อุบัติเหตุ เจตคติ
ไม่กี่วันก่อน ช่วงตอนเย็นหลังเลิกงาน ข้าพเจ้าได้ขับรถยนต์ออกจากอาคารจอดรถของโรงพยาบาลตำรวจ..ขณะที่กำลังจะเลี้ยวขวาไปทางด้านหลังของโรงพยาบาล ผ่านตึกคุณวิศาล ข้าพเจ้าพลันเกิดความรู้สึกเหมือนถูกบังตาจากอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำให้มองไม่เห็นเสาปูนซิเมนต์ที่ยื่นออกมา ตรงหัวมุมด้านหน้าตึก ..รถของข้าพเจ้าชนเข้ากับเสาปูนต้นนั้นอย่างจังทางด้านขวา กระจกหูช้างหลุดออกมาทันที และห้อยต่องแต่ง ติดกับสายไฟที่เกาะเกี่ยว อยู่ที่ข้างประตูรถด้านคนขับ…คิ้วและประตูรถด้านนั้นเสียหายยับเยิน ..จากการครูดขูดขีดกับเสาปูน..ถึงแม้ว่า ความเสียหายเหล่านี้จะซ่อมแซมได้ แต่..ข้าพเจ้า ก็ยังไม่สบายใจอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้เรียนรู้และได้รับข้อคิดมากมายจากอุบัติเหตุคราวนี้ เนื่องจากรถข้าพเจ้ายังไม่ได้รับการซ่อมแซมในทันที.. ช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าขับรถคันนี้ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าจำเป็นต้องยกเอากระจกหูช้างขึ้นมาวางที่ขอบหน้าต่าง ที่ลดกระจกลงจนสุด เพื่อให้มองเห็นรถที่ตามมาทางด้านหลัง.. มิฉะนั้น ก็อาจเกิดอุบัติเหตุจากการเบียดชนรถยนต์ที่ขับเข้ามาประชิด ข้าพเจ้าทำเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง จนเกิดความคิดแวบหนึ่งขึ้นมาว่า ‘ชีวิตคนเรานั้น มีความจำเป็น ที่จะต้องมองย้อนกลับไปในอดีตและเรียนรู้จากความผิดพลาด.. เพื่อก้าวต่อไปในอนาคตอย่างปลอดภัย’
เรื่องราวที่ไม่คาดฝัน มักจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆในชีวิตของเรา .. คนทั่วไป เมื่อทำงานพลาดพลั้ง ก็ยังพอแก้ไขได้ ..แต่ในคนท้อง ไม่เหมือนกัน..หากเกิดอะไรผิดพลาดขึ้น ทารกที่คลอดออกมา มีโอกาสพิการสมอง,ร่างกาย หรือเสียชีวิต….ดีไม่ดี..คุณแม่ก็อาจไม่ปลอดภัยไปด้วย..
วันนี้ ในการประชุมวิชาความรู้ตอนเช้า มีรายงานว่า ‘คนท้องสองคนมีปัญหา..หลังคลอด’ ข้าพเจ้าเดินลงไปเยี่ยมคนไข้ที่หอผู้ป่วยสามัญชั้น 5 เนื่องจากคนไข้รายแรกบุตรเสียชีวิตหลังคลอด ส่วนอีกราย ถูกตัดมดลูก…คุณบุษบา คือ คนไข้รายแรก เธออายุ 21 ปี ครรภ์ที่ 3.. บุตรคนก่อนหน้านี้ อายุเพิ่ง 1 ขวบ เธอตั้งครรภ์นี้ โดยไม่รู้ตัว เริ่มจาก..เธอขาดระดู 2 เดือน แล้วไปซื้อยาขับเลือดมารับประทาน 2 ขวด.. ระดูก็ยังไม่มา. ตอนนั้น..เธอยังไม่ได้คิดว่า ‘ท้อง’ จึงไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องยาและอาหารการกิน.. พอขาดระดูได้ 7 เดือน คุณบุษบารู้สึกว่า มีอะไรเคลื่อนไหวอยู่ในท้อง เมื่อทดสอบการตั้งครรภ์ ผลปรากฏว่า เธอ ‘ท้อง‘ เธอจึงไปฝากครรภ์ที่ โรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ ที่จังหวัดนครนายก แต่ที่นั่น ปฏิเสธไม่รับฝากครรภ์ เนื่องจากอายุครรภ์มากเกินกำหนด 20 สัปดาห์ จากการตรวจดูด้วยอัลตราซานด์ พบว่า ลูกของคุณบุษบามีอายุประมาณ 7 เดือนตามที่ระดูขาด..ตอนนั้น สามีของเธอเดินทางเข้ามาทำงานที่กรุงเทพมหานคร.. คนไข้จึงดั้นด้นไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐย่านชานเมือง คุณหมอที่นั่นบอกว่า ‘ลูกของเธอตัวเล็กมาก ที่นั่น..ไม่มีตู้อบเด็กอย่างดีที่พอจะช่วยเหลือได้ และแนะนำให้มาที่โรงพยาบาลตำรวจ’
คุณบุษบา เดินทางมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ แบบทุลักทุเล เธอรู้สึกว่า ‘ชีวิตนี้ช่างรันทดเสียเหลือเกิน ไปที่ไหน ก็ไม่มีใครต้อนรับ’ วันหนึ่ง เธอเดินทางมาที่ห้องคลอดของโรงพยาบาลตำรวจ ตอนเช้ามืด ราวตีห้า (5 นาฬิกา) ด้วยเรื่องมีน้ำเดิน และเจ็บครรภ์คลอด.. ขณะนั้น เธอตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์..พยาบาลที่ห้องคลอด ตรวจภายในให้เธอ ผลคือ ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 75% เวลาผ่านไปเพียง 1 ชั่วโมง ปากมดลูกก็เปิดหมด เธอคลอดบุตรออกมา เป็นเพศหญิง น้ำหนักแรกคลอด 2222 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด เท่ากับ 5 , 6, 6 ณ นาทีที่ 1, 2 และ 5 ตามลำดับ (คะแนนเต็ม 10) ทารกน้อยลูกของเธอที่เกิดมามีปัญหา คือ ปากแหว่งในลักษณะ 2 แฉกแยกห่างกัน, เพดานโหว่ตรงกลาง..กุมารแพทย์เห็นว่า เด็กหายใจไม่ดี ก็รีบช่วยชีวิต ด้วยการบีบลมเข้าท่อทางเดินหายใจทารก (Ambu Bag) เพื่อช่วยให้ออกซิเจนเข้าไปในปอดอย่างมีประสิทธิภาพ..จากนั้น ก็รีบนำเด็กส่งห้อง ไอ.ซี.ยู. ทารกแรกเกิด
ตอนคลอดใหม่ๆ พยาบาลห้องคลอดได้นำทารกน้อยมาให้คุณแม่ดูสักครู่ แล้วก็รีบนำออกไป พร้อมกับอธิบายให้เธอฟังว่า ‘ลูกของคุณมีปากแหว่ง เพดานโหว่, ใบหูต่ำ, และหัวใจอยู่เอียงไปทางขวา รูปลักษณ์ที่ว่า น่าจะสัมพันธ์กับภาวะปัญญาอ่อน (Mental retardation)’ ตอนนั้น เป็นเวลาประมาณ 8 นาฬิกา เธอยังนอนพักอยู่บนเตียงคลอดอยู่เลย..แต่ราวๆ 10 นาฬิกา สามีของเธอก็เดินมาบอกว่า ‘ลูกเสียชีวิตไปแล้ว’ คนไข้ปล่อยโฮ ร้องไห้ สงสารลูกน้อย..แต่ก็แข็งใจเดินไปดูร่างของลูกที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.เด็กแรกเกิด ..คุณหมอเด็กได้พูดปลอบใจ และร้องขอร่างของทารก ไปส่งตรวจชันสูตรพลิกศพ เพื่อหาสาเหตุการตาย..ซึ่งต้องส่งภายใน 24 ชั่วโมง
เมื่อข้าพเจ้าไปเยี่ยมคุณบุษบา เธอมีนัยน์ตาแดงกล่ำ อาบด้วยหยาดน้ำตา ข้าพเจ้าได้บอกเล่าถึงความผิดปกติของทารก และปลอบใจคนไข้ว่า ‘ทารกน่าจะพิการสมองและร่างกายหลายแห่ง ด้วยว่า มีลักษณะหลายอย่างที่เข้ากันได้กับโรค Down’s syndrome การเสียใจจนร่างกายคนไข้ผ่ายผอมเจ็บป่วย จึงไม่สมควร’ ข้าพเจ้าแนะนำให้ คุณบุษบา ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับหนูน้อยผู้วายชนม์ และเริ่มต้นชีวิตใหม่
คุณนงนุช เป็นคนไข้อีกรายที่น่าสนใจ เธออายุน้อยเพียงแค่ 19 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 .. ท้องแรกแท้ง เมื่อ 1 ปีก่อน ตอนอายุครรภ์ได้ 4 เดือน โดยไม่ได้รับการขูดมดลูก
ครรภ์นี้ คุณนงนุชฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตำรวจ และเข้ารับการตามนัดทุกครั้ง เป็นจำนวนถึง 11 ครั้ง โดยเธอมาฝากครรภ์ครั้งแรก ตอนอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ด้วยคิดว่า จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน จนกระทั่งคลอด..แต่..มันก็หาเป็นเช่นนั้นไม่.. ใช่แล้ว!!! โชคร้าย มักไม่ได้มาเพียงครั้งเดียว..มันจะมาหาคนโชคร้ายดุจห่าฝน..
วันศุกร์ที่ผ่านมา คุณนงนุชมีอาการท้องแข็งเกร็ง และมีมูกเลือดปนออกมาทางช่องคลอด.. โดยไม่มีน้ำเดิน.. เธอรีบเดินทางมาที่โรงพยาบาลตำรวจ และได้รับการตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร ความบางไม่ได้บันทึกไว้.. คุณหมอเวร ให้การวินิจฉัยว่า เป็น เจ็บครรภ์เตือน (False labor) แล้ว ก็ให้กลับบ้านไป อายุครรภ์ตอนที่มา คือ 40 สัปดาห์ 5 วัน
หลังจากกลับบ้านไป 5 ชั่วโมง คนไข้ก็กลับมาที่โรงพยาบาลตำรวจอีก ด้วยเรื่องเจ็บครรภ์ถี่ สูติแพทย์เวร ตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิด 3 เซนติเมตร ความบาง 100% คนไข้นอนพักที่ห้องคลอด ไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็คลอดเองทางช่องคลอด (Precipitated labor) ทารกน้อย เป็นเพศ หญิง น้ำหนักแรกคลอด 3150 กรัม คะแนนศักยภาพแรกคลอด (Apgar score) 9, 10, 10 ณ นาทีที่ 1, 2 และ 5 ตามลำดับ เสียเลือดหลังคลอด 300 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขณะที่คุณนงนุช นอนพักฟื้นในห้องคลอด เธอก็ตกเลือดออกมา อีก 400 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) คูณหมอแพทย์เวรพยายามแก้ปัญหาการตกเลือดหลังคลอด ด้วยการหาสาเหตุ โดยการตรวจภายใน และดูอัลตราซาวนด์ ก็ไม่พบความผิดปกติ ใดๆ อาทิ ปากมดลูกฉีกขาด , แผลฝีเย็บที่ช่องคลอด แตกปริ จนมีเลือดออก..ภายในโพรงมดลูก ไม่มีก้อนเลือด ค้างจำนวนมาก ซึ่งจะถ่างให้โพรงมดลูกพองตัว.. เลือดของคุณนงนุชไหลออกจากโพรงมดลูกอย่างรุนแรง..จากการที่มดลูกไม่แข็งตัว (Uterine Atony)
การแก้ไข เพื่อให้มดลูกแข็งตัวขั้นต่อไป คือ การเหน็บยา ชื่อ Cytotec เข้าไปในรูก้น (Anus) จำนวน 5 เม็ด เวลาผ่านไป 10 นาที ก็ยังไม่ได้ผล..เลือดยังคงไหลรินจากโพรงมดลูก.. มาตรการสุดท้าย ที่คุณหมอได้ทำคือ หยดยา ชื่อ Nalador ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ ทำให้มดลูกหดรัดเกร็งตัวอย่างรุนแรง (Tetanic contraction) ผลคือ ล้มเหลว…คุณหมอ และเจ้าหน้าที่ต่างช่วยกันให้น้ำให้เลือดทางเส้นเลือดดำ ทั้งแขนซ้าย และขวา..ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็มีอยู่ทางเดียวที่จะลดการเสียเลือดได้ คือ ตัดมดลูก (Transabdominal hysterectomy)..
คนไข้ถูกเข็นเข้าห้องผ่าตัดหลังคลอด ตอน 5 ทุ่ม [คลอดเองเวลา 6 โมงเย็น] ..คุณหมอเวรใช้เวลาดูแลเบื้องต้น 5 ชั่วโมง จากการสัมภาษณ์ คุณหมอบอกว่า ‘สภาพของมดลูกตอนนั้นแย่มาก ไม่แข็งตัวเลย อ่อนยวบยาบ จำเป็นต้องรีบตัดสินใจผ่าตัดเอามดลูกออกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้… ยังดี..ที่คนไข้อายุน้อย มิเช่นนั้น สถานการณ์อาจเลวร้ายกว่านี้’ สรุปว่า แม่ลูกปลอดภัย..แต่คุณแม่อวัยวะ ส่วนมดลูกหายไป
วันนี้ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยม คุณนงนุช ดูเธอสดใสมาก เธอกำลังบีบน้ำนมใส่ขวด เพื่อนำไปป้อนให้ลูก ใบหน้าของเธอซีดเล็กน้อย เธอพูดจาตอบคำถามได้ดี ข้าพเจ้าบอกถึงความจำเป็นในการตัดมดลูกของเธอทิ้ง และถามเธอว่า ‘เป็นยังไงบ้าง’ เธอตอบว่า ‘สบายดี และไม่อยากมีลูกอีก’ ข้าพเจ้าบอกกับเธอว่า ‘ ตอนนี้ เธอไม่อยากมี แต่ในอนาคต หากอยากได้ลูกของตัวเอง ก็ยังสามารถทำได้ โดย..กระตุ้นไข่ , เจาะไข่ทางช่องคลอด ผสมกับเชื้อแฟน เลี้ยงเป็นตัวอ่อน แล้วหาคนผู้หญิงมาท้องแทน ..แค่นี้เอง ไม่ยากเลย ใช่ไหมครับ.. สำหรับ เทคโนโลยี ปัจจุบัน’
เพียงแค่ 1 สัปดาห์ ความเสียหายต่างๆของรถข้าพเจ้า ก็ได้รับการแก้ไข จนเสมือนรถคันใหม่..ไร้ร่องรอยของภาพลักษณ์ที่ไม่น่าดู แต่..ความสูญเสียของคนท้องทั้งสอง..ไม่มีทางที่จะได้รับกลับคืนมา..คนหนึ่งเสียลูก…อีกคนเสียอวัยวะ นี่แหละชีวิตคนท้อง..เมื่อเดินเข้ามายังห้องคลอด ก็อย่าเพิ่งนึกว่า..จะปลอดภัย..เรื่องราวเลวร้ายที่คาดไม่ถึง ของคนท้องในห้องคลอด ล้วนเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น คนเราจึงควรหมั่นสะสมบุญ สร้างกุศลมากๆ เพราะเมื่อยามเกิดเหตุเภทภัยขึ้น จะได้อาศัยบุญบารมีช่วยแก้ไขให้ปลอดภัย ในชีวิตได้..
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน