ชีวิตของลูกผู้หญิงทุกคน หลังจากคลอดบุตรเพียงพอ ก็คงไม่นึกว่า จะมีปัญหาปวดร้าวใจเกี่ยวกับ ‘ภายใน’ ..ทุกคนมักคิดว่า เธอได้ทำหน้าที่ที่ควรสิ้นสุดแล้ว น่าจะถึงเวลาพักผ่อนเสียที ความจริง!! สิ่งที่ปวดหัวกำลังจะเริ่มต้น เพราะว่าวันหนึ่ง เมื่อฮอร์โมนเพศในร่างกายหมด เอ็นต่างๆ รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ยึดโยงมดลูก ก็จะหย่อนยาน ลดความยืดหยุ่นลงไป สุดท้าย มดลูกก็จะถูกผลักดันลงสู่ด้านล่างทีละน้อย ทีละน้อย ในที่สุด ก็จะหลุด โผล่พ้นออกมาจากปากช่องคลอด
แทบไม่อยากเชื่อเลยว่า คุณป้าทองคำจะสามารถทนทุกข์ทรมานกับก้อนที่โผล่ออกมาจากช่องคลอดได้นานหลายปี คุณป้าทองคำมาหาหมอตรวจภายในด้วยเรื่องมดลูกหย่อนยานตั้งแต่เมื่อ 2 – 3 ปีก่อน โดยมีประวัติว่า มีก้อนโผล่ที่ปากช่องคลอดมานาน 4 -5 ปี ตอนแรกๆ ก็โผล่ออกมาน้อยๆ ก้อนจะโผล่ออกมาเวลาไอ จาม เบ่งถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ แต่ก็สามารถดันกลับเข้าไปได้ ต่อมา ก้อนก็ผลุบๆโผล่ๆออกมามากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่นำคุณป้ามาหมอ คือ เริ่มมีแผลบนตัวก้อน ลักษณะเป็นแผลถลอกปอกเปิก คุณป้าทองคำได้มาพบนรีแพทย์เป็นระยะ ๆ คุณหมอหลายท่านได้ทำความสะอาด ดูแลเรื่องบาดแผลและติดตามการรักษามาตลอด แต่..คุณหมอเหล่านั้น ก็ไม่ได้วางแผนที่จะผ่าตัดให้ เนื่องจากคุณป้าอายุมาก ถึง 75 ปี และมีโรครุมเร้ามากมาย
คุณป้าทองคำมีบุตร 8 คน คนสุดท้องอายุ 28 ปี บุตรทุกคน คลอดเองตามธรรมชาติ นอกจากนั้น คุณป้ามีประวัติป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เบาหวาน และหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac
Atrial fibrillation) ด้วย เมื่อปีก่อน คุณป้าได้รับการสวนเส้นเลือดหัวใจ เพื่อลอกก้อนเลือดในหลอดลือดเส้นหนึ่ง ที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Cardiac Catheterization).. นี่เอง!!! เป็นเหตุให้คุณหมอหลายท่านไม่กล้าผ่าตัด
วันเวลาล่วงไป ต้นเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ คุณป้าทองคำได้มาตรวจจภายในกับข้าพเจ้า พร้อมกับขอร้องให้ช่วยผ่าตัดให้ เนื่องจากก้อนที่โผล่จากช่องคลอดนั้น ทำความลำบากให้กับคุณป้าอย่างมาก และมีบาดแผลถลอกเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ข้าพเจารู้สึกสงสาร จึงกำหนดวันผ่าตัดให้ทันที โดยให้คุณหมอทางอายุรกรรม ช่วยประเมินว่า การผ่าตัดเอามดลูกออกทางช่องคลอดนั้น จะมีอันตรายกับชีวิตคุณป้ามากน้อยแค่ไหน? ผลปรากฏว่า คุณหมอทางอายุรกรรม ตอบมาว่า ไม่น่าจะมีปัญหา… ข้าพเจ้าจึงส่งคุณป้าทองคำไปเจาะเลือดและให้คุณหมอทางอายุรกรรมควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด รวมทั้งหยุดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดด้วย เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนผ่าตัด
