (High risk Room) ไปที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด เพราะทารกหายใจไวมาก จนหน้าอกบุ๋มทุกครั้งที่หายใจ’ หลังจากนั้น 3 วัน ข้าพเจ้าไปดูทารกน้อยที่ห้องไอ.ซี.ยู.ทารกแรกเกิด พบว่า ลูกคุณพัชรีมีอาการหายใจดีขึ้น ทารกไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจตั้งแต่แรกรับ แต่ใช้วิธี CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) คือ ใส่ท่อเข้าจมูกเด็ก เพื่อให้มีการหายใจช้าลง ร่วมกับให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ….ส่วนที่เป็นปัญหาและอาจเป็นสาเหตุให้หายใจไวในหนูน้อยรายนี้ ก็คือ โรคหัวใจรั่ว เนื่องจากหัวใจของเด็ก มีเสียงดัง ครื่นๆเหมือนเสียงคลื่นกระทบฝั่ง (Murmur) อย่างไรก็ตาม กุมารแพทย์วางแผนจะให้เด็กนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพียง 1 – 2 สัปดาห์ จากนั้น ก็จะให้กลับบ้าน และมาติดตามการรักษากับกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องหัวใจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ต่างประเทศ

ก่อนผ่าตัด ให้กับคุณพัชรี ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้กับคุณมลฤดีก่อน เนื่องจากลูกคุณมลฤดีอยู่ในสภาพที่ขาดก๊าซออกซิเจนจนถ่ายขี้เทา (Moderate meconium) ออกมา ขณะนั้น ปากมดลูกของเธอเปิดเพียง 2 เซนติเมตร และมีความบาง 75% ผู้ป่วยรายนี้ ตั้งครรภ์แรก และมานอนโรงพยาบาลตอนใกล้รุ่งของวันอังคาร พอนักศึกษาแพทย์รายงานในช่วงเช้า ข้าพเจ้าก็สั่งให้ทำการผ่าตัดทันที ต่อจากรายที่กำลังจะผ่าตัดตอนนั้น เนื่องจากทารกกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย แม้ว่า ตอนเช้าเด็กจะยังไม่มีปัญหา แต่กว่าทารกจะคลอดออกมา ย่อมต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ถึงเวลานั้นแล้ว ทารกน้อยลูกคุณมลฤดีต้องอยู่ในสภาพที่แย่มากๆ.. ขณะที่ข้าพเจ้าได้ตรวจเยี่ยมอยู่นั้น อัตราการเต้นของหัวใจเด็กอยู่ในราว 160 – 170 ครั้งต่อนาที นี่แสดงว่า ทารกกำลังอยู่ในภาวะcompensate อยู่ คือ ชดเชยสภาพขาดก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือดด้วยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ แต่..หากเนิ่นนานกว่านี้ สัก 8- 10 ชั่วโมง ทารกจะต้องอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อย่างมาก จนอาจเกิดพยาธิสภาพในสมองและเสียชีวิตในที่สุด

ข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดให้กับคุณมลฤดี เมื่อเวลาราว 11 นาฬิกา ทารกเป็นเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,710 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 10 และ 10 ณ เวลา 1 และ 5 นาทีตามลำดับ น้ำคร่ำตอนนั้นมีสีเขียวค่อนข้างข้นและยังมีจำนวนมากอยู่ อย่างไรก็ตาม กุมารแพทย์สามารถดูดออกจากจมูกปากและในกระเพาะของทารกจนหมด

คนไข้ผ่าตัดคลอดรายสุดท้ายของวันอังคาร คือ คุณนฤมล อายุ 17 ปี ตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ เธอมานอนโรงพยาบาลตั้งแต่วันอาทิตย์ ด้วยเรื่องน้ำเดิน ซึ่งแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่า ‘มีน้ำเดินจริง’ คุณหมอผู้ดูแลในเบื้องต้นได้ให้ยา Steroid (เชื่อว่า ช่วยพัฒนาปอดเด็กในครรภ์ระหว่างอายุครรภ์ 28 – 34 สัปดาห์) และใส่ผ้าอนามัยสังเกตการไหลออกของน้ำคร่ำ จากการสอบถาม ปรากฏว่า ‘น้ำคร่ำยังคงไหลออกมาเรื่อยๆ วันหนึ่งต้องใช้ผ้าอนามัย 1 ผืน’ ข้าพเจ้ายังไม่มั่นใจว่า ทารกจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ จึงส่งคนไข้ไปเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ คุณหมอที่ดู ประเมินว่า ทารกตัวค่อนข้างโต มีน้ำหนัก 2,170 กรัม ปริมาณน้ำคร่ำยังพอรับได้ (AFI = 6 เซนติเมตร) คุณหมอได้ให้ความเห็นแนบท้ายว่า ‘ทารกแข็งแรงดี และจะตรวจอัลตราซาวนด์ประเมินดูอีกทีในวันพฤหัส’ แต่.. ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เนื่องจากทารกได้รับยา Steroid ครบ 48 ชั่วโมงแล้ว ปอดเด็กน่าจะพัฒนาไปได้ดีพอที่จะออกมาสู่โลกภายนอกได้.. ประการสำคัญ คือ น้ำคร่ำของคุณนฤมลยังไหลออกมาเรื่อยๆ เกิดลูกของเธอเสียชีวิตจากการติดเชื้อ หรือสายสะดือถูกกดทับ ย่อมมีการกล่าวโทษกันว่า ‘เป็นความผิดของคุณหมอท่านโน้น ท่านนี้ ที่ไม่ตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้คนไข้เสียก่อน??’

ข้าพเจ้าผ่าตัดคลอดอย่างระมัดระวังให้กับคุณนฤมล เนื่องจากเด็กตัวค่อนข้างเล็กและบอบบาง ทารกเป็นเพศหญิง คลอดเมื่อเวลา 14 นาฬิกา 30 นาที น้ำหนักแรกคลอด 2,170 กรัม เท่ากับที่ทำนายไว้จากเครื่องอัลตราซาวนด์พอดี คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9 และ 10 ตามลำดับ ทารกถูกส่งไปที่ห้องดูแลทารกเสี่ยง (High risk Room) ลูกคุณนฤมล ไม่ได้แสดงอาการของทารกคลอดก่อนกำหนดเลย ดูดนมได้ดี และได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านในเวลาต่อมาไม่นานนัก

วันเวลา ผ่านล่วงไปอย่างรวดเร็ว ‘วันแม่’ มีให้เราเห็นอยู่ทุกปี แต่ ‘วันลูก’ จะมีปรากฏให้เห็น ก็เพียงวันเดียวเท่านั้น คือ ‘วันเกิด’ หากในวันเกิดนั้น คุณแม่ของพวกเด็กๆมีสภาพเหมือนคุณพรรณี คุณพัชรี คุณมลฤดี และคุณนฤมล โดยไร้คนดูแล เอาใจใส่ และเห็นใจ จากบุคลากรทางการแพทย์หลายๆฝ่าย ตั้งแต่ ฝ่ายพยาบาลห้องคลอด นักศึกษาแพทย์ แพทย์ ณ ที่ห้องคลอด ห้องดูแลทารกเสี่ยง ห้องไอ. ซี. ยู. ทารกแรกเกิด เด็กเหล่านี้อาจเติบโตมา โดยไม่มีสุขภาพ ที่แข็งแรงดี พอที่จะไปอวยพรมารดาในวันแม่ ได้หรอก …………

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *