วีรบุรุษ ในสมรภูมิคลอด

“คนเราเกิดมาในชีวิต ก็มักจะมีความคิดในใจถึงวีรบุรุษตนเสมอว่า คนผู้นั้น คือผู้ยิ่งใหญ่ และสร้างคุณความดีมามากมายในสายตาของเรา.. แต่..บางที วีรบุรุษของเรา ก็อาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด ก็ได้… เพราะอะไรหรือ???… ทั้งนี้ ก็เพราะ วีรบุรุษ จำนวนหนึ่ง ชีพดับสูญ หรือไม่ก็ เสียสละมากเกินไป จนเสียหายกับชีวิตที่เหลืออยู่… อีกจำนวนหนึ่ง รอดชีวิต จากการหลบหลีกเอาตัวรอดอย่างชาญฉลาด..ข้าพเจ้าดูหนังเรื่องหนึ่ง ชื่อ ‘วีรบุรุษฮั้วหยวนเจี่ย’ จากหนังเรื่องนักชกผู้พิชิต.. ฮั่วหยวนเจี่ย เสียสละ ทั้งชีวิต เพื่อให้คนจีนในชาติมีสุขภาพที่แข็งแรง สุดท้าย ก็ถูกวางยาพิษจากคนจีนขายชาติ เสียชีวิตหลังจากชนะเลิศในการแข่งขันชกมวยระดับนานาชาติ ซึ่ง..เมื่อนำเอามาเปรียบเทียบกับชีวิตจริงแล้ว มันใกล้เคียงกันมาก…….ในโลกวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะ ‘การดูแลรักษาคนท้องในห้องคลอด’ นั้น เป็นเรื่องยากที่จะหาพบ ’วีรบุรุษ’ สักคน… เมื่อลองเทียบเคียงกับสมรภูมิรบ จะเห็นว่า… ยามสงคราม วีรบุรุษ คือผู้ที่พลีชีพ อย่างกล้าหาญในการรบ …..หลายวันมานี้ มีสูติแพทย์น้องๆมาเล่าเรื่องราวที่น่าสยดสยอง 2 – 3 เรื่องในห้องคลอดให้ข้าพเจ้าฟัง.. แต่ละเรื่อง ข้าพเจ้าฟังแล้ว ใจแทบช็อค และมักอุทานออกมาทันทีเลยว่า ‘โชคดี ที่ข้าพเจ้าไม่ได้รับผิดชอบในเวรวันนั้น’คุณหมออรพินทร์ เล่าว่า ‘หนูตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับคนท้องรายหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชน (ขอสงวนนาม) ซึ่ง..ใกล้กำหนดคลอดแล้ว ปรากฏว่า ทารกหัวใจไม่เต้น.. หนูแทบจะบ้าตาย..เพราะไม่รู้จะพูดกับคนไข้และสามียังไง??.. เมื่อส่ง case (คนไข้) คืนให้คุณหมอเจ้าของไข้.. คุณหมอก็ได้พยายามช่วยเหลืออย่างดีที่สุด ด้วยการนำคนไข้ไปผ่าตัดคลอด.. ที่ไหนได้!! ตอนทำคลอด….คุณหมอท่านนั้นไม่สามารถดึงเอาตัวเด็กออกจากมดลูกได้..เพราะอะไร พี่ทราบไหม? น่ากลัวมากเลย.. ที่เป็นเช่นนั้น เพราะสายสะดือรัดตัวเด็กอย่างแน่นหนา เสมือน ต้นไม้ที่ถูกรัดพันเกี่ยวด้วยเส้นเถาวัลย์ทั้งเครือ……สภาพทารก ตอนนั้น ถูกสายสะดือรัดรึงพันเกี่ยวเริ่มจากที่แขน, แล้วโยงขึ้นไปเกี่ยวคอ จากนั้น ก็ม้วนลงมาพันขา และสลับขึ้นไปพันคอเด็กอีก 2 – 3 รอบ จนคุณหมอไม่สามารถดึงตัวเด็กออกมาจากมดลูกได้ คุณหมอค่อยๆ ตัดสายสะดือ ทีละจุด ทีละจุด ตามแนวของสายสะดือที่ มันเกี่ยวพันร่างกายทารก..จึงสามารถเอาตัวเด็กออกมาได้… เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้น!! คุณหมอก็ได้แต่ปลงสังเวช… ’ คุณหมออมรรัตน์ ซึ่งอยู่เวรที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เล่าให้ฟังว่า ‘ วันนั้นเป็นวันศุกร์ เวลา ประมาณ 5 ทุ่ม คุณหมอเวรที่ห้องฉุกเฉิน โทรศัพท์ขึ้นมาที่ห้องพักแพทย์เวร บอกว่า มีคนไข้ครรภ์พิษมาที่ห้องฉุกเฉิน …พอหนูลงไปดู ก็ต้องตกใจ ขอโทษนะพี่… มันเหมือนกับ “.อึ่งอ่างยักษ์” นอนอยู่บนเตียง.. คนท้องอายุ 30 ปี ท้องแรก มีสภาพร่างกายบวมทั้งตัว น้ำหนักราว 120 กิโลกรัม ใบหน้าสีแดงกร่ำ นอนหงายลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน หายใจตื้นๆ รวยระริน .. คล้ายคนใกล้จะหมดลมหายใจ…..เมื่อพยาบาลวัดความดันโลหิต พี่รู้ไหม?? หนูแทบจะช๊อค ความดันโลหิตของคนไข้ เท่ากับ 230/130 มิลลิเมตรปรอท ตอนนั้น หนูก็นึกถึง HELLP (ครรภ์พิษที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงสุด) เหมือนกัน แต่..ต้องรอ ยืนยันจากผลทางห้องปฏิบัติการก่อน’‘พี่นั้น กลัวที่สุดเลย ที่เจอะเจอคนไข้แบบนี้’ ข้าพเจ้าพูดยอมรับ แบบไม่อาย เพราะคนไข้เช่นนี้ แม้อยู่ในโรงเรียนแพทย์ ก็อาจเสียชีวิตได้ ข้าพเจ้าถามต่อว่า ‘แล้วเธอ management ยังไง?’คุณหมอตอบว่า ‘สักพักหนึ่ง ผลเลือดของคนไข้ ก็มา ปรากฏว่า คนไข้ เป็น HELLP จริงๆ คราวนี้แย่เลย…หนูรีบอธิบายให้กับสามีและญาตๆของคนไข้ฟังว่า คนไข้กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตมากๆ และอาจเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกในสมอง ตอนนั้น เกล็ดเลือดคนไข้ มีแค่ 20,000 เท่านั้น หนูรีบ Knock คนไข้ (ทำให้หมดสติ ด้วยมอร์ฟีน)… ใส่ท่อช่วยหายใจ แล้วให้ Magnesium sulphate (ยากันชัก) เข้าเส้นเลือดดำ 4 กรัมก่อน แล้วหยดทางเส้นเลือดต่ออีก ชั่วโมงละ 2 กรัม’ มิฉะนั้น คนไข้ จะดิ้นไปมา ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายคนไข้และลูกรอดชีวิต เนื่องจากคุณหมอไม่ต้องการเป็นวีรสตรี จึงได้ส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลรัฐระดับศูนย์การแพทย์ (Tertiary referral hospital) คนไข้ได้รับการผ่าตัดคลอดทันทีหลังจากแก้ไขเรื่องเกล็ดเลือด รวมทั้งปัจจัยการแข็งตัวของเลือด…คุณแม่ปลอดภัย ความดันโลหิตและภาวะบวมลดลงอย่างรวดเร็ว.. ส่วนลูกของคนไข้ ถูกส่งตัวเข้าไปนอนใน ห้อง ไอ.ซี.ยู ทารกแรกเกิด ภาวะ HELLP syndrome (กลุ่มอาการ เฮลพ์) เป็นกลุ่มอาการของโรคครรภ์พิษรุนแรงที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นในราว 25% ของการตั้งครรภ์ที่เป็นครรภ์พิษ… \”H\” หมายถึง hemolysis (ปรากฏการณ์ที่เม็ดเลือดแดงแตก) \”EL” หมายถึง เอ็นไซมฺของตับมีค่าสูงขึ้น (elevated liver enzymes) และ \”LP\” หมายถึง เกล็ดเลือดต่ำ (low platelet count) เมื่อพบคนไข้เหล่านี้ การรักษา คือ ผ่าตัดคลอดทันที ภายหลังแก้ไขเรื่องปัจจัยการแข็งตัวของเลือดเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ต้องได้รับการดูแล และเตรียมการอย่างดีก่อนผ่าตัดคลอด ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ตับแตกปริ (liver rupture), เลือดจางมากๆจากการที่เม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia), มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ.. ที่อันตราย คือ เลือดออกในสมอง (bleeding), และเสียชีวิต (death) [แม่และลูกมีโอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 1.1 และ 10 – 60% ตามลำดับ]ถัดมา หมอรวิวรรณ เล่าว่า ‘เมื่อสัปดาห์ก่อน มีคนท้องรายหนึ่ง ครรภ์ที่สอง มาที่ห้องคลอด.. หน้าท้องสูงใหญ่มาก แต่การ progress (กระบวนการคลอดดำเนินไป) ค่อนข้างดี.. พี่รู้ไหม? เด็กหนักเท่าไหร่ ไม่น่าเชื่อเลย ทารกหนักถึง 4,950 กรัม พยาบาลเป็นคนทำคลอด.. โชคดี คนทำคลอดเป็นพยาบาล 2 คนที่มีประสบการณ์สูง ช่วยกัน พยาบาลคนหนึ่งดึงหัวลงล่างแบบสุดแรงเกิด พยาบาลอีกคนกดที่หัวเหน่าคนไข้ ออกแรงสุดชีวิต ทารกติดไหล่อยู่ประมาณ 3 นาที ในที่สุด ทารกก็หลุดออกมาจากช่องคลอดได้ แบบไหล่ไม่หัก และไม่มีภาวะแขนเดี้ยง (Erb’s palsy ) เมื่อวิเคราะห์ว่า ทำไมเด็กตัวใหญ่ขนาดนั้น ถึงคลอดได้ ปรากฏว่า จากการตรวจร่างกายมารดา เธอมีกระดูกหัวเหน่าแยกค่อนข้างมาก (Pubic symphysis separation) ซึ่งจะมีคุณแม่สักกี่คนที่มีภาวะนี้ ’ข้าพเจ้าฟังแล้ว ขนหัวลุก บอกไม่ถูกว่า รู้สึกยังไง?? แต่..ขออย่าได้เจอคนไข้ดังที่เล่ามาเลย ตัวข้าพเจ้าเอง ช่วงนี้ ก็เจอคนไข้รายหนึ่งที่นาจดจำเหมือนกัน ชื่อ คุณฉวี อายุ 28 ปี ครรภ์ที่ 2 มาที่ห้องคลอด ด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ มดลูกแข็งตัวทุกๆ 5 นาที…ประวัติอดีต เธอคลอดบุตรครรภ์แรกแบบธรรมชาติ… ได้บุตรชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,000 กรัม คุณฉวี มาถึง ห้องคลอด ตอน ทุ่มหนึ่ง ปากมดลูกเปิด 4 เซนติเมตร ความบาง 50% มดลูกแข็งตัว ทุก 5 นาที นักศึกษาแพทย์เวรวันนั้น โทรศัพท์บอกข้าพเจ้าว่า ‘มีคนไข้ท้อง 2 มาที่ห้องคลอด อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ 5 วัน ศีรษะทารก engage (เข้าสู่อุ้งเชิงกราน) แล้ว อาจารย์ จะให้ทำยังไง??’‘คนไข้รายนี้ ท้องที่ 2 คงคลอดง่าย…..เจาะถุงน้ำคร่ำไปเลย แล้วเร่งคลอดไปด้วย’ ข้าพเจ้าตอบไปทางโทรศัพท์ ตามสัญชาตญาณ แต่..หลังจากนั้น ก็หยุดสักนิด เหมือนคิดอะไรขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่า ‘เออ!! น้องคิดว่า เด็กหนักเท่าไหร่?’ ‘อาจารย์!!! ลืมบอกไป .. เด็กตัวใหญ่มาก ขนาดหน้าท้องของคนไข้ คือ ความสูง 4/4 เหนือระดับสะดือ’ นักศึกษาแพทย์ตอบมาทางโทรศัพท์‘หยุดก่อน!!…อย่าเพิ่งทำอะไรทั้งนั้น.. ห้ามเจาะถุงน้ำคร่ำ..เด็ดขาด ..พี่กำลังเดินทางไป ให้รอก่อน และเตรียมคนไข้ ไว้ผ่าตัดคลอดด้วย ’ ข้าพเจ้าบอกกับนักศึกษาแพทย์ จากนั้น ก็รีบขับรถบึ่งไปให้ถึงโรงพยาบาลเร็วสุดเท่าที่จะทำได้ พอไปถึงห้องคลอด คุณฉวีก็ได้รับการเตรียมตัว เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าตรวจดูคุณฉวีอีกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่า ไม่วินิจฉัยผิด หลังจากนั้น พยาบาลก็รีบเข็นคุณฉวีส่งไปที่ห้องผ่าตัด…ที่ห้องผ่าตัด..ข้าพเจ้าสังเกตว่า ความสูงของยอดมดลูกนั้น อยู่ชิดติดกับยอดอกเลยทีเดียว…คะเนคร่าวๆว่า ทารกน่าจะอยู่ในราว 4 กิโลกรัม..ไม่รอช้า!! ข้าพเจ้ารีบกรีดมีดลงบนผนังหน้าท้องของคุณฉวี ตามแนวขอบกางเกงใน (Pfannenstiel incision) เลาะกล้ามเนื้อลงไปจนถึงตัวมดลูกและกรีดตามแนวขวางที่คอมดลูทะลุจนถึงถุงน้ำคร่ำ เมื่อเจาะถุงน้ำคร่ำเข้าไป ปรากฏว่า น้ำคร่ำสีเขียวข้นของขี้เทาเด็ก (Meconium) ทะลักออกมาตามรอยแผลผ่าตัด ข้าพเจ้ารีบทำคลอดทารก พอเห็นส่วนหัว ก็รู้เลยว่า ทารกน้อยตัวใหญ่มาก …ทารกน้อยคลอดเมื่อเวลา 20 นาฬิกา 36 นาที น้ำหนักแรกคลอด 4,020 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด 9, 10 (จากคะแนนเต็ม 10) ที่เวลา 1 และ 5 นาที ตามลำดับข้าพเจ้าถอนหายใจด้วยความโล่งอก ที่ตัดสินใจผ่าตัดคลอดให้กับคุณฉวีทันที มิฉะนั้น ก็อาจเกิดโศกนาฏกรรมตามมา เนื่องจาก หากนักศึกษาแพทย์เจาะถุงน้ำคร่ำให้กับคุณฉวีเสียก่อนตอนที่รายงานครั้งแรก ทารกอาจเคลื่อนตัวลงมาและคลอดส่วนหัวอย่างรวดเร็ว แต่คลอดส่วนลำตัวไม่ได้ ซึ่ง..โดยปกติ กรณีเช่นนี้ คุณแม่มักเป็นเบาหวานชนิดแฝง (DM classA) ทารกจะตัวใหญ่ โดย..มีส่วนหัวกับคอค่อนข้างเล็ก แต่..ไหล่จะกว้างและใหญ่มาก.. รูปร่างเหมือนกับนักอเมริกันฟุตบอล ผลที่ตามมา คือ คลอดติดไหล่ (Shoulder dystocia)… ทารกหลายรายที่คลอดติดไหล่.. ไหปลาร้าหัก และหลายรายเสียชีวิต.. บางที กรณีคุณฉวี ก็เช่นกัน หากรอต่อไปจนเข้าข่ายมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด เวลาก็คงจะผ่านไปนานถึง 5 – 6 ชั่วโมง เมื่อถึงตอนนั้น ถึงแม้จะผ่าตัดคลอดเหมือนกัน แต่..ทารกที่คลอดออกมาน่าจะไม่ดี (Moderate to severe hypoxia) เท่าตอนนี้ เพราะตอนนี้ เด็กเริ่มขาดออกซิเจนแล้ว สังเกตจาก การที่ทารกถ่ายขี้เทา ออกมาขณะคลอด วีรบุรุษในสมรภูมิห้องคลอด คือใครกันแน่?.. ข้าพเจ้าเอง ก็ไม่รู้ คุณหมอผู้ที่อุทิศตนช่วยเหลือคนไข้จนถึงวาระสุดท้ายในกรณีที่คนไข้มีโรครุมเร้าเพียบ อาจจะใช่….ดังกรณี สูติแพทย์ท่านหนึ่ง วิ่งไปช่วยผ่าตัดคลอดให้กับคนท้องรายหนึ่ง ที่เกิดภาวะน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดจำนวนมากและอุดตันที่ปอด (Amniotic fluid embolism) อันส่งผลให้คนไข้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว.. ท้ายที่สุด แม้ทารกจะรอดชีวิตอย่างสมบูรณ์ แต่คุณแม่ กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ส่วนคุณหมอถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท …ข้าพเจ้า….ไม่ใช่วีรบุรุษ และไม่เคยคิดที่จะเป็นวีรบุรุษทางสูติศาสตร์ เมื่อยามพบเจอคนไข้หนักๆที่โรงพยาบาลเอกชน ข้าพเจ้าจะส่งต่อคนไข้ไปยังโรงเรียนแพทย์ หรือ โรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ๆ (Tertiary referral hospital) เพราะหากคนไข้ต้องสูญสิ้นชีวิต จะได้ไม่มีใครถูกดำเนินคดีแบบโดดเดี่ยว เนื่องจาก..ที่นั่น จะมีคุณหมอหลายๆท่านมาประชุมร่วมกันและ สั่งการรักษาเป็นทีม ….ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยอย่างที่สุด… สิ่งที่เกิดขึ้นในทางที่เลวร้าย ถือว่า เป็นสิ่งที่เกินกว่าความสามารถของแพทย์….&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผูเขียน “,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *