“\r\nวันหนึ่งเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่ข้าพเจ้าขับรถลงทางด่วนย่านถนนพระราม 4 ข้าพเจ้าสังเกตเห็นสุนัขดำตัวหนึ่ง มันกำลังวิ่งพล่านไปมาข้างถนนริมทาง พยายามที่จะข้ามไปยังอีกฝั่ง ท่าทีของมันลุกลี้ลุกลน กระวนกระวาย คล้ายกับคนที่ตื่นกลัว…..มันคงไม่รู้หรอกว่า อีกฟากฝังของถนนนั้น ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากฝั่งที่มันกำลังยืนอยู่.. แต่..อะไรก็ไม่น่ากลัว เท่ากับ อันตรายจากบรรดารถในท้องถนนที่รีบเร่ง โดยไม่สนใจมัน ซึ่ง..แน่นอน!! อาจส่งผลให้มันไม่มีชีวิตรอดไปถึงวันรุ่งขึ้น….ความไม่รู้ของคนเรา ก็เฉกเช่นกัน สามารถนำมา ซึ่งอันตราย อันคาดคิดไม่ถึง…บางที.. อาจถึงขั้นทำให้ใครต่อใคร รวมทั้งตัวเรา ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต…\r\nวันนี้ ตอนเช้า ราวสี่นาฬิกา มีคนไข้รายหนึ่ง ชื่อคุณอรษา อายุ 28 ปี มาถึงห้องฉุกเฉิน และคลอดบุตรออกมา ณ ที่นั่น.. เป็นทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,280 กรัม แข็งแรงดี ..แต่..นั่นไม่ใช่ประเด็น.. ที่สำคัญคือ ช่องคลอดของคุณอรษา ฉีกขาดแบบกระจุยกระจายไปหลายทิศ \r\nบาดแผลปากช่องคลอดที่มากล่าวข้างต้น ประกอบด้วย บาดแผลฉีกลงล่างในแนวเฉียงขวา ..มันลึกเข้าไปในช่องคลอด เป็นแนวยาวราว 2 .5 เซนติเมตร ซึ่งถือว่า ไม่มากนัก นั่น..คงเป็นเพราะพยาบาลได้ตัดฝีเย็บขณะคลอด แต่…เนื่องจากคุณอรษา ไม่ยอมหยุดเบ่งตอนศีรษะทารกโผล่ แผลช่องคลอด จึงฉีกขาดต่อเนื่องค่อนข้างมากในลักษณะกะรุ่งกะริ่ง \r\nข้าพเจ้าเริ่มเย็บแผลช่องคลอดของคุณอรษา จากส่วนลึกในช่องคลอดเป็นอันดับแรก สัก 2 -3 เข็ม (Stitches) ก่อน โดยเริ่มจากมุมยอดของแผล และเย็บขยับออกมาเรื่อยๆ …จากนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหูรูดรูก้น (Anal sphincter) ข้าพเจ้าจึงเย็บกล้ามเนื้อบริเวณนี้เลย (Anal sphincter) แม้ว่า จะเย็บได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการฉีกขาดแค่บางส่วน แต่..ก็จะช่วยพยุงกล้ามเนื้อหูรูดรูก้นทั้งหมดได้.. การเย็บส่วนอื่นทั่วไป ไม่ยุ่งยาก แต่..มีแผลเล็กแผลน้อยที่ปากช่องคลอดอีกหลายแห่งที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเย็บสอย….. ข้าพเจ้าใช้เวลาในการเย็บแผลดังที่เล่ามาถึงชั่วโมงเศษ….นี่คือ ตัวอย่างความรู้อย่างหนึ่งของสูติแพทย์ ที่เหนือกว่า จราจรคนทำคลอด กลางท้องถนนเมืองกรุง…\r\nวันศุกร์ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอยู่เวรรับผิดชอบห้องคลอด โรงพยาบาลตำรวจ… วันนั้นทั้งวัน ดูเหมือนว่า บรรยากาศในห้องคลอดจะสงบเงียบ ราวกับท้องทะเลที่ไร้ลมคลื่น…ช่วงกลางวัน ข้าพเจ้าได้ผ่าตัดคลอดให้กับคนไข้ไป 2 ราย เป็นคนท้องที่มีข้อบ่งชี้ทั้งนั้น…คนแรก เป็นคนท้องที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน (Previous cesarean section).. ส่วนอีกคนหนึ่ง เป็นคนท้องที่ถูกส่งมาจากห้องฝากครรภ์ เนื่องจาก มีน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) ในครรภ์ กล่าวคือ มีค่า AFI (Amniotic index) เพียง 2.8 หมายความว่า ภายในถุงครรภ์ มีน้ำคร่ำเพียง 2.8 เซนติเมตรในทุกพื้นที่ที่ในโพรงมดลูกที่วัดจากอัลตราซาวนด์ได้ [ค่าที่บ่งบอกว่า น้ำคร่ำ ‘น้อย’ (Oligohydramnios) หมายถึง ครรภ์นั้นมีน้ำคร่ำน้อยกว่า 5 เซนติเมตรเมื่อวัดด้วยอัลตราซาวนด์ผ่านหน้าท้องในแนวดิ่งตลอดทั้ง 4 มุมของมดลูก (Quadrant) บวกกัน] \r\nตอนค่ำ ข้าพเจ้าได้นอนพักที่ห้องแพทย์เวรชั้น 6 โรงพยาบาล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉิน…. พอผ่านพ้นเที่ยงคืน ไปไม่นาน… หลับตาได้ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ก็มีคนไข้ท้องแรก ชื่อ คุณวันวิสาข์ อายุ 22 ปี มาคลอดเอง และเบ่งแบบไม่บันยะบันยังที่ห้องคลอด ทำให้เด็กคลอดออกมาอย่างพรวดพราด เช่นเดียวกับกรณีของคุณอรษา… แต่..แย่กว่านั้นอีก….ตรงที่ว่า ‘มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหูรูดรูก้นตลอดแนวทั้งหมด’\r\nกล้ามเนื้อหูรูดก้น (Sphincter ani externa) คือ กล้ามเนื้อที่ยาวเป็นแผ่น (Flat plane of muscular fibers) คล้ายเอ็นล้อมรอบขอบของรูก้น (Elliptical in shape) ยาวประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร เมื่อวัดจากทางด้านหน้า อ้อมไปทางด้านหลังจนล้อมรอบรูก้น.. เวลาขับถ่ายอุจจาระ กล้ามเนื้อตัวนี้ จะมีหน้าที่ขยับขมิบหดตัวควบคุมการขับถ่าย ดังนั้น หากเราไม่เย็บกล้ามเนื้อหูรูดอันนี้ คนไข้ผู้หญิงหลังคลอด จะขมิบรูก้นไม่ได้… เกิดการขับถ่ายเรี่ยราดแบบไม่รู้ตัว….\r\nคุณวันวิสาข์ คลอดบุตรหญิง เวลาประมาณ 2 นาฬิกาเศษ น้ำหนักแรกคลอด 3,100 กรัม แผลที่ช่องคลอดของเธอ ‘เหวอะหวะ’ น่ากลัวมาก กล่าวคือ ฉีกขาดไปในทุกทิศทาง.. ที่สำคัญ คือ ช่องคลอดฉีกลึกเกือบจะทะลุเข้าไปในรูก้น หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum) ซึ่ง…ข้าพเจ้าสามารถคลำได้ถึงความบางของผนังช่องคลอดส่วนที่ติดกันกับผิวลำไส้ (Recto-vaginal septum). ทีเดียว.. ระยะทางของช่องคลอดที่ฉีกขาดมากบริเวณนี้ ยาวถึง 3 เซนติเมตร.. แน่นอน!!…กล้ามเนื้อหูรูดของรูก้น (Anal sphincter) ต้องมีการฉีกขาดตลอดแนวภาคตัดขวาง….\r\nพยาบาลห้องคลอดคนหนึ่งเดินมาบอกกับข้าพเจ้าว่า ‘หมอ!! หมอ!! แผลช่องคลอดของคนไข้ฉีกขาดลึกมาก คุณหมอช่วยเย็บให้หน่อยสิ..เดี๋ยว…พอหมอเย็บจนตื้นขึ้น หนูจะไปเย็บต่อให้’ ข้าพเจ้าพยักหน้ารับปาก พร้อมกับเดินไปดูที่แผลฝีเย็บของคุณวันวิสาข์ จากนั้น ก็ใส่ถุงมือขวา ล้วงนิ้วชี้เข้าไปในรูก้นของคนไข้ พบว่า ‘แผลในส่วนที่ยาวเข้าไปในช่องคลอดนั้น ไม่ค่อยหนักหนาสักเท่าไหร่ แต่…แผลที่ปากช่องคลอดที่กินลึกลงมาถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลายนั้นสาหัสไม่น้อย’ \r\nการเย็บผนังด้านในช่องคลอดของคุณวันวิสาข์ ยังพอทำเนา แต่…ก็ต้องใช้ทักษะในการเย็บพอสมควร ข้าพเจ้าบอกให้พยาบาลช่วยตามคุณหมอแพทย์ประจำบ้านปี 1 ให้มาดูการเย็บแผลช่องคลอดของคนไข้รายนี้ ซึ่งเป็นกรณีฉีกขาดระดับ 3 (Third degree tear) เพราะเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก\r\nข้าพเจ้าเรียกใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘Jelpy’ จากพยาบาล เพื่อนำมาถ่างปากแผลที่ช่องคลอด…มาถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นแผลฉีกขาดได้อย่างชัดเจน จนแน่ใจว่า จะเย็บส่วนที่ลึกสุดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม..ในเบื้องต้น ข้าพเจ้าต้องใช้นิ้วชี้ของมือซ้ายล้วงเข้าไปในรูก้นคุณวันวิสาข์ ตลอดเวลาที่เย็บแผลในช่องคลอด เพื่อกันไม่ให้ปลายเข็มสอดทะลุเข้าไปในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum) ข้าพเจ้าเย็บแผลอย่างใจเย็นตั้งแต่ช่องคลอดส่วนในสุดออกมา เพื่อให้ช่องคลอดตื้นขึ้น ไม่บางเหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่ง…พยาบาลที่มาเย็บต่อ จะได้ไม่เย็บผิดพลาด จนอาจทำให้ปลายเข็มตักเข้าไปในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum)\r\nข้าพเจ้าพูดอธิบายอย่างมากมายให้แพทย์ประจำบ้านฟัง พร้อมกับเย็บแผลส่วนกล้ามเนื้อหูรูดรูก้น (Anal sphincter)… ‘นี่ คือ sphincter ani ที่ขาดออกจากกัน ’ ข้าพเจ้าพูดพร้อมกับใช้ปลายคีมคีบจับส่วนที่ฉีกขาดของกล้ามเนื้อ sphincter ani…. จากนั้น ก็ใช้ปลายเข็มตักเข้าที่ปลายส่วนขาดทั้งสองข้างของ sphincter ani …เย็บเป็นแบบเงื่อนหมายเลขแปด (Figure of eight) 2 ทบ… แล้วผูกทั้งสองข้างประกบเข้าหากันอย่างแน่นหนา…แค่นี้ เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของข้าพเจ้าแล้ว …พยาบาลห้องคลอดเวรคนหนึ่ง ได้มาเย็บต่อจากแผลลช่องคลอดที่ข้าพเจ้าเย็บ เนื่องจากข้าพเจ้าต้องไปเข้าห้องผ่าตัด ทำการคลอดทารกอีก 2 ราย….\r\nคนท้องเจ็บครรภ์รายหนึ่ง …ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่มเป็นเวลา 5 ชั่วโมง พอข้าพเจ้าลงมีดผ่าตัด ก็พบว่า ถุงน้ำคร่ำยังไม่ได้เจาะก่อนเร่งคลอด ซึ่ง..ทำให้เราวินิจฉัยผิดว่า เป็น CPD (Cephalo-pelvic disproportion) ทารกที่คลอดออกมาน้ำหนักเพียง 2700 กรัม…ส่วนอีกรายนั้น คนไข้ขอร้องข้าพเจ้าว่า ‘อยากผ่าตัดคลอด เพราะลูกคนแรกแท้งจากท้องนอกมดลูก’ ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสผ่าตัดคลอดให้ในตอนดึกคืนนั้น ทารกหนักเพียง 3100 กรัม ซึ่งหากปล่อยให้คลอดเอง เธอคงคลอดได้…\r\nหลังจากนั้น พอข้าพเจ้าล้มหัวลงนอนอีกไม่ถึงชั่วโมง แพทย์ประจำบ้าน (Resident) เวร ก็โทรศัพท์ขึ้นมาตามอีกว่า ‘มีคนท้อง ท่าก้น (Breech presentation) คนหนึ่งมาที่ห้องคลอด และปากมดลูกเปิดหมดแล้ว’ ข้าพเจ้าตัดสินใจให้คนไข้เข้าห้องผ่าตัดด่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจากการคลอดเอง..แต่…\r\nตอนที่ลงมีกรีดบนมดลูก เกิดความผิดพลาดขึ้นเล็กน้อย กล่าวคือ แพทย์ประจำบ้านผู้ช่วย ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘Lower blade’ กระแทกดันเยื่อบุช่องท้องส่วนล่าง (Peritonium) อย่างแรง เพื่อผลักกระเพาะปัสสาวะลงไปให้ไกลห่างจากมดลูกส่วนล่าง ปรากฏว่า มีเลือดสดๆไหลเข้าไปในสายสวนปัสาวะทันที…ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจกับภาพดังกล่าว พลางคิดว่า ‘คราวนี้ ข้าพเจ้าคงเย็บทะลุเข้ากระเพาะปัสสาวะ’ ข้าพเจ้าจึงพยายามสำรวจดูให้ถ้วนถี่ก่อนเย็บปิดช่องท้องว่า เย็บทะลุกระเพาะปัสาวะหรือเปล่า???? …ซึ่ง…หลังจากดูเป็นอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า ไม่ได้เย็บทะลุเข้ากระเพาะปัสสาวะอย่างแน่นอน…อย่างไรก็ตาม เลือดสดๆยังคงไหลรินเข้าไปนสายสวนปัสสาวะของคนไข้อย่างต่อเนื่อง..ข้าพเจ้าขอให้พยาบาลดมยาช่วยเร่งน้ำเกลือ เพื่อให้มีน้ำปัสสาวะคนไข้ไหลออกมามากๆหน่อย เวลาผ่านไปชั่วครู่…ปัสสาวะในสาย ก็เริ่มใสขึ้น….ข้าพเจ้ารู้สึกใจชื่นขึ้นหน่อย…พลางกล่าวติดตลกกับแพทย์ผู้ช่วยว่า ‘เอาอีกแล้ว…พี่เกือบซวย…จนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอีกแล้ว’ หลังผ่าตัด ข้าพเจ้าได้สั่งการให้คนไข้ใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลา 3 วัน ซึ่ง…พบว่า คนไข้รายนี้ไม่มีปัญหาใดๆเกี่ยงกับกระเพาะปัสสาวะ…. สีของปัสสาวะกลับใสเป็นปกติตั้งแต่เย็นวันแรกที่ขึ้นไปอยู่บนหอผู้ป่วยชั้น 5 \r\nเป็นธรรมดา ที่สูติแพทย์ มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการรักษาคนไข้ได้บ้าง แต่…หากผลสุดท้าย..ออกมาดี อย่างเช่นกรณีที่ข้าพเจ้าวินิจฉัยผิดข้างต้นจนต้องผ่าตัดคลอดข้างต้น นั่นก็จะถือว่า ไม่เสียหาย…แต่ถ้าคุณหมอขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคของคนไข้..ละก็ …คนไข้ก็ต้องได้รับอันตรายอย่างมากมาย….คุณหมอเอง ก็ต้องแย่…จนต้องติดคุกติดตาราง หรือ สิ้นเนื้อประดาตัว…\r\nสรุปว่า คุณหมอหรือคนไข้ ที่ขาดความรู้วิชาการอย่างถูกต้องนั้น มีโอกาสพิการร่างกายหรือเสียชีวิตค่อนข้างมาก.. ซึ่ง..ข้าพเจ้าเองถือว่า..มันช่างเป็นสิ่งที่ไร้ค่ายิ่งนัก… ดุจ สุนัขข้างทาง ที่กำลังมุ่งหน้าวิ่งผ่านถนน โดยไม่รู้ว่า ข้างหน้าคือหุบเหวแห่งมัจจุราช…\r\n&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&\r\nพ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน….\r\n\r\n\r\n\r\n \r\n”,