ที่ห้องผ่าตัด คุณป้าทองคำอยู่ในท่าขึ้นขาหยั่ง โดยมีการรัดผ้ายืดที่เท้าทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข็งตัวของเลือดที่เท้า ซึ่งอาจหลุดกระเด็นเข้าไปอุดเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจ อันเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้ ข้าพเจ้าใช้มีดกรีดรอบๆ ปากมดลูกเป็นวงกลม ลักษณะเหมือนขวั้นรอบปากมดลูกห่างจากปากมดลูกขึ้นไปประมาณ 1 นิ้วมือ จากนั้น ก็ดันผิวหนัง (Vaginal mucosa) ให้แยกชั้นกับเนื้อเยื่อส่วนพื้น ให้เลื่อนตัวขึ้นไป แล้วก็ใช้เครื่องมือ ที่ชื่อ Allis 2 ตัว จับช่องคลอดตรงบาดแผลรอยขวั้นด้านข้างใต้ (Posterior) และใช้กรรไกรตัดเลาะจนสามารถทะลุเข้าไปในช่องท้องได้ ซึ่ง..จะตรงกับบริเวณในช่องท้องที่เรียกว่า Culdesac
เมื่อข้าพเจ้าสามารถเจาะทะลุเข้าไปในช่องท้อง โดยผ่านทางช่องคลอดได้แล้ว ก็ไม่เป็นการยากที่จะตัดมดลูก เนื่องจากปัจจุบัน มีเครื่องมือ ที่เรียกว่า Bi-clamps เครื่องมือชนิดนี้ช่วยให้หมอทำผ่าตัดได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อจับหนีบเนื้อที่ต้องการตัดแล้ว พอปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไป ก็จะมีผลให้เส้นเลือดบริเวณนั้นเหือดแห้งอย่างสนิท พอใช้กรรไกรตัด เนื้อตรงนั้น ก็จะขาดโดยไม่มีเลือดออกสักนิด ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงสามารถตัดช่องคลอดส่วนล่างตรงรอยกรีด (ขวั้น) รอบปากมดลูกออกไปทางด้านข้างขวาครึ่งหนึ่งของเส้นรอบวง ระหว่างนั้น ข้าพเจ้าได้เจาะทะลุช่องคลอดส่วนบนตรงกลางๆ ตรงรอยที่กรีดไว้ เพื่อเป็นช่องทางในการผาตัดช่องคลอดในแนวลงล่าง เพื่อให้บรรจบกับการผ่าตัดจากล่างสู่บน ข้าพเจ้าทำแบบเดียวกันทางด้านซ้าย จนบรรจบกัน ทำให้มดลูกขาดออกจากส่วนยึดติดทั้งหมด
ข้าพเจ้านำเอามดลูกออกทางช่องคลอด จากนั้น ก็เย็บปิดช่องคลอดส่วนนั้นจนสนิท หลังจากนี้ ก็เป็นการตกแต่งช่องคลอด ทั้งส่วนล่างแ ละบน (Anterior & Posterior Repair)
การตกแต่งช่องคลอดในรายนี้นั้น ถึงแม้ไม่ยาก แต่เนื่องจากช่องคลอดยื่นออกมามาก จึงต้องตัดหนังช่องคลอดส่วนเกินออกจำนวนมาก ข้าพเจ้าเริ่มทำการผ่าตัดช่องคลอดส่วนบนก่อน โดยกรีดเป็นรูปขนมเปียกปูน กะคำนวณให้พอเหมาะ แล้วตัดเลาะหนังช่องคลอดออกตามแนวที่กรีดเป็นแนวไว้ก่อนนั้น การเลาะเป็นไปไม่ยากนัก เวลาเย็บกลับ ข้าพเจ้าใช้ด้ายที่ทำจากเอ็นหนังแกะเบอร์ 0.. เย็บเป็นแนว 2 ชั้นแบบวนติดต่อกัน ทีละ Stitch หมายถึง เย็บผูกและตั้ดเป็นครั้งๆ จนสุดปลายแผลทั้งหมด การตกแต่งช่องคลอดส่วนลาง ก็ทำคล้ายๆกัน เพียงแต่มีการเย็บกล้ามเนื้อส่วนลึกอีก 3 ตำแหน่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนล่างแน่น แข็งแรง และช่องคลอดแคบลง เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด ก็อัดผ้าก๊อสไว้ 1 คืน เพื่อไม่ให้เลือด ซึมออกตามบาดแผลรอยเย็บ
คุณป้าทองคำนอนพักหลังผ่าตัดในหอผู้ป่วยชั้น 4 มาตลอด เผอิญ!! หลังผ่าตัด ก็ติดช่วงวันหยุด วันเสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งตามระบบ คุณหมอเวรจะช่วยดูแลคนไข้ต่อ พอมาถึงวันจันทร์ พยาบาลหอผู้ป่วย โทรศัพท์ปรึกษาข้าพเจ้าตั้งแต่เช้าว่า ‘คุณป้าทองคำมีไข้ขึ้นสูงมาก คนไข้รับประทานอาหารได้น้อย คุณป้านอนซมอยู่บนเตียงตลอดเวลา ช่องคลอดมีของเหลวคล้ายหนองไหลออกมาจำนวนมาก และมีกลิ่นเหม็นแทบจะสุดทน’
ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจมาก และรีบไปดูคนไข้ ปรากฏว่า คุณป้าทองคำมีไข้ขึ้นสูงมาก และปากช่องคลอดบวมแดง มีหนองไหลออกมาจากช่องคลอดกลิ่นเหม็นคลุ้ง เหมือนกลิ่นของช่องคลอดคนไข้มะเร็งปากมดลูก ข้าพเจ้ารีบเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อจากยากินธรรมดาเป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 3 ชนิด โดยเน้นยาที่ครอบคลุมเชื้อโรคกลุ่มที่ไม่ใช้ก๊าซออกซิเจน (Anaerobe) ขณะเดียวกัน ก็รีบล้างช่องคลอด ด้วยน้ำผสมยาฆ่าเชื้อ Betadine จำนวนมาก ล้างจนสะอาด และวางแผนจะล้างช่องคลอดทุกวัน ไข้ของคุณป้าทองคำเริ่มลงหลังจากดำเนินการดังกล่าว 3 วัน ปากมดลูกลดอาการบวมแดง และไม่มีของเหลวหรือกลิ่นเหม็นออกมาจากช่องคลอดอีก คุณป้าทองคำได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้หลังจากนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 10 วัน
1 สัปดาห์ถัดมา คุณป้าทองคำมาติดตามผลการรักษาที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ข้าพเจ้าได้ตรวจภายในให้กับคุณป้า พบว่า แผลเย็บภายในช่องคลอดติดกันสนิทดีพอสมควร แต่ยังมีรอยแดง และเปื่อยยุ่ยเล็กน้อย ข้าพเจ้าได้ล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อให้กับคุณป้าทองคำและนัดมาตรวจซ้ำในอีก 1 สัปดาห์
จากการสอบถามลูกสาวคุณป้าและตัวคุณป้าทองคำเอง พบว่าคุณภาพชีวิตของคุณป้าดีขึ้น ส่วนที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง คือ เวลาปวดปัสสาวะ คุณป้าทองคำจะกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้ยากินเพิ่มเติม เพื่อควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ อันมีผลคนไข้ให้สามารถกลั้นปัสสาวะได้
ความผิดพลาดสำหรับคนไข้รายนี้ คือ หากข้าพเจ้าไม่ได้มาดูในช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายๆวัน และไม่มีการโทรศัพท์ตามตัว คุณป้าทองคำอาจมีการติดเชื้อที่แผลช่องคลอดรุนแรงจนเข้าสู่กระแสเลือด (Sepsis) และเสียชีวิตได้ในที่สุด โชคดี!! ที่ข้าพเจ้ามีบุญ ได้รับทราบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเสียก่อน และแก้ไขทัน.. ผลสุดท้าย จึงลงเอยอย่างน่าพอใจ
ภาวะก้อนมดลูกหลุดโผล่ออกมาจากช่องคลอด (Procedentia Uteri) นี้ พบบ่อยๆในผู้หญิงที่คลอดบุตรเองทางช่องคลอด ยิ่งคนไข้คลอดยาก ยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมาก สมัยก่อน ก็เพียง ทำผ่าตัดเอามดลูกออกทางช่องคลอดเท่านั้น แต่ปัจจุบัน นอกจากผ่าตัดเอามดลูกออกแล้ว ยังสามารถเย็บแขวนช่องคลอดส่วนที่เย็บเข้ากับกระดูก Sacrum ไม่ให้ช่องคลอดกลับมาโผล่ที่ช่องคลอดได้อีก ซึ่งวิธีการนี้ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
โลกเรา ก็มักเป็นเช่นนี้ ‘เกิดเป็นหญิง แท้จริงแสนลำบาก’ ผู้หญิง..บุคคลที่สร้างสรรค์หลายสิ่งหลายอย่างให้กับโลก สุดท้าย ก็ต้องมารับเคราะห์ด้วยการมีโรคเวรโรคกรรม มีก้อนมดลูกโผล่ออกมาจากช่องคลอดอีก โชคดี!! ที่ปัจจุบัน มีวิธีการผ่าตัดรักษาช่วยเหลือได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ถึงกับเหมือนธรรมชาติที่มีมาแต่เดิม ข้าพเจ้าคิดว่า วิธีการป้องกันที่ดีวิธีหนึ่ง ก็คือ การผ่าตัดคลอดเอาบุตรออกท่างหน้าท้อง แม้จะไม่ทำให้รู้สึกลึกซึ้งถึงความเป็นแม่ แต่ ก็ไม่เป็นการทำร้ายร่างกายลูกผู้หญิงเมื่อภายหลัง…………..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ.เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน